Wednesday, 3 July 2024
ECONBIZ NEWS

ททท. เล็งคุย สศช. ปลดล็อก “ทัวร์เที่ยวไทย” ไปได้ทุกวัน 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้หารือร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) เพื่อร่วมกันหาทางส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ ผ่านบริษัททัวร์ในประเทศ และการดำเนินการภายใต้โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ซึ่งทางภาคเอกชนก็เสนอว่า อยากให้ปลดล็อคเงื่อนไขให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการสามารถซื้อทัวร์เดือนทางได้ทุกวันโดยไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นวันธรรมดาเท่านั้น เพื่อจะช่วยกระตุ้นให้คนเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งทั้ง 2 โครงการนั้น กำหนดจำนวนคนร่วมโครงการเอาไว้ประมาณ 3 ล้านคน โดย ททท. จะไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป 

ทั้งนี้ในปี 64 ททท. อาจต้องปรับเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศลงจากเดิมที่ตั้งเป้าหมายไว้ที่ประมาณ 100-120 ล้านคน/ครั้ง คิดเป็นเงินรายได้ 5.5 แสนล้านบาท เหลือเพียง 90 ล้านคน/ครั้ง เนื่องจากปัจจุบันยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศอยู่ในอัตราที่สูง ประกอบกับการดำเนินนโยบายฟื้นฟูการท่องเที่ยว ทั้งเราเที่ยวด้วยกัน ระยะที่ 3 และทัวร์เที่ยวไทย ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะเริ่มเปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่เดือน พ.ค.นี้ จึงส่งผลให้จำนวนคนเดินทางท่องเที่ยวลดลง 

อย่างไรก็ตามแม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจปรับลดลงจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด แต่ ททท. ก็จำเป็นต้องหามาตรการอื่น ๆ มากระตุ้นให้คนเกิดการเดินทางหลังจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดในประเทศคลี่คลายลงแล้ว โดยตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าไตรมาสที่ 3 สถานการณ์น่าจะดีขึ้น ล่าสุดได้จัดเตรียมแนวทางการกระตุ้นการเดินทางใหม่ผ่านการจัดทำสถานที่ท่องเที่ยวอันซีนใหม่ของประเทศไทยอีก 25 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นอันซีนแห่งใหม่ ทดแทนของเดิมที่คนรู้จักกันมากแล้ว ซึ่งเชื่อว่า หากผลักดันออกมาได้ จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้คนออกไปเที่ยวเพิ่มขึ้น 

โรงงานน้ำตาล ประกาศร่วมมือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ หวังยกระดับอุตสาหกรรมก้าวสู่ Zero Wastes

โรงงานน้ำตาล ประกาศร่วมมือดูแลด้านสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การจัดเก็บผลผลิตในไร่จนถึงกระบวนการผลิต เพื่อลดกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสีย หวังยกระดับอุตสาหกรรมก้าวสู่ Zero Wastes หลังประสบความสำเร็จในด้านความร่วมมือกับชาวไร่ลดอ้อยไฟไหม้ ที่ทำให้ฝุ่นควันส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมลดลง

นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย หรือ TSMC เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายไทย ได้มีความเห็นร่วมกันบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในไร่จนถึงกระบวนนำอ้อยเข้ามาหีบสกัดเป็นน้ำตาลทราย เพื่อลดผลกระทบด้านฝุ่นละออง น้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ก่อผลกระทบต่อชุมชน รวมถึงนำของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลมาสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจสูงสุด ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจของผู้ประกอบการโรงงานที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่การเป็น Zero Wastes ได้อย่างแท้จริง

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลทั้งหมดทั่วประเทศได้ตระหนักและเห็นถึงความสำคัญกับการบริหารจัดการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมแก่ชุมชนมาโดยตลอด โดยแต่ละโรงงานได้ลงทุนด้านเครื่องดักจับฝุ่นลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 หรือการบำบัดน้ำเสียให้สะอาด ปลอดภัยและไม่ส่งต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนำผลพลอยได้ที่ถือเป็นขยะอุตสาหกรรม เช่น ชานอ้อยมาใช้เผาไฟฟ้า เพื่อนำความร้อนที่ได้ไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า หรือการนำกากน้ำตาล มาใช้ผลิตเป็นเอทานอลสำหรับเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงยานยนต์ ทำให้สามารถลดมลพิษในอากาศและลดใช้จ่ายนำเข้าเชื้อเพลิงพลังงานให้แก่ประเทศ นอกจากนี้ มีการนำน้ำเสียมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นไบโอแก๊ส และทำการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ หรือนำกลับมาใช้ซ้ำในกระบวนการผลิตได้อีก ซึ่งแต่ละโรงงานได้มีการลงทุนเป็นจำนวนมากเพื่อบริหารจัดการของเสียจากกระบวนการผลิต มิให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ ความสำเร็จจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย จะเป็นพลังสำคัญในการช่วยกันดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้สามารถก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ เช่นเดียวกับการลดผลกระทบจากปัญหาอ้อยไฟไหม้ในฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิตปีที่ผ่านมา ที่สามารถลดการเผาอ้อยทำให้ปัญหาทุเลาความรุนแรงลง และผู้ที่เกี่ยวข้องก็ได้รับประโยชน์สูงสุดจากความร่วมมือกันในครั้งนี้ โดยชาวไร่มีรายได้ที่ดีขึ้นจากผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยและค่าความหวานในอ้อยสูงสุดในรอบ 30 ปี ขณะที่โรงงานได้ผลผลิตน้ำตาลที่ดีทีสุดแม้มีวิกฤติภัยแล้งก็ตาม 

“ความสำเร็จในการร่วมมือกันกับชาวไร่ในการลดการเผาอ้อยในรอบการผลิตที่ผ่านมา มีส่วนทำให้สามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในความร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม มุ่งลดผลกระทบจากมลพิษในทุกด้าน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยวอ้อยสด ไม่เผาอ้อย และจัดการน้ำเสียที่เกิดจากการผลิตที่ต้องผ่านการควบคุมและบำบัดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำของเสียจากการผลิตไปสร้างให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมก้าวสู่การเป็น Zero Waste ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ (BCG) ของประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ได้” นายสิริวุทธิ์ กล่าว

สมอ. เตรียมเชือดผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ หลังพบโพสต์จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟไม่มี มอก. บนแอปพลิเคชัน ช้อปปิ้งออนไลน์ ‘Shopee’ เร่งตรวจสอบขยายผล หากพบผิดจริงจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและกระจายเป็นวงกว้าง ประชาชนจึงหันมาสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเดินทางและลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโควิด-19

สมอ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความปลอดภัยของประชาชนจากการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐาน จึงดำเนินการตรวจควบคุมการจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์อย่างเข้มงวด โดยเฉพาะบนเว็บไซต์ และแอปพลิเคชันช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดังที่ได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเฝ้าระวังผ่านระบบ National Single Window หรือ NSW  อย่างใกล้ชิด ตลอดจนเปิดรับข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคกรณีสินค้าไม่ได้มาตรฐานผ่านทางออนไลน์ทุกช่องทาง ซึ่งพบว่ามีข้อร้องเรียนจากการซื้อสินค้าออนไลน์เป็นจำนวนมาก 

ล่าสุด สมอ. ได้รับข้อร้องเรียนผ่านทางเฟซบุ๊ค https://th-th.facebook.com/tisiofficial/ ว่า บนแอปพลิเคชัน Shopee มีการจำหน่ายเครื่องหรี่ไฟ (Dimmer) รุ่น Suntec STD-1600 โดยไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. ซึ่งสินค้าดังกล่าวอยู่ในข่ายสินค้าควบคุมตาม มอก.1955-2551 จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบ พบว่า มีผู้จำหน่าย 6 ราย ที่จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟที่ไม่แสดงเครื่องหมาย มอก. ได้แก่

1.) อุบลแสงฟ้าอิเล็คโทรนิค จังหวัดอุบลราชธานี

2.) Messi99  จังหวัดเพชรบุรี

3.) Little_boy_889  กรุงเทพฯ  

4.) Beeshop กรุงเทพฯ  

5.) Starcomshop กรุงเทพฯ และ

6.) Bon lighting จังหวัดปทุมธานี  

สมอ. จึงได้แจ้งให้บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของแอปพลิเคชัน Shopee ลบข้อความที่มีการโพสต์จำหน่ายเครื่องหรี่ไฟของผู้จำหน่ายทั้ง 6 ราย ออกจากแอปพลิเคชันทันที พร้อมทั้งให้จัดส่งภาพถ่ายฉลากสินค้าทุกด้าน และให้แสดงหลักฐานแหล่งที่มาของสินค้าภายใน 15 วัน หากตรวจสอบแล้วพบว่าได้รับอนุญาตตามมาตรฐาน มอก.1955-2551 จาก สมอ. อย่างถูกต้อง จึงจะขายสินค้าบนแอปพลิเคชันดังกล่าวได้ แต่หากพบว่าเป็นการลักลอบจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต สมอ. จะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้จำหน่ายทันที โดยมีความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และจะสอบสวนขยายผลเพิ่มเติมไปถึงผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวด้วย หากพบว่านำเข้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ เตรียมเอาผิด Shopee ด้วยฐานโฆษณาจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมว่า เครื่องหรี่ไฟหรืออุปกรณ์หรี่แสง (Dimmer) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยปรับเปลี่ยนความสว่างของหลอดไฟต่าง ๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานและให้แสงสว่างตามความต้องการ เป็นสินค้าในจำนวน 123 รายการ ที่ สมอ. ควบคุม โดยต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อนทำ หรือนำเข้า รวมถึงการจำหน่ายจะต้องจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ได้มาตรฐานเท่านั้น เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องมีความปลอดภัยในการนำไปใช้งาน เพราะหากไม่ได้มาตรฐานอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยเครื่องหรี่ไฟที่ได้มาตรฐานจะมีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนด 220-240 โวลต์ และกำลังไฟฟ้าที่กำหนด 5-40 วัตต์ มีการควบคุมการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงานของเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียง ปัจจุบันมีผู้ทำ และนำเข้าสินค้าดังกล่าวได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. แล้วกว่า 50 ราย จึงขอเตือนประชาชนให้เลือกซื้อสินค้าด้วยความรอบคอบ เลือกที่ได้มาตรฐาน โดยการสังเกตเครื่องหมายมาตรฐาน ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงจากอันตรายในการนำไปใช้ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคพบเห็นการกระทำความผิดหรือต้องการแจ้งเบาะแสสินค้าควบคุมที่ไม่ได้มาตรฐาน สามารถแจ้งได้ที่ https://th-th.facebook.com/tisiofficial/ ตลอด 24 ชม. และตรวจสอบรายชื่อสินค้าควบคุมจำนวน 123 รายการ ได้ที่ https://www.tisi.go.th/website/standardlist/comp_thai/th เลขาธิการ สมอ. กล่าวทิ้งท้าย                      
 

สภาพัฒน์ฯ ปรับเป้าจีดีพีไทยทั้งปีเหลือ 2%

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไตรมาสแรกของปี 2564 และแนวโน้มปี 2564 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2564 ลดลง 2.6% หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปี ทำให้ทั้งปี สศช. ได้ปรับประมาณการใหม่ จากเดิมคาดว่าจะขยายตัว 2.5-3.5% เหลือเพียง 1.5-2.5% หรือเฉลี่ยที่ 2% ซึ่งปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการลดลง 6.1% ในปี 2563

ทั้งนี้พบว่า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.5% เทียบกับการขยายตัว 0.9% ในไตรมาสก่อนหน้า การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัว 2.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.2% ในไตรมาสก่อนหน้า การเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำในไตรมาสนี้อยู่ที่ 20% (ต่ำกว่าอัตราเบิกจ่าย 32.8% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 28.2% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) 

ส่วนการลงทุนรวม ขยายตัว 7.3% ปรับตัวดีขึ้นมากจากการลดลง 2.5% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส 3% เทียบกับการลดลง 3.3% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัวในเกณฑ์สูง 19.6% เร่งขึ้นจากการขยายตัว 0.6% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนรัฐบาลขยายตัว 28.4% ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานต่ำในปี 2563 ส่วนการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 9.3%

ด้านการส่งออกสินค้า มีมูลค่า 64,004 ล้านดอลลาร์ กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส 5.3% เทียบกับการลดลง 1.5% ในไตรมาสก่อนหน้าสอดคล้องกับการฟื้นตัวที่ชัดเจนของเศรษฐกิจโลกและการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก 

ราเมศ ย้ำ ปชป. เคียงข้างพี่น้องเกษตรกร ประกันรายได้ 7.6 ล้านครัวเรือน ยิ้มได้

นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึง นโยบายประกันรายได้ในขณะนี้ว่านายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกร โดยเฉพาะราคาพืชผลทางการเกษตรที่จะต้องมีราคาที่เป็นหลักประกันได้ว่าสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้โดยไม่ประสบกับสภาวะปัญหาขาดทุน และที่สำคัญการต่อยอดนโยบายในเรื่องการตลาดที่มีการเปิดตลาดทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วยแล้ว เมื่อความต้องการตลาดมีมาก แน่นอนว่าย่อมทำให้วิถีชีวิตของพี่น้องเกษตรกรมีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้นเพราะราคาพืชผลเกษตรกรก็จะดีขึ้น เกษตรผลิตพาณิชย์ตลาดก็เป็นอีกหนึ่งนโยบายเช่นกันที่จะช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร โดยมีนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนร่วมกันอย่างเป็นระบบ

พรรคได้หาเสียงเรื่องนโยบายประกันรายได้ไว้และเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งในการเข้าร่วมรัฐบาล โดยเจตนารมณ์ที่มุ่งหมายของพรรคคือพี่น้องเกษตรกรได้ประโยชน์ ขณะนี้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การประกันรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรก็จะเป็นหลักประกันได้ ให้มีราคาพืชผลทางการเกษตรที่อยู่ได้

นายราเมศ กล่าวตอนท้ายว่า ล่าสุดพี่น้องเกษตรกรชาวสวนข้าวโพดกว่า 1.3 แสนไร่  21,071 ครัวเรือน ก็จะได้รับเงินประกันรายได้ งวด 7 และในส่วนโครงการประกันรายได้ปีที่ 2 คือ พ.ศ.2563 / 2564 ในพืชทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์ม และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยังเดินหน้าขับเคลื่อนอย่างเต็มที่ มีพี่น้องเกษตรกรไม่ต่ำกว่า 7.6 ล้านครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์จากโครงการประกันรายได้

กระทรวงอุตสาหกรรม ตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป เตรียมหารือนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เล็งใช้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ จัดตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  ว่า  ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พ.ค.2564 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ, นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน, นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ.เป็นรองประธาน, โดยมีกรรมการ ประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธาน ส.อ.ท. หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน, ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น โดยหน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ  

1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม 

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที 

“เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด”ผู้ว่าการ กนอ.กล่าว

บอร์ดประกันสังคมเห็นชอบปรับลดเงินสมทบทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 เป็นเวลา 3 เดือน เริ่ม มิถุนายน-สิงหาคม 2564 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนจากผลกระทบโควิด-19 เตรียมเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการประกันสังคม มีมติเห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .....

โดยให้ลดอัตราเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตนมาตรา 33 จากเดิมฝ่ายละร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 2.5 ของค่าจ้างผู้ประกันตน และผู้ประกันตนมาตรา 39 เหลืออัตราเดือนละ 216 บาท เป็นเวลา 3 เดือนในงวดเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 ส่วนงวดเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นไป ให้ส่งเงินสมทบอัตราเดิม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประกันตนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอก 3 ทั้งนี้ จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในสัปดาห์หน้า

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การลดเงินสมทบในครั้งนี้จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อนายจ้างและผู้ประกันตน นายจ้าง จำนวน 485,113 ราย ผู้ประกันตนมาตรา 33 จำนวน 11,164,384 คน และผู้ประกันตนมาตรา 39 จำนวน 1,832,500 คน สามารถนำเงินสมทบที่ลดลงไปใช้จ่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในระยะเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564 รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,163 ล้านบาท อันเป็นการลดปัญหาทางการเงินของนายจ้างและผู้ประกันตน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ประกันตนดีขึ้นและเป็นการรักษาระดับการจ้างงานของนายจ้างอีกด้วย

กฟผ. ลดค่าไฟฟ้า 2 เดือน ช่วยร้านค้ารายย่อย

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกเดือนเม.ย. 2564 เพิ่มเติม ให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เช่น ร้านค้ารายย่อย และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการกองทัพเรือ โดยลดค่าไฟฟ้าเงื่อนไขเดียวกับมาตรการลดค่าไฟในที่ประชุมครม. วันที่ 5 พ.ค. คือ ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพ.ค.-มิ.ย. 64) เพื่อลดกระทบต่อภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนครอบคลุมทุกกลุ่ม

นอกจากนี้ยังรับทราบแนวทางการบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ ตามข้อเสนอของคณะทำงานบริหารจัดการกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศ และได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ กฟผ. ร่วมกันพิจารณาทบทวนสมมติฐานการกำหนดค่ากำลังผลิตพึ่งได้ ของโรงไฟฟ้าของ กฟผ. 

พร้อมกันนี้ยังพิจารณาทบทวนเกณฑ์ จากโอกาสเกิดไฟฟ้าดับที่เหมาะสมในภาพรวมทั้งประเทศและแยกตามรายพื้นที่ และมอบหมายให้ สำนักงาน กกพ. พิจารณาออกแบบสัญญาในการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนให้เหมาะสมกับโรงไฟฟ้าแต่ละประเภทและการรับซื้อไฟฟ้าจริงของระบบ รวมถึง ปรับปรุงกฎระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีความเหมาะสมและยืดหยุ่น สอดคล้องกับเทคโนโลยี

'เฉลิมชัย' สั่งเดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบราง 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียง-ด่านหนองคาย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) เปิดเผยว่า เช้าวันนี้ (14 พฤษภาคม พ.ศ.2564) เทศบาลเมืองตงซิงได้จัดพิธีต้อนรับผลไม้ไทยล็อตแรก และแถลงข่าวการนำเข้าผลไม้ไทยมายังประเทศจีนผ่านด่านตงซิง

โดยมีนายเฉิน เจี้ยนหลิน รองเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และนายกเทศมนตรีเมืองตงซิง เป็นประธานฝ่ายจีน และนางสาวเบญจมาศ ตันเวทยานนท์ กงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง เป็นผู้แทนฝ่ายไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการนำเข้าผลไม้ของจีนทราบถึงโอกาสและศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทยผ่านด่านตงซิงที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็ว ซึ่งใช้เวลาในการขนส่งออกจากไทยและเข้าจีนได้ในระยะเวลาเพียง 2 วันเท่านั้น

ด้านนายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจวรายงานว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ได้ประเดิมส่งออกทุเรียนตู้ปฐมฤกษ์เพื่อทดลองนำร่องในการขนส่งผ่านด่านตงซิง จำนวน 2 ตู้คอนแทนเนอร์ ปริมาณรวม 36 ตัน มูลค่ากว่า 4 ล้านบาท ซึ่งพบว่ารถขนส่งสามารถผ่านเข้าด่านตงซิงและผ่านพิธีการศุลกากรได้อย่างราบรื่น

โดยผู้ประกอบการจีนได้ทำการต้อนรับตู้ทุเรียนตู้แรกของไทย ณ ตลาดการค้าสินค้าเกษตรฟู่หมินตงซิงกว่างซี เมื่อเวลา 23.48 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ซึ่งเป็นผลจากการที่สำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) ได้ประกาศให้ด่านตงซิง (สะพานข้ามแม่น้ำเป่ยหลุนแห่งที่ 2) สามารถนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศได้ ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน พ.ศ.2564 

ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และฝ่ายเกษตรฯ กว่างโจว โดย ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้การเจรจาและผลักดันการทำความตกลงกับสำนักงานศุลกากรแห่งชาติจีน (GACC) จนเห็นชอบร่วมกันให้บรรจุด่านตงซิงเข้าไปในร่างพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการขนส่งผลไม้ไทยที่ส่งออกผ่านประเทศที่สามเข้าสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า ด่านตงซิงตั้งอยู่ที่เมืองระดับอำเภอตงซิงของเมืองฝางเฉิงก่าง เขตปกครองตนเอง กว่างซีจ้วง อยู่ห่างจากด่านหมงก๋าย จังหวัดกว่างนินห์ ของเวียดนาม เพียง 100 เมตร และได้รับอนุญาตให้เป็นด่านนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศทางบกเป็นแห่งที่ 3 ของเขตฯ กว่างซีจ้วง ต่อจากด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง 

ทั้งนี้ ด่านตงซิงสามารถรองรับรถบรรทุกสินค้าเข้าออกได้ไม่ต่ำกว่า 2,000 คันต่อวัน จึงเป็นด่านทางบกที่มีศักยภาพในการนำเข้าผลไม้จากไทย นอกเหนือจากด่านโม่ฮาน มณฑลยูนนาน ด่านโหย่วอี้กวน และด่านรถไฟผิงเสียง เขตฯ กว่างซีจ้วง ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการส่งออกผลไม้ของไทยไปยังจีน ช่วยแก้ปัญหารถติดสะสมบริเวณหน้าด่านโหย่วอี้กวน โดยเฉพาะในฤดูกาลส่งออกทุเรียนในขณะนี้ รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับผู้ส่งออกไทย

อลงกรณ์ เผยทิ้งท้ายอีกว่า ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้เดินหน้าเปิดเส้นทางโลจิสติกส์ระบบรางเพื่อ 'เชื่อมไทยเชื่อมโลก' ผ่านด่านผิงเสียงและด่านหนองคาย หลังจากประสบความสำเร็จในการเปิดด่านและขนส่งสินค้าได้จริงในทุกด่าน โดยเฉพาะล่าสุด คือ ด่านตงชิงโดยย้ำให้เร่งดำเนินการให้ทันต่อการเปิดเส้นทางรถไฟจีน-ลาว

“รมว.พาณิชย์ ”เร่งแก้ปัญหาราคาปาล์มตก ยันต้องไม่ทำให้น้ำมันปาล์มขายแพง

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์ประสานงานพรรคประชาธิปัตย์เขตหลักสี่ ซอยแจ้งวัฒนะ 10 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ถึงราคาน้ำมันปาล์ม  ว่าในช่วงที่ผ่านมา ราคาผลปาล์มสูงขึ้นมากจากกิโลกรัม (กก.) ละ 2 บาท เป็น กก.ละ 4-5 บาท และสูงสุดถึงกก.ละ 7 บาท แม้ขณะนี้ราคาอ่อนตัวลงมาบ้าง แต่ยังสูงกว่ารายได้ที่ประกันราคา ซึ่งตอนนี้เฉลี่ยกก.ละ 5 บาท และราคาเกินกว่ารายได้ที่ประกันที่กก.ละ 4 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มขวดสูงขึ้น แต่กระทรวงพาณิชย์พยายามพิจารณาให้เกิดความสมดุล โดยตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในพิจารณาหาทางช่วยให้เกษตรกรยังขายปาล์มได้ในราคาสูง แต่อย่าให้น้ำมันปาล์มบริโภคมีราคาสูงมาก โดยจะทำโครงสร้างราคาขึ้นมาเพื่อเทียบกันต่อไปในอนาคต ขณะที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มแห่งชาติได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทำโครงสร้างราคาให้เป็นทางการ เพื่อใช้เทียบเคียงต่อไปในอนาคตในขณะที่ปาล์ม กก.ละ 5 บาท น้ำมันปาล์มขึ้นไปลิตรละ 40 กว่าบาท 
      
 นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ตนได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเชิญผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดและห้างสรรพสินค้ามาหารือกันว่ากดราคาลงมาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่ขาดทุน ให้พออยู่ได้แต่อย่าถึงกับทำกำไรในช่วงนี้ ขอให้ผลปาล์มเกษตรกรราคาดีต่อไป โดยราคาแล้วแต่ยี่ห้อ 43-46 บาท โดยประมาณ อีกทั้งให้พาณิชย์จังหวัดเข้าไปดูแล ถ้าพบผู้ใดที่จำหน่ายน้ำมันปาล์มขวดเกินราคา ก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป ซึ่งตอนนี้ผลปาล์มเริ่มออกมาจำนวนมาก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top