Saturday, 18 May 2024
COLUMNIST

‘Pepsi’ VS ‘Coca-Cola’ มิตรภาพที่อยู่เหนือผลประโยชน์


ปัจจุบันมูลค่าตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั้งโลกอยู่ที่ประมาณ 600 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 3.5-4% โดยส่วนแบ่งการตลาดของธุรกิจน้ำอัดลมทั่วโลกเป็นของ Coca-Cola ราว 44% และ PepsiCo ราว 19% ที่เหลือเป็นของน้ำอัดลมยี่ห้ออื่น ๆ


‘Coke’ หรือ The Coca-Cola Company ปกติทั่วไปแล้วมักเรียกว่า ‘Coca-Cola’ เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา สำนักงานใหญ่อยู่ในนครแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย ก่อตั้งขึ้นในปี 1886 สำหรับ ‘Pepsi’ หรือ PepsiCo, Inc. คู่แข่งของ Coke เป็นบริษัทมหาชนที่จดทะเบียนในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองแฮร์ริสัน มลรัฐนิวยอร์ก ก่อตั้งขึ้นในปี 1965 จากการควบรวมกิจการของ เป๊ปซี่-โคล่า กับ ฟริโต-เลย์ นอกจากนี้ยังมีสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ Gatorade, Tropicana, Quaker Oats, และ Lay's เป็นต้น


สำหรับ Coke และ Pepsi ต่างใช้งบประมาณมหาศาลในการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าของแต่ละฝ่าย ทั้งการใช้ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมาเป็นพรีเซ็นเตอร์ รวมไปจนถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นยอดขาย ซึ่งคู่แข่งทั้ง 2 ต่างก็ได้ลงทุนในการวิจัยและพัฒนาสินค้าใหม่และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อสนองตอบต่อความต้องการของผู้บริโภค และต่างก็ได้ทำการขยายตลาดของตนไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อให้ยอดขายเพิ่มมากขึ้น


การแข่งขันระหว่าง Coke และ Pepsi มิได้เป็นเพียงแค่เป็นการแข่งขันในทางธุรกิจเท่านั้น แต่ยังเป็นการแข่งขันทางความคิดและวัฒนธรรมอีกด้วย โดยทั้งสองฝ่ายต่างพยายามสร้างแบรนด์และภาพลักษณ์ของตนเองให้มีความโดดเด่นและเป็นที่จดจำของผู้บริโภคน้ำอัดลมทั่วโลก แม้การแข่งขันทางการค้าระหว่าง Coke และ Pepsi จะดำเนินไปอย่างดุเดือด แต่ใช่ว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต่อสู้ฟาดฟันกันโดยไม่รู้จักยั้งคิด ขาดสติ ไร้ความรู้สึก ผิด ชอบ ชั่ว ดี แต่อย่างใด ดังเช่นกรณี Joya Williams และ Ibrahim Dimson


ในปี 2006 ‘Joya Williams’ วัย 41 ปี เลขานุการผู้บริหารของ Coca Cola และ Ibrahim Dimson พนักงานของ Coke ที่สามารถเข้าถึงเอกสารลับสุดยอดทั้งหมดที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีเตรียมเครื่องดื่ม Coca-Cola ใหม่ และยังมีขวดที่บรรจุสารเคมีทั้งหมดที่โดยทั้งสองจะใช้ตั้งใจที่จะขายความลับเหล่านี้ให้กับ Pepsi คู่แข่งหลักของ Coke เป็นเงิน 1.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลของ Coke ที่ไม่มีใครรู้ ยกเว้น 5 ผู้บริหารระดับสูงของ Coke โดยพวกเขาได้ติดต่อกับ Antonio J. Lucio รองประธานฝ่ายข้อมูลเชิงลึกและนวัตกรรมของ Pepsi


อย่างไรก็ตาม Pepsi ได้แจ้งเรื่องนี้ให้กับ Coke และ Coke จึงแจ้งความให้ FBI ดำเนินการ หลังจากเริ่มการสืบสวน Gerald Reichard เจ้าหน้าที่พิเศษของ FBI ได้ปลอมตัวเป็นผู้แทนของ Pepsi หลังจาก Reichard ได้เจรจาพูดคุยกับ Dimson หลายครั้ง Reichard จึงได้ตกลงและทำการ ‘ล่อซื้อ’ ข้อมูลความลับของ Coke จาก Joya Williams และ Ibrahim Dimson เพื่อรวบรวมหลักฐานในการดำเนินคดี และนำไปสู่การจับกุมตัวทั้ง 2 คน ผลการพิจารณาคดี Williams ปฏิเสธ และ Dimson สารภาพ Williams ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่ามีความผิดรับโทษจำคุก 96 เดือน ส่วน Dimson รับโทษจำคุก 60 เดือน โดย Dave DeCecco โฆษกของ Pepsi กล่าวว่า "การแข่งขันอาจดุเดือดได้ แต่ต้องยุติธรรมและถูกกฎหมายเสมอ"


สิ่งที่ Joya Williams และ Ibrahim Dimson ไม่เข้าใจก็คือ แม้ว่า Coke และ Pepsi จะเป็นคู่แข่งขันกันก็ตาม แต่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีความสัมพันธ์ในลักษณะพิเศษต่อกัน ด้วยทั้ง 2 ฝ่ายมีความต้องการซึ่งกันและกันในอันที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งระหว่างกัน แม้ทั้ง 2 บริษัทเกือบจะเป็น Duopoly โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร่วมกว่า 60% แต่ต่างก็ไม่ต้องการให้อีกฝ่ายถึงกับต้องเลิกกิจการไปเลย เพียงต้องการต่างฝ่ายต่างประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งคู่ เช่นที่ผู้บริหาร Coke คนหนึ่งได้พูดไว้ว่า “ถ้าไม่มี Pepsi เราก็ต้องสร้างมันขึ้นมา” ทั้งสองจำเป็นต้องรักษาความเฉียบคมต่อกันเพื่อผลักดันคู่แข่งรายเล็กอื่น ๆ ให้ออกจากตลาด ซึ่งที่สุดแล้วทั้งสองฝ่ายต่างไม่ได้แข่งขันกัน แต่กลับกลายเป็นความร่วมมือกันในลักษณะพิเศษต่างหาก 

เสน่ห์ใดที่ซ่อนอยู่ในหุ้นสายประกัน จนทำให้ปู่ Warren Buffett ชอบเหลือเกิน

ถ้าใครได้ตามข่าวการเปิดพอร์ตการลงทุนล่าสุดของนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ VI อย่าง Warren Buffett จะเห็นได้ว่าเขาเองได้เข้าไปเก็บหุ้นบริษัทประกันอย่าง Chubb โดยการเข้าไปซื้อหุ้น Chubb จำนวนเกือบ 26 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนถึง 2% ของหุ้นทั้งหมดของพอร์ตการลงทุน เป็นเงินถึง 6.7 พันล้านดอลลาร์หรือราว ๆ 2.4 แสนล้านบาท แล้วหุ้นประกันดีอย่างไรวันนี้จะมาเล่าให้ฟังค่ะ 

ก่อนอื่นเราต้องมาดูกันก่อนว่ารายได้หลักของบริษัทประกันมาจากอะไรบ้าง รายได้หลักก็คงหนีไม่พ้นเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ ตามมาด้วยผลตอบแทนจากการนำเงินไปลงทุน และค่าจ้างค่าธรรมเนียมจากการให้บริการ โดยเงินที่เราจ่ายให้กับบริษัทประกันนี้เราจะเรียกว่า 'Float' และในทางบัญชีบริษัทจะบันทึกเงินก้อนนี้เป็นหนี้สิน ซึ่งเงินก้อนนี้ส่วนหนึ่งบริษัทประกันจะเก็บไว้เป็นทุนสำรองในกรณีที่ลูกค้าเคลมประกันเข้ามา ส่วนอีกส่วนหนึ่งบริษัทเองก็สามารถที่จะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนต่อได้ โดยที่บริษัทไม่จำเป็นต้องไปกู้ยืมจากสถาบันการเงินอื่น ๆ 

เท่ากับว่าบริษัทประกัน ไม่มีต้นทุนจากการกู้ยืมเลย ซึ่งเราเรียกการลงทุนแบบนี้ว่า Leverage หรือก็คือการยืมเงินคนอื่นมาลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนมากขึ้น ไม่เหมือนกับบริษัทอื่น ๆ ที่ต้องไปกู้ยืมและมีต้นทุนที่สูงในการเอาไปลงทุนต่อ แถมธุรกิจประกันภัยของ Berkshire Hathaway เองก็ยังเป็นแหล่งเงินสดก้อนใหญ่ที่บริษัทเอาไปใช้เพื่อการลงทุนเองด้วย 

แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของประกันเองในบางปีจะขาดทุนจากการรับประกันภัยในกรณีที่ถูกเรียกสินไหมหรือที่เราเรียกว่า 'การเคลม' รวมถึงการที่คู่แข่งลดราคาเพื่อแย่งส่วนแบ่งทางการตลาด แต่สิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ บริษัทประกันภัยสามารถที่จะคำนวณกระแสเงินสด เพราะเขาเองสามารถคาดการณ์กระแสเงินสดที่จะไหลเข้าบริษัทได้อย่างค่อนข้างแม่นยำ ทำให้เขาสามารถวางแผนการใช้จ่ายเงินได้อย่างดี ส่วนทางด้านการลงทุนบริษัทเองสามารถเอาไปลงในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น พันธบัตร หุ้นเพื่อหาผลตอบแทน ซึ่งจาก Float ที่บริษัทเองก็ไม่ได้มีต้นทุนการกู้ยืม การทำกำไรในสินทรัพย์ที่มั่นคงแต่ได้ผลตอบแทนน้อยก็นับว่าคุ้มแล้ว

นอกจากนี้ธุรกิจประกันภัยเองยังเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการกำหนดราคาอย่างเช่น บริษัทเองสามารถปรับขึ้นราคาเบี้ยประกันภัยได้ในช่วงภาวะเงินเฟ้อเพื่อรักษาผลกำไร หรือเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองและกำหนดราคานั่นเอง

โดย Chubb เองเป็นบริษัทประกันภัยที่มีกิจการอยู่ 54 ประเทศทั่วโลกโดยให้บริการทั้งประกันภัยทรัพย์สิน, ประกันวินาศภัย, ประกันสุขภาพ, ประกันภัยต่อ และประกันชีวิต โดยผลการดำเนินงานของ Chubb ของไตรมาสที่ 1 ปี 2024 ออกมาโดยรายได้สุทธิอยู่ที่ 2.14 พันล้านเหรียญโตขึ้นเมื่อเทียบเป็นแบบรายปี ซึ่งหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อหุ้นที่วอร์เรนเก็บเข้าเพิ่มไปก็ดันให้ราคาหุ้น Chubb ก็ทำให้ราคาหุ้นพุ่งขึ้นมากกว่า 8% 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระมหากษัตริย์นักประชาธิปไตย ผู้ไม่มีงานออกพระเมรุ

“—เมื่อฉันได้รับราชสมบัติ ฉันไม่เชื่อว่าฉันจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉันเป็นน้องสุดท้อง แต่ในที่สุดฉันก็ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินจนได้ และเมื่อฉันขึ้นครองราชย์นั้น ฉันรู้ดีว่าม่านจวนจะรูดแล้ว แต่ฉันก็คิดอยู่เสมอว่าฉันมีความตั้งใจจะมอบการปกครองให้แก่ราษฎร—”

พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ทรงมีต่อผู้แทนคณะปฏิวัติที่เข้ามาพบเพื่อถวายธรรมนูญการปกครองแผ่นดินฉบับชั่วคราว ซึ่งแสดงให้เห็นถึงน้ำพระราชหฤทัยที่พระองค์มีอยู่ 

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎรในครั้งนั้น มิได้มีการอภิวัฒน์ขึ้นอย่างที่พวกเขากล่าวอ้าง อำนาจการปกครองของประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตยนั้นมิได้เกิดขึ้นจริง มีแค่เพียงการปกครองที่เรียกว่า ‘คณาธิปไตย’ โดยมีเครื่องมือที่เรียกว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ มาใช้รองรับความต้องการของตนก็เท่านั้นเอง 

ซึ่งหลายต่อหลายเหตุการณ์ได้ทำให้ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงอึดอัดและทรงผิดหวังอย่างเหลือประมาณ จนพระองค์ต้องทรงเดินทางออกนอกประเทศเพื่อทรงไปรักษาพระวรกาย และส่วนหนึ่งคือการเลี่ยงการใช้พระองค์เป็นเครื่องมือของคณะผู้ก่อการคณะต่าง ๆ ที่ต้องการกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองโดยอ้างพระองค์ ราวกับพระองค์ต้องทรงตกเป็นตัวประกัน โดยเสด็จฯ ออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2476 จนกระทั่งถึงวันที่พระองค์ทรงสละราชสมบัติใน 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 และทรงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษจวบจนสวรรคต 

หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติแล้ว พระองค์ยังคงประทับอยู่ ณ ประเทศอังกฤษ แต่พระองค์ทรงพระประชวรอยู่เนือง ๆ โดย พ.ศ. 2480 พระองค์ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักเวนคอร์ต ตำบลบิดเดนเดน มณฑลเคนท์ โดยในช่วงนี้พระองค์ทรงพระประชวรมากขึ้นด้วยโรคตัวบิดเข้าไปอยู่ในพระยกนะ (ตับ) แต่แพทย์ได้รักษาจนเป็นปกติ แต่กระนั้นพระอาการประชวรของพระองค์ก็มีการกำเริบหนักบ้าง น้อยบ้าง ประกอบกับโรคทางพระหทัยที่เริ่มพบว่ามีอาการ

พ.ศ. 2482 ทรงย้ายไปประทับที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนีย วอเตอร์ เพื่อความปลอดภัยจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากพระตำหนักเวนคอร์ตอยู่ใกล้กับช่องแคบอังกฤษ ซึ่งเป็นเขตป้องกันประเทศของทหาร โดยทำการปิดพระตำหนักไว้แล้วหวังใจว่าเมื่อสงครามสงบจะได้กลับไปพำนักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในช่วงนี้พระองค์ดำรงพระชนม์ชีพในภาวะสงครามด้วยความยากลำบาก ขาดแคลนอาหาร ทั้งยังต้องระวังภัยทั้งทางอากาศ โดยการอำพรางไฟฟ้าลดความสว่างและความอบอุ่น บางครั้งต้องสวมหน้ากากป้องกันก๊าซพิษ โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูหนาว ทำให้พระสุขภาพทรุดโทรมและทรงประชวรหนักขึ้น 

ปี พ.ศ. 2484 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม พระชะตาชีวิตโหมกระหน่ำพระองค์อีกครั้ง เมื่อทรงทราบว่า พระตำหนักเวนคอร์ตที่ทรงปิดไว้ ถูกยึดครองเป็นที่ทำการของฝ่ายทหารอังกฤษไปแล้ว จึงจะทรงส่งคนไปเก็บสิ่งของมีค่าในพระตำหนัก ก่อนที่จะส่งมอบตำหนักอย่างเป็นทางการ ด้วย ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินี’ พระองค์ทรงอาลัยพระตำหนักนี้มาก ในหลวงรัชกาลที่ 7 จึงทรงมีพระราชดำริจะเสด็จพระราชดำเนินไปด้วยพระองค์เอง แต่พระอาการประชวรของรัชกาลที่ 7 ทรุดหนักลง พระบาทบวมอยู่ 2-3 วัน ซึ่งเป็นอาการอันเนื่องมาจากที่ประชวรพระหทัย

ในช่วงเช้าวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ทรงฉลองพระองค์ชุดบรรทมเป็นสนับเพลาแพร และฉลองพระองค์แขนยาว ทรงตื่นพระบรรทมแต่เช้าตรู่ พระอาการดูดีขึ้นมาก ได้รับสั่งกับ ‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ ว่าหากอยากจะเสด็จฯ ไปพระตำหนักเวนคอร์ตเพื่อไปจัดการอะไรต่อมิอะไรให้เรียบร้อยก็ทรงไปได้ ไม่ต้องทรงเป็นพระกังวล โดยรับสั่งว่า 

“จะไปไหนก็ได้ ฉันสบายดี....อยู่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ต้องห่วง จะอ่านหนังสือพิมพ์” ซึ่งคงไม่มีใครคาดคิดว่านั่นจะคือรับสั่งครั้งสุดท้ายของในหลวงรัชกาลที่ 7 

‘สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ’ จึงเสด็จฯ ออกไปโดยรถยนต์พระที่นั่งตั้งแต่เวลา 08.00 น. ในหลวง ร.7 ทรงเสวยไข่ลวกนิ่ม ๆ ซึ่งนางพยาบาลประจำพระองค์จัดถวาย ทรงหนังสือพิมพ์แล้วบรรทมต่อ สักพักหนึ่งก็ทรงบ่นว่ามีอาการวิงเวียนไม่สบาย นางพยาบาลจึงลุกไปหยิบยา พอกลับมาอีกที ก็เห็นพระหัตถ์ตกห้อยลงมาอยู่ข้าง ๆ หนังสือพิมพ์ตกอยู่กับพื้น หลับพระเนตรเหมือนกำลังหลับอย่างสบาย ประมาณ 09.00 น. นางพยาบาลจับพระชีพจรดู จึงรู้ว่าพระเจ้าอยู่หัว ได้สวรรคตเสียแล้ว สิริรวมพระชนม์มายุได้ 48 พรรษา และเป็นเวลา 6 ปี 3 เดือน นับตั้งแต่พระองค์ทรงสละราชสมบัติ

ส่วนทาง สมเด็จฯ เมื่อรถพระที่นั่งแล่นออกจากพระตำหนักได้สักพักใหญ่ก็ต้องชะลอ แล่นช้าลงเพราะหมอกลงจัด โดยมีคำบอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า สมเด็จฯ ทรงทอดพระเนตรเห็น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ประทับยืนอยู่ ซึ่งออกจะประหลาด ๆ จนทรงสังหรณ์พระราชหฤทัย 

จนกระทั่งตำรวจอังกฤษได้มาสกัดรถพระที่นั่งของสมเด็จฯ เพื่อแจ้งข่าว พระองค์จึงทรงรีบเสด็จฯ กลับพระตำหนักในทันที เมื่อทรงถึงพระตำหนัก พระองค์ทรงควบคุมพระสติอารมณ์ได้อย่างดีเยี่ยม ทรงจัดการพระบรมศพเป็นการภายใน โดยอัญเชิญพระบรมศพประดิษฐาน ณ พระตำหนักคอมพ์ตัน โดยรัฐบาลอังกฤษ ได้อนุญาตเป็นกรณีพิเศษ ในการประดิษฐานพระบรมศพเป็นเวลา 4 วัน ซึ่งตามปกติจะอนุญาตให้เพียง 1 วัน เท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้พระประยูรญาติที่อยู่ห่างไกลมาถวายบังคมลาเป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งรัชกาลที่ 7 ได้ทรงรับสั่งเกี่ยวกับการแต่งพระบรมศพไว้ว่า 

“ถ้าพระองค์สวรรคตเมื่อไร ให้ทรงพระภูษาแดง และทรงสะพักผ้าขาวผืนเดียวแล้วเอาลงหีบ แล้วจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพโดยเร็ว ไม่ต้องมีพิธีเกียรติยศอย่างใดทั้งสิ้น และขอให้เอาซอไวโอลินไปเล่นเพลงที่พระองค์โปรดเพียงคันเดียวในขณะที่กำลังถวายพระเพลิง”

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้ทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือ ‘เกิดวังปารุสก์’ ตอนหนึ่งว่า… “ได้ขึ้นไปถวายบังคมพระบรมศพ ซึ่งดูเหมือนบรรทมหลับอยู่ในพระหีบใหญ่บุนวมสีขาว ดูสบายดีกว่าที่จะต้องถูกจัดลงพระบรมโกศอย่างในเมืองไทยเรามากนัก ในห้องตั้งพระศพก็จัดการอย่างดี มีธงมหาราชประดับติดอยู่กับฝา”

ในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ได้อัญเชิญพระบรมศพขึ้นประดิษฐานบนรถซึ่งมีธงมหาราชคลุมหีบพระบรมศพ และเชิญพระชัยวัฒน์ไว้ทางเบื้องพระเศียร รถเคลื่อนขบวนออกจากพระตำหนักคอมพ์ตันไปยัง สุสานโกลเดอร์ส กรีน ซึ่งอยู่ทางเหนือของกรุงลอนดอน มีรถตามเสด็จประมาณ 5 คัน 

เมื่อถึงสุสาน พบว่ามีผู้มาคอยเฝ้ารับเสด็จฯ อยู่มาก ทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ เมื่อเจ้าหน้าที่อัญเชิญหีบพระบรมศพเข้าสู่ฐานตั้ง ผู้ที่ตามเสด็จฯ นั่งเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว นายอาร์. ดี. เครก ชาวอังกฤษ ซึ่งเคยรับราชการอยู่เมืองไทย และเป็นพระสหายของ ร.7 ได้อ่านสุนทรพจน์สรรเสริญพระเกียรติคุณ ผู้ที่ไปชุมนุม ณ ที่นั้นเข้าไปถวายความเคารพโดยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี เสด็จฯ เข้าไปถวายบังคมพระบรมศพเป็นพระองค์แรก ตามด้วยพระประยูรญาติและผู้ใกล้ชิดทั้งชาวไทยและต่างชาติ จากนั้นพนักงานกดสวิตช์อัญเชิญหีบพระบรมศพ เลื่อนไปตามรางเหล็กสู่เตาไฟฟ้า 

การพระบรมศพนั้นไม่มีพิธีสงฆ์ใด ๆ เพราะไม่มีพระภิกษุสงฆ์อยู่ในประเทศอังกฤษในเวลานั้น มีแต่คนไทยซึ่งเคยบวชในพระพุทธศาสนา ได้สวดมนต์ถวายพระราชกุศล แล้วมีการบรรเลงเพลง เมนเดลโซน ไวโอลิน คอนแชร์โต ซึ่งเป็นเพลงที่พระองค์โปรดเป็นพิเศษ ถวายเป็นครั้งสุดท้ายเพียงเท่านั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้ว พระบรมอัฐิและพระบรมสรีรางคารถูกอัญเชิญกลับไปประดิษฐานยังพระตำหนักคอมพ์ตันอันเป็นที่ประทับของพระองค์จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2492 รัฐบาลได้กราบบังคมทูล สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ขอพระราชทานให้ทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับสู่สยาม

โดยการอัญเชิญพระบรมอัฐิกลับสู่สยามนั้นเริ่มต้นในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 กระบวนเกียรติยศจากรัฐบาลอังกฤษอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิในหลวงรัชกาลที่ 7 ขึ้นประทับบนเรือวิลเลมรัยส์ เมืองเซาธ์แฮมป์ตัน ทหารกองเกียรติยศ กองทหารราบเบาซอมเมอร์เส็ท ถวายบังคมส่งเสด็จฯ โดย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงรับการถวายความเคารพ โดยพระองค์เสด็จฯ กลับสยามโดยประทับบนเรือลำนี้ เป็นเวลา 23 วัน

กระทั่งวันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 เรือภาณุรังสีได้เข้าเทียบเรือวิลเลมรัยส์ แล้วอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิมาประดิษฐาน ณ ที่ประทับชั่วคราว ภายในโถงเรือจนถึงกรุงเทพฯ จึงอัญเชิญหีบพระบรมอัฐิขึ้นสู่เรือรบหลวงแม่กลอง แล้วนำพระบรมอัฐิ บรรจุในพระโกศ ประดิษฐานในเรือรบหลวงแม่กลอง หลังจากนั้นกรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เสด็จฯ ตาม สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ และอัญเชิญพระโกศพระบรมอัฐิลงจากเรือรบหลวงแม่กลอง ขึ้นประทับบนพระราเชนทรยานราชรถเชิญพระโกศพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เข้าสู่พระบรมมหาราชวัง

โดยประดิษฐานพระโกศพระบรมอัฐิเคียงข้าง พระโกศพระบรมอัฐิ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระราชชนนีพันปีหลวง ณ พระที่นั่งพุดตานถม ภายในพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เพื่อประกอบพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7

เปิดเรื่องราว ‘Vlora’ เรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากสุดในโลก หลังชาวแอลเบเนียทำการบุกจี้ยึดเรือ เพื่ออพยพหลบหนีออกประเทศ

เมื่อถึงวันที่ 30 เมษายน ผู้เขียนมักจะนึกย้อนไปถึงปี 1975 ด้วยวันนี้เป็นวันจบสิ้นลงของประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม หรือ เวียตนามใต้ (The Republic of Vietnam) คำว่า “เวียตนาม” ในยุคสมัยที่ยังมีเวียตนามใต้ คนไทยใช้ ‘ต’ สะกด แต่ปัจจุบัน ใช้ ‘ด’ สะกด (พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน) การสิ้นสุดของสาธารณรัฐเวียตนามทำให้ชาวอดีตเวียตนามใต้พากันอพยพหลบหนีออกนอกประเทศ และวิธีการที่ใช้ในการหลบหนีมากที่สุดคือทางเรือ อันเป็นที่มาของ ‘เรือมนุษย์เวียดนาม’  (Vietnamese Boat People) ทั้งนี้ สามารถตามอ่านได้ที่ https://thestatestimes.com/post/2021050108

(การรื้อทำลายอนุสาวรีย์ Lenin ที่แอลเบเนียในปี 1991)

การสิ้นสุดลงของประเทศสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายคอมมิวนิสต์ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ส่งผลให้ลัทธิคอมมิวนิสต์ในแอลเบเนียล่มสลาย และลุกลามไปจนถึงเศรษฐกิจของประเทศกลายเป็นความถดถอยจนครั้งใหญ่ เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ท่ามกลางความไม่สงบทางการเมืองและสังคมที่กระจายไปทั่วประเทศกระตุ้นให้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามออกจากประเทศ โดยก่อนหน้านี้ชาวแอลเบเนียจำนวนมากหนีไปทางตอนใต้เพื่อไปกรีซ ในขณะที่ชาวสลาฟชาติพันธุ์บางกลุ่มพยายามข้ามไปยังเพื่อนบ้านทางตอนเหนือของยูโกสลาเวีย ในกรุงติรานา สถานทูตต่างประเทศถูกชาวแอลเบเนียจำนวนมากพยายามบุกเข้าไป ภายหลังจากมีข่าวลือแพร่สะพัดเกี่ยวกับการให้วีซ่าชาวแอลเบเนียกว่า 3,000 คน สามารถเข้าไปในบริเวณสถานทูตเยอรมันได้ ในขณะที่บางคนเข้าไปในบริเวณสถานทูตเชโกสโลวาเกียได้สำเร็จ ในที่สุดชาวแอลเบเนียในสถานทูตเยอรมันก็ได้รับอนุญาตให้อพยพไปยังเยอรมนีผ่านทางอิตาลีได้

เส้นทางเรือที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียใช้ข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี

ในขณะที่ผู้อพยพชาวแอลเบเนียจำนวนมากตัดสินใจเลือกอิตาลีเป็นจุดหมายปลายทาง ด้วยความอิตาลีอยู่ห่างออกไปไม่ถึงร้อยไมล์ โดยข้ามช่องแคบโอตรันโต จากโฆษณาทางโทรทัศน์ที่การแสดงความมั่งคั่งเกินจริงในอิตาลีที่ชาวแอลเบเนียได้ชมเป็นแรงบันดาลใจอันหนึ่งให้กับตัวเลือกนี้ในช่วงต้นปี 1991 มีความพยายามในการข้ามช่องแคบโอตรันโตหลายครั้ง โดยผู้ลี้ภัยชาวแอลเบเนียหลายร้อยหรือหลายพันคนได้จี้บังคับเรือต่าง ๆ ตั้งแต่เรือบรรทุกสินค้าของโรมาเนียไปจนถึงเรือลากจูงของกองทัพเรือแอลเบเนีย หน่วยรักษาความปลอดภัยประจำท่าเรือเมือง Durrës ที่ถูกบุกรุกทำได้แค่ยืนดูเฉย ๆ ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ครั้งหนึ่งมีการข้ามช่องแคบของผู้อพยพชาวแอลเบเนียประมาณ 20,000 คนเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 1991 โดยขึ้นฝั่งที่เมืองบรินดิซีด้วยเรือขนาดเล็กหลายลำ เมืองนี้มีประชากรเพียง 80,000 คน จึงประสบปัญหาในการรับมือกับการไหลบ่าเข้ามาของผู้อพยพดังกล่าว แต่ผู้อพยพก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีโดยชาวเมืองต่างก็เอื้อเฟื้อให้อาหารและที่พัก 

(ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora)

เหตุการณ์จี้ยึดเรือสินค้า Vlora เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 1991 โดย Vlora เป็นเรือบรรทุกสินค้าที่ต่อขึ้นในปี 1960 ที่เมือง Ancona อิตาลี ซึ่งได้แล่นในทะเลภายใต้ธงแอลเบเนียจนถึงปี 1996 โดยบริษัทร่วมขนส่งซิโน-แอลเบเนียของรัฐบาล เรือสินค้า Vlora เดินทางกลับมาจากคิวบาพร้อมกับน้ำตาลจำนวนมาก และได้จอดเทียบท่าที่เมือง Durrës เพื่อขนถ่ายสินค้าและเข้ารับการซ่อมแซมเพราะเครื่องยนต์หลักชำรุดใช้งานไม่ได้ ขณะเดียวกัน มีผู้อพยพชาวแอลเบเนียจากทั่วประเทศจำนวนมากมารวมตัวกันที่ท่าเรือด้วยความหวังว่าจะได้ขึ้นเรือลำใดก็ได้และแล่นไปยังอิตาลี โดยไม่มีใครหยุดยั้งพวกเขาได้ โดยมีผู้อพยพจำนวนระหว่าง 15,000 - 20,000 คนได้บุกขึ้นเรือสินค้า Vlora ในวันที่ 7 สิงหาคม 1991 พวกเขากระโดดลงทะเลแล้วปีนขึ้นไปตามเชือก และอยู่กันจนเต็มพื้นที่แทบทุกตารางนิ้วของเรือ (บางส่วนต้องห้อยตัวกับบันไดและราวกั้นตลอดการเดินทาง) Halim Milaqi กัปตันของเรือสินค้า Vlora ถูกจี้บังคับจากกลุ่มคนติดอาวุธจึงต้องตัดสินใจนำเรือที่มีผู้อพยพนับหมื่นคนข้ามช่องแคบโอตรันโตไปยังอิตาลี ด้วยเกรงว่าจะเหตุการณ์จะเลวร้ายไปกว่านี้หากปล่อยให้มือสมัครเล่นมาทำหน้าที่ควบคุมเรือ

ผู้อพยพชาวแอลเบเนีย 15,000-20,000 คนบนเรือสินค้า Vlora

เรือสินค้า Vlora แล่นโดยใช้เพียงเครื่องยนต์สำรองและไม่มีเรดาร์ เนื่องจากมีผู้อพยพอยู่เต็มไปหมดจนเรดาร์ไม่สามารถทำงานได้ และสูญเสียระบบทำความเย็นไปหลังจากที่ผู้อพยพตัดเปิดท่อทำความเย็นออกเพื่อเอาน้ำมาดื่ม จากนั้นกัปตันจึงต้องใช้น้ำทะเลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เครื่องยนต์ร้อนจัด โชคดีที่พวกเขาได้ประโยชน์จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยจนสามารถเดินทางมาถึงชายฝั่งอิตาลีในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 สิงหาคม เมื่อเข้าใกล้ท่าเรือของเมืองบรินดิซีในเวลาประมาณ 04.00 น. กัปตันได้รับคำแนะนำไม่ให้เทียบท่าในเมืองโดยรองหัวหน้าตำรวจของเมือง เพราะเมืองนี้ยังคงมีผู้อพยพชาวแอลเบเนียหลายพันคนที่เดินทางมาถึงในเดือนมีนาคมหรือระหว่างนั้นติดค้างอยู่ และไม่มีความสามารถที่จะรองรับผู้อพยพได้มากกว่านี้แล้ว

กัปตัน Milaqi จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่เมืองบารีซึ่งอยู่ห่างออกไปเพียง 55 ไมล์ แต่เรือสินค้า Vlora ที่แทบจะหมดสภาพแล้วต้องใช้เวลาเดินทางถึงเจ็ดชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นทางการอิตาลีแทบไม่ได้ทำอะไรเลยเพื่อเตรียมพร้อมรองรับสำหรับการมาถึงของผู้อพยพจำนวนมหาศาลครั้งนี้ ทั้งนายกเทศมนตรีและหัวหน้าตำรวจต่างเดินทางไปเที่ยวพักผ่อน ส่วนสำนักงานนายกเทศมนตรีจะได้รับแจ้งข่าวเมื่อเรือเข้าเทียบท่าแล้วเท่านั้น มีความพยายามที่จะปิดล้อมทางเข้าท่าเรือโดยใช้เรือเล็กและเรือรบของกองทัพเรืออิตาลีเพื่อพยายามบังคับกัปตัน Milaqi ให้หันหัวเรือกลับไปยังแอลเบเนีย แต่ด้วยสภาพที่ย่ำแย่ลงบนเรือหลังจากที่ผู้อพยพใช้เวลา 36 ชั่วโมงโดยไม่มีอาหารหรือน้ำท่ามกลางความร้อนอบอ้าว กัปตัน Milaqi จึงปฏิเสธที่จะหันเรือกลับ เขานำเรือสินค้า Vlora เข้าไปในท่าเรือโดยแจ้งว่า เรือสินค้า Vlora เสียหายและไม่สามารถหันเรือกลับด้วยกลไกได้ ท่าเรือเมืองบารีเป็นท่าเรือที่อยู่ห่างจากใจกลางเมืองมากที่สุด ซึ่งโดยปกติแล้วจะสงวนไว้สำหรับการขนถ่ายถ่านหิน พอถึงท่าเรือมีผู้อพยพจำนวนมากกระโดดลงน้ำว่ายเข้าฝั่งหรือปีนเชือกขณะจอดเรือ โดยมีหลายคนหายตัวไปในตัวเมือง

นโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาลอิตาลี โดย Vincenzo Scotti รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คือการหยุดยั้งเรือผู้ลี้ภัยไม่ให้ขึ้นฝั่งอิตาลี มิฉะนั้นก็ส่งผู้อพยพออกไปทันที ด้วยเหตุนี้ผู้อพยพจากเรือ Vlora จึงไม่ได้ลงจากเรือ ด้วยคำสั่งจากรัฐบาลอิตาลีคือกักผู้อพยพไว้ที่ท่าเรือ โดยไม่ต้องช่วยอะไรเลย และส่งกลับไปยังแอลเบเนียโดยเร็วที่สุด เมื่อแผนดังกล่าวไม่น่าจะเป็นไปได้ ก็มีมาตรการอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ผู้อพยพที่เจ็บป่วยบางส่วนถูกนำตัวโดยรถพยาบาลไปโรงพยาบาล เช่นเดียวกับสตรีตั้งครรภ์หนักจำนวนหนึ่ง ผู้อพยพถูกส่งตัวไปยัง Stadio della Vittoria ซึ่งเป็นสนามกีฬาที่ไม่ใช้งาน ซึ่งพวกเขาจะกักตัวไว้จนกว่าจะถูกเนรเทศ เมื่อบรรดาผู้อพยพชาวแอลเบเนียเข้าใจว่าในที่สุดพวกเขาก็ถูกส่งกลับ ผู้อพยพบางกลุ่มจึงพยายามบังคับพวกเขาผ่านวงล้อมของตำรวจที่อยู่รอบสนามกีฬา เนื่องจากมีหลายคนพยายามหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจหยุดนำผู้อพยพมาที่สนามกีฬาและปิดประตูและขังพวกเขาไว้ข้างใน สถานการณ์ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ เจ้าหน้าที่สนามก็ถูกจับเป็นตัวประกัน บุคลากรที่ดูแลการจัดการการปันส่วนอาหารถูกทำร้าย จากนั้นตำรวจจึงอพยพออกจากสนาม กลายเป็นพื้นที่ไร้กฎหมายที่ถูกควบคุมโดยกลุ่มที่มีความรุนแรงที่สุด (บางคนมีอาวุธปืน) เจ้าหน้าที่โยนอาหารและน้ำข้ามกำแพงโดยใช้รถดับเพลิง ซึ่งหมายความว่ากลุ่มอันธพาลได้เก็บอาหารและน้ำส่วนใหญ่ไว้แล้ว

ความตึงเครียดยิ่งปะทุขึ้นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและชาวแอลเบเนียที่พยายามฝ่าวงล้อม ตำรวจได้เปิดฉากยิงทำให้ผู้อพยพชาวแอลเบเนียบางคนได้รับการรักษาจากบาดแผลกระสุนปืน ตามที่ตำรวจระบุ หลังจากการผ่อนปรนช่วงสั้น ๆ เกมแมวจับหนูระหว่าผู้อพยพชาวแอลเบเนียที่พยายามหลบหนีกับตำรวจก็เริ่มต้นอีกครั้งในวันต่อมา ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 200 ราย รวมถึงตำรวจประมาณ 20 นาย ขณะที่ผู้อพยพหลายร้อยคนสามารถหลบหนีออกมาได้ โดยบางส่วนซ่อนตัวอยู่ในศาลานิทรรศการฟิเอรา เดล เลบานเต มีผู้ลี้ภัยราว 2,000 คนถูกตำรวจล้อมอยู่ด้านนอกสนามกีฬา พวกเขาค่อย ๆ ขนย้ายผู้หลบหนีไปยังท่าเรือ แม้ว่าบางครั้งพวกเขาจะต่อต้านอย่างรุนแรงก็ตาม ในที่สุดทางการอิตาลีก็สามารถจัดการตอบสนองต่อวิกฤติผู้อพยพได้ในที่สุด พวกเขาใช้เรือเฟอร์รี่เอกชนส่งผู้อพยพกลับไปยังแอลเบเนีย ซึ่งเรือรบอิตาลีสองลำได้ช่วยสนับสนุนด้วย บรรดาผู้อพยพที่ใช้ความรุนแรงบางส่วนถูกนำตัวไปยังสนามบินและถูกส่งกลับไปยังแอลเบเนียด้วยเครื่องบินลำเลียง C-130 ของกองทัพอากาศอิตาลี (ประมาณ 60 คน โดยมีตำรวจจำนวนหนึ่งควบคุม) ในช่วงบ่ายของวันที่ 9 มีผู้ถูกส่งตัวกลับประเทศประมาณ 3,000 คน บางส่วนจากไปด้วยความสมัครใจเนื่องจากการต้อนรับที่ไม่เป็นมิตรและสภาพที่ย่ำแย่ทำให้พวกเขาเลิกสนใจกับการที่จะใช้ชีวิตในอิตาลี เพื่อไม่ให้มีการต่อต้านขัดขืนผู้อพยพส่วนใหญ่จึงถูกหลอกว่าเรือและเครื่องบินจะพาพวกเขาไปยังเมืองอื่นๆ ของอิตาลี 

(‘Sono persone’ ประติมากรรมอนุสรณ์ของเหตุการณ์ดังกล่าว)

จากนั้นผู้อพยพถูกส่งกลับแอลเบเนียอย่างรวดเร็วด้วยเรือเฟอร์รี่อีกสองลำ Espresso Grecia และ Malta สองวันต่อมาในวันที่ 11 ยังคงเหลือชาวแอลเบเนียประมาณ 3,000 คนอยู่ในสนามกีฬาของเมืองบารี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่ปฏิเสธที่จะเชื่อเจ้าหน้าที่อิตาลี Vincenzo Parisi หัวหน้าตำรวจจึงโน้มน้าวให้กลับไปพร้อมกับเสนอเสื้อผ้าชุดใหม่และเงินคนละ 50,000 ลีร์ (ในขณะนั้นถือว่าเป็นเงินจำนวนมากในแอลเบเนีย) หลังจากผ่านไปสามวันผู้อพยพที่เหลือก็ได้รับแจ้งว่า พวกเขาได้รับสิทธิ์ให้อยู่ในอิตาลีได้ อย่างไรก็ตาม ทันทีที่พวกเขาออกจากสนามกีฬาก็ถูกนำขึ้นรถบัสและพาไปยังสนามบิน จากนั้นจึงถูกส่งขึ้นเครื่องบินบินตรงไปยังกรุงติรานา เรื่องนี้ทำให้สื่อมวลชนพาดหัวข่าวว่า ‘การบุกรุกของผู้อพยพชาวแอลเบเนีย’ ได้ยุติลงแล้วในวันที่ 16 สิงหาคม ท่ามกลางความสนใจของสื่อที่เน้นย้ำถึงสถานการณ์เลวร้ายในแอลเบเนีย ทางการแอลเบเนียซึ่งได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลอิตาลีให้จัดการควบคุมท่าเรือของตนให้อยู่ภายใต้กองทัพ และระงับการเดินทางของรถไฟโดยสารทั้งหมดเพื่อสกัดกั้นการหลั่งไหลของผู้อพยพ ในเวลาเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีเสนอที่จะช่วยเหลือแอลเบเนียทางการเงินเป็นเงิน 9 ล้านเหรียญสหรัฐในด้านอาหาร หากแอลเบเนียช่วยควบคุมและรับผู้อพยพที่ออกจากอิตาลีกลับ แม้ว่าการอพยพโดยไม่มีเอกสารจากแอลเบเนียจะดำเนินต่อไปหลังจากนั้น แต่ก็ลดขนาดลงและส่วนใหญ่จัดตั้งโดยแก๊งอาชญากร พวกเขาใช้เรือยนต์เร็วเพื่อข้ามช่องแคบในเวลากลางคืนและปล่อยให้ผู้โดยสารที่จ่ายเงินแล้วว่ายน้ำเข้าฝั่ง

(เรือสินค้า Vlora)

ตามบันทึกของกัปตัน Milaqi เรือสินค้า Vlora จอดอยู่ในท่าเรือของเมืองบารีเป็นเวลา 45 วัน ก่อนที่ลูกเรือและตัวเขาเองจะสามารถนำเรือกลับไปยังแอลเบเนียได้ (เป็นไปได้ว่าอาจถูกลากจูงเนื่องจากเรือได้รับความเสียหายอย่างหนัก) เรือสินค้า Vlora ยังคงถูกใช้งานเป็นเรือบรรทุกสินค้าต่อจนถึงเดือนธันวาคม 1994 และเลิกใช้งานในปี 1995 ถูกยกเลิกการจดทะเบียนในปี 1996 และถูกทิ้งเพื่อแยกชิ้นส่วนในวันที่ 17 สิงหาคมของปีเดียวกันที่ท่าเรือ Aliağa ของตุรกี เรือสินค้า Vlora ถือเป็นเรือมนุษย์ที่บรรทุกผู้อพยพมากที่สุดในโลก (ซึ่งตัวเลขผู้อพยพอยู่ระหว่าง 15,000-20,000 คน) 

ตำรวจลับราชวงศ์หมิง หน่วยปราบขุนนางชั่ว  กลายเป็นหน่วยปราบขั้วตรงข้าม จนหมิงต้องล่มสลาย

ถ้าคุณชื่นชอบภาพยนตร์ประวัติศาสตร์จีน โดยเฉพาะเรื่องราวในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๖๔๔) นอกจากเรื่องการขึ้นครองบัลลังก์ของ 'จูหยวนจาง' หรือ 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' (หงอู่) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๖๘ - ๑๓๙๘) จากลูกชาวนา เด็กกำพร้า นักบวช กบฏชาวนา ผู้นำกองทัพ ขึ้นสู่จักรพรรดิ เรื่องราวของพระองค์นั้นนับว่ามีสีสันเป็นอย่างยิ่ง 

เศษเสี้ยวหนึ่งของสีสันในชีวิตของพระองค์ก็คือเรื่องราวของการตั้งหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิง ซึ่งเป็นหน่วยงานสำคัญเพื่อใช้จัดการขุนนางฉ้อฉลและคอยปกป้องพระองค์ดังที่ในสมัยฮั่นมีหน่วย 'องครักษ์อวี่หลิน' องครักษ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์จีน เริ่มก่อตั้งในรัชสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้หรือ ๑๐๔ ปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกัน 

ยุคราชวงศ์หมิง ถือว่าเป็นยุคแห่งการตั้งหน่วยตำรวจลับโดยแท้ นัยว่าเพื่อถ่วงดุลกัน แต่ตั้งไป ตั้งมา หน่วยตำรวจลับทั้งหลายกลับกลายเป็นเครื่องมือประหัตประหารกันจนเป็นชนวนเหตุแห่งการล่มสลายของราชวงศ์หมิงในกาลต่อมา 

ซึ่งเรื่องราวของหน่วยตำรวจลับ องครักษ์แห่งราชวงศ์หมิงเหล่านี้ ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์จีนอิงประวัติศาสตร์หลาย ๆ เรื่อง ซึ่งจะมีหน่วยอะไรบ้าง ผมนำมาเรียบเรียงให้อ่านกันเพลิน ๆ ดังนี้ครับ 

หน่วยงานตำรวจลับ องครักษ์กลุ่มแรกที่ถูกตั้งขึ้นในราชวงศ์หมิงก็คือ 'องครักษ์เสื้อแพร' (จิ่นอีเว่ย์) เป็นหน่วยองครักษ์พิเศษขึ้นตรงกับองค์จักรพรรดิ ทำหน้าที่อารักขาขบวนเสด็จ ตรวจสอบและจัดการขุนนางรวมถึงกลุ่มอำนาจซึ่งอาจเป็นภัยต่อราชบัลลังก์ ก่อตั้งขึ้นโดย 'จักรพรรดิหมิงไท่จู่' รัชศกหงอู่ปีที่สิบห้า (ราว ค.ศ. ๑๓๘๒) 

จุดเด่นขององครักษ์เสื้อแพรก็คืออาวุธประจำตัว ได้แก่ 'ดาบซิ่วชุน' (ปักวสันต์) ซึ่งเป็นดาบสัณฐานเหลี่ยมหนึ่งด้านหนา หนึ่งด้านคม ปลายไม่แหลม เน้นการฟาดฟันเพื่อให้ขาด และใช้เพื่อทรมาณ 

จากอาวุธก็มาที่เครื่องแบบเรียกว่าชุด 'เฟยอหวี' (มัจฉาเหิน) ซึ่งเป็นเครื่องแบบเฉพาะของครักษ์เสื้อแพร มีลักษณะเป็นชุดคลุมยาว ปักลายมังกรมัจฉาบิน (นึกถึงปลามังกรเข้าไว้ครับ) ซึ่งมีสีเหลือง - ทอง (ออกทางเข้มกว่า) เพื่อให้รู้ว่าเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิ ส่วนองครักษ์เสื้อแพรระดับสูงนั้นจะมีชุดประจำตำแหน่งอีกสองแบบ นั่นคือชุด 'หมั่งฝู' (ปักลายงูเหลือม) และชุด 'โต่วหนิว' (ปักลายวัวมังกร) ซึ่งเป็นเครื่องแบบพระราชทานจากองค์จักรพรรดิ 

องครักษ์เสื้อแพรนั้นเริ่มต้นมีอยู่ราว ๕๐๐ คน ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มงวด มีผู้รับรองว่าประวัติบริสุทธิ์ ไม่เคยต้องโทษ และต้องผ่านการทดสอบมากมาย โดยรู้จักกันในฐานะ 'นักสืบ' หรือ 'นักจับ' และ 'นักทรมาน' ด้วยภารกิจลับส่วนใหญ่จะเป็นภารกิจสืบสวนสอบสวน ติดตามและจับกุมบรรดาขุนนางที่ต้องสงสัยว่ากระทำความผิดร้ายแรงหรือมีแผนการชั่วร้าย เช่น ทุจริต หรือก่อกบฏ เป็นต้น สามารถกระทำทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้ต้องหายอมรับสารภาพ 

วิธีการทรมานผู้ต้องหาขององครักษ์เสื้อแพรนั้นขึ้นชื่อว่า โหดเหี้ยมอำมหิต กล่าวกันว่าเมื่อใดที่องครักษ์เสื้อแพรเคาะประตูบ้าน ก็เตรียมบอกลาคนในบ้านได้เลย แต่มีขึ้นก็ต้องมีลง โดยในปี ค.ศ. ๑๓๙๓ จักรพรรดิหมิงไท่จู่ได้ลดบทบาทขององครักษ์เสื้อแพรลง เนื่องจากเหตุการณ์สอบสวนที่ลุแก่อำนาจ ทำให้เกิดการฆ่าคนไปมากมาย ราว ๔๐,๐๐๐ คน จากการสอบสวนเรื่องแผนการกบฏของ 'หลันหยู' เพียงคดีเดียว นับว่าน่าหวาดผวามาก ๆ 

สืบเนื่องต่อมา ก็มาถึงยุคที่จักรพรรดิตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางและขันที ขุนนางกับขันทีผลัดกันขึ้นมาครองอำนาจในราชสำนัก องครักษ์เสื้อแพรก็กลายเป็นมือเป็นเท้าให้โดยผ่านการ 'ซื้อตัว' ขุนนางระดับผู้บัญชาการในสำนักองครักษ์เสื้อแพร เพื่อใช้งานในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของตน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชื่อเสียงขององครักษ์เสื้อแพรยิ่งเป็นไปในเชิงลบมากขึ้น แต่กระนั้นในยุคราชวงศ์หมิงยังมีหน่วยงานที่เหมือนกับองครักษ์เสื้อแพรเกิดตามขึ้นมาอีก 

ในรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเฉิงจู่ (หยงเล่อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๐๒ - ๑๔๒๔) พระองค์ได้ยึดครองราชย์บัลลังก์จากจักรพรรดิหมิงฮุ่ยจง (เจี้ยนเหวิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๓๙๘ - ๑๔๐๒) ซึ่งเป็นหลานชายของพระองค์แล้วปราบดาภิเษกตนเองขึ้นปกครองราชวงศ์หมิง หน่วยงานเดิมอย่างองครักษ์เสื้อแพรก็เลยไม่เป็นที่ไว้วางพระทัย อีกทั้งก่อนที่พระองค์จะครองราชย์พระองค์ได้สู้รับกับมองโกลจนได้รับชัยชนะ โดยมีเชลยศึกเด็กได้ถูกตอนเป็น 'ขันที' และในกลุ่มขันทีเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นข้ารับใช้ใกล้ชิดพระองค์มาตั้งแต่ยังไม่ครองราชย์ ไม่แปลกถ้าหลายหน่วยงานของพระองค์จะมี 'ขันที' เป็นผู้บัญชาการ หนึ่งในนั้นคือหน่วยตำรวจลับของพระองค์ที่มีชื่อว่า 'ตงฉ่าง'

ตงฉ่าง หรือ สำนักบูรพา ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๔๒๐ ตงฉ่าง เป็นหน่วยลับสำหรับตรวจสอบคดีพิเศษ ทำหน้าที่เหมือนตำรวจลับปฏิบัติภารกิจพิเศษที่ขึ้นตรงต่อองค์จักรพรรดิเช่นกัน ที่สำคัญหน่วยงานอื่นใดก็ไม่สามารถแทรกแซงได้ โดยมีขันทีที่ได้รับความไว้วางพระทัยเป็นหัวหน้าหน่วย ทั้งในหน่วยยังประกอบด้วยขันทีผู้มีวิทยายุทธสูง ด้วยความเป็นขันทีจึงสามารถเข้าวังฝ่ายใน เพื่อทูลข่าวสารแก่จักรพรรดิได้โดยตรง จึงเป็นหน่วยสำคัญที่แม้กระทั่ง 'องครักษ์เสื้อแพร' ก็ต้องกลายมาเป็นมือเท้าทำงานภายใต้การบัญชาการของ 'ตงฉ่าง'

ในช่วงแรกสำนักตงฉ่างก็ทำหน้าที่ได้ดี สามารถสืบหาผู้กระทำความผิดต่อบ้านเมืองมาลงโทษได้ แต่ต่อมา 'ตงฉ่าง' ก็เปลี่ยนไป เมื่อขันทีผู้ใกล้ชิดองค์จักรพรรดิ โดยเฉพาะในสมัยจักรพรรดิหมิงอิงจง (เจิ้งถง / เทียนชุ่น) (ครองราชย์ ๒ ครั้งครั้งแรก ค.ศ. ๑๔๓๕ - ๑๔๔๙ ครั้งที่ ๒ ค.ศ. ๑๔๕๗ - ๑๔๖๔) มีหัวหน้าขันทีชื่อ 'หวังเจิ้น' เริ่มใช้หน้าที่ผู้บัญชาการหน่วยตงฉ่างนี้เป็นช่องทางสั่งสมอำนาจ บารมี และสร้างอิทธิพลให้กับกลุ่มของตน ถึงขั้นสามารถชี้เป็นชี้ตายคนในแผ่นดินได้ มีการทุจริตกันอย่างออกนอกหน้า บรรดาขุนนางที่ต้องการมาขอพบหวังเจิ้น ต้องจ่ายเงินร้อยตำลึงเป็นของขวัญ จะพบองค์จักรพรรดิได้ก็ต้องผ่านทางหวังเจิ้น ทำให้ภายในช่วงระยะเวลา ๗ ปีที่หวังเจิ้นคุมตงฉ่าง เขามีอำนาจ มีเงินและทองรวมกันถึงกว่า ๖๐ โกดัง ขุนนางส่วนใหญ่ต้องคล้อยตามเขา ถ้าขุนนางคนไหนกล้าขัดกับเขา ขุนนางคนนั้นก็จะโดนยัดข้อหาและถูกกำจัด ว่ากันว่า 'ตงฉ่าง' และ 'ขันที' นี่แหละคือชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ราชวงศ์หมิงเสื่อมลง ทั้งยังเป็นหน่วยงานที่คนในราชสำนักหมิงเคียดแค้นและชิงชังมาก ๆ 

ยังไม่จบแค่นี้ เพราะการตั้งหน่วยงานลับแบบนี้ยังไม่จบ ในรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงเสียนจง (เฉิงฮว่า) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๖๔ - ๑๔๘๗) ในรัชสมัยนี้ขันทีมีอำนาจและอิทธิพลล้นฟ้า ทั้งองค์จักรพรรดิก็ไม่ค่อยออกว่าราชการและไม่วางพระทัยขุนนาง ราชการต่าง ๆ จึงตกอยู่ในมือขันทีโดยเฉพาะ 'มหาขันทีวังจื๋อ” ขันทีคนสนิทของพระสนม “ว่านกุ้ยเฟย' ผู้ซึ่งดูแลองค์จักรพรรดิมาตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์ โดย 'วังจื๋อ' เพ็ดทูลพระองค์ว่า 'ตงฉ่าง' นั้น ตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัชกาลก่อน ๆ ซึ่งพระองค์อาจจะบังคับบัญชาไม่ได้อย่างราบรื่นนัก อย่ากระนั้นเลยพระองค์ควรจะจัดตั้งหน่วยตำรวจลับของพระองค์ขึ้นมาเอง โดยมีเหตุผลหลักก็คือ สอดส่อง ควบคุมตงฉ่างกับองครักษ์เสื้อแพร ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๔๗๗ หน่วย 'ซีฉ่าง' หรือ สำนักประจิม จึงเกิดขึ้นมา โดยมี 'มหาขันทีวังจื๋อ' เป็นผู้บัญชาการโดยสามารถออกคำสั่งกับ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ 

เมื่อมี 'ซีฉ่าง' ที่สามารถบัญชาการ 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ ความบรรลัยก็บังเกิด เพราะผู้บัญชาการซีฉ่างมีอำนาจมหาศาล ถึงขั้นจับตัวและเข่นฆ่าขุนนาง ชาวบ้านตามอำเภอใจ จนขุนนางและชาวบ้านบริสุทธิ์ต้องตายไปนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะบรรดาขุนนางผู้ซื่อสัตย์ภักดี หากไปขัดขวางการหาผลประโยชน์ ก็จะถูกเล่นงานถึงตาย แถมไม่ปล่อยให้ตายง่าย ๆ ต้องทรมานจนทนไม่ไหว ซ้ำยังต้องบังคับให้ซัดทอดคนอีกนับสิบ นับร้อย มารับการทรมานด้วย ซึ่งถือว่าเป็นความเลวร้ายระดับสุดยอดจริง ๆ 

แต่ 'ซีฉ่าง' มีอายุหน่วยงานที่สั้นเพียง ๕ ปี เพราะในปี ค.ศ. ๑๔๘๒ ขุนนางใหญ่น้อยรวมทั้ง 'ตงฉ่าง' และ 'องครักษ์เสื้อแพร' ได้ถวายรายงานเรื่องการที่วังจื๋อใช้อำนาจมิชอบ ทำให้จักรพรรดิหมิงเสียนจงตัดสินพระทัยยุบ 'ซีฉ่าง' ส่วนวังจื๋อให้ออกจากราชการแล้วยกโทษตายให้กลับไปใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิด (รอดได้ไงวะเนี่ย?)

ตกมาถึงรัชสมัยจักรพรรดิหมิงเซี่ยวจง (หงจื้อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๔๘๗ - ๑๕๐๕) พระองค์ทรงเอาใจใส่ต่อราชการบ้านเมือง จนการปกครองในยุคนั้นเริ่มที่จะกลับมาเข้าที่เข้าทางบทบาทของหน่วยตำรวจลับเริ่มถูกลดลง ขันทีเริ่มอยู่กับร่องกับรอยมากขึ้น แต่ทว่าพระองค์ครองราชย์ได้เพียง ๑๘ ปี ก็ทรงสวรรคต 

จากที่กำลังจะดีอยู่แล้วพอมาถึงรัชสมัยของจักรพรรดิหมิงอู่จง (เจิ้งเต๋อ) (ครองราชย์ ค.ศ. ๒๐๔๘ - ๒๐๖๔) พระองค์ขึ้นครองราชย์ด้วยพระชันษา ๑๕ ปี พระองค์ไม่เหมือนพระราชบิดาของพระองค์เลยแม้แต่น้อย ไม่เอางานบ้านเมือง ชอบท่องเที่ยว ใช้ชีวิตสำราญและปล่อยให้งานราชการดำเนินการโดยแก๊งขันที โดยมีผู้นำคือ 'หลิ่วจิน' ซึ่งได้จัดตั้ง 'เน่ยฉ่าง' (สำนักฝ่ายใน) โดยมีกองกำลังของตัวเองที่เรียกว่า 'กองแปดพยัคฆ์' ที่ใช้จัดการขั้วตรงข้ามโดยเฉพาะ เป็นหน่วยงานที่โหดเหี้ยมทารุณและใช้อำนาจบาตรใหญ่ยิ่งกว่า 'ตงฉ่าง' กับ 'ซีฉ่าง' เสียอีก 

ช่วงที่ขันที 'หลิวจิ่น' ครองอำนาจ การทุจริตฉ้อฉล การรับสินบนกลายเป็นประเพณีปฏิบัติ ขุนนางที่เอาใจออกห่างหรือขัดขวางเขาในทางใดทางหนึ่งจะถูกกำจัดอย่างไม่ปรานี ว่ากันว่าในช่วง ๑ ปี เขาสังหารขุนนางตงฉินไปกว่า ๓๐๐ คน ซึ่งเขาเหิมเกริมขนาดที่จะวางแผนชิงบัลลังก์เลยทีเดียว แต่สุดท้ายไม่รอด เขาถูกจับได้และด้วยความกเฬวรากเกินรับ เขาถูกประหารด้วยการแล่เนื้อออกทีละชิ้น ๆ รวมกว่า ๓,๓๕๗ ชิ้น ขณะที่ยังมีลมหายใจท่ามกลางเสียงสาบแช่งของผู้คนเรือนหมื่น ที่อยู่ ณ ลานประหารนั้น 

ต่อมาได้มีการตรวจสอบทรัพย์สินทั้งหมดของ 'หลิวจิ่น' แล้วพบว่าเขามีทองคำมากกว่า ๑๒ ล้านตำลึง มีเงินกว่า ๒๕๐ ล้านตำลึง ซึ่งยังไม่รวมถึงเพชรนิลจินดาและสิ่งมีค่าอื่น ๆ อีกมากมาย ว่ากันว่าทรัพย์สินของเขามีมากกว่าทรัพย์สินของแผ่นดินถึง ๖ เท่า และ 'เน่ยฉ่าง' ก็ถูกยุบไปโดยปริยาย

แต่กระนั้น 'องครักษ์เสื้อแพร' และ 'ตงฉ่าง' ก็ยังไม่ได้ถูกยุบลงแต่อย่างไร ยังคงอยู่ภายใต้การบัญชาการของขันทีซึ่งใกล้ชิดพระจักรพรรดิอยู่นั่นเอง จนมาถึงรัชสมัยของ 'จักรพรรดิหมิงซื่อจง' (ฉงเจิน) (ครองราชย์ ค.ศ. ๑๖๒๗ - ๑๖๔๔) พระองค์ทรงเห็นว่าตงฉ่างควรจะถูกยุบ แต่ความคิดนี้ถูกขัดขวางโดย 'มหาขันที เว่ย์ จงเสียน' ซึ่งเป็นขันทีผู้กุมอำนาจอยู่ แต่ด้วยความอยากทำตัวเป็นจักรพรรดิ ขันที เว่ย์ จงเสียน จึงถูกปลดและเนรเทศไปอยู่ชายแดน ก่อนที่จะผูกคอตายเพราะกลัวถูกขุนนางที่เคยรังแกตามมาเช็กบิล 

การยุบ 'ตงฉ่าง' จึงเดินหน้าไปได้ จากตงฉ่างก็ตามมาด้วยการยุบหน่วยองครักษ์เสื้อแพร พร้อมกับไล่จัดการพวกขุนนางที่อยู่ข้างเดียวกับ เว่ย์ จงเสียน ไปจนหมด แต่ความเสียหายจากตำรวจลับ องครักษ์เสื้อแพร ตงฉ่าง ซีฉ่าง เน่ยฉ่าง ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมากว่า ๒๗๖ ปี ทั้งยังการกุมอำนาจของขันที ไล่เข่นฆ่าขุนนางตงฉิน และการไม่แก้ไขปัญหาบ้านเมือง จนเกิดเป็นกบฏขึ้นอย่างมากมาย ทำให้ในปี ค.ศ. ๑๖๔๔ ราชวงศ์หมิงก็ถึงกาลอวสาน

ย้อนอดีต!! ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ โรคระบาดที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ หลังมีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคนทั่วโลก และคร่าชีวิตไปกว่าหลายสิบล้านคน

จากการระบาดของไวรัส COVID-19 ไปทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย ซึ่งเป็นโรคระบาดที่ถือว่าหนักหนาสาหัสชนิดที่คนในยุคสมัยนี้ไม่เคยเจอะเคยเจอมาก่อน แต่ในอดีตเมื่อกว่าร้อยปีก่อนก็ได้มีการระบาดอย่างหนักของไข้หวัดใหญ่สเปน (The Spanish flu) ซึ่งเป็นหนึ่งในการระบาดของโรคที่ร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ โดยไข้หวัดใหญ่สเปนถูกพบครั้งแรกในยุโรป สหรัฐอเมริกา และบางส่วนของทวีปเอเชีย ก่อนที่จะแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว อีกทั้งในขณะนั้นยังไม่มียาหรือวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์นี้ ประชาชนจึงได้รับคำสั่งให้สวมหน้ากาก รวมทั้งโรงเรียน โรงละคร และธุรกิจต่าง ๆ ก็ถูกปิดตาย และศพผู้เสียชีวิตถูกกองไว้ในห้องเก็บศพชั่วคราว ก่อนที่ไวรัสจะยุติระบาดไปทั่วโลก

สำหรับ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ เป็นการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 1918 ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ H1N1 เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 1918 ถึงเดือนเมษายน 1920 ทำให้มีผู้ติดเชื้อ 500 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลกในขณะนั้น ซึ่งเกิดขึ้นถึง 4 ระลอกต่อเนื่องกัน โดยตัวเลขของผู้เสียชีวิตคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 20-50 ล้านคน (แต่การประมาณการจะเริ่มตั้งแต่ 17 ล้านคน ไปจนถึงสูงถึง 100 ล้านคน) ซึ่งมากกว่าทหารและพลเรือนทั้งหมดที่เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รวมกันเสียอีก

การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ของโลก โดยอันดับแรกจะเกิดตามท่าเรือ จากนั้นก็จะแพร่กระจายจากเมืองหนึ่งไปอีกเมืองตามเส้นทางคมนาคมหลัก อย่างในอินเดีย คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12.5 ล้านคน ในระหว่างการแพร่ระบาด และโรคนี้ก็ได้แพร่กระจายไปถึงหมู่เกาะห่างไกลในแปซิฟิกใต้ รวมถึงนิวซีแลนด์และซามัว ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกามีผู้เสียชีวิตประมาณ 550,000 - 675,000 คน ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่ในทั่วโลกเกิดขึ้นในช่วงระลอกที่ 2 และ 3 มีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดขึ้นอีกในปี 1920 แต่ความรุนแรงลดลง

อย่างไรก็ตาม…แล้วไข้หวัดใหญ่สเปนเกิดจากอะไร? ซึ่งการระบาดเริ่มขึ้นในปี 1918 ในช่วงเดือนสุดท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เชื่อว่า ความขัดแย้งอาจมีส่วนทำให้ไวรัส H1N1 แพร่กระจาย ในแนวรบด้านตะวันตกทหารที่ทำการรบนั้นอยู่ในสภาพคับแคบสกปรกและอับชื้นจนทหารเริ่มป่วย อันเป็นผลโดยตรงจากระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากการขาดสารอาหาร ความเจ็บป่วยของพวกเขา ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ‘la grippe’ ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อ และแพร่กระจายไปตามลำดับภายในเวลาประมาณ 3 วัน หลังจากที่ป่วยทหารหลายคนจะเริ่มรู้สึกดีขึ้น แต่ก็่ใช่ว่าจะเป็นในทหารทั้งหมด ในช่วงฤดูร้อนปี 1918 เมื่อทหารเริ่มลากลับบ้าน พวกเขาได้นำไวรัสที่ตรวจไม่พบซึ่งทำให้พวกเขาป่วยไปด้วย ไวรัสจึงแพร่กระจายไปทั่วเมืองและหมู่บ้านในประเทศบ้านเกิดของทหาร ผู้ติดเชื้อจำนวนมากทั้งทหารและพลเรือนไม่สามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว 

ต่อมาในปี 2014 มีทฤษฎีใหม่ (ยังเป็นข้อสันนิษฐาน) เกี่ยวกับ ‘ต้นกำเนิด’ ของไวรัส ชี้ให้เห็นว่าเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศจีน โดย National Geographic รายงานว่า บันทึกที่ยังไม่ได้ค้นพบก่อนหน้านี้ได้เชื่อมโยงไข้หวัดกับการขนส่งแรงงานกรรมกรจีน ผ่านแคนาดาในปี 1917 และ 1918 คนงานส่วนใหญ่เป็นคนงานในฟาร์มจากพื้นที่ห่างไกลในเขตชนบทของจีนตามหนังสือ ‘The Last Plague’ ของ Mark Humphries (สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยโตรอนโต 2013) พวกเขาต้องอยู่กันอย่างแออัดในตู้คอนเทนเนอร์รถไฟที่ปิดสนิทเพื่อขนส่งข้ามประเทศเป็นเวลา 6 วัน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังฝรั่งเศส ซึ่งที่นั่นพวกเขาต้องขุดสนามเพลาะ วางรางรถไฟ สร้างถนน และซ่อมแซมรถถังที่เสียหาย โดยรวมแล้วมีการระดมคนงานมากกว่า 90,000 คน ไปยังแนวรบด้านตะวันตก โดย Mark Humphries อธิบายว่าส่วนหนึ่งในจำนวนคนงานชาวจีน 25,000 คน ในปี 1918 ประมาณ 3,000 คนต้องยุติการเดินทางในเขตกักกันทางการแพทย์ของแคนาดา ในขณะนั้นเนื่องจากการเหยียดผิว ความเจ็บป่วยของพวกเขาถูกระบุโดยตำหนิว่าเป็น ‘โรคขี้เกียจของจีน’ และแพทย์ชาวแคนาดาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับอาการของคนงาน เมื่อถึงเวลาที่คนงานมาถึงทางตอนเหนือของฝรั่งเศสในช่วงต้นปี 1918 หลายคนเริ่มป่วยและอีกหลายร้อยคนกำลังจะตายในไม่ช้า 

ทั้งนี้ สำหรับที่มาของชื่อ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ ซึ่งถูกเรียกชื่อผิด ๆ โดยสเปนเป็นประเทศเป็นกลางในสงครามโลกครั้งที่ 1 และไม่เหมือนกับเพื่อนบ้านในยุโรป แต่ก็ไม่ได้กำหนดให้มีการเซ็นเซอร์ตรวจสอบสื่อในช่วงสงคราม โดยในฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา หนังสือพิมพ์ไม่ได้รับอนุญาตให้รายงานสิ่งใด ๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อการทำสงคราม รวมถึงข่าวว่า ไวรัสที่ทำให้คนป่วยหนักกำลังระบาดไปทั่วกองทหาร เนื่องจากนักข่าวชาวสเปนเป็นเพียงคนเดียวที่รายงานเกี่ยวกับการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1918 การระบาดจึงกลายเป็นที่รู้จักในชื่อของ ‘ไข้หวัดใหญ่สเปน’ (The Spanish flu)

>> สำหรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปนในยุคนั้น มี 4 ระลอก ดังนี้… 

- การระบาดระลอกที่ 1 ของการระบาดใหญ่เกิดขึ้นในปี 1918 ในฤดูใบไม้ผลิและโดยทั่วไปยังระบาดไม่รุนแรง ผู้ป่วยที่มีอาการเช่น ไข้หวัดทั่วไป คือ หนาวสั่น มีไข้ และอ่อนเพลีย มักจะหายเป็นปกติหลังจากผ่านไปไม่กี่วัน และจำนวนผู้เสียชีวิตที่รายงานอยู่ในระดับต่ำ และค่อนข้างไม่รุนแรง กินเวลาตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 1918 โดยอัตราการเสียชีวิตไม่ได้สูงกว่าปกติ ซึ่งในสหรัฐอเมริกามีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับไข้หวัดใหญ่ถึง 75,000 ราย ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1918 เทียบกับการเสียชีวิตประมาณ 63,000 ราย ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 1915 และในกรุงมาดริด ประเทศสเปน มีผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่น้อยกว่า 1,000 คน ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน 1918 ไม่มีรายงานการกักกันในช่วงไตรมาสแรกของปี 1918 อย่างไรก็ตาม คลื่นลูกแรกทำให้การปฏิบัติการทางทหารของสงครามโลกครั้งที่ 1 หยุดชะงักอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีทหารฝรั่งเศส 3 ใน 4 กองกำลังอังกฤษครึ่งหนึ่งและทหารเยอรมันกว่า 900,000 คนป่วย 

- การระบาดระลอกที่ 2 ของโรคไข้หวัดใหญ่สเปนได้ปรากฏขึ้นในฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกันนั้น เหยื่อเสียชีวิตภายในไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วันหลังจากเกิดอาการ ผิวหนังของผู้ติดเชื้อเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน และปอดเต็มไปด้วยของเหลวที่ทำให้หายใจไม่ออก เริ่มขึ้นในช่วงครึ่งหลังของเดือนสิงหาคม 1918 อาจแพร่กระจายไปยังเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา และเมืองฟรีทาวน์ ประเทศเซียร์ราลีโอนโดยทางเรือ ซึ่งน่าจะมาถึงพร้อมกับกองทหารอเมริกันจากท่าของกองทัพเรือที่เมืองบอสตัน และค่ายเดเวนส์ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นป้อมเดเวนส์) ห่างจากเมืองบอสตันไปทางตะวันตกประมาณ 30 ไมล์ สถานที่ทางทหารอื่น ๆ ของสหรัฐฯ ต่างได้รับผลกระทบในไม่ช้า ขณะที่กองกำลังทหารสหรัฐฯ ถูกส่งไปยุโรป ทำให้เกิดการแพร่กระจายไปทั่วทั้งทวีปอเมริกาเหนือในอีก 2 เดือนต่อมา จากนั้นไปยังอเมริกากลาง และอเมริกาใต้รวมถึงบราซิลและแคริบเบียน ในเดือนกรกฎาคม 1918 จักรวรรดิออตโตมันพบผู้ป่วยรายแรกในทหารบางนายจากเมืองฟรีทาวน์ การระบาดของโรคยังคงแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตะวันตกตามชายฝั่งแม่น้ำและทางรถไฟในอาณานิคม และโดยรถไฟไปยังชุมชนห่างไกลมากขึ้น ในขณะที่แอฟริกาใต้ได้พบการระบาดในเดือนกันยายนจากเรือที่แรงงานพื้นเมืองของแอฟริกาใต้กลับมาจากฝรั่งเศส จากนั้นแพร่กระจายไปทั่วแอฟริกาตอนใต้และเลยจาก Zambezi ไปถึงเอธิโอเปียในเดือนพฤศจิกายน เมื่อวันที่ 15 กันยายน นครนิวยอร์กพบผู้เสียชีวิตครั้งแรกจากโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ขบวน Philadelphia Liberty Loans Parade ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองฟิลาเดลเฟีย มลรัฐเพนซิลเวเนีย เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1918 เพื่อส่งเสริมพันธบัตรรัฐบาลสนับสนุนการทำสงครามโลกครั้งที่ 1 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 12,000 คน หลังจากการระบาดครั้งใหญ่ของโรคที่แพร่กระจายไปในหมู่ผู้คนที่เข้าร่วมขบวนพาเหรด เพียงปีเดียวคือปี 1918 ทำให้อายุขัยเฉลี่ยของชาวอเมริกันถึงกับลดลงไปหลายสิบปี

- การระบาดระลอกที่ 3 เกิดขึ้นในฤดูหนาว (เดือนมกราคม พ.ศ. 2462) ถัดมาและเมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิไวรัสก็เริ่มระบาด ไข้หวัดใหญ่สเปนก็ระบาดถึงออสเตรเลีย ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปราว 12,000 คน หลังจากการยกเลิกการกักกันทางทะเล จากนั้นก็แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีอยู่ตลอดฤดูใบไม้ผลิและจนถึงเดือนมิถุนายน 1919 ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อสเปน เซอร์เบีย เม็กซิโก และสหราชอาณาจักร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายแสนคน แม้จะรุนแรงน้อยกว่าระลอกที่ 2 แต่ก็ยังร้ายแรงกว่าระลอกแรก และในสหรัฐอเมริกามีการระบาดในบางเมือง อย่างเช่น ลอสแองเจลิส นิวยอร์กซิตี้ เมมฟิส แนชวิลล์ ซานฟรานซิสโก และเซนต์หลุยส์ ซึ่งอัตราการเสียชีวิตโดยรวมของชาวอเมริกันอยู่ในระดับหมื่นคนในช่วง 6 เดือนแรกของปี 1919 ประมาณครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตอยู่ในกลุ่มคนอายุ 20 - 40 ปี ซึ่งเป็นรูปแบบอายุการตายที่ผิดปกติของไข้หวัดใหญ่

- การระบาดระลอกที่ 4 เกิดขึ้นในฤดูใบไม้ผลิปี 1920 นิวยอร์กซิตี้ สวิตเซอร์แลนด์ สแกนดิเนเวีย และหมู่เกาะในอเมริกาใต้ เมืองนิวยอร์กเพียงแห่งเดียวมีรายงานผู้เสียชีวิต 6,374 คน ระหว่างเดือนธันวาคม 1919 ถึงเดือนเมษายน 1920 ซึ่งเป็นจำนวนเกือบสองเท่าของระลอกแรกในฤดูใบไม้ผลิปี 1918 เมืองอื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา รวมทั้ง ดีทรอยต์ มิลวอกี แคนซัสซิตี มินนีแอโพลิส และเซนต์หลุยส์ มีการระบาดอย่างหนัก โดยมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทั้งหมดของปี 1918 เปรูประสบพบเจอในช่วงต้นปี 1920 และญี่ปุ่นในช่วงปลายปี 1919 ถึง 1920 โดยกรณีสุดท้ายในเดือนมีนาคม ในยุโรปห้าประเทศ (สเปน เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์) มีการบันทึกจุดสูงสุดอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม - เมษายน 1920

ด้วยในยุคนั้นเมื่อกว่าร้อยปีก่อน วิทยาการทางการแพทย์ยังไม่เจริญเท่าปัจจุบัน จำนวนผู้เสียชีวิตจึงถึงสูงมาก ด้วยจำนวนประชากรในโลกขณะนั้นไม่ถึงสองพันล้านคน แต่หลักการป้องกันยังคงแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนเช่น การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง การรักษาความสะอาด ฯลฯ จากบทเรียนหลักในอดีต ‘มาตรการใด ๆ’ ก่อนที่จะเกิดการระบาดซึ่งถูกอธิบายว่า "เกินจริง แต่ในภายหลังมักจะกลายเป็นว่า ไม่เพียงพอ" ศาสตราจารย์ Jaume Claret Miranda ภาควิชา Arts and Humanities มหาวิทยาลัย Oberta de Catalunya กล่าว

ในขณะนี้วัคซีน mRNA ที่ใช้ฉีดป้องกันไวรัส COVID-19  กำลังเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างมากในวงกว้างว่า การรับวัคซีน mRNA นั้นมีความคุ้มหรือไม่? ด้วยเพราะปรากฏว่า มีผู้ที่รับวัคซีน mRNA จำนวนหนึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพ มีความผิดปกติในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย อาทิ หลังจากที่รับวัคซีน mRNA แล้ว โดยอาการจากผลข้างเคียงที่พบจากผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA ได้แก่ การเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (pericarditis) ซึ่งพบเจอบ่อยมาก มีการค้นพบครั้งแรกในประเทศอิสราเอล เพราะเป็นประเทศที่ประชาชนได้รับวัคซีน mRNA ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากพบว่า มีอาการผิดปกติในร่างกายหลังจากรับวัคซีน mRNA ควรไปพบแพทย์ หรือดื่มน้ำรางจืด (จากการต้มใบรางจืด) ด้วยน้ำรางจืดมีฤทธิ์ในการขับพิษและของเสียออกจาร่างกาย ควรดื่มตอนเช้าก่อนรับประทานอาหารและยาต่อเนื่องกันสัก 2 - 4 สัปดาห์ จะสามารถช่วยขับพิษที่ทำให้ร่างกายมีความผิดปกติและช่วยลดอาการผิดปกติในร่างกายได้ในระดับหนึ่ง

‘Operation Alpha’ ปฏิบัติการลับที่ดำเนินการโดย ‘อินโดนีเซีย’ เพียงหวังซื้อเครื่องบินรบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล


ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1980 ช่วงยุคสงครามเย็นที่มีความขัดแย้งระหว่างสองค่ายขั้ว นั่นก็คือ ค่ายประชาธิปไตย+เผด็จการ ซึ่งนำโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียต ผู้นำค่ายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ อินโดนีเซียแม้จะเป็นประเทศหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในขณะนั้นต้องเผชิญภัยคุกคามทั้งภายในโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์ในติมอร์ตะวันออกและภายนอกประเทศที่มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยความขาดแคลนเครื่องบินรบสมัยใหม่ตอนนั้นกองทัพอากาศอินโดนีเซียมีเพียงแต่เครื่องบินรบที่ล้าสมัยของสหรัฐฯ เช่น F-86 Saber และ T-33 T-Bird ที่เก่ามากแล้วและมีค่าใช้จ่ายมหาศาลในการปรนนิบัติบำรุงอันเนื่องจากอายุใช้งานที่ยาวนานและอะไหล่ซึ่งขาดแคลนเพราะสหรัฐฯ เลิกผลิตแล้ว รวมทั้งเครื่องบินรบไอพ่นที่จัดหามาจากสหภาพโซเวียตในช่วงทศวรรษ 1960 เช่น เครื่องบินรบแบบ MiG, Il-28 และ Tu-16 ซึ่งต้องจอดอยู่กับพื้นเนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านเทคนิคหลังจากประสบปัญหาความสัมพันธ์กับสหภาพโซเวียตอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ G30S* ตอนนั้นเองสหรัฐฯ ยินดีที่จะขายเครื่องบินไอพ่น F-5 E/F Tiger2 จำนวน 16 ลำให้กับกองทัพอากาศอินโดนีเซีย แต่เครื่องบินจำนวนนี้อินโดนีเซียเห็นว่ายังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามของประเทศได้

*G30S : เหตุการณ์ความพยายามในการทำรัฐประหารโดยสมาชิกของกองทัพอินโดนีเซียและพรรคคอมมิวนิสต์อินโดนีเซีย และมีการสังหารหมู่เกิดขึ้นในเวลาต่อมา


(เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ของอิสราเอล)

หน่วยข่าวกรองของอินโดนีเซียได้รับข้อมูลว่า อิสราเอลยินดีที่จะขายเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawk ที่ผ่านการใช้งานแล้วจำนวน 32 ลำให้กับอินโดนีเซีย แต่ข้อตกลงนี้มีปัญหาหลายประการ เริ่มตั้งแต่อินโดนีเซียและอิสราเอลไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารจากอิสราเอลยังเสี่ยงต่อการถูกประท้วงอย่างรุนแรงจากประชาชนชาวอินโดนีเซียซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นมุสลิม อย่างไรก็ตามกองทัพแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ABRI) ได้ตัดสินใจที่จะดำเนินการต่อไปด้วยแผนการ ‘Operation Alpha’ โดยมี 2 ระยะคือ Operation Alpha I ในปี 1980 และ Operation Alpha II ในปี 1982 ทำให้อินโดนีเซียได้รับเครื่องบินโจมตี Douglas A-4 Skyhawk จำนวน 30 ลำ (14 ลำจากปฏิบัติการ Alpha I และ 16 ลำระหว่างปฏิบัติการ Alpha II) จากกองทัพอากาศอิสราเอล

(พล.อ.อ. Djoko Poerwoko หนึ่งนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอล)

สำหรับปฏิบัติการ Alpha ดังกล่าวนอกจากเครื่องบิน 30 ลำแล้ว ยังรวมไปถึงการฝึกนักบินชาวอินโดนีเซีย โดยครูการบินชาวอิสราเอล และมีการแปลงโฉมเครื่องบินระหว่างการขนส่งจากอิสราเอลไปยังอินโดนีเซีย โดย พล.อ.อ. Djoko Poerwoko อดีตผู้บัญชาการกองทัพอากาศอินโดนีเซียหนึ่งในนักบิน A-4 ที่ได้รับการฝึกจากอิสราเอลเล่าว่า ปฏิบัติการ Alpha เป็นปฏิบัติการลับที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยกองทัพแห่งชาติอินโดนีเซีย (Angkatan Bersenjata Republik Indonesia : ABRI) ก่อนที่จะส่งนักบินไปฝึกที่อิสราเอล รัฐบาลอินโดนีเซียได้ส่งช่างเทคนิคของกองทัพอากาศจำนวนหนึ่งซึ่งแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มไปฝึกในอิสราเอลเป็นเวลา 20 เดือน ในปี 1979 หลังจากช่างเทคนิคกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้นภารกิจในการฝึกอบรมแล้ว นักบินอินโดนีเซีย 10 นายได้รับแจ้งว่าจะถูกส่งไปฝึกอบรมที่สหรัฐอเมริกา แต่กลับถูกส่งให้เดินทางไปยังอิสราเอลในเดือนกันยายน 1980 โดยพวกเขาออกเดินทางด้วยเที่ยวบิน Garuda ไปยังสิงคโปร์ หลังจากเครื่องลงจอดในสิงคโปร์ เจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI หลายนายก็ได้มาพบกับพวกเขาระหว่างรับประทานอาหารเย็น เจ้าหน้าที่ได้ขอเก็บหนังสือเดินทางและแทนที่ด้วยหนังสือเดินทางพิเศษ ‘Travel Document in Lieu of a Passport (SPLP)’


(พลตรี Leonardus Benyamin Moerdani) 

ตอนนั้นเองพลตรี Leonardus Benyamin Moerdani ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพอินโดนีเซียและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอินโดนีเซีย) ก็มาพบนักบินทั้งสิบและได้บรรยายสรุปว่า “ภารกิจนี้เป็นภารกิจลับ หากพวกคุณรู้สึกไม่มั่นใจก็อนุญาตให้ถอนตัวกลับบ้านไปได้ เพราะหากภารกิจนี้ล้มเหลว ประเทศจะไม่ยอมรับว่าพวกคุณเป็นพลเมืองอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อนำพวกคุณกลับบ้าน ภารกิจนี้จะถือว่าสำเร็จหาก A-4 Skyhawk (ชื่อรหัส 'Merpati') ไปถึงอินโดนีเซียแล้ว” ซึ่งนักบินทั้ง 10 นายจึงทราบว่า ภารกิจของพวกเขาจะเกิดขึ้นในอิสราเอล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อเครื่องบินรบจากอิสราเอล และในคืนเดียวกันนั้นนักบินทั้ง 10 คนได้ใช้ตัวตนใหม่ โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นพลเมืองของอินโดนีเซีย จากนั้นพวกเขาก็บินไปที่แฟรงก์เฟิร์ต และเดินทางต่อไปสนามบินเบนกูเรียนในกรุงเทลอาวีฟ อิสราเอล และเมื่อมาถึงอิสราเอล พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนามบินพาตัวออกไปที่ชั้นใต้ดินอย่างรวดเร็ว ซึ่งพวกเขาได้รับการต้อนรับจากเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของ ABRI


(นักบินอินโดนีเซียทั้งสิบนาย)

ทั้งนี้ นักบินทั้ง 10 ได้รับการบรรยายสรุปสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องทั่วไปที่ต้องพิจารณาขณะอยู่ในอิสราเอล พวกเขาได้รับการสอนให้จำประโยคภาษาฮีบรูที่จำเป็นสองสามประโยค หลังจากการบรรยายสรุปพวกเขาก็เดินทางต่อทางบกไปทางใต้เลียบทะเลเดดซีไปยังฐานทัพอากาศ Etzion ซึ่งพวกเขาเรียกว่า ‘Arizona’ เนื่องจากการฝึกอย่างเป็นทางการนั้นนักบินเหล่านี้จะต้องถูกส่งไปฝึกในมลรัฐ Arizona ณ ฐานทัพอากาศ Etzion พวกเขาได้ฝึกบินกับเครื่องบิน A-4 Skyhawks ด้วยเทคนิคและยุทธวิธีมากมาย หรือแม้แต่การฝึกบินเจาะทะลุผ่านชายแดนซีเรีย ซึ่งการฝึกบินสิ้นสุดลงในเวลาประมาณ 4 เดือน ในวันที่ 20 พฤษภาคม 1980 นักบินทั้ง 10 คนสำเร็จการศึกษาและได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองของ ABRI ที่ตามมาด้วยได้รวบรวมและเผาทำลายประกาศนียบัตรเหล่านั้นต่อหน้านักบิน เพื่อให้ไม่มีหลักฐานของความร่วมมือทางทหารระหว่างอินโดนีเซียและอิสราเอลปรากฎ


(ฐานบินนาวิกโยธินยูมาในมลรัฐแอริโซนา)

เพื่อให้เรื่องราวบังหน้าครบถ้วนอย่างสมบูรณ์ นักบินทั้ง 10 นายจึงถูกพาตัวไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างหลักฐาน เช่น รูปถ่าย ฯลฯ พวกเขามาถึงนิวยอร์กและเยี่ยมชมสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น น้ำตกไนแอการา พวกเขาได้รับคำสั่งให้ถ่ายรูปหน้าสถานที่สำคัญของสหรัฐฯ ให้มากที่สุด จากนิวยอร์กพวกเขาถูกนำตัวไปที่ฐานบินนาวิกโยธิน Yuma ในมลรัฐแอริโซนา พวกเขาใช้เวลา 3 วันในฐานบินนาวิกโยธิน Yuma และได้รับการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องบินโจมตีแบบ A-4 ของหน่วยบัญชการนาวิกโยธินสหรัฐฯ (USMC) และถ่ายรูปเพิ่มเติม นอกจากนี้พวกเขายังได้รับประกาศนียบัตรนักบินรบ A-4 ของ USMC และได้ถ่ายภาพการรับประกาศนียบัตรอีกด้วย ผู้บัญชาการหน่วยข่าวกรองของ ABRI ได้ย้ำเตือนนักบินว่า แท้จริงแล้วพวกเขาได้รับการฝึกฝนในสหรัฐอเมริกา ไม่ใช่อิสราเอล หลังจากนั้นพวกเขาก็บินไปสิงคโปร์แล้วกลับอินโดนีเซีย


(A-4 Skyhawk ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5')

ต่อมาวันที่ 3 พฤษภาคม 1980 เครื่องบินลำเลียงแบบ C-5 Galaxy ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ลงจอดในฐานทัพอากาศ Iswahjudi พร้อมด้วยเครื่องบินขับไล่แบบ F-5E/F Tiger II และในวันรุ่งขึ้น A-4 Skyhawks ชุดแรกของอิสราเอล ซึ่งประกอบด้วยเครื่องบินที่นั่งเดี่ยว 2 ลำ (หมายเลข TT-0401 และ TT-0414) และเครื่องบิน 2 ที่นั่ง 2 ลำ (หมายเลข TL-0415 และ TL-0416) ก็เดินทางมาถึงท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งเครื่องบินไอพ่นดังกล่าวถูกห่อหุ้มที่ฐานทัพอากาศ Etzion และขนส่งทางเรือโดยตรงจากอิสราเอล A-4 ถูกห่อด้วยพลาสติกและติดป้ายกำกับว่า 'F-5' เพื่อให้ดูเหมือนเป็นการจัดส่งจากสหรัฐฯ อีกรายการหนึ่ง หลังจากแกะออกจากห่อแล้วเครื่องบินทั้งหมดก็ได้รับการตรวจสอบและประกอบด้วยความช่วยเหลือจากช่างเทคนิคชาวอิสราเอล จากนั้นจึงบินไปยังฐานทัพอากาศฮาซานุดดินในมากัสซาร์ เพื่อเข้าประจำการในฝูงบินที่ 11 


(A-4 Skyhawk ฝูงบินที่ 11 ฐานทัพอากาศฮาซานุดดิน)

อย่างไรก็ตาม A-4 Skyhawks ยังคงมาถึงอินโดนีเซียเป็นระยะ ๆ โดยรวมแล้ว อินโดนีเซียได้รับเครื่องบิน A-4 Skyhawks 14 ลำ (+1 ลำเพื่อทดแทนที่ตก) จากอิสราเอลในปี 1980 และ A-4 จำนวน 16 ลำในปี 1982 รวมทั้งหมด 30 ลำ โดยส่วนใหญ่เป็นแบบ A-4E และส่วนที่เหลือเป็นรุ่นฝึก TA-4H และ TA-4J ซึ่งในปี 1997-1998 อินโดนีเซียได้ซื้อ TA-4J (2 ที่นั่ง) 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และได้รับการปรับปรุงในนิวซีแลนด์ ในปี 1981 อิสราเอลได้ส่ง A-4E 2 ลำ (ลำหนึ่งคือ TT-0417) เพื่อทดแทน A-4 ที่ตกในระหว่างการรับประกัน เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของอินโดนีเซียได้ร่วมปฏิบัติการทางทหารหลายครั้งได้แก่ ปฏิบัติการโลตัส (1980-1999) ในติมอร์ตะวันออก ปฏิบัติการออสการ์ (1991-1992) ในสุลาเวสี และปฏิบัติการเรนคอง เตร์บัง (1991-1995) ในอาเจะห์ เครื่องบินโจมตีแบบ A-4 Skyhawks ของกองทัพอากาศอินโดนีเซียทั้งหมดถูกปลดระวางในปี 2005 และถูกนำไปตั้งแสดงอยู่ในฐานทัพอากาศและสถานที่ต่าง ๆ ทั่วอินโดนีเซีย

คดีอุกอาจ!! ใช้ 'อาคม' ลอบปลงพระชนม์เชื้อพระวงศ์ แต่มนตราสาปแช่ง มิเป็นผล จึงได้บทลงโทษแค่หลาบจำ

ความเชื่อเรื่องผี สาง เครื่องรางของขลัง โชคชะตา โดยเฉพาะ 'คาถาอาคม' เป็นของคู่บ้านเมืองเรามาอย่างช้านานแล้ว 

อย่างเวทมนตร์คาถาที่ถูกนำมาใช้ในด้านดี เช่น การใช้ในการป้องกันตัว การใช้คาถาอาคมประกอบการปรุงยารักษาโรค การใช้อาคมประกอบการไล่ภูตผีปีศาจโดยใช้หวายเสก (อันนี้มีบันทึกไว้ในจดหมายเหตุลาลูแบร์ในสมัยอยุธยาด้วย) การอาราธนาสิ่งศักดิสิทธิ์เพื่อปลุกขวัญกำลังใจอย่างการตัดไม้ข่มนามก่อนออกรบซึ่งปรากฏในการณ์ต่าง ๆ 

นอกจากนี้ ก็ยังมีสำหรับใช้เพื่อปากท้องของประชาชนทางด้านการเกษตร อย่างการขอฝน โดยตามบันทึกคำให้การของชาวกรุงเก่าที่ระบุว่า เกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาคือ ในช่วงนั้นเกิดภาวะฝนแล้ง ชาวบ้านทำนาไม่ได้ผล เชื่อกันว่าเทวดาเบื้องบนเป็นเหตุให้เกิดฝนแล้ง พระองค์จึงรับสั่งให้พระเถระชั้นผู้ใหญ่ 2 รูป เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเพื่อแก้ไข ซึ่งในบันทึกก็ระบุว่ามีฝนตกลงมาจริง 

เมื่อมีด้านดี ก็ต้องมีด้านไม่ดี อย่างที่เราเรียกกันว่า 'มนต์ดำ' ซึ่งนำมาใช้ในด้านร้ายเช่น การสาปแช่ง การฝังรูปฝังรอย การทำเสน่ห์ยาแฝด การใช้ยาสั่งเพื่อให้เกิดผลตามต้องการไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง หรือหนักที่สุดก็คือการใช้ยาสั่งเพื่อ 'ฆ่า' 

ด้วยเหตุนี้ประเทศของเราถึงมี 'กรมแพทยา' ซึ่งมี 'ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาคม' เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากอาคมหรือมนต์ดำ ทั้งยังเป็นตุลาการสำหรับไต่สวนคดีที่เกี่ยวข้องกับคุณไสยต่าง ๆ โดย 'ศาลหรือตุลาการกรมแพทยา' ซึ่งมีการอ้างกันว่ามีกรมนี้มาตั้งแต่สมัยพระเจ้าทรงธรรม แต่จะมีมาตั้งแต่สมัยนั้นหรือไม่ แต่จากข้อมูลในพระธรรมนูญที่รวบรวมการประทับฟ้องต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของพระเอกาทศรถเมื่อ พ.ศ.2165 มีการระบุถึงการฟ้องร้องกันด้วยเรื่องไสยศาสตร์โดยมีกฎหมายสำหรับรองรับเมื่อมีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย

'กรมแพทยา' นี้ถูกลดบทบาทและอำนาจลงตั้งแต่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 มาจนถึงในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 เกิดการปฏิรูปหลายอย่างในแผ่นดิน ซึ่งกรมแพทยาก็ถูกยุบลงเพราะถูกมองว่าล้าหลัง ไม่ทันสมัย 

แต่ในช่วงก่อนการปฏิรูปก็มีคดีที่น่าสนใจในเรื่องการใช้ 'มนต์ดำ' ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ใหญ่โตระดับการลอบปลงพระชนม์พระราชวงศ์ชั้นสูงเลยทีเดียว แต่สุดท้ายคดีนี้ก็กลายเป็นคดีด้านคาถาอาคมที่ไม่เกิดผลและน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ 'กรมแพทยา' ถูกยุบไปในที่สุด

เรื่องของเรื่องเป็นแบบนี้ครับ ในปี พ.ศ. 2419 มีคนคิดจะใช้อาคมทำร้าย 'สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์' ผู้สำเร็จราชการในพระราชสำนัก โดยเจ้าอาคมมีชื่อว่า 'เกษ'

ส่วนนาย 'เกษ' จะก่อเหตุด้วยการขุ่นเคืองใดไม่มีปรากฏในบันทึก เพราะเป็นเพียงขั้นพยายามแต่ยังไม่ถึงขั้นลงมือก็โดนจับไปขังคุกเสียก่อน แต่ทว่าแม้อยู่ในคุกเขาก็ไม่ได้มีความสำนึกยังคงเดินหน้าปั้นหุ่นรูปสมเด็จฯ เสกเป่า สาปแช่ง ด้วยมนต์ดำทั้งหลายเพื่อหวังจะฆ่าพระองค์ให้ได้ด้วยอาคมร้าย ทั้งยังได้รับเสียงเชียร์จากคนโทษร่วมคุกอื่น ๆ อีกด้วย 

ซึ่งคดีนี้ถูกนำความขึ้นกราบบังคมทูลในหลวงรัชกาลที่ 5 ซึ่งพระองค์ทรงวิตกห่วงใยในความปลอดภัยของสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จึงทรงมีพระราชหัตถเลขาถึง 'พระยามหามนตรี' (อ่ำ อมรานนท์) ความว่า...

"ถึง พระยามหามนตรี ด้วยอ้ายเกษที่ไปจำไว้ ณ คุกนั้น กลับทำเล่ห์กลเวทมนตร์ปั้นรูปสมเด็จฯ เสกเป่าต่างๆ นั้น ได้สั่งให้พระพิเรนทร์ให้ไปชำระเอาความได้ในเวลาพรุ่งนี้ แต่อ้ายคนนี้เห็นจะต้องตายเสียหรืออย่างไรให้สูญเสียทีเดียว ถ้ายังอยู่ก็จะเป็นข้อพยาบาทสมเด็จฯ ต่อไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร แต่บัดนี้ความวิตกนัก ด้วยเกิดความขึ้นดังนี้ ไม่รู้ว่าพ่อแม่พวกพ้องมันจะคิดร้ายอย่างไรกับสมเด็จฯ ถ้ามีเหตุการณ์สมเด็จฯ เป็นอย่างไรลงแลข้าก็เหมือนแขนขาดตาบอดเป็นสิ้นตัว..... 

"ให้พระยามหามนตรี คิดอ่านรักษาสมเด็จฯ ในเวลานี้อย่าให้มีอันตรายได้ แล้วให้ไปพร้อมด้วยพระพิเรนทรเทพชำระเอาต้นเหตุุความคิดให้สิ้นเชิง ให้ได้เร็วในพรุ่งนี้มะรืนนี้จะได้ให้พระยามหามนตรีมาเฝ้าท่าน วางการไว้ในเวลาค่ำวันนี้ให้เรียบร้อย ถ้ามีเหตุภายนอก พระยามหามนตรีจะต้องเป็นโทษ"....

นอกจากนี้พระพุทธเจ้าหลวงยังทรงมีพระราชหัตถเลขาไปถึง สมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ ความว่า...

"ทูลฯ ท่านให้ทราบ ด้วยอ้ายคนนี้มันยังคิดการทำร้ายอยู่เสมอเห็นจะเอาไว้ไม่ได้ต้องตายเสีย ได้สั่งให้พระยามหามนตรีกับพระพิเรนทร์ไปชำระความเอาความจริงให้ได้ในพรุ่งนี้ แต่หม่อมฉันมีความวิตกที่พระองค์ท่านมากนัก ด้วยมันคิดร้ายด้วยเวทมนต์ไม่สำเร็จจะเล่นตรง ๆ ได้สั่งพระยามหามนตรีให้มาคิดระแวดระวัง แต่การภายในสำคัญมากนักขอให้ท่านรักษาพระองค์ให้จงมาก..."

ในเหตุการณ์นี้ แม้ว่าทั้งล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 และสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ จะทรงมีพระราชอำนาจประหารชีวิตคนได้และทรงเห็นว่านาย 'เกษ' สมควรตาย แต่ในที่สุดก็ทรงวินิจฉัยคดีนี้ว่า...

"ซึ่งอ้ายเกษคบคิดกับอ้ายขุนคนโทษด้วยกัน ปั้นรูปสมเด็จฯ กระหม่อมฉัน ให้อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ เอาไปฝังป่าช้าทำเวทมนตร์ต่าง ๆ ดังนี้ อ้ายเกษ อ้ายขุน อ้ายทรัพย์ อ้ายขำ ทาสผู้รู้เห็นมีความผิดให้เฆี่ยนอ้ายเกษ อ้ายขุนคนละ 60 ที แล้วจำคุกให้หมั้น อย่าให้เที่ยวไปมาได้ แลให้เฆี่ยนอ้ายทรัพย์ อ้ายขำ คนละ 30 ที เอาตัวจำคุกไว้ปีหนึ่งจึงพ้นโทษ"

โดยรวมก็ถือว่าเป็นโทษที่ไม่หนักทั้ง ๆ ที่เป็นการอาฆาตมาดร้ายเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แต่สุดท้ายจอมขมังเวทย์และทีมงานก็รอด อาจเพราะทำมนตราสาปแช่ง อย่างไรก็ไม่เป็นผลจริง

(อ้างอิงข้อมูลจาก 'หนังสือมิติลี้ลับในพงศาวดาร' โดย โรม บุนนาค) 

‘Lauren Singer’ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ใช้ชีวิตแบบ ’ไม่ผลิตขยะ‘ มาแล้วกว่าสิบปี

ปัญหาขยะเป็นปัญหาโลกแตก ซึ่งแก้ได้ยากมาก ๆ แต่มีหญิงสาวชาว New York ผู้หนึ่งซึ่งใช้ชีวิตปลอดขยะ (Zero waste) มาแล้วกว่าสิบปี ทั้ง ๆ ที่เธออาศัยอยู่ในมหานครใหญ่อันดับต้น ๆ ของโลก

ทั้งนี้ ‘Zero Waste’ หรือ ‘แนวคิดขยะเป็นศูนย์’ เป็นแนวทางในการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งจะช่วยทำให้ขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดลดเหลือน้อยที่สุด หรือเป็นศูนย์ ด้วยส่วนหนึ่งของปัญหาขยะเกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่บริโภคสินค้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เช่น ขวดน้ำพลาสติก ถุงพลาสติก หลอดพลาสติก โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อขยะคือภาระของทุกคน จึงเป็นที่มาของการใช้ชีวิตแบบ ‘Zero Waste’ ซึ่งคือการหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และจะไม่สร้างขยะใหม่ ๆ โดยพยายามไม่ให้มีอะไรหลงเหลือจนเป็นขยะได้ โดยยึดหลักง่าย ๆ อย่าง 1A3R ซึ่งประกอบด้วย

1A : Avoid การหลีกเลี่ยงใช้สิ่งที่ก่อให้เกิดขยะเพิ่ม เช่น พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
R1 : Reduce การใช้วัสดุที่ก่อให้เกิดขยะให้น้อยลง เช่น การใช้ถุงผ้าไปช็อปปิ้งแทนการรับถุงพลาสติกจากร้านค้า
R2 : Reuse การนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น กล่องพัสดุที่ได้รับมา นำไปใส่ของส่งของต่อให้ผู้อื่น
R3 : Recycle การหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ เช่น การ Recycle พลาสติก ให้ออกมาเป็นวัสดุตั้งต้นในการสร้างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ

(Lauren Singer ในร้าน Package Free ของเธอ)

อย่างไรก็ตาม Lauren Nicole Singer เกิดที่นคร New York มลรัฐ New York เมื่อ 4 พฤษภาคม ค.ศ.1991 ปัจจุบันอายุ 33 ปี เรียนจบปริญญาตรี ด้านสิ่งแวดล้อมและรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัย New York เมื่อปี ค.ศ. 2013 และจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Columbia จากนั้นได้ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านความยั่งยืนของสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของนคร New York ก่อนที่จะออกมาก่อตั้งธุรกิจสีเขียว The Simply Co. และ Package Free เธอเป็นนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการอิสระ และบล็อกเกอร์ในการเคลื่อนไหวเพื่อไร้ขยะ โดยเธอเริ่มใช้ชีวิตแบบไร้ขยะมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 ซึ่งเธอเป็นที่รู้จักจากการรวบรวมขยะทั้งหมดจากเว็บบล็อกที่สร้างขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 โดยเธอบดขยะในโถบดขนาด 16 ออนซ์ และบล็อกของเธอก็คือ ‘Trash is for Tossers’ (ขยะเป็นของไร้ค่า) ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้อ่านในการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนโดยปลอดขยะ พร้อมกับบันทึกวิถีชีวิตที่ปราศจากขยะ เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อเลิกการฝังกลบขยะ และลดละเลิกผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม

(น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกและปลอดสารพิษ The Simply Co.)

Lauren Nicole Singer ได้ออกจากงานประจำในปี ค.ศ. 2014 และเปิดตัว The Simply Co. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล เช่น น้ำยาซักผ้าปลอดสารพิษออกสู่ตลาด น้ำยาซักผ้าออร์แกนิกของเธอได้รับการสนับสนุนจาก Kickstarter และจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ของ Kickstarter และที่ร้านค้าส่งทั่วสหรัฐอเมริกา เริ่มผลิตผลิตภัณฑ์พร้อม ๆ กัน The Simply Co. ในปี ค.ศ. 2017 เธอเปิด Package Free เป็นร้านแบบป๊อปอัพในเมือง Williamsburg และนับตั้งแต่เปิดตัว Package Free สามารถลดขยะจากการฝังกลบได้หลายร้อยล้านชิ้น ในปี ค.ศ. 2023 นอกจากนี้ เธอยังได้ร่วมก่อตั้ง Overall Capital โดยเธอบอกว่า Rachel Carson และ Bea Johnson ในฐานะนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเป็น 2 แรงบันดาลใจให้สนใจเรื่องความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และเธอยังได้รับการเสนอชื่อให้เป็น ‘สตรีที่น่าจับตามอง’ ของ Business Insider และ ‘หนึ่งในห้าสิบสตรีเปลี่ยนโลก’ ของ InStyle และ ‘ผู้เปลี่ยนแปลง ปี 2020’ ของ  Well + Good 

อย่างไรก็ตาม เรา ๆ ท่าน ๆ อาจจะคิดเองว่า แค่เปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองง่าย ๆ อย่างการเริ่มต้นจากการใช้กล่องข้าว ขวดน้ำ ที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ร้านค้าทางเลือกอย่าง Refill Station ที่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบของการไม่ง้อบรรจุภัณฑ์พลาสติก โดยทุกคนนำภาชนะไม่ว่าจะเป็นขวดแก้วหรือขวดโหล มาเติมผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเองนำกลับไปใช้ที่บ้าน และการคัดแยกขยะจะช่วยอะไรได้มากมาย แต่ความจริงแล้วการแยกขยะก่อนทิ้งมีประโยชน์อย่างมาก ทั้งเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ ขยะอันตรายจะได้รับการกำจัดอย่างถูกวิธีเพื่อลดปัญหาหรือมลพิษต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมา ฉะนั้นหากทุกครอบครัวเริ่มต้นที่การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปริมาณขยะมูลฝอยที่ต้องนำไปกำจัดให้มีปริมาณน้อยลง และเป็นการลดภาวะโลกร้อนได้อีกทางหนึ่งด้วย

ย้อนประวัติศาสตร์ 'สงกรานต์' ในแต่ละชาติ ปรับไปบ้างตามเวลา แต่สุขสันต์มิเคยเปลี่ยน

ขอต้อนรับทุกท่านเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ปีใหม่ไทยของเรา สงกรานต์ที่ 'ยูเนสโก' ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้ 'สงกรานต์ในประเทศไทย' เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ 

บทความนี้ผมจะเขียนเล่าในมุมที่ไม่ดรามา โดยจะเรียบเรียงเรื่องราวของสงกรานต์ที่น่าสนใจเพื่อให้อ่านกันเพลิน ๆ นะครับ

เริ่มต้นเรื่อง โดยส่วนตัวผมไม่เชื่อว่าสงกรานต์แบบบ้านเรามาจากอินเดีย แต่คำว่าสงกรานต์เรายืมคำนี้มาจากอินเดียแน่ ๆ เพราะคำว่า 'สงกรานต์' หรือ 'สํกฺรานฺติ' เป็นคำในภาษาสันสกฤตแปลว่า ผ่านหรือเคลื่อนย้าย คือการที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีหนึ่งเข้าสู่อีกราศีหนึ่ง ซึ่งเกิดขึ้นทุกเดือน แต่จะมีเดือนที่สำคัญมากก็คือเดือนที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า 'มหาสงกรานต์' ซึ่งในช่วงมหาสงกรานต์นี้ ดินแดนชมพูทวีปเขาจะมีเมนูอาหารและกิจกรรมพิเศษ เช่น...

บังกลาเทศ : เขาจะมีการเดินพาเหรดและเมนูพิเศษ 'ปันตาภัต' คือข้าวสวยแช่น้ำที่เสิร์ฟพร้อมปลาทอด กินพร้อมหอมแดงและพริกเขียว คล้าย ๆ ข้าวแช่บ้านเรา 

ศรีลังกา : ชาวพุทธสิงหลและชาวฮินดูทมิฬ จะมีการฉลองปีใหม่ร่วมกัน ผู้คนจะทำความสะอาดบ้าน จุดตะเกียงน้ำมัน และทานเมนูพิเศษ 'คิริภัต' คือข้าวกะทิ 

ส่วนในอุษาคเนย์ : ประเพณีสงกรานต์ในแต่ละแห่งก็จะพบว่ามีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก เช่น คนในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า 'สงกรานต์' ทางล้านนาเรียกว่า 'ปี๋ใหม่เมือง' ทางเขมรเรียกว่า 'ซ็องกราน' ส่วนมอญเรียกว่า 'ซงกราน' ทางพม่าเรียกว่า 'ทิงยัน' โดยจุดเชื่อมกันของเทศกาลนี้ ถ้าไม่นับการสาดน้ำ ก็จะมีการรดน้ำประแป้ง การละเล่นพื้นบ้าน การรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้ใหญ่ ทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระพุทธรูป นอกจากนี้ก็จะมีรายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ส่วนเรื่องอาหารการกินหรือกิจกรรมที่พิเศษเหมือนชมพูทวีปไหม? มันก็มีอยู่บ้างครับ 

ตัวอย่างเช่นที่ 'พม่า' เขาจะมีเมนูพิเศษคือ 'ม่งโลงเหย่ป่อ' ซึ่งเป็นข้าวเหนียวปั้นไส้น้ำตาล คล้าย ๆ ขนมต้มบ้านเรา ทำกินเฉพาะเทศกาลนี้ พร้อมด้วยมหกรรมสาดน้ำ (ต้องเรียกมหกรรมเพราะสาดยับจริง ๆ) ซึ่งพม่านี้เขามีนิทานเรื่องการสาดน้ำที่ค่อนข้างจะเป็นโศกนาฏกรรม แต่เขาเชื่อว่านี่คือหลักฐานการ 'สาดน้ำ' ที่เก่าที่สุด (ทำไม? มันถึงมาผูกกับการสาดน้ำที่สนุกสนานก็ไม่รู้) 

เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพงศาวดารพม่าฉบับอูกะลา ในสมัยของ 'พระเจ้านรสีหบดี' หรือ 'พระเจ้าหนีจีน' แห่งพุกาม ที่ชื่อว่าหนีจีน เพราะกองทัพมองโกลของพระเจ้ากุบไลข่านยกมาตีพุกาม พระองค์ต้านไม่ไหวก็เลยหนีลงมาทางพม่าตอนล่าง ซึ่งร่วมสมัยกับ 'พญามังราย' แห่งเชียงใหม่ 'พ่อขุนรามคำแหง' แห่งสุโขทัย และ 'พระยางำเมือง' แห่งพะเยา ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเรื่องสงกรานต์ไว้เหมือนพุกาม เรื่องของเรื่องเป็นอย่างนี้ 

พระเจ้านรสีหบดีมีพระเหสีชื่อ 'พระนางพวาซอ' และมีพระสนมอีกหลายองค์ พระสนมที่โดดเด่นคือ 'พระสนมซอลง' และ 'พระสนมซอเม่า' ทุก ๆ สงกรานต์ซึ่งเป็นฤดูเดือนที่อากาศร้อน พระองค์มักเสด็จฯ ลงสรงพระกระยาสนานหรือสระผม บริเวณท่าน้ำเป็นเวลานาน ๆ บ่อย ๆ 

ที่นี้พะองค์คงนึกสนุกและอยากจะหยอกล้อ 'พระสนมซอลง' จึงรับสั่งให้พระสนมองค์อื่น ๆ และนางข้าหลวงสาดน้ำใส่พระสนมซอลงแบบไม่ให้รู้ตัว พอโดนรุมสาดแบบไม่ทันตั้งตัว ผมเผ้าเสื้อผ้าก็เปียกปอนไปหมด จนทำให้พระสนมซอลงรู้สึกอับอาย โดยไม่ได้คิดว่านี่คือการล้อเล่นสาดน้ำในหมู่คนที่คุ้นเคยกัน 

จากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้พระสนมซอลงคิดแค้น ว่าพระเจ้านรสีหบดีออกอุบายกลั่นแกล้ง จึงคิดจะเอาคืน โดยแอบใส่ยาพิษลงไปในพระกระยาหารของพระเจ้านรสีหบดี (คุณพระ!!!) ซึ่งปกติแล้วหน้าที่ยกพระยาหารขึ้นถวายพระเจ้านรสีหบดีเป็นหน้าที่ของพระสนมซอลง แต่วันนั้นพระสนมซอลงแกล้งป่วย จึงขอร้องให้ 'พระสนมซอเม่า' ทำหน้าที่แทน

ระหว่างที่กำลังเชิญพระกระยาหารขึ้นถวายนั้น ปรากฏว่ามีสุนัขหลวงทรงเลี้ยงตามเห่าพระสนมซอเม่า พระสนมซอเม่าคิดว่ามันคงหิว ด้วยความสงสารจึงแอบนำอาหารบางส่วนโยนให้กิน พอสุนัขหลวงกินมันก็ตายทันที พอความทราบถึงพระเจ้านรสีหบดี พระองค์จึงให้สอบสวน จนได้ความตามจริงว่าพระสนมซอลงลอบวางยาพิษ ผลก็คือ 'พระสนมซอลง' ต้องโทษประหารชีวิต ทั้งหมดนี้เป็นความเข้าใจผิดของพระสนมนั่นเอง

จบแบบโศกนาฏกรรม 

แต่ในประวัติสงกรานต์พม่า ที่มาของการเล่นสาดน้ำในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดก็คือการสาดน้ำใส่ 'พระสนมซอลง' นี่แหละ ทั้งยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังสมัยพุกามที่เล่าเรื่องราวของการเล่นน้ำสงกรานต์ มีภาพของการเทน้ำจากหม้อน้ำราดใส่กันประกอบอีกด้วย ผมว่ายอมพม่าเขาไปเหอะ นี่ยังไม่รวมภาพใน The Graphic เมื่อ ค.ศ. 1888 ที่ปรากฏคนพม่าสาดน้ำใส่ฝรั่งอังกฤษนะ ซึ่งอันนี้เขาดรามากันไปเยอะแล้ว ผมไม่เล่าล่ะ 

'สงกรานต์พม่า' จัดขึ้นช่วงเดือน 5 (เมษายน) ของไทย พม่าเรียกว่า 'เดือนดะกู' ส่วนสงกรานต์ในภาษาพม่าเรียกว่า 'เหย่บะแวด่อ' (คำว่า 'เหย่' แปลว่า 'พิธีน้ำ' ส่วน 'บะแวด่อ' แปลว่า 'เทศกาล') รัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี ซึ่งสงกรานต์บ้านเขานี้จัดอย่างจริงจัง สาดกันจริงจังแบบไม่มีคำว่า 'ไม่เปียก'

มาที่ 'สงกรานต์ลาว' ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี โดยออกเป็น 3 วัน วันแรกเรียกว่า 'วันสังขารล่วง' ชาวบ้านจะทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเป็นการปัดเป่าสิ่งไม่ดีออกไปและเตรียมรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา วันที่สองเรียกว่า 'วันเนา' ถือเป็นวันแห่งครอบครัว ญาติพี่น้องจะมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้แก่ผู้อาวุโส และวันสุดท้ายเรียกว่า 'วันสังขารขึ้น' ถือว่าเป็นวันปีใหม่ที่แท้จริง จะมีการอวยชัยให้พรซึ่งกันและกัน มีการสรงน้ำพระและการแห่นางสังขาร ซึ่งเป็นนางสงกรานต์ของลาวแล้วก็มีการสาดน้ำกันพอกรุบกริบ 

'สงกรานต์กัมพูชา' ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวกัมพูชาเรียกกันว่าเทศกาล “โจลชนัมทเมย” เป็นช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในแต่ละปีรัฐบาลกัมพูชาอาจจะกำหนดให้จัดขึ้นในวันที่ 13-15 หรือ 14-16 เมษายน มีกิจกรรมคล้าย ๆ กันแบ่งงานสงกรานต์ออกเป็น 3 วัน วันแรกทำบุญตักบาตร มีการขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อพระเจดีย์ทราย วันที่สองเป็นวันของครอบครัว ช่วงค่ำก็จะมาร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ส่วนในวันที่สาม จะมีการละเล่นรื่นเริงต่าง ๆ สรงน้ำพระพุทธรูป และรดน้ำดำหัวญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล 

'สงกรานต์สิบสองปันนา' สงกรานต์ของชาวไต หรือชาวไท ในสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน โดยเฉพาะเมืองเชียงรุ่ง จะจัดงานสงกรานต์ในช่วงวันที่ 13-15 เมษายน เรียกว่าเทศกาล 'พัวสุ่ยเจี๋ย' โดยกิจกรรมหลัก ๆ ที่มีในงานสงกรานต์สิบสองปันนาก็คือ 'การแข่งขันเรือมังกร' ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของเทศกาลนี้ นอกจากนี้ก็จะมีการ 'ระบำนกยูง' ที่มีความเชื่อว่านกยูงนำพาความโชคดีมาให้ นอกจากนี้ก็ยังมีการร้องรำทำเพลง การเล่นน้ำ และการรดน้ำดำหัวให้กันและกัน 

'สงกรานต์ของประเทศไทย' แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้มีบันทึกการเล่นสาดน้ำเหมือนอย่างของพม่า แต่เทศกาลของเราก็มีความลุ่มลึกอย่างมีนัยยะสำคัญทั้งผูกพันกับการรำลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ด้วยความชุ่มฉ่ำทั้งการสรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัว และธรรมเนียมประกอบที่ดีงามไม่แพ้ใคร ๆ อย่างเช่น... 

ภาคเหนือเรามีพิธีความเชื่อเรื่อง 'ปู่สังกรานต์' หรือ 'ย่าสังกรานต์' จึงเป็นเหตุแห่งการจุดประทัดไล่เคราะห์ นอกจากนี้บางแห่งจะมีการทำขนมที่ไว้เฉลิมฉลองสงกรานต์ คือกาละแม ข้าวเหนียวแดงใส่ถั่วลิสงคั่ว ข้าวเหนียวแก้ว ข้าวแตน นางเล็ด ไปถวายวัด เพื่อไปเป็นเสบียงส่งไปให้บรรพบุรุษ 

ภาคอีสาน เราก็มีพิธีเสียเคราะห์ที่ใช้กระทงห้อง ใส่อาหารคาว-หวาน ไปทำพิธีในวัดเมือจบจะนำกระทงไปไว้ในป่าหรือทางแพร่งเพื่อเซ่นผีนำเอาสิ่งไม่ดีออกจากตน ตัวอย่างเช่น วัดไชยศรี จ.ขอนแก่น มีการทำบุญอัฐิบรรพบุรุษที่ล่วงลับ เรียกว่า 'สักอนิจจา' มีการ 'แห่ต้นดอกไม้' ที่นาแห้ว จ.เลย ซึ่งทำถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อความเป็นมงคลและสร้างความสามัคคีคนในชุมชน (เห็นไหม? สาดน้ำใส่กันมันแค่ส่วนประกอบ) 

ภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก นอกจากนั้นก็จะมีงานที่เป็นเอกลักษณ์อย่าง สงกรานต์มอญ ที่ยังรักษาวัฒนธรรมของชาวรามัญ-ไทย ไว้อย่างงดงาม ทั้งที่ปากเกร็ด จ.นนทบุรี บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร หรืออย่างที่พระประแดง จ.สมุทรปราการ 

ภาคใต้บ้านเราจะเรียกว่า 'วันว่าง' ไม่ทำงาน ไม่ตัดเล็บ ตัดผม ก่อนจะเข้าวัดในวันว่างนี้เพราะเชื่อว่าเทวดาองค์เก่าเมื่อปีก่อนไม่อยู่ จึงต้องพึ่งบารมีพระพุทธก่อนที่วันเถลิงศกจะเข้ามาพร้อมเทวดาองค์ใหม่ก็จะมาประจำเมือง โดยจะแต่งชุดสวย ชุดใหม่ รอรับกันในวันนี้ 

ถึงตรงนี้ที่สงกรานต์คือ กิจกรรมสำคัญที่ผมอยากจะชวนให้ท่านผู้อ่านทุก ๆ ท่านไปค้นหาและสัมผัสความดีงามเหล่านั้นด้วยตัวของท่านเอง ซึ่งผมเชื่อว่าแม้ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมจะทำให้ประเพณีสงกรานต์เปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่ความเป็นเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองการเปลี่ยนผ่านของปี ความรื่นเริงสนุกสนานและการระลึกถึงบรรพบุรุษ ครอบครัว ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ จะยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่และสืบทอดต่อไปอีกนานเท่านาน สุขสันต์วันสงกรานต์นะครับ

เปิดเรื่องราว ‘Liu Mingqun’ พนง.ทำความสะอาดในกรุงปักกิ่ง สู่การเป็น ‘สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ’ สมัยที่ 14

เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประชาธิปไตยของจีน ควรจะต้องตั้งคำถามด้วยว่า คนอย่าง Liu Mingqun ผู้เป็นเพียงพนักงานรักษาความสะอาดธรรมดา ๆ คนหนึ่งจะสามารถมีสิทธิมีเสียงกลายเป็นนักการเมืองได้ทำงานในรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตยของโลกตะวันตกหรือไม่???

สภาประชาชนแห่งชาติ (National People’s Congress: NPC) เป็นสภานิติบัญญัติของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำหน้าที่เป็นรัฐสภา (State) ด้วยรัฐธรรมนูญของจีนกำหนดให้สภาประชาชนแห่งชาติเป็นองค์กรอำนาจรัฐสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ, ควบคุมดูแลการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ, ตราและแก้กฎหมาย, เลือกตั้ง ถอดถอนและโยกย้ายประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี มนตรีแห่งรัฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง และตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ, ตรวจสอบและอนุมัติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และรายงานการปฏิบัติงาน, ตรวจสอบและอนุมัติงบประมาณแผ่นดินและรายงานการปฏิบัติงาน, ตัดสินใจเรื่องเกี่ยวกับสงครามและสันติภาพ ฯลฯ โดยการผ่านมติในเรื่องต่าง ๆ ต้องได้รับเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสองในสามของสมาชิกทั้งหมด

สำหรับสภาประชาชนแห่งชาติเป็นรัฐสภาที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุดในโลก โดยสมัยที่ 14 ซึ่งเป็นสมัยปัจจุบันมีสมาชิก 2,977 ที่นั่ง เป็นสตรี 790 ที่นั่ง (มากที่สุดตั้งแต่มีสภาฯ) ตัวแทนชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ 442 ที่นั่ง (รวมถึงฮ่องกง 36 ที่นั่ง มาเก๊า 12 ที่นั่ง และไต้หวัน 6 ที่นั่ง) สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติมาจากการคัดเลือก ดำรงตำแหน่งวาระละห้าปี การจัดประชุมใหญ่ประจำปีจะจัดขึ้นทุกฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งจะดำเนินต่อเนื่อง 10 ถึง 14 วัน ณ อาคารมหาศาลาประชาชน ซึ่งตั้งอยู่ทิศตะวันตกของจัตุรัสเทียนอันเหมินในกรุงปักกิ่ง

Liu Mingqun เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 เธอเป็นเพียงเจ้าหน้าที่สุขาภิบาล ทำหน้าที่พนักงานทำความสะอาด ประจำสถานีจัดเก็บขยะเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง สถานีจัดเก็บขยะนี้มีหน้าที่รวบรวมและแปรรูปขยะจากครัวเรือนในพื้นที่บริการกว่า 

10,000 ครัวเรือน โดยมีกำลังการจัดเก็บขยะมากกว่า 15 ตันต่อวัน เธอมักจะไปทำงานล่วงหน้าหนึ่งชั่วโมงเสมอเพื่อทำความสะอาดสถานีขยะและฆ่าเชื้อรถบรรทุกขยะ ต้องขอบคุณความพยายามอย่างต่อเนื่องของ Liu Mingqun จนทำให้สถานีจัดเก็บขยะแห่งนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘สถานีจัดเก็บขยะที่สะอาดที่สุดในกรุงปักกิ่ง’ จากเพื่อนร่วมงานของเธอและชาวบ้านผู้อยู่อาศัยใกล้เคียง

หลังจากได้รับการคัดเลือกให้เป็นสมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติแล้ว Liu Mingqun ก็ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อเก็บเกี่ยวรวบรวมความรู้ใหม่ ๆ มากขึ้นเพื่อทำหน้าที่ของเธอได้ดียิ่งขึ้น เธอมักจะไปค้นคว้า พูดคุยสื่อสารกับแรงงานจากชนบทเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา และพูดคุยกับคนในชุมชนเกี่ยวกับแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงพื้นที่อยู่อาศัยเก่า เธอได้นำญัตติ ‘การแยกขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น’ แนะเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานเพื่อการจำแนกประเภทขยะมานำเสนอในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติสมัยปัจจุบันคือสมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 โดยเธอหวังที่จะปรับปรุงความแม่นยำของการจำแนกประเภทขยะในครัวเรือนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของโรงงานรีไซเคิล 

(Liu Mingqun ขณะสำรวจตัวเองหน้ากระจกในสถานีจัดเก็บขยะของเขต Shijingshan ในกรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024)

(Liu Mingqun พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ในระหว่างการประชุมกลุ่มของคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun (ที่ 2 จากขวา) ระหว่างการประชุมกลุ่มคณะผู้แทนปักกิ่งในการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun เข้าร่วมการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) สมัยที่ 14 ครั้งที่ 2 ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2024)

(Liu Mingqun ที่สำนักงานของสถานีจัดเก็บขยะในเขต Shijingshan กรุงปักกิ่ง เมืองเอกของจีน เเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2024 (Xinhua/Chen Zhonghao)

เรื่องราวของนักการเมืองเยี่ยงนี้ แบบนี้ เช่นนี้ ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศประชาธิปไตยอย่างแน่นอน ด้วยเพราะการเข้าสู่วงการเมืองในระบอบประชาธิปไตยด้วยการเลือกตั้งคือการใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองจำนวนมหาศาล การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นการเลือกตั้งตามคุณภาพของเงินที่ใช้ในการหาเสียง หรือซื้อเสียง แม้แต่พรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งมากที่สุดในบ้านเราก็ใช้ทรัพยากรมหาศาลในการชวนเชื่อและสร้างกระแส ดังนั้น การเมืองในระบอบประชาธิปไตยนักการเมืองที่มีคุณภาพแต่ไม่มีเงินหรือไม่มีผู้สนับสนุนจึงยากที่จะได้เข้าไปทำหน้าที่ตามความรู้ความสามารถอย่างถูกต้องเหมาะสม ปัจจุบันทุกวันนี้เราจึงพบเห็นแต่เรื่องราวข่าวคาวฉาวโฉ้ของนักการเมืองในระบบเลือกตั้งซึ่งมีอยู่ทั่วไป ฉะนั้นเมื่อผู้เลือกตั้งและผู้รับเลือกตั้งต่างก็ไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ การเมืองก็จะไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพ แล้วก็จะทำให้ชาติบ้านเมืองไม่ซื่อสัตย์และไร้คุณภาพตามไปด้วย…เป็นวัฏจักรเช่นนี้ตลอดไป

'ฟุตบอล' กีฬาแห่งการรวมใจคนทั้งชาติ  วิวัฒนาการพันปีที่มีจุดเริ่มจากแดนมังกร

หากพูดถึงกีฬาที่คนทั้งโลกนิยมทั้งเล่นและชม กีฬาประเภทนั้นคงไม่พ้นกีฬา 'ฟุตบอล' ซึ่งเป็นกีฬาเก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก เก่าแก่ขนาดไหน และมาอยู่ในประเทศไทยได้อย่างไร ผมพอจะเรียบเรียงเรื่องให้อ่านกันเพลิน ๆ ได้แบบนี้ 

พอนึกถึงต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล เราคงจะนึกถึงประเทศอังกฤษ ประเทศที่มีทีมฟุตบอลยอดนิยมอยู่หลายต่อหลายทีม แต่คุณรู้ไหม? จุดกำเนิดของฟุตบอลมันกลับมาจากกีฬาที่เล่นกันในประเทศจีนเมื่อตั้งแต่ประมาณ ๒,๖๐๐ ปีก่อนคริสตกาล 

กีฬาโบราณของจีนที่เชื่อว่ามันคือต้นกำเนิดของฟุตบอลมีชื่อเรียกว่า 'ชู่จีว์' (蹴鞠) จากบันทึก 'สื่อจี้' ของ 'ซือหม่าเชียน' ผู้บันทึกประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยหวงตี้ (จักรพรรดิเหลือง) มาจนถึงสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก) ได้บันทึกไว้ว่า 'ชู่จีว์' เป็นกิจกรรมเพื่อการผ่อนคลายรูปแบบหนึ่งของประชาชนทั่วไปโดยมีกำเนิดราว ๕,๐๐๐ ปีก่อน ในสมัยก่อนเกิดจักรพรรดิ จากนั้นถูกนำเข้าไปสู่การเล่นเผื่อการผ่อนคลายของทหารในช่วงราว ๒,๕๐๐ ปีก่อนในยุคสงครามระหว่างแคว้นครั้งใหญ่ และมาได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุคราชวงศ์ฮั่น ในช่วง ๒๐๖ ปีก่อนคริสตกาล

'ชู่จีว์' (蹴鞠) มีความหมายตรงตัวว่า 'เตะบอล' โดยมักถูกนำไปเล่นในกองทัพเพื่อเป็นการฝึกทหาร ในสมัยราชวงศ์ฮั่นไปจนถึงยุคสามก๊กกีฬาประเภทนี้ถือว่าเป็นกีฬายอดนิยมเลยทีเดียว เพราะมีการสร้างสนามแข่งขันที่มีในค่ายทหารทุกแห่ง เรียกว่า 'จูซาง' เพื่อไว้ใช้แข่งขันโดยเฉพาะ โดยมีเสาประตูเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว และมีลูกบอลทำจากขนนก กติกาการแข่งขันก็จะคล้าย ๆ ฟุตบอลในปัจจุบันคือ แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย มีผู้เล่นฝ่ายละ ๑๒ คน ห้ามใช้มือสัมผัสลูกบอล แต่ผู้เล่นสามารถกระแทกกัน กอดรัดฟัดเหวี่ยงกันได้ ชิงไหวชิงพริบ ชิงจังหวะเข้าทำประตู มีลักษณะคล้ายกับรักบี้ผสมฟุตบอล ฝ่ายไหนเตะบอลเข้าประตูของคู่แข่งได้มากกว่าฝ่ายนั้นก็คือผู้ชนะ 

ลูกบอลแบบขนนกถูกปรับมาเป็นลูกบอลหนังที่มีอากาศบรรจุไว้ภายในช่วงยุค 'ราชวงศ์ถัง' ซึ่งเป็นช่วงราชวงศ์ที่มีความเป็นปึกแผ่นสูง 'จูซาง' ได้ถูกสร้างไว้อย่างแพร่หลายในนครหลวง 'ฉางอัน' และมารุ่งเรืองถึงขีดสุดในช่วงสมัย 'ราชวงศ์ซ่ง' เพราะมีการแข่งขัน 'ชู่จีว์' ในรูปแบบ Tournament ซึ่งมีการเชียร์กันอย่างเอิกเกริกและเริ่มส่งต่อกีฬาประเภทนี้ไปยังประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้ามาค้าขายในประเทศจีน ณ ช่วงเวลานั้นอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลี ไปจนถึงพ่อค้าชาวตะวันตก ซึ่งนักประวัติศาสตร์กีฬาสันนิษฐานว่า 'ชู่จีว์' น่าจะไปถึงยุโรปและพัฒนามาเป็นฟุตบอลในรูปแบบของประเทศอังกฤษในเวลาต่อมา 

จากหลักฐานยืนยันด้วยภาพวาดยุคโบราณ บันทึกและการค้นพบเหรียญบรอนซ์ที่แกะสลักเป็นรูป 'ชู่จีว์' ทำให้ ใน ค.ศ. ๒๐๐๔ การแถลงข่าวของงานมหกรรมฟุตบอลนานาชาติแห่งประเทศจีนครั้งที่ ๓ 'เซปป์ แบลตเตอร์' ประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ในขณะนั้นได้ประกาศว่า 'จีนเป็นแหล่งกำเนิดของกีฬาฟุตบอล'

คราวนี้เราข้ามไปที่ฝั่งอังกฤษเพื่อรู้จักกับฟุตบอลที่แพร่หลายในปัจจุบันกันบ้าง โดยนักประวัติศาสตร์ระบุว่าคำว่า Football เกิดขึ้นโดย 'พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ ๒ แห่งอังกฤษ' เมื่อปี ค.ศ.๑๓๑๔ แต่คำว่า Football นี้กลับเป็นประกาศที่พระองค์ห้ามเล่นกีฬาประเภทนี้ !!! เพราะมันหนวกหูจากเสียงเชียร์และการตะโกนใส่กัน (งั้นก็แสดงว่าเขาเล่นกีฬาแย่งลูกบอลแบบนี้เล่นกันมาก่อนยุคของพระองค์แล้วสิ ???) 

ในยุคแรกกีฬาฟุตบอลของอังกฤษเริ่มต้นขึ้นในสถานศึกษาที่มีสนามหญ้า จนกระทั่งในวันที่ ๒๔ ตุลาคม ค.ศ. ๑๘๕๗ กลุ่มนักเรียนเก่าในเมืองเชฟฟีลด์ (Sheffield) รวมตัวกันก่อตั้ง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์” (Sheffield Football Club) ขึ้นเป็นสโมสรฟุตบอลแห่งแรกของอังกฤษและของโลก โดยมีการแข่งขันครั้งแรกระหว่าง 'สโมสรฟุตบอลเชฟฟีลด์' (Sheffield Football Club) กับ กับ 'สโมสรฟุตบอลฮัลลัม' (Hallam football club) ซึ่งอยู่ในเมืองเดียวกัน ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ 

แต่กระนั้นการแข่งขันฟุตบอลก็ยังมีกติกาสะเปะสะปะไปตามแต่ละพื้นที่แล้วแต่ใครจะยึดถือ เช่น กฎของเคมบริดจ์และกฎของเชฟฟีลด์ ซึ่งสร้างความสับสนให้กับผู้เล่น จนกระทั่ง FA ของอังกฤษถูกจัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๖๓ กฎและกติกาของฟุตบอลจึงเริ่มเป็นรูปธรรมจากการประชุมครั้งแรกในกรุงลอนดอน ซึ่งมีตัวแทนจาก ๑๒ สโมสรเข้าร่วม ซึ่งตัวตั้งตัวตีในการประชุมครั้งนั้นก็คือ 'อีเบเนเซอร์ โคบบ์ มอร์ลีย์' (Ebenezer Cobb Morley) ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็น 'บิดาของสมาคมฟุตบอลและฟุตบอลสมัยใหม่: ซึ่งกติกาและรูปแบบการเล่นฟุตบอลก็ได้พัฒนาขึ้นจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบัน 

โดยการแข่งขันรายการฟุตบอลแรกของอังกฤษและของโลกก็คือการแข่งขันที่ชื่อว่า FA Cup เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๒ ซึ่งเป็นการแข่งขันในรูปแบบแพ้ตกรอบ แต่กระนั้นก็เป็นการแข่งขันที่ทุกสโมสรตั้งตารอเพื่อเข้าแข่งขัน เพราะมันคือรายการที่สโมสรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ก็มีโอกาสเข้ารอบและตกรอบได้เหมือนกัน ก่อนที่จะเกิดระบบ League ที่มีการแข่งขันเพื่อเก็บสะสมคะแนนแล้วจัดลำดับในเวลาต่อมา

แล้วในประเทศไทยล่ะกีฬาฟุตบอลเข้ามายังไง ? และเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ ? 

กีฬาฟุตบอลในไทยเริ่มต้นขึ้นในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๕ พระองค์ได้ส่งพระเจ้าลูกยาเธอ พระเจ้าหลานยาเธอ และข้าราชบริพารไปศึกษาวิชาการด้านต่าง ๆ ที่ประเทศอังกฤษ โดยหนึ่งในนั้นคือ 'ครูเทพ' เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เป็นผู้ที่นำกีฬาฟุตบอลกลับเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นคนแรก ทั้งยังจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการแรกของประเทศไทยระหว่าง 'ทีมชาวบริเตนบางกอก' กับ 'ทีมกรมศึกษาธิการ' ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ โดยใช้กติกาของ FA 

เมื่อเริ่มแรกกีฬาฟุตบอลถูกคัดค้านเป็นอย่างมากด้วยเหตุผลที่ว่า สยามเป็นเมืองอากาศร้อน ทั้งยังก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้เล่น และผู้ชมได้ง่าย ฯลฯ เอาว่าอะไรใหม่ ๆ ก็อย่างนี้แหละมักจะโดนค้านไว้ก่อน แต่หลังจากนั้นทุกคำครหาก็ค่อย ๆ เงียบไป เพราะ 'พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว' รัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงเป็นนักเรียนเก่าจากอังกฤษทรงจัดตั้ง 'สโมสรคณะฟุตบอลสยาม' ซึ่งมีพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงลงแข่งขันเป็นผู้เล่นเอง ทั้งส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระองค์อีกด้วย โดยรายการนานาชาติรายการแรกของสยามระหว่าง 'ทีมชาติสยาม' กับ 'ทีมราชกรีฑาสโมสร' เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ 

จากนั้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งสมาคมฟุตบอลแห่งชาติสยามขึ้น โดยทรงรับเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และมี 'เจ้าพระยารามราฆพ' (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) เป็นนายกสมาคม ฯ คนแรก 

ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๙ รัชกาลที่ ๖ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ริเริ่มการแข่งขัน 'การแข่งขันฟุตบอลสำหรับพระราชทานถ้วยทองของหลวง' โดยถ้วยรางวัลทำด้วยทองคำแท้ขึ้น มี ๑๒ ทีมเข้าร่วม ได้แก่ นักเรียนนายร้อยทหารบก, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนตำรวจภูธร, นักเรียนสารวัตร, กรมนักเรียนเสือป่าหลวง, เสือป่าเสนากลาง, เสือป่ากองพันพิเศษ รักษาพระองค์, กรมเสือป่าราบหลวง, กรมพรานหลวง, กรมเสือป่าม้าหลวง, กรมทหารมหาดเล็ก และกรมทหารรักษาวังซึ่งต่อมาการแข่งขันนี้จะรู้จักกันในชื่อฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. 

เมื่อแข่งขันกันครบ ๒๙ นัด ผลปรากฏว่า 'สโมสรนักเรียนนายเรือ' ที่กล่าวกันว่า 'เสด็จเตี่ย' กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ อดีตนักฟุตบอลโรงเรียนนายเรือของประเทศอังกฤษ คือผู้นำกีฬาลูกหนังเข้าไปสู่รั้วโรงเรียนนายเรือ มีคะแนนเป็นอันดับที่ ๑ จากการลงสนามแบบพบกันหมด จึงได้ครองถ้วยทองของหลวงเป็นสโมสรแรก

จากฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. ซึ่งเรียกว่า 'ถ้วยใหญ่' ในปี พ.ศ. ๒๔๕๙ เรายังมีการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานระดับชั้นที่ ๒ ของประเทศไทย โดยจัดการแข่งขันครั้งแรกในปีเดียวกัน โดยสโมสรทหารราชวัลลภ ได้ตำแหน่งชนะเลิศในรายการนี้เป็นสโมสรแรก ซึ่งในขณะนั้นเรียกว่าการแข่งขันชิง 'ถ้วยน้อย' ก่อนที่การแข่งขันในประเทศไทยจะเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย

จนในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ในรัชสมัยของ 'พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร' รัชกาลที่ ๙ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้ขอพระราชทานถ้วยพระราชทานเพิ่มเติม คือ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ค. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ง. ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนชื่อ 'ฟุตบอลถ้วยใหญ่' และ 'ฟุตบอลถ้วยน้อย' เป็น ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ก. และ ฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข.

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ สมาคมฟุตบอลฯ ดำเนินการจัดแข่งขัน ฟุตบอลอาชีพในระบบลีกขึ้น โดยผ่านช่วงล้มลุกคลุกคลาน ปรับเปลี่ยน มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ก่อนจะลดบทบาท ลดทอนและพัฒนามาจนเป็นการแข่งขัน 'ไทยลีก' อย่างในปัจจุบัน

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้เพียงแค่อยากจะเล่าให้ทุกท่านได้สัมผัสว่า 'ฟุตบอล' มันเป็นอะไรที่มากกว่ากีฬา มันมีแหล่งกำเนิดที่หลากหลายมากกว่าที่เราจะบันทึกสรุปได้ในบทความสั้น ๆ แต่กระนั้นผมก็เชื่อว่ากีฬาชนิดนี้ยังคงเดินหน้าและเติบโตต่อไป ทั้งในเรื่องผลประโยชน์ โอกาสทางเศรษฐกิจ โอกาสแห่งชีวิต ฯลฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น 'ฟุตบอล' คือกีฬาที่ช่วยรวมใจคนทั้งชาติได้ เป็น 'กีฬาที่เป็นมากกว่ากีฬา' ของจริง 

‘Project Azorian’ ปฏิบัติการ ‘ลวง-ลับ-พราง’ ของสหรัฐอเมริกา ใช้ CIA แฝงตัวกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 หวังล้วงข้อมูลขีปนาวุธโซเวียต

Project Azorian (โครงการอะโซเรียน) เป็นโครงการของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) เพื่อการกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ของโซเวียตที่จมจากพื้นมหาสมุทรแปซิฟิกในปี 1975 โดยเรือ Hughes Glomar Explorer ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ เรือดำน้ำ K-129 จมในปี 1968 ที่ประมาณ 1,600 ไมล์ (2,600 กม.) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฮาวาย โดย Project Azorian เป็นหนึ่งในปฏิบัติการข่าวกรองที่ซับซ้อน ราคาแพง และเป็นความลับที่สุดในห้วงสงครามเย็น โดยมีมูลค่าราว 800 ล้านดอลลาร์หรือกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน


(เรือดำน้ำ K-129)

เรือดำน้ำ K-129 หรือที่กองทัพเรือโซเวียตเรียกเรือชั้นนี้ว่า Project 629 แต่สหรัฐฯ และกองทัพนาโต้เรียกว่า ‘Golf’ ด้วยระหว่างขับน้ำ 2,700 ตัน ความยาว 100 เมตร ความกว้าง 8.5 เมตร เป็นเรือดำน้ำใช้เครื่องยนต์ดีเซล 3 เครื่อง และมอเตอร์ไฟฟ้าอีก 3 เครื่อง สามารถทำความเร็วสูงสุดได้ 17 นอต (31 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ปฏิบัติงานในทะเลได้ 70 วัน และมีลูกเรือ 83 นาย เรือดำน้ำชั้นนี้ติดตั้งขีปนาวุธนำวิถี (Ballistic Missile Submarine) โดยมีท่อยิงขีปนาวุธ 3 ท่อ สามารถติดตั้งขีปนาวุธทางยุทธวิธี (Tactical Ballistic Missiles) แบบ R11 FM หรือ ‘Scud’

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 1968 กัปตัน Vladimir I. Kobzar และลูกเรือดำน้ำ K-129 นำเรือดำน้ำ K-129 ปฏิบัติภารกิจลาดตระเวนครั้งที่ 3 ของเรือลำนี้ รายงานจากเรือส่งกลับมาว่า การแล่นตามทิศทางที่กำหนดเป็นไปด้วยความราบรื่น แต่เมื่อเรือดำน้ำ K-129 ข้ามเส้นรุ้งที่ 180 (180th meridian) ก็ขาดการติดต่อ แม้จะมีความพยายามติดต่อกับเรือจากฐานทัพเรือ Kamchatka แต่ไม่มีการตอบรับใด ๆ จากเรือลำนี้ กระทั่งเวลาล่วงเลยไปจนถึงกลางเดือนมีนาคม กองทัพเรือโซเวียตจึงประกาศว่าเรือลำนี้สูญหาย การค้นหาและกู้ภัยทางอากาศบนพื้นผิวมหาสมุทรและใต้ทะเล จากทางแปซิฟิกเหนือบริเวณตั้งแต่ Kamchatka ไปจนถึง Vladivostok จึงเริ่มขึ้น เมษายน 1968 กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหภาพโซเวียต และอากาศยานถูกสังเกตว่า มีการเคลื่อนย้ายกำลังไปยังตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งน่าจะเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการค้นหาที่มีความผิดปกติบางอย่าง สำนักงานข่าวกรองทางเรือสหรัฐอเมริกา (ONI) ประเมินว่า เป็นปฏิกิริยาที่น่าจะเกิดขึ้นจากการสูญเสียเรือดำน้ำของโซเวียต การค้นหาด้วยเรือผิวน้ำของโซเวียตมีศูนย์กลางอยู่บริเวณซึ่งทราบว่า เกี่ยวข้องกับเส้นทางลาดตระเวนเรือดำน้ำดีเซลติดขีปนาวุธทางยุทธศาสตร์ ชั้น ‘Golf’ II (SSB) ของโซเวียต เรือดำน้ำแบบนี้บรรทุกขีปนาวุธนิวเคลียร์ 3 ลูกในเรือ และประจำการในระยะยิงขีปนาวุธไปยังชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ หลังจากการค้นหาหลายสัปดาห์โซเวียตก็ยังไม่สามารถค้นหาเรือแม้แต่ร่องรอยหรือซากเรือที่จมได้ และปฏิบัติการของกองเรือแปซิฟิกของโซเวียตก็จึงค่อย ๆ กลับคืนสู่สภาวะปกติ 

ขณะเดียวกันกองทัพเรืออเมริกันก็ได้เริ่มค้นหาจากเครือข่ายของระบบเฝ้าระวังเสียง ( SOSUS ) ซึ่งเป็นระบบโซนาร์แบบพาสซีฟที่พัฒนาโดยกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาเพื่อติดตามเรือดำน้ำของโซเวียต ระบบดังกล่าวที่อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำการตรวจสอบการบันทึก โดยหวังว่าจะตรวจพบการระเบิดที่เกี่ยวข้องกับการสูญหายของเรือดำน้ำ K-129 ลำดังกล่าว กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูล Acoustic (คลื่นเสียงที่เดินทางผ่านตัวกลาง

ต่าง ๆ) จากที่ตั้ง AFTAC 4 แห่ง และ Array ณ สถานีทหารเรือ Adak มลรัฐ Alaska ใช้ SOSUS ค้นหาซากเรือดำน้ำภายใน 5 ไมล์ทะเล ซึ่งสถานที่นี้อยู่ห่างจากพื้นที่ค้นหาของกองทัพเรือโซเวียตหลายร้อยไมล์ อุปกรณ์อำนวยความสะดวกทางเรือ (NAVFAC) Point Sur ทางตอนใต้ของเมือง Monterrey มลรัฐ California สามารถแยกลายเซ็นโซนิคในการบันทึก Array ความถี่ต่ำของเหตุการณ์การระเบิดที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 1968 โดยใช้วันที่และเวลาของเหตุการณ์จาก NavFac Point Sur NavFac Adak และ US West Coast NAVFAC ก็สามารถแยกเหตุการณ์ Acoustic ได้เช่นกัน ด้วย SOSUS 5 เส้น ในที่สุดหน่วยสืบราชการลับของกองทัพเรือสหรัฐฯก็สามารถก็กำหนดพิกัดที่แน่นอนของซากเรือดำน้ำ K-129 โดยระบุตำแหน่งว่า อยู่ใกล้กับละติจูด 40.1 ° N และลองจิจูด 179.9 ° E (ใกล้เคียงกับเส้นวันที่ระหว่างประเทศ) 

(ซากเรือดำน้ำ K-129 ถ่ายด้วยกล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ของเรือ USS Halibut)

ทั้งนี้ กรกฎาคม 1968 กองทัพเรือสหรัฐฯ ได้เริ่ม ‘ปฏิบัติการ Sand Dollar’ ด้วยเรือดำน้ำ USS Halibut จากฐานทัพเรือ Pearl Harbor ไปยังจุดจมของซากเรือดำน้ำ K-129 วัตถุประสงค์ของปฏิบัติการ Sand Dollar คือ การค้นหาและถ่ายภาพซากเรือดำน้ำ K-129 โดย USS Halibut เป็นเรือดำน้ำที่สามารถใช้อุปกรณ์ค้นหาใต้น้ำลึกซึ่ง และเป็นเรือดำน้ำที่มีอุปกรณ์พิเศษเพียงชนิดเดียวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในขณะนั้น โดย USS Halibut พบซากเรือดำน้ำ K-129 หลังจากการค้นหา 3 สัปดาห์ โดยการใช้กล้องควบคุมระยะไกลของหุ่นยนต์ (แต่ต้องใช้เวลาค้นหาเกือบห้าเดือนกว่าจะพบซากเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ USS Scorpion ในมหาสมุทรแอตแลนติกในปี 1968 เช่นกัน) USS Halibut ใช้เวลาหลายสัปดาห์ต่อมาในการถ่ายภาพแบบ Closed up กว่า 20,000 ภาพในทุกแง่มุมของซาก K-129 ซึ่งเป็นข้อมูลลับที่ USS Halibut ได้ถูกหน่วยงานพิเศษของประธานาธิบดีใช้อ้างอิง ซึ่งลงนามโดยประธานาธิบดี Lyndon B. Johnson ในปี 1968

ต่อมาในปี 1970 จากการถ่ายภาพชุดนี้ Melvin Laird และ Henry Kissinger ซึ่งในขณะนั้นเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติได้เสนอแผนลับในการกู้ซาก K-129 เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถศึกษาเทคโนโลยีขีปนาวุธนิวเคลียร์ของสหภาพโซเวียต และอาจกู้คืนวัสดุที่ใช้ในการเข้ารหัส ข้อเสนอนี้ได้รับการยอมรับจากประธานาธิบดี Richard Nixon และ CIA ได้รับมอบภารกิจในการกู้ซาก K-129 ด้วยโครงการ Project Azorian อันเป็นชื่อปฏิบัติการกู้เรือในครั้งนี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการลับสุดยอดที่ปฏิบัติการในช่วงสงครามเย็นของสหรัฐอเมริกา เป็นปฏิบัติการที่มีค่าใช้จ่ายมากที่สุดตลอดช่วงสงครามเย็น ต้องใช้เวลาถึง 6 ปี ในการเตรียมการ ภายหลังจากการจมของเรือดำน้ำ K-129 ในปี 1968 ฝ่ายสหรัฐฯ จำต้องรอเวลาและวางแผนให้ปฏิบัติการนี้

ต้องทำให้ดูเหมือนเป็นงานของพลเรือนมากกว่าจะเป็นงานด้านการทหาร การจะเคลื่อนสรรพกำลังไปยังจุดที่เรือดำน้ำโซเวียตจมอยู่ก็เป็นความท้าทายแรก และความท้าทายอย่างต่อมาคือการนำเรือดำน้ำขนาด 2,700 ตัน ขึ้นมาจากใต้ทะเลโดยมิให้พวกโซเวียตล่วงรู้ เป็นอีกความท้าทายที่ยากลำบากของฝ่ายอเมริกัน

(เรือ GSF Explorer)

ทั้งนี้ เรือ GSF Explorer เดิมคือ เรือ USNS Hughes Glomar Explorer (T-AG-193) ต่อโดย Global Marine Development Inc. หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของ Global Marine Inc. ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการขุดเจาะนอกชายฝั่งน้ำลึกได้รับสัญญาให้ออกแบบและสร้าง Hughes Glomar Explorer เพื่อกู้เรือดำน้ำโซเวียตที่จมอย่างลับ ๆ เรือถูกสร้างขึ้นที่อู่ต่อเรือ Sun ใกล้เมือง Chester มลรัฐ Pennsylvania โดย Howard Hughes มหาเศรษฐีนักธุรกิจซึ่งมี บริษัทต่าง ๆ มากมาย และเป็นผู้รับเหมาเกี่ยวกับอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร เครื่องบิน และสัญญาดาวเทียมหลายประเภทของสหรัฐฯ ตกลงที่จะให้ชื่อของเขาโดยอ้างว่า เป็นโครงการเรือขุดแมงกานีสจากพื้นมหาสมุทร แต่ Hughes และบริษัทของเขาไม่มีส่วนร่วมในโครงการเลย โดยมีการจัดฉากเซ็นสัญญาว่าจ้างอย่างเป็นทางการให้บริษัทของเขา ออกแบบสร้างเรือขุดเจาะลำนี้ขึ้นมา ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 1972 เรือก็ถูกปล่อยลงน้ำ ด้วยระวางขับน้ำ 57,000 ตัน ยาว 619 ฟุต (189 ม.) ในชื่อ เรือ Hughes Glomar Explorer (HGE) มีความยาว 189 เมตร กว้าง 35 เมตร ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไฟฟ้า โดยมีความเร็วสูงสุด 10 นอต (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ลูกเรือประจำ 160 นาย 

หากมองเรือลำนี้จากภายนอก จะเห็นเป็นเรือขุดเจาะธรรมดาทั่วไปที่มีแท่นขุดเจาะขนาดใหญ่อยู่กลางลำเรือและเครื่องมือต่าง ๆ ที่ดูแล้วสมกับงานที่กำลังจะไปทำ แต่ทว่าภายในลำตัวเรือ HGE มีช่องเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถนำเรือดำน้ำขนาดเล็กและขนาดใหญ่เข้ามาภายในได้ รวมทั้งยังมีปั้นจั่นขนาดใหญ่ที่เหมือนกับแขนมหึมา สามารถดำลงไปหยิบจับสิ่งอยู่ใต้ทะเลเข้ามาตรงช่องเปิดขนาดใหญ่ที่มีอยู่บริเวณกลางลำตัวเรือได้ อุปกรณ์กู้มีลักษณะเป็นกรงเล็บจักรกลขนาดใหญ่ ซึ่ง Lockheed สร้างมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘Capture Vehicle’ แต่เรียกกันติดปากว่า Clementine ยานจับได้รับการออกแบบให้ลดระดับลงสู่พื้นมหาสมุทรจับลำตัวเรือดำน้ำเป้าหมาย จากนั้นก็ดึงส่วนนั้นขึ้นในที่ยึด ข้อกำหนดประการหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือ การรักษาฐานลอยน้ำให้มั่นคง และอยู่ในตำแหน่งเหนือจุดคงที่พอดี คือ 16,000 ฟุต (4,900 ม.) ใต้พื้นผิวมหาสมุทร ตัวยานจับจะถูกลดระดับ และยกขึ้นบนท่อร้อยสายแบบเดียวกับที่ใช้กับแท่นขุดเจาะน้ำมัน ท่อเหล็กยาว 30 ฟุต (9.1 ม.) แต่ละส่วนถูกร้อยเข้าด้วยกันเป็นก้ามปูผ่านรูตรงกลางเรือ โครงแบบนี้ออกแบบโดย Western Gear Corp. จากเมือง Everett มลรัฐ Washington เมื่อกรงเล็บจับได้สำเร็จ ‘วัตถุเป้าหมาย’ จะถูกดึงขึ้นเข้าไปในตัวเรือ HGE กระบวนการกู้ซากทั้งหมดเกิดขึ้นใต้น้ำห่างจากการมองเห็นของเรือลำอื่น เครื่องบิน หรือดาวเทียมสอดแนม

จุดเก็บกู้ของ K-129 โดยอาศัยจุดตัดของวงกลมสามวงที่ทำเครื่องหมายระยะทางไปยัง Long Beach, CA, Pearl Harbor, HI และ Petropavlovsk, Kamchatka ซากเรือดำน้ำ K-129 จมที่ความลึกกว่า 16,000 ฟุต (4,900 ม.) และด้วยเหตุนี้ปฏิบัติการกู้ซากเรือจึงอยู่เลยระดับความลึกของปฏิบัติการกู้เรือใด ๆ ที่เคยพยายามมาก่อน เรือ Hughes Glomar Explorer เดินทาง 3,008 ไมล์ทะเล (5,571 กม.) จากเมือง Long beach มลรัฐ California เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 1974 มาถึงสถานที่กู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ในวันที่ 4 กรกฎาคม 1974 และใช้เวลากู้ซากเรือดำน้ำ K-129 นานกว่าหนึ่งเดือน ในช่วงเวลานี้มีเรือรบของกองทัพเรือโซเวียตอย่างน้อยสองลำเข้ามาสำรวจตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานของเรือ Hughes Glomar Explorer ได้แก่เรือลากจูงในมหาสมุทร SB-10 และเรือตรวจวัดระยะขีปนาวุธของโซเวียต Chazma 

เรือดำน้ำขนาดเล็กและนักประดาน้ำในชุดดำน้ำลึกที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษ เรือดำน้ำขนาดเล็กดำลงไปยังซากเรือมรณะของโซเวียตลำนี้ ทีมกู้ซากเรือติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะนำเรือดำน้ำลำนี้เข้าไปภายในช่องที่อยู่ภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer ปั้นจั่นขนาดใหญ่ ถูกหย่อนลงไปในน้ำ ดำดิ่งลงไปหาเรือดำน้ำโซเวียตที่จอดสงบนิ่งอยู่ใต้ทะเล มือของมันหยิบเรือดำน้ำโซเวียตราวกับมือของมนุษย์ที่หยิบจับสิ่งของ ค่อย ๆ ดึงขึ้นมาอย่างช้า ๆ แต่ในขณะที่เหลือระยะทางอีกเพียงครึ่งหนึ่งก่อนที่ซากเรือดำน้ำโซเวียตจะไปถึงช่องภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer หนึ่งในแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่ล็อกลำตัวเรือดำน้ำ K-129 เอาไว้เกิดขัดข้องขึ้น มันหยุดทำงานและทำให้ลำตัวเรือดำน้ำโซเวียตเอียงตะแคงข้าง ส่งผลให้ประตูท่อยิงขีปนาวุธเปิดออกพร้อมกับขีปนาวุธที่ค่อย ๆ ไหลออกมาจากท่อ โดยโผล่ออกมาจากท่ออย่างช้า ๆ ซึ่งทีมกู้ซากเรือไม่สามารถทำอะไรได้เลย พวกเขาต่างพากันสวดภาวนาไม่ให้เกิดหายนะร้ายแรงขึ้น เพราะขีปนาวุธเหล่านี้เมื่อมันหล่นลงไปกระแทกกับพื้นทะเลอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ และชีวิตทุกคนที่อยู่ในบริเวณนี้จะต้องตายเพราะแรงระเบิด เมื่อขีปนาวุธโผล่พ้นท่อยิงออกมา มันจึงร่วงหล่นลงไปสู่จุดที่เรือดำน้ำ K-129 เคยจมอยู่อย่างรวดเร็ว ทุกคนบนเรือต่างกลั้นหายใจและพากันหาที่ยึดจับบนตัวเรือเอาไว้ เมื่อเสียงของการกระแทกดังขึ้นและเงียบหายไป จึงทำให้ทุกคนโล่งอกหลังจากลุ้นกันจนตัวโก่งกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่นนี้

แต่เมื่อซากเรือดำน้ำ K-129 เกิดเอียงตะแคงข้างเช่นนี้ เลยส่งผลให้น้ำหนักของลำตัวเรือกดทับไปที่อีกด้านหนึ่งของแขนเหล็กขนาดใหญ่ที่ล็อกลำตัวเรือเอาไว้ ส่งผลให้รับน้ำหนักไม่ไหว และทำให้หักพร้อมกับลำตัวเรือดำน้ำที่ฉีกขาด วินาทีนั้นทุกคนบนเรือ Hughes Glomar Explorer ต้องลุ้นระทึกอีกครั้ง เพราะลำตัวทั้งลำอาจจะหล่นลงไปกระแทกเข้ากับขีปนาวุธที่หล่นลงไปก่อนหน้านี้ และอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ เสียงสวดมนต์และร้องเรียกหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของลูกเรือดังขึ้นอีกครั้ง คราวนี้ทุกคนต่างคิดว่า ไม่รอดแน่แล้ว จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายนาที เมื่อไม่มีการระเบิดเกิดขึ้นหรือมีสัญญาณอันตรายใด ๆ จึงทำให้รู้ว่าปลอดภัยแล้ว แต่ผลก็คือ เรือ HGE ต้องประสบความล้มเหลวขั้นวิกฤตส่งผลให้ส่วนข้างหน้าแตกออกเป็นสองส่วน ชิ้นส่วนที่มีพื้นที่การเดินเรือที่สำคัญและส่วนตรงกลางตกลงสู่พื้นมหาสมุทร ดังนั้นพื้นที่แล่นเรือตรงกลางและส่วนหลังของ K-129 จึงถือว่า การกู้เรือดำน้ำ K-129 ไม่สำเร็จ สิ่งที่ถูกดึงขึ้นมาอย่างแน่นอนจัดอยู่ในประเภท Secret Noforn หรือ Top Secret แต่โซเวียตสันนิษฐานว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ตอร์ปิโดหัวรบนิวเคลียร์ คู่มือปฏิบัติการ สมุดรหัส และเครื่องเข้ารหัสได้

นอกจากนี้ แหล่งข่าว (ไม่เป็นทางการ) อีกราย ระบุว่า สหรัฐฯ สามารถกู้ส่วนหัวเรือได้ซึ่งบรรจุตอร์ปิโดนิวเคลียร์ 2 ลูก แต่ไม่มีอุปกรณ์เข้ารหัสหรือสมุดรหัส Seymour Hersh จาก The New York Times ได้เปิดเผยรายละเอียดบางส่วนของ Project Azorian ในปี 1974 แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์เพราะด้วยแรงกดดัน William Colby จากผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกลาง (CIA) หลายเดือนหลังจากปฏิบัติการกอบกู้เสร็จสิ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1975 LA Times ได้ออกข่าวสั้น ๆ เกี่ยวกับปฏิบัติการนี้ ทำให้ The New York Times ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ที่เขียนโดย Seymour Hersh และ Jack Anderson เล่นเรื่องนี้ต่อในรายการโทรทัศน์เมื่อเดือนมีนาคม 1975 สื่อเรียกโครงการนี้ว่า Project Jennifer ซึ่งในปี 2010 ได้รับการเปิดเผยว่า ชื่อนี้ไม่ถูกต้องเนื่องจาก Project Jennifer เป็นชื่อเรียกระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล Project Azorian

รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศว่า ในส่วนที่กู้ขึ้นมาได้นั้นเป็นศพของลูกเรือหกคน แต่เนื่องจากมีการปนเปื้อนของกัมมันตภาพรังสี ศพจึงถูกฝังในทะเลในตู้เหล็กเมื่อกันยายน 1974 โดยจัดพิธีอย่างสมเกียรติยศทางทหารบริเวณประมาณ 90 ไมล์ทะเล (167 กิโลเมตร) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮาวาย วิดีโอเทปของพิธีนั้นถูกมอบให้กับรัสเซียโดย Robert Gates ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ ขณะเยือนกรุงมอสโกในเดือนตุลาคม 1992 และที่สุดแล้วบรรดาญาติของลูกเรือก็ได้ชมวิดีโอนี้ในอีกไม่กี่ปีต่อมา การกู้ซากเรือดำน้ำ K-129 ถูกระบุว่า ประสบความล้มเหลวโดยสามารถกู้คืนชิ้นส่วนที่ไม่สำคัญของเรือดำน้ำได้เพียงเล็กน้อย แต่ CIA โต้แย้งในคดีเสรีภาพในการให้ข้อมูลข่าวสารว่า อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวต้องถูกเก็บเป็นความลับเนื่องจาก "การรับทราบอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐบาลสหรัฐฯ จะเป็นการเปิดเผยลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการ" คำตอบนี้ได้เข้าสู่ศัพท์เฉพาะทางกฎหมายอันเป็นคำตอบในลักษณะ Glomar หรือ Glomarization คือ ‘ไม่ยืนยันหรือปฏิเสธ’

(การจัดพิธีศพลูกเรือประจำเรือดำน้ำ K-129 แบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบและส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง)

ในปี 2018 ไฟล์ภาพถ่ายวิดีโอเทปและหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ยังคงถูกปกปิดต่อสาธารณะ ภาพไม่กี่ภาพปรากฏในสารคดีปี 2010 แสดงให้เห็นซากเรือดำน้ำ K-129 ได้แก่ ส่วนหัวเรือโดยที่ช่องเก็บขีปนาวุธได้รับความเสียหายอย่างหนัก แสดงให้เห็นตัวท่อขีปนาวุธเพียงท่อเดียวที่ติดอยู่กับลำตัว สรุปแล้วเวลาและงบประมาณมหาศาลที่ถูกทุ่มเทเพื่อกู้ซากเรือดำน้ำลำนี้ให้ได้ทั้งลำ กลายเป็นได้มาเพียงส่วนหัวของเรือดำน้ำ ความยาว 11.5 เมตรเท่านั้น ที่สามารถดึงขึ้นไปจนถึงช่องเก็บภายในลำตัวเรือ Hughes Glomar Explorer สิ่งที่หวังว่าจะได้พบทั้ง ขีปนาวุธ เครื่องยนต์ของเรือ และสมุดรหัสของโซเวียต กลายเป็นการคว้าน้ำเหลว แต่ชิ้นส่วนของหัวเรือดำน้ำที่ถูกกู้ขึ้นมาได้ ทีมกู้ซากเรือทำการตรวจสอบภายในพบว่า มีศพของลูกเรืออยู่ภายในนั้นจำนวน 6 ศพที่ปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสี แม้ฝ่ายอเมริกันจะเป็นผู้ที่ตั้งใจที่ลักลอบกู้เรือลำนี้กลับไปเพื่อศึกษา แต่ก็ยังให้เกียรติผู้วายชนม์ทุกศพที่พบ ด้วยการจัดพิธีศพแบบทหารเรืออย่างเต็มรูปแบบ และส่งร่างของพวกเขากลับคืนสู่ท้องทะเลอีกครั้ง

อนึ่งสำหรับจุดที่เรือรบของกองทัพเรือสหรัฐฯ เองจม กองทัพเรือสหรัฐฯ จะประสานกองทัพเรือหรือรัฐบาลเจ้าของพื้นที่บริเวณนั้นให้กันเขตเป็นอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave โดยห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าไปรวบกวนหรือเข้าใกล้บริเวณดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามอนุสัญญาเจนีวา เรื่องของการประกาศพื้นที่เป็น อนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave และสามารถใช้ พ.ร.บ.ในการประกาศเป็นโบราณสถาน โบราณวัตถุทางทะเล ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรู้ โดยเฉพาะชาวเรือทุกประเทศจะรักษา จรรยาบรรณในเรื่องการประกาศเขตอนุสรณ์สถาน หรือ สุสานสงครามทางทะเล War Grave เป็นอย่างดี โดยจะไม่มีการเข้าไปรบกวนอย่างเด็ดขาด 

รู้จัก ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ฯ’ จอมพล เจ้าฟ้า อัจฉริยะนักดนตรี ต้นสำเนาตำนาน ‘โหมโรง’

ไม่แน่ใจว่าคุณจำภาพจากภาพยนตร์อนิเมชันเรื่อง ‘2475 รุ่งอรุณแห่งการปฏิวัติ’ ตอนหนึ่งได้หรือไม่? ตอนที่พระประศาสน์พิทยายุทธ (วัน ชูถิ่น) นำกำลังบุกเข้าไปใน ‘วังบางขุนพรหม’ ก่อนเข้าควบคุมตัว ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ผู้รักษาพระนคร โดยที่พระองค์ไม่ทรงเชื่อสายตาว่าคนที่ทรงใกล้ชิดและทรงมีบุญคุณอย่างมากมาก่อน

แต่เรื่องที่จะเล่าไม่ใช่เรื่องในปี พ.ศ. 2475 แต่จะเป็นเรื่องราวทางการดนตรีที่เกิดขึ้นใน ‘วังบางขุนพรหม’ และพระอัจฉริยภาพทางดนตรีของ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ซึ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพระอัจฉริยภาพทางการด้านการทหารเลยแม้แต่น้อย ซึ่งได้เรียบเรียงมาเล่าสู่กันฟังแบบนี้ 

เริ่มตั้งแต่เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 8 พรรษา พระองค์ทรงเข้ารับการศึกษาตามแบบอย่างพระราชกุมารและพระราชกุมารีในสมัยนั้น โดยทรงศึกษาทั้งวิชาด้านภาษาทั้งไทยและอังกฤษ รวมไปถึงศิลปวิทยาในด้านต่าง ๆ เช่น การละคร การดนตรีไทย โดยเฉพาะดนตรีไทยพระองค์สามารถทรงซออู้ได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งยังทรงเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว 

จนเมื่อ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เสด็จ ฯ ไปทรงศึกษาต่อวิชาการทหารที่ประเทศเยอรมนี นอกจากวิชาทหารพระองค์ยังได้ทรงศึกษาวิชาโปรดของพระองค์นั่นก็คือ ‘ดนตรี’ โดยได้ทรงศึกษาการเล่นเปียโน การประสานเสียง การประพันธ์เพลง การเป็นวาทยากรควบคุมวงดนตรีขนาดใหญ่ เรียกว่าผลการเรียนทั้งในส่วนที่เป็นทหารก็ยอดและในส่วนของการดนตรีก็เยี่ยม 

พระองค์ทรงเคยเล่าเรื่องเกี่ยวกับความชอบทางดนตรี ประทานแก่ ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอินทุรัตนา’ พระธิดาฟังว่า “…ถ้าพ่อเลือกได้ พ่อจะเรียนดนตรีและภาษา และจะทำงานด้านดนตรีอย่างเดียว แต่พ่อเลือกไม่ได้ เพราะพ่อบังเกิดมามียศตำแหน่ง ต้องทำงานให้ประเทศชาติ ทูลหม่อม (รัชกาลที่ 5) สั่งให้พ่อไปเรียนวิชาทหารเพื่อกลับมาปรับปรุงกองทัพไทย พ่อก็ไปเรียนวิชาทหาร บางครั้งพ่อเบื่อบางวิชาที่ต้องเรียนจนทนไม่ไหว ต้องเก็บพ็อกเก็ตมันนี่เอาแอบไปเรียนดนตรี แอบไปเรียนเพราะพวกผู้ใหญ่สมัยนั้นเห็นว่าวิชาดนตรีไม่เหมาะกับชายชาติทหาร เมื่อได้เรียนดนตรีที่พ่อรักก็สบายใจ เกิดความอดทนที่จะเรียนและทำงานที่พ่อเบื่อ…”

มาในปี พ.ศ. 2442 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมจัดซื้อที่ดินพระราชทานแก่ ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ เพื่อใช้สร้างวังที่ประทับ หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2444 ในขณะที่ยังทรงศึกษาอยู่พระองค์ได้ทรงให้สร้างวังในรูปแบบเรอเนซองส์ผสมผสานกับลวดลายศิลปะแบบนีโอ-บารอก โดยเริ่มก่อสร้างจากตำหนักหอจากไม้เป็นประเดิม จนกระทั่งพระองค์ทรงศึกษาจบและนิวัติกลับสยามในปี พ.ศ. 2446 ซึ่งที่ตำหนักหอแห่งนี้เองที่ทูลกระหม่อมได้เริ่มทรงดนตรีไทย ก่อนที่วังจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี พ.ศ. 2449 ซึ่งที่ประทับแห่งนี้ก็คือ ‘วังบางขุนพรหม’ อันโอ่อ่า โดยเป็นสถานที่จัดงานต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ใช้เป็นที่จัดงานสังสรรค์ของพระบรมวงศานุวงศ์ เป็นสถานศึกษาซึ่งเรียกกันในสมัยนั้นว่า ‘บางขุนพรหมยูนิเวอร์ซิตี้’ หรือ ‘บางขุนพรหมคอลเลจ’ และอีกหนึ่งความสำคัญของวังแห่งนี้ก็คือ ‘คอนเสิร์ตฮอลล์’ ห้องบันทึกเสียงและศูนย์การประชันวงดนตรี 

ย้อนกลับในปีพ.ศ. 2446 ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ได้เริ่มทรงดนตรีไทยอย่างจริงจัง โดยทรงรวบรวมมหาดเล็กเรือนนอกที่สามารถเล่นดนตรีไทยได้มาก่อตั้งเป็นวงพิณพาทย์ไม้แข็งของวังบางขุนพรหม จากการเริ่มวงที่รวบรวมมหาดเล็กมาต่อเพลง ไม่ช้าก็กลายเป็นวงที่อุดมไปไปด้วยนักดนตรีไทยชั้นยอดแห่งยุคอย่างด้วยการจัดการวงจากหลวงกัลยาณมิตตาวาส (ทับ พาทยโกศล) และนำการบรรเลงโดยจางวางทั่ว พาทยโกศล นอกจากวงปี่พาทย์พระองค์ก็ยังทรงตั้งวงเครื่องสายที่ทรงบรรเลงร่วมกับพระญาติและผู้ใกล้ชิดอีกด้วย 

สำหรับยุคนั้น ‘วังบางขุนพรหม’ คือสถานที่สำคัญแห่งการประลองทางดนตรี โดยมีวงดัง ๆ นอกไปจาก วงปี่พาทย์วังบางขุนพรหมที่นำโดย ‘จางวางทั่ว พาทยโกศล’ ก็จะมีวงอย่างเช่น วงปี่พาทย์วังบูรพานำโดย ‘จางวางศร’ (หลวงประดิษฐ์ไพเราะ) วงสมเด็จพระบรมฯ (เมื่อครั้งที่ในหลวงรัชกาลที่ 6 ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็น ‘สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ’) นำโดย ‘นายโสม’ (พระเพลงไพเราะ) วงพระองค์เพ็ญ (กรมหมื่นพิไชยมหินทโรดม) นำโดย นายขลิบ ชำนิราชกิจ เป็นต้น ซึ่งบรรยากาศในการประชันก็จำลองมาอยู่ในภาพยนตร์เรื่อง ‘โหมโรง’ ซึ่งท่านผู้อ่านลองไปหาชมกันได้ โดย ‘ทูลกระหม่อมบริพัตร’ ก็เป็นพระองค์แรกในการทดลองบันทึกเสียงทั้งการประชัน การบรรเลงต่าง ๆ ไว้ในแผ่นครั่ง ตั้งแต่ในครั้งกระนู้น ซึ่งถ้าวงใดได้มาบรรเลงหรือประชัน ณ วังบางขุนพรหมแม้จะไม่ชนะ แต่ก็มีชื่อเสียงกลับไปว่าได้มาแสดง ณ วังแห่งนี้แล้ว

จากดนตรีไทยมาสู่ดนตรีสากล จริง ๆ แล้วทูลกระหม่อมบริพัตรทรงเริ่มนิพนธ์เพลงไทยสากลก่อนเพลงไทยเดิม แม้ว่าพระองค์จะทรงตั้งวงปี่พาทย์ขึ้นก่อน เอ้า !!! ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ ? 

เรื่องของเรื่อง ‘กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’ ในขณะที่ทรงเป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ พระองค์ได้ทรงนิพนธ์ทำนองเพลงตามมาตรฐานและหลักเกณฑ์ของดนตรีสากล สำหรับบรรเลงด้วยแตรวงโดยเฉพาะขึ้นเป็นครั้งแรกในสยาม เพลงนั้นก็คือเพลง ‘วอลซ์ปลื้มจิต’ ซึ่งถือว่าเป็นเพลงไทยสากลเพลงแรกในประวัติศาสตร์การดนตรีของประเทศไทย โดยเพลงพระนิพนธ์ในชุดแรกที่เรียกว่าเพลงฝรั่งแท้ ๆ นอกจากวอลซ์ปลื้มจิตแล้วก็จะมีอีก 4 เพลงคือ เพลงวอลซ์ประชุมพล เพลงวอลซ์โนรี เพลงมณฑาทอง และ เพลงมาร์ชบริพัตร ทั้ง 5 เพลงนี้ ในปัจจุบันพบเพียงแค่ 4 เพลง เพลงที่หายไปก็คือ ‘เพลงวอลซ์โนรี’ ซึ่งเพลงวอลซ์โนรีนี้เป็นเพลงที่ทรงนิพนธ์ประทานให้แก่เจ้าหญิงโนรี แห่งประเทศสวีเดน เมื่อครั้งที่เจ้าหญิงโนรีเสด็จมาในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

จากเพลงแบบสากล พระองค์ยังทรงนำเพลงไทยแท้ ๆ  มาเรียบเรียงเสียงประสานแบบสากล จนกลายเป็นเพลงไทยทำนองฝรั่ง โดยเพลงที่เราคุ้นเคยก็คงเป็นเพลง ‘มหาฤกษ์ มหาชัย’ กับเพลงอื่น ๆ อาทิ เพลงสรรเสริญเสือป่า เพลงสาครลั่น และเพลงที่มีความลุ่มลึก คำนึง ถึงคนที่จากไปไกลอย่าง ‘เพลงพญาโศก’ ซึ่งนำไปบรรเลงโดยทั่วไป 

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ ๆ สำเนียงแบบไทย เรียบเรียงแบบไทยแต่เอามาเล่นในแตรวง โดยทรงทำไว้เป็นโน้ตรวมฉบับรวมทั้งวง (Score) ทั้งหมด 20 เพลง ตัวอย่างเช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม (เพลงนี้เมื่อแรกเริ่มทรงนิพนธ์เป็นเพลงสำหรับวงโยธวาทิตก่อนแล้วจึงปรับปรุงเป็นทางพิณพาทย์ในเวลาต่อมา ชื่อบางขุนพรหมแต่พระองค์ทรงแต่งเพลงนี้ที่พระราชวังบ้านปืน จังหวัดเพชรบุรี ) เพลงเขมรพวงสามชั้น เพลงเขมรชมจันทร์ เพลงถอนสมอ เพลงบุหลันชกมวย ฯลฯ 

โดยทั้ง 20 เพลง ทูลกระหม่อมบริพัตรได้ได้ทรงประพันธ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด ทรงทำทางเป็นเพลงสำหรับแตรวงหรือวงโยธวาทิต แต่ทรงยึดแนวเพลงของเก่าเป็นพื้น แล้วก็ดัดแปลง ตัดลงจากสามชั้นเป็นชั้นเดียวบ้าง แล้วก็ทรงประทานให้แตรวงทหารเรือหรือทหารบกได้นำไปบรรเลง นับเป็นพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีที่ไม่เหมือนใคร

นอกจากเพลงที่เล่นในแตรวงแล้ว กรมพระนครสวรรค์ยังทรงนิพนธ์เพลงไทยแท้ที่บรรเลงด้วยปี่พาทย์ โดยเพลงประเภทนี้ พระองค์ทรงนิพนธ์เป็นส่วนมาก เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงลี้ภัยการเมืองไปประทับที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยเพลงที่พระองค์ทรงนิพนธ์สำหรับวงปี่พาทย์นี้มีทั้งหมด 25 เพลง เช่น เพลงแขกมอญบางขุนพรหม เถา (ซึ่งเพลงนี้เป็นเพลงแรกในพระชนม์ชีพของพระองค์ โดยนอกจากเรียบเรียงเพื่อใช้กับแตรวงแล้ว ทางเพลงนี้ก็เป็นทางแบบไทยเดิมจึงสามารถเรียบเรียงเป็นแบบปี่พาทย์ได้อีกทาง) เพลงน้ำลอดใต้ทราย เพลงแขกสาย เถา เพลงโหมโรงประเสบัน เพลงเทวาประสิทธิ์ เถา ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเพลงที่คนดนตรีไทยคุ้นเคยกันดี 

ประเภทขับร้องหรือทางร้องซึ่งประเภทนี้แยกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือช่วงที่ทูลกระหม่อมทรงประทับที่วังบางขุนพรหม เมื่อพระองค์ทรงนิพนธ์เพลงเสร็จก็จะประทานให้หม่อมเจริญ พาทยโกศล ทำทางขับร้องถวาย ช่วงที่สองเมื่อเสด็จฯ ไปประทับอยู่ที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อพระองค์ทรงพระนิพนธ์เพลงใหม่ขึ้น พระองค์ทรงต่อทางร้องประทานให้คุณหญิงไพฑูรย์ กิตติวรรณ โดยเวลาที่ทรงต่อทางร้องจะทรงใช้ซออู้สีนำ บางครั้งก็ทรงเปล่งพระสุรเสียงนำบ้าง 

ประเภทสุดท้ายคือเพลงเดี่ยว ตามที่ทราบพระองค์ทรงมีความชำนาญในการสีซอสามสายเป็นอย่างมาก จึงมีเพลงพระนิพนธ์ที่เป็นทางเดี่ยวสำหรับซอสามสายไว้มากกว่าทางเดี่ยวของเครื่องดนตรีชนิดอื่น ๆ ส่วนเครื่องดนตรีตะวันตกนั้นมีแค่ทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพียงอย่างเดียว ซึ่งบทเพลงประเภทเพลงเดี่ยวนี้มีเพียง 4 เพลงเท่านั้น ได้แก่ ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงบุหลันลอยเลื่อน ทางเดียวซอสามสายเพลงอาเฮีย ทางเดี่ยวซอสามสายเพลงสารถี 3 ชั้น และทางเดี่ยวแตรคอร์เนทเพลงสารถี 3 ชั้น

สมเด็จเจ้าพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และสมาชิกในราชสกุลบริพัตร ทรงมีเวลาเตรียมพระองค์ไม่ถึง 12 ชั่วโมง หลังจากเช้าแห่งวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 พระองค์ต้องทิ้งวังและปล่อยให้ข้าราชบริพารร่วม 400 ชีวิตดูแลตัวเอง โดยทรงมีเงินส่วนพระองค์ติดไปเพียง 9,000 บาท โดยคณะผู้ก่อการได้จัดขบวนรถถังและรถหุ้มเกราะห้อมล้อมรถ นำเสด็จฯ จากวังบางขุนพรหมไปยังสถานีหัวลำโพง บนรถไฟที่ประทับยังมีตำรวจอีกสองกองร้อย ตามเสด็จไปควบคุมพระองค์จนถึงชายแดนไทยจนออกจากประเทศไทยไปยังปีนัง ก่อนจะเสด็จฯ ไปประทับเป็นการถาวรที่เมืองบันดุง ประเทศอินโดนีเซีย โดยพระองค์ทรงประทับอยู่ต่างแดนร่วม 12 ปี ก่อนที่พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคพระวักกะ (โรคไต) และพระหทัย (โรคหัวใจ) และได้สิ้นพระชนม์ในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2487 โดยพระศพของพระองค์ได้อัญเชิญกลับมาประเทศไทยในอีก 4 ปีหลังจากวันสิ้นพระชนม์ ก่อนจะมีพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทูลกระหม่อมบริพัตร ในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ.2493 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง

นี่คือเรื่องราวทางดนตรีและพระอัจฉริยภาพของ ‘พระบิดาแห่งเพลงไทยสากล’ จอมพล จอมพลเรือ ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต’

‘Operation Wedding’ ภารกิจหนีตายของชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ลงทุนเหมาเที่ยวบิน เพื่อจี้เครื่องบินหนีออกจาก ‘สหภาพโซเวียต’

หลังจากสงครามหกวัน ปี 1967 ‘สหภาพโซเวียต’ ได้ยุติความสัมพันธ์ทางการทูตกับ ‘อิสราเอล’ เกิดผลกระทบต่อการยื่นขอวีซ่าของคนรัสเซียเชื้อสายยิว ที่ส่วนใหญ่ได้ทำการยื่นขอทั้งครอบครัวเพื่อเดินทางออกจากสหภาพโซเวียต ผลที่เกิดขึ้นคือการขอวีซ่าของพวกเขา ‘ถูกระงับ’ หรือ ‘ถูกปฏิเสธ’

หนึ่งในเงื่อนไขของผู้ขอวีซ่าเดินทางออกจากสหภาพโซเวียตคือ ‘การลาออกจากงาน’ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่สุ่มเสี่ยงอย่างมาก เพราะเสี่ยงต่อการถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยสังคม ซึ่งมีความผิดทางอาญา

การยื่นขอวีซ่าเพื่อออกจากสหภาพโซเวียต มีผลสำเร็จกับแค่บางคน ในขณะที่อีกหลายคนถูกปฏิเสธ ซึ่งมีผลทันทีและมีผลในระยะยาว คำร้องขอวีซ่าของพวกเขาจะถูกเพิกเฉยไปอีกหลายปี

ในหน่วย OVIR (Office of Visas and Registration) ซึ่งเป็นแผนกหนึ่งใน MVD (กระทรวงกิจการภายในของสหภาพโซเวียต) ที่รับผิดชอบในการออกวีซ่า ได้ให้เหตุผลที่สำหรับคำปฏิเสธว่า “บุคคลเหล่านี้ได้รับการเข้าถึงข้อมูลที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหภาพโซเวียตในบางช่วงเวลา จึงไม่สามารถอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้”


ทำให้คนเหล่านี้ถูกเรียกว่า ‘Refusenik’ แปลว่า ‘ผู้ถูกปฏิเสธ’ ส่วนใหญ่หมายถึงชาวรัสเซียเชื้อสายยิว ซึ่งถูกปฏิเสธการขออพยพย้ายถิ่นจากสหภาพโซเวียตไปยังประเทศอิสราเอล ด้วยเหตุนี้ ทำให้ ‘Operation Wedding’ ถือกำเนิดขึ้นมา

‘Operation Wedding’ เป็นปฏิบัติการจี้เครื่องบินโดยกลุ่มหนุ่มสาวชาวโซเวียตเชื้อสายยิว ผู้ซึ่งถูกปฏิเสธการขอวีซ่าออกสหภาพโซเวียต เพื่ออพยพไปอยู่ยังอิสราเอล พวกเขาจึงคิดวางแผนที่จะ ‘จี้’ เครื่องบินเพื่อหลบหนีจากสหภาพโซเวียต 

แน่นอนว่า แรกเริ่มของความคิดทุกอย่างดูง่ายและเป็นไปได้ทั้งหมด พวกเขาวางแผนใช้วิธีปลอมตัวเป็นครอบครัวเพื่อเดินทางไปงานแต่งงานของญาติในต่างเมืองด้วยสายการบินท้องถิ่น 

โดยสมาชิกในกลุ่มจะซื้อตั๋วทุกใบบนเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก 12 ที่นั่ง (Antonov An-2) ทำให้ในเที่ยวบินดังกล่าวไม่มีผู้โดยสารอื่นเลย จึงไม่มี ‘ผู้บริสุทธิ์’ ที่ไม่เกี่ยวข้องจะได้รับอันตราย 

นอกจากนี้พวกเขาจะบังคับให้นักบินและเจ้าหน้าที่ประจำเครื่องลงจากเครื่องบิน แล้วให้ ‘Mark Dymshits’ ผู้เป็นอดีตนักบินทหาร และเป็นนักบินของกลุ่มเข้าควบคุมเครื่องบิน และบินขึ้นสู่ท้องฟ้าเหนือพรมแดนโซเวียตไปยังสวีเดน แล้วมุ่งหน้าไปยังอิสราเอล


ปฏิบัติการนี้ เกิดขึ้นในวันที่ 15 มิถุนายน 1970 หลังจากมาถึงสนามบิน Smolnoye (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นสนามบิน Rzhevka) ใกล้นครเลนินกราด กลุ่ม ‘แขกงานแต่งงาน’ ยังไม่ทันที่จะขึ้นเครื่องบินเลย ทั้งหมดก็ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ของ MVD 

พวกเขาทั้งหมดถูกตั้งข้อหากบฏ มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต ภายใต้มาตรา 64 ของประมวลกฎหมายอาญาของ RSFSR 

โดย ‘Mark Dymshits’ และ ‘Eduard Kuznetsov’ ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษประหารชีวิต แต่หลังจากการประท้วงจากนานาประเทศ จึงถูกตัดสินจำคุก 15 ปีแทน 

-Yosef Mendelevitch และ Yuri Fedorov ถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
-Aleksey Murzhenko ถูกตัดสินจำคุก 14 ปี
-Sylva Zalmanson (ภรรยาของ Kuznetsov และเป็นสตรีผู้เดียวที่ถูกพิจารณาคดี) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี 
-Arie (Leib) Knokh ถูกตัดสินจำคุก 13 ปี 
-Anatoli Altmann ถูกตัดสินจำคุก 12 ปี 
-Boris Penson และ Wolf Zalmanson (พี่ชายของ Sylva และ Israel) ถูกตัดสินจำคุก 10 ปี
-Israel Zalmanson ถูกตัดสินจำคุก 8 ปี
-Mendel Bodnya ถูกตัดสินจำคุก 4 ปี 

ในขณะที่สื่อโซเวียตพาดหัวว่า ‘อาชญากรได้รับการลงโทษ’ แต่ก็มีผู้คนมากมายในฟากฝั่งของโลกตะวันตกเรียกร้องให้ ‘ปล่อยตัวคนเหล่านี้!’ 

ภายหลังเมื่อม่านเหล็กแห่งอิสรภาพเปิดออก ชาวโซเวียตกว่า 300,000 คน ก็สามารถอพยพออกนอกประเทศได้ ส่งผลให้สมาชิกกลุ่มนี้มีสถานะเป็นผู้จ่ายค่าอิสรภาพให้กับชาวโซเวียตทุกคนที่ได้รับอนุญาตให้อพยพ


การอพยพชาวยิวจากสหภาพโซเวียตก่อนและหลังการพิจารณาคดี Operation Wedding (the First Leningrad Trial) ครั้งแรก ตามด้วยการปราบปรามชาวยิว และมีการเคลื่อนไหวที่ไม่เห็นด้วยทั่วสหภาพโซเวียต นักเคลื่อนไหวถูกจับกุม ศูนย์ชั่วคราวเพื่อศึกษาภาษาฮีบรูและโตราห์ถูกปิด 

ในขณะเดียวกันการประณามจากนานาประเทศทำให้ทางการโซเวียตต้องเพิ่มโควตาการย้ายถิ่นฐานอย่างมีนัยสำคัญ ในปี 1960 ถึง 1970 มีชาวยิวในโซเวียตเพียง 3-4,000 คนเท่านั้นที่สามารถอพยพออกจากสหภาพโซเวียตได้ แต่หลังจากการพิจารณาคดีในช่วงระหว่างปี 1971 ถึง 1980 มีผู้ได้รับวีซ่าถึง 347,100 คน เพื่ออพยพออกจากสหภาพโซเวียต และ 245,951 คนเป็นชาวรัสเซียเชื้อสายยิว


ในเดือนสิงหาคม 1974 Sylva Zalmanson ได้รับการปล่อยตัว โดยเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษอิสราเอลกับสายลับของสหภาพโซเวียต หรือ ‘Yuri Linov’ ในเบอร์ลิน 

หลังจากนั้นเธอก็อพยพไปยังอิสราเอล เดือนกันยายนในปีต่อ ๆ มาเธอได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวสามี Edward Kuznetsov และผู้ถูกปฏิเสธคนอื่น ๆ จนในที่สุดวันที่ 27 เมษายน 1979 Kuznetsov ก็ได้รับการปล่อยตัว และอพยพไปอยู่กับภรรยาของเขาที่อิสราเอล 

ทางด้าน Mark Dymshits ก็ได้รับการปล่อยตัวในเวลาเดียวกันพร้อมกับผู้ถูกปฏิเสธที่มีชื่อเสียงของสหภาพโซเวียตอีกสามคน ได้แก่ Aleksandr Ginzburg, Valentin Moroz และ Georgy Vins 

การปล่อยตัวผู้ถูกปฏิเสธทั้งห้าเกิดขึ้นหลังจากการเจรจาอันยาวนาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแลกเปลี่ยนนักโทษกับสหภาพโซเวียต โดยสาลับโซเวียตสองคน Rudolf Chernyaev และ Valdik Enger ซึ่งถูกตัดสินจำคุก 50 ปีในสหรัฐฯ 

หลังจากอพยพไปอิสราเอล Kuznetsov ได้เป็นหัวหน้าแผนกข่าวของ ‘Radio Liberty’ (1983-1990) และเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ใหญ่ที่สุดในอิสราเอล Вести (1990-1999) ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษารัสเซียที่ได้รับความนิยมสูงสุดนอกประเทศโซเวียตรัสเซีย


‘คณะกรรมการปลดปล่อยสามชาวเลนินกราด’ นำโดย Tilman Bishop วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐโคโลราโด ได้จัดการรณรงค์ทางการทูต เพื่อให้มีการปล่อยตัวนักโทษที่เหลือ 

ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1981 Mendelevitch ก็ได้รับการปล่อยตัวและอพยพไปอยู่กับครอบครัวในอิสราเอล เขาเรียกร้องให้มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยสมาชิกอีกสองคนของกลุ่ม ได้แก่ Fedorov และ Murzhenko ผู้ซึ่งไม่ใช่ชาวยิว เหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสหภาพโซเวียต และได้เรียกร้องให้มีการประท้วงต่อไป

วันที่ 15 มิถุนายน 1984 Aleksei Murzhenko ก็ได้รับการปล่อยตัวเพียงเพื่อจะถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหา ‘ละเมิดทัณฑ์บน’ ต่อในเดือนมิถุนายน 1985 หลังจากติดคุกมา 15 ปี Yuri Fedorov ก็ได้รับการปล่อยตัวภายใต้ข้อกำหนดในการตั้งถิ่นฐาน แต่เขายังคงถูกปฏิเสธการให้วีซ่าไปจนถึงปี 1988 

และเมื่อเขาเดินทางไปอเมริกาในปี 1998 เขาได้ก่อตั้ง The Gratitude Fund เพื่อระลึกถึงผู้ต่อต้านสหภาพโซเวียต ที่ทำ ‘สงครามต่อต้านอำนาจของโซเวียตและยอมสละเสรีภาพส่วนบุคคลและชีวิตเพื่อประชาธิปไตย’


อีก 45 ปีต่อมาในปี 2016 Anat Zalmanson-Kuznetsov ผู้สร้างภาพยนตร์ ซึ่งเป็นบุตรสาวของ Eduard Kuznetsov และ Sylva Zalmanson ได้สร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘Operation Wedding’ สารคดีเกี่ยวกับการหักหลังที่กำกับโดยเธอเอง เพื่อเปิดเผยถึงเรื่องราวของพ่อแม่ของเธอซึ่งเป็นตัวเอกในกลุ่ม ‘วีรบุรุษ’ ของโลกตะวันตก แต่เป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ ในสายตาของสหภาพโซเวียต 

จึงนับเรื่องตลกมาก ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในสหภาพโซเวียตกลับกลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องในมุมมองภายใต้การโฆษณาชวนเชื่อของ ‘สื่อตะวันตก’ ทั้ง ๆ ที่การจี้เครื่องบินโดยสารในประเทศตะวันตกก็ถือเป็นการก่ออาชญากรรมร้ายแรง ทั้ง ๆ ที่ได้มีชาวรัสเซียเป็นจำนวนมากที่อพยพหลบหนีออกจากสหภาพโซเวียตด้วยวิธีการต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่การจี้เครื่องบินโดยสารและไม่ได้ใช้ความรุนแรงแต่อย่างใด 

โลกตะวันตกโดยสื่อตะวันตกจึงทำตัวเป็นผู้ตัดสินถูกผิดด้วยบรรทัดฐานที่บิดเบี้ยวและเป็นเช่นนี้มาโดยตลอดจนกระทั่งทุกวันนี้ 

👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล 
 


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top