‘ก.คมนาคม’ เผย บิ๊กเอกชนไทย-เทศ รุมจีบ ‘แลนด์บริดจ์’ คาด เริ่มประกวดราคา Q4/68 หวัง ดึงร่วมลงทุน 1 ล้านล้านบาท

(30 พ.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน สถานทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมงานมากกว่า 100 ราย

‘ผลจากการโรดโชว์แสดงให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมาก กระทรวงฯ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ซึ่งกระบวนการตอนนี้เตรียมจัดทำร่าง RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดัน พรบ. SEC เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุนในด้านสิทธิประโยชน์ และกฎหมายต่างๆ’

โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เบื้องต้นจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการและดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งการจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในวันนี้นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ เพราะกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดไปประกอบการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC)

ภายในงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น สถานทูตประเทศญี่ปุ่น สถานทูตประเทศปากีสถาน สถานทูตประเทศอินเดีย สถานทูตประเทศเยอรมัน สถานทูตประเทศมาเลเซีย สถานทูตประเทศอิตาลี สถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานทูตประเทศออสเตรเลีย สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เช่น บริษัท HeBei Port Group Co.,LTD ผู้ประกอบการท่าเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Maritime Transport Business Solutions BV ผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) ผู้ประกอบการด้านนิคมอุตสาหกรรมจากประเทศไทย บริษัท Pacific Construction in Thailand ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Sumitomo Mitsui Construction Co.,Ltd. ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Misubishi Company (Thailand) ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนักลงทุนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งถ่ายสินค้าระหว่างสองท่าเรือ และมีแนวทางการรองรับด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น


ที่มา : efinancethai