Saturday, 18 May 2024
ECONBIZ

เคทีซีควงแขนซาฟารีเวิลด์ จัดกิจกรรม ‘KTC Fun & Friend Family Dy’ ชวน ‘อินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวและครอบครัว’ สัมผัสประสบการณ์

(17 พ.ค. 67) นางสาววริษฐา พัฒนรัชต์ ผู้บริหารสูงสุด ฝ่ายการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ นางสาวอัมพรศรี คิ้วคชา กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซาฟารีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) จัดกิจกรรม ‘KTC Fun & Friend Family Day @ Safari World’ ชวนอินฟลูเอนเซอร์ สายท่องเที่ยวและครอบครัวกว่า 30 คน ร่วมสัมผัสประสบการณ์ ‘คะแนนน้อยแลกได้’ กับการใช้คะแนน KTC FOREVER แลกบัตรเข้าชมซาฟารีเวิลด์ หรือแลกไอศกรีมโคน Soft Serve ยีราฟ ม้าลายและนกมาคอว์ ณ ซาฟารีเวิลด์ถนนรามอินทรา

ภายในงานเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ได้ร่วมกันป้อนอาหารยีราฟที่ Giraffe Zone และเพลิดเพลินกับ ‘Camp Kangaroo’ จุดแค้มปิ้งแห่งใหม่ในบรรยากาศธรรมชาติของทวีปออสเตรเลียหนึ่งเดียวในไทย รวมทั้งสัมผัสความน่ารักของน้องจิงโจ้อย่างใกล้ชิด พร้อมป้อนอาหาร ‘ข้าวโพดบาร์บีคิว’ และ โซน ‘Tree House Aviary & Kitchen’  สัมผัสนกเล็กสีสันสดใส Sun Conure กว่า 200 ตัว อย่างใกล้ชิด และป้อนอาหารนกแนวใหม่ในรูปแบบ ‘โคนไอศกรีม’ ซึ่งซาฟารีฯ ผลิตเองด้วยสูตรที่ผ่านการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านนก และสัตวแพทย์ของซาฟารีเวิลด์ ต่อด้วยการชมโชว์และความน่ารักของโลมา สิงโตทะเล นก และตื่นเต้นไปกับคาวบอยสตั๊นท์ แวะเก็บภาพน่ารักกับซุปเปอร์สตาร์แห่งซาฟารีฯ น้องลิงอุรังอุตังที่ ‘สตูดิโอธรรมชาติ’ ปิดท้ายกิจกรรมด้วย Special ‘Safari Feeding’ หนึ่งเดียวในไทย สัมผัสประสบการณ์ความตื่นเต้นเร้าใจบนรถ Feeding Truck กับการให้อาหารเสือและสิงโตสุดยอดนักล่า โดยมีเจ้าหน้าที่ซาฟารีฯ คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

หอการค้าต่างชาติฯ ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรงวันละ 400 ชี้!! ต้องเพิ่มทักษะคนก่อน หากยังขาดมีแต่จะฉุดจีดีพีไทยลงถึง 20%

(17 พ.ค. 67) BTimes เผย หอการค้าต่างประเทศในไทยแสดงจุดยืนค้านขึ้นค่าแรงวันละ 400 บาท หลังมองว่าเศรษฐกิจไทยไม่พร้อมรับค่าแรง 400 ต้องเสริมทักษะ

วีเบคก้า ริสซอน ไรเวอร์ก ประธานหอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) เปิดเผยว่า ได้แสดงจุดยืนเกี่ยวกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำวันละ 400 บาท โดยมีเนื้อหาในเอกสารว่า หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย (JFCCT) มีความห่วงกังวลเกี่ยวกับข้อเสนอของรัฐบาลไทยที่ต้องการให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำรายวันทั่วประเทศเป็น 400 บาทในเดือนตุลาคมนี้ และมีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ดังนี้...

เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศ ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับขึ้นค่าจ้างและนโยบายค่าแรงขั้นต่ำจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ถ้าไม่เป็นเงื่อนไขล่วงหน้า ก็จำเป็นต้องมีมาตรการสำหรับการเพิ่มผลิตภาพตามแผนงานที่กำหนดไว้ ไม่เช่นนั้น ก็จะกลายเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ได้งานเท่าเดิม ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาเงินเฟ้อ โดยไม่ได้ประโยชน์อื่นใดมากนัก การเพิ่มผลิตภาพในบางบริษัทที่มีขนาดเล็กอาจจะต้องใช้เวลามากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า 

ขณะเดียวกัน นอกจากขนาดแล้ว ภูมิภาคและประเภทของอุตสาหกรรมยังอาจมีผลต่อความสามารถขององค์กรในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอีกด้วย แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ รวมถึงการยกระดับเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จะเป็นปัจจัยที่สำคัญ

นอกจากนี้ การขาดทักษะในการทำงาน ก็เป็นสาเหตุสำคัญของผลิตภาพที่ต่ำ รายงานธนาคารโลกเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ว่าด้วยเรื่องทักษะแรงงานในประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าการขาดทักษะพื้นฐานทำให้ GDP ลดลงได้ถึง 20% รายงานของธนาคารโลกเดือนมกราคม 2563 ที่สำรวจสถานะเศรษฐกิจไทย ได้กล่าวถึงผลิตภาพและให้ข้อเสนอแนะบางประการซึ่งค่อนข้างรุนแรง 

สำหรับ JFCCT มีข้อแนะนำเกี่ยวกับการเพิ่มผลิตภาพในประเทศไทยและประเด็นอื่นที่เกี่ยวข้อง ดังนี้...

1. เศรษฐกิจไทยยังไม่พร้อมสำหรับค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ

2. ในการจะทำให้การเพิ่มผลิตภาพเป็นนโยบายหลัก จำเป็นต้องให้การศึกษาแก่ภาคธุรกิจ ต้องนำมาตรการกำกับดูแลและมาตรการบังคับมาใช้ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการด้านผลิตภาพ หรือ Productivity Commission

3. ต้องเสริมสร้างทักษะ เพิ่มขีดความสามารถทางเทคนิค และนวัตกรรม โดยการให้การศึกษาและการฝึกอบรม ให้ทุนหรือเงินอุดหนุนระดับสูง เพื่อนำเทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ มาใช้

4. การพัฒนาแรงงาน (workforce development) จำเป็นต้องผสมผสานกันระหว่างการฝึกอบรมและเพิ่มทักษะให้คนท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการอนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างชาติได้อย่างเสรี 

5. การเปิดรับแรงงานต่างชาติจะช่วยยกระดับทักษะของแรงงานในประเทศ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ ทั้งนี้ แนะนำให้ไทยปฏิรูประบบการอนุญาตทำงานและการให้วีซ่าแก่คนทำงานต่างชาติด้วย รวมทั้งการปรับปรุง LTR ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น

6. ขนาดเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เกษตรกรรม การผลิต และการท่องเที่ยว จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันไป

'CHANGAN' ตั้งเป้าปีหน้าใช้ชิ้นส่วนในไทย 60% ป้อนโรงงาน คว้า 'ไทยซัมมิท-ซัมมิท-อาปิโก้' รับงานล็อตแรก 2 หมื่นล้าน

เมื่อวานนี้ (16 พ.ค.67) นายเซิน ซิงหัว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซาท์อีสเอเชีย จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้อฉางอาน (CHANGAN) เปิดเผยว่า ได้จับมือกับผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทย เช่น ซัมมิท, ไทยซัมมิท และอาปิโก้ โดยได้มีการวางแผนจัดซื้อรวมกว่า 20,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตรถไฟฟ้ารุ่นแรกของเรา ซึ่งจะเริ่มผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปีหน้าด้วย

ล่าสุดบริษัทเข้าร่วมงาน Subcon Thailand 2024 เพื่อช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศ โดยเฉพาะ SMEs ไทย ให้เข้าไปสู่ซัพพลายเชนกลุ่มอุตสาหกรรมของฉางอาน เพื่อยกระดับให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าชั้นนำของโลกอีกด้วย

โดยงาน Subcon Thailand 2024 เป็นงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม และจับคู่ธุรกิจชั้นนำของอาเซียน โดยปีนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสู่การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม โดยทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ได้นำ 7 ค่ายรถยนต์ไฟฟ้า รายใหญ่ที่ลงทุนในไทยเข้าร่วมงาน และฉางอานได้มีโอกาสร่วมแชร์ประสบการณ์ และเผยถึงทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าผ่านกิจกรรม 'BOI Symposium : EV Supply Chain'

ปัจจุบันฉางอานมีการจัดตั้งบริษัทในประเทศไทย 3 แห่ง มีการลงทุนมูลค่าสูงถึง 8.8 พันล้านบาท ในส่วนฐานการผลิตจังหวัดระยอง ซึ่งจะครอบคลุมกระบวนการการผลิตยานยนต์ทั้งหมดตั้งแต่การเชื่อม การพ่นสี การประกอบแบตเตอรี่ไปจึงถึงการประกอบขั้นสุดท้าย โดยระยะที่ 1 มีกำลังการผลิตอยู่ 100,000 คันต่อปี ในไตรมาสแรกของปี 2025 และจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 คันในปีถัดไป

ทั้งนี้ฉางอานวางเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเปิดตัวยานยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่มากกว่า 15 รุ่นให้กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าชาวไทย ภายใต้ยุทธศาสตร์ ในการขับเคลื่อนธุรกิจ คือการสร้างระบบห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่นซึ่งมุ่งเน้นไปที่การทำธุรกิจในต่างประเทศ มีความเปิดกว้าง และโปร่งใส เป้าหมาย คือ เพื่อให้ห่วงโซ่อุปทานสามารถให้บริการทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บริษัทตั้งเป้าในการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% และสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย และทำให้ประเทศไทยกลายเป็นห่วงโซ่อุปทานรถที่ใช้พลังงานใหม่ (New Energy Vehicle-NEV) ในอุตสาหกรรมนี้ด้วย

'บังโต' ลุยปั้นแบรนด์ 'เนื้อแท้' โกอินเตอร์ ปักธงกำไรร้อยล้าน ปูทางเข้าตลาดหุ้น

(16 พ.ค. 67) นายวีรชน ศรัทธายิ่ง CEO บริษัท คอมพานี บี จำกัด หรือ ‘โต ซิลลี่ฟูล’ อดีตนักร้องชื่อดัง ที่ผันตัวทำธุรกิจร้านอาหาร ภายใต้แบรนด์ ‘เนื้อแท้’ กล่าวว่า ตลาดร้านอาหารในประเทศมีการแข่งขันที่สูง สาเหตุหลัก ๆ มาจากจำนวนผู้ประกอบการที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากร้านอาหารในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนสูง ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง ผู้บริโภคมีตัวเลือกหลากหลาย ต้องการความสะดวก รวดเร็ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าการแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารจะสูง แต่ทางเรามั่นใจในคุณภาพของร้านเนื้อแท้ ด้วยจุดเด่นที่ไม่เหมือนใคร เช่น เน้นคุณภาพของเนื้อ และสูตรอาหารเฉพาะ เน้นความอร่อยและคงรสชาติของเนื้อแท้

สำหรับปีนี้ คอมพานี บี มีแผนเปลี่ยนเนื้อวัวรูปแบบเดิมให้กลายเป็น ‘เนื้อแองกัส’ ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์เนื้อแท้, เนื้อแท้ Wok, The Beef Master, เซียนเตี๋ยว และเนื้อแท้บุชเชอรี่ และเนื้อแท้ Wok กะ Steak (เป็นสตรีทฟู้ดโมเดลใหม่ที่กำลังจะเปิดตัว) ทั้งหมด ภายใน 4-5 เดือนต่อจากนี้ ปัจจุบันบริษัท มีธุรกิจร้านอาหารในเครือ 7 แบรนด์ แบ่งเป็น 21 สาขาใหญ่ 8 สาขาย่อย รวมเป็น 29 สาขา และมีธุรกิจขายเนื้อสดอีก 1 แบรนด์ คือ เนื้อแท้บุชเชอรี่

นาย นภศูล รามบุตร ตำแหน่ง Operating executive บริษัท คอมพานี บี จำกัด กล่าวว่า ปี 2565 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เนื้อวัว 360 ตัน ต่อมา ปี 2566 มีการนำเข้า 400 ตัน และล่าสุดปีนี้คาดว่าจะนำเข้าวัวแองกัส 700 ตัน จากการขยายสาขาอีก 4 สาขาใหญ่ และ 2 สาขาย่อยไปจนถึงสิ้นปีนี้ รวมถึงการเปิดรับกลุ่มลูกค้าที่สนใจในผลิตภัณฑ์ สำหรับลูกค้าในกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และลูกค้ารายย่อยทั่วไป ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 29 สาขา และจะเปิดให้บริการทั้งสิ้น 35 สาขาในปีนี้

ในอนาคต Wok กะ Steak อาจจะขยายธุรกิจสู่ต่างประเทศด้วยกลยุทธ์ ‘แฟรนไชส์’ โดยเล็งเป้าไปที่ตลาดที่มีศักยภาพอย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย และ ตะวันออกกลาง ซึ่งในตลาดเหล่านี้กระตุ้นให้ Wok กะ Steak มองหาพันธมิตรเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจา กลยุทธ์นี้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกศักยภาพ ของ Wok กะ Steak ผลักดันธุรกิจอาหารไทยก้าวสู่ แบรนด์ระดับภูมิภาค (Regional Brand)

สำหรับเป้าหมายในปีนี้ทำรายได้แตะ 750-800 ล้านบาท เติบโตจากปี 2566 ที่ทำรายได้ 500 ล้านบาท ส่วนแผนธุรกิจระยะยาวมุ่งสู่การระดมทุนในตลาดหุ้นไทย โดยตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำ 1,500 ล้านบาท และมีกำไร ‘ร้อยล้านบาท’ ส่วนไตรมาส 1 ที่ผ่านมาทำรายได้ 150 ล้านบาทแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากร้านอาหาร 70% และรายได้จากเนื้อสัตว์ 30%

ส่วนแผนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ มีแผนจะลงทุนก่อสร้างโรงงานเพิ่มเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เติบโต อีกทั้งขยายสาขาของร้านอาหาร พัฒนาแบรนด์ใหม่ ๆ และเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กับธุรกิจ

'แกร็บ' ผนึก 'ภาครัฐ-เอกชน' จัดงาน 'GrabNEXT 2024' ชู 'T.R.A.V.E.L' ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทย สู่อนาคตที่ดีกว่า

(15 พ.ค.67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินหน้าส่งเสริมและผลักดันการท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืนตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมร่วมเป็นประธานเปิดงานเสวนาเชิงนโยบายประจำปี ‘GrabNEXT 2024: Driving towards the Future of Tourism ขับเคลื่อนการท่องเที่ยว สู่อนาคตที่ดีกว่า’ ซึ่งจัดขึ้นโดย แกร็บ ประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและหาแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ ด้วยการยกระดับการท่องเที่ยวไทยให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’

พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งจากภาครัฐและเอกชน อันได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรติ นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า “การทำให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ถือเป็นเป้าหมายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในปีนี้ ซึ่งนอกจากการที่กระทรวงต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Tourism Hub หรือศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค เรายังต้องการที่จะบรรลุเป้าหมายของการเป็น Aviation Hub ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยวและผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573 ตามนโยบายของรัฐบาลด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ จากการที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ทำให้ทางกระทรวงมีการตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.5 ล้านล้านบาท

โดยการที่จะบรรลุจุดมุ่งหมายดังกล่าว ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ซึ่งทางกระทรวงต้องขอขอบคุณ แกร็บ ประเทศไทย ที่จัดงานในครั้งนี้ พร้อมทั้งยังช่วยสนับสนุน ผลักดัน การเดินทางท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพทั่วประเทศไทยด้วยดีเสมอมา และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าองค์กรต่าง ๆ จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และนำพาเศรษฐกิจไทยให้เจริญรุดหน้าต่อไป”

นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า “การพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวถือเป็นเป้าหมายหลักที่รัฐบาลเร่งผลักดันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ IGNITE THAILAND เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งหนึ่งในวิสัยทัศน์สำคัญคือการพลิกฟื้นการท่องเที่ยว และตั้งเป้าผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวของภูมิภาค (Tourism Hub) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศและส่งเสริมเศรษฐกิจ แกร็บจึงได้จัดงาน GrabNEXT เพื่อนำความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็มของแกร็บที่ให้บริการครอบคลุมทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ ‘T.R.A.V.E.L.’ ที่จะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางมายังประเทศไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและมหภาค และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน”

เพื่อเป็นการสานต่อแนวทางการดำเนินงานของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการยกระดับการท่องเที่ยวให้พร้อมตอบสนองพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ แกร็บจึงได้เผยกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L. ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

>> Technological Integration การนำเทคโนโลยีดิจิทัลอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวในกลุ่ม F.I.T. (Free Independent Travelers) หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเองกลายเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่เดินทางมาประเทศไทยในปัจจุบัน ดังนั้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในกลุ่มนี้ แกร็บ จึงได้ออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีมาเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว ตั้งแต่การวางแผนการเดินทางไปจนถึงการอำนวยความสะดวกระหว่างการท่องเที่ยว อาทิ หน้าจอต้อนรับนักท่องเที่ยว ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถสำรวจ และวางแผนการเดินทางบนแอปพลิเคชัน Grab ตั้งแต่ก่อนมาถึงประเทศไทย การพัฒนาแอปพลิเคชันให้มีหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่นและเกาหลี หรือ การเชื่อมต่อกับ แอปพลิเคชันชั้นนำให้สามารถใช้บริการเรียกรถของ Grab ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง WeChat Booking.com และ Trip.com ได้ รวมถึง การขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay

>> Reliability & Safety การสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยว

ความปลอดภัยเป็นปัจจัยหลักที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงในการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกที่พัก หรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยว แกร็บ จึงได้ยกระดับความปลอดภัยผ่านการพัฒนา 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เทคโนโลยีด้านความปลอดภัย อาทิ ฟีเจอร์ Safety Centre สำหรับแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือ ฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง มาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการคัดกรองและอบรมพาร์ทเนอร์คนขับ การกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่มุ่งเน้นด้านความปลอดภัย และการทำประกันเพื่อคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ทเนอร์คนขับ และสุดท้ายกับการจัดแคมเปญรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัย ที่ล่าสุด แกร็บได้จับมือกับกรุงเทพมหานคร เพื่อรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

>>  Accessibility การส่งเสริมการเดินทางเพื่อเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง

ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาสนใจเดินทางไปยังเมืองรองมากขึ้น สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวเมืองรองในปีที่ผ่านที่เติบโตขึ้นถึง 38%1 ดังนั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปยังจังหวัดในเมืองหลักและเมืองรองได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น แกร็บ จึงได้มุ่งสร้างประสบการณ์การเดินทางแบบไร้รอยต่อด้วยบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชันที่มีให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองรอง ทั้งยังได้ผนึกความร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ

>> Valuable Experiences การสร้างประสบการณ์การเดินทางที่น่าจดจำ

ความเป็นเลิศในด้านการบริการที่สอดแทรกเสน่ห์ของความเป็นไทยเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดและพิชิตใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เดินทางกลับมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อสร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวในทุกเที่ยวการเดินทาง แกร็บ จึงได้พัฒนาศักยภาพให้กับพาร์ทเนอร์คนขับผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ภายใต้โครงการ GrabAcademy ครอบคลุมทั้งในด้านมาตรฐานการให้บริการการสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย นอกจากนี้ ยังได้ยกระดับประสบการณ์การเดินทางให้พิเศษยิ่งขึ้นผ่านบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมอบความสะดวกสบายสุดเอ็กซ์คลูซีฟให้กับนักท่องเที่ยวในทุกการเดินทาง

>> Environmentally Friendly การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก

การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมถือเป็นประเด็นสำคัญที่คนทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ ซึ่งจากการสำรวจพบว่ากว่า 90% ของนักท่องเที่ยวให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน2 เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน แกร็บ จึงได้มุ่งพัฒนาและนำเสนอตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ใช้บริการ ไม่ว่าจะเป็น การริเริ่มโครงการ Grab EV ที่ส่งเสริมให้พาร์ทเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในการให้บริการเรียกรถ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้โดยสาร และการพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน (Carbon Offset) ที่ผู้ใช้บริการสามารถร่วมบริจาคเงิน 2 บาทต่อการเดินทาง หรือ 1 บาทจากการสั่งอาหาร เพื่อนำไปปลูกต้นไม้เพื่อชดเชยคาร์บอน ซึ่งจากการบริจาคเงินของผู้ใช้บริการในปี 2566 แกร็บสามารถนำไปปลูกต้นไม้ได้เป็นจำนวนกว่า 150,000 ต้น 

>> Local Touch การผลักดันให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น

การดึงเอกลักษณ์ความเป็นไทยมาพัฒนาเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวถือเป็นกลยุทธ์ระดับชาติในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของประเทศไทย โดยจากการสำรวจพบว่า 65% ของนักท่องเที่ยวให้ความสนใจที่จะมาสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น3 ไม่ว่าจะเป็น การไปเทศกาลประจำจังหวัดต่าง ๆ การได้ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน หรือการอุดหนุนสินค้าชุมชน ดังนั้น แกร็บ ในฐานะแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้บริโภคกับผู้ประกอบการรายย่อย และพาร์ทเนอร์คนขับ จึงได้มุ่งสนับสนุนการเข้าถึงประสบการณ์ท้องถิ่นและวัฒนธรรมไทยในมิติต่าง ๆ อาทิ การส่งเสริมการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจผ่านการทำหนังสือไกด์บุค Grab & Go ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การโปรโมทอาหารไทยเมนูเด็ดจากร้านอาหารรายย่อยผ่าน GrabFood และการจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นฝีมือคนไทยผ่าน GrabMart เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถเลือกซื้อได้สะดวกยิ่งขึ้น เป็นต้น

ภายในงานยังได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ ‘พลิกโฉมประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน’ โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ได้แก่ นายนิธิ สีแพร รองผู้ว่าการด้านการสื่อสารการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร นางสาวเพลินพิศ โกศลยุทธสาร ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการตลาด ด้านการท่องเที่ยวและพันธมิตร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นางสาวเมธิณี อนวัชกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจการเดินทางและบริหารพาร์ทเนอร์คนขับ แกร็บ ประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยน ความคิดเห็นและหารือถึงแนวทางในการผลักดันท่องเที่ยวให้ตอบรับกับพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ โดยมุ่งเน้นไปที่ 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ ทิศทางและอนาคตการท่องเที่ยวของประเทศไทย การกำหนดยุทธศาสตร์ด้านความปลอดภัยของการท่องเที่ยว การสนับสนุนประสบการณ์ท้องถิ่นชูจุดเด่นซอฟต์พาวเวอร์ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างสมดุลระหว่างสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน GrabNEXT 2024 ได้ที่ grb.to/GrabNEXT2024

‘EGCO Group’ เผยกำไร Q1/67 แตะ 1,500 ลบ. ลุยรุกธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ-พลังงานหมุนเวียน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ประกาศผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ปี 2567 มีรายได้รวม 11,360 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,591 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า Paju ES และ Nam Theun 2 รวมทั้งการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass พร้อมตอกย้ำความมั่นใจการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้า Yunlin มีความคืบหน้าตามแผน ลุยลงทุนรูปแบบ M&A โรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มุ่งรับรู้รายได้ทันที รวมทั้งขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน มุ่งบรรลุเป้าหมายเพิ่ม RE เป็น 30% ภายในปี 2573

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปี 2567 EGCO Group สามารถบริหารจัดการ Portfolio โรงไฟฟ้าและต้นทุนเชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าทุกแห่งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สามารถสร้างรายได้จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้เป็นไปตามแผนงาน ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอันใกล้ 

ในไตรมาสนี้ EGCO Group ประสบความสำเร็จในการปิดดีลซื้อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ในสหรัฐอเมริกา และการเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โรงไฟฟ้า EGCO Cogeneration (ส่วนขยาย) จังหวัดระยอง ส่งผลให้ EGCO Group รับรู้รายได้จากโครงการทั้ง 2 แห่งทันที ด้านธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด หรือ ESCO ในกลุ่มเอ็กโก ได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ เซอร์วิส (แหลมฉบัง) จำกัด เพื่อร่วมลงทุนพัฒนาเครื่องทดสอบแผงโซลาร์เซลล์ที่มีความยาวมากกว่า 2 เมตร แห่งเดียวในประเทศไทยและในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน 

สำหรับผลประกอบการในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 EGCO Group มีรายได้รวม 11,360 ล้านบาท ในขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงาน 1,591 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากโรงไฟฟ้า Paju ES ซึ่งสามารถทำกำไรได้อย่างโดดเด่นต่อเนื่อง และโรงไฟฟ้า Nam Theun 2 ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น รวมทั้งการรับรู้รายได้จากการเข้าซื้อหุ้นในธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค CDI และกลุ่มโรงไฟฟ้า Compass ทำให้ในไตรมาสนี้ EGCO Group มีกำไรสุทธิ 1,662 ล้านบาท 

สำหรับความคืบหน้าของโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง Yunlin ในไต้หวัน ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 โครงการมีความพร้อมทุกด้านและการก่อสร้างมีความก้าวหน้าตามแผนงานเป็นลำดับ โดยได้ติดตั้งเสากังหันแล้วเสร็จรวม 54 ต้น ซึ่งได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วทั้งสิ้น 33 ต้น คิดเป็นกำลังผลิตรวม 264 เมกะวัตต์ มีอัตราการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยของโครงการสูงกว่า 40% ยืนยันศักยภาพการสร้างรายได้ในอนาคต และมีกำหนดแล้วเสร็จครบ 80 ต้น กำลังผลิตรวม 640 เมกะวัตต์ ภายในปี 2567

“EGCO Group ได้ครบรอบการดำเนินงานปีที่ 32 ด้วยรากฐานที่มั่นคง เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา บริษัทมุ่งมั่นสร้างการเติบโตให้ธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ในทิศทางที่สอดคล้องกับยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ด้วยการแสวงหาโอกาสลงทุนในรูปแบบ M&A ในโรงไฟฟ้าคุณภาพสูงที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เพื่อสร้างรายได้ทันที รวมทั้งการขยาย Portfolio พลังงานหมุนเวียน เพื่อบรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ในขณะเดียวกัน EGCO Group ยังเดินหน้าสร้างสมดุลระหว่าง ‘ธุรกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม’ ตามกรอบ ESG ภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี และปราศจากการคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้ผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้าน และสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลและยั่งยืน” ดร.จิราพร กล่าวสรุป

'พีระพันธุ์' เตรียมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานชุมชนสู่ประชาชน ผลิตน้ำมันจากขยะ-แบตเตอรี่ลิเธียมกักเก็บไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

พีระพันธุ์ นำเสนอ นายกฯ โชว์นวัตกรรมผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก แบตเตอรี่สำหรับระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีด้านพลังงาน เตรียมพร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่าย

เมื่อวานนี้ (14 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เข้าร่วมประชุม ครม.สัญจร จังหวัดเพชรบุรี ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี โดยก่อนการประชุมได้นำเสนอนิทรรศการด้านพลังงานแก่นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุม โดยเป็นนวัตกรรมการผลิตน้ำมันจากขยะพลาสติก/ยางพารา ใช้เทคโนโลยีไพโรไลซีส ซึ่งน้ำมันที่ได้จะนำไปใช้กับเครื่องยนต์การเกษตรเป็นหลัก เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร นอกจากจะสามารถผลิตน้ำมันได้ในราคาถูกแล้ว ยังสามารถลดปริมาณขยะได้อีกด้วย โดยเทคโนโลยีนี้เกิดจากครูน้อย หรือ นายทวีชัย ไกรดวง ครูอัตราจ้างโรงเรียนในจังหวัดสกลนคร ที่เกิดความสนใจ ทดลอง จนประสบความสำเร็จ 

จากนั้น ได้มีการนำเสนอเทคโนโลยีชุดแบตเตอรี่ลิเธียมกักเก็บไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือน ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควบคุมการจ่ายไฟ หรือ Battery Management System (BMS) ซึ่งทำให้แบตเตอรี่สามารถจ่ายกระแสไฟได้เสถียร ยาวนาน และจากการประดิษฐ์คิดค้นและประยุกต์ใช้เอง จึงทำให้ต้นทุนของแบตเตอรี่ที่ได้ ราคาถูกเมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศ 

นอกจากนี้ ยังมีโซลาร์เซลล์หมุนตามแสงอาทิตย์ ซึ่งประยุกต์การรับแสงของแผงโซลาร์เซลล์ มาใช้วัดค่าแสงและสั่งการมอเตอร์ให้หมุนชุดเฟือง เพื่อให้แผงโซลาร์เซลล์หมุนตามแสงอาทิตย์ ซึ่งสามารถหมุนได้ถึง 300 องศา ทำให้โซลาร์เซลล์สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ 7 ชั่วโมงเต็มต่อวัน เทียบกับแผงโซลาร์เซลล์ปกติที่รับแสงได้มากสุดที่ 5 ชั่วโมงต่อวัน และยังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากกว่ารูปแบบปกติ 4 - 5 เท่า ซึ่งทำให้สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ในครัวเรือน สร้างความยั่งยืนด้านพลังงาน จากการใช้พลังงานสะอาดได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ นายพีระพันธุ์ ได้เตรียมขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านพลังงานดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยจะนำไปเป็นต้นแบบผลิตอุปกรณ์ดังกล่าวให้ประชาชนใช้ในราคาถูก ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงพลังงาน

“วันนี้ผมรู้สึกยินดีที่ได้นำเสนอนิทรรศการด้านพลังงานให้คณะรัฐมนตรีและผู้ที่เข้าร่วมการประชุม โดยเฉพาะเทคโนโลยีซึ่งเกิดจากการไม่หยุดที่จะพัฒนาตนเอง อย่างครูน้อยหรือ นายทวีชัย ไกรดวง ครูอัตราจ้าง ที่ทดลอง พัฒนา จนสามารถสร้างเครื่องผลิตน้ำมันด้วยวิธีไพโรไลซิส ซึ่งนอกจากจะสามารถผลิตน้ำมันที่มีราคาถูกกว่าท้องตลาดแล้ว ยังสามารถลดขยะได้อีกด้วย และยังได้นำเสนอเทคโนโลยีชุดแบตเตอรี่ลิเธียมกักเก็บไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ระดับครัวเรือนและโซลาร์เซลล์หมุนตามแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

สำหรับการดำเนินการให้นวัตกรรมของครูน้อยใช้เป็นผลิตภัณฑ์ราคาถูกให้ประชาชน ผมก็จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้ประชาชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดค่าใช้จ่ายทั้งราคาสินค้าและค่าใช้ไฟ พอตรงนี้สำเร็จ ก็จะส่งผลไปในด้านอื่น ๆ ประชาชนมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานน้อยลง ก็จะมีเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น เพิ่มรายได้ ก็จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ILINK ยิ้มรับกำไร Q1/67 252 ลบ. ปักธงดันรายได้ปีนี้แตะ 7,002 ลบ.

กำไรแรงมาก ILINK มาเหนือคาดการณ์ ยิ้มรับกำไร เผยตัวเลขสดใสตั้งแต่ไตรมาสแรก ทำรายได้ Q1/67 รวม 1,832.75 ล้านบาท มีกำไรเติบโตแรงมากกว่าปีที่แล้ว 59.72% สะท้อนภาพความก้าวหน้า พร้อมโชว์ศักยภาพอันโดดเด่น จากผลงาน และการขับเคลื่อนทุกธุรกิจเป็นไปตามยุทธศาสตร์ที่ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ ชี้แนะแนวโน้มทั้งปี 67 ฉายแววชัดสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน มุ่งผลักดันนำความชำนาญของทุกกลุ่มธุรกิจต่อยอดสู่การทำรายได้ สร้างอัตรากำไรให้เพิ่มพูนแบบมีคุณภาพ พร้อมวางธงชัยดันรายได้ทั้งปีนี้แตะ 7,002 ล้านบาท

(15 พ.ค. 67) บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ILINK ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายสายสัญญาณที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และผู้นำเข้า และค้าส่งอุปกรณ์เครือข่ายส่งสัญญาณ มีรายได้รวมในไตรมาสแรกของปี 2567 จาก 3 กลุ่มธุรกิจในเครือ ได้แก่ ธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Import & Distribution Business) ธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) และธุรกิจโทรคมนาคม และดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom Business & Data Center ทำรายได้รวมอยู่ที่ 1,832.75 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 197.69 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 12.09% ในขณะที่กำไรสุทธิโตแรงเท่ากับ 252.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 94.41 ล้านบาท คิดเป็นเพิ่มขึ้น 59.72% ทะลุเป้าหมายทั้งรายได้ และกำไรสุทธิ โดยสามารถทำอัตรากำไรสุทธิสูงกว่าอดีต ที่เป็นผลเกิดจากการปรับกลยุทธ์ของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก จากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ ‘เติบโตแบบมีคุณภาพ’ กล่าวคือ ทุก ๆ ธุรกิจ จะต้องสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น และต้องลดค่าใช้จ่ายที่เป็นการสูญเสีย

ด้านธุรกิจจัดจำหน่ายสายสัญญาณ (Cabling Distribution Business) นับเป็นธุรกิจเริ่มต้น และยังคงเป็นธุรกิจหลักที่เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน แย้มมีผลการดำเนินงานทั้งรายได้ และทำกำไรเติบโตได้อย่างต่อเนื่องมาตลอดเป็นระยะเวลากว่า 37 ปี โดยในไตรมาส 1/67 นี้ มีรายได้รวม 865.76 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 80.00 ล้านบาท หรือ 10.18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำกำไรรับการเติบโตรวม 90.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.06 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 7.16% และยังสามารถคงอัตรากำไรสุทธิได้มากกว่า 10%ตามเป้าหมายอีกด้วย

สำหรับธุรกิจวิศวกรรมโครงการ (Turnkey Engineering Business) ที่อาศัยหลักความเชี่ยวชาญ และการมีประสบการณ์ โดยเน้นงานประมูลหลักจากโครงการภาครัฐที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งดำเนินงานโดย บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และมีผลงานเป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัด 
ส่งผลทำรายได้รวมที่ได้ทยอยรับรู้รายได้ในไตรมาสแรก ประจำปี 2567 อยู่ที่ 179.83 ล้านบาท มีกำไรรวม 25.98 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรกของปี 2566 ที่มีกำไรรวมของกลุ่มธุรกิจนี้อยู่ที่ 16.98 ล้านบาท โดยในไตรมาสแรกนี้ทำกำไรเพิ่ม 9.00 ล้านบาท หรือ โตแรงถึง 53.04%

ธุรกิจโทรคมนาคมและดาต้าเซ็นเตอร์ (Telecom & Data Center Business) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายไฟเบอร์ออฟติก ที่มีความเสถียรภาพสูงสุดทั่วประเทศไทย หรือ ITEL เปิดงบการเงินไตรมาส 1/67 กวาดรายได้ 788 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 42% จากช่วงเดียวกันปีก่อน และกำไรสุทธิ 123 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 113% จากช่วงเดียวกันปีก่อน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีการเตรียมนำธุรกิจย่อย คือ บริษัท บลู โซลูชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BLUE ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบ และติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคม และดิจิทัลโซลูชั่น ซึ่ง ITEL ถือหุ้น 51% เพื่อเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยภายในปี 2567 นี้อีกด้วย

ทั้งนี้ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมของผลประกอบการในไตรมาส 1/67 พร้อมเผยถึงแผนงานทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจ โดยผู้ลงทุน และผู้ที่สนใจทุกท่าน สามารถเข้าร่วมรับฟัง อัปเดตข้อมูลบริษัทฯ ในงาน ‘Opportunity Day บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน หรือ Opp Day Q1/2024’ ได้ผ่านการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ ในวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.00 - 12.00 น. ซึ่งสามารถรับชมผ่านช่องทาง ดังนี้

-Facebook: INTERLINK FAN
-YouTube: LINK CHANNEL
-Facebook: SET Opportunity Day
-YouTube: SET Thailand
-Website: www.set.or.th/oppday 
-App: SET Application

‘มาม่า’ ไร้ปัญหา หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เชื่อ!! ปรับตัวได้อยู่แล้ว ห่วงก็แต่ผู้ประกอบการรายเล็ก

(15 พ.ค.67) นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่า เปิดเผยถึง กรณีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศว่า ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่น่าห่วงเท่ากับผู้ประกอบการรายเล็ก หรือ เอสเอ็มอี เนื่องจากเชื่อว่ามีการปรับตัวได้อยู่แล้ว

ในส่วนของบริษัทถือว่ามีผลต่อการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้อยมากประมาณ 1% ไม่เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การขอปรับขึ้นราคาต่อกรมการค้าภายใน

ขณะเดียวกันในการปรับขึ้น ทางรัฐบาลมีการทยอยประกาศออกมา จึงทำให้ผู้ประกอบการยังมีเวลาในการปรับตัว ทั้งนี้บริษัทมีการปรับขึ้นค่าแรงให้กับพนักงานในเดือนมกราคมของทุกปีอยู่แล้ว โดยเฉลี่ยปีละ 5-6 บาท

ค่าแรงขั้นต่ำที่จะปรับขึ้น มองว่าการขึ้นค่าแรงจะช่วยให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น กระทบกับบริษัทเพียงเล็กน้อย เพราะปัจจุบันค่าแรงเป็นต้นทุนทางตรงในการผลิตของบริษัทเพียง 10% หากปรับค่าแรงขึ้น 10-15% จะกระทบต้นทุนบริษัทแค่ 1% เราต้องเพิ่มสปีดการผลิต ลดการสูญเสีย เช่น ปัจจุบันเราผลิตบะหมี่แบบซองและถ้วยอยู่ที่วันละ 7 ล้าน จะเพิ่มเป็นวันละ 8 ล้าน โดยที่คนไม่ได้เพิ่ม, เท่ากับค่าแรงต่อการผลิตไม่มีผลแต่อย่างใด

‘PEA’ เปิดตัวแพลตฟอร์ม ‘CARBONFORM’ เครื่องมือช่วยประเมิน-บริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก

(14 พ.ค. 67) นายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวแพลตฟอร์มบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ‘CARBONFORM’ พร้อมปาฐกถาพิเศษหัวข้อ ‘PEA กับการเดินทางไปสู่แผน PEA Carbon Neutrality และทิศทางของ PEA กับ Net Zero ในอนาคต’ โดยมีแขกผู้มีเกียรติ หน่วยงานภายนอก ผู้บริหาร พนักงาน PEA ร่วมงาน ณ อาคาร 4 ชั้น 1 สำนักงานใหญ่ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และถ่ายทอดสดผ่านระบบ WebEx 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) มีภารกิจในการให้บริการจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่ไปกับการดูแลรับผิดชอบสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าสู่ความยั่งยืน เล็งเห็นถึงความสำคัญของ ‘Net Zero’ และมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมายในปี 2580 ให้เป็นองค์กรที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) 

PEA จึงได้พัฒนาแพลตฟอร์ม CARBONFORM เพื่อประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร และเป็นเครื่องมือการขับเคลื่อนเป้าหมาย Carbon Neutrality พร้อมเชิญชวนให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่เป็นนิติบุคคลในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA 74 จังหวัด (ยกเว้น กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และ สมุทรปราการ) ที่สนใจหรือจำเป็นต้องประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM สามารถประเมินและบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกองค์กร ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรต่าง ๆ บริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเครื่องมือที่ใช้งานง่ายและครอบคลุม สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ตั้งแต่การใช้พลังงาน การขนส่ง จนถึงห่วงโซ่อุปทาน ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างเรียลไทม์ วิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรายงานที่สามารถปรับแต่งได้ตามความต้องการขององค์กร ช่วยให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แพลตฟอร์ม CARBONFORM เป็นนวัตกรรมของ PEA เหมาะสำหรับองค์กรทุกขนาด ใช้งานง่าย ปรับแต่งได้ สามารถทดลองใช้งานแพลตฟอร์ม CARBONFORM ฟรี (เงื่อนไขเป็นไปตามที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคกำหนด) ได้ที่ https://bufferbox.pea.co.th/ มี Feature การใช้งานที่สำคัญ ดังนี้ 

1. ระบบแสดงผลแบบ REAL-TIME พร้อม Dashboard Infographic 
2. ข้อมูล Scope 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่ถูกซื้อมา) แบบอัตโนมัติ รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ (เฉพาะลูกค้าที่มิเตอร์อยู่ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ PEA)
3. สามารถสร้างขอบเขตการทำงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ได้ตามโครงสร้างขององค์กร 
4. การใช้งานสะดวก และคำนวณได้ถูกต้อง แม่นยำ
5. ออกรายงานได้อัตโนมัติตามมาตรฐาน อบก. Green Office
6. เริ่มต้นได้ง่ายโดยมี template ให้เลือกตามความเหมาะสมตามขอบเขตขององค์กร 
7. คำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ตามหลักการมาตราฐาน ISO 14064-1 CFO และ อบก. 

‘KTC’ เผย 3 กลยุทธ์กระตุ้นยอดใช้จ่ายหมวดท่องเที่ยว หวังสมาชิกนักเดินทางจดจำ ‘เคทีซีเรื่องเที่ยวบัตรเดียวครบ’

เคทีซีเผยยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่องหลังโควิด-19 เดินหน้ามอบประสบการณ์พิเศษที่แตกต่างด้านการท่องเที่ยวให้สมาชิกด้วย 3 กลยุทธ์หลักประกอบด้วย

1) เสริมความแข็งแกร่งด้านการใช้จ่ายท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์กับสิทธิพิเศษจากกว่า 100 เว็บไซต์ท่องเที่ยวชั้นนำโดยเพิ่มความสะดวกสบายผ่านการปรับโฉมเว็บไซต์รวมสิทธิพิเศษท่องเที่ยว

2) ขยายฐานสมาชิกกลุ่มกำลังซื้อสูงจับมือพันธมิตรมอบสิทธิพิเศษทั้งในและต่างประเทศ 

และ 3) ตอกย้ำจุดเด่นการให้บริการโดยผู้เชี่ยวชาญที่น่าเชื่อถือผ่านเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส พร้อมสร้างการจดจำ ‘เคทีซีเรื่องเที่ยวบัตรเดียวครบ’ หวังสิ้นปีหมวดท่องเที่ยวยังครองแชมป์ยอดรวมใช้จ่ายสูงสุดด้วยอัตราเติบโตมากกว่า 20%

นางประณยา นิถานานนท์ ผู้บริหารสูงสุด สายงานการตลาดบัตรเครดิต ‘เคทีซี’ หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่มีส่วนผลักดันให้การดำเนินธุรกิจของเคทีซีเติบโตได้ตามเป้าหมายคือ การกระตุ้นยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดท่องเที่ยว โดยในไตรมาส 1 ปี 2567 ยอดใช้จ่ายในหมวดดังกล่าวเติบโตสูงเป็นอันดับ 2 ท่ามกลางหมวดการใช้จ่ายผ่านบัตรทั้งหมด นอกจากนี้พฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของสมาชิกได้มีการปรับรูปแบบแตกต่างไปจากที่ผ่านมา เช่น มีการวางแผนท่องเที่ยวด้วยตัวเอง หรือใช้ช่องทางออนไลน์เป็นแหล่งข้อมูลในการหาสถานที่ท่องเที่ยว จองตั๋วโดยสาร จองโรงแรมที่พักมากขึ้น รวมถึงเลือกเส้นทางท่องเที่ยวหรือมีกิจกรรมที่เฉพาะเจาะจงตามแต่ละไลฟ์สไตล์ของแต่ละกลุ่มที่ชัดเจน (Travel with purpose) 

สำหรับปี 2567เคทีซีได้วาง 3 กลยุทธ์เพื่อกระตุ้นยอดรวมการใช้จ่าย รวมถึงขยายฐานสมาชิกในหมวดท่องเที่ยวด้วยเป้าหมายสิ้นปี 2567 เติบโตมากกว่า 20% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 และครองใจให้สมาชิกจดจำหากต้องการเดินทางท่องเที่ยวต้องนึกถึง ‘เคทีซีเรื่องเที่ยวบัตรเดียวครบ’ ประกอบด้วย

1.เสริมความแข็งแกร่งให้กับการใช้จ่ายท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์ ด้วยสิทธิพิเศษจากเว็บไซต์ท่องเที่ยวครบทุกหมวดย่อยจากกว่า 100 พันธมิตรการเดินทางชั้นนำให้สมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีสะดวกสบายยิ่งขึ้นพร้อมเป็นช่องทางสนับสนุนพันธมิตรหมวดท่องเที่ยวที่ร่วมรายการ ผ่านการปรับโฉมเว็บไซต์ www.ktc.co.th/online-travel-booking  เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาข้อมูลและตัดสินใจได้แบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One-Stop Online Travel Hub) พร้อมสิทธิพิเศษส่วนลดสูงสุดถึง 50%

2.ขยายฐานสมาชิกสู่กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง หลังเห็นยอดการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีรายได้สูงกว่า 50,000 บาทเติบโตต่อเนื่องในหมวดท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในต่างประเทศ เคทีซีจึงได้จับมือกับพันธมิตรสายการบินฟูลเซอร์วิสเพื่อมอบสิทธิพิเศษที่ตรงใจ ครอบคลุมร้านค้าในต่างประเทศ รวมถึงแหล่งช้อปปิ้งชื่อดังระดับโลก ในขณะที่ยังให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวในประเทศด้วยการจับมือกับโรงแรมคุณภาพระดับสากล ออกแคมเปญหลากหลายให้กับสมาชิกอีกด้วย

3.ตอกย้ำจุดเด่นการให้บริการผ่านเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส สำหรับสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีด้วยการให้บริการที่ไว้ใจได้ (Trusted Service) โดยผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้บริการด้านการท่องเที่ยวที่น่าเชื่อถือ ติดต่อและเข้าถึงสะดวก รวมถึงสามารถให้คำแนะนำพร้อมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ชูจุดเด่นที่สมาชิกสามารถเลือกทำรายการผ่อนชำระ 0% นานสูงสุด 6 เดือน หรือแลกคะแนน KTC FOREVER แทนส่วนลดได้ทุกผลิตภัณฑ์ เมื่อใช้จ่ายตามที่กำหนด 

นอกจากนี้ เคทีซียังยืนยันในจุดยืนของการเป็นผู้นำในหมวดท่องเที่ยวที่มีความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้น    กับพันธมิตรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลายมาโดยตลอด ทั้งสายการบิน โรงแรม รถเช่า รวมถึงองค์กรส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ อาทิ การท่องเที่ยวสวิตเซอร์แลนด์ (Swiss Tourism) / องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (JNTO) / องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี (KTO) / การท่องเที่ยวฮ่องกง (HKTB) และการท่องเที่ยวไต้หวัน (TTB) ที่ทำให้หมวดท่องเที่ยวของเคทีซี และผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวของเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส มีความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ตอบโจทย์ความต้องการของสมาชิก

นางประณยากล่าวทิ้งท้าย สำหรับการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว เคทีซียังคำนึงถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การที่ร่วมกับสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและคืนประโยชน์สู่สังคมผ่านโครงการ ‘บิน 1 เที่ยว ปลูก 1 ต้น’ (1 Ticket 1 Tree) การนำเสนอผลิตภัณฑ์กรีนโปรดักส์ด้านการเดินทางท่องเที่ยวผ่านช่องทางเคทีซี เวิลด์ ทราเวล เซอร์วิส อาทิ บัตรรถไฟ บัตรรถราง รถเช่าไฟฟ้า (EV) และแพ็กเกจท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น

ผู้สนใจสิทธิพิเศษด้านการเดินทางท่องเที่ยวสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.ktc.co.th/online-travel-booking หรือ ติดต่อเพื่อรับบริการด้านการท่องเที่ยว ที่ KTC World Travel Service โทรศัพท์ 02 123 5050 สำหรับผู้ที่ต้องการสมัครสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซี สามารถคลิก ดูรายละเอียดได้ที่ลิงค์ https://ktc.today/apply-card หรือติดต่อศูนย์บริการสมาชิก ‘เคทีซี ทัช’ ทุกสาขาทั่วประเทศ

หมายเหตุ : บัตรเครดิตใช้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนได้ตามกำหนดจะได้ไม่เสียดอกเบี้ย 16% ต่อปี

'พีระพันธุ์' พิจารณาแนวทางสนับสนุนให้โรงสูบน้ำมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ แก้ปัญหาภัยแล้ง 'เพชรบุรี' บรรเทาทุกข์ ‘เกษตรกร-ประชาชน' โดยเร็ว

เมื่อวานนี้ (13 พ.ค. 67) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงพื้นที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี หลังได้รับการร้องเรียนจากองค์การบริหารส่วนตำบลไร่โคก ถึงปัญหาเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนจากเครื่องสูบน้ำของโรงสูบน้ำไร่โคก - ไร่สะท้อน ที่ชำรุดเสียหายและยังไม่ได้ดำเนินการซ่อมแซม ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร  

โรงสูบน้ำดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาราชบุรีฝั่งขวา สังกัดสำนักชลประทานที่ 13 โดยมีพื้นที่ชลประทานจำนวน 86,500 ไร่ ส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวใน 7 ตำบลของอำเภอบ้านลาด ได้รับความเสียหาย เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งยังมีการอั้นน้ำของพื้นที่ต้นน้ำในเขตจังหวัดราชบุรี และพื้นที่อำเภอเขาย้อยจังหวัดเพชรบุรี รวมถึงยังมีไฟฟ้าไม่เพียงพอต่อการทำงานของโรงสูบ ทำให้น้ำส่งไม่ถึงพื้นที่ปลายน้ำ และไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร  

พื้นที่ตำบลไร่โคกมีพื้นที่ปลูกข้าวได้รับผลกระทบประมาณ 3,000 ไร่ ซึ่งนายพีระพันธุ์ ได้รับทราบปัญหาและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ในเบื้องต้นกระทรวงพลังงานจะพิจารณาแนวทางสนับสนุนให้โรงสูบน้ำมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ตำบลหัวสะพาน อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี หลังจากได้รับแจ้งปัญหาความเดือดร้อนจากการบริหารจัดการน้ำ ณ คลองปากง่าม ตำบลหัวสะพาน ซึ่งขาดประตูน้ำสำหรับกั้นน้ำจากเขื่อนเพชรกรณีเขื่อนปล่อยน้ำ และเกิดปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง เพราะไม่มีพื้นที่กักเก็บน้ำ ทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย รวมถึงคลองอรรถสิทธิ์ ตำบลบ้านกุ่ม ซึ่งประตูน้ำทรุดโทรมและไม่สามารถกันน้ำเค็มได้ หากน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพืชผลทางการเกษตรของประชาชนเช่นเดียวกัน 

โดยนายพีระพันธุ์ ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งแก้ให้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และได้เสนอที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) เพื่อพิจารณางบประมาณสนับสนุน

จากนั้นในช่วงบ่าย ได้เยี่ยมชมโครงการ 'ชั่งหัวมัน'  ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริ มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโครงการชั่งหัวมันฯ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กมาก หรือ VSPP (Very Small Power Producer) จากพลังงานทดแทนแบบหมุนเวียน เริ่มดำเนินการในวันที่ 21ตุลาคม 2552 

โครงการชั่งหัวมันฯ ได้ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค มีการผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งจากกังหันลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตกระแสไฟฟ้า ให้มีการใช้ทรัพยากรภายในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นแบบอย่างในการกระจายโอกาสไปยังพื้นที่ที่ห่างไกลให้มีส่วนร่วมในการผลิตกระแสไฟฟ้า และเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางด้านการลงทุนของรัฐบาลในระบบการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

"วันนี้ ผมได้ลงพื้นที่อำเภอบ้านลาด จังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับฟังเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง มีน้ำไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร ส่งผลกระทบมากถึง 3,000 ไร่ ซึ่งเกิดจากเครื่องสูบน้ำเสียและยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ในเบื้องต้น ผมได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว ส่วนหลังจากนี้ ผมจะพิจารณาแนวทางสนับสนุนให้โรงสูบน้ำมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วต่อไป...

"ส่วนการเยี่ยมชมโครงการ 'ชั่งหัวมัน' ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผมเชื่อว่าเป็นโครงการที่หลายคนคงรู้จัก เป็นโครงการที่แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาญาณของพระองค์ท่าน ที่ไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาประเทศ ซึ่งในส่วนของพลังงานก็มีการใช้พลังงานทดแทนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ 

"และเมื่อปีที่แล้ว ก็มีการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในสระน้ำบริเวณแปลงมะนาวกลางไร่ของโครงการชั่งหัวมันฯ จำนวน 96 แผง ขนาดกำลัง 62.40 kWp เพื่อให้ใช้ประโยชน์ภายในโครงการชั่งหัวมัน ตามพระราชดำริ และเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับผู้เข้าชมโครงการฯ...

"จึงอยากเชิญชวนให้นักเรียน นักศึกษา เกษตรกร และประชาชนที่สนใจ มาเยี่ยมชมโครงการชั่งหัวมัน เพราะนอกจากจะได้ความรู้ด้านพลังงานแล้ว ยังจะได้รู้จักกับทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 สำหรับการนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตอีกด้วย" นายพีระพันธุ์ กล่าว

‘นักวิชาการ’ ห่วง!! ‘ทุเรียนไทย’ เสี่ยงแย่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า ชี้!! 'ภัยแล้ง-คู่แข่ง-ต้นทุนขนส่ง' รุมเร้า แนะ!! รัฐรีบจัดการ

(13 พ.ค.67) นายอัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด เปิดเผยถึงผลวิเคราะห์ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และประเมินทุเรียนไทยใน 5 ปีข้างหน้า ว่า ทุเรียนเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งเดียวที่ทำรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก ในปี 2566 ทุเรียนมีมูลค่าส่งออก 1.4 แสนล้านบาท แซงหน้ามูลค่าการส่งออกยางพารา และมันสำปะหลัง

แต่ยังเป็นรองมูลค่าการส่งออกข้าว โดยมูลค่าการส่งออกทุเรียนคิดเป็นสัดส่วน 25% ของมูลการค้าส่งออกรวมของพืชส่งออกหลัก 4 ชนิด คือ ข้าว ทุเรียน ยางพารา และมันสำปะหลัง ส่วนมูลค่าการส่งออกทุเรียนในปี 2567 นั้น ต้องลุ้นว่ายังสามารถรักษาระดับการส่งออกเหมือนในปี 2566 หรือไม่ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ทั้งนี้จากการวิเคราะห์ดัชนี DURI หรือ ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 และ 5 ปี พบว่า ดัชนีความเสี่ยงทุเรียนไทย ปี 2567 อยู่ที่ 57 ซึ่งเป็นระดับที่ มีความเสี่ยงสูง เพราะเกิน 50 และค่าดัชนี DURI ใน 5 ปีข้างหน้ายังมีค่าเกิน 50 อย่างต่อเนื่องเช่นกัน เพราะมีความเสี่ยงจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปัญหาภัยแล้งของเกษตรกร การส่งออกทุเรียนเวียดนามที่เพิ่มสูงขึ้น และต้นทุนการขนส่งไปประเทศจีนที่เพิ่มสูงขึ้น

นายอัทธ์ กล่าวว่า ช่วง 12 ปีผ่านมา ผลผลิตทุเรียนไทยเพิ่ม 180% เพิ่มจาก 5 แสนตัน เป็น 1.4 ล้านตัน จากการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกทั้งประเทศกว่า 80% แต่ปัญหาภัยแล้งจะทำให้ ผลผลิตทุเรียนลดลง 50% ใน 5 ปีข้างหน้า หากรัฐไม่ปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นรูปธรรม คาดว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ผลผลิตทุเรียนไทยจะลดลง 53% หรือหายไป 6.4 แสนตัน โดยปีนี้ ภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตทุเรียนลดลง 42% หรือลดลง 5.4 แสนตัน

ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผลผลิตทุเรียนเวียดนามเพิ่ม 200% ปี 2566 มีผลผลิตทุเรียน 8 แสนตัน เพิ่มจาก 2.7 แสนตัน ในปี 2557 มีพื้นที่ปลูกเกือบ 7 แสนไร่ และในปี 2567 เวียดนามส่งออกไปจีนเพิ่ม 30% โดยไตรมาสที่ 1/2567 ส่งออกทุเรียนไปจีนเพิ่มขึ้น 105% อยู่ที่ 36,800 ตัน ขณะที่ไทยส่งออกได้เพียง 17,900 ตัน คาดว่าทั้งปี 2567 เวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนไปจีนอยู่ที่ 5 แสนตัน ในขณะที่ไทยส่งออกอยู่ที่ 8 แสนตัน ลดลงเกือบ 2 แสนตัน

รวมทั้งต้นทุนการผลิตทุเรียนไทยก็สูงกว่าเวียดนาม 2 เท่า ปี 2566 ต้นทุนเวียดนามอยู่ที่ 15 บาท/กก เพิ่มขึ้นเป็น 19 บาท/กก.ในปี 2567 ระหว่างปี 2565 -2567 ล้งจีนเพิ่มขึ้น 665 ราย ในขณะที่ล้งไทยปิดตัวจาก 25 ราย เหลือ 10 ราย และในอนาคตคาดว่า ล้งไทยจะปิดตัวเพิ่มขึ้น เหลือไม่ เกิน 5 ราย

ดังนั้นวาระแห่งชาติ เร่งด่วนที่สุดของรัฐบาลคือ ต้องเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งให้กับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อ รายได้ของเกษตรกร และราคาสินค้าที่แพงขึ้น รวมทั้งเน้นการผลิตแบบคุณภาพ เพราะอีก 3 ปีข้างหน้า ทุเรียนเวียดนามจะผลิตได้คุณภาพใกล้เคียงกับทุเรียนไทย

อย่างไรก็ตาม ปี 2567 พบว่ามีการใช้จ่ายเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทุเรียนไทยราว 9.8 แสนล้าน เพิ่มขึ้นจากปี 66 เท่ากับ 1.4 แสนล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 16.2% เมื่อเทียบกับปี 66 โดยภาคตะวันออกมีเงินสะพัดมากที่สุด รองลงมาคือภาคใต้ และภาคเหนือ ตามลำดับ ธุรกิจที่มีเงินสะพัดมากที่สุดคือ ธุรกิจล้ง จำนวน 280 แสนล้านบาท

‘ธนารักษ์-กฟผ.’ เสริมแกร่งบูรณาการข้อมูลที่ดินร่วมกัน มั่นใจ!! ประชาชนได้ค่าทดแทนถูกต้อง-รวดเร็วขึ้น

(13 พ.ค. 67) นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมธนารักษ์กับ กฟผ. ณ ห้องออดิทอเรียม อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จ.นนทบุรี

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่า กรมธนารักษ์มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีที่จะสนับสนุนข้อมูลราคาประเมินที่ดินและข้อมูลที่ดินราชพัสดุ ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนการดำเนินภารกิจ กฟผ. ในการจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินของเอกชนและค่าตอบแทนการขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุที่ระบบโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่าน ส่วนกรมธนารักษ์สามารถนำข้อมูลแนวเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า สถานีไฟฟ้าแรงสูง และข้อมูลแปลงที่ดินของ กฟผ. ไปใช้ในการประเมินราคาที่ดินของกรมธนารักษ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า กฟผ. มีภารกิจพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งจำเป็นต้องรอนสิทธิที่ดินใต้แนวเขตทั้งที่เป็นที่ดินของเอกชนและที่ดินของรัฐเพื่อความปลอดภัยของประชาชนและระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดย กฟผ. มีหน้าที่ในการจ่ายเงินค่าทดแทนการรอนสิทธิด้วยความเป็นธรรม ดังนั้นการบูรณาการข้อมูลราคาประเมินที่ดินและข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากระบบออนไลน์ของกรมธนารักษ์ กับข้อมูลที่ดินจากระบบจัดการข้อมูลงานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน (Land AIMS) ของ กฟผ. จะช่วยให้ กฟผ. สามารถดึงข้อมูลราคาประเมินที่ดินและข้อมูลที่ดินราชพัสดุจากฐานข้อมูลของกรมธนารักษ์ได้โดยตรง ทำให้สามารถจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของที่ดิน ค่าตอบแทนและค่าเช่าการขออนุญาตใช้ที่ดินราชพัสดุแก่กรมธนารักษ์ รวมถึงใช้ในการวางแผน การจ่ายค่าเช่าและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้อย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น

‘รมว.ปุ้ย’ ลุย ‘สมอ.สัญจร’ ให้ความรู้ ‘มาตรฐาน’ แก่ผู้ประกอบการราชบุรี ชี้!! ช่วยเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ เสริมศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า

(13 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน ในพิธีเปิดการสัมมนาภายใต้กิจกรรม ‘สมอ. สัญจร’ ครั้งที่ 2 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดราชบุรี ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทุกระดับนำมาตรฐานไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าระหว่างประเทศที่นำมาตรฐานมาเป็นมาตรการทางการค้าที่มิใช่ภาษี เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และคุ้มครองผู้บริโภค ‘กิจกรรม สมอ. สัญจร’ ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกันที่กระทรวงอุตสาหกรรมได้ลงพื้นที่มาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ทั้งผู้ประกอบการอุตสาหกรรม SMEs และผู้ผลิตชุมชนในจังหวัดราชบุรีและจังหวัดใกล้เคียง เพื่อให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อการแข่งขันทางการค้าได้ 

“จังหวัดราชบุรีเป็นจังหวัดที่มีสถานประกอบการหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งการผลิตไฟฟ้า การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ปูนซิเมนต์และคอนกรีต อาหาร พลาสติก สิ่งทอ เครื่องเคลือบดินเผา เป็นต้น มีโรงงานอุตสาหกรรม 1,181 แห่ง และยังเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่ คือ นิคมอุตสาหกรรมราชบุรี ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการส่งเสริมและพัฒนา และจากฐานข้อมูลพบว่าจังหวัดราชบุรีมีผู้ประกอบการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แล้ว จำนวน 76 ราย 161 ฉบับ มาตรฐานอุตสาหกรรม เอส (มอก.เอส) จำนวน 4 ราย 5 ฉบับ และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จำนวน 81 ราย 121 ฉบับ นับว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพทางอุตสาหกรรมอย่างยิ่ง” รัฐมนตรีพิมพ์ภัทราฯ  กล่าว

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรม สมอ. สัญจร ในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการภารกิจของ สมอ. ทั้งในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการทุกระดับ ตลอดจนส่งเสริมผู้ประกอบการให้มีความรู้ด้านการมาตรฐานที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจ โดยการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านการมาตรฐานเกี่ยวกับการลดโลกร้อน เช่น ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) และการใช้ปูนซิเมนต์ไฮโดรลิคแทนปูนซิเมนต์ปอร์ตแลนด์ เพื่อลดโลกร้อน 

นอกจากนี้ ยังให้ความรู้ด้านการมาตรฐานแก่เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้มีความรู้ด้านการมาตรฐาน ตระหนักถึงความสำคัญ สามารถนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน และเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการคุ้มครองผู้บริโภคของ สมอ. ให้ครอบคลุมและทั่วถึงในทุกพื้นที่ รวมทั้งให้ความรู้แก่ผู้ผลิตชุมชน ในการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตชุมชนในเขตจังหวัดราชบุรีและใกล้เคียง ตลอดจนจัดให้มีพิธีมอบใบรับรองให้แก่ผู้ผลิตชุมชน SMEs และผู้ประกอบการอุตสาหกรรม รวมจำนวน 30 ราย รวมทั้ง จัดทีมออกตรวจร้านจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดราชบุรี เพื่อกำกับดูแลการจำหน่ายสินค้าที่ได้มาตรฐาน ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าที่มีมาตรฐานได้อย่างปลอดภัย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top