Wednesday, 26 June 2024
ECONBIZ NEWS

รู้จัก NEDA บทบาท 'ไทย' ช่วยเหลือการเงิน-วิชาการ 'เพื่อนบ้าน' ภายใต้สายเชื่อมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แบบ 'ช่วยเขา-ช่วยเรา'

จากรายการ THE TOMORROW มหาชน ต้องรู้ ได้พูดคุยกับนายพีรเมศร์ วุฒิธรเนติรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (Neighbouring Countries Economic Development Cooperation Agency) หรือ NEDA ถึงความเป็นมา พันธกิจ วิสัยทัศน์ขององค์กร โดยนายพีรเมศร์ กล่าวว่า...

NEDA ก่อตั้งมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ก่อนมีลักษณะเป็นกองทุนอยู่ภายใต้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หลังจากนั้นหน่วยงานรัฐเริ่มเห็นความสำคัญว่าประเทศไทยควรมีบทบาทในการเป็นผู้นำพัฒนาอนุภูมิภาค เนื่องจากสภาพภูมิศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ตรงกลางของอาเซียน จึงมีความจำเป็นในการช่วยเหลือสมาชิกใหม่ของอาเซียนให้มีส่วนร่วมมากขึ้น โดยให้ความช่วยเหลือทางการเงิน ในรูปแบบให้เงินกู้รัฐบาลต่อรัฐบาล เพื่อนำเงินกู้นั้นไปสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงต่อกันในภูมิภาค ปัจจุบันช่วยเหลือไป 7 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา, เวียดนาม, ภูฏาน, ศรีลังกา และติมอร์-เลสเต ซึ่งคำว่าเพื่อนบ้านไม่ได้หมายถึงต้องมีพรมแดนติดกันเท่านั้น อาจมีวัฒนธรรมความเป็นอยู่คล้ายกัน หลัก ๆ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย 

แล้วประเทศไทยได้ประโยชน์อะไร? นายพีรเมศร์ กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับประโยชน์มากมาย ได้แก่ สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและภูมิภาค ส่งเสริมผู้ประกอบการไทย เนื่องจากมีเงื่อนไขว่า ประเทศที่กู้เงินลงทุนต้องคัดเลือกผู้ประกอบการที่มาจากประเทศไทย อย่างน้อย 51% โดยผู้ให้บริการหลักต้องมาจากประเทศไทย จึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาค 

ส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา 19 ปี NEDA ได้ปล่อยเงินกู้ประเทศเพื่อนบ้านไปแล้ว กว่า 20,000 ล้านบาท ส่วนการพิจารณาลงทุนหรือการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน จะต้องเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ โดยมีการศึกษารวมถึงหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาล ก่อนอนุมัติโครงการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของทั้งสองประเทศ 

โครงการที่สนับสนุนส่วนใหญ่จะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม การประปา และการพัฒนาเมือง กำจัดขยะ เป็นต้น และในอนาคตอาจสนับสนุนการลงทุนในเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีหลายโครงการที่โดดเด่น เช่น โครงการก่อสร้างถนนจากเมืองหงสา-บ้านเชียงแมน (เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง) สปป.ลาว ซึ่งรัฐบาลไทยผ่าน NEDA ได้ให้เงินกู้ สปป. ลาว จำนวน 1,977 ล้านบาท เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว โดยมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณบ้านนาปุง เมืองหงสา แขวงไชยะบุรี สิ้นสุดที่บ้านเชียงแมน เมืองจอมเพชร แขวงหลวงพระบาง ระยะทาง 114 กิโลเมตร ซึ่งเมื่อก่อนเป็นถนนทางลูกรังทางเป็นหลุมเป็นบ่อ ใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 3 ปี จึงแล้วเสร็จ ปัจจุบันใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงเท่านั้นก็ถึงที่หมาย จากการพัฒนาเส้นทางนี้ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวมากขึ้นเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว 

ส่วนโครงการสถานีรถไฟเวียงจันทน์บ้านคำสะหวาด เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างทางรถไฟไทย-ลาว ระยะที่ 2 (สายท่านาแล้งเวียงจันทน์) ส่วนที่ 2 สถานีรถไฟนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐบาลไทย ผ่านสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA พึ่งสร้างเสร็จไปเมื่อปีที่แล้ว ทำให้การเชื่อมโยงทางรางสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ทดลองเดินรถและคาดว่าจะเปิดอย่างเป็นทางการประมาณเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมนี้ นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างและพัฒนาระบบประปา 5 เมืองในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งได้สร้างโรงบำบัดน้ำประปาและดำเนินการต่อท่อประปาเข้าสู่บ้านเรือนประชาชน ทำในเมืองชนบทของ สปป.ลาว ซึ่งบางบ้านยังไม่มีน้ำบริโภค ได้มีโอกาสเข้าถึงน้ำสะอาด เป็นต้น

ท้ายสุด นายพีรเมศร์ กล่าวว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นผู้นำในภูมิภาคนี้ อยากให้เข้าใจว่าที่ NEDA ช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้านด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือรูปแบบอื่น ๆ ถือว่าได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (Win-Win) ช่วยเขาเพื่อช่วยเรา ประโยชน์ที่ได้รับ เช่น โอกาสของผู้ประกอบการไทยได้ไปประกอบกิจการขยายธุรกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค ทำให้ไทยส่งออกสินค้าและบริการได้มากขึ้น การค้าระหว่างประเทศเติบโตมากขึ้น ทำให้รัฐบาลไทยจัดเก็บภาษีได้เพิ่มมากขึ้น

‘เศรษฐา’ เปิดงานประชุมการค้าการลงทุน ‘ไทย-สหรัฐฯ’ เน้นสานสัมพันธ์ ย้ำ!! ไม่มีเวลาไหน ดีไปกว่านี้ ที่จะลงทุนในไทย เป็นหุ้นส่วนกันทางเศรษฐกิจ

เมื่อวานนี้ (31 พ.ค. 67) ที่ Mövenpick BDMS Wellness Resort กรุงเทพฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์เปิดการประชุม Thailand-U.S. Trade and Investment Conference 2024: ‘Building on a Longstanding Partnership’ ซึ่งจัดโดยหอการค้าไทย หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย (The American Chamber of Commerce - AMCHAM) และหอการค้าสหรัฐอเมริกา (the U.S. Chamber of Commerce - USCC) ณ กรุงวอชิงตัน มีผู้เข้าร่วมรับฟังกว่า 300 คน

นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณความเป็นหุ้นส่วนที่มีมาอย่างยาวนานระหว่างกัน พร้อมขอบคุณคำแนะนำเชิงนโยบาย ซึ่งนายกฯ ได้นำแนวคิด ‘Five to Thrive’ ซึ่ง AMCHAM แนะนำมาพิจารณา และมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงนโยบายสนับสนุนการทำธุรกิจในไทย (ease-of-doing-business) ผ่านการทบทวนกฎหมาย เปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัล และกระบวนการที่ไร้รอยต่อ (streamlined processes) เช่น BOI ขยายเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล (corporate income tax : CIT) ออกไปอีก 3- 5 ปี สำหรับ 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค ในปี 2566 BOI ได้รับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนมูลค่า 12.69 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อนถึง 47% และแม้ว่าตัวเลขจะเป็นบวก แต่รัฐบาลยังต้องดำเนินการต่อเนื่องเพื่ออนาคตประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ Ignite Thailand วางแผนงานประเทศในการเป็นศูนย์กลางใน 8 ภาคส่วนหลัก การท่องเที่ยว การแพทย์และสุขภาพเกษตรกรรมและอาหาร การบิน โลจิสติกส์ ยานยนต์แห่งอนาคต เศรษฐกิจดิจิทัล และการเงิน

นายเศรษฐา กล่าวว่า บทต่อไปของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ นายกฯ เห็นภาพความเชื่อมโยงกันมากขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมองไปสู่อนาคต โดยได้กล่าวถึง 5 วิสัยทัศน์ Ignite Thailand เพื่อเชื่อมโยงกันมากขึ้น ประกอบด้วย 

1. Logistics ตั้งทางยุทธศาสตร์ของไทย โครงการ Landbridge และระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ใหม่ จะเชื่อมโยงเส้นทางการค้าและโลจิสติกส์จากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดีย 

2. Aviation เป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางการบินทั้งผู้โดยสารและสินค้า รัฐบาลกำลังเร่งสร้างสนามบินใหม่ และพัฒนาสนามบินที่มีอยู่ทั่วประเทศ Upgrade สนามบินกรุงเทพฯ ให้เพิ่มความจุผู้โดยสารทั้งหมดจาก 60 ล้านคนเป็น 150 ล้านคน

3. Digital ด้วยอินเทอร์เน็ต 5G ที่ครอบคลุม โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่แข็งแกร่ง และประชากรที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เชิญชวนสหรัฐฯ สนับสนุน AI, Data Center ระบบนิเวศดิจิทัลอัจฉริยะ และโครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจน พัฒนาทักษะแรงงาน 

4. Future Mobility ไทยมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางยานยนต์แห่งอนาคต ทั้งระบบห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม EV จึงเชิญชวนสหรัฐฯ ให้ลงทุน และสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศ EV ที่ครอบคลุมและเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งในอนาคต 

5. Tourism ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน รักษาความสัมพันธ์ในอนาคตให้แข็งแกร่ง เชื่อมั่นว่าวิสัยทัศน์ Ignite Tourism Thailand 2025 จะยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก

“ประเทศไทยเปิดและพร้อมที่จะเป็นพันธมิตรทางเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ของสหรัฐฯ บทใหม่ของความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจไทย-สหรัฐฯ ที่เชื่อมโยงถึงกัน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มองไปสู่อนาคต เป็นสิ่งที่ท้าทายและน่าตื่นเต้น แต่ประเทศไทยพร้อม We count on all of your support in raising our economic partnership to the next level.” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ราคา ‘ยางพารา’ พุ่งแตะ 100 บาทต่อกิโลกรัม หลังไทยลุยเปิดตลาดยางในสหภาพยุโรป

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค. 67) ที่สำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้มีการประมูลยางพาราประจำวัน ปรากฏว่า ผลประมูลยางแผ่นรมควัน RSS (EUDR) ชั้น 3 ได้ราคาสูงสุด 96.66 บาทต่อกิโลกรัม โดย บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ประมูลได้และสูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8.09 บาท จากตั้งไว้ที่ 88.57 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณยางน้ำหนัก 480,743 กิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดในรอบ 12 ปี นับตั้งแต่ปี 2555  

ส่วนยางก้อนถ้วย (DRC100%) EUDR บริษัท เอ็นเทคโพลิเมอร์ จำกัด เป็นผู้ประมูลได้ให้ราคาสูงสุด 80.35 บาทต่อกิโลกรัม ได้สูงกว่าราคากลางเปิดตลาด 8 บาท จากตั้งไว้ที่ 72.35 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณน้ำหนัก 240,643 กิโลกรัมและได้ราคาสูงกว่าตลาดยางอื่น ๆ กว่า 10 บาทต่อกิโลกรัม

นายญาณกิตติ์ ฮารุดีน ผู้อำนวยการสำนักงานตลาดกลางยางพาราจังหวัดสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัจจัยที่ราคายางแผ่นรมควันเพิ่มสูงขึ้นมาจากการที่รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินหน้าเปิดตลาดยางสหภาพยุโรป (EU) ตามกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EUDR) โดยได้เริ่มนำร่องที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีเป็นที่แรกเมื่อเดือนเมษายน 2567 

นายญาณกิตติ์ กล่าวว่า เดิมยางพาราส่งไปตลาดจีน 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือไปตลาดอื่น ๆ แต่หลังจากรัฐบาลเปิดตลาดอียู ได้ตามมาตรฐาน EUDR สามารถรองรับการตรวจสอบย้อนหลังผลผลิตยางพาราที่ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานีทำสำเร็จ เป็นผลให้เกิดความเชื่อมั่นราคาพุ่ง 96.66 บาทและคาดว่าอีกไม่กี่วันจะแตะถึง 100 บาทแน่ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จจากความทุ่มเทของรัฐบาล นายกฯ เศรษฐา ที่ทำเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

'GPSC' ชนะประมูลโซลาร์ฟาร์ม 1,050 เมกะวัตต์ ในอินเดีย เพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดจากโครงการ 'ใหม่-เก่า' ได้ถึง 62%

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า บริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ Avaada Energy ในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำของประเทศอินเดีย ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ได้ประกาศผลชนะการประมูลในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 1,050 MW (เมกะวัตต์) ของ National Thermal Power Corporation Limited หรือ NTPC

ซึ่งนับเป็นโครงการที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทฯ จากการประมูลเพียงครั้งเดียว โดยมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 24 เดือนหลังจากการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระยะเวลา 25 ปี ที่ราคา 2.69 รูปีอินเดีย/กิโลวัตต์ชั่วโมง (~0.03 ดอลลาร์) โดยจะดำเนินการโครงการด้วยความสามารถในการออกแบบ จัดซื้อตลอดจนการก่อสร้างโครงการขององค์กรเอง (In-house capabilities and EPC) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้งต้นทุนโครงการและต้นทุนการเงิน

ทั้งนี้ โครงการจะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ประมาณ 1,800 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งจะมีบทบาทที่สำคัญในการจัดหาพลังงานสีเขียวของอินเดีย ที่จะป้อนไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนมากกว่า 12 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังสามารถมีส่วนต่อการลดการปล่อย CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเทียบเท่า 1,681,200 ตันต่อปี  

นับเป็นความสำเร็จอีกครั้งของ Avaada Energy ในการชนะการประมูลในโครงการต่าง ๆ ในปี 2567 ที่ส่งผลให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในอินเดีย รวมทั้งสิ้นประมาณ 15 GW (กิกะวัตต์) ซึ่งมีผลให้การดำเนินธุรกิจขยายตัวได้เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ที่ 11 GW ในปี 2569 แสดงถึงศักยภาพในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพในตลาดพลังงานของประเทศอินเดีย ที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลอินเดียที่ต้องการเปลี่ยนมาสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น สอดรับกับทิศทางของการดำเนินธุรกิจ เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดย GPSC และ Avaada Group พร้อมที่จะเดินหน้าในการพัฒนาพลังงานสะอาดและนวัตกรรมพลังงาน สู่การดำเนินการทางธุรกิจเพื่อความยั่งยืน

ทั้งนี้ การชนะการประมูลโครงการพลังงานหมุนเวียนของ Avaada Energy ได้ตอกย้ำถึงศักยภาพของ GPSC และ Avaada Group ในความร่วมมือกัน เพื่อแสวงหาโอกาสในการขยายกำลังการผลิต ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง

สอดรับกับกลยุทธ์ของ GPSC ในการพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน ที่มีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันเมื่อรวมกำลังการผลิตทั้งโครงการใหม่และเก่าในประเทศอินเดีย ส่งผลให้ GPSC มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนถึง 62% หรือจำนวน 7,232 MW จากกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11,756 MW

‘มทร.พระนคร’ ผนึกกำลัง เครือข่ายบริการวิชาการ ‘อบต.โพนสว่าง’ ให้คำแนะนำชุมชนกลุ่ม ผลักดัน Soft Power เพิ่มศักยภาพด้านอาชีพ

เมื่อวันที่ 29 - 30 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร.นัฐโชติ รักไทยเจริญชีพ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และพัฒนาคณาจารย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร พร้อมด้วย รศ.ดร.ศุภวุฒิ เนตรโพธิ์แก้ว รองผู้อำนวยการวิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ นำคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ ทำการประชาสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายการบริการวิชาการ ณ อบต.โพนสว่าง จังหวัดหนองคาย โดยมีนายกิตติพงษ์ ถิ่นศรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโพนสว่าง ร่วมให้การต้อนรับและนำลงพื้นที่ ดังนี้

1) กลุ่มสตรีจักสานบ้านสร้างพอก ศูนย์การเรียนรู้การจักสาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้

2) บริษัท กิตติพงษ์พลาสติก จำกัด แหล่งจ้างงานคนในชุมชน และ 

3) โครงการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้นกยูง บ้านโพนสว่าง อาชีพแห่งอนาคตของคนในชุมชนและพื้นที่ใกล้เคียง

ทีมผู้บริหารและคณาจารย์วิทยาลัยการบริหารแห่งรัฐ ได้ร่วมกันบริการสังคมโดยให้คำแนะนำแก่กลุ่มอาชีพดังกล่าว ในการขับเคลื่อนกลุ่มอาชีพแบบครบวงจร เพื่อส่งเสริม Soft power เพิ่มศักยภาพชุมชน และเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน อันนำไปสู่การเพิ่มรายได้และยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและการค้าชายแดนอย่างยั่งยืน

‘ก.คมนาคม’ เผย บิ๊กเอกชนไทย-เทศ รุมจีบ ‘แลนด์บริดจ์’ คาด เริ่มประกวดราคา Q4/68 หวัง ดึงร่วมลงทุน 1 ล้านล้านบาท

(30 พ.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน สถานทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมงานมากกว่า 100 ราย

‘ผลจากการโรดโชว์แสดงให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมาก กระทรวงฯ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ซึ่งกระบวนการตอนนี้เตรียมจัดทำร่าง RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดัน พรบ. SEC เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุนในด้านสิทธิประโยชน์ และกฎหมายต่างๆ’

โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เบื้องต้นจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการและดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งการจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในวันนี้นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ เพราะกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดไปประกอบการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC)

ภายในงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น สถานทูตประเทศญี่ปุ่น สถานทูตประเทศปากีสถาน สถานทูตประเทศอินเดีย สถานทูตประเทศเยอรมัน สถานทูตประเทศมาเลเซีย สถานทูตประเทศอิตาลี สถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานทูตประเทศออสเตรเลีย สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เช่น บริษัท HeBei Port Group Co.,LTD ผู้ประกอบการท่าเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Maritime Transport Business Solutions BV ผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) ผู้ประกอบการด้านนิคมอุตสาหกรรมจากประเทศไทย บริษัท Pacific Construction in Thailand ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Sumitomo Mitsui Construction Co.,Ltd. ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Misubishi Company (Thailand) ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนักลงทุนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งถ่ายสินค้าระหว่างสองท่าเรือ และมีแนวทางการรองรับด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

‘อินฟอร์มาฯ’ ผนึกกำลังจัดงาน ‘Thai Water Expo - Water Forum 2024’ วางเป้าสร้างโอกาสไทย ‘จัดการน้ำ’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

(31 พ.ค. 67) อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย พร้อมด้วย วิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีเครือข่ายชั้นนำด้านน้ำจากทุกห่วงโซ่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ผสานความร่วมมือสานต่อการจัดงาน ‘Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024’ ชูแนวคิด ‘ปฏิวัติเทคโนโลยีน้ำ ขับเคลื่อนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน’ ขนทัพเทคโนโลยี นวัตกรรม การจัดการน้ำล้ำสมัย วางเป้าพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เสริมแกร่งผู้ประกอบการ ผลักดันทุกภาคส่วนมุ่งบริหารจัดการน้ำร่วมกันให้เกิดประสิทธิภาพและมีเสถียรภาพเพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับทุกห่วงโซ่อุปทานในระบบนิเวศทางธุรกิจยุคเศรษฐกิจใหม่อย่างยั่งยืน จัดงานระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ด้าน รศ.ดร.วิทยา วัณณสุโภประสิทธิ์ ผู้แทนคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการบริหารหลักสูตรวิศวกรรมนานาชาติ กล่าวว่า จุฬาฯ ประกาศเจตนารมณ์เดินหน้าลดก๊าซเรือนกระจกในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี 2050 (พ.ศ. 2593) รวมถึงคณะวิศวฯ เป็นหนึ่งในสองคณะในจุฬาฯ ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปรับตัวในทุกบริบทของสังคมโลก รวมถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง อาทิ การจัดการน้ำ น้ำเสีย จากภัยแล้งและน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมาทางคณะวิศวฯ จุฬาฯ ได้พัฒนาหลักสูตรการเรียน การสอนให้สอดรับกับสถานการณ์โลก อย่างหลักสูตร Innovative Engineering for Sustainability : IES) เพื่อรองรับการจัดการอย่างยั่งยืนในยุคโลกเดือด ทั้งนี้ในมิติงานวิจัยร่วมพัฒนาเทคโนโลยีจัดการน้ำ มุ่งเน้นด้าน ‘การพัฒนาเทคโนโลยี เสริมการเพิ่มน้ำต้นทุนของเขื่อนหลักเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยา’ ของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยได้เข้าร่วมในการพัฒนาการบริหารเขื่อนด้วยเทคนิค AI, การจัดการน้ำในโครงการชลประทานด้วยระบบ sensor/IOT/smart, การจัดการน้ำในภาคอุตสาหกรรมด้วยระบบ 3R plus เป็นต้น โดยมีหมุดหมายในการเพิ่มขีดความสามารถ และส่งเสริมความร่วมมือเชิงลึก เพื่อพัฒนากำลังคน ความรู้ และเทคโนโลยีใหม่ให้กับประเทศและภูมิภาคนี้

“อย่างไรก็ดี คณะวิศวฯ จุฬาฯ ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ความรู้ในการจัดการทรัพยากรน้ำผ่านการจัดสัมมนา Water Forum ขึ้นภายในงาน Thai Water Expo 2024 และโดยปีนี้ ยังคงสานต่อความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านน้ำ อาทิ สมาคมการประปาแห่งประเทศไทย สมาคมนักอุทกวิทยาไทย สมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ และ อินฟอร์มาฯ ร่วมกันนำเสนอเนื้อหา Smart, Green, Resilient for a Climate-Friendly Future โดยได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญจาก GIZ , ปตท และธนาคารโลก มาร่วมแชร์ประสบการณ์ที่สำคัญผ่านหัวข้อ ‘เสริมศักยภาพเทคโนโลยีน้ำและสิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศในเอเชียและแปซิฟิก’ ซึ่งทางคณะฯ เชื่อมั่นว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ จะเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ หน่วยงานทั้งไทย และอาเซียน นำไปปรับในการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจ ร่วมกับการจัดการน้ำที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป” รศ.ดร.วิทยา กล่าวเสริม    

นายสรรชาย นุ่มบุญนำ ผู้จัดการทั่วไป อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ - ประเทศไทย กล่าวว่า ในมิติของการจัดการน้ำ อินฟอร์มาฯ ให้ความสำคัญอย่างรอบด้าน ซึ่งทรัพยากรน้ำถือเป็นปัจจัยพื้นฐานโดยแต่ละภูมิประเทศมีความท้าทายที่ต่างกัน อินฟอร์มาฯ จึงได้เดินหน้าจัดงาน ‘Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024’ งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมระดับภูมิภาคด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุด โดยเป็นงานที่ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาค มีเป้าหมายสำคัญในการรวบรวมผู้ที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเทคโนโลยี นวัตกรรม โซลูชัน รวมถือเครือข่ายด้านน้ำระดับประเทศทั้งระบบอย่างครบถ้วน

โดยงานในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Revolutionizing Water Technologies to Drive Climate Adaptation Towards a Sustainable Future’ หรือ ปฏิวัติเทคโนโลยีน้ำ ขับเคลื่อนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ สู่อนาคตที่ยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่จัดแสดงกว่า 15,000 ตร.ม. จัดแสดงเทคโนโลยี นวัตกรรมและโซลูชันด้านการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ทันสมัยกว่า 250 บริษัท อาทิ Ebara, Endress+Hauser, ProMinent, Brenntag, Demarc, Wam Group, Dupont, Wika Instrumentation, Vega Instruments เป็นต้น ทั้งพาวิเลียนนานาชาติ รวมถึงผู้นำด้านการจัดน้ำระดับโลกอย่างสิงคโปร์ที่นำผู้ประกอบการกว่า 15 บริษัทเข้าร่วม ที่สำคัญภายในงานมีการจัดประชุมนานาชาติ Water Forum รวมผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ร่วมกันอัปเดตเทรนด์ นโยบายและนวัตกรรมการจัดการน้ำ นอกจากนี้ยังมี GreenTech Stage เวทีนำเสนอเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำ และโซนพิเศษ Insight Water Zone รวมหน่วยงาน องค์กรชั้นนำด้านการจัดการน้ำและสิ่งแวดล้อมมาร่วมให้แนวทางและคำปรึกษาแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เราเชื่อมั่นว่าการจัดงานในครั้งนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงในการสร้างความร่วมมือและต่อยอดธุรกิจในมิติต่าง ๆ ของการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมถึงเป็นก้าวที่สำคัญในการผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในภูมิภาคอาเซียน

เตรียมพร้อมเพื่อขับเคลื่อนสู่การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสู่อนาคตที่ยั่งยืนในงาน Thai Water Expo (THW) และ Water Forum 2024 งานนิทรรศการและการประชุมนานาชาติด้านเทคโนโลยีการจัดการทรัพยากรน้ำและน้ำเสียที่ครบวงจรที่สุดงานเดียวในประเทศไทย จัดร่วมกับงาน Entech Pollutec Asia 2024 งานนิทรรศการด้านเทคโนโลยีการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการควบคุมมลพิษ รวบรวมบริษัทชั้นนำจากทั่วโลกจัดแสดงเทคโนโลยี การจัดการขยะ การวัดคุณภาพอากาศและน้ำ สอดรับเทรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-5 กรกฎาคม 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ ติดตามข่าวสารและลงทะเบียนเข้าชมงานได้ที่ www.thai-water.com

‘สนค.’ ชี้ช่อง!! โอกาสไทยรับกระแส ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ มุ่งขยายตลาดส่งออก ‘โซลาร์เซลล์’ เพื่อก้าวสู่ 1 ใน 3 ผู้นำโลก

สนค.ติดตามสถานการณ์โลก พบความต้องการใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็เพิ่มขึ้น ชี้เป็นโอกาสของไทยที่จะขยายตลาดส่งออก และก้าวไปเป็นผู้ส่งออกติด 1 ใน 3 ของประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดในโลก จากปัจจุบันอยู่ลำดับที่ 4 พร้อมแนะภาคธุรกิจ ครัวเรือน ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อลดต้นทุนพลังงาน

เมื่อวานนี้ (30 พ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก มาจากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน

ทั้งนี้ การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025  

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research ระบุว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯ เป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

นายพูนพงษ์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 และมูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย  ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

โดยไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน 55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63 เนเธอร์แลนด์ 9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11 และมาเลเซีย 5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6 โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นายพูนพงษ์กล่าวว่า จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว โดยเห็นว่าหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป   

ปัจจุบันไทยมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือโครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมายให้ภาคธุรกิจภาคสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

'บอนชอน' เลิกเก็บเซอร์วิสชาร์จ หลังผู้บริโภคเรียกร้องมานาน

(30 พ.ค. 67) จากเพจ 'Bonchon Chicken Thailand' ได้โพสต์ข้อความ ประกาศยกเลิกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ ผ่านกราฟิกรูปป้ายบริเวณบีทีเอสสยามที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิต (ป้าย Bangkok)

สำหรับประกาศยกเลิกเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จของ ‘บอนชอน‘ ร้านไก่ทอดเกาหลีเจ้าดัง เกิดขึ้นจากการที่ลูกค้าเรียกร้องให้งดเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จ 10% มาโดยตลอด

เท่ากับว่า ต่อจากนี้ลูกค้าบอนชอนจะได้กินไก่เกาหลีในราคาบิลรวมที่ถูกลงนั่นเอง

'รมว.ปุ้ย' เยือนจีน!! ถกความร่วมมือ 'ชิ้นส่วนยานยนต์-ขนส่ง-ขับขี่อัจฉริยะ' รองรับการพัฒนา 'อุตฯ ยานยนต์' ในอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

รมว.อุตสาหกรรม เยือนนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน กระชับความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และระบบขนส่งและขับขี่อัจฉริยะ รองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของอนุภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง

เมื่อวานนี้ (29 พ.ค.67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, นายเกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์, นายชาลี ขันศิริ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สถาบันยานยนต์และคณะทำงาน เข้าพบหารือ นางสาวปฤณัต อภิรัตน์ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ และทีมประเทศไทย ภายใต้การดำเนินโครงการ 'Capacity Building for Auto Parts Suppliers with Sustainable Development toward Transportation and Smart Mobility: ADAS system, new energy vehicle, rail system, aircraft parts, electronic parts, vehicles for aging people' (การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สู่อุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ระบบการขนส่งและเคลื่อนที่อัจฉริยะ: ระบบขับขี่อัตโนมัติ (ADAS) ยานยนต์สมัยใหม่ ระบบราง ชิ้นส่วนอากาศยาน ชิ้นส่วนอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์สําหรับผู้สูงวัย) สนับสนุนโดยกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

ทั้งนี้ ได้มีการหารือประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลต่อการพัฒนา ความร่วมมือสาขาอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และโอกาสการเสริมสร้างความเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า การทดสอบ การพัฒนาสมรรถนะด้านบุคลากรแรงงานฝีมือ การจัดการรีไซเคิล ตลอดจนการต่อยอดด้านความมั่นคงทางอาหาร สำหรับสินค้าวัตถุดิบของไทยที่สามารถทำตลาดในจีน รวมทั้งแนวทางการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น อาทิ เครื่องดื่ม, ผลไม้ และอาหารแปรรูป 

ในโอกาสนี้ กงสุลใหญ่ ณ นครเซี่ยงไฮ้ ได้เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงอาหารค่ำ เพื่อเป็นเกียรติแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และคณะในระหว่างการเยือน สาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top