Wednesday, 3 July 2024
The States Times EconBiz Team

ทิสโก้ ชี้หุ้นไทยปีนี้ฟื้นจาก 3 ปัจจัยบวก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรบริษัทจดทะเบียนฟื้น, นโยบายการเงินผ่อนคลายหรือ QE และนโยบายโจ ไบเดนหนุน คาดสิ้นปีอาจเห็นดัชนีแตะ 1,600

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ผลกระทบ COVID-19 ทำให้ตลาดหุ้นไทยปีที่แล้วปรับตัวลง 8% และเคลื่อนไหวแย่กว่าตลาดหุ้นโลก (MSCI World Index) ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 14% สำหรับมุมมองหุ้นไทยในปีนี้ บล.ทิสโก้ คาดว่า หุ้นไทยมีโอกาสฟื้นตัวจากปีที่แล้วจาก 3 ปัจจัยบวก คือ

1.) การฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยบล.ทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะกลับมาเติบโต 3.4% จากปี 2564 ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัว 6.3%

ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยในปี 2564 คาดว่าจะฟื้นตัวแรง 34% ขณะที่ปี 2563 คาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนไทยจะติดลบ 38% สาเหตุที่กำไรเพิ่มขึ้นแรงมาจากกำไรในกลุ่มพลังงาน และกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของกำไรตลาดโดยรวมจะเติบโต 79% และ 25% ตามลำดับ ขณะที่ปี 2565 คาดกำไรโดยรวมจะเติบโตอีก 16% อานิสงส์จากภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะฟื้นตัวได้เต็มที่หลังมีวัคซีน โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว

2.) นโยบายการเงินยังคงอยู่ในระดับที่ผ่อนคลายมากเมื่อเทียบกับในอดีต หรือการทำ QE โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ได้ปรับเป้าหมายนโยบายการเงินไปใช้ “อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ย” ที่ 2% ซึ่งจะทำให้ FED สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินได้นานกว่าในอดีต ทั้งการคงดอกเบี้ยในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และการอัดฉีดสภาพคล่องอย่างต่อเนื่อง จากการประเมินคาดว่า FED จะอัดฉีดสภาพคล่องในปีนี้เพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ฯ

3.) นโยบายด้านเศรษฐกิจของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ ที่มีแผนการใช้จ่ายเงินจำนวนมากจะกดดันเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มอ่อนค่าลง เป็นผลดีต่อตลาดหุ้นและราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยรวม ขณะเดียวกัน นโยบายต่างประเทศของไบเดนที่ประนีประนอมกว่าทรัมป์ และคาดการณ์ข้างหน้าได้ง่ายกว่าทรัมป์ น่าจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก และช่วยลดความผันผวนของตลาดลงได้

จากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว ทางบล.ทิสโก้ จึงได้ประเมินดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะสมในปี 2564 ที่ 1,450-1,590 จุด โดยในครึ่งปีหลังมีโอกาสสูง ที่จะเหวี่ยงตัวขึ้นไปใกล้ ๆ ระดับ 1,600 จุด หรือเทียบเท่าตอนสิ้นปี 2562 ก่อนที่ COVID-19 จะระบาด

ธนาคารออมสิน เร่งออกมาตรการด่วนช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อของธนาคาร จำนวนกว่า 1.9 ล้านราย ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด เข้ามาตรการพักชำระเงินต้น ลดการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้ ระยะเวลา 3 - 6 เดือน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ลูกค้าของธนาคารออมสินในพื้นที่จังหวัด ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด หรือพื้นที่สีแดง ตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 สามารถลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่เดือดร้อนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ได้

โดยธนาคารจะพิจารณาให้ลูกค้าสามารถขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งมาตรการครั้งนี้มีระยะเวลา 3 - 6 เดือน

"จากข้อมูลลูกค้าของธนาคารพบว่า ในพื้นที่ 28 จังหวัดมีลูกค้าสินเชื่อของธนาคารจำนวนกว่า 1.9 ล้านราย วงเงินสินเชื่อกว่า 670,000 ล้านบาท ซึ่งการระบาดระลอกใหม่และพื้นที่ดังกล่าว ถูกกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด

คาดว่าจะมีลูกค้าจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาได้รับผลกระทบ ธนาคารจึงได้เร่งเปิดให้ลูกค้าลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้ามาตรการช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์ธนาคารออมสิน หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อดำเนินการในรายละเอียดต่อไป" นายวิทัย กล่าว

ทั้งนี้ ลูกค้าสินเชื่อธนาคารออมสินในพื้นที่จังหวัดที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด/พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดรวม 28 จังหวัด สามารถลงทะเบียนเข้ามาตรการช่วยเหลือได้ที่เว็บไซต์ธนาคารออมสิน www.gsb.or.th พร้อมทั้งระบุข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลการติดต่อให้ชัดเจนครบถ้วน เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนในวันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2564 นี้เป็นต้นไป

ม.หอการค้าฯ คาดวิกฤตโควิดระบาดระลอกใหม่ อาจกด GDP ปีนี้โตลดเหลือ 2.2% จากเดิมคาด 2.8% ชี้หากคุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน จะสูญเสียทางเศรษฐกิจ 1-2 แสนล้านบาท แต่ถ้าคุมไม่อยู่ จะเสียหาย 3-6 แสนล้าน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นนั้น อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาโควิดระบาด

ทั้งนี้ สถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนควบคู่ไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ “มาตรการคนละครึ่ง” เพราะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว แต่ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องใช้เงิน 4-6 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักได้หากคุมสถานการณ์การระบาดไว้ไม่อยู่ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะหดตัวมากถึง -11.3% แต่ปัจจุบัน ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้ อาจจะหดตัว -4% และหากสถานการณ์การระบาดสามารถคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10% ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย

โดยทาง ทาง ม.หอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไว้ใน 3 กรณี ดังนี้

1.) กรณีคุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน ใช้ซอฟท์ ล็อกดาวน์) คาด GDP ปี 64 จะโตได้ 2.2% อัตราการว่างานอยู่ที่ 1.71% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 85% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 1-2 แสนล้านบาท

2.) กรณีคุมได้ภายใน 2 เดือน (ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน+ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 1 เดือน) คาด GDP ปี 64 จะโตได้ 0.9% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.76% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.1% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 2-4 แสนล้านบาท

3.) กรณีแย่ที่สุด คุมได้ภายใน 3 เดือน (ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน-ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 2 เดือน) คาด GDP ปี 64 จะหดตัว -0.3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.81% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 87.2% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 3 - 6 แสนล้านบาท

กรมธนารักษ์ ยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ พื้นที่ใช้ประโยชน์ที่อยู่อาศัย และการเกษตร ตลอดปี 2564 บรรเทาผลกระทบโควิด-19 พร้อมเปิดทางลดค่าเช่าให้ผู้ประกอบการ ในเชิงพาณิชย์ที่ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ยกเว้นการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุสำหรับพื้นที่ใช้ประโยชน์ที่อยู่อาศัย และเพื่อการเกษตรตลอดทั้งปี 2564

เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชนในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยคาดว่า การดำเนินการครั้งนี้ ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากยกเว้นค่าเช่าประมาณ 5-6 แสนราย คิดเป็นค่าเช่าที่ยกเว้นประมาณ 300 - 400 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังได้เปิดให้ผู้ประกอบการที่เช่าที่ราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้แจ้งความเดือดร้อน โดยสามารถส่งงบการเงินว่ามีรายได้ และยอดขายได้รับผลกระทบอย่างไร หากลดลงกรมฯ ยินดีบรรเทาช่วยเหลือ เช่น การลดค่าเช่าให้บรรเทาความเดือดร้อน เป็นต้น

ส่วนการพิจารณาราคาประเมินที่ดิน ของรอบปีบัญชี 59 - 63 จะไม่มีการปรับราคาประเมินเพิ่มขึ้น ส่วนการใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่ในปี 2565 กรมฯ จะนำบัญชีประเมินราคาที่ดินเดิมที่เคยทำเสร็จแล้วมาทบทวนใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและราคาซื้อขายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าภาพรวมราคาประเมินที่ดินจะต่ำกว่าของเดิมที่มีราคาเพิ่มขึ้น 7-8%

ประเมินอุตสาหกรรมโรงพยาบาลเอกชนปี 64 แข่งขันดุเดือด หลังรายได้ปี 63 ทรุดหนัก รายได้ทั้งอุตสาหกรรมช่วง 9 เดือนแรก ลดลงกว่า 14% กำไรหายไปกว่า 50% หลังลูกค้าที่มีศักยภาพและต่างชาติหดหาย

จากตัวเลขผลประกอบการ 9 เดือนแรกปี 2563 ของโรงพยาบาลเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มีรายได้ลดลงที่ -14.2% (YoY) และกำไรสุทธิลดลงที่ -54.8% (YoY)

แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในปี 2564 หากไทยไม่มีการระบาดรุนแรงซ้ำของโควิด-19 และทยอยให้มีการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น รวมถึงการเมืองไทยไม่บานปลายรุนแรง

คาดว่า โรงพยาบาลเอกชนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 1-4% (YoY) กำไรสุทธิโต 15-20% (YoY) โดยคาดว่าจะมีคนไข้ต่างชาติเข้ารับการรักษาพยาบาลในไทยราว 1.57-1.77 ล้านคน (ครั้ง) เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีจำนวนราว 1.45 ล้านคน (ครั้ง) แต่การฟื้นตัวนี้ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับก่อนโควิด ในปี 2562

โดยปัจจัยด้านโควิด-19 จะยังกดดันการทำรายได้และกำไรของโรงพยาบาลเอกชนต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ต่างชาติในสัดส่วนสูง ขณะที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่พึ่งพารายได้จากคนไข้ชาวไทยกลุ่มประกันสังคมและข้าราชการ น่าจะยังพอไปได้หรือได้รับผลกระทบน้อยกว่าโรงพยาบาลเอกชนใน Segment อื่น

ทั้งนี้ การแข่งขันของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะยากและรุนแรงขึ้น เพราะผู้ประกอบการมีจำนวนมากแต่คนไข้ที่มีศักยภาพกลับไม่เพิ่มขึ้นตาม โดยเฉพาะคนไข้กลุ่ม Medical Tourism ที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องแย่งชิงตลาดคนไข้ในประเทศ ที่กำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว

ดังนั้น ในระยะสั้น โรงพยาบาลเอกชนต้องมีการปรับตัวเพื่อประคองการเติบโต โดยควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้คนไข้สามารถเข้าถึงได้ และเตรียมความพร้อมรองรับคนไข้ต่างชาติที่เริ่มทยอยเข้ามาใช้บริการในไทย

ขณะที่ในระยะกลางถึงยาว ควรนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการต้นทุนและอำนวยความสะดวก รวมถึงมองหารายได้ใหม่ ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยง ซึ่งธุรกิจกลุ่ม Non-hospital มีความน่าสนใจและมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น อาทิ การดูแลผู้สูงอายุ อุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์


ที่มา: Kreserch

กระทรวงการคลัง ยืนยัน ยังไม่มีมาตรการเยียวยาจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง หลังมีข่าว ‘กระทรวงการคลัง จะแจกเงิน 4,000 บาทต่อเดือน’ ย้ำเป็นข่าวไม่จริง วอนประชาชน อย่าหลงเชื่อและแชร์ข้อมูลดังกล่าว

นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ตามที่ได้ปรากฏข่าวเผยแพร่ทางสื่อเกี่ยวกับผลกระทบจากคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่าง ๆ แต่กลับไม่มีมาตรการเยียวยาจากรัฐบาลที่ชัดเจนเพื่อลดผลกระทบจากคำสั่งปิดกิจการชั่วคราว

กระทรวงการคลังขอเรียนชี้แจงว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ควบคุมสูงสุด จำนวน 28 จังหวัด นั้น เป็นการบริหารจัดการเพื่อควบคุมการระบาดและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยได้มีการยกระดับมาตรการในการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดสถานประกอบการ การปิดสถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด และการขอความร่วมมือให้หลีกเลี่ยงการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เป็นต้น

โดยเป็นแนวทางในการดูแลสาธารณสุขที่เพียงพอและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณสุขไปพร้อม ๆ กัน และขอให้มั่นใจว่าประเทศไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง มีนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังที่พร้อมจะดูแลและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการระบาดอย่างใกล้ชิด และอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่เหมาะสมต่อไป

โฆษกกระทรวงการคลังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ภาครัฐมีแหล่งเงินทั้งในส่วนของเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นและรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 จำนวนกว่า 1.39 แสนล้านบาท

และเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลือ จำนวน 4.7 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2563) และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 2.9 แสนล้านบาท ที่จะดูแลและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้ต่อไป

นอกจากนี้ ตามที่มีข่าวปรากฏในภายหลังว่า กระทรวงการคลังจะมีมาตรการเยียวยาแจกเงิน จำนวน 4,000 บาท ขอเรียนว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด จึงขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่งหรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ สามารถติดตามสืบค้นข้อมูลข่าวสารและความคืบหน้าที่ถูกต้องเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของกระทรวงการคลังได้จากแถลงข่าวกระทรวงการคลัง ในเว็บไซต์ www.mof.go.th หรือในเฟซบุ๊ก “สถานีข่าวกระทรวงการคลัง”

ธ.ก.ส. เตือนระวังแอปพลิเคชันแอบอ้างใช้โลโก้ ‘ธ.ก.ส.’ หลอกให้ประชาชนเข้ามาขอสินเชื่อฉุกเฉิน ย้ำ! อย่าดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าว เพราะอาจถูกนำข้อมูลส่วนบุคคลไปก่อให้เกิดความเสียหายได้

นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ตามที่มีกลุ่มผู้ไม่หวังดีได้จัดทำแอปพลิเคชัน โดยใช้ชื่อแอปพลิเคชันว่า “ลงทะเบียนกู้เงิน ธกส. สินเชื่อฉุกเฉิน 10,000 บาท” โดยแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของธนาคารและมีข้อความว่า “สินเชื่อฉุกเฉิน 50,000 บาท” เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าไปดาวน์โหลดใช้ผ่านทาง Play Store ในระบบปฏิบัติการ Android นั้น

ทั้งนี้ ขอเรียนแจ้งว่า ธ.ก.ส. มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันดังกล่าวแต่อย่างใด จึงขอให้เกษตรกรและประชาชนทั่วไปโปรดอย่าหลงเชื่อและดาวน์โหลดแอปพลิเคชันดังกล่าวมาใช้งาน เนื่องจากอาจ ถูกหลอกให้กรอกข้อมูลส่วนบุคคล และถูกนำไปใช้จนก่อให้เกิดความเสียหายได้

โดยหากท่านได้ดาวน์โหลดแอปพิเคชันดังกล่าวไปแล้ว ให้รีบถอนการติดตั้งโดยเร็ว อนึ่ง ขอให้พี่น้องเกษตรกรและประชาชนโปรดใช้ความระมัดระวังในการใช้งานด้านธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านสมาร์ทโฟนและระบบดิจิทัล

เนื่องจากปัจจุบันเกิดกรณีผู้ไม่หวังดีใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของท่านบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายได้ หากพบเห็นการกระทำที่ไม่น่าไว้วางใจหรือแอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ของ ธ.ก.ส. สามารถแจ้งได้ที่ Call Center 02 - 555 - 0555

สำหรับ โครงการสนับสนุนสินเชื่อฉุกเฉินสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ได้สิ้นสุดระยะเวลาดำเนินการแล้ว

การไฟฟ้านครหลวง ขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 จากกำหนดเดิมออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2564

ตามที่ การไฟฟ้านครหลวง หรือ MEA ยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ที่กำหนดในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าของประเทศ ซึ่งบังคับใช้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 กิจการขนาดกลาง ประเภทที่ 4 กิจการขนาดใหญ่ ประเภทที่ 5 กิจการเฉพาะอย่าง ประเภทที่ 6 องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ประเภทที่ 7 สูบน้ำเพื่อการเกษตร

ตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน 2563 และได้ขยายระยะเวลาการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุดดังกล่าว จากกำหนดเดิมออกไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - ธันวาคม 2563 เพื่อบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ไฟฟ้าจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้น

MEA จึงแจ้งขยายระยะเวลายกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากกำหนดเดิมออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - มีนาคม 2564 ตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 62/2563 (ครั้งที่ 705 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563) โดยให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวจ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง


สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.mea.or.th/upload/download/file_c85fe40878b0b5ad24c95685f2c3dea7.pdf

▶️ Facebook : https://www.facebook.com/497340003626475/posts/4249800021713769/

▶️ Website : https://www.mea.or.th/content/detail/87/5701

▶️ Twitter : https://twitter.com/mea_news/status/1346662743328215041?s=21

▶️ Gnews : https://gnews.apps.go.th/news?news=75877

▶️ Line OA: https://timeline.line.me/post/_dQn9zGwXj83CxqzRN98kNgtqOGsCdIGLMSbrTR8/1160990414601069167

หนี้ครัวเรือน ของไทยยังพุ่งไม่หยุด หลังแบงก์ชาติ เผยตัวเลขหนี้ครัวเรือนไตรมาส 3 ปี 63 ทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อ GDP ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดปี 64 คนไทยอาจต้องแบกหนี้ ทะลุ 91% ต่อ GDP หากสถานการณ์โควิดยังลาม

จากข้อมูลเงินให้กู้ยืมแก่ภาคครัวเรือน (หนี้ครัวเรือน) ในไตรมาส 3 ปี 2563 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยทำสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปีครั้งใหม่ที่ 86.6% ต่อจีดีพี (จากระดับ 83.8% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2563) นั้น

จากข้อมูลดังกล่าวของธปท. ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า มีสัญญาณการเร่งตัวขึ้นของการก่อหนี้ก้อนใหม่ในภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2563 โดยเฉพาะหนี้เพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งสินเชื่อบ้านปล่อยใหม่ ยังคงขยับขึ้นอีกประมาณ 1.60 แสนล้านบาท คิดเป็น 88% ของการเพิ่มขึ้นของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือน ซึ่งในไตรมาส 3/2563 หนี้ครัวเรือนมียอดคงค้างเพิ่มขึ้นราว 1.82 แสนล้านบาทมาอยู่ที่ระดับ 13.77 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีสัญญาณการก่อหนี้ในส่วนอื่น ๆ (ทั้งหนี้ก้อนใหญ่ อย่างหนี้เพื่อการประกอบอาชีพและหนี้เช่าซื้อรถยนต์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภค เช่น บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล) ที่กลับมาเร่งสูงขึ้นในไตรมาสที่ 3/2563 อีกครั้ง จากที่มีทิศทางชะลอลงในไตรมาส 2/2563 ซึ่งมีการระบาดของโควิด-19 รอบแรก

ปัญหาเศรษฐกิจที่ทรุดตัวรุนแรงจากความเสี่ยงโควิด-19 และหนี้ที่เพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 น่าจะเพิ่มความเปราะบางทางการเงินให้กับครัวเรือนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19

ความเปราะบางทางการเงินในภาคครัวเรือนของไทยทยอยปรากฏชัดเจนมากขึ้นตามสัญญาณอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์สถานการณ์ดังกล่าวจากฐานข้อมูลผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2562 ของสำนักงานสถิติที่พบว่า ภาพรวมครัวเรือนทั้งประเทศมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนลดลงในอัตราที่มากกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายต่อเดือน สวนทางกับภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ระดับการออมของครัวเรือนไทยอยู่ในสถานการณ์ที่อ่อนแอลงตั้งแต่ก่อนวิกฤตโควิด

หากดูลึกลงไปเพื่อวิเคราะห์ความเปราะบางในระดับครัวเรือนเพิ่มเติม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในขณะที่ภาระหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR (Debt Service Ratio) โดยเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 27.0% แต่ครัวเรือนในกลุ่มรายได้น้อย หรือมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน กลับมี DSR อยู่ในระดับสูง และสูงกว่าค่าเฉลี่ย DSR ของครัวเรือนทั้งประเทศหลายเท่า โดยเฉพาะครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน มี DSR ที่สูงถึง 84% ขณะที่ครัวเรือนในกลุ่มที่มีรายได้ระหว่าง 5,000-10,000 บาทต่อเดือน มี DSR ประมาณ 40% โดยภาพดังกล่าวสะท้อนสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างตึงตัวและมีความอ่อนไหวต่อปัญหาเศรษฐกิจและวิกฤตโควิด-19 ที่ปะทุขึ้นมาในปี 2563

ต่อภาพไปในปี 2564 คงต้องยอมรับว่า ความเสี่ยงการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อจังหวะการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปี 2564 และน่าจะมีผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของกลุ่มลูกหนี้รายย่อยที่เคยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงิน (ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ นอนแบงก์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ที่รวมๆ แล้วมีอยู่ประมาณ 10.68 ล้านบัญชี คิดเป็นภาระหนี้ประมาณ 3.5 ล้านล้านบาท (ข้อมูลจากธปท. ณ เดือน ต.ค. 2563)

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ข้อมูลเบื้องต้นก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่ จะสะท้อนว่าลูกหนี้รายย่อยส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการฯ และลูกหนี้บางส่วนได้รับการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ไปแล้ว แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปี 2564 อย่างใกล้ชิด เพราะจะมีนัยโดยตรงต่อกระแสรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน

สำหรับแนวโน้มหนี้ครัวเรือนในปี 2564 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่หนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นมาที่ 91.0% ต่อจีดีพี หรืออาจสูงกว่านั้น หากเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโควิดมากกว่าที่ประเมิน และส่งผลทำให้ GDPในปี 2564 เติบโตน้อยกว่ากรณีพื้นฐานที่ 2.6%

ทั้งนี้ภาพหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูงต่อเนื่องดังกล่าว เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ตอกย้ำปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย และความเปราะบางของฐานะทางการเงินในภาคครัวเรือนที่เป็นโจทย์รอการแก้ไข ต่อเนื่องจากการควบคุมการระบาดของโควิดและการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่โจทย์เฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า คือ การเตรียมมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้กับลูกหนี้ทั้งธุรกิจและครัวเรือนให้ผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปให้ได้

กระทรวงการคลัง ชง!! จ่าย 4 พันต่อเดือน เยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน จากผลกระทบโควิดระบาดระลอกใหม่!! ลักษณะคล้าย 'เราไม่ทิ้งกัน' ระยะจ่าย 2 เดือน คาดดึงเงินกู้ 2 แสนล้านโปะ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ และสำนักงบประมาณ ออกมาตรการเยียวยาประชาชนประมาณ 40 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในช่วง 2 เดือน

ทั้งนี้ จะมีการหารือกันในรายละเอียดในที่ประชุมศูนย์บริหารเศรษฐกิจโควิด-19 หรือ ศบศ.กันอีกครั้ง โดยเฉพาะในส่วนตัวเลขเยียวยา 40 ล้านคนจะมีที่มาอย่างไรนั้น ต้องนำตัวเลขมาจากจำนวนประชาชนที่ได้รับมาตรการสวัสดิการแห่งรัฐอยู่ในขณะนี้ประกอบการพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตามจากแหล่งข่าวกระทรวงการคลัง มีการเปิดเผยว่า ทางก.การคลัง จะเสนอให้รัฐบาลจ่ายเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบรอบใหม่ เหมือนกับโครงการ 'เราไม่ทิ้งกัน' ที่ดำเนินการไปครั้งก่อน เนื่องจากปัจจุบันยังมีวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) เหลืออยู่ราว 2 แสนล้านบาท

จากนั้น ก็ต้องเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจ ว่าจะทำหรือไม่ หากจ่ายจะจ่ายเท่าไร รวมถึงเป็นระยะเวลาเท่าใด ทั้งนี้แม้ว่าจะมีเงินอยู่ก็จริง แต่เนื่องจากปัญหายังไม่สิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะมีการขยายวงแค่ไหน ถ้าจ่าย 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือนเหมือนครั้งก่อนอาจจะไม่พอ แต่ถ้าจ่ายก็ไม่น่าเกิน 4,000 บาท ระยะเวลา 2 เดือน

ทั้งนี้ตัวมาตรการเยียวยา จะมีความยาก เนื่องจากเป็นการแบ่งโซนประกาศพื้นที่ระบาด คลังจึงเสนอแนวทางให้จ่ายเงินเยียวยาเป็นตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากประกาศของรัฐบาล แบ่งเป็นพื้นที่สีแดง สีส้ม สีเหลือง โดยแต่ละสีอาจได้รับเงินเยียวยาไม่เท่ากัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากในการดำเนินการหลายด้าน และต้องขอความร่วมมือกระทรวงมหาดไทยให้หน่วยงานท้องถิ่นช่วยตรวจสอบเช็กลิสต์ ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเพื่อรับเงินเยียวยา


ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top