Wednesday, 26 June 2024
ECONBIZ NEWS

'เครือสหพัฒน์' ผนึกกำลัง 'fufu' ธุรกิจร้านทำสีผมอันดับ 1 จากญี่ปุ่น ผุด 100 สาขา เจาะตลาดทำสีผมแฟชั่น และกลุ่มสูงวัยปิดผมขาว

(4 มิ.ย. 67) คุณธีรดา อำพันวงษ์ คณะกรรมการในเครือสหพัฒน์ เผยถึงความร่วมมือกับพันธมิตร ‘ฟาสต์ บิวตี้’ จากประเทศญี่ปุ่น ขยายธุรกิจร้านทำสีผม fufu ในประเทศไทย ว่า เพราะคนไทยมีความสนใจเรื่องความงามคล้ายกับคนญี่ปุ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีกลุ่มผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นอีกโอกาสของตลาดทำสีผมทั้งปิดผมขาวและสีแฟชั่น

ร้านทำสีผม ‘fufu’ ที่จะเข้ามาเปิดตลาดในไทย เป็นการทำสีผมที่แตกต่างจากเดิม คือตอบโจทย์ทั้งกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น วัยทำงาน และผู้สูงวัย โดยการนำเทคโนโลยีและระบบ CRM มาให้บริการ เพื่อวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้า และใช้ AI เสนอทางเลือกที่เหมาะกับให้ลูกค้า ตั้งเป้าเปิดให้บริการในประเทศไทย 100 สาขา สำหรับสาขาแรกเปิดในทำเลทองหล่อ

มร.ยูกิฮิโระ ฮิกาชิคุโบะ ประธานบริษัทและผู้ก่อตั้ง บริษัท ฟาสต์บิวตี้ จำกัด กล่าวว่า 'ฟาสต์ บิวตี้' ดำเนินธุรกิจร้านทำสีผม fufu ที่มีกว่า 130 สาขา และเป็นอันดับหนึ่งในธุรกิจร้านทำสีผมในประเทศญี่ปุ่น โดยให้บริการเฉพาะการทําสีผม ในราคาคุ้มค่าและรวดเร็ว ปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการกว่า 4.15 ล้านคนต่อปี

นอกจากให้บริการทำสีผมแล้ว ฟาสต์ บิวตี้ ยังเป็นผู้จําหน่ายผลิตภัณฑ์ความงาม ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว และผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ ผ่านทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซด้วย

สำหรับร้านทำสีผม fufu ในประเทศไทย ให้บริการลูกค้าครบวงจร ทั้งบริการทําสีผมแฟชั่น สําหรับกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน และบริการทำสีผมเพื่อปกปิดผมขาว สำหรับกลุ่มคนสูงวัย โดยจะลงนามความร่วมมือขยายธุรกิจร่วมกันในงาน สหกรุ๊ปแฟร์ ครั้งที่ 28 ในวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567

‘ครม.’ เคาะ!! มาตรการหนุนท่องเที่ยวเมืองรอง ใช้จ่ายไม่เกิน 1.5 หมื่นบาท ก็เอาไปหักภาษีได้

(4 มิ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ ในช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว หรือ Low Season คาดว่าการดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่น่าจะทำให้การใช้จ่ายในพื้นที่เมืองท่องเที่ยวรองมีมากกว่ารายได้ที่สูญเสียไปทั้งหมด

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการท่องเที่ยว เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา ได้หารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยอยากให้มีการจัดงานเทศกาลต่าง ๆ ในเมืองรอง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่เป็น Low Season

“ได้ขอให้รัฐมนตรีที่เข้าประชุมครม.วันนี้ หลายคนเป็น สส.ในพื้นที่ก็คงมีข้อมูลว่าเขตพื้นที่นั้น มีเรื่องอะไรดี ๆ มาก็ให้ประสานไปที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อจะช่วยสนับสนุน และโปรโมตล่วงหน้าต่อไป” นายกฯ ระบุ

>> มาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง (สำหรับบุคคลธรรมดา) 

บุคคลธรรมดาสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือที่ได้จ่ายเป็นค่าที่พักในโรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทยหรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ ได้ตามที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท หักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตั้งแต่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยว (Low Season)

>> มาตรการภาษีกระตุ้นสัมมนาในประเทศ (สำหรับนิติบุคคล)

นิติบุคคลสามารถนำรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนาดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม - 30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนี้

1.หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดใน ‘จังหวัดท่องเที่ยวรอง’ หรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

2.หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากท้องที่ตามข้อ 1 

3.ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1 และข้อ 2 ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1 หรือข้อ 2 และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

รมช.คลัง กล่าวว่า ทั้ง 2 มาตรการ ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

ควันหลง ‘Tout à fait Thaï 2024’ งานเทศกาลไทยสุดอลังในกรุงปารีส เชื่อมสัมพันธ์ 2 ชาติ ผ่านเอกลักษณ์ไทย โดนใจชาวฝรั่งเศสรุ่นเก่า-ใหม่

(4 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส และ นาย Alberto Rodriguez นายกเทศมนตรีเมือง Breux-Jouy ได้ร่วมกันทำพิธีเปิดงานเทศกาลไทยในกรุงปารีส ภายใต้ชื่อ Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World ณ วัดพระเชตุพน กรุงปารีส เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม โดยมี ท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และ นาง Jocelyne Guidez วุฒิสมาชิกของเขต Essonne ประเทศฝรั่งเศสเข้าร่วมด้วย

โดยคำนึงว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสซึ่งดำเนินมากว่า 330 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นับเป็นรากฐานของความผูกพันและความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนสองฝ่าย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปารีส จึงได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญร่วมกับทีมประเทศไทยประจำกรุงปารีส นำงาน Tout à fait Thaï ซึ่งจัดครั้งแรกเมื่อปี 2549 กลับมาอีกครั้ง เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ ความเข้าใจอันดี และความไว้วางใจระหว่างประชาชน ในห้วงเวลาสำคัญซึ่งความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศขณะนี้ก้าวหน้าและขยายตัวโดยรอบด้าน จากการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำสองฝ่ายในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

Tout à fait Thaï Exhibition & Village: Heritage of the World 2024 เน้นนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยผ่านการแสดงทางวัฒนธรรม ซึ่งองค์การยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ โขน แม่ไม้มวยไทย การนวดไทย โดยมี อเมนด้า ชาลิสา ออบดัม มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ได้มาร่วมสร้างสีสันและถ่ายทอดความเป็นไทย ผ่านการแต่งกายด้วยชุดไทย

ขณะเดียวกันยังมีคอนเสิร์ตของศิลปินไทยร่วมสมัยวง 4Mix และ แอลลี่ อชิรญา นิติพน เพื่อดึงดูดความสนใจของคนฝรั่งเศสรุ่นใหม่ให้เข้าถึงความเป็นไทยได้ง่ายยิ่งขึ้น

การจัดงานครั้งนี้ถือได้ว่าประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ถึงแม้ว่าวัดพระเชตุพน กรุงปารีส ตั้งอยู่ห่างไกลจากใจกลางกรุงปารีสถึง 40 กิโลเมตร ก็ยังมีผู้มาร่วมงานทั้งคนไทยและฝรั่งเศสจากหลากหลายพื้นที่ทั่วประเทศฝรั่งเศสกว่า 4,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขจากการประเมินของเทศบาลเมือง Breux-Jouy อันแสดงถึงความเข้มแข็งของประชาคมไทยในฝรั่งเศสอีกด้วย

ขณะที่มีคนไทยทั้งที่มาร่วมงานและร่วมออกร้านขายอาหารและสินค้าไทยกว่า 30 ร้าน การเปิด Thai Massage Pavilion คลินิกมวยไทย และการสอนภาษาไทยเบื้องต้นโดยนักศึกษาภาควิชาภาษาไทย ของสถาบันภาษาและอารยธรรมแห่งชาติอินัลโก้

ท่านทูตศรัญย์กล่าวว่า โดยที่ไทยและฝรั่งเศสมีความเป็นหุ้นส่วนแห่งความร่วมมือที่แน่นแฟ้น ประกอบกับที่ทั้งสองฝ่ายจะฉลองความสัมพันธ์ครบรอบ 340 ปีของการติดต่อครั้งแรกในปี 2568 และ 170 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2569 เอกอัครราชทูตเชื่อมั่นว่า ทั้งสองประเทศจะก้าวสู่ความร่วมมือในมิติต่างๆ ที่ยั่งยืนต่อไปจากรากฐานความสัมพันธ์ที่มั่นคงในปัจจุบัน และหวังว่า สถานเอกอัครราชทูตจะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนดังเช่นทุกครั้งที่ผ่านมาสำหรับการจัดงาน Tout à fait Thaï ครั้งต่อๆ ไป

หากเปรียบเทียบ Tout à fait Thaï เป็นแบรนด์สินค้าซึ่งเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับจากคนฝรั่งเศสมายาวนาน ความสำเร็จอย่างสูงของการจัดงานครั้งนี้นับเป็นเครื่องยืนยันถึงโอกาสที่ฝ่ายไทยสามารถใช้ประโยชน์อย่างจริงจังจากความนิยมไทยอย่างสูงในหมู่ชาวฝรั่งเศสในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้านศิลปวัฒนธรรม อาหาร การท่องเที่ยวและมวยไทยในฐานะซอฟต์พาวเวอร์ซึ่งช่วยสร้างความยั่งยืนด้านความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย ตลอดจนรักษาและส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ ของไทยในฝรั่งเศส

ทั้งนี้ งาน Tout à fait Thaï ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ Tout à fait Thaï the series ได้แก่ การแสดงพิเศษ ‘ชุดเกร็ดโขน’ ซึ่งอำนวยการสร้างโดยท่านผู้หญิงสิริกิติยา เจนเซน และการจัดงานวันแห่งภาพยนตร์ไทยในกรุงปารีสโดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ และการออกแบบและจัดสวนวิถีไทย ตามรูปแบบภูมิปัญญาไทยในงานจัดสวนประจำปีของฝรั่งเศสชื่อ Jardins, jardin อีกด้วย

‘ครม.’ ไฟเขียว!! วีซ่าต่างชาติทักษะสูง ทำงานในไทย 5.6 หมื่นคน สะท้อนผลสำเร็จมาตรการกระตุ้น ศก. จูงใจต่างชาติทำงานในไทย

(4 มิ.ย. 67) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของไทยให้ก้าวสู่เศรษฐกิจใหม่ ดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกด้านการตรวจลงตราในประเภทต่าง ๆ ทำให้มีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับการอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ทั้งวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน วีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) และวีซ่าดึงดูดบุคลากรทักษะสูงและนักลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (Smart Visa) ผ่านศูนย์ One Stop Service รวมทั้งสิ้นกว่า 56,000 คน 

นายชัย กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ร่วมมือกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงาน มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ชาวต่างชาติที่มีทักษะและความเชี่ยวชาญพิเศษ (Talent) นักลงทุน และผู้ที่ต้องการเข้ามาทำงานและอาศัยในประเทศไทย ผ่านการจัดตั้งศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน (One Start One Stop Investment Center: OSOS) ณ ชั้น 18 ตึกจามจุรีสแควร์ ซึ่งเป็นการให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (https://osos.boi.go.th/TH/home/) โดยไม่ต้องเดินทางไปติดต่อหลายหน่วยงาน และการบริการผ่านระบบออนไลน์ SINGLE WINDOW Visa and Work Permit System (https://swe-expert.boi.go.th/SW-WEB/main.php

ซึ่งข้อมูลของ BOI ได้เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีบุคลากรต่างชาติที่ได้รับอนุมัติวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน รวมแล้วกว่า 56,000 คน ประกอบด้วยประเภทวีซ่าและใบอนุญาตทำงานสำหรับผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่ทำงานภายใต้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน มีผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญต่างชาติที่เข้ามาทำงาน ภายใต้โครงการส่งเสริมการลงทุน จำนวนประมาณ 50,000 คน 

ประเภท LTR Visa รวมทั้งสิ้นกว่า 4,000 คน จากสหรัฐอเมริกา 791 คน รัสเซีย 479 คน สหราชอาณาจักร 332 คน จีน 277 คน เยอรมัน 236 คน ญี่ปุ่น 207 คน และฝรั่งเศส 198 คน 

ประเภท Smart Visa และกลุ่ม Startup รวมทั้งสิ้น 2,170 คน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศสหรัฐอเมริกา รัสเซีย สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และเยอรมัน

สำหรับวีซ่าพำนักระยะยาว (Long-Term Resident Visa: LTR Visa) เป็นมาตรการของรัฐบาล ที่มุ่งดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูง 4 กลุ่มเข้าสู่ประเทศไทย ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ, ผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย, ผู้ที่มีความมั่งคั่งสูง และผู้เกษียณอายุ รวมถึงผู้ติดตาม สามารถพำนักในประเทศไทยได้ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้งที่เดินทางเข้า/ออกประเทศ และได้รับอนุญาตให้ทำงาน โดยจะลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เหลือร้อยละ 17 และยังได้รับการผ่อนปรนระยะเวลาการรายงานตัวกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากปกติทุก 90 วัน เปลี่ยนเป็นปีละ 1 ครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการอนุมัติวีซ่าดังกล่าวให้แก่กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรชั้นนำระดับโลกที่มีการลงทุนหรือตั้งสำนักงานในประเทศไทยหลายแห่ง 

และครม.ได้เพิ่มการตรวจตราประเภทใหม่ หรือ Destination Thailand Visa (DTV) โดยเป็นมาตรการสำหรับชาวต่างชาติที่มีทักษะและทำงานทางไกลผ่านระบบดิจิทัล เช่น remote worker หรือ digital nomad ที่ประสงค์จะพำนักในประเทศไทยเพื่อทำงานและท่องเที่ยวไปพร้อมกัน โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการภายในเดือนมิ.ย.นี้ เพื่อเป็นทางเลือกในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพให้เข้ามาทำงานในไทยได้มากขึ้น

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญในการดึงดูดการลงทุน เพิ่มขีดตวามสามารถในการแข่งขันของไทย เชื่อมั่นว่า ผลจากการปรับปรุงและแก้ไขมาตรการต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดชาวต่างชาติ ให้เข้ามาทำงานในระยะยาว ซึ่งกระตุ้นการลงทุนในอุตสาหกรรมทันสมัย อุตสาหกรรมอนาคต อุตสาหกรรมเป้าหมายในประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย” นายชัย กล่าว

‘ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์’ เข้ารับตำแหน่ง ‘เลขาฯ กกพ.’ พร้อมเดินหน้างานกำกับดูแลพลังงานไทยให้ราบรื่น-ไร้รอยต่อ

(4 มิ.ย. 67) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ ได้เข้ารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2567 ต่อจาก นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ ที่เพิ่งครบวาระการดำรงตำแหน่งไปเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบคัดเลือกและแต่งตั้งให้ ดร.พูลพัฒน์ เป็นเลขาธิการสำนักงาน กกพ. เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 โดย ดร.พูลพัฒน์ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ จาก The George Washington University ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์การทำงานเริ่มเข้ารับราชการครั้งแรกเมื่อปี 2541 ที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานกระทรวงพลังงาน ต่อจากนั้นในปี 2561 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงพลังงาน และได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เมื่อปี 2566

ดร.พูลพัฒน์ มีประสบการณ์การทำงานในกิจการก๊าซธรรมชาติและกิจการไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องทั้งการวางยุทธศาสตร์ การกำกับ และการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านพลังงาน โดยที่ผ่านมาเป็นบุคลากรหลักที่สำคัญที่ร่วมอยู่ในคณะทำงานและคณะเจรจาทางด้านพลังงานระหว่างประเทศสำคัญ ๆ หลายคณะด้วยกัน อาทิ การเจรจาในระดับทวิภาคีกับประเทศที่มีศักยภาพด้านพลังงาน การเจรจาในระดับพหุภาคี เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของภูมิภาคและของประเทศ และการทำหน้าที่ประธานในการหารือแนวทางในการปรับปรุงข้อตกลงความมั่นคงด้านปิโตรเลียม (ASEAN Petroleum Security Agreement) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ดร.พูลพัฒน์ ยังมีส่วนร่วมในการบริหารสัญญาและสัมปทานก๊าซธรรมชาติเพื่อส่งเสริมความมั่นคงและต่อเนื่องด้านเชื้อเพลิงของประเทศ และการร่วมแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศในด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานด้วยเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS) รวมทั้งการสนับสนุนให้ภาคการศึกษาพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของประเทศในอนาคต

‘สสว.’ เผย ผลสำรวจความคิดเห็นของ SME ต่อ ‘โครงการเงินดิจิทัล’ มีลดน้อยลง ชี้!! มีความกังวลต่อ ‘เงื่อนไขการใช้สิทธิ-การเบิกจ่ายเงิน-กลัวโดนภาษีย้อนหลัง’

(3 มิ.ย.67) นางสาวปณิตา  ชินวัตร รองผู้อำนวยการ รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการ SME ที่มีต่อนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยการสำรวจดังกล่าวเป็นการสำรวจครั้งที่ 2 หลังจากการสำรวจครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 เพื่อเจาะลึกความคิดเห็นของผู้ประกอบการ SME สำหรับความพร้อมและความสนใจเข้าร่วมโครงการ รวมถึงแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัล โดยการสำรวจครั้งนี้เป็นการสอบถามจากผู้ประกอบการ SME จำนวน 2,704 ราย ใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 19 – 30 เมษายน 2567 พบว่า สัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการ SME อยู่ที่ร้อยละ 75.2 ลดลงจากการสำรวจครั้งก่อนที่มีสัดส่วนความสนใจในการเข้าร่วมมากถึงร้อยละ 82.9 มีสาเหตุมาจากความกังวลเรื่องการใช้สิทธิและการเบิกจ่ายเงิน เงื่อนไขของโครงการที่ให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่สามารถเข้าร่วมได้ ทำให้ธุรกิจรายเล็กมีความกังวลต่อยอดผู้ที่จะมาใช้บริการ และบางกลุ่มธุรกิจประเมินว่าธุรกิจของตนไม่เหมาะกับโครงการ รวมถึงการขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์/เครื่องมือหรือทักษะความรู้ในการใช้งาน Super App

สำหรับแผนการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้ประกอบการ SME พบว่า ผู้ประกอบการ SME มีแผนการใช้จ่ายเงินปรับเปลี่ยนไปเมื่อเทียบจากผลสำรวจครั้งก่อน โดยผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 77 ประเมินว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายในหมวดสินค้าในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 22.7 มีแผนนำเงินไปลงทุนต่อยอดทางธุรกิจ ขณะที่ผลสำรวจครั้งก่อนพบว่า ผู้ประกอบการ SME จะนำเงินไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ร้อยละ 69.6 และร้อยละ 30.4 จะนำไปลงทุนในธุรกิจ นอกจากนี้เงื่อนไขของโครงการที่กำหนดว่าต้องใช้ในร้านค้าขนาดเล็กก่อน 2 รอบ ถึงเบิกเป็นเงินสดได้ ผลสำรวจพบว่า ผู้ประกอบการ SME ร้อยละ 54.4 ที่สนใจเข้าร่วมโครงการมีแผนการนำเงินดิจิทัลไปใช้จ่ายสินค้าในครัวเรือนมากที่สุดสำหรับการใช้จ่ายเงินรอบที่ 1 แต่สำหรับการใช้จ่ายครั้งที่ 2 ผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ต้องการเบิกถอนเป็นเงินสดออกมาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและนำเงินไปต่อยอดในการทำธุรกิจ

นอกจากนี้ ในการสำรวจได้ให้ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ประเมินแนวโน้มด้านยอดขายและ/หรือบริการของตนจากการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งผู้ประกอบการ SME ประเมินว่า ธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 21 – 40 ตลอดระยะเวลาจนสิ้นสุดโครงการ เพราะคาดการณ์ว่าผู้ที่มีสิทธิจะทยอยใช้งานอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดือนตุลาคม 2566 ผู้ประกอบการ SME เคยประเมินว่าธุรกิจของตนจะมียอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นมากกว่าร้อยละ 50 จากการเข้าร่วมโครงการและระยะเวลาที่ยอดขายและ/หรือบริการเพิ่มขึ้นน่าจะเพิ่มขึ้นไม่เกิน 3 เดือน

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจระบุว่า ผู้ประกอบการ SME ยังคงมีความกังวลในด้านระบบและขั้นตอนรองรับ รวมถึงเสถียรภาพของการใช้งานในแอปพลิเคชั่นใหม่มากที่สุด รองลงมาคือ เงื่อนไขและการใช้สิทธิ เนื่องจากกลุ่มธุรกิจรายเล็กและธุรกิจขนาดย่อม กังวลว่าไม่มีร้านค้าที่ตรงตามความต้องการในพื้นที่ รวมถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ไปใช้จ่ายร้านสะดวกซื้อรายย่อย เช่น 7-11 สำหรับด้านอื่น ๆ คือ การกลัวโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ในด้านข้อเสนอแนะ ผู้ประกอบการ SME ต้องการให้มีการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นเงินสดเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจของตนเอง เช่น กลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่ต้องการหมุนเงินแบบวันต่อวัน เป็นต้น รองลงมาคืออยากให้มีการใช้สิทธิในแอปเป๋าตังเหมือนเดิม เนื่องจากมีความกังวลต่อการเรียนรู้การใช้งาน Super App ของโครงการ และผู้ประกอบการ SME ยังเสนอให้ลดเงื่อนไขในการจำกัดพื้นที่การใช้งาน ให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ต้องการความหลากหลายของสินค้าที่ให้บริการ จึงมีความต้องการซื้อสินค้า/วัตถุดิบทั้งจากตลาด/ร้านค้าภายในและนอกอำเภอ 

‘นักท่องเที่ยว’ หอบลูกหลาน เดินช้อป ‘ตลาดไนท์บาซ่า’  สร้างความคึกคักให้ ‘เบตง’ ในช่วงปิดภาคเรียนของ ‘มาเลเซีย’

(3 มิ.ย.67) บรรยากาศที่ด่านพรมแดนอำเภอเบตง จ.ยะลา คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่พาบุตรหลานเข้ามาท่องเที่ยวช่วงปิดภาคเรียนทำให้บรรยากาศในตัวเมืองเบตงคึกคัก สถานประกอบการร้านค้า ตลอดจน ตลาดไนท์บาซ่าเบตง ซึ่งเป็นตลาดถนนคนเดินในยามค่ำคืนของเมืองเบตงในช่วงวันหยุดปิดภาคเรียนและช่วงสุดสัปดาห์ ทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย พาบุตร หลาน เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก เนื่องจากโรงเรียนในประเทศมาเลเซียปิดกลางภาคเรียน  1 สัปดาห์ 

โดยชาวมาเลเซียจะพาครอบครัวมาพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวอำเภอเบตง เดินชอปปิ้ง ตามร้านค้า ร้านสตรีทฟู้ด เลือกซื้ออาหารไทย ขนมพื้นบ้าน อาทิ ยำทะเล ข้าวเหนียวไก่ทอด โรตีนมน้ำตาล ขนมรางไข่ หมึกย่าง เนื้อย่าง ลูกชิ้น ข้าวเหนียวมะม่วง  ข้าวยำ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยว น้ำชา กาแฟ  เป็นต้น  ต่างมีนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเข้ามาอุดหนุนกันอย่างเนือง เพราะรสชาติของอาหารพื้นถิ่นที่มีความอร่อยเมื่อเดินทางกลับมาไม่พลาดที่จะมากิน เที่ยว ที่เบตง

นายพงศกร  ขุนทองผล พ่อค้าขนมในตลาดไนท์บาซ่าเบตง กล่าวว่า ในช่วงปิดเทอมของโรงเรียนในประเทศมาเลเซีย บรรดาผู้ปกครอง ต่างนำบุตรหลาน มาเที่ยว ชิม ช้อป ที่ตลาดไนท์บาซ่าเบตงทำให้บรรยากาศคึกคักเป็นอย่างมาก  ทำให้พ่อค้า แม่ค้า มีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ก็ดีขึ้นอีกด้วย

ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียออกมาท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์วันศุกร์เสาร์และวันอาทิตย์ จะจัดทัวร์เข้ามาเพียง 3 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียสามารถมาท่องเที่ยวได้เป็นจำนวนมาก โดยมาจับจ่ายซื้อของทั้งของกินและของฝาก ทำให้ในช่วงนี้เศรษฐกิจในอำเภอเบตง จังหวัดยะลาดีขึ้นตามลำดับคาดในแต่ละสัปดาห์มีเงินสะพัดในอำเภอเบตงกว่า 10 ล้านบาท

‘รัดเกล้า’ เผย ‘ดัชนีผลผลิตอุตฯ’ ขยายตัวเป็นบวกครั้งแรก ‘ในรอบ 18 เดือน’ ชี้!! เป็นผลมาจาก ‘เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้น-ภาคส่งออกขยายตัว-ท่องเที่ยวกำลังเติบโต’

(2 มิ.ย.67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยถึงดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index- MPI) เดือนเมษายน 2567 ว่า ขยายตัวร้อยละ 3.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ระดับ 90.34 จากที่ก่อนหน้านี้หดตัวต่อเนื่องติดต่อกัน 18 เดือน ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว การขยายตัวของภาคการส่งออกที่ดีขึ้น และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังกล่าวต่อไปว่า อุตสาหกรรมที่ผลักดัน MPI ในเดือนเมษายน 2567 ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้งานทั่วไป โดยเฉพาะกับเครื่องปรับอากาศ ที่มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศ ประกอบกับคุณสมบัติเครื่องปรับอากาศใหม่ๆ เช่น ตัวกรองฝุ่น PM2.5 ซึ่งตรงกับความต้องการของผู้ซื้อ อุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น 18.11% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยได้รับแรงหนุนจากความต้องการในการเป็นเจ้าของสัตว์เลี้ยงมากขึ้น และอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียมก็เพิ่มขึ้น 4.78% เนื่องจากกิจกรรมการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

นางรัดเกล้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ยังต้องเฝ้าระวังปัจจัยลบ ทั้งภายนอกและภายใน เช่น ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพาผลผลิตทางการเกษตร และประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์

“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ย้ำเสมอในทุกเวทีถึงความพร้อมของประเทศไทยที่จะต้อนรับนักลงทุนและการลงทุนจากต่างประเทศ เวลานี้ ตอนนี้เหมาะสมที่สุดที่จะลงทุนในไทย ซึ่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งสัญญาณบวกจากเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว ภาคการส่งออกที่ขยายตัว และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลมีความก้าวหน้าในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” นางรัดเกล้า กล่าวทิ้งท้าย

ได้เวลา 'รัฐบาล' ปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย ช่วยถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสม

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ในประเด็น 'การปรับกรอบเงินเฟ้อ เปิดทางลดดอกเบี้ย' โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ครม.เศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน เป็นนิมิตหมายที่ดีและแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่นักลงทุนจับตามอง การที่เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เพียง 1.5% แม้ว่าทางเทคนิคจะยังไม่ถือว่าเป็นภาวะถดถอย แต่ก็เป็นสัญญาณเตือนภัยว่าความไม่เป็นเอกภาพของนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงิน กำลังบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนอย่างรุนแรง

หลายสำนักเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะเติบโตได้เพียงประมาณ 2.5-3.0% แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น ซึ่งกำลังทยอยออกมา อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ถึง 3.5% ตามที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตั้งเป้าไว้ มาตรการช่วยให้ธุรกิจรายย่อย และ SME เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีความจำเป็นเพราะสินเชื่อโดยรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มหดตัวมาโดยตลอด แม้ว่าสภาพคล่องของธนาคารจะยังคงสูง แต่ธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อเพราะนโยบายการเงินมีความตึงตัวเกินกว่าเหตุ 

ต้องขอชมเชยการเสนอให้ใช้มาตรการกึ่งการคลัง (Quasi-fiscal) ในการค้ำประกันสินเชื่อให้กับธุรกิจรายย่อยผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) แต่จะต้องทำอย่างกว้างขวางและรับความเสี่ยงด้านเครดิตแทนธนาคารพาณิชย์ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระทางการคลังและผู้เสียภาษีในที่สุด 

นอกจากนี้ เนื่องจากงบประมาณแผ่นดินปี 2567 ออกมาช้า เหลือเวลาอีกเพียง 2 ไตรมาสก็จะสิ้นปีงบประมาณแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องเร่งเบิกจ่ายเงินงบประมาณอย่างเร็วที่สุด โดยเฉพาะงบลงทุน ซึ่งมีการเบิกจ่ายติดลบใน 2 ไตรมาสแรก กระทรวงการคลังคงจะต้องตามจี้ทุกหน่วยงานให้เร่งเบิกจ่ายตามเป้าหมาย

น่าเสียดายที่มาตรการดิจิทัลวอลเล็ตไม่สามารถออกมาได้รวดเร็วตามกำหนดเวลา มิเช่นนั้นคงจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี แต่ขณะนี้ก็เริ่มมีความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับกำหนดเวลาและแหล่งเงิน ส่วนการท่องเที่ยว ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียว ก็ยังมีช่องทางเติบโตแต่น่าจะมีอัตราที่ช้าลง

ภาระตกอยู่กับนโยบายการคลังค่อนข้างมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งในที่สุดก็จะเป็นภาระของผู้เสียภาษีอากร สังคมคงไม่ปล่อยให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนั่งกระดิกเท้าเป็น Free Rider อยู่เฉย ๆ และไม่ใส่ใจที่จะใช้นโยบายการเงินเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาล

หลังการประชุม ครม.เศรษฐกิจ มีการกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจะปรับกรอบเงินเฟ้อ (Inflation Targets) ซึ่งจะช่วยปลดล็อกการลดดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อคำนึงว่า ธปท.พลาดเป้าเงินเฟ้อที่กำหนดไว้ระหว่าง 1-3% ติดต่อกัน 2 ปีและทำท่าว่าจะพลาดอีกในปีนี้ 

นี่จึงเป็นโอกาสอันเหมาะสมที่รัฐบาลจะต้องทบทวนกรอบเงินเฟ้อเสียที ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอาจจะใจดีหรืออาจจะตาม ธปท. ไม่ทัน แต่การพลาดเป้าเงินเฟ้อแบบหมดท่า น่าจะถือเป็นการผิดสัญญาประชาคม และธนาคารแห่งประเทศไทยสมควรต้องรับผิดชอบ การที่รัฐบาลทบทวนกรอบเงินเฟ้อจึงเป็นการถ่วงดุลนโยบายการเงินที่พลาดเป้าอย่างเหมาะสมและไม่ถือเป็นการแทรกแซงนโยบายการเงินแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดีการทบทวนกรอบเงินเฟ้อดังกล่าว พึงต้องกระทำอย่างระมัดระวัง และแสดงหลักการและเหตุผลอย่างชัดเจนโปร่งใส เพื่อรักษาไว้ซึ่งความเชื่อมั่นในนโยบายการเงินและความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะยาว

‘สนค.’ เผย ‘ตลาดโซลาร์เซลล์’ กำลังขยาย ทั่วโลกหันไปใช้ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ชี้!! ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก

(1 มิ.ย.67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก (Energy Transition) อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025 

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research เปิดเผยว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63) เนเธอร์แลนด์ (9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11) และมาเลเซีย (5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6) โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี 

และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top