Monday, 17 June 2024
ECONBIZ NEWS

'ซูบารุ' เตรียมปิดไลน์ผลิตในไทย 30 ธ.ค.นี้ พร้อมปรับแผนนำเข้ารถจากญี่ปุ่นทั้งคันมาขายแทน

(29 พ.ค.67) นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุ (SUBARU) ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เปิดเผยว่า บริษัทแม่ กลุ่มตันจง (TCIL) ซึ่งดูแลกลุ่มธุรกิจในประเทศอาเซียน-จีน ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง (HKEX) ว่า เตรียมหยุดประกอบรถยนต์ซูบารุจากโรงงานในประเทศไทย ในนามบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด หรือ TCSAT ตั้งแต่ 30 ธันวาคม 2567 เป็นต้นไป

เนื่องจากบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาสภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้รถยนต์ที่ผลิตออก ไม่สามารถขายได้ในราคาที่เหมาะสม และบริษัทไม่สามารถควบคุมราคาจำหน่ายได้ จึงตัดสินใจหยุดการผลิต และรถยนต์ที่ซูบารุที่ขายใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย, เวียดนาม, มาเลเซีย และกัมพูชา จะเป็นการนำเข้ามาจำหน่ายทั้งคัน (CBU)

สุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ตอนนี้เรายังมีรถที่ผลิตออกไปขายอยู่ ซึ่งจะขายไปจนกว่ารถจะหมด จากนั้นก็จะเป็นการนำเข้ามาขายทั้งคัน ส่วนลูกค้าไม่ต้องกังวลใจ เพราะงานบริการหลังการขายซูบารุยังอยู่ และพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างเต็มที่ ด้วยมาตรฐาน ความพร้อมของอะไหล่ ระยะเวลาการซ่อม การนัดหมายดูแลลูกค้า ซึ่งมั่นใจได้ว่า ซูบารุพร้อมดูแลไม่เปลี่ยนแปลง เพียงโรงงานประกอบในประเทศไทยไม่มีเท่านั้น เราจะกลับไปดำเนินธุรกิจแบบเดิมคือ นำเข้ามาขายทั้งคัน”

นอกจากนี้ นางสาวสุรีทิพย์ ยังย้ำชัดเจนว่า ศูนย์บริการรถยนต์ซูบารุทั้ง 24 แห่งทั่วประเทศ กับดีลเลอร์ 21 รายพร้อมดูแลลูกค้าชาวไทยอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันซูบารุ มียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 70-80 คันต่อเดือน คาดว่ารถยนต์ที่ผลิตออกมานั้น จะเพียงพอต่อความต้องการไปจนถึงสิ้นปีก่อนโรงงานหยุดจะประกอบ ต้องยอมรับว่าราคาจำหน่ายอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนบ้างตามโครงสร้างภาษีและเพื่อให้ธุรกิจเดินต่อไปได้

ก่อนหน้านี้ กลุ่มตันจง (TCIL) ได้สิทธิการเป็นผู้จำหน่าย อย่างเป็นทางการ รถยนต์แบรนด์ ซูบารุ ใน South East Asia เปิดโรงงานประกอบรถยนต์ ‘บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย จำกัด’ หรือ TCSAT ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวม 100,000 ตารางเมตร ลงทุนราว 5,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยกลุ่มผู้ถือหุ้นจากตันจง กรุ๊ป (TCIL) ในสัดส่วน 74.9% และบริษัทแม่ที่ญี่ปุ่น Subaru Corporation สัดส่วน 25.1%

มีพนักงานชาวไทยและต่างชาติร่วมกันประมาณ 400 คน โรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าว่าจะผลิตรถยนต์ 6,000 คัน ต่อปี และมีกำลังการผลิตสูงสุดถึง 100,000 คันต่อปี แต่จากยอดขายของซูบารุในประเทศไทย นั้นมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2562 จาก 3,952 คัน จนล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา มียอดขายราว ๆ 1,000 คัน

ประกอบกับตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะค่ายรถจีนที่เข้ามาทำตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำในช่วงที่ผ่านมากลายเป็นปัญหาสะสม

สำหรับโรงงาน TCSAT ในประเทศไทย ถือเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกประเทศญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และแห่งที่สองอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ซึ่งได้ยกเลิกการประกอบรถยนต์ซูบารุไปก่อนหน้านี้เช่นกัน เพื่อไปประกอบรถยนต์แบรนด์อื่นแทน

‘รมว.ปุ้ย’ ร่วมเปิดบูธ ‘ศูนย์อุตฯ ฮาลาลไทย’ ในงาน THAIFEX 2024 พร้อมส่งเสริม-ผลักดัน ‘อุตฯ ฮาลาลไทย’ สู่ศูนย์กลางของภูมิภาค

(29 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดบูธศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในงาน THAIFEX-Anuga Asia 2024 พร้อมเปิดเผยว่ากระทรวงฯ เตรียมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ผ่านการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย การจัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ และยกระดับศักยภาพด้านมาตรฐานของผู้ประกอบการฮาลาลในประเทศ 

โดยในงานวันนี้ กระทรวงฯ นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และมีศักยภาพพร้อมส่งออก เข้าร่วมออกแสดงสินค้าภายใต้บูธของศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทยและกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงานกว่า 200 ล้านบาท และหลังจากนี้ กระทรวงฯ จะส่งเสริมให้ขยายการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพทั่วโลก

ตลาดสินค้าฮาลาลมีขนาดใหญ่และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกมีมูลค่ารวมกว่า 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2568 ครอบคลุมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ทั้งอาหาร เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว โดยกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มมีสัดส่วนสูงสุดถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าตลาดทั้งหมด 

สำหรับตลาดอาหารฮาลาลโลกมีมูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2 เท่าภายใน 5 ปี โดยมีแนวโน้มขยายตัวเร็วตามจำนวนประชากรมุสลิมโลกที่แนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลอย่างมาก และมีนโยบายที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลให้เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ โดยมอบกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างรอบด้านและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ผ่านกลไกสำคัญ ดังนี้

1. จัดตั้ง ‘คณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ (กอฮช.)’ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มอบหมาย ดร.นลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย รับผิดชอบภารกิจที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นรองประธาน พร้อมผู้แทนจากหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงฮาลาลไทย อีก 21 หน่วยงาน เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันภายใต้การกำกับของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและแนวทางในการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเชื่อมโยงเอกลักษณ์ Soft Power ของไทย รวมถึงบูรณาการแนวทาง มาตรการ แผนงาน ด้านการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ ให้เกิดการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นผู้นำด้านการผลิตและการส่งออกสินค้าฮาลาลในภูมิภาค

2. เสนอ ‘แนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค’ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว โดยในระยะ 1 ปีแรก หรือ Quick Win กระทรวงอุตสาหกรรมเน้นขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทยใน 3 ภารกิจหลัก ได้แก่

(1) จัดตั้ง ‘ศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ เพื่อสร้างกลไกสนับสนุน Ecosystem ของอุตสาหกรรมฮาลาลไทย โดยมีภารกิจในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิต มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับมาตรฐานสินค้าฮาลาลและมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง ส่งเสริมการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและระหว่างประเทศ รวมถึงทำหน้าที่เป็น National Focal Point ในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ ขณะนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณายกระดับศูนย์ดังกล่าวเป็น ‘สถาบันอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ หรือ Thai Halal Industry Institute โดยเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ ซึ่งจะเร่งดำเนินการนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป

(2) สร้าง ‘การรับรู้ถึงศักยภาพอุตสาหกรรมฮาลาลไทย’ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ผ่านงานแสดงสินค้าระดับนานาชาติ เช่น Malaysia International Halal Showcase (MIHAS) รวมถึง THAIFEX-Anuga Asia 2024 ในวันนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลไทยของรัฐบาล และสร้างภาพลักษณ์อาหารไทยฮาลาลที่เชื่อมโยง Soft Power เอกลักษณ์อาหารท้องถิ่นให้เกิดเป็นเมนูอาหารฮาลาลไทย ผลักดันไปสู่ภาคบริการ เช่น การให้บริการบนสายการบิน การประชุมและสัมมนานานาชาติ การโรงแรมและท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างเตรียมจัดงาน Kick Off การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ในวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อแสดงศักยภาพการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทยไปสู่ผู้บริโภคและคู่ค้าทั้งในและต่างประเทศ ผ่านการจัดกิจกรรม เช่น Business Matching การสัมมนาฮาลาลระดับนานาชาติ การสาธิตการทำอาหารฮาลาลโดยเชฟไทยที่มีชื่อเสียง

(3) ผลักดัน ‘การส่งเสริมการค้าและขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศ’ ผ่านการเจรจาและจัดทำกรอบความร่วมมือ หรือ MOU ระหว่างประเทศระดับทวิภาคีและพหุภาคี เพื่อขยายตลาดสินค้าและบริการฮาลาลของไทย โดยประเทศเป้าหมายในระยะแรก ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อให้อุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทยมีความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต โดยขณะนี้ มีแผน การเจรจาในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคี ไทย-บรูไน ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2567 และในการประชุมระดับรัฐมนตรี แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย ณ ประเทศมาเลเซีย ระหว่างเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศไทย ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2567-2571) จะดำเนินอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาการผลิตและมาตรฐานอุตสาหกรรมฮาลาลไทย ให้กับผู้ประกอบการทุกกลุ่ม เช่น อาหาร แฟชั่นมุสลิม ยา สมุนไพร และเครื่องสำอาง วิสาหกิจชุมชน ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก รวมถึงการขนส่งและโลจิสติกส์ ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและขยายกลุ่มประเทศเป้าหมายไปยังเอเชียกลาง ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ ควบคู่การยกระดับ Thai Halal Ecosystem ด้านอื่น ๆ เช่น การพัฒนาห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทย ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์สินค้าและเพียงพอ การยกระดับฝีมือแรงงานและบุคลากรในอุตสาหกรรมฮาลาลสาขาต่าง ๆ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมฮาลาล การสร้างความเข้มแข็งให้แก่ภาคการส่งออกและเพิ่มส่วนแบ่งตลาดของสินค้าและบริการฮาลาลไทยในตลาดโลก ซึ่งจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป

สำหรับงานในวันนี้ กระทรวงฯ ได้นำผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมและสถาบันอาหารกว่า 40 รายเข้าร่วมแสดงสินค้า เช่น โรงงานแปรรูปโคเนื้อฮาลาลมาตรฐานสากลที่มีศักยภาพดีที่สุดในอาเซียน ‘Befish’ ข้าวเกรียบปลาเมืองนราธิวาส ทำจากปลาทะเลแท้ มีแคลเซียมสูง และ ‘ท่าทองรังนก’ ที่เลี้ยงอย่างธรรมชาติไม่ใช้สารเคมีวัตถุเจือปนอาหาร เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพพร้อมส่งออก และมีการสาธิตการทำอาหารจากเชฟนูรอ โซ๊ะมณี สเต็ปเป้ เชฟอาหารไทยมุสลิม ผู้ก่อตั้งและเจ้าของร้าน ‘Blue Elephant’ ร้านอาหารไทยชื่อดังที่มีสาขาทั่วโลก เพื่อสร้างความรับรู้ถึงศักยภาพของอาหารฮาลาลไทยและนำเสนอผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ 

นอกจากนี้ ยังจัด Business matching เพื่อขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ โดยมีประมาณการมูลค่าการเจรจาจับคู่ธุรกิจภายในงาน 200 ล้านบาท โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเสริมความเข้มแข็งและผลักดันการส่งออกสู่ตลาดโลกต่อไป

‘ILINK’ ร่วมให้ข้อมูลโครงการสายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ‘ขนอม-เกาะสมุย’ พร้อมใช้ประสบการณ์-ความเชี่ยวชาญ สร้างแสงสว่างให้เกิดบนเกาะสมุย

(29 พ.ค. 67) นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ฯ หรือ ILINK เปิดเผยว่า…

“เมื่อวานนี้ (28 พ.ค.67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เชิญ คุณธนา ตั้งสกุล ผู้ช่วยกจญ บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ไปร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการ สายเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 Kv. ขนอม-เกาะสมุย รวมระยะทาง 52.5 กิโลเมตร มูลค่าโครงการที่ผ่านการอนุมัติจาก ครม.แล้ว จำนวน 11,230 ล้านบาท”

ประธานกรรมการ ILINK ระบุเพิ่มว่า “บริษัทฯ ต้องขอขอบคุณ EGAT ที่ให้โอกาส บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ เพาเวอร์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย ที่มีประสบการณ์วางสายไฟฟ้าแรงสูงใต้ทะเลให้เกาะต่าง ๆ ในประเทศมากกว่า 10 เกาะ ได้มีโอกาสนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ การวางสายไฟฟ้าใต้ทะเลในท้องทะเลของประเทศไทย มาชี้แจง และให้ความมั่นใจกับประชาชนเพื่อจะนำความเจริญและระบบไฟฟ้าที่เสถียรสูงสุด มาสู่เกาะสมุย โดยไม่ทำลายสภาวะแวดล้อมของท้องทะเลไทยครับ”

‘กระทรวงพาณิชย์’ เผยตัวเลขนำเข้าทุเรียนสดของ ‘จีน’ ‘ไทย’ ครองอันดับ 1 ส่งออกมากถึง 121,398 ตัน

(29 พ.ค.67) โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เผยสถิติตัวเลขการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศจีน พบไทยครองแชมป์อันดับ 1 ปริมาณ 121,398 ตัน สร้างรายได้ 717 ล้านดอลลาร์ ขณะที่สถิติการส่งออกทุเรียนไทย ช่วง 4 เดือนแรกปี 67 พบว่ามีการส่งออกทุเรียนไปจีน 225,204 ตัน

วันที่ 29 พฤษภาคม 2567 นายวิทยากร มณีเนตร โฆษกกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถิติการนำเข้าทุเรียนสดของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2024 ล่าสุด (ข้อมูลจาก GTA) พบว่า จีนนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 1 ปริมาณ 121,398 ตัน มูลค่า 717 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้าจากเวียดนามอันดับที่ 2 ปริมาณ 79,186 ตัน มูลค่า 369 ล้าน เหรียญดอลลาร์สหรัฐ

และข้อมูลสถิติการส่งออกทุเรียนสดของไทยในช่วง 4 เดือนล่าสุด (ม.ค.-เม.ย. 67) พบว่าไทยสามารถส่งออกทุเรียนสดไปจีนได้ถึง 225,204 ตัน (ข้อมูลสถิติจากกรมศุลกากร) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเดือนพฤษภาคม ซึ่งสามารถมั่นใจได้ว่าไทยยังคงครองแชมป์การส่งออกทุเรียนสดไปยังประเทศจีน

ขณะที่ราคาทุเรียนไทยในปี 67 ปรับตัวสูงขึ้น เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากความต้องการในตลาดจีนปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉลี่ย ราคาส่งออกกิโลกรัมละ 6 เหรียญดอลลาร์ หรือประมาณ 216 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ เนื่องจากนโยบายเชิงรุกของ กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการนำของนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้ลงพื้นที่ ด่านโมหาน/บ่อเต็น และมอบหมายให้นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ด่านโหย่วอี้กวาน/หูหงิ ในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 ด่านเป็นด่านสำคัญในการส่งออกทุเรียนจากไทยไปจีนโดยเส้นทางรถ บรรทุกและได้ประสานกับหน่วยงานศุลกากรตลอดจนบริษัทขนส่งซึ่งได้รับความมั่นใจว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติตามที่มีข้อกังวล

‘AOT’ เร่งเดินหน้าศึกษา ‘พัฒนาสนามบินดอนเมือง ระยะที่ 3’ ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางการบิน-รองรับ นทท. สูงสุด 50 ล้านคน/ปี

(28 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) จัดประชุมการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 เพื่อระดมความเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม

โดยมีนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT เป็นประธานการประชุม และผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐ บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ผู้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ และผู้ให้บริการด้านขนส่ง ทั้งภายในและภายนอก ทดม.จำนวนกว่า 200 คนร่วมการประชุม ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ เอ โรงแรมอัศวิน แกรนด์คอนเวนชั่น

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า โครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 เป็นหนึ่งโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจในประเทศและระหว่างประเทศ ตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่มุ่งผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินของโลก (Aviation Hub) เชื่อมโยงการขนส่งทางอากาศ และเชื่อมต่อการเดินทางแห่งภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 

รวมถึงนโยบาย ‘คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน’ ของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งอย่างไร้รอยต่อ ทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก และความปลอดภัย เพื่อรองรับการเติบโตด้านการคมนาคมทางอากาศ และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

สำหรับโครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติวงเงินลงทุนรวม 36,829 ล้านบาท เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าอากาศยานให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 40 ล้านคนต่อปี และสามารถบริหารจัดการได้ถึง 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) บริเวณด้านทิศใต้ของสนามบิน มีพื้นที่ใช้สอยประมาณกว่า 166,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศได้สูงสุด 23 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572

จากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสารภายในประเทศได้สูงสุด 27 ล้านคนต่อปี รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 240,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2574 ซึ่งจะทำให้ ทดม. มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารรวมกว่า 400,000 ตารางเมตร และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการบินเพื่อรองรับการเดินทางภายในประเทศได้อย่างเต็มรูปแบบ

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบรายละเอียดโครงการ โดยคาดว่าจะออกแบบแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2567 และจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2568-2574

‘เคอรี่ เอ็กซ์เพรส’ เตรียมรีแบรนด์ ‘KEX’ เริ่ม 22 ก.พ. 68 หลังเปลี่ยนผู้ถือหุ้นรายใหญ่ - หมดสัญญาใช้แบรนด์ ‘Kerry’

(28 พ.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEX แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่อง การแจ้งแผนการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (Rebranding) สู่แบรนด์ ‘KEX’ และการได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจาก Kuok Registrations Limited

โดยระบุว่า อ้างถึงการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นของบริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามที่บริษัทได้ประกาศ ณ วันที่ 26 มีนาคม 2567 (‘การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น’) ซึ่งส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน S.F.Holdings Co., Ltd. (‘SF’) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ผ่านบริษัท เอสเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด (‘SFTH’)

นอกจากนี้ยังส่งผลให้ บริษัท เคแอลเอ็น โลจิสติคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (‘KLNTH’) (ผู้ถือหุ้นรายใหญ่เดิมของบริษัท) สิ้นสุดการเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท และ Kerry Logistics Network Limited (‘KLN Group’) สิ้นสุดการควบคุมไม่ว่าในทางใดก็ตาม หรือการถือซึ่งสิทธิในการออกเสียงไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมร้อยละ 50 หรือมากกว่าในบริษัท

เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่นและเพื่อสนับสนุนการพัฒนาในอนาคตภายหลังการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น บริษัท และ SF ได้ดำเนินการร่วมกันอย่างแข็งขันในการกำหนดกลยุทธ์ของบริษัท หลายประการซึ่งรวมถึงการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของบริษัท

เนื่องจากความเป็นไปได้ในการสิ้นสุดการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ‘Kerry’ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นตามที่ได้เปิดเผยข้างต้น โดยการพิจารณาได้เป็นไปอย่างรอบคอบเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

บริษัท และ SF ได้ใช้ความพยายามอย่างที่สุดในการพูดคุยและเจรจากับ Kuok Registrations Limited (‘KRL’) เกี่ยวกับรายละเอียดของข้อกำหนดและเงื่อนไขในการขยายสิทธิในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้า แบรนด์ ‘Kerry’ ภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2565 (รวมถึงสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด) ระหว่างบริษัท และ KRL รวมถึงระยะเวลาขยายการใช้สิทธิที่เป็นไปได้ แผนการในการปรับเปลี่ยน เครื่องหมายการค้าที่คาดไว้ และเงื่อนไขอื่น ๆ ในการใช้แบรนด์ต่อไป

ในขณะเดียวกันบริษัท และ SF ได้ดำเนินการประเมินอย่างละเอียดถึงผลกระทบต่อการดำเนินการและสถานะทางการเงินของบริษัท ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า

ทั้งนี้ เมื่อคำนึงถึงการเจรจาข้อตกลงในการขยายระยะเวลาของสัญญา ที่อาจเป็นไปได้ และการพัฒนาของบริษัท ในระยะยาว บริษัทเชื่อว่าหนึ่งในทางออกที่ดีที่สุดของบริษัท คือ การปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้า (Rebranding) เพื่อยุติการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ ‘Kerry’

โดยเปลี่ยนมาใช้แบรนด์ ‘KEX’ แทน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้จดทะเบียนไว้อยู่กับบริษัทลูกภายใต้เครือ SF และ SF ได้เตรียมการที่จะให้บริษัท ได้ใช้แบรนด์ดังกล่าวเพื่อการดำเนินธุรกิจ โดยขึ้นอยู่กับการเข้าทำสัญญา การขออนุมัติภายในองค์กรและภายใต้กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของบริษัท และ SF รวมถึงบริษัทย่อย

โดยผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้ทราบถึงหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ซึ่ง KRL ได้ใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญา ล่วงหน้าเป็นระยะเวลา 9 เดือน จากหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าว การเลิกสัญญา จะมีผลในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568 และสิทธิของบริษัท ในการใช้ชื่อและเครื่องหมายการค้าแบรนด์ ‘Kerry’ จะสิ้นสุดลงในวันเดียวกัน คือ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2568

ณ ปัจจุบัน บริษัท และ SF กำลังดำเนินการร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องหมายการค้าของบริษัท สู่แบรนด์ ‘KEX’ ในขณะที่บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เสนอขายและปรับระดับแบรนด์ของบริษัท เพื่อการเจริญเติบโตที่ดีขึ้นและยกระดับความพึงพอใจของลูกค้า

นอกจากนี้บริษัทยังพิจารณาแผนการและกลยุทธ์ต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากหนังสือบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างราบรื่น

รายละเอียดของสัญญา ได้เปิดเผยอยู่ในแบบ 56-1 One Report (หัวข้อ ความเสี่ยงการใช้แบรนด์ Kerry Express หน้า 73-74) ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของบริษัท และแผนการดำเนินการของ SF ในการให้ความช่วยเหลือในการเจรจาเพื่อขยายระยะเวลาของสัญญา ตามที่ปรากฏในเอกสารคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ของ SF (แบบ 247-4) (ส่วนที่ 3 รายละเอียดของกิจการ หัวข้อที่ 2 แผนการดำเนินการภายหลังการทำคำเสนอซื้อ 2.2.2 แผนการบริหารจัดการกิจการ หน้า 9-10) ซึ่งปรากฏอยู่บนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และหากมีความคืบหน้าที่สำคัญในเรื่องดังกล่าว บริษัทจะแจ้งให้ทราบต่อไป

ทั้งนี้ เมื่อ 26 มีนาคม 2567 เคอรี่ เอ็กซ์เพรส รายงานผลการยื่นคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมด (Mandatory Tender Offer) ว่า SF Express ผู้ให้บริการโลจิสติกส์แบบครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในจีนและเอเชีย ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1,091,818,327 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 62.66% ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

‘นทท.ต่างชาติ’ แห่ ‘เที่ยวไทย’ 5 เดือนแรก ทะลุ 14 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 6 แสนล้านบาท คาด!! สัปดาห์หน้ามาเพิ่มอีก

(28 พ.ค. 67) นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ภาพรวมการท่องเที่ยวตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-26 พ.ค. 2567 ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวสะสมทั้งสิ้น 14,326,507 คน สร้างรายได้จากการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติแล้วประมาณ 682,975 ล้านบาท

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน จำนวน 2,831,662 คน มาเลเซีย จำนวน 1,909,740 คน รัสเซีย จำนวน 836,868 คน อินเดีย จำนวน 810,513 คน และ เกาหลีใต้ จำนวน 785,600 คน

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 26 พ.ค. นักท่องเที่ยวหลายประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินเดีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย หรือนักท่องเที่ยวตลาดระยะใกล้ (Short haul) เดินทางเข้ามาเป็นจำนวนมาก หรือเพิ่มขึ้น 7.3%

โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นถึง 36,242 คน หรือ 44.49% จากสัปดาห์ก่อนหน้า ส่งผลให้ในภาพรวมสัปดาห์นี้ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งสิ้น 596,552 คน เพิ่มขึ้น 4.30 %จากสัปดาห์ก่อนหน้า 24,595 คนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทย เฉลี่ยวันละ 85,222 คน

สำหรับในสัปดาห์ถัดไป คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้น จากปัจจัยส่งเสริม การเดินทาง ได้แก่ การมีวันหยุดในประเทศมาเลเซีย (Agong’s birthday) และการมีมาตรการ Ease of traveling ของรัฐบาล ช่วยเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่ไทย

อาทิ การลงนามยกเว้นวีซ่าระหว่างไทย-จีน ที่มีผลช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง และกระตุ้นให้สายการบิน เพิ่มจำนวนเที่ยวบิน รวมทั้งการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทาง หรือวีซ่าฟรี ให้แก่นักท่องเที่ยวอินเดีย ไต้หวัน และคาซัคสถาน และการยกเว้นบัตรตม.6 ในด่านทางบก 8 ด่าน แก่นักท่องเที่ยวมาเลเซีย และลาว

'สภาพัฒน์ฯ' เผยผลสำรวจ คนไทยยื่นแบบภาษีเงินได้เพียง 35.7% อึ้ง!! ภาพรวมความรู้ด้านภาษีต่ำ แถมไม่รู้ว่าเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

(28 พ.ค. 67) รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่ง ปี 2567 ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยมุมมองการยื่นและเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของคนไทย ระบุว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยยังมีข้อจำกัดด้านความครอบคลุมและครบถ้วน ซึ่งเกิดจากแรงงานไทยมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ ทำให้การตรวจสอบรายได้มีข้อจำกัดและเป็นช่องโหว่ให้คนบางกลุ่มเลือกไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ฯ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่คนทั้งหมดที่มีเจตนาไม่ยื่นแบบฯ แต่เป็นผลจากสาเหตุอื่น อาทิ ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการยื่นแบบฯ

สศช. จึงร่วมกับ บริษัท ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ จำกัด ดำเนินการสำรวจและศึกษาทัศนคติของประชาชนต่อหน้าที่การยื่นแบบฯ และการจ่ายภาษีในกลุ่มประชาชนอายุ 25 ปีขึ้นไป โดยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างเพียง 35.7% ที่ยื่นแบบฯ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพที่มีเงินเดือนประจำ และกว่า 80.8% มีสถานะทางการเงินที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่าง 50.5% ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้ว่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องยื่นแบบฯ ซึ่งพบว่ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ ปวช. เป็นแรงงานนอกระบบ มีรายได้เฉลี่ย 12,115 บาทต่อเดือน อีกทั้ง มากกว่าครึ่งมีการใช้จ่ายแบบเดือนชนเดือน หรือมีรายจ่ายสูงกว่ารายได้

เมื่อพิจารณาระดับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า ภาพรวมคนไทยมีความรู้ในระดับต่ำ โดยบางส่วนไม่รู้ว่าการยื่นแบบฯ และเสียภาษีเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย และกว่า 65.6% ไม่ทราบว่าการยื่นแบบฯ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสียภาษี อีกทั้ง มากกว่าครึ่งไม่ทราบว่า หากมีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับการยกเว้นการเสียภาษี

ด้านทัศนคติเกี่ยวกับความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา พบว่า คนไทยส่วนใหญ่มองว่าระบบการจัดเก็บภาษีเงินได้ฯ ในปัจจุบันมีความเป็นธรรมในระดับปานกลางถึงค่อนข้างต่ำ จากประเด็นปัญหา อาทิ ระบบตรวจสอบที่ไม่ครอบคลุม ทำให้มีผู้ที่มีรายได้ถึงเกณฑ์บางส่วนไม่ยื่นแบบฯ ผู้มีรายได้สูงบางกลุ่มอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมายในการหลบเลี่ยงภาษี เกณฑ์เงินได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษีต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาความเต็มใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีของคนไทย พบว่า ประมาณ 70% ของกลุ่มตัวอย่าง เต็มใจที่จะยื่นแบบฯ และเสียภาษี หากมีรายได้ถึงเกณฑ์ หรือหากได้รับสวัสดิการที่ดีขึ้นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดให้ทุกคนที่มีรายได้ต้องยื่นแบบฯ โดยไม่ต้องมีเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำ

สำหรับปัจจัยที่จูงใจให้คนไทยยื่นแบบฯ พบว่า กลุ่มที่มีการยื่นแบบฯ อยู่แล้ว ให้ความสำคัญกับความสะดวกในการกรอกข้อมูลมากที่สุด ขณะที่กลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ต้องการให้ไม่ตรวจสอบข้อมูลภาษีย้อนหลัง และไม่ขอเอกสารหรือหลักฐานเพิ่มเติม ส่วนปัจจัยที่สามารถจูงใจให้เสียภาษีคือ การมีรายได้มากกว่ารายจ่าย โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ไม่ได้ยื่นแบบฯ แม้จะมีรายได้ถึงเกณฑ์ขณะที่กลุ่มที่ยื่นแบบฯ จะให้ความสำคัญกับการจัดสวัสดิการของรัฐมากกว่า

ดังนั้น การส่งเสริมและพัฒนาการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจต้องดำเนินการ ดังนี้

1. การสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ประชาชน ตั้งแต่วัยเด็ก และมีการสื่อสารอย่างต่อเนื่องด้วยรูปแบบข้อมูลที่เข้าใจง่าย 

2. การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับการนำภาษีไปใช้ของรัฐ รวมถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการเสียภาษีโดยการประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินนโยบายและการจัดสวัสดิการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน การดำเนินนโยบายที่เกิดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และการสื่อสารสถานการณ์การเงินการคลังของประเทศ

3. การมีแนวทางส่งเสริมการเข้าระบบภาษีโดยสมัครใจ อาจพิจารณาการยกเว้นหรือลดบทลงโทษต่าง ๆ รวมถึงมีมาตรการจูงใจอื่น 4. การตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกต้องอย่างเข้มงวด โดยพัฒนาระบบการตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงอาจมีบทลงโทษสำหรับผู้ที่จงใจทำผิดเป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเกรงกลัว และ 5. การอำนวยความสะดวกให้ผู้ยื่นแบบฯ ซึ่งหากพัฒนาระบบให้สามารถประมวลผลข้อมูลรายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้มากขึ้น รวมถึงมีบุคลากรคอยสนับสนุนและช่วยเหลือในแต่ละกระบวนการ

ทั้งนี้ ภาครัฐต้องให้ความสำคัญกับการสร้างและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมถึงดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีรายได้ที่เพียงพอ เพื่อให้เกิดความพร้อมและความรู้สึกสบายใจในการยื่นแบบฯ และเสียภาษีซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษีและจะเป็นผลดีในระยะยาว สำหรับการออกแบบนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในอนาคต จากการมีฐานข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

‘รมว.ปุ้ย’ กำหนดมาตรฐานใหม่ ‘ถุงพลาสติกบรรจุอาหาร’ เร่งยกระดับเป็นสินค้าควบคุม ป้องกันปนเปื้อน ‘โลหะหนัก’

(28 พ.ค. 67) นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ โดยเป็นการยกเลิกมาตรฐานฉบับเดิม และกำหนดใหม่ เพื่อให้มีความปลอดภัยกับประชาชนมากยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ตนได้เร่งรัดให้ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว เนื่องจากถุงพลาสติกเป็นสินค้าที่ประชาชนนิยมใช้ใส่อาหารและเครื่องดื่มอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน หากเป็นถุงพลาสติกที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน เมื่อนำไปใส่อาหารที่มีความร้อนสูง หรืออาหารที่มีความเป็นกรด อาจเสี่ยงที่จะมีสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพปนเปื้อนออกมากับอาหารได้ 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ สมอ. เร่งควบคุมสินค้าที่สัมผัสกับอาหารโดยตรงอื่น ๆ เช่น ภาชนะพลาสติกใส่อาหาร กระดาษสัมผัสอาหาร และภาชนะสแตนเลสสำหรับอาหาร เป็นต้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน

นายบรรจง สุกรีฑา รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สมอ. ในครั้งนี้ นอกจากจะมีมติเห็นชอบมาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟแล้ว ยังเห็นชอบมาตรฐานอื่น ๆ อีกจำนวน 97 มาตรฐาน เช่น โต๊ะ เก้าอี้นักเรียน เก้าอี้พลาสติกแบบมีพนักพิง ไม้ยางพาราแปรรูป บานประตู แผ่นไม้ประกอบ อนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดมะขามป้อม และอนุภาคนาโนกักเก็บสารสกัดกวาวเครือขาว เป็นต้น 

รวมทั้งเห็นชอบมาตรฐานที่จะกำหนดเพิ่มเติมอีก จำนวน 90 มาตรฐาน เช่น เครื่องทำน้ำอุ่นและเครื่องทำน้ำร้อนระบบก๊าซ เต้านมเทียมซิลิโคนใช้ฝังในร่างกาย ข้อเข่าเทียม เครื่องมือรักษารากฟัน ที่นอนลดแผลกดทับ เลนส์ตาเทียม สารน้ำฟอกไต เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ ยางล้อรถยนต์ ลวดเหล็กเคลือบสังกะสี เม็ดพลาสติก และล้ออัลลอย์ เป็นต้น ซึ่งจัดทำโดย สมอ. และองค์กรกำหนดมาตรฐาน (SDOs) ที่เป็นสถาบันเครือข่ายของ สมอ. ได้แก่ สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันยานยนต์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และสถาบันพลาสติก 

ด้าน นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรฐานถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร และถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ สมอ. ได้เคยมีการกำหนดมาตรฐานไว้แล้ว แต่เพื่อให้มีความปลอดภัยกับประชาชนมากยิ่งขึ้น จึงได้มีการทบทวนมาตรฐานโดยยกเลิกมาตรฐานฉบับเดิม และกำหนดใหม่ โดยมีข้อกำหนดด้านความปลอดภัยที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมปริมาณโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว อะลูมิเนียม แบเรียม โคบอลต์ ทองแดง เหล็ก ลิเทียม แมงกานีส นิกเกิล สังกะสี พลวง สารหนู แคดเมียม โครเมียม ปรอท ยูโรเพียม แกโดลิเนียม แลนทานัม และเทอร์เบียม ให้อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ การทนความร้อนความเย็น เช่น ทนความร้อนได้ถึง 100 องศาเซลเซียส 

สำหรับถุงใส่อาหารร้อน ทนความร้อนได้ไม่เกิน 60 องศาเซลเซียส สำหรับถุงใส่อาหารเย็น และทนความเย็นได้ถึง -18 องศาเซลเซียส สำหรับถุงใส่อาหารเยือกแข็ง และสำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ สามารถทนความร้อนได้ไม่ต่ำกว่า 80 องศาเซลเซียส 

นอกจากนี้ มีการควบคุมการใช้สีที่พิมพ์ลงบนถุง โดยถุงพลาสติกสำหรับบรรจุอาหาร ต้องเป็นสีสำหรับใช้กับผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร (Food Grade) เท่านั้น สำหรับถุงพลาสติกบรรจุอาหารสำหรับอุ่นในไมโครเวฟ จะต้องเป็นสีที่ผ่านการตรวจสอบสารอันตรายตามมาตรฐาน มอก.1069 สีสำหรับพลาสติกทำผลิตภัณฑ์สัมผัสอาหาร เป็นต้น 

โดยหลังจากนี้ สมอ. จะเร่งรัดดำเนินการเพื่อประกาศเป็นสินค้าควบคุมโดยเร็ว รวมถึงสินค้าสัมผัสอาหารอื่น ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป” เลขาธิการ สมอ. กล่าว

‘สรรเพชญ’ ห่วง ราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ กระทบศก.ภาคใต้ วอน!! รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและยั่งยืน

(27 พ.ค. 67) นายสรรเพชญ บุญญามณี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออกมาให้ความเห็น หลังชาวสวนปาล์มประสบปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ โดยกล่าวว่า “ปัญหานี้เป็นปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจของภาคใต้ เพราะประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ปลูกสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2565 ก็มีสัญญาณเตือนจากนักวิชาการมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะส่งผลให้เกิดภัยแล้ง หรือกรณีที่อินโดนีเซีย ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ความนิยมในการใช้รถอีวีเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้ความต้องการปาล์มน้ำมันในตลาดลดน้อยลง 

ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรก็ได้ออกมาเตือนแล้วว่า สินค้าที่น่าเป็นห่วง คือ “ปาล์มน้ำมัน” แต่ด้วยภายใต้การนำของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะผู้กำกับดูแลด้านนี้โดยตรงในรัฐบาลที่แล้ว ทำให้ผ่านปัญหาเหล่านั้นมาได้ และส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันเป็นที่น่าพอใจ 

เมื่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมาอยู่ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ชาวสวนปาล์มก็มีความหวังว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินงานเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้นได้ ประกอบกับเมื่อต้นเดือนมกราคม 2566 ช่วงก่อนเลือกตั้งประธาน สส. และประธานคณะกรรมการนโยบายด้านการเกษตรของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้น แก้ไขปัญหาเรื่องปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอ้างว่าปาล์มน้ำมันปิดรับการรับซื้อเพราะปาล์มล้นตลาดและทำให้ราคาปาล์มน้ำมันในประเทศตกต่ำสวนทางตลาดโลก ในกรณีนี้น่าจะเป็นข้อมูลให้รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญและเตรียมการรับมือไว้เมื่อได้เข้ามาเป็นรัฐบาล 

ซึ่งนายสรรเพชญ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นเพราะนโยบายของพรรคเพื่อไทยไม่ได้ระบุเรื่องเพิ่มราคาปาล์มน้ำมันให้ได้ 3 เท่าเหมือนสินค้าเกษตรอื่น ๆ จึงส่งผลให้ราคาปาล์มน้ำมันตกลงมาดังที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และกลายเป็นว่ารัฐบาลเองทำให้ราคาปาล์มน้ำมันสวนทางตลาดโลกและตกต่ำกว่ารัฐบาลในสมัยที่แล้ว  

นอกจากนี้ นายสรรเพชญ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงกรณีที่นายภูมิธรรม ได้ออกมาสั่งการให้กรมการค้าภายใน ลงพื้นที่สำรวจเพื่อติดตามราคาปาล์มน้ำมันว่า ตนคาดหวังอยากให้นายภูมิธรรม ได้ให้ความสนใจกับพื้นที่ภาคใต้มากกว่านี้ เหมือนความพยายามที่จะขายข้าวเก่า 10 ปีดังที่ปรากฏในข่าวปัจจุบัน เพราะปาล์มน้ำมัน เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ และหวังให้นายภูมิธรรม แก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ไม่ใช่เพียงให้จบไปแค่ตอนนี้ แต่คาดหวังให้เกิดความยั่งยืนและไม่เกิดปัญหาเดิมซ้ำอีกในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top