Sunday, 30 June 2024
NEWS

หลังจากมีการปั่นกระแสถึง บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ราคาย่อมเยาว์ เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างแพร่หลาย ในเชิงเกี่ยวเนื่องกับการเอื้อผลประโยชน์เอกชนที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ถือหุ้นหลัก จนเกิดความเข้าใจผิด

บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ซึ่งจะเป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ราคาย่อมเยาว์ เพื่อให้คนไทยได้ใช้วัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างแพร่หลาย ในเชิงเกี่ยวเนื่องกับการเอื้อผลประโยชน์เอกชนที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ถือหุ้นหลัก จนเกิดความเข้าใจผิดของประชาชนจำนวนไม่น้อย

ล่าสุด ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Boriphat Sangpakorn ได้โพสต์บอกเล่าข้อเท็จจริงของ “สยามไบโอไซเอนท์” ดังนี้

“2562 ครบรอบ 10 ปี สยามไบโอไซเอนซ์ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนกระทั่งปีปัจจุบัน บริษัท #ยังไม่เคยทำกำไรแม้แต่บาทเดียว และยังขาดทุนสะสมมาแล้วไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งกินทุนไปแล้วถึง 1/5

สยามไบโอไซเอนซ์ ผลิตยาประเภท biosimilars ซึ่งเป็นยาที่เป็นโปรตีน ไม่ใช่ยาเคมีสังเคราะห์ ดังนั้นหลักการผลิตยา จึงเป็นการผลิตยาชีววัตถุคล้ายคลึง(ไม่สามารถก๊อปร้อยเปอร์เซ็นได้เหมือนยาเคมี) การผลิตยาชีววัตถุจึงเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงที่ไทยไม่เคยทำมาก่อน

จุดกำเนิดของสยามไบโอไซเอนซ์ มาจากการที่อาจารย์หมอจากมหาวิทยาลัยมหิดลไปจูงมือสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มาทำ โดยสำนักทรัพย์สินออกทุนทั้งหมด และคณะแพทย์ฯ ศิริราช เป็นหุ้นส่วนฝ่ายการวิจัยและพัฒนา

ดังนั้นในส่วนของสำนักทรัพย์สินจึงได้จดทะเบียนบริษัทเอเพ็กซ์เซล่ามาดูแลการจัดจำหน่าย(ขาดทุนทุกปี ปีละ 20-30 ล้าน เพิ่งรับรู้กำไรปีแรก 2561 จำนวน 4 ล้านบาท และ 2562 กำไร 39 ล้านบาท รวมๆ แล้วเฉพาะเอเพ็กซ์เซล่า ก็ยังขาดทุนสะสมร่วมร้อยล้านบาทอยู่)

ด้านสยามไบโอไซเอนซ์ สำนักทรัพย์สินมอบหมายให้อาจารย์เสนาะ อูนากูล เป็นประธานกรรมการ ซึ่งในขณะนั้นท่านเป็นกรรมการ SCC จึงทำให้มีการดึงทีมบริหารจาก SCC มาดูแลสยามไบโอไซเอนซ์ เนื่องจากต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีการผลิต เพราะเป็นเทคโนโลยีการผลิตยาชีววัตถุ เป็นสิ่งที่ภายในประเทศไม่เคยมีมาก่อนเลย

ความใหม่ของเทคโนโลยีและองค์ความรู้ จึงส่งผลให้สยามไบโอไซเอนซ์ต้องแสวงหาพันธมิตร คือร่วมมือกับ CIMAB รัฐวิสาหกิจของคิวบา เพราะประเทศคิวบาเป็นชั้นแนวหน้าของโลกในอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ซึ่งความร่วมมือในส่วนนี้จึงขยายผลให้มีการร่วมทุนกันตั้งบริษัทเอบินิสแยกมา ทำโรงงานผลิตเพื่อป้อนยาชีววัตถุให้กับคิวบาและการส่งออกไปต่างประเทศ ด้วยสัดส่วนการลงทุน 70/30 (สยามไบโอไซเอนซ์/คิวบา)

ดังนั้นตัวโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์จึงมาตราฐานสูงมาก เพราะนายทุน(ทุนลดาวัลย์) กระเป๋าหนัก จึงออกแบบโรงงานโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมสูง ได้มาตราฐานทั้ง PIC/S และ GMP ต้นทุนโรงงานจึงสูงหลายพันล้านบาท บริษัทต้องเพิ่มทุนไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง ปัจจุบันทุนจดทะเบียนกว่า 4.8 พันล้านบาท เรียกว่าลงทุนชาตินี้ กำไรชาติไหนก็ช่าง

ภายใต้พื้นที่ 36 ไร่ ของที่ตั้งโรงงาน ภายในตัวโรงงานได้จัดเนื้อที่ 1,600 ตารางเมตร สำหรับเป็นห้องปฏิบัติการเพื่อการวิจัย การวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพ โดยครอบคลุมวิธีการทดสอบและตรวจวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับยาชีววัตถุในทุกด้าน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพและทางเคมี (physico-chemical), ลักษณะทางชีวภาพ (biological), และ ลักษณะทางชีวกายภาพ (biophysical analysis) โดยโรงงานออกแบบมาเพื่อให้มีความผสมผสานกับสิ่งแวดล้อมโดยมีพื้นที่มากกว่า 30% เป็นพื้นที่สีเขียวและเป็นโรงงานที่ไม่มีการปล่อยของเสียสู่สิ่งแวดล้อม (Zero Emission)

ปัจจุบันยาชีววัตถุวิจัยสำเร็จแล้ว 6 รายการ และได้รับการรับรองแล้ว 2 รายการ คือ ยาเพิ่มเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล(filgrastim) และยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง(erythropoieth-alfa) โดยมีสายการผลิตอยู่ที่ 1 ล้านโดสต่อปี สามารถทดแทนความต้องการภายในประเทศได้ 1/4 ทำให้รัฐหั่นต้นทุนการนำเข้ายาลงมาได้กึ่งหนึ่ง กล่าวคือประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินปีละ 3 พันล้านบาท แม้ปัจจุบันสยามไบโอไซเอนซ์จะขาดทุนต่อปีที่ 70 ล้านบาท ต่อไปก็ตาม

การผลิตวัคซีนโควิท เป็นความร่วมมือระหว่างอังกฤษกับไทย โดยที่ฝ่ายอังกฤษเป็นผู้เลือกเอง เพราะฝ่ายนั้นเขามีฐานการวิจัยและการอุดหนุนจากองค์การอนามัยโลกอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงมีหน้าที่เอาโรงงานที่มีอยู่ในมือใส่พานประเคนให้เลือก

ผมจำไม่ได้ว่าอ่านเจอที่ไหนว่าไทยเสนอไปกี่โรงงาน ซึ่งเข้าใจว่าหนึ่งในนั้นมี บริษัทองค์การเภสัชกรรม เมอร์ริเออร์ชีววัตถุ รวมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง องค์การเภสัชกรรมร่วมทุนกับโซนาฟี่ปาสเตอร์(บริษัทผลิตวัคซีนอันดับต้นๆ ของโลก จากฝรั่งเศส) ทำโรงงานผลิตวัคซีนในไทยมานาน 20-30 ปีมาแล้ว แม้ชื่อบริษัทจะมีคำว่าชีววัตถุ แต่ไม่ได้ผลิตยาชีววัตถุ เพราะผลิตเพียงแค่วัคซีน

วัคซีนโควิท มีด้วยกันตามที่เข้าใจตอนนี้ คือ 3 ชนิด กล่าวคือ ชนิด mRNA อย่างของไฟเซอร์ในอเมริกา การดูแลรักษาและขนส่งยุ่งยาก แม้จะผลิตได้จำนวนมาก แต่ก็ยังต้นทุนสูง

ชนิดไวรัส vector แบบของแอสตราเซนเนกา ของอังกฤษ ผมไม่ค่อยเข้าใจว่ามันเป็นยังไง แต่คิดว่าหลักการคงคล้ายๆ กับวัคซีนอีโบล่าที่มหาวิทยาลัยมหิดลวิจัยสำเร็จแหละมั้งครับ อันนี้การดูแลไม่ยุ่งยาก ต้นทุนจึงไม่สูง ยิ่งหากผลิตในโรงงานภายในประเทศ ก็ทุ่นค่าขนส่งไปได้มาก

และสุดท้ายชนิดไวรัสเชื้อตาย เป็นวัคซีนที่ใช้หลักการทั่วๆ อย่างวัคซีนพิษสุนักบ้า เป็นต้น ก็จะเป็นวัคซีนตามความหมายที่เราเข้าใจทั่วๆ ไป อันนี้ก็จะเป็นวัคซีนจากทางจีน ที่ทางซีพีไปซื้อบริษัทลูกเอาไว้เป็นข่าวมาหลายวันก่อนนี้ แต่ก็มีข้อจำกัดที่การผลิตแต่ละรอบจะได้น้อยกว่าสองชนิดที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นโดยเปรียบเทียบก็จะได้จำนวนโดสน้อยกว่า

มันก็แน่นอนอยู่แล้วว่าถ้าแอสตราเซนเนกา ถ้าหากจะต้องเลือกโรงงาน ระหว่างโรงงานของสยามไบโอไซเอนซ์กับขององค์การเภสัชกรรม ย่อมต้องเลือกโรงงานที่ทันสมัยที่สุด ความพร้อมในการผลิตสูงที่สุด (โรงงานต้นแบบของ KMUTT ซึ่งเป็นโรงงานยาชีววัตถุแห่งที่สองของไทย ผมไม่คิดว่าจะเป็นตัวเลือกด้วยซ้ำ เพราะเป็นโรงงานที่เพิ่งเริ่มเดินสายพานการผลิตเมื่อปีที่แล้วนี้เอง ในขณะที่สยามไบโอไซเอนซ์ มีโรงงานที่หนึ่ง โรงงานที่สอง และเข้าใจว่ากำลังจะทำโรงงานที่สามด้วยมั้งครับ ดังนั้นกำลังการผลิตติดตั้งจึงมีเหลือเฟือ)

การที่รัฐบาลอนุมัติงบ 6 พันล้าน เป็นการจัดซื้อจัดหาจากแอสตราเซนเนกา ดังนั้นจึงจ่ายเงินให้แอสตราเซนเนกา ไม่ได้จ่ายเงินให้สยามไบโอไซเอนซ์ เพราะสยามไบโอไซเอนซ์แค่รับจ้างผลิตให้แอสตราเซนเนกา ไม่ได้รับจ้างรัฐบาลไทย

ส่วนความร่วมมือระหว่างแอสตราเซนเนกา กับรัฐบาลไทย ที่จะมีความร่วมมือในการวิจัย-การผลิต-การถ่ายทอดองค์ความรู้ อันนี้เป็นผลพลอยได้นอกเหนือจากการทำสัญญาซื้อวัคซีน

ขณะเดียวกันผู้ใช้เฟซบุ๊ก Vee Chirasrestha ก็ได้โพสต์ข้อความเพิ่มเติมถึงกรณี ธนาธรพยายามใส่ความสยามไบโอไซน์ว่า

การที่ธนาธรบอกว่า สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นเสมือนบริษัทที่ ผูกขาด การผลิต ในเชิงที่ต้องการให้คนเข้าใจว่าสถาบันผู้ถือหุ้นเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์ผู้เดียว

โดยในไลฟ์ของธนาธรบอกเองว่า สยามไบโอไซน์ ขาดทุนมาตลอด 10 ปี ร่วม 500 ล้านบาท คล้ายกับให้คนคิดต่อไปว่าบริษัทอยู่ได้ด้วยการที่รัฐบาลเอาเงินภาษีประชาชนไป อุ้ม เอาไว้

ความจริงคือ ถ้า เป็นบริษัทอื่น ขาดทุนขนาดนี้ ป่านนี้คงปิดไปแล้ว

แต่ด้วยเพราะในหลวงทรงมีพระราชปณิธานที่จะผลิตยาราคาถูกให้คนไทย เราจึงยังมีองค์กรที่ "มีความพร้อม" ในการผลิตวัคซีน ในขณะที่สิงคโปร์แม้จะมีโรงงาน แต่ก้ไม่ได้เป็นฐานการผลิต

นั่นไม่ใช่เพราะเอสซีจีมีคอนเน็คชั่นกับทางอ็อกซ์ฟอร์ดเท่านั้น แต่เป้นเพราะโรงงานที่ได้มาตรฐานและมีความพร้อมในการผลิตของสยามไบโอไซน์

สยามไบโอไซน์เกิดขึ้นจากพระราชดำริและแนวคิดของแพทย์มหิดล สำนักงานทรัพย์สินเป็นผู้ออกทุนทั้งหมด ขณะที่แพทย์ศิริราชเป็นหุ้นส่วนการวิจัยและพัฒนา

ผลงานการผลิตของสยามไบโอไชน์ สามารถลดต้นทุนการผลิตยาต่างๆ ลงได้มากกว่าครึ่ง ซึ่งศักยภาพนี้เองที่ทำให้ทางอักฤษเลือกที่จะผลิตวัคซีนร่วมกับเราโดยที่รัฐบาลได้ซื้อสิทธิบัตรมาเพื่อสามารถผลิตฉีดให้คนไทยได้ฟรี

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะพระราชปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ ที่ว่า "ถ้าคนเรามีสุขภาพเสื่อมโทรม ก็จะไม่สามารถพัฒนาชาติได้ เพราะทรัพยากรที่สำคัญของประเทศชาติ ก็คือ พลเมือง นั่นเอง"

เช่น พระราชปณิธานของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์และสาธารณสุข ความว่า

True Success is not in the learning,

But in its application to the benefit of mankind


ที่มา: เพจ Thailand Vision

เฟซบุ๊ก Vee Chirasrestha

‘คนละครึ่งเฟสสอง’ มาแล้วจ้า!! หนนี้มีโควต้าให้อีก 1.34 ล้านสิทธิ์ ศึกษารายละเอียดให้ดีแบบนี้ ไม่มีพลาด!!

นับถอยหลง เอ้ย! ถอยหลัง วันที่ 20 มกราคม ย้ำดังๆ อีกที 20 มกราคม ภาครัฐจะเปิดให้ลงทะเบียน ‘โครงการคนละครึ่งเฟสสอง’ กันอีกครั้ง เรียกว่าเป็นรอบเก็บตก สำหรับผู้ที่ ‘พลาด’ ลงทะเบียนไม่ทัน โดยครั้งนี้มีโควต้าผู้ที่ได้สิทธิ์กว่า 1.34 ล้านสิทธิ์ เตรียมฟิตซ้อมกันให้ดี ครั้งนี้อย่าให้พลาดอีก แต่ก่อนอื่น ไปเช็กกันว่า ตัวเรานี้มีสิทธิ์ไหม และศึกษารายละเอียดให้เข้าใจ จะได้ไม่งงงวยเหมือนคนถูกหวยกินตลอดเวลา โอเค๊!!

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า 'ล้าช้า' และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ 'แทงม้าตัวเดียว'

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า 'ล้าช้า' และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ 'แทงม้าตัวเดียว' จาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทเอกชนซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน

ธนาธร ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการเข้ามาเกี่ยวข้องของ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันก่อน (18 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าว่า รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก 'จะมีแพ้บ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ' และล่าสุดได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและจัดสรรวัคซีนแล้ว

ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่า เหตุที่เขาออกมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนโยบายและแนวทางการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นเพราะการได้วัคซีนล่าช้าและไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ นอกจากจะทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว ยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าประเทศอื่น

บีบีซีไทยสรุป 5 ข้อสังเกตของนายธนาธรต่อเรื่องวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลประยุทธ์

1. รัฐบาลประมาท ไม่เร่งการเจรจาจัดหาวัคซีนจนเกิดความล่าช้า ทั้ง ๆ ที่แผนพิมพ์เขียวเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2563

2. 'แทงม้าตัวเดียว' ไม่เปิดทางเลือกอื่นจากบริษัทอื่นๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การที่รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชนรายเดียว คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า โดยไม่มีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น ๆ

3. ความขัดกันของผลประโยชน์ โดยอ้างถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 วันที่ 5 ต.ค. 2563 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของโครงการนี้คือ 'การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด viral vector ดำเนินการโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด งบประมาณ 600 ล้านบาท' แต่ในที่ประชุมมีความกังวลเรื่อง 'การขัดกันแห่งผลประโยชน์' จากการนำงบประมาณของรัฐไปสนับสนุนบริษัทเอกชน

4. รัฐบาลฉวยโอกาสจากโควิด กอบกู้ความนิยมช่วงที่มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

โดยธนาธรตั้งคำถามว่าการตัดสินใจ'แทงม้าตัวเดียว' โดยเลือกวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนนั้น 'เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการจะหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุดหรือเปล่า' เนื่องจากการจัดหาวัคซีนนี้เพิ่งเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

และ 5. สถานะของสถาบันกษัตริย์กับผู้เล่นทางเศรษฐกิจไปด้วยกันไม่ได้ เนื่องจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง หากมีอะไรผิดพลาดขึ้น ประชาชนย่อมต้องตั้งคำถามกับบริษัท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ที่ตัดสินใจเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบ พร้อมทั้งย้ำว่า "ถ้าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องอย่าให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจ"


ที่มา: bbc

ชาวญี่ปุ่นชอบใจไอเดียรถตุ๊กตุ๊กไทย นำไปดัดแปลงเป็นรถนำเที่ยว ทำรายได้งาม แต่ยังติดปัญหาที่ทางการยังไม่มีใบอนุญาตให้ขับขี่รถประเภทสามล้อ

รถตุ๊กตุ๊กของไทย รถแท็กซี่แบบพื้นบ้านที่แสนจะมีเอกลักษณ์ นั่งกินลมก็ได้ ใช้ส่งของก็ดี คล่องตัว สะดวกสบายตามตรอกซอกซอยในกรุงเทพ ที่เป็นที่ติดอกติดใจของนักท่องเที่ยวต่างชาติมาก อยากจะมาลองนั่งเล่นสักครั้งเมื่อมาเที่ยวเมืองไทย จนชาวญี่ปุ่นเห็นแล้วปิ๊งไอเดีย อยากจะมีรถตุ๊กตุ๊กอย่างบ้านเราบ้าง

แต่การใช้รถตุ๊กตุ๊กในญี่ปุ่นอาจไม่ง่ายเหมือนอย่างในเมืองไทย เพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น วัย 49 ปีรายหนึ่ง นำรถตุ๊กตุ๊กมาให้บริการเป็นรถนำเที่ยวในย่านโกดังอิฐแดงโยโกฮามา ที่เป็นหนึ่งในสถานท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด และคิดค่าบริการ 6,500 เยน (ประมาณ 1,750 บาท) ต่อการให้บริการนำเที่ยวในระยะเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง รวมค่าถ่ายรูปคู่กับรถตุ๊กตุ๊กด้วย

ต่อมาทางตำรวจญี่ปุ่นได้จับตัวเจ้าของรถตุ๊กตุ๊กคันดังกล่าว ขณะกำลังขับรถพาผู้โดยสารชมเมือง ด้วยข้อหาใช้รถสามล้อดัดแปลงเป็นรถแท็กซี่โดยไม่ได้รับอนุญาต

ซึ่งในญี่ปุ่นยังไม่อนุญาตให้มีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ 3 ล้อ มาดัดแปลงเป็นรถแท็กซี่รับผู้โดยสาร ดังนั้นการใช้รถตุ๊กตุ๊กเป็นรถแท็กซี่จึงผิดกฎหมายจราจรของญี่ปุ่น และกลายเป็นคดีรถแท็กซี่ตุ๊กตุ๊กคดีแรกของญี่ปุ่น

แต่ก่อนจะถูกจับ และระงับการให้บริการ เจ้าของรถตุ๊กตุ๊กได้นำรถออกมาให้บริการรับนักท่องเที่ยวมานานแล้ว แค่ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2018 รถตุ๊กตุ๊กไทยหัวใจญี่ปุ่นนี้ ก็สร้างรายได้ให้แก่เจ้าของแล้วกว่า 4 ล้านเยน

สำหรับที่ญี่ปุ่นมีการใช้รถลากที่เรียกว่า ริกชอว์ เป็นรถนำเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยจะใช้คนลาก คิดค่าบริการประมาณ 4,000 - 6,000 เยน ต่อค่าบริการเพียงแค่ 10 นาที รับผู้โดยสารได้สูงสุด 3 คน ต่อคัน แต่สำหรับรถตุ๊กตุ๊กสามล้อติดเครื่องนี้ ยังไม่ได้มีการออกใบอนุญาตให้เป็นแท็กซี่อย่างจริงจัง แต่อาจยกเว้นได้ในบางกรณีที่ใช้เป็นรถเช่าขับเฉพาะกิจ

ยกตัวอย่างเช่น ที่ ฟุกุโอกะ มีรถตุ๊กตุ๊กหน้าตาเหมือนบ้านเราเปี๊ยบ ไว้ให้นักท่องเที่ยวเช่าขับชมเมืองได้ ด้วยค่าบริการเริ่มต้นที่ 4,000 เยนต่อชั่วโมง หรือเหมาทั้งวันในราคา 18,000 เยนต่อวัน แต่จำกัดผู้โดยสารเพียงแค่ 4 คนต่อคันเท่านั้น และได้รับความนิยมสูงมาก

รถตุ๊กตุ๊กบ้านเรา ก็ไม่ธรรมดานะเนี่ย


แหล่งข่าว

https://japantoday.com/.../japan's-1st-unlicensed-tuk-tuk...

https://www.facebook.com/BackpackersProject/posts/3253821071394968/

วทันยา วงษ์โอภาสี สส.พรรคพลังประชารัฐ หนุนนโยบายสร้างเศรษฐกิจใหม่ ระบุ ‘Soft Power’ จะเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญ ที่จะช่วยผลักดันยุทธศาสตร์ ‘BGC Model’ ในการสร้างโอกาสและรายได้ให้กับประเทศ

นางสาววทันยา วงษ์โอภาสี สส.พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า เมื่อวานนี้นายกฯ ออกมาประกาศนโยบาย BCG Model ที่จะเป็นทิศทางหลักของรัฐบาลในการขับเคลื่อนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะยาวหลังวิกฤตโควิด-19 ต่อจากนี้ ครั้งแรกได้ยินชื่อย่ออาจเกิดคำถามว่าคืออะไร? แต่เมื่อพลิกดูไส้ในก็เห็นว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ แต่ข้อดีในครั้งนี้คือนายกฯ ออกมาประกาศถึงยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เมื่อเทียบกับในอดีตที่มักจะมีการหยิบหัวข้อต่างๆมาพูดกันอยู่บ่อยครั้งทั้งในรัฐบาล สภา หรือเวทีเสวนาต่างๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ หน่วยงานจะต้องมีแผนการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อให้สังคมคาดหวังได้ว่านโยบายดังกล่าวจะนำมาใช้พัฒนาประเทศได้จริง ไม่ได้เป็นเพียงแค่คำสวยหรูที่ขายความฝันให้ประชาชน

หนึ่งนโยบายที่อยู่ภายใต้ BCG Model ที่น่าสนใจคือยุทธศาสตร์ที่ 2 “ การพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งด้วยทุนทรัพยากร อัตลักษณ์ ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีสมัยใหม่” หนึ่งในหัวใจสำคัญของนโยบายยุทธศาสตร์ที่ 2 คือ “ซอฟท์พาวเวอร์” ที่ครั้งหนึ่งเดียร์ได้เคยนำเสนอนายกฯในเรื่องนี้เช่นกัน หนึ่งในรายละเอียดที่นำเสนอนายกฯคือ การจัดตั้งกองทุน “Creative Industries”

เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย และเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถเข้าถึงแหล่งทุน เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมผู้ผลิตคอนเทนต์ให้ทัดเทียมต่างชาติ เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทยเราติดกับดักระบบทุนนิยมที่รายได้เป็นโจทย์หลักของการผลิตคอนเทนต์ ทำให้ผู้ประกอบการสื่อในแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่สามารถใส่เม็ดเงินต้นทุนการผลิตได้อย่างที่ใจต้องการ จึงกลายมาเป็นต้นตอของปัญหาคุณภาพในการผลิตไม่ว่าจะเป็น Production value หรือกระทั่งการที่เราอยากจะมีบทภาพยนตร์หรือซีรีย์ดี ๆ สักเรื่องเพื่อที่จะนำพาอัตลักษณ์ของคนไทยไปสู่สายตาชาวโลก นั่นยังไม่นับรวมถึงนโยบายอื่นๆที่รัฐต้องเร่งทำ เช่น การสนับสนุนการศึกษาไทยเพื่อป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม เพราะ “ซอฟท์พาวเวอร์” คือส่วนหนึ่งของคำตอบในการแก้ไขปัญหา “Digital Disruption” ที่วันนี้กำลังคุกคามธุรกิจและสร้างความวิตกถึงอนาคตเยาวชนไทยในการเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคตที่อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี

เมื่อนายกฯ ประกาศนโยบายที่ชัดเจนแล้ว ความท้าทายก็คือหน่วยงานต้องสามารถดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายได้อย่างรวดเร็วและมีความเข้าใจอย่างแท้จริง หรือเริ่มต้นแบบง่ายๆ เช่น การที่ภาพยนตร์ต่างชาติจะเข้ามาถ่ายทำหนังในไทยสักเรื่อง ขอให้การติดต่อรวมศูนย์แค่ที่เดียวไม่ต้องวิ่งโร่ไปติดต่อทีละ 4 หรือ 5 กระทรวง สร้างความยุ่งยาก เพื่อโอกาสดีๆ เหล่านี้จะไม่เป็นเพียงแค่ความฝันและคำพูดที่ปฏิบัติจริงไม่ได้

พาณิชย์ ร่วมมือกับ 3 สมาคมการค้ามันสำปะหลัง กำหนดราคารับซื้อหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 2.40 บาท หลังพบราคาต่ำสวนทางตลาดโลกที่เป็นช่วงขาขึ้น พร้อมย้ำไม่ให้ตัดราคากันเอง

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ได้ร่วมมือกับ 3 สมาคมการค้ามันสำปะหลัง คือ สมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย สมาคมโรงงานผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังไทย และสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ออกประกาศราคารับซื้อหัวมันสดเชื้อแป้ง 25% ไม่ต่ำกว่า กก. 2.40 บาท และจะปรับเพิ่มเป็นขั้นบันไดให้มีราคาไม่ต่ำกว่า 2.50 บาท เพื่อแก้ปัญหาราคาหัวมันสำปะหลังภายในประเทศตกต่ำในขณะนี้

สำหรับปัจจุบันราคาหัวมันสำปะหลังสด อยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท ถือว่าสวนทางกับความต้องการของตลาดโลกที่อยู่ในขาขึ้น โดยเฉพาะจีน เป็นตลาดส่งออกหลักของไทยที่ต้องการใช้เพื่อผลิตเอทานอลมากขึ้น มีผลให้ราคาเอทานอลในจีน ขยับขึ้นเป็นตันละ 7,100 หยวน จากก่อนหน้านี้ ราคาเพียง 5,600 หยวน น่าจะทำให้ราคาส่งออกมันสำปะหลังสูงขึ้นตามไปด้วย และคาดว่าปีนี้ จะนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 ล้านตัน จากปีที่แล้วนำเข้าเพียง 3 ล้าน 5 แสนตัน ในจำนวนนี้ไทย ส่งออกไปมากถึง 3 แสนตัน

“การร่วมมือกันของผู้ส่งออก 3 รายใหญ่ กรมฯ ขอไม่ให้ตัดราคากันอีก ซึ่งทั้ง 3 รายรับปากจะให้ความร่วมมือเต็มที่ ถ้าซื้อขายตามกลไกตลาด ราคาหัวมันสดในประเทศจะเพิ่มขึ้นได้แน่ เพราะจีนมีความต้องการมันเส้นเพื่อทำแอลกอฮอล์สูงมากหากพบว่าสมาชิกของทั้ง 3 สมาคมไม่ให้ความร่วมมือ แต่ละสมาคมจะพิจารณาใช้มาตรการลงโทษ โดยขับออกจากการเป็นสมาชิก และทำให้ผู้ส่งออกรายนั้นๆ พ้นสภาพการเป็นผู้ส่งออกตามกฎหมายโดยปริยาย”

‘อนุทิน’ เผย วัคซีนโควิด-19 แพ้ได้ เป็นเรื่องปกติ วอนประชาชนอย่ากังวล หากรอชัวร์ 100% อาจไม่ได้ของ ยืนยันทุกอย่างต้องปลอดภัย พร้อมปลดล็อกจังหวัดสีแดง หากสถานการณ์ดีขึ้น

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังร่วมประชุมผ่านวีโอคอนเฟอเรนซ์ กับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ที่มีนายกฯเป็นประธานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยนายกฯให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงานทุกฝ่ายและได้รับฟังการบรรยายสรุปจากรองผู้ว่าสมุทรสาคร เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครยังไม่หายป่วย ซึ่งทุกอย่างเป็นไปด้วยความพร้อมและสามารถจัดการได้

มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม การดูแลผู้ป่วยที่เป็นแรงงานต่างด้าว ที่อยู่โรงพยาบาลสนาม สถานที่กักตัวโควิด-19(Factory Quarantine) ในโรงงานต่างๆสามารถควบคุมได้ ยอมรับว่าการควบคุมในพื้นที่สมุทรสาครนั้นทำได้ดี เพราะมีประสิทธิภาพในการตรวจไปอย่างทั่วถึง และเมื่อพบโควิด ก็สามารถควบคุมได้ เพราะเราได้ปิดกั้นจังหวัดสมุทรสาครแล้ว ยิ่งตรวจเจอก็สามารถทำให้เขาหยุดการเดินทางได้ ทำให้โอกาสการแพร่เชื้อไปที่คนอื่น ๆ น้อยลงไปด้วย

เมื่อถามว่ามีความกังวลเรื่องการฉีดวัคซีนจะไม่ปลอดภัย หลังการฉีดที่ประเทศนอร์เวย์และประเทศจีน นายอนุทิน กล่าวว่า ข้อมูลทุกวันนี้ได้มาจากสื่อต่างชาติ ยังไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการจากหน่วยงานของรัฐใดๆ การใช้วัคซีนและมีปัญหาว่าจะเกิดอันตรายหรือไม่ หรือควรที่จะต้องยกเลิกการใช้หรือไม่ ในส่วนของประเทศไทยการจัดวัคซีนและฉีดให้ประชาชน ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลประชาชนอยู่แล้วและต้องเป็นวัคซีนที่ได้รับการยืนยันว่าปลอดภัย

ในภาพรวม ต้องยอมรับว่าหากฉีดคนเป็นล้านคนต้องมีอาการแพ้บ้าง และเป็นเรื่องปกติทางการแพทย์ ทางสธ.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาบริหารจัดการเรื่องวัคซีน ว่าใครเป็นกลุ่มเสี่ยงและได้รับการฉีดก่อนหรือกลุ่มไหนเป็นกลุ่มเฝ้าระวัง ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติงานแล้วตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. ที่ผ่านมา และหากมีอะไรก็จะให้คณะกรรมการชุดนี้ออกมาแถลงอย่างเป็นทางการ พวกเราพร้อมสนับสนุนโดยคำนึงความปลอดภัยของประชาชนเป็นสำคัญ

ผู้สื่อข่าวถามว่าในประเทศไทยต้องมีกลุ่มตัวอย่างทดลองวัคซีนกลุ่มแรกก่อนหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า เวลาขึ้นทะเบียนยา ทะเบียนวัคซีน ต้องใช้ผลการทดลองของประเทศผู้ผลิตมาเป็นองค์ประกอบ เราไม่ทำอะไรที่มันแปลกแยก เพราะจะมีประเด็นอื่นแทรกเข้ามา เพราะทุกอย่างต้องทำด้วยกัน และเวลาก็สำคัญ เพราะหากจะต้องรอปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีอาการแพ้ไม่มีอาการข้างเคียงเลย กลัวว่าเราจะไม่ได้วัคซีนกัน เราต้องยึดถึงหลักทางการแพทย์และองค์การอนามัยโลกยอมรับ เรามีทั้งคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะกรรมการโรคติดต่อ มีทั้งแพทยสภาที่จะต้องระดมกำลังกันเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน

"เรื่องวัคซีนไม่ต้องกังวล กระทรวง สธ.มีอย.ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะต้องทำการตรวจสอบเอกสาร แต่ละยี่ห้อส่งเข้ามาเป็นหมื่นหน้า กว่าจะตรวจสอบและอนุมัติได้ ต้องใช้เวลาและการพิสูจน์เยอะแยะไปหมด ซึ่งถือว่ามีมาตรฐานการพิสูจน์อยู่แล้วและการอนุมัติการใช้วัคซีน เพื่อแก้โควิด-19 ใช้ในมาตรฐานของมาตรการฉุกเฉิน ไม่ได้ใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนยังไม่สามารถสั่งเข้ามาได้ เพราะในการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉินรัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดอยู่ในการควบคุมของรัฐบาล"

ผู้สื่อข่าวถามว่าได้พูดคุยกับนายกฯก่อนหรือไม่ว่าจะเป็นผู้ทดสอบฉีดวัคซีนก่อน นายอนุทิน กล่าวว่า ประเด็นนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เอาเรื่องของความปลอดภัยเป็นที่ตั้งและเวลาที่เราจะได้วัคซีนมาเป็นที่ตั้ง เพราะนโยบายของเราต้องฉีดให้กับประชาชนทั่วไป แต่เราไปบังคับเขาไม่ได้ ซึ่งเราก็ต้องให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่สุดให้ประชาชนได้พิจารณา เราก็จะจัดระดับความสำคัญในการฉีด และต้องใช้เวลา ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้ และในประมาณเดือนมิถุนายน วัคซีนที่เราซื้อไปเริ่มให้บริการครอบคลุมกับจำนวนคนส่วนใหญ่ของประเทศได้

เมื่อถามว่านายกฯ ได้สอบถามถึงปัญหาของแอพพลิเคชั่นหมอชนะ หลังทีมพัฒนาแอพพลิเคชั่นดังกล่าวลาออกยกทีม หรือไม่ รองนายกฯกล่าวว่า นายกฯ ก็พูดถึง แต่ในส่วนของสธ.ไม่ได้มีปัญหา และขอย้ำว่าการที่โหลดแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการป้องกันโควิด อย่ากลัวว่าภาครัฐจะนำข้อมูลของท่านไปใช้ในทางเสียหาย แต่ในทางกลับกันสธ.สามารถมีข้อมูลในการติดตามหากติดโรคร่วมถึงการรักษาต่าง ๆ จะสะดวกและทำให้ง่ายขึ้น เพราะว่าจะได้ทราบข้อมูลเรื่องของสุขภาพในแต่ละคนและลดเวลาการทำงานของเจ้าหน้าที่

เมื่อถามถึงสถานการณ์ของโควิด-19 บรรเทาลงจะมีข่าวดีคลายล็อกในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า แน่นอน ถ้าเราได้รับความร่วมมือจากประชาชนที่เฝ้าระวังตัวเอง และควบคุมโรคได้ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องผ่อนคลายการควบคุมโดยอัตโนมัติ ส่วนจะผ่อนคลายในช่วงใดก็ให้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ว่าเป็นเช่นไร

เมื่อถามว่าผู้ประกอบการที่ได้รับความเดือดร้อนหลังถูกสั่งปิด ร่วมทั้งร้านนวด จะทยอยให้เปิดช่วงไหน นายอนุทินกล่าวว่า รัฐบาลก็เข้าใจปัญหาหมด ซึ่งศบค.และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ประชุมตลอดเวลาอยู่แล้ว เราไม่ได้มีความสุขที่ต้องมาประกาศสิ่งเหล่านี้ มีแต่ความทุกข์และความกังวล ความห่วงใย แต่ต้องทำทุกอย่างให้ปลอดภัย ยกตัวอย่าง รองผู้ราชการจังหวัดว่าสมุทรสาคร รายงานว่าในวันที่ 27 ม.ค.นี้ ตลาดกลางกุ้ง จะเปิดให้บริการตามปกติ และก่อนเปิดต้องเตรียมความพร้อมคัดกรองให้มั่นใจว่าไม่มีโรคในบริเวณนั้นแล้ว จึงจะเปิด ซึ่งจะค่อย ๆ ทยอยเปิดเป็นจุด ๆ

ในจังหวัดอื่นก็เช่นกัน เราต้องทำให้เกิดความมั่นใจก่อน เหมือนการคลายล็อกครั้งที่แล้ว และจะคลายอาชีพไหน ศบค.และสธ.จะค่อย ๆ คลายล็อกตามลำดับ โดยจะมีการแถลงข่าวให้ทราบทุกวัน รัฐบาลยืนยันว่าเมื่อทุกอย่างปลอดภัย ประชาชนให้ความร่วมมือเราก็จะผ่อนคลายทันที

ปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการไปยังผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เพิ่มความเข้มข้นในการจัดการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งตรวจตรา กำกับดูแลสถานประกอบการ ไม่ให้จ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ที่เดินทางเข้ามาในเวลานี้

กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค. มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นประธาน เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยเน้นย้ำมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เพื่อให้การปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามมติฯ ดังกล่าว นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าฯ และผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด โดยในพื้นที่จังหวัดชายแดน ให้เพิ่มความเข้มข้นในการจัดให้มีการเฝ้าระวังการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เข้าไปในพื้นที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด ด้วยการใช้กลไกทางปกครอง กลไกภาคประชาชน/ประชาสังคมที่มีอยู่

สำหรับในพื้นที่จังหวัดตอนใน ให้ตรวจตรา กำกับดูแลสถานประกอบการ รวมทั้งภาคเอกชน มิให้จ้างแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในห้วงเวลานี้ ทั้งนี้ ให้ผู้ว่าฯ บูรณาการการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานความมั่นคง ตำรวจ และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกระดับ ดำเนินการตามมาตรการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามมติที่ประชุมฯ ดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

'เจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิด' ตรวจระเบิดการ์ดอาชีวะ ถูกตร.สำโรงเหนือ ยึดได้ 2 ลูก พบเหมือนระเบิดที่สามย่าน เบื้องต้นสารภาพทำเองไว้ป้องกันตัว

พ.ต.อ.วิชิต บุญชินวุฒิกุล รอง ผบก.ภ.จว.สมุทรปราการ พร้อมด้วย พ.ต.อ.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ ได้ร่วมกันนำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 1 กองร้อย เข้าตรึงกำลังที่บริเวณหน้า สภ.สำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ หลังจากทราบข่าวจากโซเชียลที่ส่งต่อกันว่า จะมีกลุ่มการ์ดอาชีวะประชาธิปไตย นัดรวมตัวกันเข้ามาปิดล้อมโรงพักเพื่อกดดันให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปล่อยตัวสองการ์ดอาชีวะ ซึ่งถูกตำรวจสำโรงเหนือจับกุมกรณีพบปลอกแขนซุกอยู่ใต้เบาะ ระหว่างขี่รถจักรยานยนต์กลับบ้านพัก ที่บริเวณซอยด่านสำโรง 24 ถ.สุขุมวิท113 ต.สำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ ช่วงคืนที่ผ่านมา

โดยเจ้าหน้าที่ได้แบ่งกำลังคอยเฝ้าสังเกตการณ์บริเวณทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าสำโรง ถนนสุขุมวิท รวมถึงรอบโรงพัก เพื่อเฝ้าระวังอาจจะมีมือที่สามเข้ามาก่อความไม่สงบ แต่เวลาผ่านไปหลายชั่งโมงก็ยังไม่พบกลุ่มการ์ดอาชีวะเดินทางมาแต่อย่างใด

ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ ผกก.สภ.สำโรงเหนือ ได้ประสานเจ้าหน้าอีโอดี หรือเจ้าหน้าที่เก็บกู้วัตถุระเบิดจากนครบาล เข้ามาทำการตรวจสอบระเบิดทั้ง 2 ลูกที่ตรวจยึดเอาไว้ พร้อมประสานเจ้าหน้ากองพิสูจน์หลักฐานมาทำการเก็บรายนิ้วมือและดีเอ็นเอ เพื่อนำไปเปรียบเทียบชนิดของระเบิดว่าเป็นชนิดเดียวกับที่เกิดระเบิดขึ้นที่ ‘สามย่าน - ปทุมวัน’ หรือไม่

ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ อีโอดี ได้นำเครื่องเอ็กซเรย์มาทำการเอ็กซเรย์ระเบิดทั้งสองลูกพบว่า ภายในระเบิดทั้งสองลูกมีส่วนผสมของดินปืนและเม็ดหินเป็นส่วนผสม รัศมีไม่เกิน 5 เมตร และภายในไม่มีแผงวงจรควบคุมในการจุดฉนวน ซึ่งระเบิดทั้งสองลูกจะทำงานต้องจุดฉนวนจากภายนอกเท่านั้น โดยระเบิดทั้งสองลูกมีลักษณะเดียวกันกับที่มีการระเบิดที่ ‘สามย่าน - ปทุมวัน’ เมื่อสองวันก่อน จึงมอบให้พนักงานสอบสวนนำส่งกองพิสูจน์หลักฐานอีกครั้งเพื่อตรวจหาหลักฐานเพิ่มเติม

ด่วน! บุคลากรศิริราชติดเชื้อโควิด-19 ฮือ!! สุ่มตรวจเชื้อในเจ้าหน้าที่และบุคลากรเกือบร้อยรายว่า ด้าน ‘หมอประสิทธิ์’ เตรียมแถลงรายละเอียดพรุ่งนี้ (19 ม.ค.)

ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า พบบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล (รพ.) ศิริราช ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ซึ่งต่อมาต้องมีการสุ่มตรวจเชื้อในเจ้าหน้าที่และบุคลากรเกือบร้อยรายว่า ล่าสุดได้รับทราบข้อมูลดังกล่าวแล้ว และในวันพรุ่งนี้ (19 มกราคม 2564) ภายหลังจากการแถลงความคืบหน้าอาการป่วยของนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร จะมีการแถลงรายละเอียดในเรื่องนี้

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการพบบุคลากรทางการแพทย์ของ โรงพยาบาลศิริราช ติดเชื้อโควิด-19 จากผู้ป่วย โดยในไทม์ไลน์ระบุว่า เมื่อวันพฤหัสที่ 14 มกราคม มีเจ้าหน้าที่ภาควิชาพยาธิวิทยา ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 8 ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 1 ราย โดยให้ประวัติว่ามีคนในชุมชนใกล้ๆ ติดเชื้อมากกว่า 1 คน

ต่อมามีการตรวจผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (high risk closed contact) ของผู้ป่วยรายนี้ จำนวน 16 คน พบว่า มี 4 ราย ที่มีอาการ URI (โรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนต้น) โดยพบเชื้อ 3 ราย ส่วนอีก 1 ราย ที่ตรวจไม่พบเชื้อ มีอาการเหนื่อย และออกซิเจนต่ำ จึงจะขอตรวจซ้ำ โดยทั้ง 3 ราย แอดมิดอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนอีก 12 ราย ที่ Asymptomatic หรือ ไม่มีอาการ พบเชื้อ 1 ราย กำลังอยู่ในขั้นตอนติดตามตัว เพื่อนำเข้ารักษาในโรงพยาบาล ขณะที่ผู้ที่ตรวจไม่พบเชื้อจะต้องถูกกักตัว 14 วัน และตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง นอกจากนี้ ได้มีการสุ่มตรวจเจ้าหน้าที่ในภาควิชาพยาธิวิทยาอีก 60-80 คน

สำหรับผู้ติดเชื้อทุกรายมีประวัติสำคัญคือ ‘รับประทานอาหารร่วมกัน’ หรือ ‘พูดคุยกันโดยไม่สวมหน้ากาก’ กับผู้ป่วยรายแรก

รมว.ดีอีเอส ยันไม่มีความขัดแย้งกับทีมอาสาพัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ชี้ไม่ใช่การถอนตัว แต่ส่งมอบให้รัฐดูแลทั้งระบบ เพื่อต่อยอดทำให้ดีกว่าเดิม พร้อมย้ำให้กรมควบคุมโรคหน่วยงานเดียวเป็นคนอัพเดทสีพื้นที่

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล(สพร.) ดร.นพ.ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล และนายสมโภช อาหุนัย ทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ร่วมแถลงข่าว ประเด็นที่สังคมมีคำถาม เรื่องแอปพลิเคชัน “หมอชนะ”

รมว.ดีอีเอส ยืนยันว่า ได้ทำงานพัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ ร่วมกันกับทีมอาสากว่า 100 ชีวิต ตลอดเวลาเกือบ 1 ปี และทุกวันนี้ยังหารือการทำงานกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้มีความขัดแย้งกัน ก็ยังทำงานมาด้วยดีมาโดยตลอด ซึ่งการส่งมอบการดูแลระบบแอปพลิเคชันนั้น เนื่องด้วยการพัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ ได้ส่งมาทาง สพร. ที่เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการใช้งาน 30-40 ล้านคน และยังพัฒนาต่อเนื่องเพื่อรองรับการใช้งานที่มากขึ้น ใช้กับประชาชนทั้งประเทศได้

เมื่อถึงวันนี้รัฐบาลรับช่วงต่อมา เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเก็บข้อมูลต้องใช้บุคลากรจำนวนมากและต้องทำให้เกิดคุณภาพ ทางทีมพัฒนาและสพร. ที่ส่งมอบมาให้ทำต่อนั้น เนื่องจากขนาดการใช้งานใหญ่ขึ้นให้ประชาชนทั้งประเทศได้ใช้ และต้องทำในระยะยาว จึงต้องโอนถ่ายมาให้รัฐบาลรับผิดชอบทำให้เป็นระบบ รัดกุมทางกฎหมาย และบริหารทั้งงบประมาณและบุคลากรทั้งหมดให้สมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ

นายพุทธิพงษ์ ให้ความเชื่อมั่นการใช้งานแอปพลิเคชัน หมอชนะ ว่า การทำงานของแอปพลิเคชัน ฟังก์ชัน สีสถานะเพื่อการติดตามสอบสวนโรคซึ่งหลังจากนี้ต้องตั้งเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นในการทำงานให้สามารถรองรับการใช้งานที่ขยายในการใช้มากขึ้น ยังคงรณรงค์ให้ประชาชนใช้งานแอปมากขึ้น เพราะเป็นประโยชน์มาก เมื่อใช้แอป และเมื่อมีคนติดเชื้อ การสอบสวนโรคจะรวดเร็วมากและควบคุมสถานการณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ด้าน ดร.อนุชิต และนายสมโภชน์ กล่าวขอบคุณประชาชนที่แสดงความห่วงใยทีมงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ และขอบคุณที่ประชาชนให้ความร่วมมือในการโหลดและใช้งานแอปพลิเคชัน ในการต่อสู้ในสงครามโควิด ซึ่งทีมอาสาสมัครหมอชนะ ได้พัฒนาแอปพลิเคชันมาระยะหนึ่ง และจำเป็นต้องส่งต่อให้ รัฐบาลในการใช้งานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทีมอาสาสมัครผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน หมอชนะ ขอบคุณทั้งรมว.ดิจิทัลฯ ปลัดกระทรวงดิจิทัล และสพร. รวมถึงกรมควบคุมโรค ทำงานกันมาตั้งแต่กุมภาพันธ์ ปี 63 จนเมื่อถึงระดับการใช้งานที่ขยายมากขึ้นจึงส่งต่อให้ทางรัฐบาลดูแลและใช้งานอย่างเป็นทางการ และสิ่งสำคัญคือต้องมีกระบวนการการสื่อสารที่ชัดเจนและมาในทิศทางเดียวกัน ไม่ทำให้เกิดความสับสน พร้อมกันนี้ ขอให้คนไทยร่วมมือกันใช้แอปพลิเคชันหมอชนะนี้ ในการช่วยต่อสู้กับโควิดอย่างจริงจัง ให้เราชนะให้ได้

ขณะเดียวกัน รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน ได้ทำงานร่วมกันกับคณะทำงานผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน กับทางสพร. มาตั้งแต่ต้น ซึ่งเรื่องการเปลี่ยนสีสถานะของแต่ละบุคคล ต้องผ่านคนกลางที่เป็นเจ้าหน้าที่ของกรมควบคุมโรคแต่ละพื้นที่ ส่งข้อมูลไปยังกระทรวงดิจิทัลฯ หากมีการเปลี่ยนสี และส่งต่อไปให้ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน อัพเดทข้อมูลสถานะสีให้ และจะเปลี่ยนสี ก็ต่อเมื่อโรงพยาบาลได้ยืนยันการติดเชื้อแล้วเท่านั้น ขอให้ประชาชนได้โหลดและลงทะเบียนใช้งานกันให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์และช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ล่าสุด มีผู้โหลดใช้งานแล้วกว่า 7 ล้านครั้ง ซึ่งมีแนวโน้มคนใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ

รมว.ดีอีเอส ระบุว่า ระบบการแจ้งเตือนสถานะสีของแอปพลิเคชัน ไม่มีปัญหา ไม่มีการล็อคสีไว้ให้เป็นสีเขียวอย่างเดียว ซึ่งทางกรมควบคุมโรคจะเป็นผู้ควบคุมข้อมูลและยืนยันสีสถานะข้อมูลของผู้ใช้งานหน่วยงานเดียวเท่านั้น ยืนยันว่าระบบไม่มีปัญหา แต่อาจจะต้องใช้เวลาให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรคได้ตรวจสอบอย่างถูกต้องชัดเจน และการส่งมอบแอปพลิเคชัน หมอชนะ จะไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่เนื่องจากการใช้งานมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น เปิดให้ประชาชนใช้งานทั่วประเทศจำนวนผู้ใช้จึงมากขึ้น รวมทั้ง รัฐบาลควรมีงบประมาณในการดูแลทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชันในการทำงาน ในการเพิ่มบุคลากรในการรองรับให้มากขึ้น ซึ่งทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชันเอง ก็ยังคงคอยเป็นที่ปรึกษาและช่วยการทำงานของรัฐบาลต่อไป ทุกอย่างจะยังทำงานเหมือนเดิม และระบบจะดีขึ้นกว่าเดิม

ข่าวด่วนวันนี้ ศาลสูงกรุงโซล เกาหลีใต้ ตัดสินพิพากษาลงโทษนาย ลี แจ-ยอง หรือที่คนทั่วไปมักเรียกว่า มิสเตอร์ เจ. วาย. ลี ทายาทซัมซุง หนึ่งในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ ด้วยโทษจำคุก 2.5 ปี ในข้อหาติดสินบน

คดีของ ลี แจ-ยอง ทายาทซัมซุง เป็นการกระทำความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับคดีของอดีตประธานาธิบดีหญิงของเกาหลีใต้

ปาร์ค กยึน-เฮ ที่ถูกศาลสูงเกาหลีใต้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง และจำคุกด้วยข้อหาคอร์รัปชั่นในปี 2017

อันเนื่องจากมีหลักฐานพบว่า ลี แจ-ยอง เคยติดสินบนผู้ช่วยของอดีตประธานาธิบดีปาร์ค เพื่อช่วยในเรื่องธุรกิจซัมซุง และทำให้การถ่ายโอนอำนาจบริหารของบริษัทในเครือ มาอยู่ในมือของเขาราบรื่นขึ้น

หลังจากพิจารณาคดีทายาทซัมซุงมาเกือบ 5 ปี วันนี้ศาลสูงได้ตัดสินว่า นายลี แจ-ยอง มีความผิดจริงในข้อหาติดสินบน ฉ้อฉล และร่วมกันปกปิกความผิด ที่ทำให้เกิดความเสียหายตีเป็นมูลค่าสูงถึง 8.6 พันล้านวอน (ประมาณ 300 ล้านบาท)

ทำให้วันนี้ทายาทซัมซุงคนดัง ที่เป็นลูกชายคนโตของผู้ก่อตั้งบริษัทซัมซุง ต้องกลับเข้าไปรับโทษในคุกอีกครั้ง หลังจากที่เขาเคยติดไปแล้วช่วงหนึ่งและทำเรื่องอุทธรณ์ออกมาสู้คดี หักลบไปเหลือระยะเวลาที่ต้องถูกจำคุกอีก 18 เดือน ที่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้อีกแล้ว

หลังจากที่มีคำพิพากษาออกมา ทำให้หุ้นของบริษัทซัมซุงร่วงลงทันทีถึง 4% และยังสร้างความวุ่นวายภายในให้กับบริษัทซัมซุงไม่น้อย เนื่องจาก ลี แจ-ยอง ถือเป็นผู้บริหารสูงสุดที่เป็นเสาหลักของบริษัทในขณะนี้ และอาจทำให้เกิดสุญญากาศในอำนาจการบริหารไปช่วงระยะหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ ทางลี แจ-ยอง เคยออกมาประกาศขอโทษประชาชนออกสื่อ และยอมรับในสิ่งที่เขาเคยทำผิดพลาดในอดีต นอกจากนี้ยังบอกอีกว่าเขาไม่คิดที่จะให้ลูกๆ ขึ้นมาสืบทอดตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดต่อจากเขาแน่นอน


แหล่งข้อมูล

https://www.koreatimes.co.kr/.../2021/01/133_302656.html

https://m-en.yna.co.kr/view/AEN20210118005651315?section=national/national

https://www.straitstimes.com/.../samsungs-lee-receives-30...


ที่มา : หรรสาระ By Jeans Aroonrat

อินไซต์อีกแล้ว สำหรับ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ ‘ดร.นิว’ นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ได้ออกมาโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว Suphanat Aphinyan ถึงบุคคลคนหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า‘ไอ้ตี๋'

มีคนใกล้ชิดของไอ้ตี๋แอบส่งข่าวมาหลังไมค์…

ไอ้ตี๋เจ็บปวดกับความพ่ายแพ้แบบแลนสไลด์ของเขามาก เพราะหมดเงินไประดับร้อยล้านบาท แต่กลับได้ความอับอายย่อยยับป่นปี้ย้อนคืนมา

สิ่งที่น่าจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ไอ้ตี๋มันเคียดแค้นมาก ถึงขั้นเอ่ยปากกับคนในครอบครัวว่าจะใช้วิธีก่อความรุนแรง แล้วใช้เป็นเงื่อนไขในการปลุกระดมก่อม็อบครั้งใหญ่ แต่คนในครอบครัวยังไม่เห็นด้วยทั้งหมด เพราะถ้าเกิดเรื่องแล้วถูกจับได้ขึ้นมา ครอบครัวของไอ้ตี๋คงไม่สามารถใช้ชีวิตและทำมาหากินในประเทศไทยได้อีกต่อไป

ในขณะเดียวกันครอบครัวของไอ้ตี๋ ก็ค่อนข้างเครียดเป็นอย่างมาก เนื่องจากความเน่าเฟะและเรื่องราวทุจริตผิดกฎหมายของสมาชิกในครอบครัวได้ทยอยออกมาให้ประชาชนชาวไทยได้รับรู้มากขึ้นเรื่อยๆ

แม้แต่คนใกล้ชิดบางคนยังรับไม่ได้ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมที่ผ่านๆ มา คนที่แยกตัวออกมาจากเขาถึงได้ออกมาแฉจนเป็นข่าวอยู่เป็นประจำ"


ที่มา: เพจ Suphanat Aphinyan (ดร.ศุภณัฐ)

วัควีนป้องกันโควิด-19 เริ่มทยอยนำออกมาใช้กันแล้ว ไปอัปเดตกันหน่อยว่า มีผู้นำระดับประเทศ คนไหนที่ฉีด หรือไม่ฉีดวัคซีนกันแล้วบ้าง

ตั้งแต่เปิดปีใหม่มา ข่าวคราวโควิด-19 ยังครองพื้นที่ข่าวในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง ประเด็นการกลับมาระบาดใหม่ก็เรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือการอัปเดตเรื่องการวัคซีนของแต่ละค่ายยา ทดลองกันไปถึงขั้นไหน ประเทศใดสั่งซื้อวัคซีนกันแล้วบ้าง และไฮไลท์อีกอย่างคงหนีไม่พ้น ภาพผู้นำที่ ‘โชว์ฉีด’ (หมายถึงฉีดวัคซีน) เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เราไปรวบตึงมาแล้วว่า ล่าสุดนี้มีผู้นำคนไหน ที่โชว์ฉีดไปแล้ว และมีที่กำลังรอฉีดกันอีกบ้าง

เริ่มต้นที่ นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด -19 มาตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมปีก่อน โดยได้รับการเคลมว่า เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของโลกที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควืด -19 แถมยังฉีดต่อหน้าสาธารณชน โดยนายเบนจามิน ฉีดวัคซีนของค่ายไฟเซอร์-บิออนเทค

อีกคนที่ฉีดวัคซีนของไฟเซอร์-บิออนเทค ไปเรียบร้อย คือว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ นายโจ ไบเดน ได้ทำการฉีดวัคซีนโชว์สื่อไปทั่วโลกเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว และล่าสุดเพิ่งฉีดเข็มที่สองไปเมื่ออาทิตย์ก่อน ซึ่ง Everything It’s OK!

ทางฝั่งรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน มีข่าวออกมาตั้งแต่ปลายปีก่อนว่า ตัดสินใจจะฉีดวัคซีนแน่นอน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัสเซียเปิดโครงการฉีดวัคซีนสปุตนิค 5 ซึ่งผลิตในรัสเซียเอง โดยจะเริ่มฉีดให้กับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูง หรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สามารถมาลงชื่อฉีดได้ทันที โดยผู้นำรัสเซียตอนนี้อายุ 68 ปี งานนี้ขอเป็นหนึ่งคนที่เข้ารับการฉีดด้วยแน่นอน

และล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน อีกหนึ่งผู้นำของโลกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนเรียบร้อย คือนายเรเจพ เทย์ยิป แอร์โดอาน ประธานาธิบดีตุรกี โดยผู้นำตุรกีโชว์ฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค หลังรัฐบาลตุรกีอนุมัติให้ใช้งานวัคซีนนำเข้าชนิดนี้จากประเทศจีนนั่นเอง

มาดูทางอาเซียนกันบ้าง นายลี เซียนลุง นายกฯ สิงคโปร์ วัย 68 ปี เป็นนายกฯ ของอาเซียนชาติแรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด - 19 โดยใช้วัคซีนของค่ายไฟเซอร์-ไบออนเทค ถึงตรงนี้ ร่างกายปกติดี

ส่วนนายโรดริโก ดูเตร์เต ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ถึงจะยังไม่ได้ฉีดวัคซีนโชว์ออกสื่อ แต่ออกมาประกาศแล้วว่า จะเป็นผู้ทดลองฉีดให้ประชาชนมั่นใจอย่างแน่นอน ล่าสุดก็ได้ออกมาคอนเฟิร์มวัคซีนยี่ห้อซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่ได้สั่งซื้อจากจีนว่า มั่นใจในความปลอดภัย และเชื่อถือได้

ด้านประเทศที่มีความกังวลยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างมาเลเซีย โดยนายมูห์ยิดดิน ยาสซิน นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่า วัคซีนที่สั่งไปมาถึงเมื่อไร จะเป็นแนวหน้าฉีดให้ประชาชนดูเป็นตัวอย่างเอง

ยังมีผู้นำที่มีความคลุมเครือว่า ฉีดวัคซีนไปแล้วหรือไม่ เช่น นายคิม จองอึน ผู้นำสูงสุดแห่งเกาหลีเหนือ มีข่าวลือออกมาว่า นายคิมและครอบครัวได้รับการฉีดวัคซีนที่ผลิตจากจีนเรียบร้อยแล้ว แต่แหล่งข่าวก็ไม่สามารถยืนยันอย่างเป็นทางการได้แต่อย่างใด

แต่สำหรับรายนี้ นายฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ยืนยันชัดเจนมาตลอดว่า จะไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แน่นอน พร้อมยังตั้งข้อสังเกตวัคซีนซิโนแวคของจีนด้วยว่า มีผลการทดลองใช้ที่ต่ำ และยังไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด

ส่วน ‘ลุงตู่’ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย เบื้องต้นยังไม่เป็นที่เปิดเผยว่า จะฉีดวัคซีนหรือไม่ แต่ประเทศไทยนั้นสั่งวัคซีนป้องกันโควิด-19 จากจีนคือยี่ห้อซิโนแวค รวมทั้งยังมีที่ผลิตในไทย โดยได้รับความร่วมมือจาก ม.ออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ผลิตวัคซีนยี่ห้อแอสตรา เซเนก้า ออกมาในช่วงปลางปีนี้แน่นอน

สถานการณ์ COVID-19 ประเทศไทยและอาเซียน (18 มกราคม พ.ศ. 2564)

ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ประจำวัน โดยประเทศไทยพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 369 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสมอยู่ที่ 12,423 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิต 70 ราย รักษาหายเพิ่ม 191 ราย รวมผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 9,206 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 3,147 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยรายใหม่ 369 ราย เป็น ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และเข้าพักสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ จากโอมาน 1 ราย ,สหราชอาณาจักร 1 ราย ,ฝรั่งเศส 1 ราย ,สหรัฐอเมริกา 2 ราย ,เยอรมนี 1 ราย ,มาเลเซีย 5 ราย ,บาห์เรน 1 ราย

ผู้ป่วยรายใหม่ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 82 ราย

ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 275 ราย

ขณะเดียวกันสถานการณ์ COVID-19 ของประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการอัพเดทดังนี้

ประเทศบรูไน ดารุสซาลาม ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 174 ราย รักษาหายแล้ว 168 ราย เสียชีวิต 3 ราย

ประเทศกัมพูชา ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 439 ราย รักษาหายแล้ว 386 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศอินโดนีเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 9.08 แสน ราย รักษาหายแล้ว 7.36 แสน เสียชีวิต 25,987 ราย

ประเทศลาว ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 41 ราย รักษาหายแล้ว 41 ราย ไม่มียอดผู้เสียชีวิต

ประเทศมาเลเซีย ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.58 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.2 แสน ราย เสียชีวิต 601 ราย

ประเทศพม่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 1.34 แสน ราย รักษาหายแล้ว 1.18 แสน ราย เสียชีวิต 2,955 ราย

ประเทศฟิลิปปินส์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 5.01 แสน ราย รักษาหายแล้ว 4.66 แสน ราย เสียชีวิต 9,895 ราย

ประเทศสิงคโปร์ ยอดรวมผู้ติดเชื้อ 59,113 ราย รักษาหายแล้ว 58,846 ราย เสียชีวิต 29 ราย

ประเทศเวียดนาม ยอดรวมติดเชื้อ 1,537 ราย รักษาหายแล้ว 1,380 ราย เสียชีวิต 35 ราย


© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top