Tuesday, 2 July 2024
World

‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี ประเดิมสนามถล่ม สกอตแลนด์ ที่เหลือผู้เล่น 10 คน ชนะขาดลอย 5-1 ศึกยูโร 2024 รอบแบ่งกลุ่ม สาย A ศึกยูโร 2024

(15 มิ.ย.67) ศึกยูโร 2024 รอบแบ่งกลุ่ม สาย A ศึกยูโร 2024 เมื่อคืนที่ผ่านมา ‘อินทรีเหล็ก’ เยอรมนี ค่อย ๆ ลำเลียงบอลหาช่องกระทั่งนาที 10 ฟลอเรียน เวียร์ตซ ยิงลูกเรียดด้วยขวานอกเขตแบบไม่จับ แองกัส กันน์ นายทวาร ปัดไม่พ้น ขึ้นนำ 1-0 กลายเป็นนักเตะเยอรมันยิงประตูอายุน้อยสุด (21 ปี 42 วัน) เฉพาะรายการนี้ ถัดมานาที 19 ไค ฮาเวิร์ตซ แปะคืนให้ จามาล มูเซียลา ตะบันด้วยขวาเต็มแรง หนีไปเป็น 2-0

ทีมของ สตีฟ คลาร์ก อาการน่าเป็นห่วงนาที 44 ไรอัน ปอร์ตีอุส สไลด์ยันข้อเท้า อิลคาย กุนโดกัน ผู้ตัดสินตรวจสอบภาพรีเพลย์ (VAR) แล้วเป่าจุดโทษพร้อมชักใบแดงโดยตรง ไค ฮาเวิร์ตซ รับหน้าที่สังหาร ตามหลัง 0-3

แชมป์ 3 สมัย เล่นแบบไร้ความกดดัน นาที 68 อิลคาย กุนโดกัน สะดุดบอลแล้วกลายเป็นตั้งให้ นิคลาส ฟูลล์ครูก กองหน้าสำรอง ยิงด้วยขวาตาข่ายแทบขาด ทิ้งห่าง 4-0

‘ตาร์ตัน’ ได้รางวัลปลอบใจนาที 87 แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน กัปตันทีม เปิดฟรีคิกด้านซ้ายมาเสาสอง สก็อตต์ แม็คเคนนา ตัวสำรอง โหม่งแฉลบศีรษะ อันโตนิโอ รูดิเกอร์ ไล่มาเป็น 1-4 อย่างไรก็ตาม ทีมของ จูเลียน นาเกลสมันน์ ตอบโต้นาที 90+3 เอ็มเร ชาน ปั่นด้วยขวานอกเขต เสียบมุมสุดสวย ปิดกล่อง 5-1 จบเกม เยอรมนี เก็บ 3 แต้ม จาก 1 นัด ขณะที่ สกอตแลนด์ ไม่มีคะแนน

รายชื่อ 11 ผู้เล่นตัวจริง
เยอรมนี (4-2-3-1) : มานูเอล นอยเออร์, โจนาธาน ทาห์, อันโตนิโอ รูดิเกอร์, มักซิมิเลียน มิตเทลสตัดท์, โจชัว คิมมิช, อิลคาย กุนโดกัน, โทนี โครส, โรเบิร์ต อันดริช, ไค ฮาเวิร์ตซ, ฟลอเรียน เวียร์ตซ, จามาล มูเซียลา

สกอตแลนด์ (5-4-1) : แองกัส กันน์, แจ็ค เฮนดรี, คีแรน เทียร์นีย์, ไรอัน ปอร์ตีอุส, คัลลัม แม็คเกรเกอร์, สก็อตต์ แม็คโทมิเนย์, แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน, แอนโธนี รัลสตัน, เช อดัมส์, จอห์น แม็คกินน์, ไรอัน คริสตี

‘นาซา’ เผย อุณหภูมิทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ อย่างไม่เคยเกิดขึ้น ชี้!! เป็นผลมาจากการปล่อย ‘ก๊าซเรือนกระจก’ ส่งผลกระทบ ระบบนิเวศ

(15 มิ.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงาน ผลการวิเคราะห์จากองค์การนาซา (NASA) ที่เผยแพร่เมื่อวันอังคาร (11 มิ.ย.) ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนแต่ละเดือน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ติดต่อกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

สิ่งนี้บ่งชี้ชัดเจนว่าเรากำลังประสบกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ บิล เนลสัน ผู้บริหารของนาซากล่าว พร้อมเสริมว่าชุมชนต่าง ๆ ทั่วโลกรับรู้ได้ถึงความร้อนสุดขั้วในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่าอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกช่วง 12 เดือนก่อนอยู่ที่ 2.34 องศาฟาเรนไฮต์ (1.30 องศาเซลเซียส) สูงกว่าค่าฐานของช่วงศตวรรษที่ 20 (ปี 1951-1980)

เมื่อพิจารณาค่าอุณหภูมิจากเครือข่ายสถานีตรวจอากาศขนาดใหญ่บนบก และอุปกรณ์ในมหาสมุทร คณะนักวิทยาศาสตร์พบว่าระดับอุณหภูมิสูงทุบสถิติที่บันทึกได้นั้น เป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มการเกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เรากำลังเผชิญกับวันที่มีอากาศร้อนมากขึ้น เดือนที่ร้อนมากขึ้น และปีที่ร้อนมากขึ้น เคท คาลวิน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์และที่ปรึกษาอาวุโสด้านสภาพอากาศของนาซากล่าว โดยชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเหล่านี้เป็นผลมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนและระบบนิเวศทั่วโลก

แนวโน้มดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องตลอดสี่ทศวรรษ โดยเฉพาะช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ ที่เป็นช่วง 10 ปีที่ร้อนที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกอุณหภูมิในช่วงปลายศตวรรษที่ 19

‘กรณ์’ เผย หลายประเทศเพิ่มการถือเงิน ‘ดอลลาร์’ ชี้!! มีอัตราดอกเบี้ยที่สูง เศรษฐกิจอเมริกา ยังคงแข็งแรง

(15 มิ.ย.67) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเงินดอลลาร์ โดยได้ระบุว่า ...

หมดยุคดอลลาร์??

การพยากรณ์ (บางคนถึงกับแช่ง) ความตกต่ำของสกุลเงินดอลลาร์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาแล้วหลายปี

หากอเมริกาเป็นประเทศทั่วไป การพยากรณ์คงจะแม่นยำมากกว่าที่ผ่านมา อเมริกาขาดดุลงบประมาณมหาศาล ทำให้ทั้งหนี้สาธารณะ และภาระดอกเบี้ยต่องบประมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงนโยบาย QE และความพยายามของคู่แข่งอเมริกาในยุคภูมิรัฐศาสตร์ตึงเครียด ที่จะลดการพึ่งพาการใช้ดอลลาร์ ทั้งในแง่การค้าและการถือทุนสำรอง

แต่รายงาน Financial Times ชี้ให้เห็นว่าแม้สัดส่วนทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์ลดลงจริง (65% ในปี 2016 เหลือ 58% ในปี 2024) แต่จริง ๆ แล้วสัดส่วนเพิ่มขึ้น ใน 31 จาก 55 ประเทศที่มีข้อมูล และลดลงในเพียง 4 ประเทศ คือจีน อินเดีย รัสเซีย และตุรกี ซึ่งส่วนใหญ่สัดส่วนที่ลดลงไม่ได้เพราะสกุลเงินอื่นมีความนิยมเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพราะสัดส่วนการถือทองคำเพิ่มขึ้น

หลายประเทศกำลังเพิ่มการถือดอลลาร์ เพราะอัตราดอกเบี้ยดอลลาร์สูงและเศรษฐกิจอเมริกายังแข็งแรง 

บ้านผมเองก็เพิ่มสัดส่วนเงินฝากของเราในบัญชีดอลลาร์ ดอกเบี้ยฝาก 6 เดือน 5.2% เทียบกับ 1.2% ในบัญชีเงินฝากไทย ซึ่งแน่นอนความเสี่ยงอยู่ที่อัตราแลกเปลี่ยน แต่ 6 เดือนที่ผ่านมา เงินดอลลาร์แข็งกว่าบาทถึง 7% จึงมีกำไรสองเด้ง

อนาคตมีความไม่แน่นอน แต่ยุโรปเริ่มลดดอกเบี้ยในขณะที่เศรษฐกิจที่ร้อนแรงของอเมริกาทำให้ดอกเบี้ยอเมริกายังสูงอยู่ ความนิยมสกุลเงินหยวนยังไม่กระเตื้อง เพราะความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ และความกังวลต่อความโปร่งใสในกลไกตลาดค้าเงินหยวน 

ส่วนเงินบาทนั้นผมมองว่ายังอ่อนไหวต่อเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง ขาดเงินลงทุนเข้ามาในประเทศ การขาดดุลงบประมาณที่เพิ่มมากขึ้น และโครงสร้างดุลบัญชีเดินสะพัดที่เป็นบวกน้อยลงเมื่อเทียบกับอดีต หลายคนมองว่าบาทควร ‘ต้องอ่อนลง‘ ด้วยซ้ำเศรษฐกิจไทยถึงจะฟื้นได้ 

ดังนั้นโดยรวม ผมมองว่าสักวันหนึ่งคงหมดยุคดอลลาร์..แต่ยังไม่ใช่วันนี้หรือเร็ว ๆ นี้

ชายชาวอังกฤษเตรียมฟ้อง Apple 232 ล้าน ชี้!! ทำให้ชีวิตแต่งงาน 20 ปี ต้องพังสลาย เหตุเมียจับได้ แอบเที่ยวหญิงบริการ เพราะเจอข้อความที่ลบจาก ‘iPhone’ ใน ‘iMAC’

(15 มิ.ย.67) ชายคนหนึ่ง เตรียมฟ้องบริษัทแอปเปิ้ล 5 ล้านปอนด์ หลังจากที่ภรรยาของเขาไปเจอกับข้อความที่ลบไป ซึ่งเขาได้ส่งไปถึงผู้ขายบริการทางเพศ

สามีที่นอกใจภรรยาคนนี้ อ้างว่า แอปเปิล ขาดความโปร่งใสในข้อความที่ถูกลบ ทำให้ภรรยาของเขาฟ้องหย่า

ริชาร์ด (นามสมมติ) เป็นชายวัยกลางคนจากอังกฤษ เปิดเผยกับ เดอะ ไทมส์ ว่า เขาไปใช้บริการหญิงขายบริการในช่วงปีสุดท้ายของการแต่งงาน โดยติดต่อผ่าน iMessages บน iPhone ของเขาก่อนที่จะลบออก อย่างไรก็ตาม เมื่อภรรยาของเขาใช้ iMac ของครอบครัว ข้อความดังกล่าวย้อนกลับไปหลายปีก็ผุดขึ้นมา แม้ว่าเขาจะเชื่อว่าได้ลบไปแล้วก็ตาม

ภรรยาของเขาฟ้องหย่าภายในหนึ่งเดือน เขาบอกกับเดอะ ไทมส์ว่า หากคุณได้รับแจ้งว่าข้อความถูกลบ คุณมีสิทธิที่จะเชื่อว่ามันถูกลบไปแล้ว

ทุกอย่างค่อนข้างเจ็บปวด และ แผลมันยังสดอยู่ มันเป็นวิธีที่โหดร้ายมากที่พบความจริงแบบนี้ ในความคิดของฉัน หากได้พูดคุยกับเธออย่างมีเหตุผล เธอคงไม่รับรู้เรื่องนี้อย่างโหดร้าย ฉันอาจจะรักษาชีวิตแต่งงานได้อยู่

ริชาร์ด กล่าวว่า ชีวิตแต่งงาน 20 ปี ของพวกเขามีความสุขมาก ก่อนที่ชีวิตแต่งงานที่สวยงามนี้จะถูกทำลายจากสิ่งที่ผู้ชายหลายคนทำ และผู้หญิงบางคนก็ทำ เมื่อพูดคุยกับเพื่อน บางคนมีเรื่องชู้สาว ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการละเมิดความไว้วางใจมากกว่า และ ยังคงแต่งงานกันอยู่แม้เรื่องจะแดงแล้วก็ตาม

ผมคิดว่ามันคงมีทางเป็นไปได้ หากเธอไม่รู้เรื่องอย่างกะทันหัน โหดร้าย และน่าหงุดหงิด

ขณะนี้ ริชาร์ด กำลังดำเนินคดีทางกฎหมาย กับยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี ด้วยค่าเสียหายกว่า 5 ล้านปอนด์ หรือราว 232,238,000 ที่เขาสูญเสียชีวิตแต่งงาน และค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย โดยอ้างว่า บริษัทไม่ได้ระบุชัดเจนว่า ข้อความที่ถูกลบสามารถปรากฏบนอุปกรณ์แอปเปิ้ลอื่น ๆ ได้ แม้ว่าจะถูกลบจากโทรศัพท์

นอกจากสูญเสียทางการเงิน ริชาร์ด อ้างว่า มันส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเขาอย่างมาก

ผมคิดว่าผมกำลังจะหัวใจวายจริง ๆ การหย่าร้างเป็นกระบวนการที่ตึงเครียดเป็นพิเศษ และก็มีปัจจัยเรื่องลูกๆ และครอบครัว ที่ต้องคิดอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะแอปเปิ้ล บอกว่าข้อความถูกลบทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ลบจริง ๆ

เมื่อ 'ซาอุฯ' ยกเลิกผูกขาดดอลลาร์ซื้อขายน้ำมัน ทิศทาง ‘ดอลลาร์-หยวน' เงินสกุลไหนจะได้ไปต่อ?

เป็นที่ทราบกันไปแล้ว ว่าสหรัฐอเมริกาและซาอุดีอาระเบีย ได้เห็นร่วมกันให้ข้อตกลงเปโตรดอลลาร์สิ้นสุดลงในวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา 

อะไรจะเกิดขึ้นต่อจากนี้แอคชันในครั้งนี้ ก็คงยังมิทราบได้ แต่ที่คาดเดากันได้ในนาทีนี้ คือ น้ำมันจากแหล่งน้ำมันในซาอุดีอาระเบียน่าจะหมดไปภายในเวลาประมาณ 50 ปี หรือนานกว่านั้นเล็กน้อย ด้วยอัตราการสูบน้ำมันที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน  

อย่างไรก็ตาม ด้วยเวลาที่ผ่านไป พลังงานทางเลือกต่างๆ ปรากฏขึ้นพร้อมๆ กันกับ รถยนต์ EV ที่กำลังได้รับส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์ที่มากขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้นเมื่อคำนึงถึงสิ่งนี้ รายได้จากน้ำมันเชื้อเพลิงจะเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2040 อันจะส่งผลให้น้ำมันเชื้อเพลิงค่อยๆ สูญเสียการควบคุมอย่างต่อเนื่องในฐานะแหล่งรายได้ที่เคยได้รับผลกำไรสูง 

นั่นจึงทำให้ ซาอุดีอาระเบีย พยายามที่จะเริ่มหาแหล่งพลังงานอื่นๆ มาทดแทนรายได้จากน้ำมัน โดยเฉพาะกับก๊าซธรรมชาติที่จะเป็นอีกแหล่งรายได้อีกทางหนึ่ง 

ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 4% ของปริมาณสำรองของทั้งโลก และเพียงพอสำหรับซาอุดีอาระเบียที่จะบริโภคภายในประเทศกว่า 88 ปี 

ด้วยหลายๆ สาเหตุ ที่ว่ามา ทำให้ ซาอุดีอาระเบีย เริ่มขาดแรงจูงใจต่อการขายน้ำมันในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จนกระทั่งขาดแรงกระตุ้นในการต่ออายุข้อตกลงดังกล่าวไปด้วยโดยปริยาย

ทั้งนี้ เดิมที ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้ลงนามในข้อตกลงกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดี Nixon เกี่ยวกับปิโตรดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนกับหลักประกันด้านความมั่นคงทางทหาร ซึ่งรับประกันโดยสหรัฐอเมริกา 

ขณะเดียวกันสหรัฐฯ กำลังประสานงานกับซาอุดีอาระเบียเกี่ยวกับข้อตกลงที่จะให้หลักประกันด้านความมั่นคงทางทหารแก่ซาอุดีอาระเบีย เพื่อแทนที่ข้อตกลงเดิมซึ่งหมดอายุไปแล้ว เนื่องจากตะวันออกกลางมีความสำคัญเชิงกลยุทธ์มากสำหรับสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะกับ UAE ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งในตะวันออกกลางที่เพิ่งจะตีตัวออกห่างจากจีนเพื่อสนับสนุนสหรัฐฯ ในการพัฒนาไมโครชิป ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากความพยายามอย่างหนักของรัฐบาลสหรัฐฯ

ถึงกระนั้น ประเด็นสำคัญที่อยากชวนคิดตาม หากไม่มีข้อตกลงเปโตรดอลลาร์อีกแล้วนั้น คือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงหรือไม่ และยิ่งเมื่อมีการก่อตั้ง BRICS สำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องดูว่าเงินสกุลหยวนของจีนจะสามารถเพิ่มความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะตั้งตัวเป็นสกุลเงินหลักของ BRICS ได้แค่ไหน? จะส่งผลทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนตัวได้เพียงใด? และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้หรือไม่? หรืออาจต้องใช้เวลาหลายเดือน หรือหลายปี กว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น? 

กล่าวโดยสรุป หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อ่อนแอลง โอกาสที่จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ถูกลงก็มีความเป็นไปได้ โดยความอ่อนแอดังกล่าวก็จะสะท้อนออกมาผ่านกำลังซื้อของคนอเมริกันที่เริ่มลดลง และจะทำให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งออกสินค้ามาที่นี่ ต้องหาตลาดใหม่ ซึ่งเดิม 60% ของผู้ซื้อในโลก อยู่ที่สหรัฐอเมริกา 

แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า แล้วจีนพร้อมจะมาเป็น World buyer แทนที่สหรัฐฯ หรือไม่? คำตอบที่เป็นไปได้สูงก็คือ จีนยังไม่น่าจะพร้อม และไม่น่ายินดีที่จะพร้อม เพราะเศรษฐกิจจีนโตมาได้ทุกวันนี้เกิดจากการที่จีนได้เปรียบดุลการค้าประเทศต่างๆ ทั่วโลก และสิ่งที่จีนยังต้องปรับตัวเป็นอย่างมากด้วย ก็คือ หากความได้เปรียบดุลการค้าหายไปแล้ว เศรษฐกิจของจีนเองจะอยู่ได้หรือไม่? และอยู่อย่างไร?

ยิ่งในประเด็นของทองคำ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีราคาสูงมากขึ้น แต่ก็อย่าลืมว่า ประเทศที่มีทองมากที่สุดในโลกก็ยังคงเป็น สหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น Gold deposits หรือ Gold reserves ก็ตาม

ดังนั้น BRICS เอง จึงยังไม่สามารถแข็งแกร่งได้ในเร็วๆ นี้ ด้วยยังคงขาด Infrastructure ที่จำเป็น เช่น Equivalent ของ Fed/IMF/World Bank แม้แต่เงินสกุลหยวน (CNY) เอง ก็ยังไม่พร้อมที่จะเป็น BRICS Currency ส่วนเงินรูเบิลรัสเซีย และเงินรูปีของอินเดีย ก็เลิกคิดไปได้เลย 

ถึงตรงนี้ หากหันมามองในมุมประเทศไทยเอง ก็คงไม่อยากให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ อ่อนแอ เนื่องจากไทยได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ค่อนข้างมากติดต่อกันหลายสิบปีมาแล้ว 

แต่ทั้งนี้ หากวันหนึ่งโลกพลิก ประเด็นที่ควรพิจารณาที่สุดของรัฐบาลและภาคเอกชนของไทยในการรับมือ ก็คือ การสร้างนวัตกรรมให้แก่สินค้าและบริการใหม่ๆ / การมองหาตลาดส่งออกใหม่ๆ / การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อรองรับรายได้ที่อาจจะหายไปจากตลาดสหรัฐฯ หนึ่งในเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้อย่างเต็มระบบและครบวงจร

คงต้องจับตาดูกันต่อไป

‘รอยเตอร์’ เผย ‘กองทัพสหรัฐฯ’ เปิดยุทธการลับบน ‘สื่อสังคมออนไลน์’ เพื่อป้ายสี ทำลายชื่อเสียง วัคซีนโควิดของจีน ในช่วงแพร่ระบาดโควิด-19

(16 มิ.ย.67) ยุทธการของเพนตากอน สำหรับทำลายชื่อเสียงวัคซีนจีน มีขึ้นระหว่างช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 2020 ถึงกลางปี 2021 โดยมุ่งเน้นไปที่ฟิลิปปินส์ ก่อนขยายวงสู่พื้นที่อื่นๆ ของเอเชียและตะวันออกกลาง ตามรายงานของรอยเตอร์ที่กล่าวอ้างในบทความชิ้นหนึ่งซึ่งเผยแพร่ในวันศุกร์ (14 มิ.ย.)

เพนตากอนพึ่งพิงบัญชีปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ แอบอ้างตัวเป็นผู้ใช้ชาวฟิลิปปินส์ เผยแพร่คำกล่าวอ้างอันเป็นเท็จว่า วัคซีนซิโนแวคของจีน เช่นเดียวกับชุดตรวจและหน้ากากอนามัยที่ผลิตโดยประเทศแห่งนี้มีคุณภาพที่ย่ำแย่

ซิโนแวค ซึ่งเริ่มต้นแจกจ่ายในเดือนมีนาคม 2021 กลายเป็นวัคซีนตัวแรกที่ชาวฟิลิปปินส์เข้าถึงได้ระหว่างโรคระบาดใหญ่

‘โควิดมาจากจีนและวัคซีนก็มาจากจีนเช่นกัน ดังนั้นอย่าไว้ใจจีน’ รูปแบบการโพสต์หนึ่ง ส่วนหนึ่งในยุทธการทำลายชื่อเสียง ภายใต้สโลแกน #ChinaAngVirus (จีนคือไวรัส) ตามรายงานของรอยเตอร์ ส่วนอีกโพสต์ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป กล่าวอ้างว่า ‘ทุกอย่างที่มาจากจีน ทั้งชุดป้องกัน หน้ากาก และวัคซีน ล้วนแต่เป็นของปลอม แต่โคโรนาไวรัสนั้นเป็นของจริง’

ยิ่งไปกว่านั้น เพนตากอนพยายามสื่อสารไปยังพวกผู้ใช้ชาวมุสลิมในเอเชียและตะวันออกกลาง สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงที่ว่าบางครั้งวัคซีนอาจมีส่วนผสมของเจลาตินหมู ดังนั้น วัคซีนของจีนจึงอาจเป็นสิ่งต้องห้ามภายใต้กฎหมายอิสลาม

รอยเตอร์ระบุว่า จากการตรวจสอบของพวกเขา พบว่ามีอย่างน้อย 300 บัญชีบนทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นเอ็กซ์ ที่มีคุณลักษณะตรงตามกับคำกล่าวอ้างของอดีตเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ที่เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับยุทธการนี้แก่สื่อมวลชน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ยืนยันกับรอยเตอร์ว่า ยุทธการลับๆ บนสื่อสังคมออนไลน์สำหรับป้ายสีซิโนแวคนั้นเป็นเรื่องจริง แต่ปฏิเสธให้รายละเอียดเพิ่มเติม

โฆษกรายหนึ่งของเพนตากอน บอกกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กองทัพสหรัฐฯ ใช้แพลตฟอร์มที่หลากหลาย ในนั้นรวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ สกัดอิทธิพลที่มุ่งร้าย ที่เล็งเป้าเล่นงานสหรัฐฯ พันธมิตรและคู่หู และปักกิ่งคือหนึ่งในนั้น ที่เริ่มเปิดยุทธการบิดเบือนข้อมูล กล่าวโทษอันเป็นเท็จ หาว่าสหรัฐฯ เป็นคนแพร่กระจายโควิด-19

ในปฏิกิริยาที่มีต่อรายงานของรอยเตอร์ ทางกระทรวงการต่างประเทศของจีน เน้นย้ำผ่านทางอีเมล ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ บงการสื่อสังคมออนไลน์และเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนมานานแล้ว

'2 สื่อยักษ์' ตีข่าว ปรากฏการณ์ 'หลานม่า' ไวรัลแรงจนเกิดกระแสชาเลนจ์ในหลายประเทศ

(17 มิ.ย. 67) จากเพจ 'Thailand Box office and Entertainment' เผยว่า เว็บไซต์ข่าว BBC ของอังกฤษ และ South China Morning Post ของฮ่องกง รายงานปรากฏการณ์ของหลานม่า ที่สั่นสะเทือนไปทั้งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยการขึ้นแท่นอันดับ 1 หนังทำเงิน 

พร้อมกับมีมุมมองว่า #หลานม่า ประสบความสำเร็จพร้อมกับกระแสไวรัลใน Tiktok ในหลายประเทศ ที่หลายคนแข่งกันทำชาเลนจ์ ดูหนังเรื่องนี้ยังไงไม่ให้เสียน้ำตา รวมถึงไวรัลแจกกระดาษซับน้ำตา และ รีแอคของคนดูหลังดูหนังจบที่ตาบวมกันเป็นแถว 

ถือเป็นการตอกย้ำว่า เนื้อหาของหนังเข้าถึงคนดูในอาเซียนและเอเชียเป็นวงกว้างไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

‘จีน’ เปิดปฏิบัติการ ‘เพาะเมฆ’ สร้างฝนเทียม  หนุน จนท.ดับไฟบนภูเขา หลังพยายามมา 4 วัน

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย.67) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า หน่วยงานท้องถิ่นมณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงท้องถิ่นสามารถดับไฟที่ลุกไหม้บนภูเขาตั้งแต่เมื่อวันพุธ (12 มิ.ย.) ได้สำเร็จแล้ว หลังจากพยายามดับเพลิงนาน 4 วัน โดยได้รับความช่วยเหลือจากฝนเทียม

ทั้งนี้ สำนักงานใหญ่เพื่อการรับมือเหตุฉุกเฉินในอำเภออันเจ๋อ เมืองหลินเฝิน ระบุว่า เจ้าหน้าที่ดับเพลิงกว่า 2,200 คน พร้อมด้วยรถขุด 63 คัน และเรือบรรทุกน้ำ 88 คัน มีส่วนร่วมในภารกิจดับเพลิงครั้งนี้

โดยตอนแรกภารกิจดับเพลิงต้องเผชิญหลายความท้าทาย อันเนื่องมาจากภูเขาที่ลาดชัน อุณหภูมิที่พุ่งสูง และสภาพอากาศที่มีลมแรง ต่อมาเจ้าหน้าที่จึงหันมาใช้ปฏิบัติการเพาะเมฆบนฟ้า (cloud seeding) เพื่อทำให้ฝนตกเมื่อเย็นวันเสาร์ (15 มิ.ย.) และช่วยดับไฟ

หลังจากควบคุมเพลิงได้แล้ว เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจึงเริ่มเคลียร์พื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุตอนช่วงบ่ายวันอาทิตย์ (16 มิ.ย.) ซึ่งการสืบสวนเบื้องต้นเผยว่าไฟไหม้บนภูเขาครั้งนี้อาจมีสาเหตุมาจากฟ้าผ่า

อนึ่ง รายงานระบุว่าพื้นที่ในอำเภออันเจ๋อนั้นเป็นที่ตั้งของพื้นที่ป่าทึบหนาแน่นและเปราะบางต่อการเกิดไฟป่าอยู่แล้ว

‘รอยเตอร์ส’ เผย คนตามข่าวจากสื่อออนไลน์มากกว่า ‘สื่อดั้งเดิม’ แพลตฟอร์ม ‘Facebook-YouTube’ ทางเลือกแรกๆ ที่คนเลือกเสพ

เมื่อไม่นานมานี้ สถาบันรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า ผู้คนทั่วโลกสนใจข่าวสารน้อยลง พบเกือบ 40% หลีกเลี่ยงการเสพข่าวเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้ง

ผลการศึกษาทั่วโลกโดยสถาบันรอยเตอร์ส (Reuters Institute) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ชี้ว่า ผู้คนทั่วโลกจำนวนมากขึ้นมีความสนใจในข่าวสารน้อยลง โดยมองว่ามีแต่เรื่องที่น่าหดหู่ ไม่จบไม่สิ้น และน่าเบื่อ

รายงานสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่ทั้งหมด 94,943 คนใน 47 ประเทศระหว่างเดือน ม.ค.-ก.พ. 2024 และพบว่า ผู้คน 39% หรือเกือบ 4 ใน 10 (39%) กล่าวว่า พวกเขาหลีกเลี่ยงการเสพข่าวเป็นบางครั้งหรือบ่อยครั้ง

ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับสูงเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2017 ซึ่งอยู่ที่ 29%

รายงานระบุว่า สงครามในยูเครนและตะวันออกกลางอาจส่งผลให้ประชาชนต้องการปิดการรับรู้ข่าวมากขึ้น แต่ข่าวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจคล้ายกัน คือข่าวการเลือกตั้งในประเทศของตัวเอง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มโดยรวมยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับกลุ่มที่สนใจข่าวมากหรืออย่างมากทั่วโลกอยู่ที่ 46% ลดลงจาก 63% ในปี 2017

นิก นิวแมน ผู้เขียนรายงาน กล่าวว่า “เห็นได้ชัดว่าวาระข่าวเป็นเรื่องยากโดยเฉพาะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุณต้องเผชิญกับโรคระบาด และสงคราม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ผู้คนจะหันหลังให้กับข่าว ไม่ว่าจะเป็นเพื่อปกป้องสุขภาพจิตของพวกเขา หรือเพียงต้องการที่จะใช้ชีวิตที่ตามปกติ”

นิวแมนกล่าวว่า ผู้ที่เลือกหลีกเลี่ยงข่าวมักจะทำเช่นนั้นเพราะพวกเขารู้สึกว่า ‘ไม่มีอำนาจ’ โดยกล่าวว่า “คนเหล่านี้คือคนที่รู้สึกว่าตนไม่มีสิทธิ์เสรีเหนือสิ่งใหญ่โตที่กำลังเกิดขึ้นในโลก”

เขาเสริมว่า บางคนรู้สึกหนักใจและสับสนมากขึ้นกับข่าวที่เกิดขึ้น ขณะที่บางคนรู้สึกเหนื่อยล้ากับการเมือง นอกจากนี้ ผู้หญิงและคนหนุ่มสาวมีแนวโน้มที่จะรู้สึกเบื่อหน่ายกับจำนวนข่าวสารรอบตัวมากกว่าช่วงวัยอื่น

ในขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นในข่าวยังคงทรงตัวที่ 40% แต่โดยรวมลดลงมา 4% จากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19

รายงานพบว่าผู้ที่ชมแหล่งข่าวแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ ลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยคนอายุน้อยเลือกที่จะรับข่าวสารทางออนไลน์หรือทางโซเชียลมีเดียแทน

ในสหราชอาณาจักร ผู้คนเกือบ 3 ใน 4 (73%) กล่าวว่า พวกเขารับข่าวสารทางออนไลน์ ส่วน 50% ยังรับข่าวทางทีวีอยู่และมีเพียง 14% ที่อ่านข่าวในสิ่งพิมพ์

แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่สำคัญที่สุดสำหรับข่าวสารยังคงเป็น Facebook แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงก็ตาม รอลงมาคือ YouTube และ WhatsApp ขณะที่ TikTok กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น และตอนนี้แซงหน้า X (Twitter) ไปแล้วเป็นครั้งแรก โดยผู้คน 13% ทั่วโลกใช้ TikTok เพื่อดูข่าวสารส่วนผู้ที่ใช้ X ดูข่าวมีอยู่ 10%

กลุ่มที่ใช้ TikTok มากที่สุดคือประชากรอายุ 18-24 ปี ทำให้วิดีโอกลายเป็นแหล่งข่าวออนไลน์ที่สำคัญมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มอายุน้อย และวิดีโอแบบสั้นมีความน่าสนใจมากที่สุด

“ผู้บริโภคหันมาใช้วิดีโอเพราะใช้งานง่าย และมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องและน่าดึงดูดมากมาย แต่ห้องข่าวแบบดั้งเดิมหลายแห่งยังคงมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมที่ใช้ข้อความและกำลังดิ้นรนเพื่อปรับการเล่าเรื่อง” นิวแมนกล่าว

‘WGC’ ชี้!! วิกฤตอุตสาหกรรม ‘เหมืองทองคำ’ หลังการผลิตชะลอตัว เหตุแหล่งแร่หายากขึ้น คาด!! หลายพื้นที่ถูกสำรวจไปหมดแล้ว

เมื่อวานนี้ (16 มิ.ย. 67) สำนักข่าวซีเอ็นบีซีอ้างการเปิดเผยของสภาทองคำโลก (WGC) ว่า อุตสาหกรรมเหมืองทองคำกำลังประสบปัญหาในการรักษาระดับการเติบโตด้านการผลิต เนื่องจากการค้นหาแหล่งแร่ทองคำเริ่มยากลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสภาทองคำโลก พบว่า กำลังผลิตเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นแค่ 0.5% ในปี 2023 เมื่อเทียบกับหนึ่งปีก่อนหน้านั้น ขณะที่ในปี 2022 อัตราการเติบโตอยู่ที่ 1.35% หากเทียบเป็นรายปี เช่นเดียวกับปี 2021 ที่มีอัตราการเติบโตถึงระดับ 2.7%

"สิ่งที่เราพบเห็นคือกำลังผลิตเหมืองทองคำสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในไตรมาสแรกของปี 2024 เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบเป็นรายปี" จอห์น รีด หัวหน้านักยุทธศาสตร์การตลาดของสภาทองคำโลกกล่าวกับซีเอ็นบีซี "แต่ถ้ามองในภาพกว้าง ๆ ผมคิดว่ากำลังผลิตเหมืองทองคำ อยู่บนจุดสูงสุดแถวปี 2016 ถึง 2018 และเราไม่พบเห็นการเติบโตนับตั้งแต่นั้น"

"สิ่งที่น่ากังวลใจคือ ในช่วงเวลา 10 ปีหลังจากการผลิตทองคำพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งตั้งแต่ปี 2008 นั้น อุตสาหกรรมเหมืองทองคำประสบกับความยากลำบากในการรักษาอัตราการขยายตัวด้านการผลิตทองคำ เนื่องจากแหล่งแร่ทองคำใหม่ ๆ ทั่วโลกหายากขึ้น และหลายพื้นที่ที่มีแนวโน้มว่าจะพบแร่ทองคำนั้นได้ถูกสำรวจไปหมดแล้ว" จอห์น รีด กล่าว

โดยเขาชี้ว่าเหมืองทองคำขนาดใหญ่ต้องใช้เงินทุนที่สูงมาก อีกทั้งต้องมีการสำรวจและการพัฒนาซึ่งถือเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญ นอกจากนี้ ยังต้องใช้เวลาโดยเฉลี่ย 10-20 ปีก่อนที่เหมืองจะมีความพร้อมในการผลิต

จอห์น รีด กล่าวต่ออีกว่า และต่อให้เหมืองเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนการสำรวจ แต่โอกาสในการค้นพบแร่ทองคำที่จะนำไปสู่ขั้นตอนการพัฒนาได้นั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก โดยรายงานระบุว่า ทองคำทั่วโลกที่ถูกพบว่ามีแร่ทองคำในปริมาณมากพอที่จะได้รับการรับรองให้ทำเหมืองทองคำได้นั้น มีเพียงแค่ราว 10% เท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทเหมืองทองคำทั้งหลาย อาจต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าจะได้รับใบอนุญาตต่าง ๆ ที่จำเป็นจากรัฐบาล ถึงจะเริ่มปฏิบัติการได้ ยังไม่นับรวมกรณีที่โครงการเหมืองจำนวนมากมักตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างเช่น ถนน ไฟฟ้า และน้ำประปา เสียก่อน

นับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีการขุดทองคำไปแล้วประมาณ 187,000 เมตริกตัน อ้างอิงรายงานของสภาทองคำโลก ด้วยยังมีแหล่งทองคำสำรองที่ยังคงไม่ได้มีการขุดอีก 57,000 ตัน

สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) รายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ประมาณการว่าทองคำทั่วโลกเหลืออยู่ประมาณ 57,000 ตัน ซึ่งหากเทียบจากปริมาณการขุดทองคำเฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 ตัน จะเท่ากับเหลือทองคำให้ขุดได้อีกเพียง 19 ปี หากไม่มีการสำรวจพบสายแร่ทองคำใหม่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของ USGS เป็นเพียงการประมาณการเบื้องต้น โดยอ้างอิงจากอัตราการขุดทองคำในปัจจุบันและปริมาณทองคำสำรองที่พิสูจน์แล้วเท่านั้น ในความเป็นจริง ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระยะเวลาการหมดลงของทองคำ เช่น การค้นพบแหล่งแร่ทองคำใหม่ ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลทองคำจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และของใช้ต่าง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top