Friday, 3 May 2024
IMPACT

ภาคธุรกิจเอกชน ชงรัฐตั้งคณะทำงานฉีดวัคซีนโควิด-19 พร้อมดันเป็นวาระแห่งชาติ ระบุอยากเห็นคนไทยได้ฉีดวัคซีนตั้งแต่ ก.ค.นี้

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คือ ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้เห็นชอบให้จัดทำข้อเสนอให้ภาครัฐตั้งคณะทำงานเตรียมการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในประเทศเป็นเรื่องเร่งด่วน และกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนไทยและต่างชาติ

ทั้งนี้ ภาคเอกชนอยากเห็นประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนให้ประชาชนภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 หรือตั้งแต่เดือนก.ค.เป็นต้นไปจนถึงธ.ค.นี้ โดยให้ทำใบรับรองยืนยันการฉีดวัคซีน หรือวัคซีน พาสสปอร์ตให้กับพนักงานต่างชาติที่ทำงานในไทย และต่างด้าวโดยในส่วนของต่างด้าวและต่างชาติเอกชนพร้อมร่วมมือรัฐในเรื่องค่าใช้จ่าย โดยขอลดหย่อนภาษีเรื่องการฉีดวัคซีนโดยเป็นโมเดลในการบริหารจัดการนำร่องในภาคท่องเที่ยวเป็นลำดับแรก

นอกจากนี้ กกร.ยังประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 โดยประเมินว่า จะขยายตัวในกรอบ 1.5-3.5% การส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 3-5% อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8 -1% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากเฟซบุ๊ก Geng Sittipong Sirimaskasem ได้เรียบเรียง Speech ของ ‘ทิม คุก ซีอีโอ Apple’ ที่ตรงไปตรงมา ชัดเจน และดีที่สุดครั้งหนึ่ง...จนหลายคนที่ได้อ่าน อาจจะรู้สึกว่าวันนี้ ‘อิสรภาพของเรากำลังหายไปหรือไม่ จากเทคโนโลยีที่คอยล้วงข้อมูลชีวิตเราทุกลมหายใจ’

เราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ควรจะเป็นคือ เทคโนโลยีที่ทำงานเพื่อคุณ เป็นเทคโนโลยีที่จะทำให้คุณนอนหลับได้ ไม่ใช่กระตุ้นให้คุณตื่นอยู่เสมอ เป็นเทคโนโลยีที่บอกให้คุณพอได้แล้ว ให้คุณมีเวลาสำหรับสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ได้วาดรูป ได้เขียน หรือได้เรียนรู้ ไม่ใช่ขอให้คุณ refresh อีก ดูอีก

มันต้องเป็นเทคโนโลยีที่ทำงานอย่างเงียบๆ ขณะที่คุณกำลังปีนเขา หรือว่ายน้ำ แต่มันจะเตือนคุณเมื่อหัวใจคุณทำงานผิดปกติ และช่วยคุณได้เมื่อคุณเกิดอุบัติเหตุล้มลง

และทั้งหมดหมายถึงการเก็บ ความลับ ความเป็นส่วนตัวที่ถือเป็นความสำคัญที่สุดลำดับที่หนึ่ง เพราะไม่ควรมีใครได้สิทธิ์ส่วนตัวของคุณไปใช้ในการสร้างโปรดักส์ที่ดี

คุณจะเรียกว่าเราไร้เดียงสาก็ได้ แต่เรายังเชื่อในเทคโนโลยีที่สร้างโดยคน เพื่อคน และทำให้คนอยู่อย่างเป็นสุข ซึ่งเรื่องเหล่านี้ยากที่เราจะไม่สนใจ เพราะเราเชื่อว่าเทคโนโลยีที่ดี วัดผลได้จากความเป็นอยู่ของมนุษย์ที่ดีขึ้น

ถ้าเรารับได้ว่าเรื่องการโดนล้วงข้อมูลเป็นเรื่องธรรมดาและหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคิดว่าทุกอย่างของเรานั้นสามารถรวบรวมนำไปขายได้ สุดท้ายแล้วเราไม่ได้จะเสียแค่ข้อมูล แต่เรากำลังจะเสียอิสระภาพของความเป็นคนด้วย..

นี่คือส่วนหนึ่งของ Speech โดย ทิม คุก CEO ของ Apple ที่พูดไว้ในงาน Privacy & Data Protection conference เมื่อวันที่ 28 ที่ผ่านมา

เนื้อหาค่อนข้างตรงไปตรงมา และแทงใจบริษัทอย่าง Facebook โดยตรง แต่ในฐานะ Apple users รู้สึกว่า นี่คือการยืนยันที่จะเป็น ผู้นำในการป้องกันข้อมูลส่วนบุคคล ที่นอกจากจะได้ภาพด้านนี้แล้ว ยังสร้าง Branding ที่ดีให้กับ Apple ได้อีกด้วย

ถือว่าเป็น speech ที่ยอดเยี่ยม...

ทั้งนี้ Apple ยังได้ปล่อยเอกสารที่ชื่อว่า ‘A Day in the Life of Your Data’ ซึ่งเปิดด้วย quote ของ Steve Jobs ที่เขียนว่า..

“เราเชื่อว่ามนุษย์เรานั้นฉลาด และหลายคนก็ต้องการจะแชร์ข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่น แต่ขอให้ถามเขาก่อน ถามเขาทุกครั้ง ถามจนกว่าเขาจะบอกให้หยุดถามเมื่อเขาเริ่มเบื่อกับคำถามของเรา ให้เรารู้ชัด ๆ ว่าคุณกำลังจะทำอะไรกับข้อมูลของเขา”

“I believe people are smart and some people want to share more data than other people do. Ask them. Ask them every time. Make them tell you to stop asking them if they get tired of your asking them. Let them know precisely what you're going to do with their data.”

ส่วนด้านล่างนี่คือ speech ของ ทิม คุก ช่วงที่ผมตัดมานะครับ

We believe that ethical technology is technology that works for you. It’s technology that helps you sleep, not keeps you up. That tells you when you’ve had enough, that gives you space to create, or draw, or write or learn, not refresh just one more time. It’s technology that can fade into the background when you’re on a hike or going for a swim, but is there to warn you when your heart rate spikes or help you when you’ve had a nasty fall. And that all of this, always, puts privacy and security first, because no one needs to trade away the rights of their users to deliver a great product.

Call us naive. But we still believe that technology made by people, for people, and with people’s well-being in mind, is too valuable a tool to abandon. We still believe that the best measure of technology is the lives it improves.


ที่มา:

https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10158974172635070&id=570720069

‘อาร์เอส กรุ๊ป’ ล่าธุรกิจ ‘กัญชง’ ดันส่วนประกอบ ‘แปรรูป’ สร้างมูลค่าเพิ่มใหม่ให้เครือธุรกิจ

หลังจากกระทรวงสาธารณสุขประกาศปลดล็อคกัญชงให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์โดยไม่จัดเป็นยาเสพติดนั้น บริษัท ไลฟ์สตาร์ จำกัด ในฐานะผู้ผลิตนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามระดับโลก และ อาร์เอส มอลล์ (RS Mall) แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมของทุกคน บริษัทในเครือ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ อาร์เอส กรุ๊ป ประกาศความพร้อมจับมือพันธมิตร บริหารจัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในหมวดสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม ที่มีสารสกัดจากกัญชง ผ่านทุกช่องทาง ช่วยผลักดันรายได้ให้เป็นไปตามเป้าของบริษัท

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเรื่องของกัญชงนั้น บริษัท ไลฟ์สตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของอาร์เอส กรุ๊ป มีความสนใจและมีการศึกษาเรื่องของงานวิจัยมาอยู่ตลอด โดยเฉพาะการนำส่วนต่างๆ ของกัญชงไปแปรรูปและสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ

เช่น ช่อดอกนำไปผลิตยา สารสกัดจากกัญชง ใบนำไปผลิตอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง น้ำมันจากเมล็ดกัญชงนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอาง สารสกัดจาก กัญชงนำไปผลิตเป็นเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเราได้เตรียมความพร้อม โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยชั้นนำศึกษาและคิดค้นสูตรเพื่อนำกัญชงมาพัฒนาและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ทั้งในส่วนของสกินแคร์ เครื่องดื่ม และอาหารเสริม รวมถึงมีการพูดคุยกับพันธมิตรที่เป็นผู้ปลูกกัญชงเชิงพาณิชย์ โรงสกัด และผู้ผลิตไว้เรียบร้อยแล้ว ยืนยันว่าทางเราและพันธมิตร ได้มีการเตรียมการมานานและมีความพร้อมทั้งการผลิตและการจำหน่ายในทันที

ในขณะที่ อาร์เอส มอลล์ แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีแบบองค์รวมของทุกคน ก็เตรียมรุกตลาดพร้อมต่อยอดการขายอย่างเต็มสูบ ภายใต้กลยุทธ์ดังนี้

บังคับใช้แล้ว! ใช้น้ำมัน - สารสกัดเมล็ดกัญชงในเครื่องสำอางได้ ปลดล็อก"กัญชา" พ้นยาเสพติดใช้ได้เฉพาะทางการแพทย์

1.) อาร์เอส มอลล์ มีจุดเด่นและความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องที่แตกต่าง ซึ่งกัญชงมีรายละเอียดและสรรพคุณที่ซับซ้อน จึงสามารถสร้างรูปแบบการนำเสนอได้หลากหลาย อาทิ การไลฟ์สดสาธิตวิธีการใช้ หรือการนำผู้มีประสบการณ์ในการใช้งานจริงมาร่วมให้ความคิดเห็นและแบ่งปันข้อมูล เป็นต้น

2.) จำหน่ายในทุกช่องทาง ทั้งออนแอร์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ช่อง 8 และพันธมิตรช่องดิจิทัลทีวีจากหลากหลายช่องชั้นนำ และออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์ www.rsmall.co.th และ Line @rsmall

3.) อาร์เอส มอลล์ มีทีมเทเลเซลล์ กว่า 500 คน ที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของสุขภาพ สามารถนำเสนอสินค้าและให้บริการลูกค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง รวมถึงการใช้ Data and Voice Analytics มาวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า

“ปัจจุบัน อาร์เอส มอลล์ มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 1.6 ล้านราย จำหน่ายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเป็นจำนวนมาก ทำให้ที่ผ่านมา เราได้รับคำถามและความสนใจจากลูกค้าเกี่ยวกับกัญชงจากทุกช่องทางและมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมสุขภาพที่ดี เพียงแต่ยังต้องรอรายละเอียดจากทางภาครัฐในการผลิตและจัดจำหน่ายให้ถูกต้องและปลอดภัย หากมีการปลดล็อกในส่วนนี้ เราก็มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์จากกัญชงจะได้รับการตอบรับจากลูกค้าส่วนใหญ่ของเราอย่างแน่นอน” คุณสุรชัย กล่าว


ที่มา:

https://www.posttoday.com/economy/news/644176

รมว.อุตสาหกรรม สั่งปล่อยกู้ช่วยเอสเอ็มอี ดอกเบี้ย 1% ใช้วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ให้กู้สูงสุดรายละ 5 ล้านบาท ระยะเวลานาน 7 ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบหมายธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เร่งออกมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบการไวรัสโควิด -19 ระลอกใหม่ ในโครงการสินเชื่อเสริมพลังสร้างอนาคตเอสเอ็มอีไทย ภายใต้กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ วงเงินรวม 1,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้เอสเอ็มอีที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เสริมสภาพคล่อง สำรองเป็นค่าใช้จ่าย หรือลงทุน ขยาย ปรับปรุง กิจการ ต่อยอดธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

สำหรับโครงการนี้ จะมีการปล่อยสินเชื่อผ่านกองทุนดังกล่าว คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี วงเงินกู้สูงสุด 5 ล้านบาท ระยะเวลากู้นานสูงสุด 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ยื่นกู้ได้ถึง 30 ก.ย. นี้ คุณสมบัติผู้ขอสินเชื่อ เป็นผู้ผลิตสินค้าหรือการให้บริการ ที่มีการจ้างงานไม่เกิน 200 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 200 ล้านบาท

ส่วนการค้าปลีกหรือการค้าส่ง ต้องจ้างงานไม่เกิน 50 คน หรือมีมูลค่าสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดิน มูลค่าไม่เกิน 100 ล้านบาท ต้องมีระบบบัญชีเดียว หรือแจ้งความประสงค์ที่จะเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว มีประวัติการชำระหนี้ปกติอย่างน้อย 12 งวด โดยผู้ขออนุมัติสินเชื่อไม่เป็นหนี้เอ็นพีแอล ไม่ถูกดำเนินคดี และไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ณ วันที่ยื่นใบคำขอเข้าร่วม

กระทรวงคลัง คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวเพียง 2.8% จากเดิมเคยประเมินจะขยายตัวราว 4.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เชื่อมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 จากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ลดลงเหลือขยายตัว 2.8% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย

.

ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว เดิมประเมินว่าในปีนี้ จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา 8 ล้านคน ลดเหลือเพียง 5 ล้านคน ส่งผลให้รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงตามไปด้วย จากเดิมคาดมีรายได้อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท เหลือเพียง 2.6 แสนล้านบาท หรือลดลงไป 22.1%

.

ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที 5.2% แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 29.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกคาดขยายตัว 6.2% และนำเข้าคาดขยายตัว 7.8%

.

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีนของประชากรในประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้นได้ และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป

กระทรวงพาณิชย์ เปิด 12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตยุค New Normal และ Next Normal : อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัย และธุรกิจเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ ประกอบกับประชาชนมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตหลายด้าน ทำให้การใช้จ่ายเกิดการชะลอตัว และมีความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ทำให้ธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจ และขยายการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในปี 2563 ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างหันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ”

“สำหรับปี 2564 การดำเนินชีวิตของผู้คน และการประกอบธุรกิจได้ก้าวไปอีกขั้นจากวิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็นวิถีปกติถัดไป (Next Normal) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปี 2564 จำนวน 12 ธุรกิจ

โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ และข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ ร่วมกับความสอดคล้องจากข้อมูล และผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจอื่นๆ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฯลฯ เป็นต้น”

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “12 ธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจในปี 2564 ประกอบด้วย

1) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)

2) ธุรกิจแพลตฟอร์ม สำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์

3) ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline)

4) ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)

5) ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์

6) ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

7) ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

8) ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

9) ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์

10) ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application

11) ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment

12) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ”

โดยทั้ง 12 ธุรกิจ สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ ดังนี้

1) กลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ได้แก่ ‘ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)’ ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์’ และ ‘ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline)’ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ มีการเติบโตที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกันกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากช่วงก่อนหน้านี้และช่วงที่เกิดมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 310 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละ 798 ราย ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น”

2) กลุ่มธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ‘ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)’ ‘ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistic)’ และ ‘ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)’ โดยเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านการค้า และการตลาดออนไลน์

ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) มีรายได้ตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 57 และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 116 เป็นต้น”

3) กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และการแพทย์ ได้แก่ ‘ธุรกิจบริการทางแพทย์และความงาม’ ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์’ เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้ง ความระแวดระวังจากการแพร่ระบาดของโรคฯ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563 และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ และทางการแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563 เป็นต้น”

4) กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานในในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ‘ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application’ ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ตอบสนองต่อการบริโภคของคนในสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากปี 2561 ถึงร้อยละ 324 และ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 94 เป็นต้น”

“ธุรกิจดาวเด่น 12 ธุรกิจ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 65,738 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 812,213.46 ล้านบาท แบ่งเป็น * ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) จำนวน 2,487 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 29,243.10 ล้านบาท * ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ จำนวน 739 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,259.39 ล้านบาท

* ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) จำนวน 9,877 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 47,323.49 ล้านบาท * ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) จำนวน 797 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,651.61 ล้านบาท * ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ จำนวน 28,346 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 362,115.54 ล้านบาท * ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จำนวน 1,846 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 51,502.69 ล้านบาท

* ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม จำนวน 4,380 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 25,510.57 ล้านบาท * ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ จำนวน 809 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 11,308.12 ล้านบาท * ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 10,001 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,628.46 ล้านบาท * ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application จำนวน 5,891 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 189,387.10 ล้านบาท

* ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment จำนวน 113 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,344.62 ล้านบาท และ * ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ จำนวน 452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,938.77 ล้านบาท”

“ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

รวมทั้ง ขอแนะนำว่าผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่ง 12 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 วงเงิน 6 หมื่นล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไร ดีเดย์ เริ่มขายผ่านแอปฯ ‘เป๋าตัง’ 1 ก.พ. นี้

นางแพตริเซีย มงคลวนิช ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แถลงข่าวการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” (We Win) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีวัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชน และพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแผนงานโครงการของรัฐบาล ซึ่งพันธบัตรออมทรัพย์เป็นตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงให้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงที่ตลาดการเงินมีความเสี่ยงจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ

และเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐเพื่อการดูแลประชาชน ทุกกลุ่ม พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น “เราชนะ” จะเริ่มจำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. บนแอปพลิเคชันเป๋าตังเป็นที่แรกในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และจำหน่ายผ่านธนาคารตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้ตามความสะดวก ดังนี้

1.) รุ่นเราชนะบนวอลเล็ต สบม. วงเงินจำหน่าย 5,000 ล้านบาท รุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step-up) เฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี โดยเริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ 100 บาท จนถึง 5 ล้านบาท ซึ่งในทุกขั้นตอนผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องไปธนาคาร ผู้ลงทุนสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเป๋าตังเพื่อลงทะเบียนและเตรียมโอนเงินเข้าวอลเล็ต สบม. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 - 19 กุมภาพันธ์ 2564

2.) รุ่นเราชนะ วงเงินจำหน่าย 55,000 ล้านบาท โดยเป็นการจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไปและนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรผ่าน 4 ธนาคารตัวแทนจำหน่าย ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ แบบไม่จำกัดวงเงินซื้อ ตั้งแต่วันที่ 5 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 แบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วง ดังนี้

(1) วันที่ 5-15 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได (Step Up) โดยรุ่นอายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.00 ต่อปี และรุ่นอายุ 10 ปี อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.50 ต่อปี

(2) วันที่ 16-19 กุมภาพันธ์ 2564 จำหน่ายให้กับนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรตามที่กระทรวง การคลังกำหนด รุ่นอายุ 15 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ร้อยละ 1.80 ต่อปี

ทั้งนี้ วงเงินรุ่นเราชนะที่จำหน่ายบนวอลเล็ต สบม. และธนาคารตัวแทนจำหน่ายไม่นับรวมกัน ผู้ลงทุนจึงสามารถลงทุนได้ทั้ง 2 ช่องทาง

อย่างไรก็ตาม สบน. ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพผู้ลงทุนและการควบคุมการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงได้แจ้งให้ธนาคารตัวแทนจำหน่ายปรับวิธีการจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์และมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาล เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและวิธีการซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคารตัวแทนจำหน่ายทั้ง 4 แห่ง สำหรับวอลเล็ต สบม. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลการใช้งานได้ที่ Call Center โทร. 02-111-1111 หรือที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขา

‘กัปตันโยธิน’ ตั้งคำถาม ‘บอร์ดฟื้นฟูการบินไทย’ เหตุใดไร้ความสามารถหาแหล่งเงินทุนเอง ต้องจ้างบริษัทหลักทรัพย์ช่วยหา เพราะต้องจ่ายค่าคอมมิสชันเพิ่ม ในขณะที่ฐานะการเงินยังย่ำแย่ รวมถึงแผนการยกเลิกการขายตั๋วผ่าน agent ยังไม่มีความชัดเจนเช่นกัน

กัปตัน โยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารระดับสูง บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) โพสต์ผ่านเฟสบุ๊ก ‘Jothin Pamon-montri’ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ถึงแผนฟื้นฟูการบินไทย โดยมี ว่า  

สะพัดข่าว แผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทย

เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน มีข่าวสะพัด ทั้งทาง TV และ สื่อมวลชนแขนงอื่น ๆ เรื่องแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย ส่อล้ม

ดูเหมือนจะมีปัญหาขัดแย้งกัน ในคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกัน ในเรื่องที่จะจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงิน และนโยบาย สายการบินไทยสมายล์ จึงมีข่าวออกมาว่า อาจเป็นไปได้ ว่าไม่สามารถส่งแผนให้ทางศาลล้มละลาย ทันตามกำหนด

เมื่อติดตามข่าว ดูเหมือน ว่าบริษัท EY (บริษัทที่ปรึกษา) ได้ทำแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จแล้ว และได้ส่งแผนดังกล่าวให้แก่ คณะกรรมการทำแผนฯ เพื่อพิจารณา ส่วนว่าคณะทำแผนฯ จะรับแผนฟื้นฟูกิจการที่ทาง EY เสนอหรือไม่ ก็คงต้องรอวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นวันที่คณะทำแผนฟื้นฟูต้องเสนอ แผนดังกล่าวแก่ ศาลล้มละลายกลาง เพื่อพิจารณา หรือว่าจะมีการขอเลื่อนเวลาออกไปอีกครั้ง

ที่ทราบมา คือฝ่ายบริหารการบินไทยได้ ส่ง RFP ( Request for Proposal ) ไป ยัง 7 บริษัทเพื่อจะจ้างมาเป็นที่ปรึกษาด้านการเงิน ดูเหมือนมีแค่ 2 บริษัท คือ บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร และ ธนาคารไทยพาณิชย์ ส่งข้อเสนอมา และหลังพิจารณาข้อดีข้อเสียแล้ว บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร ให้ข้อเสนอที่ดีที่สุด ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทาง บริษัท หลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร เสนอ ค่าตอบแทนออกเป็น สองส่วน

ส่วนที่ 1 ที่เรียกว่า Advisory Fee (ค่าให้ การปรึกษา) ชำระเป็นรายเดือน จนสิ้นสุดสัญญา

ส่วนที่ 2 ที่เรียกว่า Success Fee (ภาษาชาวบ้าน คือ ค่า กินหัวคิว) จ่ายเป็น เปอร์เซ็นต์ ตามมูลค่า ของแหล่ง เงินทุนที่จัดหามาให้ได้ และการขายหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ก็เลยจำเป็นต้องมีคำตอบในเรื่องนี้

คำถามแรก ขอเรียนถามคุณจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล ในฐานะที่เคยเป็นรองปลัดกระทรวงคลัง ว่าไม่มีความสามารถ ที่จะช่วยหาแหล่งเงินทุนให้กับบริษัทการบินไทย เชียวหรือ จึงต้องจ้างที่ปรึกษาฝ่ายการเงิน บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย เร่งหา แหล่งเงินทุน ซึ่งบริษัทการบินไทยต้องเสียเงินจำนวนเปอร์เซ็นต์ ตามจำนวนทุนที่สามารถ หามาได้โดยบริษัท ที่ปรึกษา

คำถามที่ สอง บริษัทมี นโยบาย จะพยายามขายตั๋วโดยสารโดยตรง ไม่ขายผ่าน ตัวแทน (agent) เพื่อไม่ต้อง เสียค่า คอมมิชชั่น เช่นเดียวกับ การซื้อเครื่องบินในอดีต ต่อไปจะซื้อตรงกับ บริษัทผู้ผลิต เพื่อหลีกเลี่ยง ข้อ ครหา เรื่อง สินบน และเหตุใด จึงต้องไปจ้าง บริษัท หลักทรัพย์ มาช่วย ขาย หลักทรัพย์ และหรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ซึ่งบริษัทต้องจ่ายเป็นเปอร์เซ็นต์ จากจำนวนเงิน ของ หลักทรัพย์ และ สินทรัพย์ที่ขายไป แต่ถ้าบริษัทที่ปรึกษา ไม่สามารถสรรหาแหล่งเงินทุน หรือ หาผู้มาซื้อหลักทรัพย์ หรือ สินทรัพย์ ของบริษัท ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆทั้งสิ้น แถมยังได้ ค่าจ้าง ที่เรียกว่า Advisor fee ทุกเดือน จน สิ้นสุดสัญญา

ส่วนเรื่อง สายการบินไทยสมายล์ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการฟื้นฟู และความเห็นต่าง ระหว่างฝ่ายเสียงข้างมาก กับฝ่ายเสียงข้างน้อย กับบริษัทที่ปรึกษาทำแผนในโอกาสต่อไป ครับ


กัปตันโยธิน ภมรมนตรี

25 มกราคม 64

ที่มา : https://www.facebook.com/jothin.pamonmontri

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ กับภารกิจการเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 แห่งภูมิภาคอาเซียน ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย้ำปณิธาน “มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ผลิตภัณฑ์ที่บริษัทฯ ผลิต ได้แก่ ยารักษาโรคชีววัตถุ อาทิ ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง และยาเพิ่มเม็ดเลือดขาว ให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับเคมีบำบัด โดยยาทั้ง 2 ตัวผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง สามารถบำบัดรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยลดการพึ่งพายาจากต่างชาติ ช่วยสร้างความมั่นคงให้กับระบบสาธารณสุขของประเทศอย่างยั่งยืน

และด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับโลกของโรงงาน บริษัทฯ จึงได้รับการรับรองมาตรฐานสากล PIC/S GMP, ISO9001, ISO17025 และ ISO13485 อีกทั้งได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ผลิตยาและชุดตรวจโรค ให้แก่องค์กรต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-19 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัดได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาและผลิตชุดตรวจเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก (WHO) และได้มอบให้หน่วยงานราชการใช้ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยในประเทศมากกว่า 100,000 ชุด

ก้าวสำคัญต่อมาคือ การผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทแอสตร้าเซเนก้า ผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำของโลก

ในเดือนตุลาคม 2563 บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ , บริษัท เอสซีจี , แอสตร้าเซเนก้า และกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงในความร่วมมือเพื่อที่จะให้วัคซีนนี้ได้มีใช้อย่างแพร่หลายในภูมิภาคอาเซียน จากหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว ได้นำไปสู่สัญญารับจ้างผลิตระหว่าง แอสตร้าเซเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์

ซึ่งสัญญานี้แสดงให้เห็นว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัทที่มีความสามารถทางเทคโนโลยีชั้นสูง สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างมีคุณภาพและมาตรฐานสากล จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีของแอสตร้าเซเนก้า ส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ที่มีมากกว่า 20 แห่งทั่วโลก

สำหรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า ใช้เทคโนโลยีในการผลิตใกล้เคียงกับการผลิตยาชีววัตถุจากเซลล์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งสยามไบโอไซเอนซ์ มีประสบการณ์ในการผลิตยาชีววัตถุด้วยเทคโนโลยีนี้ และมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดแล้วทั้งในประเทศและส่งออก

โรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์ ได้รับการรับรองมาตรฐานการผลิตระดับสากล มีศักยภาพที่จะรองรับการผลิตวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าได้ทุกขั้นตอน และเป็นโรงงานทีใช้เทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สามารถรองรับการขยายกำลังการผลิตได้ในอนาคต

สยามไบโอไซเอนซ์จึงเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยสยามไบโอไซเอนซ์ได้ดำเนินการผลิตวัคซีนโดยยึดนโยบายไม่กำไร ไม่ขาดทุน หรือ no profit, no loss ในช่วงที่มีการระบาดนี้ ซึ่งเป็นนโยบายเดียวกันกับของแอสตร้าเซเนก้า

ภารกิจผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข จำนวนเงินประมาณ 600 ล้านบาท และจากบริษัท เอสซีจี 100 ล้านบาท เพื่อต่อยอดศักยภาพของโรงงานให้มีความพร้อมในการผลิตวัคซีนให้ได้เร็วที่สุด เมื่อผลิตวัคซีนได้สำเร็จ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จะสั่งซื้อวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 จากแอสตร้าเซเนก้า เป็นมูลค่าเท่ากับจำนวนเงินทุนที่ได้รับ เพื่อส่งมอบให้กับรัฐบาลในการดูแลสุขภาพของคนไทยต่อไป

นางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรกิตติมศักดิ์ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กล่าวว่า “สยามไบโอไซเอนซ์มีความภาคภูมิใจที่ได้รับเลือกจากแอสตร้าเซเนก้าให้เป็นฐานการผลิตวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่ตรงตามมาตรฐานระดับโลก ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ของสยามไบโอไซเอนซ์ทุกคนเร่งทำงานแข่งกับเวลา โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ตัดสินใจปรับแผนการผลิตยาชีววัตถุเดิม โดยทุ่มสรรพกำลังในการผลิตวัคซีนที่ได้ตรงตามมาตรฐานของแอสตร้าเซเนก้าในเวลารวดเร็วที่สุด เพื่อที่ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชาติ เศรษฐกิจไทย รวมถึงประชาชนและเศรษฐกิจระดับภูมิภาค จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้ง ดังปณิธานของบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ที่มุ่งมั่นที่จะทำให้คนไทยและทั่วโลกมีวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า” 

‘สุริยะ’ สั่งการ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ออกมาตรการเยียวยาลูกหนี้เงินทุนกว่า 2,300 กิจการ ลูกหนี้ชั้นดีพักชำระได้สูงสุด 12 เดือน สร้างสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการ ให้ผ่านพ้นภาวะวิกฤต

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ตระหนักและห่วงใยผู้ประกอบการธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงได้สั่งการให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ

รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทยใน 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อาหาร 2.เครื่องดื่ม 3. ผ้าและเครื่องแต่งกาย 4. ของใช้และเครื่องประดับตกแต่ง 5. ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึกที่สะท้อนวิถีชีวิตภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น 6. สมุนไพรที่ไม่ใช่ยาและอาหาร และ 7. อุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกลุ่มวิสาหกิจชุมชน หรือ SMEs ซึ่งมีจำนวนกว่า 2,300 กิจการ ผ่าน 3 มาตรการ ประกอบด้วย

  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่ชำระเงินปกติ โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 12 เดือนโดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 12 เดือน
  • พักชำระหนี้สำหรับลูกหนี้รายเดิมที่มีหนี้ค้างชำระไม่เกิน 6 งวด โดยให้สิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน โดยชำระเฉพาะดอกเบี้ย และมีสิทธิ์ขอขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ไม่เกิน 6 เดือน
  • สินเชื่อสำหรับผู้ขอกู้รายใหม่ วงเงินตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป ต่อราย/กิจการ ได้รับสิทธิ์พักชำระเงินต้นไม่เกิน 6 เดือน (ชำระเฉพาะดอกเบี้ย) โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี

สำหรับมาตรการทางการเงิน ถือเป็นหนึ่งในวัคซีนเอสเอ็มอีที่เป็นเครื่องมือที่ กสอ. ใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาวการณ์ต่าง ๆ โดยในส่วนของเงินทุนฯ ได้มีการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการด้านการเงินในการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (Financial Literacy) ประกอบด้วย

1. สำหรับผู้ต้องการขอสินเชื่อ เป็นการเตรียมตัวก่อนขอสินเชื่อ รู้จักข้อมูลบัญชี ภาษี การวิเคราะห์และวางแผนทางการเงิน และธุรกิจ

2. สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ โดยการตรวจสภาพการเงิน วางแผนชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ และการจัดการธุรกิจในภาวะวิกฤต ซึ่งเงินทุนนั้น นอกจากการช่วยเหลือในเรื่องดอกเบี้ยและสินเชื่อแล้ว กสอ. ยังทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ประกอบการที่มีต้นทุนทางแนวคิดในการประกอบธุรกิจให้สามารถเข้าถึงนักลงทุนที่มีศักยภาพ เพื่อการต่อยอดอุตสาหกรรมอย่างมั่นคง ทั้งยังส่งเสริมการสร้างเครือข่าย ทั้งในระดับท้องที่และระดับของอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างนิเวศอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งเพื่อก้าวข้ามภาวะวิกฤตได้อีกทางหนึ่ง

โดยผู้ประกอบการที่สนใจสามารถขอรับสิทธิ์ได้ที่ กลุ่มบริหารเงินทุนฯ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4409-10 หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 11 แห่ง ตั้งแต่วันนี้ จนถึง วันที่ 31 มีนาคม 2564 หรือ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือ เข้าไปที่ www.dip.go.th  


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top