รู้เรื่อง...ค่าไฟฟ้า (10) : ‘การปล่อยให้เอกชนผลิตไฟฟ้ามากขึ้น’ ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ จริงหรือไม่!!!
(11 ก.พ. 68) “การปล่อยให้การผลิตไฟฟ้าไปอยู่ในมือของภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ” เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก มักหยิบยกมากล่าวอ้างว่า มีส่วนสำคัญที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ซึ่งกลับกลายเป็นความย้อนแย้งกับการเรียกร้องให้ “เพิ่มการใช้กลไกตลาดเข้าไปในระบบไฟฟ้า เพื่อทำให้เกิด ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี” ขึ้นในประเทศไทย เพราะ ‘ตลาดซื้อขายไฟฟ้า’ อย่างเสรี ย่อมหมายถึงผู้ประกอบการเอกชนสามารถที่จะเข้ามามีบทบาทใน ‘กิจการไฟฟ้า’ มากขึ้นทั้งระบบตั้งแต่ ‘ต้นน้ำ’ ไปจนกระทั่งถึง ‘ปลายน้ำ’
โดยที่ มาตรา 56 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ได้ระบุเอาไว้ว่า “รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึง ตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามรัฐธรรมนูญ และในวรรคสอง ได้ระบุว่า “โครงสร้างหรือโครงข่ายพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ อันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนหรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ โดยความมั่นคงของรัฐนั้นจะให้เอกชนเป็นเจ้าของเกิน 51 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้” ดังนั้น แม้ว่า เอกชนจะเข้ามามีบทบาทในกิจการไฟฟ้า โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น แต่คงอยู่ในกรอบกติกาภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งมีการวางแผนและกำหนดนโยบายโดย กพช. และกำกับดูแลการประกอบกิจการโดย กกพ. มี กฟผ. ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการในส่วนของการซื้อและขายไฟฟ้า จากข้อมูล ณ เดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 กำลังผลิตตามสัญญาของระบบที่กฟผ. รับผิดชอบดูแลบริหารจัดการคือ 51,414.30 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นของ กฟผ. 31.62% เอกชนรายใหญ่ (IPP) 38.12% เอกชนรายเล็ก (IPP) 18.13% และนำเข้าจากต่างประเทศอีก 12.13% (ในส่วนของเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายหนึ่งคือ RATCH มีกฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่หนึ่ง (45%)
การที่ผู้ประกอบการเอกชนเข้ามามีส่วนในการผลิตไฟฟ้าเกิดจากรัฐบาลในปี พ.ศ. 2533 ได้ให้การส่งเสริมเอกชนได้เข้ามามีบทบาทในการผลิตไฟฟ้า เพื่อจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการพลังงานไฟฟ้า ทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและผู้บริโภคมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในราคาที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังจะเป็นการลดภาระการลงทุนของรัฐและลดภาระหนี้สินของประเทศ ส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น กรณีของโครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้ระบบพลังงานความร้อนร่วม เป็นต้น ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับบริการและคุณภาพไฟฟ้าที่ดีขึ้น เป็นการสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนากิจการด้านพลังงานของประเทศ และเป็นส่วนในการช่วยพัฒนาตลาดทุนของประเทศอีกด้วย
ด้วย นโยบายลดภาระการลงทุนภาครัฐ และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของรัฐบาลในปี พ.ศ. 2535 ทำให้มีมติ ครม. เห็นชอบเรื่องแนวทางในการดำเนินงานในอนาคตของ กฟผ. โดยกำหนดขั้นตอนและแนวทางให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในกิจการไฟฟ้าของไทย ให้มีการลงทุนจากภาคเอกชนในการผลิตไฟฟ้ารูปแบบของผู้ผลิตไฟฟ้าฟ้าอิสระหรือรายใหญ่ (IPP) ต้องขายไฟฟ้าให้กับ กฟผ. เท่านั้น และให้ออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายเล็ก (SPP) ซึ่งใช้พลังงานนอกรูปแบบ เป็นการแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าด้วย โดย กฟผ. ได้ประกาศรับซื้อไฟจากเอกชนรายใหญ่เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้มติเห็นชอบของ ‘คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)’ มาจนถึงปัจจุบัน และ ‘คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)’ ทำหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน
สภาพการณ์ที่เป็นอยู่ของ ‘กิจการไฟฟ้า’ ทั้งระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ น่าจะมีความเหมาะสมที่สุดกับบริบทของประเทศไทยแล้ว ด้วย ‘กิจการไฟฟ้า’ ยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐ ด้วยความเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจจึงคงวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายในการเป็นกิจการที่ดำเนินงานเพื่อบริการสาธารณะสำหรับประชาชนคนไทย ในอีกมิติหนึ่งที่มีความสำคัญคือ ความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลาย ๆ ประเทศ อาทิ ประเทศเพื่อนบ้านด้านตะวันตก ซึ่งมีปัญหาไฟฟ้าดับเป็นประจำ จนกิจการธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไว้ใช้เอง หรือหลาย ๆ ประเทศในละตินอเมริกา ซึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจนปัจจุบัน ทั้งนี้ จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการที่จำนวนประชากรเพิ่มมากขึ้น ความต้องการไฟฟ้าในภูมิภาคอเมริกากลางและใต้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และส่งผลให้เกิดความขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าไปทั่วทั้งภูมิภาค ตั้งแต่บราซิลที่ขาดแคลนทรัพยากรไปจนถึงเวเนซุเอลาซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำมันเอง ท่ามกลางความต้องการพลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ภูมิภาคนี้ต้องดิ้นรนกับปัญหาต่าง ๆ มากมายในการสร้างกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ บราซิลและชิลีได้ชะลอแผนการสร้างเขื่อนพลังงานน้ำแห่งใหม่เมื่อไม่นานนี้ อันเนื่องจากปัญหาสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม จนทำให้ทั้งสองประเทศต้องมองหาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่คาดการณ์ไว้ ในโคลอมเบียการก่อการร้ายภายในประเทศส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานการส่งและจำหน่ายไฟฟ้าในเขตชนบทหลายแห่งต้องถูกทำลายลง ภูมิภาคนี้โดยรวมจึงมีความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าที่สูงมาก
ในตอนต่อไปจะได้อธิบายถึงข้อเท็จจริงในรายละเอียดให้ผู้อ่าน TST ได้พอรู้และเข้าใจในเรื่องของ “การมี ‘ไฟฟ้าสำรอง’ มากจนเกินความต้องการ จนทำให้ ‘ค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment หรือ ค่า AP)’ อันเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กฟผ. ต้องจ่ายให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน เป็นค่าความพร้อมในการเดินเครื่องเพื่อจ่ายไฟฟ้า ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ก็ตาม ซึ่งถือเป็นเป้าหลักที่สำคัญและใหญ่ที่สุดที่นักวิชาการ NGO และสื่อบางสำนัก ได้ระบุเอาไว้ว่า เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้ ‘ค่าไฟฟ้าแพง’ ว่าเป็นจริงดังที่มีการนำมาหยิบยกกล่าวอ้างหรือไม่
