Wednesday, 3 July 2024
ECONBIZ NEWS

เปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงใน 10 ชาติอาเซียน ประเทศไหน 'ถูก-แพง' หากใช้ค่าแรงตั้ง หารด้วย 'ราคาต่อหน่วย'

บ่อยครั้งที่บ้านเรามีการหยิบยกเอาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมาเปรียบเทียบกับรายรับของประชากร ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ ด้วยการเอาค่าแรงตั้งแล้วหารด้วยราคาจำหน่ายปลีกของน้ำมันเชื้อเพลิง จนได้ผลออกมาว่า 'ค่าแรงของแต่ละประเทศนั้นจะสามารถซื้อน้ำมันได้กี่ลิตร' เพื่อเปรียบเทียบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ 10 รัฐสมาชิก ASEAN 

แม้วิธีการคิดแบบนี้จะง่ายและดูเหมือนมีความชัดเจน แต่เป็นวิธีการที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่ได้พิจารณาด้วยข้อมูลจากดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) 

ดัชนีค่าครองชีพ (Cost of Living Index) เป็นการคำนวณค่าใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง เสื้อผ้าและรองเท้า กีฬาและสันทนาการ และค่าสาธารณูปโภค (ไม่รวมค่าเช่าที่อยู่อาศัย) ซึ่งสำรวจข้อมูลจากแหล่งต่างๆ อาทิ หน่วยงานภาครัฐ ซูเปอร์มาร์เก็ต ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค โดยเปรียบเทียบกับดัชนีค่าครองชีพของมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เป็นค่าฐานอยู่ที่ร้อยละ 100 (100%)

ดัชนีค่าครองชีพยังเป็นเกณฑ์มาตรฐานสําหรับการเปรียบเทียบความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของสถานที่ที่แตกต่างกันสําหรับ บุคคล, ครอบครัว และธุรกิจ โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่...

- ค่าที่อยู่อาศัย : ค่าเช่าหรือค่าจํานองภาษีทรัพย์สินและค่าสาธารณูปโภค
- ค่าอาหาร : ร้านขายของชําและรับประทานอาหารนอกบ้าน
- ค่าขนส่ง : น้ำมันเบนซิน การขนส่งสาธารณะ และค่าใช้จ่ายในการบํารุงรักษายานพาหนะ
- ค่ารักษาพยาบาล : เบี้ยประกันสุขภาพ และค่ารักษาพยาบาลนอกเหนือความคุ้มครองของประกัน
- ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา : ค่าเล่าเรียน อุปกรณ์การเรียน และการใช้จ่ายในดูแลเด็กเล็ก
- ค่าใช้จ่ายด้านสันทนาการและความบันเทิง : กิจกรรมสันทนาการ ความบันเทิง และสินค้าเพื่อการพักผ่อน
- ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด : เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ

***หากค่าของดัชนีค่าครองชีพในประเทศใด 'สูง' จะหมายถึงว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ ในประเทศนั้นย่อมสูงตามไปด้วย

ทีนี้หากเปรียบเทียบ ราคาน้ำเบนซินต่อลิตร กับค่าแรงหนึ่งวัน และดัชนีค่าครองชีพ ของ ASEAN 10 ประเทศ (คิดเป็นเงินบาท) พอจะสรุปข้อมูลได้ดังนี้...

1. สิงคโปร์ : ราคาน้ำมันเบนซินลิตรละ 79 บาท แรงงานมีรายได้ต่อเดือนประมาณ 46,051 บาท หรือวันละ 1,535 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 19.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 (สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN มีระบบการขนส่งมวลชนดีที่สุดใน ASEAN ชาวสิงคโปร์จึงใช้รถยนต์ส่วนบุคคลกันน้อยมาก)

2. บรูไน : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 14 บาท ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ต่อเดือนประมาณ 28,431 บาท หรือวันละ 948 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 67.7 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 50.5 (บรูไนเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบรายใหญ่ที่สุดของ ASEAN)

3. มาเลเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 16 บาท ค่าแรงวันละ 392 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 24.5 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.5 (รัฐบาลมาเลเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงราวปีละ 387,069,500 ล้านบาท)

4. ไทย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 38.5 บาท ค่าแรงวันละ 363 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.4 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 36.04 (ไทยมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วใช้การอุดหนุนน้ำมันดีเซลและก๊าซ LPG)

5. ฟิลิปปินส์ : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 37 บาท ค่าแรงวันละ 362 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.8 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 33.6 (รัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ปัจจุบันมีความพยายามที่จะฟื้นฟูกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน (OPSF) ซึ่งยกเลิกไปในปี 1996 กลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง)

6. อินโดนีเซีย : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 35.5 บาท ค่าแรงวันละ 351 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 9.9 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 28.5 (รัฐบาลอินโดนีเซียใช้งบประมาณของรัฐในการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ราวปีละ 303,245,769 ล้านบาท)

7. เวียดนาม : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 33 บาท ค่าแรงวันละ 234 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 7.1 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 30.8 (เวียดนามมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง)

8. กัมพูชา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 43.5 บาท ค่าแรงวันละ 227 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 5.2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.5 และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

9. ลาว : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 54 บาท ค่าแรงวันละ 85 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 1.6 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 44.4 (ลาวพึ่งจัดตั้งกองทุนรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในปีนี้) และไม่มีโรงกลั่นน้ำมัน

10. เมียนมา : ราคาน้ำเบนซินลิตรละ 40.5 บาท ค่าแรงวันละ 81 บาท ค่าแรงหนึ่งวันสามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้ 2 ลิตร และดัชนีค่าครองชีพเท่ากับ 38.6

ดังนั้นวิธีการเอา 'ค่าแรงตั้ง' หารด้วย 'ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงต่อหน่วย' ได้คำตอบเป็น 'ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง' จึงเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หากไม่นำปัจจัยอื่นๆ มาพิจารณาประกอบร่วม โดยเฉพาะ 'ดัชนีค่าครองชีพ' เพราะผลลัพธ์ที่ออกมา แม้ค่าแรงจะสามารถซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงได้มากกว่าประเทศอื่น แต่หากดัชนีค่าครองชีพสูง อาทิ ดัชนีค่าครองชีพของสิงคโปร์ ที่สูงถึง 81.9 ซึ่งหมายความว่า ถ้าค่าครองชีพในมหานครนิวยอร์กเท่ากับวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐ ประชาชนชาวสิงคโปร์ต้องจ่ายค่าครองชีพเท่ากับ 81.9 ดอลลาร์สหรัฐ 

เมื่อต้องใช้จ่ายค่าครองชีพที่สูงลิ่วแล้ว แน่นอนว่าคนสิงคโปร์ก็คงจะไม่มีเงินเหลือพอที่จะซื้อรถยนต์ ซ้ำยังต้องจ่ายค่าเช่าที่จอดรถอีกซึ่งแพงมากๆ และไหนจะต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 

ส่วนบางประเทศได้ใช้น้ำมันราคาถูก นั่นก็เพราะภาครัฐต้องใช้งบประมาณของประเทศจำนวนมากมายมหาศาลในการอุดหนุนราคา ซึ่งน่าเสียดายแทน เพราะแทนที่จะได้เอางบประมาณดังกล่าวไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ 

ดังนั้น เมื่อลองพิจารณาจากตัวเลขข้อมูลโดยรวมในหลายๆ มิติแล้ว ราคาน้ำมันของแต่ละประเทศต่างก็มีความเหมาะสมถูกต้องตามแต่บริบทของประเทศนั้นๆ โดยใน ASEAN มีบรูไนประเทศเดียวเท่านั้นที่มีน้ำมันดิบและโรงกลั่นน้ำมันเอง ในขณะที่อีก 9 ประเทศต้องนำเข้าน้ำมันดิบหรือน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูป เพราะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเอง 

โดยสรุป ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจะถูกหรือแพงนอกจากเรื่องของราคาแล้วยังต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างถี่ถ้วนอีกด้วย จึงจะเข้าใจว่าราคาน้ำเชื้อเพลิงที่ถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมของแต่ละประเทศนั้น ควรเป็นเท่าใด? และด้วยเหตุผลอันใด?

‘มาคาเลียส’ เผย ‘Staycation-Sleep Tourism’ กำลังฮิต แนะผู้ประกอบการปรับตัว รับกลุ่มคนรุ่นใหม่สายรักสุขภาพ

(21 พ.ค. 67) มาคาเลียส แหล่งรวม อี-วอเชอร์ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว อันดับ 1 ของประเทศไทย เผยเทรนด์การเที่ยวแบบ Staycation และ Sleep Tourism การท่องเที่ยวที่เน้นการพักผ่อน การชาร์จพลัง และการนอน มีอัตราเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ด้านผู้ประกอบการโรงแรมที่พักควรปรับแผนการตลาดรับโอกาสที่จะมาในอนาคต  

นางสาวณีรนุช ไตรจักร์วนิช ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มาคาเลียส (MAKALIUS) ประเทศไทย จำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ แหล่งรวม อี-วอเชอร์ ที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว กล่าวว่า “เทรนด์การท่องเที่ยวในรูปแบบ Staycation การท่องเที่ยวในละแวกจังหวัดที่ไม่ไกลมาก เน้นการทำกิจกรรมในโรงแรมที่พัก เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน นวดสปา เป็นต้น และรูปแบบ Sleep Tourism หรือการท่องเที่ยวเพื่อการนอนพักผ่อน ย้ายที่นอน ชาร์จพลังให้กับร่างกายและจิตใจให้กับตัวเอง ถือเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่หันมาให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพหลังยุคโควิด-19 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะมองหาโรงแรม ที่พัก ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เน้นท่องเที่ยวในช่วงโลว์ซีซั่น เพราะต้องการความสงบ

ดังนั้น ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก จำเป็นต้องปรับรูปแบบการให้บริการเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ ห้องพัก (Room) ถือเป็นส่วนสำคัญมากที่สุด เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการการพักผ่อนที่แท้จริง ดังนั้น ห้องพักต้องสะอาด แสงไฟพอดี อุณหภูมิในห้องต้องเหมาะสม ชุดเครื่องนอนต้องมีคุณภาพ หรืออาจเสริมด้วยอุปกรณ์สมาร์ตไอทีที่จะช่วยให้การนอนหลับสบายขึ้น บรรยากาศต้องเงียบสงบ ถ้าเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ต้องมีการแบ่งโซนห้องพักเป็นสัดส่วนอย่างชัดเจน เช่น แบ่งโซนห้องพักแบบครอบครัว ห้องพักที่ต้องการความเป็นส่วนตัว เป็นต้น โดยห้องพักขนาดกลางและขนาดใหญ่ตั้งแต่ 35 ตารางเมตรขึ้นไป รวมถึงห้องพักแบบ Private Pool Villa จะได้รับความนิยมเป็นพิเศษ

ต่อมาคือ กิจกรรม (Activity) นอกเหนือจากการพักผ่อนแล้วกิจกรรมภายในโรงแรมที่พักก็เป็นส่วนสำคัญที่นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลาย ช่วยให้หลับง่าย และช่วยแก้ปัญหาออฟฟิศซินโดรม อย่างการนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การสอนโยคะ คลื่นเสียงบำบัด (Sound Healing) ธาราบำบัด Sub Board พายเรือ ต่อยมวย เป็นต้น รวมถึงกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยว อย่างเช่น ห้องสมุด ห้องชมภาพยนตร์ กิจกรรมทำอาหาร ก็เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจเข้าเลือกใช้บริการ

สุดท้ายคือ อาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมที่พักตลอด 24 ชั่วโมง ไม่เดินทางไปท่องเที่ยวหรือรับประทานอาหารภายนอกโรงแรม ดังนั้น การให้บริการอาหารและเครื่องดื่มจึงเป็นส่วนสำคัญ รูปแบบอาหารควรมีให้เลือกหลากหลายทั้งอาหารจานเดียวไปจนถึงบุฟเฟต์ และขยายเวลาการให้บริการ Room service ที่ยาวขึ้น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าที่สั่งอาหารรับประทานที่ห้องพัก ในส่วนของเครื่องดื่มควรมีน้ำเปล่าและน้ำให้แข็งให้บริการตลอดเวลาไม่จำกัดจำนวน ในจุดนี้แม้จะมองเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ถือว่าเป็นเซอร์วิสมายที่ลูกค้าให้คะแนนสูงที่สุด

นางสาวณีรนุช กล่าวต่อว่า “นอกเหนือจากการปรับรูปแบบของเซอร์วิสแล้ว แผนการสื่อสารการตลาดก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องทำให้นักท่องเที่ยวรับรู้และเข้าใจ รวมถึงการทำโปรโมชันต่าง ๆ ที่สอดรับกับรูปแบบบริการ อย่างการจัดทำเป็นแพ็กเกจห้องพักรวมอาหารเช้า กลางวัน และเย็น หรือแพ็กเกจห้องพักรวมกิจกรรม เป็นต้น เช่นเดียวกับมาคาเลียส ที่ได้ร่วมมือกับโรงแรมที่พักร่วมจัดทำแพ็กเกจพิเศษ ห้องพักรวมบริการด้านต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับลูกค้ากลุ่ม Staycation และ Sleep Tourism ได้มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น”

สำหรับนักท่องเที่ยวที่กำลังมองหาแพ็กเกจโรงแรมที่พักแบบส่วนตัว พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ และโปรโมชันสุดพิเศษ สามารถแวะมาชมได้ที่ www.makalius.co.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม Line Official @makalius

‘เศรษฐกิจสีชมพู’ โอกาสที่ ‘ไทย’ ไม่ควรมองข้าม ดึงกลุ่ม ‘LGBTQ+’ ผู้มีกำลังซื้อมหาศาลเข้าประเทศ

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ก่อนจะถึงเดือนมิถุนายน เดือน Pride Month ช่วงเวลาที่ทั่วโลกเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่ไร้ซึ่งข้อจำกัดเดิม ๆ อยากพาทุกคนมารู้จักกับ ‘เศรษฐกิจสีชมพู’ หรือ ‘Pink Economy’ อีกหนึ่งโอกาสของ ‘ประเทศไทย’ ที่จะใช้ความโดดเด่นของพื้นที่ที่เปิดกว้างและมอบอิสระให้ชาว LGBTQ+ ในการสร้างธุรกิจที่โดนใจกลุ่มคนเหล่านี้

โดยในปี 2566 ข้อมูลจาก LGBT Capital ระบุว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 4 ของโลก ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT สูงที่สุด อีกทั้งแนวโน้มการจัดอันดับระดับสากล ในแง่ประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ มากที่สุด ซึ่งไทยก็มีคะแนนไต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพดินแดนที่เปิดกว้างพร้อมโอบอุ้มความหลากหลายทางเพศ จนนี่อาจกลายมาเป็นจุดขายใหม่ทางเศรษฐกิจได้

บทความจาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในแต่ละปีของเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ในเดือนมิถุนายน การจัดงานนี้ที่ประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงในกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก เพราะมีสีสันและน่าตื่นตาตื่นใจมาก

และการรวมตัวหรือรวมกลุ่มของชาว LGBTQ+ นี่เอง ที่ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลของคนเหล่านั้นได้เช่นกัน ซึ่งภาษาในทางการตลาด เรียกว่า PINK ECONOMY หรือเศรษฐกิจสีชมพู ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ ช่วงกลางทศวรรษ 1960 เมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มมองเห็น ‘กำลังซื้อ’ และการใช้จ่ายที่หนักและหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมากกว่ากลุ่มเพศตรงข้าม และกลุ่มครอบครัวที่มีลูก แม้จะไม่ได้มีรายได้สูงกว่าก็ตาม

แต่ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างออกไป ไม่มีลูก ไม่มีภาระทางครอบครัวมากนัก จึงมีเงินในกระเป๋าเหลือสูงกว่า มีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย และบริการระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น และมักจะเลือกซื้อด้วยราคาที่แพงกว่าผู้บริโภคกลุ่มครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ส่วนตัว แม้กระทั่งการท่องเที่ยวที่เน้นความหรูหรา และหากกลุ่ม LGBTQ+ เลือกใช้ชีวิตคู่ ก็ยิ่งมีกำลังซื้อสูงขึ้นแบบทวีคูณไปอีก เรียกว่า DINK หรือ Double Income, No Kids มีรายได้สองเท่า ไม่มีลูกเป็นเงื่อนไข และใช้จ่ายได้อิสระ

โดย PINK ECONOMY ในสหรัฐนั้น อาจสูงถึง 780,000 ล้านดอลลาร์จากการประเมินของ Witeck Communication บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ธุรกิจของสหรัฐ ขณะที่ประมาณการกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ทั่วโลกอาจจะสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ขณะที่หนังสือพิมพ์ China Daily ของทางการจีน ได้เคยระบุถึงเม็ดเงิน Pink economy ในประเทศเมื่อหลายปีก่อนที่มีขนาดตลาดสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน LGBTQ+ ที่มีอยู่ในจีนถึง 70 ล้านคน พูดง่าย ๆ แค่ตลาดคนกลุ่มนี้ในจีนประเทศเดียว ก็เท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศแล้ว

ดังนั้น ด้วยโอกาสต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้ประเทศไทยไม่ควรมองข้ามความน่าสนใจของ เศรษฐกิจสีชมพู หรือ PINK ECONOMY ด้วยประการทั้งปวง

สำหรับโอกาสของตลาด พลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภค LGBTQ+ ภายใต้ข้อมูล กลุ่มเกย์ และเลสเบี้ยน มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่าเพศหญิงและชาย มูลค่าตลาดถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะไทย ซึ่งกวาดเม็ดเงินจากคนกลุ่มนี้ได้เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะตั้งเป้า เป็นฮับ LGBTQ+ Destination และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ระดับสากล เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และออสเตรเลีย อีกด้วย โดยจะเดินหน้าพัฒนาการเดินทางมาเยือนให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และมีที่พักโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานบริการเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายอย่างครบครัน ผลักดัน ซีรีส์วายไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปในตัว

โดยล่าสุดได้มีการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดผ่าน เศรษฐกิจสีชมพู หรือ PINK ECNOMY ที่เกิดขึ้นจากพลังซื้อ กลุ่ม LGBTQ+ ทั้งนี้ โอกาสของธุรกิจ และกิจกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องช่วยขับเคลื่อน มีดังนี้

1. ส่งเสริม เทศกาล Pride Month ต้องจัดอย่างยิ่งใหญ่ และ ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ สร้างความพร้อมของพื้นที่เพื่อเสนอตัว เป็นเจ้าภาพ จัด WorldPride เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาร่วมงานมากขึ้น และสนับสนุนแบรนด์สินค้าให้ใช้ในเทศกาล ชูธงสีรุ้ง แสดงสัญลักษณ์ของการเป็นส่วนหนึ่งบนแพลตฟอร์มและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย อาศัยจุดแข็งของไทย ที่ติดอันดับประเทศน่าเที่ยวของชาว LGBTQ+ ดึงแหล่งท่องเที่ยวและเทศกาลท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย ใช้โอกาสพัฒนาสินค้าชุมชนให้น่าสนใจ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น

3. ส่งเสริมธุรกิจด้านความบันเทิง คลับ บาร์ ราตรีสถาน หรือการประกวด LGBTQ+ เพื่อให้เป็นฮับของการมาผ่อนคลายและสนุกสนาน

4. ส่งเสริมธุรกิจด้านสุขภาวะและอสังหาริมทรัพย์สำหรับเพศหลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพเฉพาะ การผ่าตัดแปลงเพศ และการจัดสรรบ้านพักอาศัยสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน

‘ไทย’ ขึ้นแท่น ‘ฐานการผลิตรถยนต์’ เบอร์ 1 ของอาเซียน ผลพวงจากการส่งเสริมของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.67) ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดยานยนต์ในไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18% ของ GDP ของประเทศ การส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน

โดยเฉพาะยานยนต์สันดาปภายใน ที่ไทยเป็นฐานการผลิตมายาวนานและภาครัฐให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการผลิตยานยนต์สันดาปภายในที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงสูงและมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ พร้อมตั้งเป้าหมายภายในปี 2030 ไทยจะมีสัดส่วนการผลิตยานยนต์สันดาปภายใน 70% และจะเป็นฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในแห่งสุดท้ายของโลก

สำหรับการส่งออก ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ใน 3 ภูมิภาคหลัก คือ เอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง มากกว่าร้อยละ 70 ของปริมาณการส่งออกรวม สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมาก โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา ไทยมีมูลค่าการส่งออกรถยนต์ถึง 19,776.19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 688,531.24 ล้านบาท จากแนวโน้มการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของการส่งออกรถยนต์ของไทย ทำให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศที่มีมากกว่า 2,300 ราย มีการขยายตัวไปด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการผลิตยานยนต์แบบดั้งเดิมมาเป็นการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ที่เน้นด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจกสูง ภายใต้นโยบายของภาครัฐที่มุ่งเน้นและผลักดันให้ยานยนต์ที่ผลิตในประเทศเป็นยานยนต์ที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัย เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่ไปกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน

จากมาตรการการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ครอบคลุมตั้งแต่การผลิต การใช้งานและโครงสร้าง พื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของไทยขยายตัวอย่างวรวดเร็ว โดยปัจจุบันมีค่ายรถยนต์ทั้งจากประเทศจีนและญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนและมีแผนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยในปี 2567 กว่า 9 ราย

นำโดย BYD, MG, Changan, NETA, GAC, Nissan ฯลฯ และมีกำลังการผลิตรวมกว่า 596,000 คันต่อปี ซึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ไทยเริ่มมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศ โดยมีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดย ค่าย GWM, MG และ Honda (ผลิตรถยนต์ BEV HRV-en1 จำนวน 30 คัน ในเดือน มกราคม 2567 ที่ผ่านมา)

ขณะเดียวกันตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2566 ที่ผ่านมาไทยมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BEV ทั้งสิ้น 73,568 คัน อัตราการขยายตัว 694% ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของ ปี 2567 มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า BEV กว่า 19,131 คัน ซึ่งหากพิจารณาตามข้อมูลสถิติปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าสะสมในประเทศไทยพบว่า จนถึงปัจจุบันมีจำนวนรถไฟฟ้า BEV ที่จดทะเบียนแล้วกว่า 113,435 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กองทุนน้ำมันแบกหนี้อ่วม 'ทุกยุค-ทุกรัฐบาล' เพื่อช่วยคนไทย ทางแก้!! ต้องกล้าทำระบบ SPR สำรองเชื้อเพลิงให้ประเทศ

วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นรอบนี้เกิดขึ้นเพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2022 ต่อเนื่องมายาวนานกว่า 2 ปีแล้ว ประจวบกับการปะทะกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ปาเลสไตน์ ซ้ำบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและอิสราเอลเพิ่มขึ้น 

เงื่อนไขปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ราคาเฉลี่ยน้ำมันดิบในตลาดโลกเมื่อปลายปี 2021 ที่เคยอยู่ที่บาร์เรลละ 75-78 ดอลลาร์ ขยับขึ้นมาเป็นบาร์เรลละ 90-122 ดอลลาร์ในปี 2022 และบาร์เรลละ 75-91 ดอลลาร์ในปี 2023 ส่วนในปัจจุบันราคาน้ำมันดิบของโลกเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 80-90 ดอลลาร์ 

จากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานในครั้งนี้ทำให้ประเทศไทยต้องใช้เงินจาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เพื่ออุดหนุนชดเชยเพื่อตรึงราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉพาะน้ำมันดีเซล ซึ่งถือเป็นน้ำมันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถโดยสารและรถบรรทุกขนส่งส่วนใหญ่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงทั้งสิ้น

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มาจาก 3 ส่วน คือ...
- ส่วนของภาษีสรรพสามิตที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ
- ส่วนของภาษีศุลกากรที่กรมศุลกากรเรียกเก็บจากผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง
- ส่วนของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงและผู้รับสัมปทานที่ทำธุรกิจก๊าซ ซึ่งต้องนำส่งเงินให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มีบทบาทและภารกิจที่สำคัญในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศ ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน เกิดสภาวะวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อรักษาระดับของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ให้สูงเกินไปจนเกิดผลกระทบต่อค่าครองชีพประชาชน และการเติบโตด้านเศรษฐกิจของประเทศ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 

โดย ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ได้กำหนดแนวทางสำคัญในการใช้เงินกองทุนฯ ไว้ 3 ประการ เพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดังนี้...

1. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีก LPG เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)

2. สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง (1) ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร (2) ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือ ราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก.

3. สถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ

ทั้งนี้ในการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ จะมุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นเพียงชั่วคราวโดยยึดถือระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ แต่ในปัจจุบันการณ์กลับกลายเป็นว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ติดลบมหาศาลมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเดือนละ 200-250 ล้านบาท หมายความว่า ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ มียอดติดลบมากกว่า 100,000 ล้านบาทแล้ว นับแต่วิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงจาดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปี 2022 ไทยได้ใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการอุดหนุนน้ำมันดีเซล และ LPG มาโดยตลอด เพราะเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้เป็นเชื้อเพลิงที่มีความสำคัญอย่างมากต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และมีผลกระทบโดยตรงต้องพี่น้องประชาชนคนไทยซึ่งต้องบริโภคใช้งานเชื้อเพลิงทั้งสองชนิดนี้ไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม 

กรณีการติดลบมหาศาลของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ นี้ มีความพยายามที่จะป้ายความผิดให้กับ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่า การเข้ามารับผิดชอบดูแลกระทรวงพลังงานระยะเวลา 9 เดือนทำให้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เกิดปัญหาใหญ่เช่นนี้ขึ้น หากแต่พิจารณาด้วยเหตุและผลอย่างเป็นธรรมและมีตรรกะแล้ว จะพบว่าที่ผ่านมาชั่วนาตาปี รัฐบาลทุกชุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทุกคนต่างก็ใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และเป็นเครื่องมือที่สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพที่สุดเพียงเครื่องมือเดียวที่ภาครัฐมีอยู่ 

เพราะเครื่องมืออื่น ๆ ไม่ว่าจะ บทบาท อำนาจหน้าที่ และกฎหมาย ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้งานแก้ไขปัญหาราคาเชื้อเพลิงอย่างมีประสิทธิภาพได้ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ จึงต้องใช้ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่มีอยู่แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าจากวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อเป็นการลดทอนและบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ LPG ของพี่น้องประชาชนคนไทยไปพลาง ๆ ก่อน พร้อมกับออกนโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ นโยบาย ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของ รองฯ ‘พีระพันธุ์’ ก็ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว มีทั้งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการ และอยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อดำเนินการ

ดังนั้นในส่วนของ ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ เมื่อวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงได้เบาคลายลงแล้ว สถานการณ์การติดลบก็จะกลับมาดีขึ้นเรื่อย ๆ จนกลับเข้าสู่สภาวะปกติ แล้วจะค่อย ๆ ลดบทบาทลง โดยจะมี SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ เข้ามามีบทบาททำหน้าแทนที่มากขึ้น 

พูดง่าย ๆ ก็คือ ในอนาคตเมื่อรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานได้กลายเป็นผู้ถือครองปริมาณน้ำมันมากที่สุดในประเทศเพียงพอสำหรับการใช้งาน 50-90 วันแล้ว รัฐบาลย่อมสามารถนำปริมาณน้ำมันสำรองเข้าไปมีส่วนในการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศได้ หลังจากที่ผ่านมาปัญหาราคาน้ำมันเชื้อเพลิงจากวิกฤตเชื้อเพลิงมีการใช้ ‘เงิน’ จาก ‘กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง’ ในการแก้ไขปัญหา 

ทว่าเมื่อ SPR เกิดขึ้น ‘เงิน’ จากกองทุนน้ำมันก็จะถูกลดทอนบทบาทและต้องมาเป็นคำตอบหลักในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอีกไป เพราะในบางสถานการณ์ต่อให้มี ‘เงิน’ ก็อาจไม่สามารถหาซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่สามารถขนส่งมาประเทศไทยได้ 

ดังนั้น SPR ด้วยการถือครอง ‘น้ำเชื้อเพลิงสำรอง’ โดยรัฐที่มากพอ (สำหรับการใช้งาน 50-90 วัน) จนกระทั่งวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงคลายตัวลง จะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดในยามนี้

‘ศูนย์วิจัยกสิกรไทย’ ฟัน!! ศก.ไทย ปี 67 พ้นจุดต่ำสุดแล้ว คาด!! ‘งบรัฐฯ-ท่องเที่ยว-ส่งออก’ ดัน ศก. ครึ่งปีหลังขยายตัว

(21 พ.ค. 67) เพจเฟซบุ๊ก ‘BTimes’ ได้โพสต์ข้อความ “ฟันธงเศรษฐกิจไทยไม่แย่ไปกว่านี้แล้ว เศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%” พร้อมระบุเนื้อหาเพิ่มเติมว่า…

ไม่มีแย่! กสิกรไทยฟันธงเศรษฐกิจไทยปี 67 พ้นต่ำสุดแล้ว เปิด 3 ปัจจัยดันเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง แต่ลดเป้าคาดการณ์ปี 67 ลงเหลือ 2.6%

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/2567 ขยายตัวที่ 1.5% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีผ่านมา และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวที่ 1.1% เมื่อเทียบช่วงไตรมาสก่อนหน้านี้ โดยแม้ว่าจะออกมาดีกว่าที่ตลาดคาด แต่ก็ถือขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจัยกดดันหลักมาจากการลงทุนภาครัฐที่หดตัวลงอย่างมากเนื่องจากการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ที่ล่าช้าถึงเดือนเม.ย. 2567 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคก่อสร้างและภาคอุตสาหกรรม โดยภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงชะลอลงต่อเนื่อง

ขณะที่ผลผลิตทางการเกษตรออกสู่ตลาดน้อยกว่าช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าจากผลกระทบของสภาพอากาศที่ร้อนจัดและภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกไทยหดตัวจากปีก่อนหน้าเนื่องจากปัจจัยฐานสูง ประกอบกับการสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยที่ส่งผลให้การส่งออกไทยฟื้นตัวช้า 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/2567 มาจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

ทั้งนี้ คาดว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วและมีแนวโน้มทยอยขยายตัวในอัตราที่เร่งขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจากทางภาครัฐที่มีทิศทางเร่งตัวขึ้นหลังจากงบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2567 นอกจากนี้ การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยปีนี้ที่ 36 ล้านคน ขณะที่แม้ว่าการส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า แต่เนื่องจากผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มชะลอลงกว่าที่ประเมิน โดยปรับลดคาดการณ์การขยายตัวเติบโตจาก 2.8% มาอยู่ที่ 2.6% จากปัจจัยดังต่อไปนี้ การลงทุนและการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มหดตัวมากกว่าที่เคยคาด จากตัวเลขในไตรมาส 1/2567 ที่หดตัวลึกกว่าคาด แม้จะมีการเร่งเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปีนี้ แต่คาดว่าจะไม่เร่งตัวมากพอที่จะชดเชยการหดตัวในช่วงไตรมาส 1/2567 ได้

การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาด ตามทิศทางการค้าโลก ท่ามกลางภาคการผลิตทั่วโลกที่ยังอ่อนแรง ประกอบกับมีความเสี่ยงจากมาตรการกีดกันทางการค้าและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ อีกทั้งการส่งออกไทยเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างจากความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกที่ลดลง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดคาดการณ์ลงจาก 2.0% เป็น 1.5% ด้านภาคการผลิตยังมีแนวโน้มอ่อนแรงต่อเนื่อง จากอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลงและอุปสงค์นอกประเทศที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับการเข้ามาตีตลาดของสินค้าราคาถูกจากจีน

ผลผลิตทางการเกษตรได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่รุนแรง สภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรในไตรมาส 1/2567 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรบางส่วนในไตรมาส 2/2567 ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลังภาวะลานีญาอาจส่งผลให้เกิดฝนตกชุกและอุณหภูมิปรับลดลง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำท่วมขังได้ในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรได้

ติดตามผลกระทบหากมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และอาจมีผลต่อไปยังการจ้างงานและการลงทุนในประเทศ ส่วนมาตรการกระตุ้นทางการคลังในประเทศยังมีความไม่แน่นอน โดยแม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐอาจออกมาตรการกระตุ้นในช่วงปลายปีนี้ แต่ผลต่อเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอน ทั้งนี้ ประมาณการเศรษฐกิจไทยของศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คำนึงถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐไปบางส่วนแล้ว

‘เวฟ บีซีจี’ ผนึก ‘กรมการข้าว’ ถ่ายทอดการทำนา ‘เปียกสลับแห้ง’ หวังเพิ่มขีดแข่งขันชาวนาไทย - พร้อมลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก

‘เวฟ บีซีจี’ เอ็มโอยู ‘กรมการข้าว’ ร่วมมือพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านพัฒนาพันธุ์ข้าว และกรรมวิธีการทำนาแบบเปียกสลับแห้ง หวังช่วยเพิ่มคุณภาพผลผลิตข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย รวมทั้งเพิ่มขีดแข่งขันบนเวทีโลก เสริมศักยภาพการส่งออก และช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เมื่อไม่นานมานี้ นายเจมส์ แอนดริว มอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด (Wave BCG) และ นายชิษณุชา บุดดาบุญ รองอธิบดีกรมการข้าว ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบุคลากรด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว กรรมวิธีการเพาะปลูก เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผ่านการให้ความรู้ในการทำนาแบบเปียกสลับแห้งให้แก่เกษตรกรไทย ซึ่งวิธีการนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกแบบดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพผลผลิตข้าว เนื่องจากวิธีการปลูกข้าวเปียกสลับแห้งทำให้ข้าวดูดซับสารอาหารภายในดินได้ดียิ่งขึ้น และจากการปล่อยให้นาข้าวแห้งจะช่วยลดจำนวนศัตรูพืช จึงส่งผลกับผลผลิตโดยตรง

นอกจากนี้แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกจากการที่เป็นข้าวคาร์บอนต่ำซึ่งจะสามารถขายได้ในราคาที่สูงขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วมมือกันในการสนับสนุนให้แก่เกษตรกรไทยให้เข้าใจและนำวิธีการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งนี้ไปปรับใช้ เพื่อช่วยประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มศักยภาพในการส่งออกข้าว และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทย

ความร่วมมือนี้ยังพิจารณาแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกัน และแบ่งปันองค์ความรู้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายหรือดำเนินการความร่วมมืออื่น ๆ ตามที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกัน

นายเจมส์กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมที่มีพื้นที่ปลูกข้าวมากกว่า 56 ล้านไร่และมีข้าวเป็นสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศไทย ทั้งยังมีมูลค่าการส่งออกเป็นอันดับที่ 3 ของโลกรองจากอินเดียและเวียดนาม ซึ่งด้วยผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจะส่งผลให้ประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และทำให้พื้นที่นอกเขตชลประทานไม่สามารถทำกิจกรรมทางการเกษตรได้ เมื่อพื้นที่ทำเกษตรกรรมหายไป นั่นหมายความว่าปริมาณข้าวที่ถูกใช้เพื่อบริโภคและส่งออก และข้าวยังเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ด้วย เช่น อาหารแปรรูป อาหารสัตว์ อุตสาหกรรมแป้ง เป็นต้น ด้วยสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมาทำให้บริษัทเวฟ บีซีจี จำกัด ตระหนักว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวจากวิธีการปกติเป็น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และยังต้องการความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชนเพื่อให้การดำเนินกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้บริษัทเวฟ บีซีจี เป็นบริษัท climate ครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้องค์กรวางแผนในการลดการปล่อยก๊าซเรื่อนกระจก ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่ง Carbon Credit ผู้จัดหา Carbon Credit ให้บริษัททั้งในไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังลงทุนในนวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ Climate Tech

ส่วนทางด้านกรมการข้าว เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจ ในการส่งเสริมและสนับสนุนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และคุณภาพผลผลิตข้าวพัฒนาศักยภาพชาวนา และองค์กรชาวนาให้เข้มแข็ง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการผลิตข้าว และเครื่องจักรกลการเกษตร ส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าข้าว ผลผลิตภัณฑ์แปรรูป และผลพลอยได้จากข้าววิจัยและพัฒนารูปแบบบูรณาการด้านการผลิต การแปรรูป และบรรจุภัณฑ์ข้าว

‘บางจาก’ เปิดบ้านต้อนรับผู้เข้ารับการอบรมหลักสูตร นพม.รุ่นที่ 22 เรียนรู้การบริหารจัดการองค์กร-พัฒนาชุมชน-สังคมอย่างยั่งยืน

เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน นางกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร และผู้บริหารบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมต้อนรับและบรรยายให้กับ คณะผู้เข้าฝึกอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (นพม.) รุ่นที่ 22 สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในการเยี่ยมชมและศึกษา ดูงาน ณ สำนักงานใหญ่ บริษัท บางจากฯ อาคารเอ็มทาวเวอร์

โดยคณะผู้เข้าฝึกอบรมฯ ได้รับฟังกลยุทธ์การบริหารจัดการองค์กรและวิสัยทัศน์ของ บางจากฯ ในการดำเนินธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งผู้บริหารและพนักงานมี DNA ในการดำเนินธุรกิจควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม มีวัฒนธรรมพนักงาน ‘เป็นคนดี มีความรู้ เป็นประโยชน์ ต่อผู้อื่น’ ที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทจนปัจจุบันที่ก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ของการดำเนินธุรกิจ โดยในส่วนของการพัฒนาศักยภาพบุคลากร มีกลยุทธ์การพัฒนาบุคลากร Bangchak 100X to 100X Happiness ให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ต่อไป

‘สภาพัฒน์’ เผย!! เศรษฐกิจไทยไตรมาสเเรก โต 1.5%  แรงบวกจากภาคท่องเที่ยว-การผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัว

(20 พ.ค.67) นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก และแนวโน้มทั้งปี 67 พบว่า ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของไทยในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ ขยายตัว 1.5% สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะโตเพียง 0.7-0.8% 

ทั้งนี้ มีปัจจัยหลักมาจากการผลิตนอกภาคเกษตรขยายตัวจากบริการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการเกษตร ลดลง 3.5% และหมวดอุตสาหกรรมลดลง 3% ด้านการใช้จ่ายรัฐบาล ลดลง 2.1% และการลงทุนรวมลดลง 4.2% โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ ลดลง 27.7%

ขณะที่การส่งออกสินค้าและบริการ และการบริโภคอุปโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ชะลอลงเช่นกัน โดยเฉพาะปริมาณการส่งออกสินค้า ลดลง 2%

ดังนั้น แนวโน้มทั้งปี 67 สภาพัฒน์ ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยใหม่ จากเดิมคาดว่า จะขยายตัวอยู่ที่ประมาณ 2.2-3.2% ลดลงเหลือ 2-3% ค่ากลางการประมาณการ 2.5%

ทั้งนี้ เป็นการปรับตัวดีขึ้นอย่างช้า ๆ จากการขยายตัวเพียง 1.9% ในปี 2566 โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 4.5% และ 3.2% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.1 - 1.1% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.2% ของ GDP

'กลุ่ม ปตท.' เตรียมแผนถอนการลงทุนบนเกาะเคย์แมน  หลังโครงสร้างในอดีตเคยลงทุน ลั่น!! จากนี้ไม่ลงทุนเพิ่มเติม

เมื่อวานนี้ (19 พ.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2567 ปตท.ได้ตอบคำถามผู้ถือหุ้นประเด็นบริษัทยังมีการจดทะเบียนบริษัทย่อย หรือร่วมกับกิจการอื่นที่จดทะเบียนบริษัทในหมู่เกาะเคย์แมน หมู่เกาะเมอร์บิวด้า และประเทศในลักษณะเดียวกันหรือไม่

ปตท.ชี้แจงประเด็นดังกล่าวว่า ณ วันที่ 31 ธ.ค.2567 กลุ่ม ปตท.มีบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมน จำนวน 21 บริษัท จากโครงสร้างเดิมของกิจการที่กลุ่ม ปตท.เข้าลงทุนในอดีต

ทั้งนี้ กลุ่ม ปตท.มีนโยบายที่จะไม่ตั้งบริษัทในหมู่เกาะเคย์แทนเพิ่มเติม รวมทั้งอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อปิดและถอนการลงทุนในหมู่เกาะเคย์แมนในอนาคต

รายงานข่าวระบุว่า ที่ผ่านมากลุ่ม ปตท.ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับบริษัทย่อยบนเกาะเคย์แมน โดยกลุ่ม ปตท.ยืนยันการดำเนินธุรกิจภายใต้หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Good Corporate Governance) 

รวมทั้งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสเพื่อให้บุคคลทั่วไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการตั้งบริษัทบนเกาะเคย์แมนได้

นอกจากนี้เมื่อปี 2558 นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท.ชี้แจงว่ามีบริษัทบนเกาะเคย์แมน 1 บริษัท ในนาม บริษัท Subic Bay Energy Co., Ltd. เพื่อดำเนินธุรกิจจัดหา จำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเช่าคลังน้ำมันในฟิลิปปินส์ร่วมกับบริษัท Coastal Aruba Refining Company N.V. และจะปิดบริษัทเสร็จไตรมาส 1 ปี 2559

ขณะที่กลุ่ม ปตท.เคยมีการชี้แจงว่าบริษัทที่อยู่ในหมู่เกาะเคย์แมนเกิดจากการเข้าซื้อกิจการและต้องรับโอนบริษัทย่อยตามข้อตกลงกับผู้ร่วมทุนรายอื่น ซึ่งได้ปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศที่เกี่ยวข้องโดยชำระภาษีในไทยและในประเทศที่ลงทุนตามกฎหมาย และไม่มีการจัดตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมนอีก


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top