Wednesday, 3 July 2024
ECONBIZ NEWS

ธนารักษ์ ไม่เก็บค่าเช่าปชช.-เกษตรกร ถึงสิ้นปี

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้มีประกาศยกเว้นการเก็บค่าเช่าในส่วนของประชาชน และเกษตรกรจนถึงสิ้นสุดเดือน ธ.ค.64 คาดว่าจะมีประชาชน และเกษตรกรได้ประโยชน์กว่า 500,000 ราย ส่วนภาคเอกชนที่ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุเชิงพาณิชย์ เบื้องต้นกรมให้ผู้ประกอบการเลื่อนการจ่ายค่าเช่าออกไปก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่มีสัญญาเช่าใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ 

“การช่วยเหลือภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการที่เช่าที่ราชพัสดุในเชิงพาณิชย์ จะมีการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นรายกรณี เช่น อาจผ่อนผันเก็บค่าเช่า 6-12 งวด และนำค่าเช่าไปทยอยผ่อนต่อทีหลัง รวมถึงอาจให้ส่วนลดเพิ่มเติม แต่จะต้องพิสูจน์ได้ว่าได้รับความเดือดร้อนหรือถูกผลกระทบจากโควิดจริง” 

สำหรับแนวทางการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบโควิด สามารถแจ้งเรื่องขอความช่วยเหลือเข้ามาได้ พร้อมส่งเอกสารผลประกอบการ งบการเงิน เพื่อพิจารณาเปรียบเทียบในช่วงปี 63-64 ซึ่งเกิดผลกระทบโควิดกับผลประกอบการปีก่อนหน้านั้น หากพบว่ามีรายได้หายไปอย่างมีนัยยะ กรมฯ ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ ทั้งการผ่อนผันชำระ หรือลดค่าเช่าให้ 25-50% ตามความเดือดร้อนจริง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบการที่รับการผ่อนผัน ช่วยเหลือไปหลายราย

‘เฉลิมชัย’ สั่งลุยสกัดโรคลัมปี สกินในโค-กระบือ คุมเข้ม!! 'เฝ้าระวัง-ป้องกัน-ติดตามผล' ก่อนลุกลาม

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของ 'โรคลัมปี สกิน' (Lumpy Skin Disease) ในโค-กระบือ จึงได้มีคำสั่งให้กรมปศุสัตว์เร่งดำเนินการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ด้วยมาตรการต่าง ๆ ทั้ง การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมตามมาตรการที่กรมปศุสัตว์กำหนด พร้อมทั้งเร่งรัดการประกาศเขตควบคุม เช่น เขตโรคระบาดชั่วคราวฯ, เขตโรคระบาดฯ, เขตเฝ้าระวังฯ

นอกจากนี้ให้ควบคุมการเคลื่อนย้ายโค-กระบืออย่างเข้มงวด กรณีที่พบโรคระบาด หากสอบสวนแล้วพบว่าเกิดจากการเคลื่อนย้าย ปศุสัตว์จังหวัดต้นทางต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะเดียวกันให้ทางกรมปศุสัตว์กำชับด่านกักกันสัตว์ตามแนวชายแดนให้เข้มงวดป้องกันปราบปรามการลักลอบนำเข้าโค-กระบือจากประเทศเพื่อนบ้าน และป้องกันปราบปรามการลักลอบเคลื่อนย้ายโค-กระบือ พร้อมกำชับจุดตรวจให้เข้มงวดในการตรวจอาการ เป็นต้น และให้ทางกรมปศุสัตว์รายงานความคืบหน้าในการแก้ไขและควบคุมการระบาดอย่างต่อเนื่อง

“ผมมีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเกษตรกร ดังนั้นจึงกำชับให้กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคลัมปี สกิน อย่างเข้มแข็ง จริงจังตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติ ยึดประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกคนขอให้ทำงานโดยไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลของผู้ใดทั้งสิ้น ตนเองพร้อมปกป้องและให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่” นายเฉลิมชัย กล่าว

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของของการระบาดของ โรคลัมปี สกิน ในโค-กระบือ ที่พบในพื้นที่เขต 3, 4 และ 7 จนถึงขณะนี้ พบว่ามีแนวโน้มที่โรคจะแพร่กระจายไปในวงกว้าง ดังนั้นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือ ทางกรมปศุสัตว์ จึงกำหนดการแบ่งพื้นที่ควบคุมโรคออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

1.) จังหวัดที่เกิดโรคและจังหวัดที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค

2.) จังหวัดที่อยู่นอกพื้นที่รัศมี 50 กิโลเมตรจากจุดเกิดโรค

และเพื่อให้มาตรการที่กรมปศุสัตว์สัมฤทธิ์ผล จึงได้มีหนังสือด่วนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เพื่อให้ช่วยกำกับติดตามดูแลเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในแต่ละจังหวัดตามแนวทางของกรมปศุสัตว์

นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับมาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคนั้น ทางกรมปศุสัตว์ ได้กำหนดแนวทางการปฏิบัติและสั่งการเป็นที่เรียบร้อย โดยให้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอประกาศเขตโรคระบาดสัตว์ ควบคุมการเคลื่อนย้าย การจัดการดูแลในส่วนของตลาดนัดค้าสัตว์ พร้อมให้มีการตั้งจุดตรวจเพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายในพื้นที่ที่มีการประกาศเขตโรคระบาด

“ที่สำคัญอีกประการในเรื่องของการรักษาโค-กระบือที่ป่วยเป็นโรคลัมปี สกินของเกษตรกรในพื้นที่การระบาด ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ได้เข้าไปรักษาอย่างเต็มที่แล้ว แต่เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาโดยตรง จึงจำเป็นต้องรักษาตามอาการ และบำรุงร่างกายสัตว์ให้มีสุขภาพดี และรักษาแผลเพื่อป้องกันการแทรกซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย และป้องกันแมลงต้อมแผลหรือเข้ามาวางไข่ อีกทั้งเร่งสร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรค เช่น การใช้หลอดไฟไล่แมลง และกางมุ้งเพื่อป้องกันแมลงดูดเลือด การใช้ยาฆ่าแมลงแบบพ่นและแบบราดบนตัวสัตว์ เป็นต้น พร้อมกันนี้ขอให้เกษตรกรเข้มงวดเฝ้าระวัง และสังเกตอาการสัตว์ของตนเอง หากพบว่ามีอาการของโรคให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที” นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าว


ข้อมูล/ข่าว : ทีมโฆษกกรมปศุสัตว์ (13 พ.ค 2564)

 

คลังเปิดตัวเลขแก้หนี้นอกระบบแล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท

นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยภาพรวมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การกำกับ (สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์) ณ สิ้นเดือนมี.ค. 2564 พบว่า มีจำนวนผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ และเปิดดำเนินการแล้วสะสมสุทธิ 967 ราย ใน 75 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบธุรกิจในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 571 ราย รองลงมา คือ ภาคกลาง 154 ราย ภาคเหนือ 124 ราย ภาคตะวันออก 67 ราย และภาคใต้ 51 ราย

ทั้งนี้ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2559 ที่กระทรวงการคลังได้เปิดให้มีการประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์จนถึงสิ้นเดือนก.พ. 2564 ได้มีการอนุมัติสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ให้กับประชาชนรายย่อยไปแล้ว 484,638 บัญชี รวมเป็นวงเงิน 11,370 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 23,461 บาทต่อบัญชี 

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังร่วมกับหน่วยงานภาคีแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินการอย่างจริงจังกับเจ้าหนี้นอกระบบที่ผิดกฎหมาย ซึ่งนับตั้งแต่เดือนต.ค. 2559 จนถึงสิ้นเดือนมี.ค. 2564 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการจับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบที่กระทำผิดกฎหมายจำนวนสะสม 9,118 ราย 

ก.แรงงาน เคาะ 3 มาตรการ เร่งช่วยสถานประกอบกิจการภายใต้พ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน 2545 ลดผลกระทบโควิด-19

นายธวัช  เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและสถานประกอบกิจการเป็นจำนวนมาก รัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานภาครัฐเร่งดำเนินการช่วยเหลือกำลังแรงงานและสถานประกอบกิจการที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยในส่วนของ กพร. ได้ดำเนินการตามนโยบายกระทรวงแรงงานโดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มีความห่วงใยแรงงานทุกกลุ่ม นายจ้างและสถานประกอบกิจการ ได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือสถานประกอบกิจการที่อยู่ในข่ายบังคับตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ด้วยกัน 3 มาตรการ ดังนี้

มาตรการที่ 1 ลดอัตราเงินสมทบกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานจากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.1 ของค่าจ้างที่ผู้ประกอบกิจการจ่ายในปี 2564 ตามสัดส่วนจำนวนพนักงานที่ไม่ได้จัดให้มีการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน มาตรการที่ 2 ขยายระยะเวลาการยื่นแบบแสดงการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานสำหรับปี 2563 จากเดิมต้องยื่นภายในเดือนมีนาคม 2564 เป็นภายในเดือนกรกฎาคม 2564 และมาตรการที่ 3 ขยายระยะเวลาการยื่นขอรับรองหลักสูตรและค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมสำหรับปี 2564 จากเดิมภายใน 60 วัน เป็นภายใน 90 วัน นับตั้งแต่เสร็จสิ้นการฝึกอบรม แต่ต้องไม่เกินวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2565

“สำหรับมาตรการลดสัดส่วนการพัฒนาฝีมือแรงงานที่นายจ้างและสถานประกอบกิจการได้สอบถามเข้ามาเป็นจำนวนมากนั้น กพร. กำลังรวบรวมข้อมูลผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อนนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานพิจารณาต่อไป ซึ่งสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานส่งเสริมและรับรองสิทธิประโยชน์ กองส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เบอร์โทร 0 2246 1937” อธิบดีกพร. กล่าว

กางเป้าไตรมาส 3 ต่างชาติมาไทย 1.29 แสนคน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้รายงานให้นายกรัฐมนตรี รับทราบถึงเป้าหมายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยในปีนี้ หลังจากผ่านสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ไปแล้ว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 3 เริ่มตั้งแต่ 1 ก.ค.-30 ก.ย. นี้ จะดึงต่างชาติมาไทยให้ได้ 1.29 แสนคน ผ่านการทำภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์ หรือการทำพื้นที่ทดลองให้ต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส และมีผลการตรวจว่าไม่ติดเชื้อโควิด สามารถเดินทางเข้ามาอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตได้ 7 วัน โดยที่ไม่ต้องมีการกักตัว

ทั้งนี้ตามแผนการเปิดภูเก็ตแซนด์บ๊อกซ์นั้น ในเบื้องต้นจะเน้นนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะไกลเป็นหลัก เช่น อเมริกา และยุโรป ซึ่งตอนนี้ได้รับการแจ้งมาว่าในสหราชอาณาจักร เตรียมเปิดให้ประชาชนเดินทางออกนอกประเทศได้แล้วในวันที่ 17 พ.ค. นี้ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนครบแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นปัจจัยที่สามารถหาทางดึงนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยได้ เพราะจากการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ก็ยังมองประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาหลังจากผ่านการระบาดของโควิดแล้ว

ขณะเดียวกัน เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทยมากยิ่งขึ้น ล่าสุด ททท.ได้หารือกับสายการบินในประเทศสร้างแรงจูงใจเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ในพื้นที่ภูเก็ตครบตามระยะเวลาแล้ว สามารถเดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีสนามบินรองรับได้ทันที เบื้องต้น ททท.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายตั๋วเครื่องบินแบบเที่ยวเดียว ในราคาไม่เกิน 2,000 บาท รวมทั้งยังหารือเรื่องการทำซีลรูท หรือเส้นทางนำร่องเชื่อมจากจังหวัดภูเก็ตไปยังพื้นที่อื่น ๆ ใกล้เคียง ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่เป็นพื้นที่นำร่องอีก 9 จังหวัด ที่จะเปิดตามมาในช่วงวันที่ 1 ต.ค. นั้น ก็พร้อมทำในลักษณะเดียวกับภูเก็ตด้วย

‘เฉลิมชัย’ สั่ง ‘เกษตรผนึกพาณิชย์’ นำทัพสินค้าไทยบุกตลาดจีน 9 แสนล้าน ‘อลงกรณ์’ เผยทุเรียนไทยฮ็อตไม่หยุด! ใช้กลยุทธ์อีคอมเมิร์ซไลฟ์สดแพลตฟอร์ม Pagoda ขายหมดรวดเดียวในงานไหหลำเอ็กซ์โป

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) แถลงวันนี้ว่า หลังจาก ‘5ยุทธศาสตร์เฉลิมชัย’ ประสบความสำเร็จในการเปิดตลาดทุเรียนไทยในระบบสั่งซื้อล่วงหน้าออนไลน์ (Pre order) ในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนเมื่อวันที่ 8 พ.ค.ที่ผ่านมา วันนี้ทุเรียนและผลไม้ไทยได้รับความนิยมสูงสุดอีกครั้งหนึ่งในมณฑลไหหน่าน (ไหหลำ) ในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนด้วยกลยุทธ์อีคอมเมิร์ซขายในระบบไลฟ์สตรีมบนแพลตฟอร์มของปาโกด้า (Pagoda) ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของจีนและกลยุทธ์นี้จะเป็นแนวทางสำคัญในการขยายตลาดจีนไปทุกภาคทุกมณฑลของจีนในยุคดิจิทัลภายใต้วิกฤติโควิด-19 ให้มากที่สุด โดยมี ‘5ยุทธศาสตร์’ ที่ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ วางไว้เป็นธงนำ และท่านรัฐมนตรีสั่งการให้ขยายผลแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซโดยผนึกกำลังกับทีมไทยแลนด์ในการเพิ่มการส่งออกผลไม้และสินค้าเกษตรอื่น ๆ

“สำหรับประเทศจีนถือเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2020 ไทยส่งออกสินค้าไปจีนรวม 29.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9.15 แสนล้านบาท) เป็นการส่งออกผลไม้กว่าแสนล้านบาท นับเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับไทยโดยเฉพาะในยุคโควิดและ post covid และเป็นประเทศที่ฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเร็วที่สุด จึงเป็นโอกาสของไทยและต้องทำเร็วก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งพร้อมกับสร้างแบรนด์ผลไม้ไทยโดยใช้ทุเรียนเป็นหัวหอกรุกทั้งออนไลน์และออฟไลน์”

นายอลงกรณ์กล่าวต่อไปว่า ล่าสุด กงสุล (ฝ่ายเกษตร) ประจำสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครกว่างโจว ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์และสถานกงสุลใหญ่ กระทรวงต่างประเทศได้เข้าร่วมงาน China International Consumer Products Expo 2021 (Hainan Expo) ระหว่างวันที่ 7-10 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ภายใน Thailand Pavilion โดยได้นำผลไม้ไทย อาทิ ทุเรียน มังคุด ลำไย มะพร้าวน้ำหอม เงาะ มะม่วงน้ำดอกไม้ ลองกอง กล้วยไข่ ชมพูทับทิมจันทร์ มาประชาสัมพันธ์ และแจกให้ผู้เข้าร่วมงานได้ลิ้มลองรสชาติ รวมทั้งจัดแสดงทุเรียน 9 สายพันธุ์ ได้แก่ ชะนี หมอนทอง นวลทองจันทร์ ก้านยาว พวงมณี นกกระจิบ กระดุม จันทบุรี 8 และ 10 ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานฯ เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ฝ่ายเกษตรฯ ได้รับการสนับสนุนจากกรมหม่อนไหมในการนำผ้าไหมไทยมาจัดแสดงในงานดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้นายปรัตถกร แท่นมณี กงสุล (ฝ่ายเกษตร) รายงานว่าได้เข้าร่วมกิจกรรม Live Streaming ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Pagoda แนะนำผลไม้ไทยที่มีโอกาสในตลาดจีน และได้รับเกียรติจากนางสาวเนตรนภา คงศรี กงสุลใหญ่ ณ นครกว่างโจว นางสาวปทุมวดี อิ่มทั่ว อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายเกษตร) ณ กรุงปักกิ่ง และนางสาวศุภรา เสกาจารย์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ร่วม Live Streaming แนะนำ Thailand Pavilion ผ้าไหม สินค้าอุปโภคบริโภคของไทย และผลไม้ไทยยอดนิยม ได้แก่ ทุเรียน มังคุด มะพร้าวน้ำหอม ที่นอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยเป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง รวมทั้งประชาสัมพันธ์คุณภาพมาตรฐานของผลไม้ไทยที่ส่งออกมายังประเทศจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งการ Live Streaming ครั้งนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีมากจากชาวจีน โดยผลไม้ไทยถูกขายออนไลน์จนหมดภายในช่วงเวลาของการ Live

Hainan Expo เป็นงานที่กระทรวงพาณิชย์จีน และรัฐบาลมณฑลไห่หนาน ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อผลักดันมณฑลไห่หนานให้เป็นศูนย์กลางการจับจ่ายใช้สอยตามนโยบายท่าเรือการค้าเสรีไห่หนาน โดยจะเน้นการจัดแสดงสินค้าคุณภาพสูง high-end สินค้าแบรนด์ชั้นนำ สินค้าด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม อาหาร สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพ เป็นต้น ทั้งนี้ งานดังกล่าวได้รับอนุมัติจากรัฐบาลจีนให้เป็นงานระดับชาติ 1 ใน 4 งานของจีน โดยจัดที่ศูนย์ Hainan International Convention and Exhibition Center ที่นครไหโข่ว มีขนาดพื้นที่จัดงาน 80,000 ตรม. แบ่งเป็นพื้นที่จัดแสดงของสินค้าต่างประเทศ 60,000 ตรม. จาก 69 ประเทศ

รมว.สุชาติ ลุยชลบุรี ตรวจเยี่ยมการตรวจโควิดเชิงรุก แก่แรงงานในสถานประกอบการ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ มอบหน้ากากอนามัยและสิ่งของสู้ภัยโควิด-19

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจและมอบสิ่งของแก่ลูกจ้างที่ตรวจโควิด-19 เชิงรุกเพื่อผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะชิตี้ พร้อมมอบหน้ากากอนามัย ชุด PPE และสิ่งของให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองรี อ.เมือง จ.ชลบุรี

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม มอบสิ่งของและให้กำลังใจลูกจ้างที่เข้ารับการตรวจโควิด-19 เชิงรุกเพื่อผู้ประกันตนในสถานประกอบการ ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โดยมี นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม นายภัครธรณ์ เทียนไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี 

พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย โดย รมว.แรงงาน กล่าวว่า ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีความห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากสภาพปัญหาในปัจจุบันได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้าง และมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีดำริกำชับให้กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เพิ่มจุดตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการเพื่อเร่งควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในจังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า การจัดงานในวันนี้ผมต้องขอขอบคุณในความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน ในการอนุเคราะห์ด้านสถานที่ในการตรวจคัดกรองฯ และการประชาสัมพันธ์แก่สถานประกอบการในนิคมฯ 
การดำเนินการตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการแก่ลูกจ้างภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ 

ซึ่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดชลบุรี ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมในพื้นที่ จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลวิภาราม อมตะนคร โรงพยาบาลวิภาราม แหลมฉบัง โรงพยาบาลเอกชน 2 และโรงพยาบาลพญาไท ศรีราชา เพื่อบูรณาการทำงานเชิงรุก จัดรถโมบาย ตู้ตรวจโรคไปตั้งยังสถานประกอบการให้ลูกจ้างที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงความร่วมมือจากสถานพยาบาล ต่อการสัมผัสเชื้อได้รับการตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ทราบผลภายใต้ 24-48 ชั่วโมง สำหรับจังหวัดชลบุรี มีแผนดำเนินการตั้งแต่วันที่ 11-28 พ.ค. 64 จะดำเนินการเข้าสถานประกอบการ จำนวน 90 แห่ง ตรวจคัดกรองผู้ประกันตน จำนวน 9,790 คน ได้แก่ เขตอำเภอเมืองชลบุรี สถานประกอบการ จำนวน 41 แห่ง ผู้ประกันตน จำนวน 3,736 คน เขตศรีราชา สถานประกอบการ จำนวน 19 แห่ง ผู้ประกันตน จำนวน 4,336 คน เขตบางละมุง สถานประกอบการ จำนวน 30 แห่ง ผู้ประกันตน จำนวน 1,718 คน ซึ่งหากตรวจพบเชื้อก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการควบคุมดูแลรักษาตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยลูกจ้างในสถานประกอบการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการตรวจ 

จากนั้น รมว.แรงงาน ยังได้มอบชุด PPE จำนวน 600 ชุด ให้กับสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี มอบชุด PPE จำนวน 400 ชุด และหน้ากากอนามัย จำนวน 20 กล่อง ให้กับโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา มอบผลิตภัณฑ์อาหารอบแห้งให้กับผู้อำนวยการสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ จำนวน 50 กล่อง มอบหน้ากากอนามัยให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลหนองรี จำนวน 5,000 กล่อง รวม 250,000 ชิ้น และมอบหน้ากากอนามัย จำนวน 3,450 กล่อง รวม 172,500 ชิ้น ให้กับองค์การบริหารส่วนตำบลสำนักบก เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

“สุชาติ” สั่งปรับแนวทางอบรมคนไปทำงานต่างประเทศ ยึดปลอดภัยจากโควิด-19 

กระทรวงแรงงาน เริ่มอบรมคนหางานก่อนเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ผ่านวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จากการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานราชการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 อย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการ ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของพี่น้องแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานในต่างประเทศ ซึ่งต้องได้รับการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนเดินทาง และป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทรวงแรงงานจึงปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการภาครัฐ โดยนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อสามารถดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ต่อไป และคนหางานสามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้อย่างปลอดภัย

“กระทรวงแรงงานเริ่มปรับใช้การอบรมก่อนไปทำงานในต่างประเทศ ด้วยการอบรมผ่านระบบ Zoom แทนการเข้ารับการอบรม ณ กระทรวงแรงงาน โดยตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.-11 พ.ค. ที่ผ่านมา มีการอบรมไปแล้ว 5 รอบ รวมทั้งสิ้น 423 คน เป็นคนหางานที่ประสงค์เดินทางไปทำงานประเทศไต้หวัน 413 คน และโปรตุเกส 10 คน  แบ่งเป็นวันที่ 3 พ.ค. จำนวน 35 คน วันที่ 5 พ.ค. จำนวน 86 คน วันที่ 6 พ.ค. จำนวน 19 คน วันที่ 7 พ.ค. จำนวน 214 คน และวันที่ 11 พ.ค. จำนวน 69 คน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าว

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางานปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข และข้อสั่งการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นอกจากการอบรมเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศผ่านระบบ Zoom แล้ว ยังใช้วิธีสัมภาษณ์คนหางานไปทำงานต่างประเทศ ผ่านแอปพลิเคชัน LINE การลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ไปทำงานต่างประเทศ แจ้งการเดินทางไปทำงานต่างประเทศด้วยตนเอง แจ้งการเดินทางกลับไปทำงานต่างประเทศ ผ่านเว็บไซต์ toea.doe.go.th แทนการเดินทางมาที่สำนักงานด้วย ทั้งนี้ ผู้สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถติดตามข่าวสารได้ที่เว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ www.doe.go.th/overseas และ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเดินทางไปทำงานในต่างประเทศได้ที่สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน หรือสายด่วน 1694 กรมการจัดหางาน

กระทรวงแรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดฝึกออนไลน์ Upskill ให้ผู้กักตัว จัด 20 หลักสูตร พัฒนาทักษะผ่าน Online ฟรี ฝึกจบรับวุฒิบัตร 

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กระทรวงแรงงาน โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ กพร. ช่วยเหลือแรงงานทั้งแรงงานในระบบ
และแรงงานอิสระ ภายใต้ภารกิจของ กพร.โดยการฝึกอบรมฝีมือแรงงานแบบ New Normal ผ่านระบบออนไลน์เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่แรงงานได้พัฒนาทักษะฝีมือในช่วงกักตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 และเตรียมความพร้อมเป็นแรงงานคุณภาพกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานหลังสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย 

อธิบดี กพร. กล่าวต่อไปว่า กพร.ได้มอบหมายให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) ทุกแห่งทั่วประเทศจัดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ฟรี 20 หลักสูตร โดยเน้นหลักสูตรด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล โปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อการประยุกต์ใช้งาน และการประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่ Microsoft Excel Advanced การผลิตสื่อโฆษณาและหนังสั้นด้วยสมาร์ตโฟน เทคนิคการสร้างร้านค้าและขายสินค้าออนไลน์ การสร้างงานสร้างอาชีพด้วยระบบ E-Commerce การออกแบบและตกแต่งภาพด้วยโปรแกรม Photoshop  illustrator การสร้างแอปพลิเคชันโมบายระบบแอนดรอยด์ การเขียนแบบก่อสร้าง 3D ด้วยโปรแกรม Sketch-up การสร้างโปรแกรมฐานข้อมูลด้วย Google Form การประยุกต์ใช้งานโปรแกรม Solid Work ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ภาษาพม่าเบื้องต้นเพื่อการทำงาน ไคเซ็น (KAIZEN) เพื่อการปรับปรุงงาน  การใช้งานโปรแกรม Microsoft Power point 2010  เทคนิคการสร้างสื่อมัลติมีเดียเพื่อการท่องเที่ยว การใช้ Google Application เพื่อธุรกิจ การสร้างแบรนด์ธุรกิจดิจิทัล การใช้โปรแกรม Microsoft Word 2016 และการสร้างอินโฟกราฟิกเบื้องต้น 

ผู้สนใจสามารถค้นหาหลักสูตร และลงทะเบียนสมัครฝึกอบรมได้ที่เว็บไซต์กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน www.dsd.go.th เลือกอบรมออนไลน์ผู้กักตัว COVID – 19 เลือกหลักสูตรที่ต้องการฝึกอบรม นัดหมายและเตรียมความพร้อมก่อนฝึก เมื่อถึงวันฝึกอบรมให้ผู้สมัครลงทะเบียนเข้ารับการฝึกอบรมผ่านแอปพลิเคชัน Zoom Meeting และประเมินผลการฝึกผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ ผู้ผ่านการประเมินจะสามารถพิมพ์วุฒิบัตรผ่านระบบออนไลน์ได้ด้วยตนเอง การฝึกอบรมในครั้งนี้     เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้กักตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ระลอกเดือนเมษายน 2564 ไม่จำกัดเพศ และวุฒิการศึกษา 


“การกักตัวอยู่บ้านตามที่รัฐบาลขอความร่วมมือ นอกจากจะเป็นการช่วยชาติลดการแพร่เชื้อโควิด – 19 แล้ว แรงงานยังสามารถพัฒนาศักยภาพตนเองผ่านระบบออนไลน์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้อีกด้วย ผู้ที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรเหล่านี้ และหลักสูตรอื่นๆ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สพร.และสนพ. ทุกแห่งทั่วประเทศ” อธิบดี กพร. กล่าวทิ้งท้าย

ลูกจ้างธุรกิจอีเว้นท์ เฮ!! รมว.เฮ้ง รับลูก นายกฯ สั่งการ สปส.พิจารณาข้อ กม.แล้ว  เข้าเงื่อนไขเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึง กรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง จะเข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและตนในฐานะ รมว.แรงงาน เพื่อให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการจากผลกระทบโควิด-19 จนทำให้กิจการต้องปิดไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบแล้วและสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาข้อกฎหมาย โดยประเด็นดังกล่าวเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ผู้ประกอบการธุรกิจอีเว้นท์และที่เกี่ยวข้อง เตรียมยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึงยื่นหนังสือถึงตนในสัปดาห์หน้านั้นด้วย เพื่อขอให้ภาครัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในธุรกิจอีเว้นท์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มระบาดในประเทศไทยระลอกแรกตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 เรื่อยมา จนถึงการระบาดอย่างรุนแรงในระลอก 3 นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยให้เหตุผลว่า บางประเภทกิจการภาครัฐมิได้สั่งให้ปิด แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องปิดกิจการไปโดยปริยาย เพราะไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่อไปได้ และยังมองไม่เห็นว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติเมื่อใด นายสุชาติ กล่าวว่า ผมได้นำเรียนท่านนายกรัฐมนตรีทราบแล้ว และท่านได้สั่งการให้สำนักงานประกันสังคมไปพิจารณาข้อระเบียบกฎหมายว่าเข้าเงื่อนไงดังกล่าวหรือไม่อย่างไร ซึ่งจากการพิจารณาแนวทางการจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยตามกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ พ.ศ.2563 (เพิ่มเติม) พบว่า มีเงื่อนไข ดังนี้ 1) ทางราชการมีคำสั่งให้ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว โดยสั่งให้ปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่ เช่น สถานที่จัดนิทรรศการ ศูนย์การแสดงสินค้า ศูนย์ประชุม สถานที่ให้บริการห้องประชุม ห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน ทำให้นายจ้างไม่สามารถประกอบกิจการในสถานที่ดังกล่าวได้ เช่น ประเภทกิจการที่มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย การจัดประชุม การจัดสัมมนา การจัดเลี้ยงทั้งในและนอกสถานที่ หรือกิจกรรมอื่นในลักษณะเดียวกันที่กระทำในสถานที่นั้นๆ 2) ระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัย ให้พิจารณาจากการปิด หรือห้าม หรืองดใช้สถานที่โดยให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือจังหวัด หรือคำสั่งของทางราชการที่มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่ออันตรายกำหนด ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง คราวละไม่เกิน 90 วัน และ 3) ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหนังสือรับรองการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยที่นายจ้างรับรอง ในประเด็นที่นายจ้างไม่ได้ประกอบกิจการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวตามคำสั่ง/ประกาศของทางราชการ ตามข้อ 1) โดยลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างในระหว่างนั้น 

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากการพิจารณาข้อกฎหมายประเด็นดังกล่าวของสำนักงานประกันสังคมปรากฎว่าเข้าเงื่อนไขกฎกระทรวง การได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยโควิด-19 สามารถจ่ายเยียวยาว่างงานเหตุสุดวิสัยโควิด-19 ได้ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 90 วัน ทั้งนี้ ผู้ประกันตนต้องดำเนินการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนโดยกรอกแบบขอรับประโยชน์ทดแทน พร้อมเบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้และแนบสำเนาสมุดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ แล้วนำส่งให้นายจ้างรวบรวมแบบฯ เพื่อบันทึกข้อมูลลูกจ้างและหนังสือรับรองการหยุดงานกรณีราชการสั่งปิด/กรณีกักตัว เมื่อนายจ้างบันทึกข้อมูลลูกจ้างเสร็จสิ้นให้นำส่งแบบฯ และหนังสือรับรองในระบบ e- Service ส่งมายังสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง/จังหวัด/สาขา/ที่ท่านสะดวก หรือผ่านโทรศัพท์สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top