Monday, 1 July 2024
ECONBIZ NEWS

พาณิชย์หนุน "ข้าวมันไก่ประตูน้ำ" บุกตลาดฮ่องกง

นางชณันภัสร์ พิศาลอภิพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองฮ่องกง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้มอบตราสัญลักษณ์ ไทย ซีเล็คท์ แคชชวล ให้กับร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำ หรือชื่อภาษาอังกฤษ Water Gate Chicken Rice ในฮ่องกง หลังพิจารณาแล้วว่าเป็นร้านอาหารไทยที่มีมาตรฐานตามกำหนด คือ ร้านค้ามีคุณภาพ มีมาตรฐาน และรสชาติมีความเป็นไทยแท้ โดยเฉพาะรสชาติของไก่และน้ำจิ้มไก่ เหมือนกับที่บริโภคที่ประเทศไทย ขณะที่เมนูอื่นๆ ทั้งกุ้งแช่น้ำปลา ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ หมูทอด ลูกชิ้นปิ้ง และข้าวเหนียวมะม่วง ก็มีรสชาติไทยแท้ 

สำหรับตราสัญลักษณ์ ไทย ซีเล็คท์ แคชชวล เป็นตราสัญลักษณ์ใหม่ ที่มอบให้ร้านอาหารไทยที่ให้บริการอาหารที่มีรสชาติไทย แต่มีข้อจำกัดในด้านบริการ อาจจะเป็นร้านที่มีขนาดเล็ก มีความเรียบง่าย ให้ความรู้สึกสะดวกสบายในการใช้บริการ เช่น ร้านอาหารไทยในฟู้ดคอร์ท ร้านฟาสฟู้ด ร้านอาหารที่มีที่นั่งจำกัดหรือไม่มีที่นั่งหน้าร้านฟู้ดทรัค หรือร้านอาหารไทยที่มีเมนูไม่มาก แต่ล้วนเป็นอาหารไทยที่มีรสชาติตามต้นตำรับไทย หรือเป็นร้านที่ให้บริการอาหารไทยแนวสตรีท ฟู้ด 

ปัจจุบันร้านข้าวมันไก่ประตูน้ำที่ฮ่องกงมี  4 สาขา ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคชาวฮ่องกงอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงานที่เคยเดินทางมาเที่ยวประเทศไทย และได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีก เป็น 8 สาขา ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยรูปแบบของร้าน มีการออกแบบตกแต่งร้านเหมือนร้านข้าวมันไก่และร้านก๋วยเตี๋ยวในไทย ซึ่งชาวฮ่องกงชื่นชอบ และมีการวางแผนขยายธุรกิจข้าวมันไก่ โดยออกแบบตกแต่งร้านและเมนูอาหารเหมือนกันทุกสาขา และจะมีการพัฒนาระบบครัวกลาง เพื่อควบคุมมาตรฐานของอาหารและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เหมือนกันทุกสาขาด้วย

‘กรณ์’ แนะคลัง พื้นฟูการบินไทย โจทย์ใหญ่ต้องไม่ให้มีฝ่ายการเมือง หรือราชการครอบงำ ค้านใช้เงินภาษี 50,000 ล้าน อุ้มการบินไทย ให้เป็นองค์กรแบบเดิม ๆ ลั่นใช้เงินไปอุ้ม SME ยังดีกว่า 

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว เพื่อแสดงความคิดเห็นกรณีการบินไทย โดยระบุว่า อาจมีการประชุมครม.เร็วๆ นี้ว่าด้วยเรื่อง "การบินไทย" จึงขอเปิดพื้นที่แสดงความคิด และขอความเห็นที่สร้างสรรค์ เพราะเป็นเรื่องของ ภาษี 5 หมื่นล้านกับการตัดสินใจกับการตัดสินใจครั้งใหญ่ 

ตอนที่รัฐบาลตัดสินใจนำการบินไทยเข้าสู่กระบวนการการฟื้นฟูตามพรบ. ล้มละลาย หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้ล้วนเห็นด้วย ด้วยความหวังว่าเมื่อผ่านกระบวนการฟื้นฟูแล้ว การบินไทยจะบริหารแบบมืออาชีพ มีกำไร มีการเงินที่มั่นคง และที่สำคัญคือ มีสภาพเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ปลดแอกจากการแทรกแซงโดยรัฐ โดยนักการเมือง และโดยกองทัพเหมือนที่ผ่านมา ต้องบอกว่าผิดหวัง 

เมื่อเห็น 2 ทางเลือกที่กระทรวงการคลัง เสนอให้รัฐบาล คือ 1. ให้รัฐใส่ทุนด้วยเงินภาษี (อีกแล้ว) 25,000 ล้านบาท และค้ำประกันหนี้ใหม่ อีก 25,000 ล้านบาท รวม 50,000 ล้านบาท และ 2. หากรัฐไม่ใส่ทุนก็ต้องค้ำประกันหนี้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งรัฐค้ำด้วยเงินของรัฐ ก็หมายความว่าการบินไทยต้องกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งนี้ หากบริษัทไปได้ดี มีกำไรในอนาคต  รัฐแทบไม่มีโอกาสได้ส่วนแบ่ง เพราะต้องคืนเจ้าหนี้เก่า ในขณะที่เจ้าหนี้ใหม่ สามารถเปลี่ยนหนี้มาเป็นทุนได้สูงถึง 90% ของทุนทั้งหมด สิ่งที่ควรได้เห็นแต่ผู้เสนอแผนไม่ได้ทำ คือ การยืนยันกับเจ้าหนี้เพื่อลดหนี้เดิม ซึ่งหนี้ที่ไม่ได้ลดลงคือสาเหตุหลักที่ทำให้การบินไทยไม่สามารถระดมทุนจากนักลงทุนใหม่ได้เลย ต้องกลับมาขอเงินรัฐ ก็คือเงินภาษีของประชาชน

จริงๆ แล้วครั้งนี้ การบินไทยมีโอกาสที่จะรอดมากที่สุด เพราะมีการปรับลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการจ้างพนักงาน (พนักงานมีทั้งเสียสละลาออก ทั้งยอมลดเงินเดือนตัวเอง) ค่าเช่าเครื่องบิน ค่าน้ำมันหรือค่าการตลาดลงโดยรวมถึงเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี แต่ด้วยโครงสร้างหนี้จึงทำให้ไม่มีใครพร้อมใส่ทุน ดังนั้นรัฐบาลต้องมีคำตอบว่าการอุ้มการบินไทยรอบใหม่นี้ คนเสียภาษีได้อะไร ถ้าไม่อุ้มล่ะ ถ้าเจ้าหนี้ยอมที่จะปล่อยให้บริษัทต้องล้มละลาย (ซึ่งในกรณีนี้เจ้าหนี้อาจจะได้เงินคืนเพียง 10% ของวงเงินสินเชื่อเดิม) จะส่งผลยังไงต่อประชาชนคนไทย

เราสามารถสร้างบริษัทการบินไทยขึ้นมาใหม่ ด้วยโครงสร้างองค์กร โครงสร้างทุนและการบริหารที่ดีกว่านี้ได้หรือไม่ มีคำถามอีกมากมายที่ตนคิดว่าคนไทยที่เสียภาษีไปอุ้มการบินไทยรอบแล้วรอบเล่าควรได้รับคำตอบที่ตรงไปตรงมาโดยสรุปผมมองว่า "รัฐบาลต้องยืนยันว่าจะไม่ให้ฝ่ายการเมืองหรือราชการเข้าไปครอบงำการบินไทยอีก" นี่คือโจทย์สำคัญ รัฐต้องยืนกรานว่าเจ้าหนี้เดิมต้องรับสภาพตามสถานะที่แท้จริงของบริษัท หากรัฐต้องใส่เงินเพิ่ม ต้องมีเงินจากนักลงทุนเอกชนในสัดส่วนที่มากกว่า  ส่วนผลกระทบที่อาจจะเกิดกับเจ้าหนี้บางประเภทเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ควรมีมาตรการต่างหากที่จะเยียวยาตามความจำเป็น ครั้งนี้เรามีโอกาสที่จะฟื้นฟูการบินไทยและปลดแอกจากทุกภาระที่หนักอึ้ง อย่าใช้เงินภาษีประชาชนเพียงเพื่อรักษาองค์กรไว้ในรูปแบบเดิม

หากรัฐไม่เจรจาเงื่อนไขที่ดีกว่านี้ เราเอาเงิน 50,000 ล้านไปทำประโยชน์เรื่องอื่นดีกว่า ไม่ว่าจะช่วย SME ให้รอดจากพิษเศรษฐกิจโควิด หรือแม้แต่เอาไปเร่งเยียวยาประชาชนในรูปแบบต่างๆ ยามวิกฤตเช่นนี้

ทีมา : https://web.facebook.com/KornGoThailand/photos/a.10151851815469740/10159600233394740/

พาณิชย์ตีทะเบียน 11 สินค้าจีไอเพิ่ม 4 ประเทศกันเจอแอบอ้าง

นายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า  กรมฯ ได้เร่งยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) ของไทยในต่างแดนเพิ่ม 4 ประเทศ จำนวน 11 สินค้า โดยสาเหตุที่ต้องขอขึ้นทะเบียนในต่างประเทศ เพราะสินค้าจีไอ เป็นสินค้าที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวทำให้สินค้าเป็นที่สนใจของผู้บริโภคชาวไทยและต่างประเทศ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องยื่นขอขึ้นทะเบียน เพื่อคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชนอยู่เช่นเดิม ไม่ให้ใครแอบอ้างเอาชื่อสินค้าจีไอของไทยไปใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าอื่น ที่ไม่ใช่สินค้าจีไอ อีกทั้งยังช่วยทำให้สินค้าจีไอเป็นที่รู้จัก และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าด้วย  

สำหรับสินค้า 11 รายการที่ยื่นขอขึ้นทะเบียนนั้น แบ่งเป็น ประเทศจีน คือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง ประเทศญี่ปุ่น คือ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และสับปะรดห้วยมุ่น ประเทศเวียดนาม คือ มะขามหวานเพชรบูรณ์ และลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน และ ประเทศมาเลเซีย คือ ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ และส้มโอทับทิมสยามปากพนัง โดยทั้งหมดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าจรีไอเร็ว ๆ นี้ 

ทั้งนี้ในปัจจุบัน มีสินค้าจีไอของไทย ได้ขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 5 ประเทศ จำนวน 8 สินค้า ได้แก่ สหภาพยุโรป ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง, เวียดนาม เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน, กัมพูชา กาแฟดอยตุง, อินโดนีเซีย ผ้าไหมยกดอกลำพูน และอินเดีย ผ้าไหมยกดอกลำพูน ส่วนความคืบหน้าการรับขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอในไทย ล่าสุดกรมฯ ได้รับขึ้นทะเบียนเพิ่มอีก 2 รายการ คือ ข้าวหอมเจ๊กเชยชัยนาท และถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน ทำให้มีสินค้าจีไอไทยขึ้นทะเบียนแล้ว 136 รายการ จาก 76 จังหวัด 

ธุรกิจโรงแรมเจอพิษโควิดเล็งปิดกิจการ 80% 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย เปิดเผยว่า จากการสอบถามสมาชิกอย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย.64 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยลดลงจากเดือนมี.ค.ที่มีอัตราอยู่ที่ 30% ลดลงเหลือเพียง 5% โดยโรงแรมกว่า 80% ที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ อาจงดให้บริการชั่วคราวไปจนถึงเดือนต.ค. หรือจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย หรือรัฐบาลมีการกระจายวัคซีนฉีดให้กับประชาชนคนไทยได้จำนวนมากพอสมควรแล้ว  ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้แล้ว 

ทั้งนี้ สมาคมฯ ยังร่วมกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรมเดือนมี.ค.2564  ก่อนการระบาดระลอกเดือนเม.ย. โดยสำรวจโรงแรม 128 แห่ง พบมี การเปิดกิจการ 48% เปิดให้บริการบางส่วน 41% และปิดกิจการ 11% ส่วนมากที่ยังเปิดให้บริการอยู่จะเป็นโรงแรมขนาดใหญ่สายป่านยาวเท่านั้น ส่วนโรงแรมที่ปกติรับเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติขณะนี้ปิดกิจการแล้วทั้งหมด 

“ตลอดเดือนมี.ค.อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 20% ยกเว้นภาคตะวันออกมีอัตราการพักเฉลี่ยสูงกว่า ที่อัตรา 30% ยกเว้นจังหวัดท่องเที่ยวทางภาคใต้ เช่น พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่มีอัตราการจองห้องพัก 30% เมื่อสำรวจสภาพคล่องของโรงแรมในเดือนมี.ค.โรงแรมส่วนใหญ่ระบุว่ามีสภาพคล่องดำเนินธุรกิจไม่เกิน 3 เดือนหรือหากเปิดดำเนินการ จะมีเงินจ่ายพนักงานแค่ถึงเดือนพ.ค.นี้” 

ผลงานชิ้นโบว์แดงกระทรวงเกษตรฯ ‘เฉลิมชัย’ ทำไวทำจริง เร่งรัดเจรจาสำเร็จ จีนไฟเขียวด่านตงชิงนำเข้าผลไม้ไทย ดีเดย์ 29 เมษายน 2564 ด้าน ‘อลงกรณ์’ ขอบคุณจีนเปิดด่านตงชิงทันฤดูผลไม้ มั่นใจยอดส่งออกปีนี้ทะลุแสนล้าน หลังด่านใหม่ควบโมฮ่าน-โหยวอี้กวน-ผิงเสียง”

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยวันนี้ (30 เม.ย.) ว่า ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศ ตลาดจีนถือเป็นตลาดส่งออกหลักสำหรับผลไม้ของไทย ซึ่งปัจจุบันเป็นช่วงที่ผลไม้ของไทยมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก พร้อม ๆ กับผลไม้เวียดนาม และมักจะพบกับปัญหาการจราจรบริเวณด่านโหย่วอี้กวน ซึ่งอยู่พรมแดนจีน-เวียดนามแออัดถึงขั้นวิกฤต มีรถติดสะสมยาวหลายกิโลเมตร ส่งผลกระทบต่อคุณภาพของผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียนที่สุกก่อนถึงมือผู้บริโภค 

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้นิ่งนอนใจสำหรับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรโดยกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เร่งติดตามงานเจรจากับกระทรวงศุลกากรแห่งชาติของจีน (GACC) ซึ่งในช่วงที่ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้เดินทางไปเยือนประเทศจีน เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้มีการเจรจาและทำความตกลงกับกระทรวงศุลกากรจีน (GACC) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในที่สุดทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบร่วมกันให้บรรจุด่านตงซิงเข้าไปในร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนด ในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา 

หลังจากนั้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งรัดและผลักดันให้ด่านตงซิงสามารถนำเข้าผลไม้จากไทยได้โดยเร็วอย่างต่อเนื่อง และมอบหมายให้ฝ่ายเกษตร ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว ติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด โดยล่าสุดกระทรวงศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศให้ด่านตงซิง เป็นด่านนำเข้าผลไม้ และฝ่ายเกษตรฯ ได้รับแจ้งจากศุลกากรหนานหนิง ซึ่งดูแลด่านตงซิง ว่า ผลไม้ของไทยจะนำเข้ามาทางด่านตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนแห่งที่ 2) ได้ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2564 เป็นต้นไป

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ด่านตงซิงตั้งอยู่ที่อำเภอตงซิง เมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง อยู่ห่างจากด่านหมงก๋าย จังหวัดกว่างนินห์ ของเวียดนาม เพียง 100 เมตร และได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทางบกเป็นแห่งที่ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง ซึ่งด่านตงซิงสามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านทางบกที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย นอกเหนือจากด่านโมฮ่าน มณฑลยูนนาน และด่านโหย่วอี้กวน กับด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีน ช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน โดยเฉพาะในฤดูกาลส่งออกทุเรียน

ในขณะนี้ มั่นใจว่าการส่งออกผ่านช่องทางด่านใหม่ จะเพิ่มการส่งออกผลไม้ไทยได้มากกว่าปี 2563 ผสานกับกลยุทธ์การขายบนแพลตฟอร์มใหม่ระบบสั่งซื้อล่วงหน้าออนไลน์ (pre-order) ที่เปิดตัวสำเร็จอย่างดียิ่งเมื่อ 27 เมษายนที่ผ่านมา ต้องขอบคุณรัฐบาลจีนโดยกระทรวง GACC ที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรอย่างดียิ่ง

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พบว่า การส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เมื่อปี 2563 มีปริมาณ 1,623,523 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 102,716.72 ล้านบาท โดยผลไม้ไทยที่มีปริมาณส่งออกไปจีนสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ทุเรียน ลำไย มังคุด มะพร้าวอ่อน และขนุน


แหล่งข้อมูล: เว็บไซต์ศุลกากรแห่งชาติจีน วันที่ 29 เมษายน 2564
http://www.customs.gov.cn/customs/ztzl86/302310/2394720/3647586/index.html

'ธปท.' จ่อหั่นจีดีพีปีนี้โตต่ำ 3% ชี้ โควิดระบาดรอบสามส่งผลกระทบเศรษฐกิจ

วันที่ 30 เมษายน 2564 นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ธปท. ได้ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 3% ยังไม่ได้รวมผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นยอมรับว่าการระบาดรอบนี้จะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ และตัวเลขจีดีพีคาดการณ์ที่ 3% อย่างแน่นอน โดยที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้า ก็จะมีการประเมินภาพเศรษฐกิจทั้งหมด และจะมีการปรับประมาณการทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปทั้งนี้ ในแง่ของการระบาดและการแพร่เชื้อของโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ถือว่าค่อนข้างรุนแรงกว่าในระลอกแรกและระลอกที่ 2 โดยยังต้องติดตามผลกระทบที่ถูกถ่ายทอดสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะต่อไปก่อน 

แต่จากการประเมินเบื้องต้น จากการสำรวจข้อมูลเร็ว จะเห็นได้ว่าช่วงนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อย ๆ ลดลงมาใกล้ ๆ ระดับของการระบาดระลอกที่ 2 แต่ยังไม่ลงลึกเท่าระลอกแรก ดังนั้นอาจจะยังต้องติดตามดูสถานการณ์ต่อว่าการระบาดจะยังคงยืดเยื้อแค่ไหน และจะมีผลในแง่เศรษฐกิจระยะต่อไปอย่างไร

โดยจากการหารือกับผู้ประกอบการในหลายภาคอุตสาหกรรมเพื่อประเมินผลกระทบเบื้องต้น พบว่า ในภาคการผลิตยังไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าเข้ามาต่อเนื่อง ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ผลกระทบเพิ่มเติมอาจจะยังไม่เยอะ แต่ยังมีความกังวลเรื่องอุปสงค์ในประเทศจะฟื้นตัวช้า ขณะที่ภาคการค้ามีผลกระทบต่อยอดขายค่อนข้างเยอะ ด้านภาคบริการต้องยอมรับว่าได้ผลกระทบเยอะมาก โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาลที่กระชับและเข้มข้นมากขึ้น ส่วนภาคการขนส่งผู้โดยสารจะได้รับผลกระทบจากการที่คนออกจากบ้านน้อยลง

“ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ชัดเจน เพราะรอบนี้เพิ่งเริ่มระบาดเมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาแต่ในระยะต่อไปจะต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาส 2/2564 ยังต้องรอดูภาพรวมจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคเพิ่มเติมที่รัฐบาลเตรียมออกมา เช่น โครงการคนละครึ่ง เฟส 3 แน่นอนว่ามาตรการรองรับมีเพียงพอ แต่ต้องดูก่อนว่าจะออกมาในรูปแบบไหนและมากน้อยแค่ไหน” นางสาวชญาวดี กล่าว

นางสาวชญาวดี กล่าวอีกว่า ปีนี้พระเอกของเศรษฐกิจไทย คือ ภาคการส่งออก ซึ่งเริ่มมีทิศทางฟื้นตัวดีขึ้นมาตั้งแต่ไตรมาส 4/2563 ตามทิศทางของเศรษฐกิจต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนโยบายการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ ก็มีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวดี และได้ส่งผ่านผลดีมายังภาคส่งออกของทั้งโลกให้ดีขึ้น ดังนั้นจึงเชื่อว่าภาคการส่งออกจะเป็นแรงส่งที่ดีให้กับเศรษฐกิจไทยในปีนี้

ทั้งนี้ หากย้อนไปเมื่อเดือน มี.ค. 2564 จะพบว่าภาพรวมเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นหลังจากการระบาดของโควิด-19 ระลอก 1 และ 2 การลงทุนต่าง ๆ การใช้จ่ายภาครัฐเริ่มดีขึ้น แต่ผลกระทบจากการระบาดระลอกล่าสุดนี้อาจทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 1-2/2564 สะดุดได้ ตัวที่ถูกกระทบคือการบริโภคจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไป นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดิมคาดว่าจะเข้ามาในช่วงปลายปีนี้ ขณะที่การส่งออกยังเคลื่อนได้ การใช้จ่ายภาครัฐหากกระตุ้นเพิ่มก็มีส่วนในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ

“การบริโภคที่หายไป คาดว่าคงจะไม่ทั้งหมด แต่จะฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี ก็จะช่วยซับพอร์ตให้เศรษฐกิจปลายปียังไปได้ แต่ยังมีบางตัวที่สะดุดบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าต่อไปนี้จะมีการระบาดรุนแรงแบบนี้อีกหรือไม่ ถ้าไม่มีการระบาดรุนแรงอีกการเติบโตของเศรษฐกิจก็พอจะกลับมาได้ แต่ที่เห็นแน่ ๆ ว่าเป็นแรงส่งที่ดีของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คงเป็นการส่งออก” นางสาวชญาวดี กล่าว

สำหรับมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ ของ ธปท. ที่เพิ่งเริ่มดำเนินการนั้น ถือว่ามาทันการณ์ และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ ส่วนมาตรการเพื่อช่วยเหลือรายย่อยจะมีการพิจารณาและทบทวน โดยต้องประเมินภาพเศรษฐกิจและผลกระที่เกิดขึ้น รวมถึงต้องดูถึงความพอเพียง และต้องหารือกับภาครัฐเพื่อประสานนโยบายให้ออกมาครอบคลุม ดังนั้นอาจต้องรออีกระยะหนึ่ง

อย่างไรก็ดี ในส่วนภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน มี.ค. 2564 ทยอยปรับดีขึ้น หลังการแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นและแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ และผลของฐานต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดรอบแรก โดยการส่งออกยายตัวสูงที่ 15.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวทำให้การส่งออกปรับดีขึ้นในหลายหมวด ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นทำให้การส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าเคลื่อนไหวตามราคาน้ำมันปรับสูงขึ้น และฐานที่ต่ำในระยะเดียวกันปีก่อนจากการแพร่ระบาดรอบแรก

"พรรคกล้า" ร่อนแถลงการณ์ 5 ข้อ เสนอรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร

"พรรคกล้า" ร่อนแถลงการณ์ 5 ข้อ เสนอรัฐบาล ช่วยผู้ประกอบการร้านอาหาร จำกัดค่าธรรมเนียม Delivery , ช่วยจ่ายค่าจ้างพนักงาน 50%, งดจัดเก็บภาษีผู้ที่ได้รับผลกระทบ , ผ่อนผันชำระหนี้-ดอกเบี้ยเงินกู้ , ลดค่าเช่าที่ เชื่อหากรัฐไม่ช่วย ตายหมู่แน่ 

พรรคกล้า ออกแถลงการณ์ข้อเสนอ 5 ข้อเยียวยาผู้ประกอบการร้านอาหาร หลังจากรัฐมีมาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารที่ร้านในพื้นที่ 6 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดย 

1.) ควรเร่งเจรจากับ Platform online ที่ร้านอาหารทั้งหลายใช้เป็นช่องทางขายและจัดส่งอาหารอยู่ในปัจจุบัน ไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมการใช้บริการหรือ GP เกินร้อยละ 15 อย่างน้อยก็ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เพื่อแบ่งเบาภาระให้ผู้ประกอบการและประชาชน

2.) รัฐควรช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างเงินเดือนของพนักงานในร้านอาหารเหล่านี้ร้อยละ 50 ในช่วงที่รัฐบาลประกาศห้ามมีลูกค้านั่งในร้านอาหาร 

3.) งดการจัดเก็บภาษีในรอบระยะเวลาบัญชี 1 ปีที่ผ่านมา ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่ง 

4.) ผ่อนผันการผ่อนชำระเงินกู้และดอกเบี้ยของผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยมาตรการงดผ่อนต้นผ่อนดอก ไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน และ 

5.) ในกรณีที่ร้านอาหารมีค่าเช่าพื้นที่ เช่น ร้านอาหารในห้างสรรพสินค้า เจ้าของพื้นที่ควรลดค่าเช่าให้ด้วย อย่างน้อยร้อยละ 50 และเจ้าของพื้นที่สามารถนำส่วนลดที่ให้กับร้านอาหารเหล่านั้น ไปขอลดหย่อนภาษีจากทางรัฐบาลได้ ในรอบบัญชีถัดไป เพื่อเป็นการชดเชยและลดค่าใช้จ่ายให้ร้านอาหารที่ต้องเสียค่าเช่าทุกเดือน 

นายวรวุฒิ อุ่นใจ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจเพื่อคนตัวเล็ก รองหัวหน้าพรรคกล้า กล่าวว่า เพื่อป้องกันการระบาดโรคติดเชื้อโควิค-19 ก็พอเข้าใจได้ว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องออกคำสั่งไม่ให้ลูกค้านั่งรับประทานอาหารที่ร้าน แต่สิ่งที่รัฐบาลควรทำคือมาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย เพราะร้านอาหารเหล่านี้อยู่ในสภาพใกล้ปิดกิจการเต็มทีแล้ว ถ้ารัฐไม่เข้ามาช่วยเหลือคงมีผู้ประกอบการล้มหายตายจากกันไม่น้อยแน่ 

"มาตรการทั้ง 5 ข้อที่พรรคกล้านำเสนอนี้ สามารถแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีความเดือดร้อนอยู่หลายแสนรายได้ ไม่ให้ต้องปิดกิจการ และอยู่บริการสังคมในช่วงโควิดได้ตลอดรอดฝั่ง แต่หากไม่มีมาตรการช่วยเหลือ จะสร้างคำถามมากมายจากผู้ประกอบการ ว่าเขาเหล่านั้นจะอยู่รอดได้อย่างไร ถ้าเชื่อฟังคำสั่งรัฐบาล" นายวรวุฒิ กล่าว

ลุ้นแบงก์ชาติ ออกมาตรการช่วยลูกหนี้รายย่อยเพิ่ม

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อยู่ระหว่างการทบทวน และกำลังประเมินภาวะเศรษฐกิจและผลกระทบของการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ รวมทั้งหารือกับภาครัฐและธนาคาร เพื่อพิจารณาออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมของ ธปท. โดยเฉพาะลูกหนี้รายย่อยที่จะสิ้นสุดเดือน มิ.ย.นี้ เพราะที่ผ่านมาแม้ได้มีมาตรการไปแล้วแต่เป็นสินเชื่อฟื้นฟูและมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ที่ช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจเท่านั้น

“ต้องติดตามดูรายละเอียดมาตรการจากภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นบริโภคในประเทศเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อภาครัฐรอประเมินผลกระทบเช่นกัน และ ธปท.ยืนยันมีมาตรการรองรับอยู่แน่นอน เพราะการระบาดระลอกนี้รุนแรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา เบื้องต้นจากดูข้อมูลเห็นว่าในช่วงนี้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แต่ยังไม่เท่าการระบาดรอบแรก ต้องดูว่ายืดเยื้อแค่ไหน ยอมรับการระบาดเป็นวงกว้าง”

นางสาวชญาวดี กล่าวว่า ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ ธปท. ยังเตรียมปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากเดิมคาดอยู่ที่ 3% ซึ่งที่ประเมินช่วงนั้นยังไม่รวมการระบาดรอบใหม่ โดยจะนำไปประเมินเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ในวันที่ 5 พ.ค.นี้ 

ธนาคารแห่งประเทศไทย จับมือธนาคารกลางสิงคโปร์ จับ PromptPay - PayNow โอนเงินระหว่างประเทศแบบเรียลไทม์ เป็นคู่แรกของโลก

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการเปิดตัวการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ โดยธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ ว่า การเชื่อมโยงระบบในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือและการทำงานอย่างเข้มแข็งของทุกฝ่าย ทั้ง ธปท. และธนาคารกลางสิงคโปร์ ผู้ให้บริการระบบการชำระเงินสมาคมธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ ในระยะแรก ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ จะสามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ได้ในจำนวนไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25,000 บาท ต่อวันผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน และไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอื่นเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดของบัญชีผู้รับโอน บริการนี้จะช่วยให้ผู้โอนสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทำได้ทุกที่ทุกเวลาเสมือนกับการโอนเงินภายในประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์ผ่านพร้อมเพย์หรือเพย์นาว โดยการโอนใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที เร็วกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน

นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการได้ตกลงร่วมกันให้ค่าธรรมเนียมการโอนเงินและอัตราแลกเปลี่ยนของพร้อมเพย์-เพย์นาว ถูกกว่าการโอนเงินในรูปแบบปัจจุบันและแข่งขันกับบริการโอนเงินระหว่างประเทศอื่นในตลาดได้ โดยผู้ใช้บริการจะเห็นค่าธรรมเนียมและอัตราแลกเปลี่ยนก่อนตัดสินใจโอนเงิน โดย ธปท. และ MAS มีความตั้งใจที่จะขยายผลของการบริการพร้อมเพย์ - เพย์นาว ทั้งการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ให้บริการ และการขยายวงเงินการโอนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในอนาคต

"ธปท. มีความตั้งใจที่จะยกระดับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านความร่วมมือกับประเทศอาเซียนและประเทศอื่น ๆ โดยได้พัฒนาบริการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านคิวอาร์โค้ดกับประเทศญี่ปุ่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งบริการจากความร่วมมือของ MAS และ ธปท. นี้ จะช่วยแก้ปัญหาที่มีมานานในการโอนเงินระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเรื่องระยะเวลานานในการทำธุรกรรม และต้นทุนที่สูง ในระยะต่อไป ธปท. จะยังคงผลักดันนวัตกรรมการชำระเงินระหว่างประเทศและโครงสร้างพื้นฐานที่จะยกระดับการบูรณาการทางการเงิน เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของประเทศและภูมิภาคอาเซียน" นายเศรษฐพุฒิ กล่าว

นายระวี เมนอน กรรมการผู้จัดการ MAS กล่าวว่า พร้อมเพย์ - เพย์นาว เป็นความพยายามริเริ่มร่วมกันที่ทำให้เห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินและภาคธนาคารมีศักยภาพรองรับการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศอย่างไร้รอยต่อ เพื่อเป็นอีกทางเลือกสำหรับลูกค้ารายย่อย โดย MAS และ ธปท. มีเป้าประสงค์ร่วมกันที่จะต่อยอดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไปสู่ระดับอาเซียนต่อไป


ที่มา : https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Speeches/Gov/SpeechGov_29Apr2021.pdf

กระหึ่มเทคโนโลยีโอนเงิน! ธนาคารกรุงเทพ ร่วมนำร่อง บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านพร้อมเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไทย-สิงคโปร์ ง่ายสุดใช้แค่เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์/เพย์นาว รับเงินแบบเรียลไทม์ ทั้งโอนทั้งรับ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นางพรนิจ ตุลย์วัฒนจิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ร่วมเป็นหนึ่งในธนาคารนำร่องให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านพร้อมเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (PromptPay International) ระหว่างไทยและสิงคโปร์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่ต้องการโอนเงิน หรือรับเงินโอนระหว่างไทย-สิงคโปร์ ได้โดยสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย โดยใช้ข้อมูลเพียงเบอร์มือถือที่ผูกไว้กับพร้อมเพย์ (ประเทศไทย) หรือเพย์นาว (สิงคโปร์) สามารถทำรายการได้ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ โดยปลายทางได้รับเงินทันทีเต็มจำนวน นอกจากนี้ ธนาคารกรุงเทพยังได้รับคัดเลือกให้เป็น Settlement Bank (ธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ) ในบริการพร้อมเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลระหว่างประเทศไทยและสิงคโปร์อีกด้วย

“บริการนี้เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่สำคัญระหว่างธนาคารกลางของไทยและสิงคโปร์ และธนาคารพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ใช้ข้อมูลน้อยลงเพียงมีเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์/เพย์นาวไว้เท่านั้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของลูกค้ารายย่อยในยุคดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินให้เพื่อนเพื่อฝากซื้อสินค้า โอนเงินค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โอนเงินกลับบ้านให้ครอบครัวสำหรับคนสิงคโปร์ที่ทำงานในไทย หรือคนไทยที่ทำงานในสิงคโปร์ เป็นต้น กลุ่มลูกค้ารายย่อยสามารถทำรายการได้สะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีค่าธรรมเนียมสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศที่ลดลงอย่างมาก”

สำหรับขั้นตอนการใช้โอนเงินไปยังสิงคโปร์ผ่านระบบพร้อมเพย์ ลูกค้าสามารถทำรายการได้ผ่านโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ โดยล็อกอินเข้าใช้งานและเลือกเมนู “โอนเงินไปต่างประเทศ” จากนั้นเลือก “พร้อมเพย์อินเตอร์เนชั่นแนล” และทำตามขั้นตอนการโอนเงิน โดยระบุปลายทางเป็นเบอร์มือถือของสิงคโปร์ที่ลงทะเบียนไว้กับ PayNow ลูกค้าสามารถระบุยอดเงินโอนที่ต้องการได้ทั้งสกุลเงินบาท (THB) และสิงคโปร์ดอลลาร์ (SGD) วงเงินทำรายการสูงสุด 1,000 SGD/วัน เมื่อตรวจสอบความถูกต้องและยืนยันรายการด้วยรหัสผ่าน (Mobile PIN) เรียบร้อยแล้ว เงินจะถูกโอนไปยังปลายทางทันที พร้อมกับได้รับ e-slip เป็นหลักฐาน

ทั้งนี้ การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนลไปยังเบอร์มือถือของสิงคโปร์นั้น เบอร์มือถือดังกล่าวจะต้องลงทะเบียนเพย์นาวกับธนาคารในสิงคโปร์ที่ร่วมรายการ ซึ่งในปัจจุบันมีธนาคารเข้าร่วมโครงการ 3 แห่ง ประกอบด้วย DBS Bank (DBS) Oversea-Chinese Banking Corporation (OCBC) และ United Overseas Bank (UOB)

พิเศษสำหรับรายการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล ไปยังสิงคโปร์ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน-31 กรกฎาคม 2564 จะมีค่าธรรมเนียมเพียง 75 บาท/รายการ (ปกติ 150 บาท/รายการ)

ภายใต้ความร่วมมือในโครงการนี้ ลูกค้าที่มีบัญชีเงินฝากของธนาคารทั้ง 3 แห่งในสิงคโปร์ สามารถโอนเงินมายังประเทศไทยให้กับผู้รับผ่านเบอร์มือถือที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารกรุงเทพแทนการระบุเลขที่บัญชีธนาคาร ซึ่งผู้รับเงินจะได้รับเงินโอนจากสิงคโปร์ได้แบบเรียลไทม์ ตลอด 24 ชั่วโมงเช่นเดียวกัน โดยได้รับเงินเต็มจำนวนเป็นสกุลบาท สำหรับผู้ที่ต้องการลงทะเบียนพร้อมเพย์กับธนาคารกรุงเทพ สามารถทำรายการผ่านโมบายแบงก์กิ้งจากธนาคารกรุงเทพ รวมถึงช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ทันที

“ธนาคารกรุงเทพมีความมุ่งมั่นยกระดับบริการทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าทั้งในประเทศไทย และบริการระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการทำรายการผ่านช่องทางดิจิทัลและอิเล็กอทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้า เช่น การเป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่ทำหน้าที่เป็น Settlement Bank หรือธนาคารที่รับผิดชอบการชำระดุลสำหรับธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้บริการ Cross-Border QR Payment ระหว่างประเทศไทยและเวียดนาม จนถึงครั้งล่าสุดที่ได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในธนาคารนำร่องให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านพร้อมเพย์ดังกล่าว เพื่อตอกย้ำจุดยืนในการเป็น ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ ต่อไปอย่างมั่นคงแข็งแกร่ง” นางพรนิจ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top