‘เศรษฐกิจสีชมพู’ โอกาสที่ ‘ไทย’ ไม่ควรมองข้าม ดึงกลุ่ม ‘LGBTQ+’ ผู้มีกำลังซื้อมหาศาลเข้าประเทศ

เมื่อวานนี้ (20 พ.ค.67) เพจเฟซบุ๊ก ‘Salika’ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า…

ก่อนจะถึงเดือนมิถุนายน เดือน Pride Month ช่วงเวลาที่ทั่วโลกเปิดรับความหลากหลายทางเพศที่ไร้ซึ่งข้อจำกัดเดิม ๆ อยากพาทุกคนมารู้จักกับ ‘เศรษฐกิจสีชมพู’ หรือ ‘Pink Economy’ อีกหนึ่งโอกาสของ ‘ประเทศไทย’ ที่จะใช้ความโดดเด่นของพื้นที่ที่เปิดกว้างและมอบอิสระให้ชาว LGBTQ+ ในการสร้างธุรกิจที่โดนใจกลุ่มคนเหล่านี้

โดยในปี 2566 ข้อมูลจาก LGBT Capital ระบุว่า ประเทศไทย ติดอันดับ 4 ของโลก ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT สูงที่สุด อีกทั้งแนวโน้มการจัดอันดับระดับสากล ในแง่ประเทศที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ+ มากที่สุด ซึ่งไทยก็มีคะแนนไต่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพดินแดนที่เปิดกว้างพร้อมโอบอุ้มความหลากหลายทางเพศ จนนี่อาจกลายมาเป็นจุดขายใหม่ทางเศรษฐกิจได้

บทความจาก สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ OKMD ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในแต่ละปีของเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ในเดือนมิถุนายน การจัดงานนี้ที่ประเทศไทยได้รับการกล่าวถึงในกลุ่ม LGBTQ+ ทั่วโลก เพราะมีสีสันและน่าตื่นตาตื่นใจมาก

และการรวมตัวหรือรวมกลุ่มของชาว LGBTQ+ นี่เอง ที่ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจ ที่สามารถสร้างเม็ดเงินมหาศาลของคนเหล่านั้นได้เช่นกัน ซึ่งภาษาในทางการตลาด เรียกว่า PINK ECONOMY หรือเศรษฐกิจสีชมพู ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐฯ ช่วงกลางทศวรรษ 1960 เมื่อบริษัทต่างๆ เริ่มมองเห็น ‘กำลังซื้อ’ และการใช้จ่ายที่หนักและหลากหลายของกลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมากกว่ากลุ่มเพศตรงข้าม และกลุ่มครอบครัวที่มีลูก แม้จะไม่ได้มีรายได้สูงกว่าก็ตาม

แต่ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างออกไป ไม่มีลูก ไม่มีภาระทางครอบครัวมากนัก จึงมีเงินในกระเป๋าเหลือสูงกว่า มีความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย และบริการระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น และมักจะเลือกซื้อด้วยราคาที่แพงกว่าผู้บริโภคกลุ่มครอบครัว

ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า อาหาร ของใช้ส่วนตัว แม้กระทั่งการท่องเที่ยวที่เน้นความหรูหรา และหากกลุ่ม LGBTQ+ เลือกใช้ชีวิตคู่ ก็ยิ่งมีกำลังซื้อสูงขึ้นแบบทวีคูณไปอีก เรียกว่า DINK หรือ Double Income, No Kids มีรายได้สองเท่า ไม่มีลูกเป็นเงื่อนไข และใช้จ่ายได้อิสระ

โดย PINK ECONOMY ในสหรัฐนั้น อาจสูงถึง 780,000 ล้านดอลลาร์จากการประเมินของ Witeck Communication บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ธุรกิจของสหรัฐ ขณะที่ประมาณการกำลังซื้อของคนกลุ่มนี้ทั่วโลกอาจจะสูงถึง 3.7 ล้านล้านดอลลาร์เลยทีเดียว

ขณะที่หนังสือพิมพ์ China Daily ของทางการจีน ได้เคยระบุถึงเม็ดเงิน Pink economy ในประเทศเมื่อหลายปีก่อนที่มีขนาดตลาดสูงถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ จากจำนวน LGBTQ+ ที่มีอยู่ในจีนถึง 70 ล้านคน พูดง่าย ๆ แค่ตลาดคนกลุ่มนี้ในจีนประเทศเดียว ก็เท่ากับประชากรไทยทั้งประเทศแล้ว

ดังนั้น ด้วยโอกาสต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ ทำให้ประเทศไทยไม่ควรมองข้ามความน่าสนใจของ เศรษฐกิจสีชมพู หรือ PINK ECONOMY ด้วยประการทั้งปวง

สำหรับโอกาสของตลาด พลังซื้อของกลุ่มผู้บริโภค LGBTQ+ ภายใต้ข้อมูล กลุ่มเกย์ และเลสเบี้ยน มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงกว่าเพศหญิงและชาย มูลค่าตลาดถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตอีกมาก โดยเฉพาะไทย ซึ่งกวาดเม็ดเงินจากคนกลุ่มนี้ได้เป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ประเทศไทยจะตั้งเป้า เป็นฮับ LGBTQ+ Destination และเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ+ ระดับสากล เช่นเดียวกับ สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ และออสเตรเลีย อีกด้วย โดยจะเดินหน้าพัฒนาการเดินทางมาเยือนให้เข้าถึงได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และมีที่พักโรงแรม ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว สถานบริการเฉพาะกลุ่ม ตลอดจนคลินิกสุขภาพเพศหลากหลายอย่างครบครัน ผลักดัน ซีรีส์วายไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ไปในตัว

โดยล่าสุดได้มีการวิเคราะห์โอกาสทางการตลาดผ่าน เศรษฐกิจสีชมพู หรือ PINK ECNOMY ที่เกิดขึ้นจากพลังซื้อ กลุ่ม LGBTQ+ ทั้งนี้ โอกาสของธุรกิจ และกิจกรรมที่มีศักยภาพ ซึ่งรัฐและเอกชนต้องช่วยขับเคลื่อน มีดังนี้

1. ส่งเสริม เทศกาล Pride Month ต้องจัดอย่างยิ่งใหญ่ และ ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ สร้างความพร้อมของพื้นที่เพื่อเสนอตัว เป็นเจ้าภาพ จัด WorldPride เชิญชวนให้นักท่องเที่ยวมาร่วมงานมากขึ้น และสนับสนุนแบรนด์สินค้าให้ใช้ในเทศกาล ชูธงสีรุ้ง แสดงสัญลักษณ์ของการเป็นส่วนหนึ่งบนแพลตฟอร์มและสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่ม LGBTQ+ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย

2. ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย อาศัยจุดแข็งของไทย ที่ติดอันดับประเทศน่าเที่ยวของชาว LGBTQ+ ดึงแหล่งท่องเที่ยวและเทศกาลท้องถิ่นมาเป็นจุดขาย ใช้โอกาสพัฒนาสินค้าชุมชนให้น่าสนใจ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มาเที่ยวและใช้จ่ายมากขึ้น

3. ส่งเสริมธุรกิจด้านความบันเทิง คลับ บาร์ ราตรีสถาน หรือการประกวด LGBTQ+ เพื่อให้เป็นฮับของการมาผ่อนคลายและสนุกสนาน

4. ส่งเสริมธุรกิจด้านสุขภาวะและอสังหาริมทรัพย์สำหรับเพศหลากหลาย เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งในด้านการดูแลสุขภาพเฉพาะ การผ่าตัดแปลงเพศ และการจัดสรรบ้านพักอาศัยสำหรับคู่รักเพศเดียวกัน