Sunday, 19 May 2024
COLUMNIST

แด่ผู้ท่องโลกกว้าง...ที่จากไป ตามรอย ‘เช เกบารา’ ที่ อัลตา กราเซีย (Alta Gracia)

ผมได้ยินชื่อ “เช เกบารา” น่าจะตั้งแต่สมัยเป็นวัยรุ่นแล้ว เคยเห็นหน้าของชายคนนี้พิมพ์ลงไปตามหมวกบ้าง ตามเสื้อยืดบ้าง และเห็นตามท้ายรถสิบล้อบ้าง เห็นว่าเป็นชายเซอ ๆ เท่ ๆ ที่ดูดีคนหนึ่งเท่านั้นเอง จนกระทั่งภาพยนตร์เรื่อง The motorcycle diaries ออกฉายในโรงเมื่อสักสิบกว่าปีที่แล้ว เป็นการนำเอาเรื่องราวการเดินทางทั่วทวีปอเมริกาของเชและเพื่อนมาสร้าง โดยทั้งตัวหนังและนักแสดง รวมถึงองค์ประกอบทั้งหมดทำให้ยกให้เป็นหนึ่งในหนังประทับใจที่สุดของผม และน่าจะของใครอีกหลาย ๆ คนด้วย 

ในแง่ของบทบาททางการเมือง ลัทธิการต่อสู้แบบกองโจร รวมถึงการปฏิวัติเพื่ออุดมการณ์ในการต่อต้านโลกทุนนิยมชนิดสุดโต่งนั้นผมไม่ค่อยสนใจ รู้แค่ว่าการออกผจญภัยของ เช เกบารา มีส่วนกระตุ้นต่อมเดินทางของผมค่อนข้างมาก ผมเองชื่นชอบการเร่ร่อนส่องโลกมากเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ได้เห็นแบบอย่าง (อันดีงาม) แบบนี้จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าตนเองก็สามารถใช้ชีวิตตามฝันได้เช่นกัน นี่จึงนับว่าเขาเป็น “ไอดอล” คนหนึ่งของการออกนอกกรอบและท่องโลกกว้างสำหรับตัวเอง 

การได้ผ่านไปสัมผัสสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่งเชเคยเกิด เติบโต ใช้ชีวิตอยู่ แม้กระทั่งสถานที่ตายและหลุมฝังศพ จึงเป็นความฝันอย่างหนึ่งของผม อธิบายง่าย ๆ ก็คงอารมณ์คล้าย ๆ บรรดาติ่งเกาหลีอยากไปตามรอยซีรีส์เกาหลีนั่นแหละ และครั้งนี้ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านเมืองที่เขาเกิดและเติบโตล่ะ

อันที่จริง ข้อมูลทั้งประวัติและวีรกรรมต่าง ๆ ของเชมีเพียบละเอียดถี่ยิบแล้ว ทั้งตามชั้นหนังสือและในโลกอินเตอร์เน็ต แต่การได้เดินทางไปเยือนด้วยตัวเองมันให้ความรู้สึกที่ต่างจากการซึมซับรับทราบข้อมูลมือสองเยอะเลย สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็นครับ ดังนั้น เมื่อมีโอกาสได้ไปเยือนอาร์เจนติน่า จึงตั้งใจเป็นมั่นเหมาะว่าจะต้องไปให้ถึงบ้านเกิดเชให้ได้

เช เกบารา เป็นคนอาร์เจนตินา ประเทศซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของทวีปอเมริกาใต้ บ้านเกิดจริง ๆ ของเขาคือเมืองโรซาริโอ ตั้งอยู่บนที่ราบภาคกลางของประเทศ ปัจจุบันถือว่าเป็นเมืองข้างค่อนใหญ่และวุ่นวายขวักไขว่ สภาพอากาศคล้ายเมืองไทย คือร้อนชื้นและยุงเยอะ พื้นที่นอกเมืองเต็มไปด้วยทุ่งกสิกรรม ต่างกันตรงที่ทางโน้นไม่ได้ปลูกข้าวนาปีนาปรังเหมือนภาคกลางบ้านเรา เขาลืมตาดูโลกในโรงพยาบาลของเมืองนั้น แต่เนื่องจากอาการหอบหืด พ่อแม่จึงตัดสินใจย้ายไปอยู่ที่เมืองเล็กตากอากาศ ซึ่งห่างออกไปราวสี่ร้อยกิโลเมตร ซึ่งอยู่ใกล้อีกเมืองใหญ่ชื่อกอร์โดบาร์

เอาเข้าจริง ๆ โดยตัวเมืองบนเนินเขาอย่างอัลตากราเซียนั้น แม้อากาศจะเย็นสบายกว่าเยอะ หากดูในแผนที่แล้วจะเห็นว่าเมืองนี้อยู่บริเวณเชิงเขาของเทือกเขาแอนดีส ซึ่งทอดตัวยาวมาจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาใต้มายังตอนใต้สุด และเป็นหนึ่งในเทือกเขาที่เต็มไปด้วยยอดเขาสูงชันติดอันดับโลกไม่แพ้เทือกเขาหิมาลัยของทวีปเอเชีย แน่นอน อากาศดี สมเหตุสมผลแล้วโดยประการทั้งปวงที่ครอบครัวนี้จะย้ายมาลงหลักปักฐานที่นั่นด้วยเหตุผลด้านสุขภาพของเด็กชายเช และแม้ว่าอัลตากราเซียจะมีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางประวัติศาสตร์และธรรมชาติ แต่สำหรับผมแล้ว เหตุผลเดียวของการไปที่นั่นก็คือการได้ไปเยี่ยมชมบ้านเพียงหลังเดียวโดยไม่ได้สนใจอย่างอื่นเลย

ไปถึงแล้วก็ไม่เสียเวลา (ผมเดินทางโดยจักรยานครับ) เช็คข้อมูลในมือถือ รู้ว่าจากใจกลางเมืองต้องขึ้นเนินไปอีกนิด และลัดเลาะถนนเล็กซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัย จนกระทั่งถึงบ้านเล็กที่ 501 ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียว มีรั้วรอบขอบชิดเหมือนบ้านทั่วไป นั่นแหละบ้านเชเขาล่ะ สิ่งที่แตกต่างก็คือ ปัจจุบันบ้านหลังนี้ได้ปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าชม ไม่ได้มีใครอาศัยอยู่อีกต่อไปแล้ว

เมื่อซื้อตั๋วแล้วก็เดินดูโดยรอบ แม้สถานที่ไม่ได้กว้าง มีเพียงไม่กี่ห้อง แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดและสิ่งที่น่าสนใจ อบอวลไปด้วยความทรงจำมากมายจริง ๆ รู้สึกดีใจที่ได้เห็นสมุดบันทึกลายมือเช

เพราะเป็นที่รู้กันดีในหมู่นักเดินทางทั้งหลายว่าการจดบันทึกนั้นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย บนผนังในห้องต่าง ๆ มีรูปภาพใส่กรอบติดไว้ ส่วนใหญ่เป็นภาพสมาชิกครอบครัวและกิจกรรมที่เคยทำกัน 

มีเตียงนอนและชุดเสื้อผ้าสมัยยังเป็นเด็กชายเช โดยมีจักรยานสามล้อคันเล็กของเขาอยู่ที่มุมหนึ่งของห้องนอน ส่วนจักรยานซึ่งติดเครื่องยนต์อีกคันอยู่อีกมุมหนึ่งของห้อง คันนี้เชเคยใช้ปั่นเดี่ยวหลายพันไมล์ขึ้นเขาลงห้วยเดินทางภายในประเทศสมัยเป็นวัยรุ่น พันธุกรรมเร่ร่อนคงตกค้างอยู่ในตัวผู้ชายคนนี้มากเอาเรื่อง แม้ว่าจะมาจากครอบครัวฐานะปานกลางมีอันจะกิน และเจ้าตัวมีโอกาสได้ร่ำเรียนจนจบแพทย์ที่เมืองหลวงบัวโนสไอเรส แต่ก็ตัดสินใจออกเดินทางไกลด้วยมอเตอร์ไซค์ คราวนี้ไปไกลกว่าเดิมมาก และนั่นเอง เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เขาไม่เคยได้กลับมาลงหลักปักฐานที่ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนอีกเลย แน่นอน มอเตอร์ไซค์คันนั้นก็ถูกนำมาเก็บรักษาไว้ในบ้านหลังนี้ด้วย

สิ่งที่เห็นแล้วสะท้อนใจ พร้อมกระตุ้นความอยากไปให้ถึงสถานที่ดังกล่าว ก็คือ เศษอิฐชิ้นหนึ่ง มีคำเขียนไว้ว่า La Higuera Bolivia 09-10-67 เป็นชิ้นอิฐระบุสถานที่และวันเดือนปีที่เช เกบาราเสียชีวิต 

การได้ไปซึมซับอดีตเช่นนี้ ทำให้อยากไปเห็นอีกหลาย ๆ ที่ที่เขาเดินทางผ่านหรือไปใช้ชีวิตอยู่ในบางช่วง อย่างเช่น ชิลี กัวเตมาลา คิวบา รวมถึงสถานที่โดนสังหารอย่าง La Higuera ในประเทศโบลิเวียด้วย ลาก่อนเช... แล้วพบกันที่ปลายทางถัดไปนะ
 

บะหมี่สร้างชาติ !! รู้จัก​ Nongshim บะหมี่เบอร์​ 1​ สัญชาติเกาหลีใต้ สำเร็จบนความศรัทธา​ ที่แลกมาด้วยการตัดพี่ตัดน้อง

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2021 มีการประกาศข่าวเศร้าของวงการนักธุรกิจเกาหลีใต้ว่า นายชิน ชุน-โฮ ผู้ก่อตั้งบริษัท Nongshim ที่เป็นเจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปชื่อดัง ยอดขายอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ Shin Ramyun ได้เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 91 ปี ที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโซล

ชิน ชุน-โฮ นับเป็นนักธุรกิจที่มีใจมุ่งมั่นที่จะทำในสิ่งที่เขาเชื่อมั่นศรัทธา และตลอดระยะเวลานานกว่า 50 ปี เขาอุทิศให้กับการสร้างแบรนด์บะหมี่ ให้กลายเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของเกาหลีใต้ได้สำเร็จ จนปัจจุบันมูลค่าตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้ ก็เติบโตขึ้นอย่างมาก โดดเด่นแซงหน้าอาหารประจำชาติอย่างกิมจิ จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

จุดเริ่มต้นของบริษัท Nongshim เกิดขึ้นจากธุรกิจครอบครัวช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลียุคในสงครามเกาหลี ที่ชาวเกาหลีมักเรียกว่าเป็นยุคสร้างชาติ ซึ่งก็ดูเหมือนไม่ต่างจากธุรกิจอื่นๆ​ ทั่วไปที่เริ่มขึ้นจากการช่วยเหลือกันของคนในครอบครัว แต่ไม่ใช่กับ ชิน ชุน-โฮ เพราะเขามีพี่ชายที่ชื่อว่า ชิน คยุก-โฮ

ครอบครัวชิน มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน ชาย 4 หญิง 5 ชิน คยุก-โฮ เป็นพี่ชายคนโต ส่วนตัวเขา ชิน ชุน-โฮ เป็นน้องชายคนที่ 3 ต่อมาพี่ชายของเขาขอไปเสี่ยงโชคสร้างตัวในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และต่อสู้จนสามารถตั้งบริษัทผลิตหมากฝรั่ง และขนมหวานที่ชื่อว่า Lotte

หลังจากเปิดกิจการมั่นคงแล้ว พี่ชายคนโตของบ้าน เปิดบริษัทย่อยให้น้อง ๆ​ ในครอบครัวมาช่วยกันบริหารภายใต้ แบรนด์ Lotte อีกหลายสิบบริษัท และหนึ่งในนั้นคือ Nongshim ที่ ชิน ชุน-โฮ เป็นคนบริหาร และรับผิดชอบในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และข้าวเกรียบกุ้งแบบญี่ปุ่นออกภายใต้แบรนด์ Lotte

แต่สิ่งที่ ชุน ชุก-โฮ เห็นต่างจากพี่ชายคือ เขามองเห็นโอกาสในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปว่ามีโอกาสโตมากกว่านี้ และต้องการลงทุนสร้างฝ่ายวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างจริงจัง แต่พี่ชายของเขาไม่สนใจธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเท่าไหร่ และไม่ต้องการให้ใช้แบรนด์ Lotte กับผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานของน้องชาย

เรื่องนี้สร้างความบาดหมางครั้งใหญ่ระหว่างพี่น้องตระกูลชิน เป็นเหตุให้​ ชิน ชุน-โฮ ยอมแตกหักกับพี่ชายแล้วแยกตัวออกมาตั้งบริษัทของตัวเอง ที่ชื่อ Nongshim ที่แปลว่า "หัวใจของเกษตรกร" โดยไม่มี Lotte พ่วงท้ายในปี 1978

ซึ่งชิน ชุน-โฮ ตั้งใจที่จะผลิตบะหมี่ ที่ราคาประหยัด ได้คุณค่าทางอาหาร เก็บได้นาน เหมาะสำหรับชาวเกาหลี ที่ต้องทำงานหนักในยุคสร้างชาติ ที่บางฤดูก็ขาดแคลนอาหาร บางวันกินอาหารได้ไม่ครบมื้อ และไม่มีเวลาปรุงอาหารสด อย่างน้อยก็มีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติดี แบบเกาหลีแท้ ๆ​ ติดบ้านไว้กินประทังชีวิตได้

ช่วงที่ ชิน ชุน-โฮ ออกมาสร้างแบรนด์เอง ในเกาหลีใต้มีบริษัทคู่แข่งที่เน้นผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปอยู่แล้ว หนึ่งในนั้นก็คือ Samyang ที่ก็เป็นแบรนด์ฮิตมากจนถึงวันนี้เช่นกัน

ดังนั้น การสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และรูปแบบสินค้าให้เป็นที่จดจำได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่ง​ ชิน ชุน-โฮ ได้ร่วมวงในทีมคิดค้นพัฒนารสชาติให้กับบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของ Nongshim แทบทุกตัว โดยเฉพาะรสชาติเรือธงของแบรนด์ Shin Ramyun บะหมี่รสเผ็ด ซุปแดงที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของบะหมี่สัญชาติเกาหลีใต้

และก่อนที่จะออกมาเป็น Shin Ramyun ชิน ชุน-โฮ ทดสอบพริกกว่า 20 ชนิด ลองแล้วลองอีกกว่าจะได้ ออกมาเป็นรสชาติอย่างที่ต้องการ แล้วตัดสินใจใช้ชื่อ Shin Ramyun ที่หลายคนเคยเข้าใจว่ามาจากนามสกุล "ชิน" ของเขา ซึ่งไม่ใช่ แต่มาจากตัวอักษรจีน ที่แปลว่า "เผ็ด"

พนักงานย้ำถามเขาหลายครั้งว่า เถ้าแก่ชินตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า "Shin" หรือ เรียกตรง ๆ ว่าบะหมี่เผ็ดจริง ๆ​ หรือ ซึ่ง ชิน ชุน-โฮ ก็ยืนยัน และยังให้เขียนตัวอักษร Shin "辛" ตัวใหญ่ ๆ​ กลางซองสีแดงให้เด่นชัด ตอกย้ำรสชาติเผ็ดจัด ตามแบบที่คนเกาหลีชอบ และออกวางตลาดครั้งแรกในปี 1986 จนกลายเป็นสินค้าฮิตติดตลาด พาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจาก Nongshim กินส่วนแบ่งตลาดเป็นที่ 1 ของเกาหลีใต้ได้จนถึงวันนี้

หลังจากนั้น Nongshim ก็ได้แตกไลน์ออกบะหมี่มาอีกหลายรสชาติ เช่น บะหมี่ซุปซีฟู้ด Neoguri, บะหมี่แห้งซอสดำ Chapaghetti, บะหมี่ซุปกิมจิ Ansungtangmyun นอกจากนี้ Shin Ramyun ยังเคยได้รับการจัดอันดับให้เป็นสุดยอดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ดีที่สุดในโลกของ New York Times มาแล้วด้วย

ปัจจุบัน Nongshim เปิดโรงงานทั้งในจีน, ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่งออกบะหมี่ไปกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ทำรายได้ถึง 1.8 พันล้านเหรียญในแต่ละปี

แต่น่าเสียดายที่ความสำเร็จของ Nongshim ไม่สามารถทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องตระกูลชิน กลับมาดีดังเดิมได้อีก ทั้ง​ ชิน คยุก-โฮ พี่ชายคนโต ผู้กุมบังเหียนกิจการ Lotte และ ชิน ชุน-โฮ ที่เติบใหญ่จากธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไม่เคยคุยกันอีกเลยหลังจากที่แยกทางกันเดิน และด้วยบุคลิกของ ชิน ชุน-โฮ ที่เป็นคนเงียบ ๆ ไม่ชอบเข้าสังคมเหมือนพี่ชาย และทำแต่งาน ยิ่งทำให้ความสัมพันธ์ห่างเหินจนเกินที่จะประสานต่อกันได้

แม้ว่า ชิน คยุก-โฮ ผู้พี่จะจากไปแล้วเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2020 ด้วยวัย 98 ปี ก็ไม่ปรากฏตัวชิน ชุน-โฮ ในงานศพพี่ชายของเขา เช่นเดียวกับงานศพของ ชิน ชุน-โฮ ก็ไม่มีตัวแทนจากครอบครัวของพี่ชายเช่นกัน

หลายครั้งที่การทำธุรกิจต้องแลกกับความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่ในใจของ​ ชิน ชุน-โฮ ก็ไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น เขาจึงมักพร่ำสอนให้ลูก ๆ ทั้ง 4 คนของเขารักกันให้มาก ๆ และช่วยกันดูแลบริษัท Nongshim ต่อจากเขาด้วย​ โดยยึดมั่นในคุณภาพ และความซื่อสัตย์

และด้วยความเชื่อมั่น และศรัทธานี้เองที่เป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปของเกาหลีใต้พัฒนาจนกลายเป็นหนึ่งในสินค้าที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ ที่คนทั้งโลกรู้จักทันทีที่ได้เห็น และติดใจที่ได้ลิ้มลอง

.

ข้อมูลอ้างอิง :

https://www.straitstimes.com/asia/east-asia/south-koreas-ramyeon-king-leaves-a-spicy-legacy

https://www.ajudaily.com/view/20200218104006727

https://scholarblogs.emory.edu/noodles/2018/06/30/the-role-of-korean-ramyeon-christina-ji-young-chang/

http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20210328000167

https://www.nytimes.com/wirecutter/blog/best-instant-noodles/

https://www.statista.com/statistics/687374/south-korea-instant-noodle-brand-market-share/


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

คอร์รัปชั่น...ไหมครับท่าน ตอนที่ 4 งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี เครื่องมือเบื้องต้นในการแกะรอยการทุจริต

เกริ่นไว้ในสามตอนที่แล้วว่า การแก้ปัญหาการทุจริตใช่ว่าจะหมดหวังเลยเสียทีเดียว เพราะมีเครื่องมือจำนวนหนึ่งในการตรวจหาความผิดปกติที่เป็นต้นตอของการกระทำการทุจริตได้

สรรสาระ ประชาธรรม ตอนนี้ อยากให้บุคลากรในหน่วยงาน ประชาชน และผู้ที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องในหลายระดับในการดำเนินการภาครัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยตรวจสอบการดำเนินการ ส่งสัญญาณปัญหาการดำเนินการก่อนเกิดความเสียหายร้ายแรง เครื่องมือที่ว่านั้น คือ งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี

งบการเงิน หรืออาจเรียกว่า รายงานการเงิน นั้น ตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 ตามประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 นั้น ระบุความหมายของงบการเงินว่า

ข้อ 9 งบการเงินเป็นการนำเสนอฐานะการเงินและผลการดำเนินงานการเงินของกิจการอย่างมีแบบแผน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับฐานะการเงิน ผลการดำเนินงาน และกระแสเงินสดของกิจการ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเชิงเศรษฐกิจของผู้ใช้งบการเงินกลุ่มต่าง ๆ นอกจากนี้ งบการเงินยังแสดงถึงผลการบริหารงานของฝ่ายบริหารซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลทรัพยากรของกิจการ เพื่อที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว งบการเงินให้ข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้เกี่ยวกับกิจการ
1) สินทรัพย์
2) หนี้สิน
3) ส่วนของเจ้าของ
4) รายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงผลกำไรและขาดทุน
5) เงินทุนที่ได้รับจากผู้เป็นเจ้าของและการจัดสรรส่วนทุนให้ผู้เป็นเจ้าของในฐานะที่เป็นเจ้าของ และ
6) กระแสเงินสด
ข้อมูลเหล่านี้และข้อมูลอื่นที่เปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินช่วยผู้ใช้งบการเงิน ในการคาดการณ์เกี่ยวกับจังหวะเวลาและความแน่นอนที่กิจการจะก่อให้เกิดกระแสเงินสดในอนาคตของกิจการ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

ทำไมงบการเงินจึงมีส่วนช่วยในการตรวจจับ ส่งสัญญาณ หรือ แกะรอยการทุจริต นั่นเป็นเพราะว่า อนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบการเงิน การตรวจสอบงบการเงิน ต้องรับผิดชอบ และรับผิดหากการจัดทำงบการเงินหรือรับรองงบการเงินโดยมิชอบนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อผู้บริหารกล้าที่จะกระทำการทุจริต จึงไม่ง่ายนักที่จะดำเนินการเว้นเสียแต่ว่าในทุกองคาพายพก็พร้อมกระทำการทุจริต แต่ถึงกระนั้น งบการเงินก็ยังเป็นร่องรอยที่สำคัญในการแกะรอยการทุจริตได้

เครื่องมือนี้จะเป็นประโยชน์หากผู้ที่เกี่ยวข้องใส่ใจ ผู้ที่มีอำนาจตรวจสอบ กำกับดูแลเอาใจใส่ ในการทำหน้าที่ เพราะมีการรองรับหรือแนวทางให้พิจารณา นั่นคือ

ข้อ 20 ในกรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด ตามที่ระบุไว้ในย่อหน้าที่ 19 กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลทุกข้อดังต่อไปนี้
20.1 ข้อสรุปของฝ่ายบริหารที่ว่า งบการเงินได้แสดงฐานะการเงิน ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสดโดยถูกต้องตามที่ควร
20.2 ข้อความที่แสดงว่ากิจการได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีการถือปฏิบัติยกเว้นเรื่องที่กิจการจำต้องไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน เพื่อให้งบการเงินแสดงข้อมูลถูกต้องตามที่ควร
20.3 ชื่อของมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่กิจการไม่ปฏิบัติตาม ลักษณะของการไม่ถือปฏิบัติรวมถึงการปฏิบัติที่มาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนด สำหรับการไม่ปฏิบัติตาม เหตุผลที่หากปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ดังกล่าวแล้วจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมากในสถานการณ์ต่างๆ จนเป็นเหตุให้งบการเงินขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ที่กำหนดในกรอบแนวคิดสำหรับการรายงานทางการเงิน และวิธีปฏิบัติที่กิจการเลือกใช้ และ
20.4 ผลกระทบทางการเงินของการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่มีต่อรายการแต่ละรายการในงบการเงินของกิจการ หากกิจการถือปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับแต่ละงวดที่มีการนำเสนอนั้น
21 กรณีที่กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องใดในงวดก่อนแล้วส่งผลต่อจำนวนเงินที่รับรู้ในงบการเงินงวดบัญชีปัจจุบัน กิจการต้องเปิดเผยข้อมูลตามที่กำหนดในย่อหน้าที่ 20.3 และ 20.4 
22 ตัวอย่างของการใช้ข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 21 ได้แก่ กิจการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินในงวดก่อนในการวัดมูลค่าสินทรัพย์หรือหนี้สิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการวัดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินที่รับรู้ในงบการเงินงวดปัจจุบัน (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)

จะเห็นได้ว่า มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 นั้นเน้นเรื่องการเปิดเผยข้อมูล และความโปร่งใส สอดคล้องกับปรัชญาการบัญชีที่ต้องมีความรับผิด (Accountability) ยิ่งไปกว่านั้น มาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 1 มีหลักการที่สำคัญ และไม่อ่อนข้อหรือต้องตีความทางกฎหมายแบบนิติบริกร กล่าวคือ ตรงไปตรงมา ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนในข้อ 18 นั่นคือ

ข้อ 18 การเปิดเผยนโยบายการบัญชี การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน หรือการจัดทำคำอธิบายเกี่ยวกับนโยบายการบัญชีที่ไม่เหมาะสมที่กิจการใช้ไม่ทำให้นโยบายการบัญชีนั้นเหมาะสมขึ้นมาได้ (ประกาศสภาวิชาชีพบัญชีที่ 25/2563 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2563)


กรณีศึกษา
มหาวิทยาลัยชื่อดังของรัฐแห่งหนึ่งนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่แสดงความคิดเห็นในงบการเงิน ของมหาวิทยาลัยนั้น ถึงสองปีต่อเนื่องกัน คือ ปีงบประมาณ 2557 และปีงบประมาณ 2558 โดยที่สาระสำคัญ คือ

“1.3 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ 3 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 529.33 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 89.83 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 387.13 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 293.18 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 240.87 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”


ข้อที่มีความสำคัญยิ่ง คือ

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 6 และหมายเหตุ 10 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 3,999.19 ล้านบาท จำนวน 3,580.84 ล้านบาท และจำนวน 5,149.17 ล้านบาท ตามลำดับ

2.1 บัญชีเงินฝากธนาคารที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 446 บัญชี รวมเป็นเงิน 2,741.24 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว

2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 313 บัญชี เป็นเงินจำนวน 270.58 ล้านบาท

2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 71 บัญชี ผลต่างรวม 142.83 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2557)”

จะเห็นได้ว่า งบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ได้ส่งสัญญาณแล้วว่ามหาวิทยาลัยแห่งนี้กำลังมีปัญหายิ่งยวด กระทบกับความน่าเชื่อถือ กระทบกับความโปร่งใสของการบริหารงาน ซึ่งผู้บริหารมหาวิทยาลัย สภามหาวิทยาลัย และรัฐมนตรีที่กำกับดูแล ต้องให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม เมื่อตามไปดูรายงานการสอบบัญชีในปีงบประมาณ 2558 พบว่า

“1.2 มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ จำนวน 8 หน่วยงาน มีสินทรัพย์รวมจำนวน 1,607.64 ล้านบาท หนี้สินรวมจำนวน 294.08 ล้านบาท และส่วนของทุนรวมจำนวน 1,242.88 ล้านบาท รายได้รวมจำนวน 706.19 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายรวมจำนวน 635.51 ล้านบาท ทำให้ไม่สามารถตรวสอบได้ว่ารายการที่แสดงในงบการเงินว่าถูกต้องหรือไม่ (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนหน่วยงานที่เพิ่มขึ้น จาก 3 เป็น 8 หน่วยงานและสินทรัพย์ หนี้สิน ส่วนของทุน รายได้รวม และค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้นทั้งหมด สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

“2. ตามหมายเหตุประกอบงบการเงินหมายเหตุ 3 หมายเหตุ 4 และหมายเหตุ 8 เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น และเงินลงทุนระยะยาว จำนวน 4,650.62 ล้านบาท จำนวน 3,326.81 ล้านบาท และจำนวน 5,225.74 ล้านบาทตามลำดับ
2.1 บัญชีเงินฝากที่แสดงไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 669 บัญชี รวมเป็นเงิน 3,854.71 ล้านบาท จากการสอบยันยอดเงินฝากธนาคารจากสถาบันการเงินไม่ปรากฏยอดเงินฝากดังกล่าว
2.2 ตามหนังสือยืนยันยอดเงินฝากธนาคารของสถาบันการเงิน พบบัญชีเงินฝากธนาคารที่ไม่ได้ระบุไว้ในรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรอง รวมจำนวน 312 บัญชี เป็นเงินจำนวน 276.78 ล้านบาท
2.3 ยอดคงเหลือบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือยืนยันยอดของสถาบันการเงิน และตามรายละเอียดที่ผู้บริหารรับรองแสดงยอดไม่ตรงกัน รวม 25 บัญชี ผลต่างรวม 181.84 ล้านบาท
ตามข้อ 2.1-2.3 มหาวิทยาลัย XXX มิได้ชี้แจง หรือแสดงหลักฐานยืนยันว่าบัญชีเหล่านี้เป็นของมหาวิทยาลัยหรือไม่ อย่างไร (สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน รายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงิน มหาวิทยาลัย XXX สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2558)”

เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าจะพบว่า ทั้งจำนวนยอดเงินฝากที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และจำนวนบัญชีที่ไม่ปรากฏเพิ่มขึ้น และทุกรายการใน 2.1-2.3 เพิ่มขึ้นอย่างน่าใจหาย สะท้อนความหละหลวม ไม่ใส่ใจ และไม่เอาใจใส่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและมหาวิทยาลัยโดยแท้ ยิ่งไปกว่านั้น

จากการสอบทานการรายงานสภามหาวิทยาลัยแห่งนั้น พบว่า ผู้บริหารมิได้รายงานการสอบบัญชีและงบการเงินต่อสภามหาวิทยาลัยมากกว่า 5 ปี ทั้งที่ตามพระราชบัญญัติของมหาวิทยาลัยแห่งนั้นกำหนดให้ผู้บริหารต้องรายงานสภามหาวิทยาลัยภายใน 90 วันหลังจากสิ้นปีงบประมาณ และสภามหาวิทยาลัยต้องรายงานรัฐมนตรี นอกจากนั้น กฎหมายกำหนดให้เปิดเผยงบการเงินไว้ในรายงานประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยได้ดำเนินการ

นี่คือประโยชน์ของงบการเงิน และรายงานการสอบบัญชี ในฐานะเครื่องมือเบื้องต้นที่จะช่วยในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต งบการเงินและรายงานผู้สอบบัญชีได้ทำหน้าที่ในฐานการส่งสัญญาณครบถ้วนแล้ว ที่เหลือคือ คนที่มีหน้าที่ต้องทำหน้าที่ของตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ของผู้บริหารเป็นสำคัญ

จากกรณีศึกษา จะพบว่า หากหน่วยงานรัฐให้ความสำคัญกับเครื่องมือในฐานะการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ หน่วยงานของรัฐก็จะน่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ที่สำคัญ คือ การช่วยลดทอนการกระทำทุจริตและประพฤติมิชอบได้ในระดับหนึ่ง


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

Nansen passports : หนังสือเดินทาง Nansen หนังสือเดินทางสำหรับผู้อพยพลี้ภัย และคนไร้สัญชาติแบบแรกของโลก

"Nansen passports" เล่มนี้ออกโดยรัฐบาลฝรั่งเศส

เรื่องราวบางอย่างไม่ได้เป็นเรื่องที่อยู่ ๆ ก็ปรากฏขึ้นมาให้เราได้รู้ได้เห็น เช่นเดียวกับเรื่องของ "Nansen passports" ขณะที่ผู้เขียนกำลังอ่านข้อมูลเพื่อจะหาเรื่องราวต่าง ๆ มาเขียนอยู่นั้นก็บังเอิญไปเข้ากับเจอคำว่า "Nansen passports" เมื่อได้ไล่เรียงอ่านดูจึงพบว่า "Nansen passports" เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก โดยส่วนตัวผู้เขียนเองก็ไม่เคยได้รู้ได้ยินเรื่องราวนี้มาก่อนทั้ง ๆ ที่เล่าเรียนรัฐศาสตร์มาก ทั้งอ่านเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากพอสมควร เลยต้องขอนำเขียนเล่าใน Weekly Column ของ The States Times เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบพอสังเขป 

“Fridtjof Nansen”

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง เกิดมีความวุ่นวายที่สำคัญอันนำไปสู่วิกฤตการณ์ผู้อพยพลี้ภัยนับเรือนล้าน เนื่องจากรัฐบาลของหลายชาติถูกโค่นล้ม และพรมแดนของหลาย ๆ ประเทศก็ถูกขีดวาดขึ้นมาใหม่ โดยทั่วไปมักจะเป็นไปตามชาติพันธุ์ ทั้งยังเกิดสงครามกลางเมืองในอีกหลายประเทศ ผู้คนมากมายต้องอพยพหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอน เพราะเกรงภัยสงคราม หรือการกดขี่ข่มเหง หรือความหวาดกลัวต่อภัยต่าง ๆ ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม จากความวุ่นวายต่าง ๆ จึงส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากไม่มีหนังสือเดินทาง หรือแม้แต่การที่ประเทศต่าง ๆ ก็ไม่ยอมออกหนังสือเดินทาง ทั้งยังขัดขวางการเดินทางระหว่างประเทศจำนวนมาก โดยมักจะดักจับหรือสกัดกั้นบรรดาผู้อพยพลี้ภัยทั้งหลาย และมีความมุ่งมั่นตั้งใจของบุคคลผู้หนึ่งที่จะแก้ไขปัญหานี้ นั่นก็คือ “Fridtjof Nansen”


Fridtjof Nansen นักสำรวจขั้วโลก นักการทูต และรัฐบุรุษ

Fridtjof Nansen ชาวนอร์เวย์ เกิดในปี พ.ศ. 2404 เป็นนักการทูต รัฐบุรุษและนักมนุษยนิยมที่มีความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ยังเป็นนักสัตววิทยา และสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองในฐานะนักสำรวจขั้วโลก โดยในปี พ.ศ. 2436 (ค.ศ.1888) Nansen ได้นำทีมสำรวจชุดแรกข้าม Greenland ด้วยการเดินเท้า และอีกสี่ปีต่อมา Nansen ก็ได้เดินทางข้ามมหาสมุทร Arctic ได้สำเร็จ โดยการจงใจทำให้เรือที่ใช้ในการเดินทางกลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อเลิกราจากการผจญภัยที่ต่อเนื่องยาวนานแล้ว Nansen ก็ได้สร้างชื่อเสียงใหม่ด้วยอาชีพนักการเมือง โดยเริ่มจากเป็นตัวแทนของนอร์เวย์ในการเจรจากรณีพิพาทกับสวีเดน และรับตำแหน่งเอกอัครราชทูตนอร์เวย์ประจำอังกฤษในเวลาต่อมา

องค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations)

ในช่วงปลายของสงครามโลกครั้งที่ 1 Nansen ได้ทุ่มเทในความพยายามเท่าที่มีอยู่ในการสร้างองค์กรที่จะส่งเสริมการสร้างสันติภาพระหว่างประเทศ จนกลายมาเป็นการประชุมสันติภาพ ณ กรุงปารีสในที่สุด และจากนั้นก็เกิดเป็น “องค์การสันนิบาตชาติ (The League of Nations)” ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2463 องค์การสันนิบาตแห่งชาติได้มอบภารกิจที่ยิ่งใหญ่และแสนหนักหนาสาหัสครั้งแรกให้กับ Nansen โดยแต่งตั้งให้เขาเป็นผู้บริหารระดับสูงในการรับผิดชอบต่อการส่งตัวเชลยศึกประมาณ 500,000 นายของกองทัพเยอรมัน และออสเตรีย - ฮังการี จากโซเวียตกลับประเทศ แม้ว่ารัฐบาลโซเวียตจะไม่ให้การยอมรับในองค์การสันนิบาตชาติ แต่ด้วยการเจรจาเป็นการส่วนตัวของ Nansen เดือนกันยายน พ.ศ. 2465 เขาได้รายงานต่อที่ประชุมขององค์การสันนิบาตว่า งานของเขาเสร็จสิ้น และเชลยศึก 427,886 นายได้รับการส่งตัวกลับประเทศภูมิลำเนา 

สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen (Nansen International Office for Refugees)

ในปี พ.ศ. 2463 เช่นกัน องค์การสันนิบาตชาติก็ได้มอบหมายให้ Nansen เป็นผู้ดูแลปัญหาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่ยุ่งยากที่สุดคือ การหาทางในการจัดการกับผู้อพยพลี้ภัยที่พลัดถิ่นจากความขัดแย้งจำนวนมหาศาล ด้วยเหตุการณ์เร่งด่วนที่ทำให้เกิด "Nansen passports" คือประกาศในปี พ.ศ. 2464 โดยรัฐบาลใหม่ของสหภาพโซเวียตได้ทำการเพิกถอนสัญชาติของชาวรัสเซียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศ หมายถึงผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียราว 800,000 คนซึ่งหลบหนีภัยอันเกิดจากสงครามกลางเมืองในรัสเซีย ทำให้ “สถานะทางกฎหมายของคนเหล่านี้มีความคลุมเครือ และส่วนใหญ่ไร้ซึ่งปัจจัยในการยังชีพ” "Nansen passports" เล่มแรกได้ออกโดย สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen (Nansen International Office for Refugees) ตามข้อตกลงระหว่างประเทศที่บรรลุในการประชุมระหว่างรัฐบาลต่าง ๆ ว่าด้วยใบรับรองตัวตนสำหรับผู้ลี้ภัยชาวรัสเซีย จัดทำโดย Nansen ในนครเจนีวา ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 จนถึง 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2465 ซึ่งจะอนุญาตให้ผู้ลี้ภัยเดินทางและปกป้องพวกเขาจากการถูกเนรเทศ หนังสือเดินทางนั้นเรียบง่ายโดยมีลักษณะบ่งบอกตัวตนสัญชาติและเชื้อชาติของผู้ถือหนังสือเดินทาง แต่ก็ตอบสนองจุดประสงค์ได้ดี ผู้ถือครองสามารถย้ายไปมาระหว่างประเทศเพื่อหางานทำหรือสมาชิกในครอบครัวและไม่สามารถเนรเทศได้ “นี่เป็นครั้งแรกที่คนไร้สัญชาติมีตัวตนตามกฎหมาย” Annemarie Sammartino ได้เขียนใน The Impossible Border: Germany and the East, 1914-1922 จากบทบาทและความพยายามของ Fridtjof Nansen ในฐานะข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยของสันนิบาตชาติ

Nansen passports ออกโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร

สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen เป็นหน่วยงานที่สืบทอดภารกิจต่อจากหน่วยงานระหว่างประเทศแห่งแรกที่จัดการกับผู้ลี้ภัยคือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านผู้อพยพลี้ภัย  (High Commission for Refugees Office) ซึ่งจัดตั้งขึ้นในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2464 โดยองค์การสันนิบาตชาติภายใต้การดูแลของ Fridtjof Nansen สำนักเลขาธิการสันนิบาตได้รับหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศและบุคคลไร้สัญชาติและกำกับสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ให้ดำเนินความรับผิดชอบในขอบเขตของภารกิจนี้ ด้วยความขาดแคลนเงินทุนที่จำเป็นในการดำเนินงานของสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen อย่างต่อเนื่อง และเงินทุนในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัย สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen จึงได้ระดมทุนบางส่วนผ่านการบริจาค แต่ส่วนใหญ่มาจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจาก "Nansen passports" และจากรายได้ในการขายแสตมป์ในฝรั่งเศสและนอร์เวย์  "Nansen passports" มีตราประทับของสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ทั้งยังเป็นวีซ่าซึ่งใช้เพื่อให้ผู้ลี้ภัยจากรัสเซียหรืออาร์เมเนียสามารถเดินทางได้ "Nansen passports" ได้รับการเก็บรักษาไว้ในจดหมายเหตุขององค์การสันนิบาตชาติ ซึ่งย้ายไปยังองค์การสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2489 และจัดเก็บอยู่ที่สำนักงานสหประชาชาติในนครเจนีวา จดหมายเหตุดังกล่าวได้รับการจารึกไว้ในทะเบียน UNESCO Memory of the World ในปี พ.ศ. 2553 (ค.ศ. 2010) 

"Nansen passports" โดยปกติจะมีอายุไม่เกินหนึ่งปี โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของหน่วยงานที่ออกใบรับรอง สามารถต่ออายุได้ แต่ไม่มีกำหนด เป็นการช่วยให้ผู้ถือ "Nansen passports" สามารถเดินทางไปยังประเทศที่สามเพื่อหางานทำ จุดประสงค์พื้นฐานคือเพื่อช่วยลดแรงกดดันต่อเมืองที่แออัดไปด้วยผู้อพยพลี้ภัย และยังมีการแจกจ่ายผู้ลี้ภัยชาวรัสเซียและอาร์เมเนีย “อย่างเท่าเทียมกัน” มากขึ้นในกลุ่มประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติ อย่างไรก็ตามไม่มีการให้การรับประกันเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยหรือสิทธิในการหางานของผู้อพยพลี้ภัยที่ถือ "Nansen passports" ในปี พ.ศ. 2469 ประเทศสมาชิกขององค์การสันนิบาตชาติกว่า 20 ประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้อพยพลี้ภัยที่ถือ "Nansen passports" สามารถที่จะออกจากประเทศที่ออก "Nansen passports" และได้รับอนุญาตให้กลับเข้ามายังประเทศที่ออก “Nansen passports” ได้ ตัวอย่างเช่น หากฝรั่งเศสออก "Nansen passports" ให้กับผู้อพยพลี้ภัยชาวรัสเซีย เขาหรือเธอก็สามารถเดินทางไปยังเบลเยี่ยมด้วย "Nansen passports" และจะถูกส่งกลับไปยังฝรั่งเศสได้อีก

แสตมป์ที่ระลึกครบ 60 ปีที่ Fridtjof Nansen ได้รับรางวัล Nobel สาขาสันติภาพประจำปี พ.ศ. 2465

"Nansen passports" เป็นรูปแบบที่ถูกต้องในการระบุตัวตน โดย Michael Marrus นักประวัติศาสตร์ได้สรุปความสำคัญไว้ในการสำรวจอ้างอิงผู้อพยพลี้ภัยในยุโรปของศตวรรษที่ 20 ว่า “เป็นครั้งแรกที่มีการอนุญาตให้มีการกำหนดสถานะทางกฎหมายของบุคคลไร้สัญชาติผ่านข้อตกลงระหว่างประเทศที่เฉพาะเจาะจง” ในสาระสำคัญซึ่งเป็นรูปแบบใหม่ในการคุ้มครองระหว่างประเทศและเหนือกว่าอำนาจของรัฐ มีผู้อพยพลี้ภัยประมาณ 450,000 คนซึ่งต้องการเอกสารการเดินทางแต่ไม่สามารถขอหนังสือเดินทางได้จากหน่วยงานของรัฐในประเทศที่มีถิ่นฐานได้ใช้ "Nansen passports" ซึ่งออกให้ผู้อพยพลี้ภัยจนถึงปี พ.ศ. 2485 และได้รับการยอมรับโดยรัฐบาลถึง 52 ประเทศ ภายหลังการเสียชีวิตของ Nansen ในปี พ.ศ. 2473 สำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen เป็นผู้ดำเนินการในเรื่อง "Nansen passports" ต่อ โดยอยู่ภายใต้องค์การสันนิบาตชาติ ณ จุดนั้น "Nansen passports" ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่การอ้างอิงถึงการประชุมในปี พ.ศ. 2465 (ค.ศ. 1922) อีกต่อไป แต่ "Nansen passports" ถูกออกในนามของสันนิบาตชาติ แม้ว่าสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen จะปิดตัวลงในปี พ.ศ. 2481 หลังจากนั้นก็มีการออกหนังสือเดินทางใหม่โดยหน่วยงานใหม่คือ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยภายใต้สันนิบาตชาติในกรุงลอนดอนจนถึงปี พ.ศ. 2485  ในปี พ.ศ. 2465 Nansen ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เขาใช้เงินรางวัลในการพัฒนางานบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ และต่อมาสำนักงานผู้ลี้ภัยระหว่างประเทศ Nansen ก็ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี พ.ศ. 2481 (ค.ศ. 1938) จากความพยายามในการจัดทำและออก "Nansen passports" เพื่อช่วยเหลือผู้อพยพลี้ภัยและผู้ไร้สัญชาติจำนวนนับเรือนล้าน ทุกวันนี้ภารกิจของ Fridtjof Nansen ยังคงได้รับการสานต่อโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Office of the United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) โดยทำหน้าที่ คุ้มครองผู้ลี้ภัย ชุมชนที่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่น และบุคคลไร้รัฐ รวมถึงอนุเคราะห์ให้ผู้อพยพลี้ภัยได้รับการส่งกลับประเทศเดิมด้วยความสมัครใจ การเข้าอยู่ในท้องถิ่นอื่น ๆ (กรณีในประเทศ) หรือการอพยพไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สาม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

นัตจินหน่อง ผู้มีเมียแก่คราวแม่

คำว่า คนพม่าไม่นิยมมีเมียแก่ เพราะพอใครที่มีเมียอายุมากกว่าตนมักจะโดนแซวว่ามีเมียแก่แบบนัตจินหน่อง แล้วนัตจินหน่องคือใครนะหรือครับ นัตจินหน่อง หรือออกเสียงให้ถูกคือ นะฉิ่นเหน่าง์ หรือตามพงศาวดารไทยเรียกเขาว่า นักสาง เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าตองอูเมงยีสีหตู ผู้เป็นพระอนุชาของพระเจ้าบุเรงนองนั่นเอง นัดจินหน่องหรือนะฉิ่นเหน่าง์นั้นเป็นที่เลื่องลือในพม่าว่าเป็นมีความสามารถหลายด้าน เขามีทักษะในการขี่ม้าตั้งแต่อายุยังน้อย เขาเก่งในการใช้ดาบและหอก และเขายังเล่นพิณได้ดี การกวีสูงอย่างยิ่ง รวมถึงมีความรอบรู้ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างมาก และได้เป็นกษัตริย์ตองอูต่อจากพระราชบิดาต่อมา

นัตจินหน่องได้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยา (Yaza Datu Kalayar) หลังจากที่พระสวามีคนแรกคือ มังกะยอชะวา (Mingyi Swa) หรือคนไทยเรารู้จักในชื่อมังสามเกียดหรือพระมหาอุปราชา ราชบุตรของพระเจ้านันทบุเรงสิ้นพระชนม์ โดยพระนางมีอายุห่างกับนัตจินหน่องถึง 20 ปี กล่าวคือ นัตจินหน่องประสูติเมื่อปี 1579 แต่พระนางประสูติเมื่อ 1559 เส้นทางรักของทั้งคู่ไม่ได้สวยหรู เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยอุปสรรค เพราะแม้นัตจินหน่องจะรักใคร่ชอบพอพระนางราชธาตุกัลยา แต่ทางพระเจ้าตองอูก็ไม่ได้สมยอมให้นัตจินหน่องอภิเษกกับนาง จนนัตจินหน่องคิดไปว่าสาเหตุที่ตนไม่ได้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยาเสียที เป็นเพราะพระเจ้านันทบุเรง ที่เป็นผู้ขัดขวางและนั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้นัตจินหน่องวางยาพระเจ้านันทบุเรง  

แต่ทว่าเมื่อหลังจากพระเจ้านันทบุเรงสวรรคตไปแล้ว นัตจินหน่องก็ยังไม่ได้พระบรมราชานุญาตให้อภิเษกกับพระนางราชธาตุกัลยาอยู่ดี  ต้องรอถึง 3 ปีกว่าจะได้อภิเษก แม้ความรักจะมีอุปสรรคและอายุห่างกัน 20 ปีก็ตาม แต่นัตจินหน่องก็รักพระนางราชธาตุกัลยามาก ในพงศาวดารข้างพม่าได้กล่าวว่าพระนางราชธาตุกัลยานั้นมีรูปโฉมงดงามมาก งามขนาดนัตจินหน่องได้นิพนธ์บทกวีถึงความงามของพระนางกันเลยทีเดียว แต่ทั้งคู่ก็ครองรักกันได้เพียงแค่ 7 เดือนเท่านั้นพระนางราชธาตุกัลยาก็สวรรคตทำให้นัตจินหน่องเสียใจเป็นอย่างมาก

แม้เส้นทางรบของนัตจินหน่องจะเป็นเรื่องราว เป็นตำนานที่หาอ่านได้จากอินเตอร์เนตโดยทั่วไปแต่ชีวิตรักของพระเจ้าตองอูผู้นี้มีการแปลออกมาเป็นภาษาไทยน้อยมาก แต่ในฝั่งคนพม่าถ้ามีใครถูกล้อว่าเป็นนัตจินหน่องเหรอ นั่นหมายถึง คนนั้นมีเมียแก่กว่าตัวเองมาก ๆ นั่นเอง ซึ่งคำนี้คนเมียนมาร์ก็ไม่ชอบเอาเสียด้วยดังนั้น ทราบกันแล้วอย่าไปล้อใครที่เขามีแฟนหรือภรรยาแก่กว่าด้วยคำนี้นะครับ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

โทเคนดิจิทัล ทางเลือกใหม่ของการลงทุนในยุคดิจิทัล

วันก่อนมีประเด็นร้อนในกรุ๊ปฝากร้านของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เมื่อศิษย์เก่าท่านหนึ่งประกาศขายที่ของที่บ้านพร้อมบังกะโลบนเกาะมูลค่ารวมประมาณ 350 ล้านบาท ต่อมามีศิษย์เก่าอีกท่านเสนอไอเดียชวนคนในกรุ๊ปที่มีอยู่เกือบ ๆ สองแสนคนมาลงขันซื้อเกาะกัน โดยลงหุ้นกันคนละ 3,500 บาท แค่แสนคนก็ได้เป็นเจ้าของเกาะดังกล่าวแล้ว

ปรากฏว่ามีมีคนสนใจไอเดียดังกล่าวจำนวนมาก และอยากร่วมหุ้นด้วย โดยขอลง 1 หุ้นบ้าง 10 หุ้นบ้าง หรือ 100 หุ้นก็มี แต่สุดท้ายโปรเจคดังกล่าวก็ต้องพับไป เพราะมีประเด็นว่าที่ดินที่ประกาศขายอาจมีส่วนที่ทับซ้อนกับพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติ

แม้ว่าโปรเจคจะล่มไปแล้ว แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจ ที่ผมอยากให้ลองจินตนาการต่อว่า ถ้าเกิดโปรเจคดังกล่าวสามารถไปต่อได้ เราจะใช้วิธีการไหนในการระดมทุนคนจำนวนมาก ๆ แบบนี้กันดี

บางท่านอาจจะเสนอให้ตั้งเป็นบริษัทแล้วขายหุ้นให้ทุกคนที่อยากลงทุนเลย อ่านดูแล้วเหมือนง่าย แต่ลองคิดภาพตามดูนะครับ

ถ้าโปรเจคนี้สำเร็จแล้วมีคนลงขันซื้อหุ้นหลายหมื่นคน ทุกปีเราต้องเชิญผู้ถือหุ้นมาร่วมประชุมสามัญประจำปี แค่หาสถานที่จัดการประชุมก็ยากแล้ว แต่ที่ยากกว่าคือการเชิญคนมาประชุมให้ครบองค์ประชุม แค่ประชุมนิติบุคคลของคอนโดหรือหมู่บ้าน ยังยากเลย แล้วนี่ต้องเชิญคนมาร่วมประชุมเป็นหมื่นคน จะยากและวุ่นวายขนาดไหน

แล้วแบบนี้เราจะระดมทุนกันอย่างไรดี ถ้าเกิดมีโปรเจคที่น่าสนใจ และคนอยากร่วมลงทุนเป็นหมื่น ๆ แสน ๆ คน

ความจริงผมได้ไปเกริ่นไว้ในกรุ๊ปดังกล่าวก่อนที่โปรเจคจะล่มไปแล้วว่า โปรเจคระดมทุนเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แบบนี้ เราสามารถระดมทุนโดยการออกเหรียญหรือโทเคนดิจิทัลเพื่อไปลงทุนได้ แถมผู้ลงทุนยังได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอีกด้วย

เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) พึ่งมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์เพื่อกำกับดูแลการออกเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) และเริ่มมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง

แล้วไอ้เจ้าโทเคนดิจิทัลที่ผมกล่าวถึงนั้นคืออะไร มันเหมือนหรือคล้ายกับบิตคอยน์ (Bitcoin) ที่คนพูดถึงกันเยอะ ๆ หรือไม่ ลองติดตามอ่านกันดูนะครับ

ก่อนอื่น ผมต้องปูพื้นให้ทุกท่านเข้าใจเสียก่อนว่าตามกฎหมายในประเทศไทยของเราแบ่งสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

1.) คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือ สกุลเงินดิจิทัลที่เราสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการ ไม่ต่างจากเงินจริง ๆ หากผู้ใช้ทั้งสองฝ่ายตกลงยอมรับกัน ซึ่งสกุลเงินดิจิทัลในโลกเราปัจจุบันนี้มีหลายพันสกุลแล้ว แต่ที่หลายคนรู้จักกันดี ก็เช่น บิตคอยน์ (Bitcoin) อีเธอร์เลียม (Ethereum)

2.) โทเคนดิจิทัล (Digital Token) หรือ หน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคลในการร่วมลงทุน (Investment Token) หรือสิทธิในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือ สิทธิอื่น ๆ (Utility Token) ตามที่ผู้ออกโทเคนได้ตกลงไว้ ซึ่งการเสนอขายโทเคนนั้นจะทำโดยกระบวนที่เรียกว่า “Initial Coin Offering” หรือ ICO

ดังนั้น โทเคนดิจิทัลนั้นจึงไม่เหมือนกับบิตคอยน์เสียทีเดียว เพราะ บิตคอยน์เป็นเพียงสกุลเงินหนึ่งในโลกดิจิทัล มูลค่าของบิตคอยน์จะขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานเป็นหลัก แต่โทเคนดิจิทัลที่ใช้เพื่อใช้ในการร่วมลงทุนนั้น มูลค่าของโทเคนจะขึ้นอยู่กับมูลค่าของทรัพย์สินหรือกิจการที่เข้าไปลงทุน

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพมากขึ้น การออกโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) จะคล้ายกับการตั้งกองทุนรวมเพื่อเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ต่างกันที่ ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวมจะได้รับเอกสารแสดงสิทธิในหน่วยลงทุนมาเป็นหลักฐานว่าตนเป็นผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว แต่ผู้ที่ลงทุนในโทเคนดิจิทัลก็จะได้รับ โทเคน (Token) หรือ เหรียญ (Coin) มาเป็นหลักฐานว่าตนได้เข้าร่วมลงทุนในโปรเจคนั้น ๆ ด้วย

การที่ออกโทเคนดิจิทัลเพื่อเข้าไปลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ จึงเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนประเภทหนึ่ง ที่ต้องถูกกำกับดูแลโดยสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งอย่างน้อยก็จะทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ว่าโทเคนดิจิทัลที่เสนอขายนั้นมีการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์จริง ผู้ออกโทเคนดิจิทัลไม่ใช่พวกต้มตุ๋น หรือ เป็นขบวนการแชร์ลูกโซ่

แต่สำนักงาน ก.ล.ต. ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับรองว่าโทเคนดิจิทัลนั้นจะมีกำไรนะครับ อันนั้นเป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนจะต้องศึกษารายละเอียดเองว่าการลงทุนดังกล่าวมีแนวโน้มว่าจะดีหรือไม่ หรือมีความเสี่ยงอะไรบ้าง

เช่น ถ้าผมจะซื้อโทเคนดิจิทัลที่ไปลงทุนในธุรกิจโรงแรม ผมก็ต้องศึกษาก่อนว่าโรงแรมที่จะเข้าไปลงทุนนั้นมีกี่ห้อง ราคาค่าห้องเฉลี่ยต่อคืนเท่าไหร่ อัตราการเข้าพักที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ความเสี่ยงของธุรกิจโรงแรมคืออะไร เป็นต้น เพราะมูลค่าของโทเคนดิจิทัลที่ผมจะซื้อนั้นจะผันแปรตามกำไรจากธุรกิจโรงแรมดังกล่าว

สมมุติถ้าผมซื้อมาโทเคนละ 100 บาท แล้วปีต่อมาเกิดวิกฤตโควิด แปลว่าโรงแรมก็จะไม่มีรายได้เลย ราคาโทเคนที่ผมซื้อมาอาจจะตกเหลือเพียง 50 บาทก็ได้ แต่ถ้าเกิดโควิดหมดไป นักท่องเที่ยวที่กลับมาเที่ยวได้ตามปกติ โทเคนนั้นก็อาจจะกลับมาราคา 100 บาทตามเดิมหรือมากกว่าเดิมก็ได้ขึ้นอยู่กับผลประกอบการในปีนั้น ๆ ว่าจะจ่ายเงินปันผลให้ผู้ลงทุนเท่าไหร่

นอกจากนี้ ตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ยังกำหนดให้ผู้ที่เสนอขายโทเคนดิจิทัล (Issuer) ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนนั้นให้กับทรัสตี (Trustee) หรือ ผู้ดูแลผลประโยชน์ด้วย

ซึ่งทรัสตีนั้นจะทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลประโยชน์ให้กับนักลงทุนที่ถือโทเคนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการติดตามดูแลให้ผู้ออกเสนอขายโทเคนบริหารจัดการทรัพย์สินให้ดีเหมือนที่ได้ระบุไว้ในโครงการตอนเสนอขาย หรือคอยดูว่าผู้ออกเสนอขายโทเคนมีการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ รวมทั้งคอยเข้าประชุมติดตามผลการดำเนินงานแทนผู้ถือโทเคนทุกคนอีกด้วย

แต่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภทจะนำมาระดมทุนเสนอขายเป็นโทเคนดิจิทัลได้นะครับ

เนื่องจากหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. กำหนดว่าทรัพย์สินที่จะเสนอขายได้นั้นจะต้องเป็น อสังหาริมทรัพย์ หรือ หุ้นของนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ที่ถือครองอสังริมทรัพย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของสิทธิออกเสียงใน SPV นั้น หรือ สิทธิการเช่าในอสังหาริมทรัพย์

โดยทรัพย์สินดังกล่าวจะต้องสร้างเสร็จแล้ว 100% ไม่ใช่สร้าง ๆ อยู่จะมาขอระดมทุนออกโทเคนแบบนี้ไม่ได้ และเงื่อนไขอีกข้อก็คือ การลงทุนนั้นจะต้องลงทุนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของทั้งโครงการ หรือ การลงทุนนั้นต้องมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการเสนอขายโทเคนดิจิทัล สำนักงาน ก.ล.ต. มีข้อกำหนดว่าผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อการเสนอขายในครั้งนั้นเท่านั้น ต่างจากการลงทุนในกอง REIT ที่ผู้ลงทุนรายย่อยจะลงทุนเท่าไหร่ก็ได้ครับ

เป็นอย่างไรบ้างครับสำหรับข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการลงทุนในโทเคนดิจิทัลที่อ้างอิงหรือมีกระแสรายรับจากอสังหาริมทรัพย์ (real estate-backed ICO) ที่จะเป็นสินทรัพย์ลงทุนรูปแบบใหม่ในยุคดิจิทัล ซึ่งตอนนี้ผมก็แอบทราบมาว่ามีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บางแห่งกำลังเตรียมการเพื่อยื่นขออนุมัติจากสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อเสนอขายโทเคนดิจิทัลประเภทนี้ให้ได้ภายในปีนี้

แม้ว่าโปรเจคซื้อเกาะจะไม่สำเร็จ แต่ก็ถือว่าหลายคนน่าจะได้ประโยชน์จากการเรียนรู้เรื่องการระดมทุนและลงทุนในยุคดิจิทัลกันไม่มากก็น้อย ก่อนที่ประเทศไทยของเราจะเริ่มมีโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนออกให้มาซื้อขายกันจริง ๆ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เมื่อ “ร้านโชห่วย” ออกมาช่วยในยามวิกฤติ

อินเดียตอนนี้ถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติและน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีจำนวนผู้ติดเชื้อจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รายวันทำสถิติสูงที่สุดในโลกโดยในวันพุธที่ 21 เมษายน 2564 ที่ผ่านมามีผู้ติดเชื้อสูงถึงเกือบ 3 แสนรายหรือจำนวน 294,290 รายภายใน 24 ชั่วโมง ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 15,609,004 รายมากเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐอเมริกา และมีจำนวนผู้เสียชีวิตภายใน 1 วันในวันดังกล่าวสูงถึง 2,020 คนซึ่งสูงที่สุดในโลก ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 182,570 ราย โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญออกมาระบุว่าสาเหตุที่ COVID-19 กลับมาแพร่ระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้งก็เนื่องมาจากการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโรคต่าง ๆ ทำให้ประชาชนการ์ดตก และล่าสุดที่น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดใหญ่ในครั้งนี้ก็คือ การจัดพิธีศักดิ์สิทธิ์ในเทศกาลกุมภเมลา ที่มีผู้แสวงบุญที่นับถือศาสนาฮินดูจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนแห่ร่วมพิธีอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่แม่น้ำคงคาตามความเชื่อและความศรัทธาโดยไม่สนใจเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 เลย

ผลจากการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในระลอกใหม่นี้ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกมาตรการล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโดยให้แต่ละรัฐบริหารจัดการกันเอง เริ่มจากรัฐมหาราษฏระซึ่งมีมุมไบเป็นเมืองหลวง ได้กำหนดช่วงเวลาเคอร์ฟิวไว้ระหว่างเวลา 21.00 น. จนถึง 5.00 น. ของอีกวันหนึ่ง และอนุญาตให้ร้านโชห่วยที่ขายสินค้าจำเป็นแก่การดำรงชีวิตเปิดได้แค่วันละ 4 ชั่วโมง ระหว่างเวลา 7.00-11.00 น. เท่านั้น แต่บริการจัดส่งสินค้าจากร้านค้าต่าง ๆ สามารถทำได้ระหว่างเวลา 7.00-20.00 น. เท่านั้น จนถึงวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 หลังจากนั้น กรุงนิวเดลีเมืองหลวงของอินเดียก็ได้ออกมาตรการล็อกดาวน์เช่นกันเป็นเวลา 1 สัปดาห์ในช่วงวันที่ 19-26 เมษายน 2564 ซี่งมาตรการล็อกดาวน์ของกรุงนิวเดลีมีการบังคับให้ธุรกิจที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตของประชาชนต้องปิดบริการทั้งหมด โดยในช่วงเคอร์ฟิว แพลตฟอร์ม eCommerce จะได้รับอนุญาตให้ส่งสินค้าได้เฉพาะสินค้าจำเป็นเช่น อาหาร ยารักษาโรค และอุปกรณ์ทางการแพทย์เท่านั้น จนถึงขณะนี้ รัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียก็ทะยอยประกาศล็อกดาวน์ตามรัฐมหาราษฎระกันแล้ว

การประกาศล็อกดาวน์ของรัฐต่าง ๆ ในประเทศอินเดียจริง ๆ แล้วน่าจะส่งผลดีต่อบริษัท eCommerce ต่าง ๆ โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินธุรกิจ Online Grocery Supermarket ที่น่าจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุดเพราะผู้บริโภคสามารถสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้สะดวก แต่ปรากฏว่าหลังจากมีการประกาศล็อกดาวน์ บริษัทออนไลน์เหล่านี้กลับประสบปัญหาเป็นอย่างมากในเรื่องของการจัดส่งสินค้า เพราะแม้ว่าผู้บริโภคจะมีความสะดวกในการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ แต่บริษัทกลับมีปัญหาด้านการจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคเนื่องจากไม่มีกำลังคนและยานพาหนะเพียงพอในการจัดส่งและยังประสบกับปัญหาเรื่องช่วงเวลาในการจัดส่งด้วย ซึ่งปรากฏการณ์นี้แม้แต่ร้านค้าปลีกออนไลน์ชื่อดังอย่าง Amazon Fresh ซึ่งเป็น Online Grocery Supermarket ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยไม่สามารถจัดส่งสินค้าให้ผู้ซื้อที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ได้ตามปกติ ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าไปหลายวัน ซึ่งสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นแล้ว ผู้บริโภคไม่สามารถรอคอยได้นานหลายวันขนาดนั้น เลยทำให้หน้าเพจสั่งซื้อสินค้าของ Amazon Fresh ต้องถึงกับมีข้อความขึ้นแจ้งลูกค้าไว้เลย เช่น “ตารางเวลาจัดส่งของเราเต็มแล้ว” หรือ “เรากำลังเร่งเพิ่มขีดความสามารถในการจัดส่งให้ดีขึ้น” หรือ “กรุณากลับมาตรวจสอบอีกครั้ง” เป็นต้น หรืออย่างบริษัท BigBasket ซึ่งเป็นบริษัท Online Grocery Supermarket ชื่อดังอีกบริษัทหนึ่งก็มีข้อความแจ้งถึงลูกค้าบนหน้า Home Page ของบริษัทฯ เช่นกันว่า “การจัดส่งสินค้าให้ลูกค้าอาจจะล่าช้าเนื่องจากมาตรการจำกัดการเคลื่อนที่อันเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่”

เมื่อสถานการณ์วิกฤติขนาดนี้ ก็เลยทำให้บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของอินเดียตอนนี้หันมาให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าหรือสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยหรือ Kirana มากกว่าที่จะไปเพิ่มไว้กับบริษัท eCommerce ซึ่งปรากฏว่าในช่วงหลังที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 หนักหนาสาหัสขึ้นในประเทศอินเดียทำให้บริษัทที่จำหน่ายสินค้าออนไลน์หรือบริษัท eCommerce ต่าง ๆ ประสบปัญหากับความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่มีการซื้อผ่านแพลตฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ตามที่ได้กล่าวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว โดยบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ของอินเดียต่างออกมาแสดงความคิดเห็นในทิศทางเดียวกันว่าตอนนี้ผู้บริโภคชาวอินเดียได้หันมาซื้อสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยมากยิ่งขึ้นหลังจากมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 รอบใหม่ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความล่าช้าในการจัดส่งสินค้าที่สั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ต้องกลับลำหันมาให้ความสำคัญกับร้านโชห่วยมากขึ้นด้วยการเติมสินค้าคงคลังให้กับร้านโชห่วยก่อนร้านค้าปลีกประเภทอื่นโดยเฉพาะร้านค้าปลีกสมัยใหม่และร้านค้าปลีกออนไลน์ 

ตอนนี้บริษัทต่าง ๆ ต้องหันมาพึ่ง “ร้านโชห่วย” เป็นหลัก ด้วยการจัดส่งสินค้าไปเพิ่มไว้ในสต๊อคของร้านโชห่วยแทบจะตลอดเวลา โดยทุกบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการรอบเวลาในการจัดส่งสินค้าให้ร้านโชห่วยมากที่สุดด้วยการจัดส่งสินค้าด้วยจำนวนรอบที่ถี่มากขึ้นเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาดในช่วงเคอร์ฟิว ทั้งนี้ สินค้าที่เป็นที่ต้องการมากจะเป็นสินค้าจำเป็นประเภทอาหารสำเร็จรูปและเครื่องดื่มในบรรจุภัณฑ์ต่างๆ (Packaged Food) และสินค้าเกี่ยวกับสุขอนามัย (Hygiene Products) ซึ่งบริษัทต่างๆจะไม่ยอมให้ขาดตลาดอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ผู้บริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่ต่าง ๆ ก็ออกมาสื่อสารกับผู้บริโภคว่าไม่ต้องวิตกกังวลว่าสินค้าจะขาดตลาดและไม่จำเป็นต้องมีการกักตุนสินค้าแต่ประการใด เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ตอนนี้ให้ความสำคัญกับการเติมสต๊อคสินค้าให้กับร้านโชห่วยใกล้บ้านของผู้บริโภคเป็นอันดับแรกอยู่แล้ว 

น่าสนใจว่าทำไมบริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภคในอินเดียถึงหันมาสนใจ “ร้านโชห่วย” หรือ “Kirana” ในภาวะวิกฤติเช่นนี้ คำตอบก็คือ ในปัจจุบันทั้งประเทศอินเดียจะมีร้านโชห่วยที่เรียกกันว่า Kirana มากถึง 12 ล้านร้านกระจายอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนนในประเทศอินเดียและกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนอินเดียไปแล้ว โดยคนอินเดียหรือคนที่อยู่อาศัยในประเทศอินเดียจะต้องพึ่งพาซื้อหาสินค้าจำเป็นจากร้านโชห่วยเหล่านี้กันเป็นกิจวัตรประจำวันเพราะเป็นร้านใกล้บ้าน มีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นทุกอย่างทั้งอาหารและของใช้ต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่ผู้บริโภคก็มักจะเป็นลูกค้าขาประจำของแต่ละร้านอยู่แล้วด้วย เพราะฉะนั้นการที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่เลือกที่จะหันกลับมาใช้ช่องทางของร้านโชห่วยในการกระจายหรือจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคในช่วงวิกฤติ COVID-19 จึงถือว่าเป็นแนวทางที่ชาญฉลาดมากด้วยการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่แล้ว นั่นคือ เครือข่ายของร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศอินเดีย 

สำหรับอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ยอดขายรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกอินเดียในปี 2019 สูงกว่า 790,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่า GDP ของประเทศไทยในปี 2020 ที่มีมูลค่าประมาณ 527,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าในปี 2024 ยอดขายของอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือ ที่ผ่านมารัฐบาลอินเดียพยายามปกป้องอุตสาหกรรมค้าปลีกเป็นอย่างมากเนื่องจากในอุตสาหกรรมค้าปลีกของอินเดียจะประกอบไปด้วยผู้ค้าปลีกรายย่อยที่เป็นธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Retailers หรือ Unorganized Retailers) จำนวนมหาศาลซึ่งก็คือ ร้านโชห่วยหรือ Kirana นั่นเอง ทำให้รัฐบาลอินเดียต้องออกกฏระเบียบต่างๆเพื่อกีดกันบริษัทค้าปลีกต่างชาติไม่ให้เข้าไปเปิดหรือขยายธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียมาโดยตลอด ด้วยเกรงว่าจะไปกระทบกับร้านโชห่วยที่มีอยู่ทั่วประเทศอินเดียนั่นเอง

และด้วยมาตรการกีดกันธุรกิจค้าปลีกต่างชาตินี่เองที่ทำให้ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade หรือ Organized Retailers) ในประเทศอินเดียมีสัดส่วนน้อยมาก อย่างในปี 2011 ที่รัฐบาลอินเดียเริ่มเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมอย่างจริงจัง ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียขณะนั้นมีสัดส่วนอยู่แค่เพียง 5% เท่านั้น ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมที่เป็นร้านโชห่วยมีสัดส่วนสูงถึง 95% แต่หลังจากมีการเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกเพิ่มเติมในปี 2011 แล้ว ปรากฏว่าจนถึงปี 2015 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียก็มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นเป็น 8% และธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมลดลงไปเล็กน้อยเหลืออยู่ 92% แต่ก็ยังคงมีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ และในปี 2019 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 9% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมมีสัดส่วนลดลงไปเหลือ 88% แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือ ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ (Organized Online Retailers) ที่เข้ามามีสัดส่วน 3% ทำให้โครงสร้างธุรกิจค้าปลีกในประเทศอินเดียประกอบไปด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่รวมกันมีสัดส่วนเป็น 12% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยมีสัดส่วนลดลงเหลือ 88% และล่าสุดได้มีการคาดการณ์กันว่าในปี 2024 ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็น 25% ประกอบด้วยธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบมีสถานที่จัดจำหน่ายสินค้า 18% กับธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ 7% ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมจะมีสัดส่วนลดลงเหลือประมาณ 75% 

เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วยในอินเดียมีแนวโน้มที่จะหดตัวลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่กลับขยายตัวอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมาแรงมาก แถมยังมีบทบาทอย่างสำคัญในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่มาถึงวันนี้ปรากฏว่าธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่แบบออนไลน์ก็ไปไม่รอดเหมือนกันเมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ด้วยการกำหนดเคอร์ฟิวและจำกัดการเคลื่อนที่ของประชาชน ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดส่งสินค้าที่มีการสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์เพราะไม่สามารถจัดการส่งสินค้าได้ตามปกติ และในที่สุดบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคจำเป็นก็ต้องหันกลับมาใช้บริการ “ร้านโชห่วย” อยู่ดี ก็ถือว่าอินเดียยังโชคดีที่มีเครือข่ายร้านโชห่วยใกล้บ้านผู้บริโภคอยู่ทั่วประเทศ วิกฤติการณ์ครั้งนี้ “ร้านโชห่วย”ก็เลยกลายเป็น “พระเอก” ขี่ม้าขาวมาช่วยได้ในที่สุดแม้ว่าจะเป็นแค่ช่วงเวลาวิกฤติก็ตาม


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

Land Bridge กับพิธีการศุลกากร

การส่งสินค้าระหว่างประเทศ นอกจากจะต้องพิจารณาถึงเส้นทาง ระยะเวลา หรือรูปแบบการเดินทาง ยังมีเรื่องของกฎระเบียบทางพิธีศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ในตอนนี้จึงขอมาเล่ากรณีศึกษาการเลือกใช้เส้นทางการขนส่งที่มีผลมาจากพิธีทางศุลกากร

จากเดิมการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศไอร์แลนด์และยุโรป ใช้วิธีการขนส่งทางรถบรรทุก แล้วรถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่ที่กรุงดับลิน เมืองหลวงของไอร์แลนด์ เพื่อข้ามฝากมายังเมือง Holyhead ของอังกฤษ ต่อจากนั้นรถบรรทุกก็วิ่งลอดอุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษเพื่อไปยังทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ซึ่งเรียกเส้นทางนี้ว่า UK Land Bridge


คาดการณ์กันว่ามีรถบรรทุกใช้เส้นทางนี้ถึงปีละ 150,000 คัน เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการเดินทางไม่เกิน 20 ชั่วโมง  หากเทียบกับการที่รถบรรทุกขึ้นเรือเฟอร์รี่แล้วลงที่ท่าเรือในเรือที่ยุโรป (Roll-on/roll-off : RoRo) ที่ใช้ระยะเวลาประมาณ 40 ชั่วโมง หรือการขนสินค้าขึ้นลงที่ท่าเรือตามวิธีปกติ (Lift-on/lift-off : LoLo) ที่ใช้ระยะขนส่งนานถึง 60 ชั่วโมง  นอกจากนั้นการขนส่งด้วยรถบรรทุกเส้นทางนี้ยังสามารถแวะรับส่งสินค้าระหว่างทางในอังกฤษได้ตามข้อตกลงของประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป

แต่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 ถึงกำหนดที่สหราชอาณาจักรสิ้นสุดสถานภาพการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป อย่างเป็นทางการ สินค้าที่นำเข้า-ส่งออก และผ่านแดนไปยังยุโรป ต้องผ่านพิธีศุลกากรซึ่งต่างจากเดิมสามารถวิ่งผ่านได้เลย เนื่องจากเป็นไปตามข้อตกลงทางศุลกากรของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ส่งผลให้การเลือกใช้เส้นทางนี้ต้องพบกับการขั้นตอนการตรวจสอบ ระยะเวลาและค่าใช้จ่ายการขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณด่านชายแดนที่อุโมงค์ข้ามช่องแคบอังกฤษ จุดเชื่อมต่อที่สำคัญระหว่างอังกฤษกับยุโรปที่คาดการณ์ว่าน่าจะมีรถบรรทุกรอตรวจสอบมากถึง 7,000 คัน และอาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าได้มากถึง 48 ชั่วโมง

ดังนั้นผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องเลือกเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่อความล่าช้าน้อยกว่า ถึงแม้จะใช้ระยะเวลาในการขนส่งที่นานกว่าก็ตาม ผู้นำเข้าส่งออกของไอร์แลนด์จึงเลือกใช้วิธีการขนส่งตรงไปยังทวีปยุโรปแทน ส่งผลให้รถบรรทุกที่ใช้เส้นทาง UK Land Bridge ลดลงถึง 50% และเที่ยวเรือที่วิ่งตรงระหว่างไอร์แลนด์กับยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 12 เที่ยวเป็น 42 เที่ยวต่อสัปดาห์

จากเรื่องที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงต่อความล่าช้าในการขนส่งมากกว่าความเร็ว เพราะถึงแม้ระยะเวลาการขนส่งจะนานขึ้นก็สามารถปรับแผนการสั่งซื้อสินค้า การวางแผนสินค้าคงคลังได้ใหม่ แต่หากระยะเวลาขนส่งไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในโซ่อุปทาน และขั้นตอนการผ่านพิธีศุลกากรก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง

สำหรับประสิทธิภาพด้านการดำเนินงานพิธีศุลกากร ทางธนาคารโลก (World Bank) ได้มีการประเมินไว้เป็นหัวข้อหนึ่งใน Logistics Performance Index (LPI) และในปี 2018 ประเทศไทยถูกจัดอันดับอยู่ที่ลำดับ 36 จาก 160 ประเทศทั่วโลก ถ้าเทียบกับสิงคโปร์ที่ถูกจัดอันดับในลำดับที่ 6  ประเทศไทยยังต้องพัฒนาประสิทธิภาพในด้านนี้หากต้องการส่วนแบ่งเรือขนสินค้าที่แล่นผ่านช่องแคบมะละกาให้มาผ่านแลนด์บริดจ์ที่กำลังศึกษากันอยู่  

ข้อมูลอ้างอิง
https://www.instituteforgovernment.org.uk/explainers/trade-uk-landbridge
https://www.thejournal.ie/less-landbridge-mroe-action-how-irish-trade-changes-5356884-Mar2021/
https://lpi.worldbank.org/international/global?sort=asc&order=Customs#datatable 


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

เสียง (เพรียก) แห่งสายน้ำปัตตานี... ตอนที่ 5

พายเรือผ่านพ้นช่วงต้นน้ำจนถึงช่วงกลางของสายน้ำกันแล้ว ครึ่งหลังเป็นการล่องจากท้ายเขื่อนบางลางเพื่อไปจบที่ตัวเมืองปัตตานีซึ่งตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ยังมีเวลาคายักกันแบบไม่ต้องรีบร้อนอีกหลายวัน ระหว่างทางได้พบเจอทั้งเรื่องราวประทับใจ และเหตุการณ์ไม่สบอารมณ์นัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกของการเดินทางและของชีวิตนั่นแหละ 

ความแรงและการไหลของน้ำขึ้นอยู่กับการเปิดประตูน้ำของเขื่อน ในช่วงที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าก็ต้องปล่อยน้ำเพื่อให้เครื่องจักรกลทำงาน ปกติแล้วมีการเปิดปิดน้ำวันละรอบ ระดับน้ำเปลี่ยนแปลงขึ้นลงทุกวัน 

สายน้ำ และเด็ก ๆ เป็นของคู่กันเสมอ ภาพชินตาพบเห็นเวลาบ่ายเสาร์อาทิตย์ คือโขยงเด็กน้อยวัยประถมถึงมัธยมต้นทั้งชายและหญิงลงมากระโดดน้ำ ดำผุดดำว่าย หยอกล้อเล่นกัน เสาร์อาทิตย์เด็ก ๆ ยังคงต้องไปเรียนหลักศาสนาอิสลาม ชั้นเรียนเลิกแล้วก็พากันไปเล่นต่อ ชนบทแบบนี้ไม่มีห้างสรรพสินค้าหรือสวนสนุก จึงอาศัยหลังบ้านเป็นสนามเด็กเล่น เมื่อเจอชายต่างถิ่นแปลกหน้าสองคนพายเรือผ่าน จึงตะโกนทักทายแบบกล้า ๆ กลัว ๆ ขณะเดียวกันก็ใส ๆ และเป็นมิตร บางคนชักชวนให้เล่นน้ำกับพวกเขา หรือเด็กผู้ชายบางคนก็ขออนุญาติขึ้นมานั่งบนเรือ ล่องไปด้วยกันจนถึงท้ายหมู่บ้านก็ลาแล้วกระโดดลงน้ำว่ายขึ้นฝั่งกันไป เด็ก ๆ มักตะโกนบอกให้เดินทางปลอดภัยบ้าง โชคดีบ้าง เป็นความรู้สึกดีและน่าประทับใจมาก


“อีกันมูเด๊ะ” นั่นคือคำบอกเล่าจากปากผู้เฒ่าผู้อาศัยอยู่ริมน้ำแต่อ้อนออกท่านหนึ่ง และอันที่จริงนี่เป็นคำสามัญภาษามลายูท้องถิ่นซึ่งคนรุ่นตั้งแต่อายุเลย 50 ปีขึ้นไปคุ้นเคยกันดี หมายความว่าการอพยพขึ้นสู่ต้นน้ำของปลาเพื่อหาที่ซึ่งอาหารอุดมสมบูรณ์และสภาพแวดล้อมเหมาะสมต่อการวางไข่และการอพยพกลับลงมาของตัวอ่อนมายังปลายน้ำเพื่อเติบโตและสืบเผ่าพันธุ์ วงจรซึ่งเกิดขึ้นมาเนิ่นนาน จวบจนกระทั่งเมื่อระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทำให้บรรดาปลาแม่น้ำทั้งหลายต้องปรับตัวแบบ “นิวนอร์มอล” พวกที่ปรับตัวไม่ได้ก็ค่อย ๆ ลดจำนวนลงจนในที่สุดสูญพันธุ์ไปนั่นเอง ผู้เฒ่าเล่าว่าสมัยแกยังเด็กปริมาณลูกปลาเคยล่องกลับลงมาเยอะมากขนาดเอาผ้าช้อนเล่นก็ติดผ้ามาแล้ว เป็นช่วงที่ฝูงนกบินว่อนเหนือแม่น้ำโฉบจับปลากกันทั้งวัน อาหารการกินเคยอุดมสมบูรณ์ขนาดนั้น

ปัจจัยซึ่งนำการเปลี่ยนแปลงสู่ระบบนิเวศสายน้ำปัตตานีอย่างแน่นอนที่สุดกว่าสิ่งอื่นใด คือเขื่อนบางลางนั่นเอง พูดแบบนี้เหมือนเขื่อนเป็นผู้ร้ายเลยใช่ไหม ถ้าจะว่าใช่ก็ถูก จะว่าไม่ใช่ก็ต้องมองอีกมุมล่ะ ท้ายที่สุดแล้วอาจจะต้องมาชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีหรือประโยชน์กับข้อเสียหรือผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนว่าอย่างไหนมากกว่ากัน และ “คุ้มค่า” แค่ไหน อย่างเขื่อนบางลางนั้นสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์หลักคือผลิตกระแสไฟฟ้าและการประมงในทะเลสาบเหนือเขื่อน โดยหน่วยงานภาครัฐนำพันธุ์ปลาต่างถิ่นอย่างปลาบึกมาปล่อย ทว่า คุ้มกันไหม แค่เมื่อต้องแลกสิ่งที่ได้มากับอิกันมูเด๊ะ

หลายเดือนก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ตั้งแต่บริเวณเหนือเขื่อนไปจนถึงเมืองปัตตานี จากการปล่อยน้ำของเขื่อนบางลางโดยไม่มีการแจ้งข่าวเตือนล่วงหน้า ส่งผลทำให้ผู้คนต้องหนีกันจ้าละหวั่น บ้านเรือนจมน้ำได้รับความเสียหาย เรือกสวนถูกโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุเรียนยืนต้นตาย ตลิ่งถูกกัดเซาะโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงโค้งน้ำนั้นผืนดินบางแปลงหายไปเลยก็มี หรือไม่ต้นยางพาราริมน้ำบางแถวถูกน้ำเซาะจนล้มไปเลยก็มี นี่ยังไม่นับกระชังปลาบริเวณปลายน้ำของชาวบ้านหลายคนที่ถูกน้ำซัดเสียหายไปกันคนละหลักแสนบาท ทว่า กฟผ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรงต่อความเสียหายดูเหมือนจะยังคงนิ่งเฉย ไม่ได้ออกมาอธิบายใด ๆ ต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบรุนแรง ซึ่งนี่อาจกลายเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เพิ่มการสะสมตัวของความขุ่นมัวอึมครึมที่มีมาก่อนหน้านี้อย่างยาวนานอยู่แล้วด้วยก็เป็นได้

นอกจากเขื่อนใหญ่แล้ว ยังมีฝายกั้นน้ำเพื่อการเกษตรอีกหลายแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ช่วงปลายของสายน้ำ พายเรือผ่านช่วงนี้ให้ความรู้สึกคล้ายกับการพายเรือผ่านแม่น้ำปิงที่ต้องยกเรือข้ามฝายเป็นว่าเล่น 

สิ่งสามัญที่พบเห็นคือทหารและเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงแห่งชาติประจำการตามจุดต่าง ๆ หรือออกลาดตระเวนทั้งทางบกและทางน้ำ พาหนะก็ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ รถยนต์ หรือกระทั่งรถถัง เจ้าหน้าที่ต้องใส่เสื้อเกราะกันกระสุน ในฐานะนักท่องเที่ยวซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่มองว่ายังมีการระแวงระวังกันระหว่างคนท้องถิ่นและภาครัฐในระดับหนึ่ง ในมุมของชาวบ้านไม่แน่ใจว่าพวกเขาอึดอัดมากแค่ไหนเมื่อต้องโดนเรียกตรวจหรือสอบถามประหนึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ขณะเดียวกันก็ไม่รู้ว่าเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการเองก็สะสมอาการเครียดจากการทำงานในพื้นที่แค่ไหนเช่นกัน

เดินทางกันหลายวัน ระหว่างทางได้รับน้ำใจไมตรีและความช่วยเหลือทั้งจากคนท้องถิ่นและเพื่อนที่อยู่ในเมือง ในที่สุด บ่ายแก่ของวันที่ 7 ของการเดินทางพวกเราก็ไปถึงเมืองปัตตานี มิตรสหายต่างพากันมารอต้อนรับประหนึ่งจะจัดมหรสพริมน้ำให้ แดดร่มลมตกวันนั้นเราร่วมสรุปทริปกันสั้น ๆ ส่วนตัวผมมองว่าประสบการณ์ครั้งนี้มีค่ามาก เพราะลดทอนความกลัว “สามจังหวัด” ในใจลงไปโดยสิ้นเชิง ได้เพื่อนใหม่อีกหลายคน และสำคัญที่สุดก็คือ แม่น้ำปัตตานีได้หยิบยื่นสารพัดสารพันให้แก่ผมมากกว่าที่ผมคาดไว้มากทีเดียว ประทับใจและขอบคุณมากครับ


สนับสนุนข่าวโดย : แหล่งรวม "บทความและคอนเทนต์แปลกใหม่!!!" แบบไร้ Toxic ติดตามได้ที่ THE STATES TIMES Blockdit
คลิก : https://www.blockdit.com/pages/60583e7ff90e240c3e7f1c32

ทำความรู้จัก “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน : Infrastructure Fund” เพื่อวางกลยุทธ์การลงทุนในช่วงวิกฤต

แม้ในช่วงวิกฤติจะส่งผลให้การลงทุนเกิดความผันผวนอย่างมาก ทั้งต่อระดับความเสี่ยงจากการลงทุน และผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับก็ตาม แต่หากนักลงทุนวางกลยุทธ์การลงทุนโดยเลือกสินทรัพย์ที่เหมาะสม ก็จะช่วยพลิกวิกฤติเป็นโอกาส และสามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับที่น่าพึงพอใจ

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยลดต่ำทั่วโลก การลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund :IFF) เป็นทางเลือกการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ และมีความผันผวนในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้น เนื่องจากจุดเด่นของอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานที่มีอุปสงค์ยืดหยุ่นต่ำ ไม่ผันแปรตามสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเป็นสินค้าและบริการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน อีกทั้งเป็นธุรกิจที่มี Barrier of Entry สูง (เป็นเจ้าตลาด หรือ ธุรกิจผูกขาด) จึงทำให้มีคู่แข่งขันเข้ามายาก ตลอดจนความสามารถในการขึ้นราคาเมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้นหรือในภาวะเงินเฟ้อได้อีกด้วย

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน เป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ภาครัฐและเอกชนใช้ในการระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและสถาบัน เพื่อนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะในวงกว้างของประเทศ 10 ประเภท ประกอบด้วย ระบบขนส่งทางราง, ประปา, ไฟฟ้า, ถนน, สนามบิน, ท่าเรือน้ำลึก, โทรคมนาคม, พลังงานทางเลือก, ระบบบริหารจัดการน้ำหรือชลประทาน และระบบป้องกันภัยธรรมชาติ โดยนักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล และกำไรจากส่วนต่างราคา นอกจากนี้ผู้ลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดายังได้รับยกเว้นภาษีจากรายได้เงินปันผลดังกล่าวเป็นระยะเวลา 10 ปี ทั้งนี้ในประเทศไทยมีกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

1.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ TFFIF

2.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี หรือ SUPEREIF

3.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน โรงไฟฟ้าพระนครเหนือ ชุดที่ 1 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGATIF

4.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF

5.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ DIF

6.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน หรือ JASIF

7.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ หรือ ABPIF และ

8.) กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้ากลุ่มน้ำตาลบุรีรัมย์ หรือ BRRGIF

นักลงทุนที่สนใจลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ

1.) การซื้อหุ้น IPO ที่ทำการเสนอขายครั้งแรก ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่บริหารจัดการจัดการกองทุนนั้น รวมทั้งธนาคารพาณิชย์ หรือโบรกเกอร์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย และ

2.) ภายหลังจากหมดช่วง IPO แล้ว กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานก็จะถูกนำเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และซื้อขายเช่นเดียวกับหุ้นทั่วไปบนกระดานหุ้น ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องเปิดบัญชีและทำการซื้อขายหุ้นโครงสร้างพื้นฐานผ่านโบรกเกอร์ได้


ข้อมูลอ้างอิง

https://www.set.or.th/th/products/listing2/set_iff_p1.html

https://www.finnomena.com/finnomena-ic/scbgif/


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top