Wednesday, 3 July 2024
The States Times EconBiz Team

กระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาให้นายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 หยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นการชั่วคราว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้มีมาตรการขยายระยะเวลาการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ให้สามารถหยุดหรือเลื่อนการนำส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กองทุนฯ) เป็นการชั่วคราว

ตั้งแต่งวดนำส่งเงินของเดือนมกราคม 2564 จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนมิถุนายน 2564 โดยนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนฯ ต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ จากเดิมที่ผ่อนผันให้จนถึงงวดนำส่งเงินของเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ภายใต้หลักการและแนวปฏิบัติเดิม ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างและนายจ้างที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของของโรค COVID-19 ในปัจจุบัน โดยมุ่งหวังให้ลูกจ้างที่เป็นแรงงานในระบบยังคงสถานะการเป็นสมาชิกกองทุนฯ และสามารถออมผ่านกองทุนฯ หลังจากที่สถานการณ์การระบาดของของโรค COVID-19 ได้คลี่คลาย เพื่อเป็นหลักประกันรายได้และนำไปสู่ความมั่นคงทางการเงินเมื่อแรงงานในระบบเหล่านั้นผ่านพ้นวัยทำงาน 

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดประเภทธุรกิจ ระยะเวลา และเงื่อนไขให้ลูกจ้างหรือนายจ้างหยุดหรือเลื่อนการส่งเงินสะสม หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในท้องที่ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สาธารณภัย หรือเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เตรียมเสนอให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือ ลดค่าใช้จ่าย พักชำระหนี้ ลดค่าไฟฟ้า ให้ผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม-ที่พัก หลังมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า สทท.ได้รวบรวมข้อเสนอของสมาชิกในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั้งระบบ เพื่อเตรียมเสนอให้กับรัฐบาลพิจารณาแนวทางช่วยเหลือหลังจากมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นมาอีกระลอก ทั้งการลดค่าใช้จ่าย และผลกระทบจากต้นทุนต่างๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องแบกรับ การเสนอแนวทางเสริมสร้างรายได้ และการขอให้ภาครัฐช่วยหาโอกาสทางการตลาดเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งจะช่วยต่อลมหายใจธุรกิจท่องเที่ยวให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตในขณะนี้ไปได้ 

สำหรับข้อเสนอครั้งนี้มีด้วยกันหลายเรื่อง โดยด้านแรก คือ การลดค่าใช้จ่าย เช่น ขอให้สถาบันการเงินพักชำระหนี้เงินต้นละดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวต่อไปอีก 6เดือน หรือ 1 ปีตามความเหมาะสมของแต่ละราย หรือพักชำระนี้จนกว่าสถานการณ์กลับมาดีขึ้น รัฐบาลมีการควบคุมที่ที่ ไม่มีการระบาดซ้ำ หรือมีวัคซีนออกมาใช้ได้แล้ว โดยกรณีนี้สมาชิกได้เรียกร้องเข้ามาเป็นจำนวนมาก เพราะคงไปต่อไม่ไหวในภาวะเช่นนี้ และไม่อยากให้ธุรกิจตัวเองต้องมีภาระหนี้สะสมจนตกเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล 

รวมทั้งยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจโรงแรม ที่พัก โดยให้โรงแรมจ่ายค่าไฟตามปริมาณการใช้จริงแทนการจ่ายแบบเดิม ไปจนถึงสิ้นปี 64 และขอให้รัฐช่วยเหลือด้วยการช่วยจ่ายค่าแรงให้กับพนักงานในกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด 50% ในลักษณะเดียวกับการจ้างนักศึกษาจบใหม่ที่กระทรวงแรงงานกำลังดำเนินการอยู่

กระทรวงการคลัง เตรียมเปิดลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง รอบเก็บตก อีกประมาณ 1 ล้านสิทธิ ช่วงกลางเดือนมกราคมนี้ ยืนยัน ยังไม่มีแผนขยายเวลาและเพิ่มวงเงินเป็น 5,000 บาท ตามที่เอกชนเสนอ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดให้คนไทยลงทะเบียนข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง” ในรอบเก็บตก อีกครั้งช่วงกลางเดือนม.ค.นี้ เพราะตอนนี้ได้รับทราบรายงานแล้วว่า มีสิทธิคงเหลือรวมประมาณ 1 สิทธิ จากการดำเนินโครงการในเฟสแรก และเฟส 2 รวมทั้งยังมีสิทธิตกหล่นจากผู้ที่ลงทะเบียนเข้าร่วมเฟส 2 แต่ไม่ได้ใช้จ่ายภายใน 14 วันด้วย

ซึ่งจะต้องมาสรุปตัวเลขอีกครั้ง ขณะที่ข้อเสนอของทางภาคเอกชน ที่เสนอให้รัฐบาลพิจารณาขยายเวลาโครงการคนละครึ่งออกไปอีก 3 เดือน และเพิ่มวงเงินเป็นคนละ 5,000 บาท นั้น กรณีนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณา เพราะยังเหลือเวลาอยู่ 3 เดือน หลังจากนั้นจึงจะประเมินกันใหม่อีกครั้ง

สำหรับโครงการคนละครึ่ง เฟส 2 ได้เปิดให้ประชาชนได้เริ่มใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 นั้น จากข้อมูล ณ วันที่ 3 ม.ค. 2564 มีผู้ใช้สิทธิรวมทั้งหมด 12,050,115 คน โดยเป็นการใช้จ่ายของกลุ่มผู้ได้รับสิทธิเดิมจำนวน 9,536,644 คน ใช้จ่ายสะสม 52,358.3 ล้านบาท และผู้ได้รับสิทธิใหม่จำนวน 2,513,471 คน ใช้จ่ายสะสม 1,073.6 ล้านบาท รวมยอดการใช้จ่ายสะสม 53,431.9 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินที่ประชาชนจ่าย 27,353.4 ล้านบาท

และภาครัฐร่วมจ่ายอีก 26,078.5 ล้านบาท จังหวัดที่มีการใช้จ่ายสะสมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สงขลา ชลบุรี เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ และมีร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 1.1 ล้านร้านค้า โดยผู้ประกอบการร้านค้าที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้อย่างต่อเนื่อง

'นิด้าโพล' ชี้!! ค่าเฉลี่ยคนไทย 77.68% สนเปลี่ยนขับรถยนต์ไฟฟ้า หวังช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม แต่รับไหวเรทราคา 5 - 9 แสน

ภายใต้แคมเปญ Get to know Thai consumers เกรท วอลล์ มอเตอร์ ร่วมมือกับศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เพื่อสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมผู้ใช้รถยนต์ของคนไทย 1,000 คน ทั่วประเทศ

ซึ่งผลการสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคชาวไทยมีความสนใจใน รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) สูงถึง 77.68% โดยมองว่ารถยนต์ไฟฟ้าเป็นการช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 28.97% และมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย 26.88% อีก 16.96% มองว่าเป็นการช่วยประหยัดค่าบำรุงรักษาในระยะยาว

ทั้งนี้ หนึ่งในผลสำรวจพบว่า 80.26% คิดว่า ราคาที่เหมาะสมของรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ควรอยู่ระหว่าง 500,000 - 900,000 บาท ขณะที่รูปแบบรถยนต์ไฟฟ้า (xEV) ที่คนไทยสนใจแบ่งเป็น รถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle: BEV) 38.69% รถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (Hybrid Electric Vehicle: HEV) 30.95% และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle: PHEV) 30.36%

ส่วนปัจจัยที่ทำให้คนไทยเปลี่ยนใจมาใช้ รถยนต์ไฟฟ้า (xEV) แทนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันคือ ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 22.02% แสดงถึงความกังวลและความตระหนักถึงปัญหา PM2.5 ซึ่งมีที่มาจากควันจากท่อไอเสียรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ในขณะที่ 19.05% มองว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เป็นมิตรมากกว่าและมาพร้อมเทคโนโลยีที่ดีกว่า

นอกจากนี้ผลการสำรวจยังระบุประเด็นสำคัญ อื่น ๆ อาทิ 57.74% จะนำ รถยนต์ไฟฟ้า มาใช้ทดแทนทุกกิจกรรมที่เคยใช้งานรถยนต์พลังงานน้ำมัน โดยคำนึงถึงปัจจัยสำคัญ 3 อันดับแรกในการตัดสินใจซื้อ คือ ความคุ้มค่า ความปลอดภัย และศักยภาพของรถ

และคนไทย 99.31% มีความเห็นเชิงบวกต่อรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน และมีมุมมองที่เปิดกว้างต่อเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่จากจีน โดยส่วนใหญ่ยอมรับว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีจากจีนนั้น มีความน่าสนใจน่าติดตามในราคาที่เข้าถึงง่าย

ณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ประเทศไทย เปิดเผยว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ ตอกย้ำจุดยืนที่ชัดเจนตามกลยุทธ์ consumer-centric ในการรับฟังทุกความเห็นของผู้บริโภคมาวางแผน พัฒนา และส่งมอบผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และการให้บริการอันล้ำสมัยเข้าสู่ตลาดไทย

รวมไปถึงการร่วมพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (xEV) พร้อมผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้าง Ecosystem ของรถยนต์ไฟฟ้าให้เกิดขึ้น ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพการบริการ ส่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้บริโภคชาวไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย ให้ก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในอนาคต

โครงการ ‘Apple Car’ หนึ่งในอภิมหาโปรเจ็คของแอปเปิล ที่มีข่าวลือมานานหลายปี อาจใกล้ความเป็นจริงในเร็วๆ นี้ หลัง Hyundai ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ ได้เจรจาเบื้องต้นกับทาง Apple เสนอตัวเป็นฐานการผลิตให้แล้ว

โครงการรถ Apple Car ของ แอปเปิล อิงค์ ถูกลือมานานหลายปี ว่าบริษัทแห่งนี้ ซุ่มพัฒนาโครงการรถยนต์ไฟฟ้าของตนเอง โดยโครงการดังกล่าวมีชื่อว่า Project Titan เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2557 แต่ในช่วงที่ผ่านมา กลับไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร และทาง Apple ยังไม่ได้เปิดเผยความคืบหน้าโครงการดังกล่าวแต่อย่างใด

นั่นเพราะ การพัฒนาโครงสร้างรถยนต์ เป็นสิ่งที่ทาง Apple เองไม่มีความถนัดนัก ซึ่งในส่วนที่เป็นโครงสร้างรถยนต์อาจจะต้องหาพาร์ทเนอร์มาผลิตให้นั่นเอง

กระทั่ง เมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ทางสำนักข่าว รอยเตอร์ รายงานว่า Apple กำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และตั้งเป้าที่จะผลิตรถยนต์โดยสารภายในปี 2567 ซึ่งอาจรวมถึงการใช้เทคโนโลยีแบตเตอรี่ ที่เรียกว่า Monocell ซึ่งมีการคิดค้นขึ้นมาใหม่ด้วย

ล่าสุด มีรายงาน Hyundai แบรนด์รถยนต์ชั้นนำของเกาหลีใต้ กำลังเจรจาเบื้องต้นกับทาง Apple ถึงความเป็นไปได้ ในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ ให้กับทาง Apple

Hyundai Motor ของเกาหลีใต้ เปิดเผยแถลงการณ์ เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคม ที่ผ่านมา โดยระบุว่า บริษัทกำลังเจรจาในขั้นต้นกับบริษัทแอปเปิล อิงค์ของสหรัฐ

ซึ่งแถลงการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้น ภายหลังจากที่โคเรีย อีโคโนมิก เดลี รายงานว่า ทั้งสองบริษัทกำลังเจรจากันเพื่อร่วมมือกันในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรีรถยนต์

แม้ในแถลงการณ์ ของ Hyundai Motor จะไม่มีความชัดเจนมากนัก มีเพียงข้อความว่า “แอปเปิลและฮุนไดกำลังหารือกัน แต่เป็นการหารือในขั้นต้น และยังไม่มีการตัดสินใจใด ๆ”

แต่จากข่าวดังกล่าว ส่งผลให้ราคาหุ้นฮุนไดในตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ทะยานขึ้นถึง 24% ช่วงเช้าวันศุกร์ ก่อนจะลงมาเหลือบวก 19% ช่วงปิดตลาดการซื้อขาย

จากราคาหุ้นที่ตอบรับกับข่าวการเจรจาของ 2 บริษัท สะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า ดีลนี้มีความเป็นไปได้ที่เกิดขึ้นจริง นั่นเพราะก่อนหน้านี้ Apple ก็มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับค่ายผู้ผลิตรถยนต์มาก่อนแล้วในบริการ CarPlay ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ของ Apple สำหรับการเชื่อมต่อ iPhone เข้ากับยานพาหนะ ของผู้ผลิตรถยนต์หลายราย

หาก Apple จะทำรถยนต์ไฟฟ้าของตัวเองอย่างจริงจริง และต้องการก้าวตามคู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้ทัน การจับมือเป็นพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ผู้ผลิตรถยนต์ จึงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ Apple ไม่ควรมองข้าม ถ้าต้องการให้ Apple Car ออกมาโลดแล่นบนท้องถนนโดยเร็วที่สุด


อ้างอิง :

https://www.reuters.com/article/idUSKBN29D02E

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโควิด ในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด ทั้งการพักหนี้ และการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารของรัฐ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 12 ม.ค.64 พิจารณาเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือทั้ง การพักหนี้ เช่น การพักเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามความเหมาะสม

รวมไปถึงการปล่อยสินเชื่อ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในพื้นที่เสี่ยง 28 จังหวัด รวมถึงใน 5 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุด

นายอาคม กล่าวถึงแนวทางการออกมาตรการมาช่วยเหลือประชาชน 40 ล้านคน ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ว่า "ล่าสุดกำลังการพิจารณารายละเอียด สามารถทยอยออกมาได้ หลังจากออกมาตรการทางการเงินแล้ว ส่วนรูปแบบการเยียวยานั้น ต้องดูให้ละเอียด เนื่องจากลักษณะเป็นการดูแลเฉพาะกลุ่ม พร้อมประเมินสถานการณ์แพร่ระบาว่าจะยาวนานแค่ไหนด้วย"

สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส์ ประกาศยกเลิกเส้นทางบินเพิ่มอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

รายงานข่าวจากสายการบินบางกอกแอร์เวยส์ แจ้งว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และประกาศของ ศบค. ในการขอความร่วมมือประชาชนชะลอการเดินทางข้ามจังหวัด

ทาง บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราวเพิ่มเติม 2 เส้นทางบิน ได้แก่ เส้นทาง สมุย-ภูเก็ต (ไป-กลับ) และเส้นทาง ภูเก็ต-หาดใหญ่ (ไป-กลับ) ตั้งแต่วันที่ 10-31 มกราคม 2564

และจะปิดให้บริการสำนักงานออกบัตรโดยสาร สำนักงานใหญ่ (ถนนวิภาวดีรังสิต) เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 11-31 มกราคม 2564 ทั้งนี้ ผู้โดยสารสามารถติดต่อบริษัทฯ ได้ตามช่องทางต่าง ๆ ดังนี้

คอลเซ็นเตอร์ โทร 1771 และโทร 02-270-6699 (ตั้งแต่เวลา 08.00 น. – 20.00 น.), อีเมล [email protected]

และ PG Live Chat https://bit.ly/PGLiveChatTH

สำหรับ ผู้โดยสารที่ถือบัตรโดยสารในเที่ยวบินที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกเที่ยวบินดังกล่าว สามารถติดต่อสายการบินฯเพื่อเปลี่ยนแปลงการเดินทางได้โดยไม่มีค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนแปลงบัตรโดยสาร สำหรับผู้โดยสารที่ออกบัตรโดยสารผ่านทางตัวแทนจำหน่าย ให้ติดต่อที่ตัวแทนจำหน่าย

ธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และธนาคารรัฐ ร่วมจัดตั้งทีมเฉพาะกิจ ดูแลลูกหนี้ทุกช่องทาง พร้อมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาตรการรับมือโควิดรอบใหม่ แต่จะช่วยเหลือแตกต่างกันไปเป็นรายกรณี

นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยถึงการดำเนินงานและการให้บริการลูกค้าในภาวะวิกฤติโควิด-19 รอบใหม่ ว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ไทย ธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ และธนาคารรัฐ ได้ร่วมมือกันจัดตั้งทีมเฉพาะกิจ เพื่อดูแลลูกหนี้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจทุกช่องทาง รวมทั้งให้การสื่อสารเป็นไปในทิศทางเดียวป้องกันการสับสนของข้อมูล

ขณะเดียวกันยังได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับการมาตรการรับมือโควิดรอบใหม่ โดยการบริหารจัดการอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละธนาคาร ซึ่งเน้นดูแลความปลอดภัยทั้งลูกค้า พนักงาน คู่ค้า พันธมิตร หรือผู้มาติดต่ออื่น ๆ

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า "ธนาคารพาณิชย์ยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดที่ชัดเจนต่อไป ซึ่งยังเร็วเกินไปที่จะประเมินถึงความสามารถในการชำระคืนหนี้และแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ได้ชัดเจน โดยขึ้นอยู่กับมาตรการการควบคุมโรคของรัฐบาล เพราะสถานการณ์ยังที่มีความไม่แน่นอนสูง และธนาคารต้องประเมินผลกระทบในหลาย ๆ ด้านและเตรียมแผนไว้ จึงต้องใช้เวลาเพื่อประเมินความชัดเจนก่อน โดยธนาคารแต่ละแห่งพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ทุกกลุ่ม ซึ่งจะพิจารณาความช่วยเหลือแตกต่างกันไปเป็นรายกรณี"

กระทรวงพาณิชย์ จูงใจเอกชนจดทะเบียนธุรกิจออนไลน์ ประกาศลดค่าธรรมเนียม e-Registration ลง 50% เหลือเพียง 2,750 บาท จากอัตราเดิม 5,500 บาท นาน 3 ปี

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม ลดอัตราค่าธรรมเนียม และยกเว้นค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน การขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสารพร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัด พ.ศ. 2563

เพื่อขยายระยะเวลาและเพิ่มส่วนลดอัตราค่าธรรมเนียมแก่ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนผ่านระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) จากเดิมลดให้ร้อยละ 30 เป็นลดให้ร้อยละ 50 เป็นระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ถึง 31 ธันวาคม 2566

ดังนั้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนนิติบุคคลผ่านทางระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Registration จะเสียค่าธรรมเนียมที่ถูกลงกว่าครึ่งหนึ่งของการยื่นขอจดทะเบียนฯ แบบ walk in ที่มีค่าธรรมเนียม 5,500 บาท โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจำกัดผ่านระบบ e-Registration ในอัตราใหม่นี้จะมีค่าธรรมเนียมเหลือเพียง 2,750 บาท และห้างหุ้นส่วนจำกัดมีอัตราค่าธรรมเนียมเพียง 500 บาท การเปลี่ยนแปลง/การเพิ่มทุนของห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดมีอัตราค่าธรรมเนียม 250 บาทต่อ 1 ครั้ง

สำหรับการลดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลเกี่ยวกับการปรับปรุงบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2563 ที่ให้ส่วนราชการพิจารณาทบทวนการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการอนุมัติ อนุญาต ของทางราชการ ให้สอดคล้องกับต้นทุนของภาครัฐ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเริ่มต้นและประกอบธุรกิจแก่ผู้ประกอบการ เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนผ่านระบบ e-Registration มากขึ้น

ทั้งนี้ ด้วยระบบ e-Registration ผู้ประกอบการสามารถดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้ง เปลี่ยนแปลงฯ หรือเพิ่มทุนได้ง่าย ทุกที่ทุกเวลา โดยไม่มีเรื่องเวลา/สถานที่มาเป็นอุปสรรค ช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อันเป็นการช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการที่ได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในประเทศไทยและ ทั่วโลกยังคงมีสถานการณ์ที่รุนแรง

“แม้ว่าการลดอัตราค่าธรรมเนียมฯ ดังกล่าวอาจทำให้รัฐสูญเสียรายได้ลงกว่า 165 ล้านบาทต่อปี แต่ในทางกลับกันประเทศไทยจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล เนื่องจากช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการประกอบธุรกิจ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันและพัฒนาศักยภาพให้แก่ผู้ประกอบการ นอกจากนี้

ยังจะส่งผลต่ออันดับของไทยด้านการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ หรือ Doing Business ของธนาคารโลกที่คาดว่าจะมีอันดับที่ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คลี่คลายลงจะทำให้นักลงทุนชาวต่างชาติเกิดความสนใจและเลือกประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางในการมาลงทุนมากขึ้น” รมช.พณ. กล่าวทิ้งท้าย

อาหารการกินของคนไทย ปี 2020

จากผลสำรวจ ‘อาหารการกินของคนไทย ปี 2020’ โดย สวนดุสิตโพล ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,144 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 1-3 ธันวาคม 2563 ได้ยกให้ ‘ข้าวกะเพรา’ ครองแชมป์เมนูยอดนิยมในหมู่คนไทย

 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top