ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า 'ล้าช้า' และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ 'แทงม้าตัวเดียว'

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกโรงวิจารณ์นโยบายการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า 'ล้าช้า' และตั้งคำถามถึงแนวทางจัดหาวัคซีนแบบ 'แทงม้าตัวเดียว' จาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และแสดงความกังวลต่อการที่บริษัทเอกชนซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรงเข้ามาเป็นผู้เล่นในตลาดวัคซีน

ธนาธร ตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนโควิด-19 และการเข้ามาเกี่ยวข้องของ บ.สยามไบโอไซเอนซ์ทางเฟซบุ๊กไลฟ์เมื่อวันก่อน (18 ม.ค.) ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ออกมาให้ความมั่นใจกับประชาชนไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าว่า รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างรอบคอบและยึดความปลอดภัยของประชาชนเป็นหลัก 'จะมีแพ้บ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ' และล่าสุดได้มีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อศึกษาและจัดสรรวัคซีนแล้ว

ประธานคณะก้าวหน้ากล่าวว่า เหตุที่เขาออกมาตั้งข้อสังเกตในเรื่องนโยบายและแนวทางการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลเป็นเพราะการได้วัคซีนล่าช้าและไม่ครอบคลุมกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ นอกจากจะทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงแล้ว ยังทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 เป็นไปอย่างล่าช้ากว่าประเทศอื่น

บีบีซีไทยสรุป 5 ข้อสังเกตของนายธนาธรต่อเรื่องวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การบริหารจัดการของรัฐบาลประยุทธ์

1. รัฐบาลประมาท ไม่เร่งการเจรจาจัดหาวัคซีนจนเกิดความล่าช้า ทั้ง ๆ ที่แผนพิมพ์เขียวเพื่อการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของประชาชนไทยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 2563

2. 'แทงม้าตัวเดียว' ไม่เปิดทางเลือกอื่นจากบริษัทอื่นๆ โดยมุ่งเป้าไปที่การที่รัฐบาลเลือกที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการเอกชนรายเดียว คือ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ในการผลิตวัคซีนโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนก้า โดยไม่มีการเจรจากับผู้ผลิตรายอื่น ๆ

3. ความขัดกันของผลประโยชน์ โดยอ้างถึงรายงานการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติครั้งที่ 5/2563 วันที่ 5 ต.ค. 2563 ที่มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าของโครงการพัฒนาวัคซีนต้นแบบและเตรียมความพร้อมรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนโควิด-19 ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญของโครงการนี้คือ 'การเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมการผลิตวัคซีนชนิด viral vector ดำเนินการโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด งบประมาณ 600 ล้านบาท' แต่ในที่ประชุมมีความกังวลเรื่อง 'การขัดกันแห่งผลประโยชน์' จากการนำงบประมาณของรัฐไปสนับสนุนบริษัทเอกชน

4. รัฐบาลฉวยโอกาสจากโควิด กอบกู้ความนิยมช่วงที่มีการเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

โดยธนาธรตั้งคำถามว่าการตัดสินใจ'แทงม้าตัวเดียว' โดยเลือกวัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งให้สยามไบโอไซเอนซ์เป็นผู้ผลิตวัคซีนนั้น 'เป็นการกระทำที่ต้องการสร้างความนิยมทางการเมืองมากกว่าที่ต้องการจะหาข้อสรุปในการจัดการวัคซีนให้ครอบคลุมประชากรไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุดหรือเปล่า' เนื่องจากการจัดหาวัคซีนนี้เพิ่งเกิดขึ้นในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาประชาชนที่เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

และ 5. สถานะของสถาบันกษัตริย์กับผู้เล่นทางเศรษฐกิจไปด้วยกันไม่ได้ เนื่องจาก บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มีในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นผู้ถือหุ้นโดยตรง หากมีอะไรผิดพลาดขึ้น ประชาชนย่อมต้องตั้งคำถามกับบริษัท ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกฯ ที่ตัดสินใจเรื่องนี้จะต้องรับผิดชอบ พร้อมทั้งย้ำว่า "ถ้าจะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องอย่าให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นผู้เล่นทางเศรษฐกิจ"


ที่มา: bbc