Friday, 5 July 2024
The States Times EconBiz Team

เศรษฐกิจไม่ ‘พัง’ เท่าปีก่อน แต่ยังลุ้นเหนื่อย!! ธปท. เชื่อ โควิด–19 ระลอกใหม่ ทำเศรษฐกิจเจ็บไม่เท่ารอบแรก เชื่อ ศก.ไทย กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัว แต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก ยังเหนื่อยหนัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยเผยผลกระทบโควิด–19 ระลอกใหม่ต่อภาคเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก แต่ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ค้าปลีก ยังได้รับผลกระทบหนักสุด พร้อมยันเศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัว ชูการส่งออกเป็นพระเอกขับเคลื่อนในปีนี้ หลังเศรษฐกิจคู่ค้าดีขึ้น และนโยบายการค้าสหรัฐฯเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

น.ส.พรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ได้ประเมินผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.63 โดยพบว่า แม้มีการระบาดที่รวดเร็วและรุนแรงกว่าครั้งก่อน แต่ผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่รุนแรงเท่ารอบแรก เพราะภาครัฐออกมาตรการควบคุมดูแลที่เข้มงวดน้อยกว่า แต่มีกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักคือ โรงแรม ร้านอาหาร ขนส่ง ผู้โดยสาร และค้าปลีก ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรม และอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ได้รับผลกระทบรุนแรง และเป็นตัวช่วยให้เศรษฐกิจไทยเดือน ธ.ค.63 และไตรมาสที่ 4/63 ฟื้นตัว

ข่าวแนะนำ

“ช่วงปลายเดือน ธ.ค.63 และเดือน ม.ค.64 เราเห็นผลกระทบที่เกิดกับเศรษฐกิจไทยเพิ่มขึ้น จากการระบาดในระลอกที่ 2 แต่ในระยะต่อไป ปัจจัยที่จะต้องติดตามคือ พัฒนาการของโควิด-19 ทั้งในด้านผลกระทบต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งการผ่อนคลายความเข้มงวด ซึ่งล่าสุดมีแนวโน้มว่า รัฐบาลอาจผ่อนคลายความเข้มงวดในการควบคุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจเร็วกว่าที่ ธปท.คาดไว้ จากเดิม ที่มองว่า มาตรการคุมเข้มจะลากยาว 2-3 เดือน นอกจากนั้น เดือน ธ.ค. การส่งออกยังขยายตัวดีเกินคาดที่ 4.6% แสดงให้เห็นการฟื้นตัวของความต้องการซื้อของประเทศคู่ค้าและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลก ทำให้ ธปท.มองว่า เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและการค้าโลก จะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ”

ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องติดตามคือ ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน โดยจำนวนผู้ว่างงาน และผู้ขอรับสิทธิว่างงานลดลง ในเดือน พ.ย.63 ส่วนในเดือน ธ.ค.63 ผู้เสมือนว่างงาน หรือทำงานไม่ถึง 24 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200,000 คน มาอยู่ที่ 2.4 ล้านคน นอกจากนั้นยังต้องพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบรรเทาความเดือดร้อนของ ประชาชนจากภาครัฐว่าจะมีผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนการท่องเที่ยวคาดว่าปีนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยอาจไม่มากนักจากเดิมที่ ธปท.คาดการณ์ตั้งแต่ก่อนที่โควิด-19 ระลอกใหม่จะรุนแรงว่า จะมีเข้ามา 5.5 ล้านคน จึงต้องเพิ่มรายได้จากจำนวนวันที่เข้ามานานขึ้นทดแทน

น.ส.พรเพ็ญ กล่าวต่อถึงเศรษฐกิจไทยในปี 63 ว่า ธปท.ยังคาดว่าจะขยายตัวตามประมาณการเดิมที่ติดลบ 6.6% โดยเดือน ธ.ค.เศรษฐกิจไทย ยังทยอยฟื้นตัวได้แต่ยังไม่ทั่วถึง และเห็นผลกระทบจากโควิดระลอกใหม่ชัดเจนขึ้น ดัชนีบริโภค ภาคเอกชนเริ่มได้รับผลกระทบ ส่งผลให้การใช้จ่าย หมวดบริการลดลง แต่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนยังเพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.62 แต่ลดลง 2.9% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ส่วนดัชนี การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว 2.4% จากเดือน ธ.ค.62 แต่หมวดยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยังขยายตัวสอดคล้องกับความต้องการสินค้ากลุ่มนี้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.63 ดัชนีเพิ่ม 1.5%

ด้านดัชนีการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูงขึ้น 4.5% จากเดือน ธ.ค.63 ยกเว้นหมวดก่อสร้างยังหดตัว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหดตัวสูงต่อเนื่อง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุล 16,500 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนดุลการค้าเกินดุล 39,800 ล้านเหรียญฯ แต่ดุลบริการซึ่งสะท้อนรายได้จากการท่องเที่ยวติดลบ 23,000 ล้านเหรียญฯ

“ธปท. มองว่าการส่งออกจะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องตามเศรษฐกิจคู่ค้า รวมทั้งนโยบายการค้าที่ชัดเจนขึ้นของสหรัฐฯ จะช่วยสนับสนุนการค้าโลกในระยะต่อไป ดังนั้น แนวทางและนโยบายในด้านการค้าที่ควรทำในระยะนี้คือ เร่งยกระดับมาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้า เพื่อให้ตอบสนองความต้องการสินค้าได้ทันท่วงที สร้างสมดุลทางการค้ากับทั้งสหรัฐฯ และจีน เพื่อรักษาห่วงโซ่การผลิตและการตลาด รวมทั้งรักษาสิทธิในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อรักษาผลประโยชน์ระยะยาว”


ที่มา:

https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/2022681

SMEs อ่อนแรงกำลังสอง พรรคก้าวไกล ดันแก้กฎหมายช่วย | สนามนักสู้ EP. 22

"จากข่าว พรรคก้าวไกล ดัน 4 มาตรการกู้ชีพ SMEs - ท่องเที่ยว ยื่นแก้ไข 'พ.ร.ก.ซอฟท์โลน' อุ้มธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุน พร้อม 'สินเชื่อคืนภาษี 10 ปี' พยุงธุรกิจท่องเที่ยว

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021011520

SMEs อ่อนแรงกำลังสอง ในยุคโควิดระบาดซ้ำ หาแหล่งเงินทุนมาหมุนต่อได้อย่างไร ปรับตัวอย่างไร พรรคก้าวไกลเสนอแนวทางแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เพื่อช่วยธุรกิจ SMEs มาดูกัน

 

 

'เพชร - อาสิระ' ผู้ปั้นวงการมวยไทย จนติดใจคนทั่วโลก | Game Changer เก่งพลิกเกม EP.1

เมื่อสนามมวย ถูกยัดให้เป็น ‘ต้นตอ’ ก่อโรค

บาป ที่ไม่ได้ก่อ แต่สุดท้ายก็โดนยาแรงแบบเต็ม Max

ฝ่าวิกฤติ ‘แม็กซ์’ มวยไทย ปรับเชิง ‘ชก’ นอกสังเวียน ปั้นคอนเทนต์ออนไลน์ ประคองธุรกิจจาก ‘บาป’ ที่ไม่ได้ก่อ

เพชร – อาสิระ เตาะเจริญสุข ‘บิ๊กบอส’ แห่ง บริษัท แม็กซ์ มวยไทย จำกัด

.

กระทรวงคลัง คาดเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะขยายตัวเพียง 2.8% จากเดิมเคยประเมินจะขยายตัวราว 4.5% เนื่องจากได้รับผลกระทบโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ เชื่อมาตรการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะช่วยเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2564 จากเดิมที่ประเมินว่าจะขยายตัวได้ 4.5% ลดลงเหลือขยายตัว 2.8% เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในช่วงต้นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างหลากหลาย

.

ทั้งนี้ สศค. ประเมินว่า ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยว เดิมประเมินว่าในปีนี้ จะมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามา 8 ล้านคน ลดเหลือเพียง 5 ล้านคน ส่งผลให้รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงตามไปด้วย จากเดิมคาดมีรายได้อยู่ที่ 3.3 แสนล้านบาท เหลือเพียง 2.6 แสนล้านบาท หรือลดลงไป 22.1%

.

ส่วนปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นอยู่ที 5.2% แนวโน้มค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยทั้งปี 29.9 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่การส่งออกคาดขยายตัว 6.2% และนำเข้าคาดขยายตัว 7.8%

.

อย่างไรก็ดี มีสัญญาณบวกจากการได้รับวัคซีนของประชากรในประเทศต่าง ๆ ในระยะต่อไป ประกอบกับภาครัฐได้ดำเนินมาตรการทางการคลังเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อาทิ โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และมาตรการด้านการเงินเพื่อดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ประกอบกับคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายเงินจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ในส่วนที่เหลืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคและการจ้างงานให้เพิ่มสูงขึ้นได้ และจะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง แต่จะเป็นลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป

กระทรวงพาณิชย์ เปิด 12 ธุรกิจที่น่าจับตามองปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตยุค New Normal และ Next Normal : อี-คอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขอนามัย และธุรกิจเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้ง 2 ครั้งในประเทศไทย ทำให้ธุรกิจต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมาก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงชั่วคราวจากการเว้นระยะห่างทางสังคม

เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคฯ ประกอบกับประชาชนมีการปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตหลายด้าน ทำให้การใช้จ่ายเกิดการชะลอตัว และมีความระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบฯ และกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศโดยรวม ทำให้ธุรกิจกลับมาประกอบธุรกิจ และขยายการลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในปี 2563 ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต่างหันมาประกอบธุรกิจที่สอดรับกับการใช้ชีวิตยุค New Normal มากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัย ธุรกิจทางการแพทย์ และธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ”

“สำหรับปี 2564 การดำเนินชีวิตของผู้คน และการประกอบธุรกิจได้ก้าวไปอีกขั้นจากวิถีปกติใหม่ (New Normal) เป็นวิถีปกติถัดไป (Next Normal) กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทำการวิเคราะห์ธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่น่าสนใจ และถือว่าเป็นธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตามองในปี 2564 จำนวน 12 ธุรกิจ

โดยได้ทำการวิเคราะห์จากข้อมูลทางธุรกิจของกรมฯ ตั้งแต่สถิติจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจ จำนวนธุรกิจที่ดำเนินกิจการอยู่ สถานที่ตั้ง งบการเงิน ผลการประกอบธุรกิจ และข้อมูลปัจจัยทางธุรกิจและเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกกรมฯ ร่วมกับความสอดคล้องจากข้อมูล และผลการศึกษาจากหน่วยงานวิจัยด้านธุรกิจอื่นๆ เช่น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ฯลฯ เป็นต้น”

รมช.พณ. กล่าวต่อว่า “12 ธุรกิจดาวเด่นที่น่าสนใจในปี 2564 ประกอบด้วย

1) ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)

2) ธุรกิจแพลตฟอร์ม สำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์

3) ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline)

4) ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)

5) ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์

6) ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

7) ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม

8) ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์

9) ธุรกิจเวชภัณฑ์ยา ธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์

10) ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application

11) ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment

12) ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ”

โดยทั้ง 12 ธุรกิจ สามารถจำแนกออกเป็นกลุ่มธุรกิจได้ ดังนี้

1) กลุ่มธุรกิจด้านการค้าและการตลาดออนไลน์ ได้แก่ ‘ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce)’ ‘ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์’ และ ‘ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และออฟไลน์ (Offline)’ โดยธุรกิจในกลุ่มนี้ มีการเติบโตที่สอดคล้องและเกื้อหนุนกันกับพฤติกรรมการบริโภคของผู้คนในปัจจุบัน ที่มีการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากช่วงก่อนหน้านี้และช่วงที่เกิดมีการแพร่ระบาดของโควิด-19

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 310 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละ 798 ราย ในปี 2563 ซึ่งถือเป็นการสร้างโอกาสและความท้าทายให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ เข้ามาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น”

2) กลุ่มธุรกิจด้านขนส่ง โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ เช่น ‘ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery)’ ‘ธุรกิจขนส่ง โลจิสติกส์ (Logistic)’ และ ‘ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging)’ โดยเป็นอีกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมการบริโภคในการซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ และการเติบโตของกลุ่มธุรกิจด้านการค้า และการตลาดออนไลน์

ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) มีรายได้ตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 57 และธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ (Logistic) มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 116 เป็นต้น”

3) กลุ่มธุรกิจด้านสุขภาพ สุขอนามัย และการแพทย์ ได้แก่ ‘ธุรกิจบริการทางแพทย์และความงาม’ ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์’ เป็นกลุ่มธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลดีจากพฤติกรรมของคนในสังคมที่ใส่ใจเรื่องของสุขภาพและการแพทย์ รวมทั้ง ความระแวดระวังจากการแพร่ระบาดของโรคฯ ที่เกิดขึ้น

ซึ่งสะท้อนจากจำนวนธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่องจากการจัดตั้งธุรกิจใหม่ เช่น ‘ธุรกิจเครื่องมือแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 68 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 114 ราย ในปี 2563 และ ‘ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและขายสินค้าทางเภสัชภัณฑ์ และทางการแพทย์’ ที่มีการเติบโตของการจัดตั้งธุรกิจใหม่ จากปีละ 945 ราย ในปี 2561 มาเป็นปีละกว่า 1,158 ราย ในปี 2563 เป็นต้น”

4) กลุ่มธุรกิจด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับการใช้งานในในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ‘ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application’ ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ จากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ตอบสนองต่อการบริโภคของคนในสังคม เพื่ออำนวยความสะดวกและพัฒนาการให้บริการต่างๆ ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมากขึ้น สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ

สังเกตได้จากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่างมาก เช่น ‘ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่น จากปี 2561 ถึงร้อยละ 324 และ ‘ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เครื่องซักผ้า เครื่องเติมเงิน และเครื่องเติมน้ำ’ มีกำไรตลอดปี 2562 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ถึงร้อยละ 94 เป็นต้น”

“ธุรกิจดาวเด่น 12 ธุรกิจ มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท และมีธุรกิจคงอยู่ทั้งสิ้น 65,738 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 812,213.46 ล้านบาท แบ่งเป็น * ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) จำนวน 2,487 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 29,243.10 ล้านบาท * ธุรกิจแพลตฟอร์มสำหรับการเป็นตลาดกลางออนไลน์ จำนวน 739 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,259.39 ล้านบาท

* ธุรกิจสื่อโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์ (Online) และ ออฟไลน์ (Offline) จำนวน 9,877 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 47,323.49 ล้านบาท * ธุรกิจรับส่งเอกสารและสิ่งของ (Delivery) จำนวน 797 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 3,651.61 ล้านบาท * ธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ จำนวน 28,346 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 362,115.54 ล้านบาท * ธุรกิจออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ (Packaging) จำนวน 1,846 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 51,502.69 ล้านบาท

* ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม จำนวน 4,380 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 25,510.57 ล้านบาท * ธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์ จำนวน 809 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 11,308.12 ล้านบาท * ธุรกิจเวชภัณฑ์ยาและธุรกิจขายส่งสินค้าทางเภสัชภัณฑ์และทางการแพทย์ จำนวน 10,001 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 76,628.46 ล้านบาท * ธุรกิจพัฒนาโปรแกรม Software และ Application จำนวน 5,891 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 189,387.10 ล้านบาท

* ธุรกิจการเงิน Fintech และ e-Payment จำนวน 113 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 6,344.62 ล้านบาท และ * ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ร้านสะดวกซัก เครื่องเติมเงิน เครื่องเติมน้ำ จำนวน 452 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 2,938.77 ล้านบาท”

“ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 นี้ การประกอบธุรกิจของภาคธุรกิจจะมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น และเห็นภาพได้ชัดเจนมากขึ้น โดยต้องพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงที่เกี่ยวข้องการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และผลกระทบจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้

รวมทั้ง ขอแนะนำว่าผู้ประกอบการที่กำลังจะลงทุนประกอบธุรกิจ และกำลังมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่ง 12 ธุรกิจดังกล่าวข้างต้น น่าสนใจเป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตาม นอกจากกระแสธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมแล้ว ความชื่นชอบและความถนัดเป็นอีกคุณสมบัติที่ต้องคำนึง เนื่องการลงทุนมีความเสี่ยง การลงทุนทำธุรกิจต้องมีรอบคอบให้มากที่สุด” รมช.พณ.กล่าวทิ้งท้าย

คลังพร้อมเปิดลงทะเบียน ‘เราชนะ’ วันแรก 29 ม.ค.นี้ มั่นใจระบบไม่ล่ม ย้ำ ไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน เพราะระบบจะไม่มีการเต็ม สามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงวันที่ 12 ก.พ.นี้

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงโครงการเราชนะ ว่า กระทรวงการคลัง ได้เตรียมความพร้อมเปิดให้ลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโครงการเราชนะ 3,500 บาท เป็นเวลา 2 เดือน ผ่านเว็บไซต์เราชนะ วันแรกคือวันที่ 29 ม.ค.64 ตั้งแต่เวลา 6.00 น. เป็นต้นไป โดยมั่นใจว่าระบบจะไม่ล่มเพราะเว็บไซต์สามารถรองรับการลงทะเบียนได้ 5 แสนรายการต่อวินาที

สำหรับกลุ่มผู้ที่ต้องลงทะเบียนข้อมูลในเว็บไซต์ จะเป็นกลุ่มที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และโครงการคนละครึ่ง หรือเราเที่ยวด้วยกันมาก่อน ซึ่งการลงทะเบียนโครงการนี้ กระทรวงการคลังขอแจ้งว่า ไม่ต้องแย่งกันลงทะเบียน เพราะระบบจะไม่มีการเต็ม สามารถลงทะเบียนได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง ไปจนถึงวันที่ 12 ก.พ.นี้

แต่อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งไปแล้ว แต่ยืนยันตัวตนรับสิทธิหลังวันที่ 27 ม.ค.64 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 3 แสนกว่าคน หากต้องการเข้าร่วมโครงการ ต้องมาลงทะเบียนในเว็บไซต์นี้ด้วย ส่วนผู้ที่ยืนยันตัวตนเสร็จไปก่อนแล้ว ระบบจะตรวจสอบคุณสมบัติให้อัตโนมัติและจะแจ้งผลให้ทราบอีกครั้งในวันที่ 5 ก.พ.นี้ รวมถึงผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ ก็ไม่ต้องลงทะเบียนและจะได้รับเงินอัตโนมัติไปทันที

คงต้องยอมรับว่าสนามมวย เป็นอีก ‘ต้นตอ’ ใหญ่ของการระบาดโควิด-19 ในเมืองไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563และคนในแวดวงมวยไทยก็ถูกยัดเยียดให้เป็น ‘ต้นตอ’ ก่อโรคไปเป็นที่เรียบร้อย แม้จะไม่ใช่ทุกค่ายมวยหรือทุกสนาม

บาป ที่ไม่ได้ก่อ แต่สุดท้ายก็โดนยาแรงแบบเต็ม Max จากรัฐบาลที่ต้องสั่งปิดสนิท ทำให้หนึ่งในธุรกิจด้านหมัดมวยชั้นนำของประเทศอย่าง ‘แม็กซ์’ มวยไทย ต้องถูกหางเลขไปด้วย

เมื่อสังเวียนปิด รายได้หด โอกาสไม่เหลือ การอยู่รอดแบบไหนที่ ‘อาสิระ เตาะเจริญสุข’ บิ๊กบอส แห่ง บริษัท แม็กซ์ มวยไทย จำกัด จะต้องทำ!!

...ปรับเชิง ‘ชก’ นอกสังเวียน

...ปั้นคอนเท้นท์ออนไลน์ ประคองธุรกิจจาก ‘บาป’ ที่ไม่ได้ก่อ

‘อาสิระ เตาะเจริญสุข’ หรือ ‘เพชร’ เป็นนักธุรกิจรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ขึ้นนั่งบัลลังก์บริหาร บริษัท แม็กซ์ มวยไทย จำกัด ตั้งแต่ยังวัยไม่ถึง 20 ปี

ช่วงแรกที่เพชรเข้ามารับตำแหน่งบริหารตามคำขอของคุณพ่อณวัธ เตาะเจริญสุข เรียกว่าท้าทายอย่างมาก เพราะตลาดกีฬามวยไทยยุคนี้ทั้งแข่งขันสูง แถมตนเองก็ไม่ได้ชื่นชอบมวยเป็นทุน

แต่แววนักธุรกิจในตัวของเด็กคนนี้ ถือว่าเด่นมาก เพราะเป็นคนที่คิดสร้างสิ่งต่างๆ จาก ‘ความเป็นไปได้’ อะไรคือโอกาส อะไรคือสิ่งที่ตอบโจทย์คนและตลาดได้อย่างว่องไว

โดยก้าวแรกที่เข้าสู่ธุรกิจแม็กซ์ฯ เพชร เลือกที่จะเรียนรู้กับสิ่งที่ไม่ได้ถนัด ภายใต้ความรับผิดชอบในภารกิจที่ได้รับ จนปั้นคอนเท้นท์ แม็กซ์มวยไทย ติดลมบนแบบเฉิดฉายบนช่องทีวีชั้นนำของประเทศอย่างช่อง 8 และขยายผลไปขายลิขสิทธิ์ แม็กซ์ มวยไทย ในระดับอาเซียนและเอเชียตามลำดับ

ประเด็นที่น่าสนใจของเพชรในการปั้นแม็กซ์ฯ จนน่าจะเป็นอีกกรณีศึกษาทางการตลาดที่น่าสนใจ คือ เขามองแกนหลักของมวยไทยออกที่ว่า มวยคือความบันเทิงของผู้ชม แต่ความบันเทิงของมวยในปัจจุบัน ที่ชกกัน 5 ยก มันยังไม่สะใจ เขาจึงกล้าที่จะปรับ แม็กซ์ มวยไทย ให้เป็นมวย 3 ยก เหตุผลเพราะมวย 3 ยก จะทำให้นักมวยซัดกันได้หมดแม็กซ์ ไม่ต้องมาเต้นฟุตเวิร์คติ๊ดชึ่งให้เสียเวลา

ผลคือ แม้คนที่ไม่เคยดูมวยไทยมาก่อน ก็รู้สึกได้ถึงความมันส์ของทุกคู่ชก ที่ไหลเวียนกันขึ้นมาฟาดปากกันราว 7 คู่ต่อวัน (ตลอดสัปดาห์) จนเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

เมื่อแนวคอนเท้นท์หมัดมวยโดนใจในระดับหนึ่ง คราวนี้ เพชร ก็หันมาปรับ สนามแม็กซ์มวยไทยที่ตั้งอยู่พัทยา ให้มีความแตกต่างจากสนามมวยทั่วไป ด้วยการสร้างบรรยากาศที่น่าตื่นตา ผ่านแต่งแสงสีเสียง และความบันเทิงเข้ามาผสมผสาน มีกิมมิคให้นักมวยเดินทักทายกับแฟนๆ มีเครื่องดื่ม อาหารจำหน่าย และเพลงประกอบสนามให้คึกกคักอย่างเร้าใจ ซึ่งให้อารมณ์ของการเป็น Sport Complex มากกว่าเวทีมวยทั่วไปภายใต้เวลาไพรม์ไทม์ที่ 18.00-20.00 น.

สีสันเหล่านี้กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากๆ ของแม็กซ์ฯ เพราะทำให้ช่อง 8 ของเฮียฮ้อ ที่เดิมให้แม็กซ์ฯ ออนแอร์ช่วงวันอาทิตย์นั้น หันมาออนแอร์ให้ช่องทุกวัน เนื่องจากมองเห็นความเป็น ‘ซุปเปอร์คอนเท้นท์’ ที่สามารถเรียกฐานผู้ชมในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ได้เป็นอย่างดี

แน่นอนว่า เพชร เองก็ตอบรับจากช่อง 8 แบบไม่ลังเล แต่เขาก็คิดอยู่ในใจว่าโจทย์นี้มันก็ไม่ง่าย เพราะการออนแอร์ทุกวัน นั่นเท่ากับคนก็จะเห็นการชกแบบเดิมๆ ทุกวัน แล้วมันจะทำให้คนดูแอบเบื่อหรือไม่?

เมื่อเป็นเช่นนั้น กลยุทธ์การทำมวย 7 วันให้คนดูติดตลอดทั้งสัปดาห์จึงเกิดขึ้นในหัวของเขา

เพชร เลือกปรับรูปแบบการชกทั้งหมด โดยใส่ ‘ธีม’ เข้ามาในแต่ละวัน ดังนี้

    • จันทร์ - อังคาร The Fighter เฟ้นหานักมวยใหม่

    • พุธ – พฤหัสบดี The Global Fight แชมป์ชนแชมป์ของรุ่นน้ำหนักนั้นๆ

    • ศุกร์ The Battle ค่ายชนค่าย

    • เสาร์ The Champion ต่อยแบบทัวร์นาเม้นท์ จบใน 1วัน ซึ่งรายการนี้คนนิยมมาก และนักมวย 1 คน ต้องฟิตมาก ท้าทายสุดๆ เพราะเท่ากับต้องต่อยไม่ต่ำกว่า 6 ยกใน 1 วัน

    • สุดท้าย อาทิตย์ ซึ่งฮิตแบบสุดๆ กับรายการ ‘Max มวยไทย’ เป็นการพบกันระหว่างนักชก ไทย VS ต่างชาติ

เหล่านี้ช่วยให้แฟนมวยที่เข้ามาในสนาม เกิดความตื่นเต้น ติดตามชม และจดจำแบรนด์ได้ดียิ่งขึ้น รายการที่ออนแอร์ก็เรตติ้งดี โฆษณาเข้าเป็นกอบเป็นกำ และทำให้เกิดความอยากมีส่วนร่วมของนักชกจากค่ายต่างๆ และนักชกต่างชาติมาร่วมการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันมีนักมวยไหลเวียนบนแม็กซ์มวยไทยมากถึง 1,500 คนกันเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม ‘พายุฝน’ หลังฟ้าใส ก็ย่างกรายเข้ามา เมื่อโควิด-19 ระบาดหนักในเมืองไทย ซึ่งเพชรได้เล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า...

“ผมจำได้ว่าช่วงนั้นมีการแพร่ระบาดที่ค่ายมวยในเมืองกรุงและรอบข้าง รัฐบาลจึงสั่งไม่ให้จัดทุกสนาม ถึงแม้ว่านักมวยที่วนเวียนอยู่ในค่ายของผมจะไม่มีส่วนข้องเกี่ยว เพราะผมคุมเข้มไม่ให้ไปต่อยข้ามเวทีอยู่แล้ว แต่ปิดก็คือปิด

“ตอนนั้น ผมเองก็ยังไม่กังวลอะไรมาก เพราะคิดว่าหยุดแข่งสักพัก ก็ยังมีเทปมารีรันไปออนแอร์ ซึ่งทางช่อง 8 ก็กรุณาให้ออนแอร์ เพราะไม่อยากให้รายการของเราหายไปจากหน้าจอ

“แต่สิ่งที่ผมรู้สึกแย่มากๆ คือ นาทีนั้นภาพลักษณ์ของวงการมวยถูกครหาหนัก นักมวยในค่ายผม ไปกินข้าว เจ้าของร้านข้าวยังไล่กลับเลย เพราะเป็นนักมวย ทำไมถึงเกลียดนักมวยทั่วประเทศเหล่านั้น พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ไม่ควรเหมารวม เพราะในความเป็นจริงนักมวยทุกคนไม่ได้ไปอยู่ตรงนั้น เรียกว่าตอนนั้นเจอแต่เรื่องเกินจินตนาการจริงๆ แต่อย่างว่าเราทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องอยู่นิ่งๆ รอจังหวะกลับมา”

แน่นอนว่าธุรกิจต้องมีรายได้ แต่เมื่อโควิดทำให้เวทีแม็กซ์มวยไทยต้องปิด และช่วงนั้นรายได้ของแม็กซ์ก็มาจาก 2 เส้นเลือดใหญ่ ได้แก่ จากโฆษณาที่ออนแอร์ในช่องทีวี และรายได้จากการขายบัตรแก่ผู้เข้าชม ทำให้ เพชร บอกตรงๆ กับ The States Times ว่า รายได้ในช่วงนั้น ‘จาก 100 เหลือ 0’ ทันที

“ตอนนั้นทุนผมยังมี ก็ยังประคองธุรกิจไป เน้นใช้จ่ายประหยัดเอา (หัวเราะ) และเราก็หากิจกรรมยามว่าง เช่น บริจาคอาหารให้กับชาวบ้านในท้องถิ่น และก็ทำกิจกรรมเพื่อสังคม โดยให้ทีมงานและนักมวยได้มีกิจกรรมทำแทน

“จากนั้นข่าวดีก็มา พอเข้าถึงเดือนสิงหาคม 2563 โควิดเริ่มจาง รัฐบาลก็ไฟเขียวให้เปิดสนามมวยได้อีกครั้ง แต่ก็จัดได้แบบไม่ปกติ ต้องมีข้อบังคับจากกระทรวงสาธารณสุข นักมวย กรรมการ เจ้าหน้าที่ต้องมีใบรับรองแพทย์ ซึ่งเราก็ทำตามเงื่อนไขเต็มที่ และก็ยังเข้มงวดกันเองทั้งพนักงานและนักมวย ให้กักตัวก่อนมาทำงาน มีการทำซุ้มทางเข้า มีการเว้นระยะห่าง และมีหมอเข้ามาตรวจตลอด

“แต่ผมก็ต้องบอกตามนี้ว่า รายได้มันไม่กลับมาเหมือนเดิม ซึ่งผมก็พอเข้าใจได้ว่านักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังเข้ามาไม่ได้ ความคึกคักแบบวันเก่าๆ มันก็ยังกลับมาไม่สุด”

เปิดเวทีได้ไม่นาน ในปลายเดือนธันวาคม 2564 ก็เป็นอีกช่วงเวลาที่คราวนี้ เพชร เริ่มกุมขมับอย่างจริงจัง หลังจากเกิดการแพร่กระจายเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ รอบนี้สนามมวยถูกสั่งปิดเหมือนเคย

ยอมแพ้ คือ ล้ม!! นั่นคือสิ่งที่ เพชร บอกกับตัวเอง ในรอบนี้ และจากประสบการณ์ปิดธุรกิจในรอบแรกของโควิดระบาด บอกกับ เพชร ว่า ‘มีอะไรก็ต้องทำไปก่อน’

เขาไม่ยึดติดกับคอนเท้นท์ยิ่งใหญ่บนสังเวียนมวย แต่พยายามหาวิธีต่อยอดสิ่งที่มีเพื่อสร้างโอกาสใหม่ขึ้นมา

“งวดนี้ผมบอกก่อนว่าลำบากเกินจินตนาการในการจะรอโอกาสให้แม็กซ์มวยไทยกับมาฟุตเวิร์คได้เหมือนเดิม ผมจึงคิดแบบเร็วๆ และไม่รอ โดยมองวัตถุดิบของคอนเท้นท์จากแม็กซ์มวยไทย ที่มีเยอะมากมาปรับทำอะไรไปก่อน โดยเริ่มต้นจากการทำแฟนเพจ Facebook: MAX Muay Thai และ ช่อง YouTube: MAX Muay Thai Official ซึ่งผมใช้วิธีคัดเลือกคอนเท้นท์เพื่อมาขยี้เป็นไฮไลท์ เช่น นักมวยคนนี้ดัง ก็นำเอามาทำไฮไลท์ หรือช็อตเด็ดต่างๆ ก็นำมาทำเป็นรวมสุดยอดคอนเท้นท์ด้านนั้นด้านนี้

“ผลปรากฎ คือ มีคนชอบเป็นจำนวนมาก และเราก็ได้ฐานคนดูเพิ่มมามหาศาล เพราะส่วนหนึ่งอาจจะเพราะ การวางฐานให้มวย 3 ยกของเราซัดกันมันส์ มันช่วยให้เรามีคอนเท้นท์ดีๆ อยู่ในมือเพียบ และบางคนที่อาจจะไม่เคยเห็นคอนเท้นท์เก่าๆ เหล่านี้ ก็นำมาแชร์กันต่อจนเกิดเป็นปากต่อปาก ผลลัพธ์ คือ ยอดผู้ติดตามทั้ง 2 ช่องทางของเราทะลุหลัก 7 แสนในช่วงเวลาไม่กี่เดือน จนกล้าเคลมว่ารายการกีฬาออนไลน์ที่เกี่ยวกับมวยในเมืองไทย ของเราเป็นเบอร์ 1 และเราเชื่อว่าปลายปีนี้จะมีผู้ติดตามทั้ง 2 ช่องทางหลักล้านอย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม แม้การปั้นช่องทางออนไลน์เข้ามาเสริมในช่วงวิกฤติโควิดจะพาธุรกิจแม็กซ์ฯ ให้มีที่ยืนใหม่ได้ และพอจะเป็นแสงสว่างแก่เพชร แต่เขาก็มองว่าอาจจะไม่ได้ใหญ่มากพอจะช่วยให้ประคองธุรกิจและบริษัทได้ในระยะยาว เพราะสุดท้ายคนติดแม็กซ์มวยไทย ที่ความเร้าใจแบบสดๆ ซึ่งเขาก็หวังว่าวิกฤตินี้จะผ่านไปแล้วได้กางผ้าใบอีกรอบโดยเร็ว

สำหรับบรรยากาศในเมืองพัทยา ณ ปัจจุบัน เพชร ได้ทิ้งท้ายคำเดียวสั้นๆ ว่า ‘เงียบ’ โดยจำนวนนักท่องเที่ยว 100% คิดเป็นคนไทย 20% ที่เหลือชาวต่างชาติ เช่น จีน 50% แล้วก็ฝรั่งอีก 30% ตอนนี้หายเรียบ โดยเฉพาะชาวต่างชาติ แต่เขาก็เชื่อว่าถ้ารัฐบาลเปิดให้นักท่องเที่ยวมาไทยได้ ผู้รับชมคงกลับมาเยี่ยมแม็กซ์ฯ แน่นอน เพราะมั่นใจในแบรนด์ที่ทำไว้อย่างแข็งแรง

“ผมเชื่อว่าตอนนี้คนไทยทุกคน ธุรกิจทุกธุรกิจ ลำบากหมด แต่อยู่ที่เราจะยอมแพ้ไหม? อย่างผมเองไม่อยากแพ้ และยิ่งไม่อยากแพ้ให้คนรอบข้างเห็นด้วย เพราะเขาจะหมดกำลังใจหากเห็นเราล้ม ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง อะไรที่ทำได้ทำไปเถอะ อย่าล้มไปตามสถานการณ์” เพชร ทิ้งท้าย


ติดตามคลิปสัมภาษณ์ฉบับเต็ม

เพชร – อาสิระ เตาะเจริญสุข

‘บิ๊กบอส’ แห่ง บริษัท แม็กซ์ มวยไทย จำกัด

ผู้ปั้นวงการมวยไทย จนติดใจคนทั่วโลก ได้ใน ‘Game Changer เก่งพลิกเกม’

วันศุกร์ที่ 29 มกราคม 2564 เวลา 23.00 น.

บมจ.การบินไทย (THAI) แจ้งว่าศาลล้มละลายกลางได้พิจารณาแล้วมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปจนถึงวันที่ 2 มี.ค.64 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาครั้งสุดท้ายตามที่กฎหมายกำหนด

โดยหลังจากนั้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะจัดประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและแต่งตั้งผู้บริหารแผน และบริษัทฯจะดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและจะแจ้งให้ทราบถึงความคืบหน้าใด ๆ ในการฟื้นฟูกิจการรวมถึงความคืบหน้าอื่นเพิ่มเติมต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ และศาลล้มละลายกลาง

อนึ่ง เมื่อวันที่ 25 ม.ค.64 ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการเพิ่มเติมตามมาตรา 90/43 วรรคสอง พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 (และที่แก้ไขเพิ่มเติม) โดยขอขยายระยะเวลาส่งแผนออกไปอีกเป็นเวลา 1 เดือนนับแต่วันครบกำหนดเดิม

เนื่องจากผู้ทำแผนจำเป็นต้องรวบรวมข้อเสนอแนะและความเห็นของเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ ที่มีต่อหลักการของร่างแผนฟื้นฟูกิจการและแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อนำมาพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาของร่างแผนฟื้นฟูกิจการในส่วนต่างๆให้สมบูรณ์และครอบคลุม เพื่อให้เจ้าหนี้ทั้งหลายเห็นพ้องในหลักการของแผนฟื้นฟูกิจการ

และเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการได้รับการเห็นชอบด้วยแผนจากที่ประชุมเจ้าหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อรวบรวมความเห็นดังกล่าวประกอบกับแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท ประกอบด้วยส่วนที่เป็นสาระสำคัญหลายรายการ บุคคลที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องพิเคราะห์พิจารณาอย่างถี่ถ้วนซึ่งการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ได้มาซึ่งแผนฟื้นฟูกิจการฉบับสมบูรณ์นั้นจำเป็นต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ได้มีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของบริษัท เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 และศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทฯ ดำเนินการฟื้นฟูกิจการและตั้งคณะผู้ทำแผนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 63 ซึ่งครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามกฎหมายที่ผู้ทำแผนต้องส่งแผนฟื้นฟูกิจการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ในวันที่ 2 ม.ค.64 ซึ่งผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการ โดยศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการส่งแผนฟื้นฟูกิจการออกไปจนถึงวันที่ 2 ก.พ. 64

‘รมว.อุตสาหกรรม’ เผยภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ในเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัว 6.68% เป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือน คาดแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) จัดทำดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) โดยภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหักทองคำในเดือนธันวาคม 2563 ขยายตัวร้อยละ 6.68 โดยเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 12 เดือน

ขณะที่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปหักทองคำขยายตัวร้อยละ 13.61 สูงสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิตในระยะต่อไป

โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนธันวาคม 2563 หดตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.44 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานในการควบคุมการระบาด เนื่องจากระบบการสาธารณสุขของไทยมีความสามารถในการป้องกันและควบคุมโรคได้ดี

ประกอบกับประชาชนมีความรู้และมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ในเบื้องต้น รวมทั้งผู้ประกอบการก็มีระบบการจัดการแก้ปัญหาจากโควิด-19 รอบแรก จึงส่งผลให้เศรษฐกิจอุตสาหกรรมชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อย

โดยสินค้าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ ถุงมือยาง เภสัชภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ประกอบกับในเดือนกุมภาพันธ์ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในล็อตแรก และต่างประเทศเริ่มมีการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน จะสร้างความเชื่อมั่นทั้งในการผลิตและการบริโภคตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้น นายสุริยะ กล่าว

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวเป็นเดือนที่ 2 หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และอยู่ในหลักแสนคันเป็นเดือนแรก

เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการออกรถยนต์รุ่นใหม่และการส่งเสริมการขายในงานมหกรรมยานยนต์เมื่อวันที่ 1 - 13 ธันวาคม 2563 โดยมียอดจองรถยนต์กว่า 33,000 คัน และการผลิตเป็นไปตามเป้าของปี 2563 จำนวน 1.4 ล้านคัน ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มตาม

นอกจากนี้อุตสาหกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับการป้องกันโควิด-19 ยังขยายตัวตามอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนธันวาคมขยายตัวร้อยละ 13.61 ซึ่งเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 26 เดือน สะท้อนถึงสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มการผลิตในระยะต่อไป

นายทองชัย กล่าวต่อว่า นโยบายของภาครัฐสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี อาทิ โครงการคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อีกทั้งในเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลได้อนุมัติโครงการเราชนะ จะส่งผลให้การบริโภคของภาคครัวเรือนและการผลิตของผู้ประกอบการโดยเฉพาะ SMEs ดีขึ้น ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และเมื่อประเทศไทยเริ่มมีการฉีดวัคซีนได้ผลและมีประสิทธิภาพ คาดว่าการส่งออกรวมถึงการท่องเที่ยวที่เป็นกลจักรสำคัญของประเทศกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ

โดยอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือนธันวาคม 2563 ได้แก่ ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 12.03 เนื่องจากตามความต้องการในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุปกรณ์ทางการแพทย์

ชิ้นส่วนอุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ รถยนต์ และเครื่องยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.49 จากรถบรรทุกปิคอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล จากตลาดในประเทศที่ปรับตัวได้ดีขึ้นจากการจัดงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 ช่วงต้นเดือนธันวาคม ผู้ผลิตออกรถยนต์รุ่นใหม่และจัดแคมเปญพิเศษทำให้มีคำสั่งซื้อและส่งมอบเพิ่มขึ้น เกษตรกรมีกำลังซื้อจากสินค้าเกษตรปรับตัวสูง รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจขนส่งจากการเติบโตของตลาดออนไลน์

ยางรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.80 จากยางนอกรถยนต์นั่ง ยางนอกรถกระบะ และยางนอกรถบรรทุกรถโดยสาร เนื่องจากผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากไทยมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าประเทศอื่น การขยายสาขาศูนย์ยางรถยนต์ใหม่และอานิสงค์จากงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2020 ทำให้ได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น

เฟอร์นิเจอร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 17.50 จากเครื่องเรือนทำด้วยไม้ เป็นหลัก เป็นคำสั่งซื้อพิเศษจากอเมริกาเพื่อจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.30 จากเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เหล็กลวดและลวดเหล็ก เป็นหลัก ตามความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ อาหารกระป๋อง เครื่องใช้ไฟฟ้า

สคบ. จับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือมาตรการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากถั่งเช่า หากพบว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ให้ลงโทษในอัตราโทษสูงสุด

นายธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.)

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมการค้าภายใน มาหารือมาตรการการกำกับดูแลการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะการผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากถั่งเช่า ตามคำสั่งของนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

ทั้งนี้จากการหารือได้ข้อสรุปร่วมกัน คือ ที่ประชุมมอบหมายให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่กำกับอย่างเคร่งครัด หากพบว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคเกิดขึ้นก็ให้ลงโทษในอัตราโทษสูงสุด รวมทั้งให้ร่วมมือกันเฝ้าระวังการโฆษณา เพื่อป้องกันไม่ให้มีการโฆษณาที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์สุขภาพ เครื่องสำอาง และยา

ขณะเดียวกันยังมอบหมายผู้ประสานงานหลักระหว่างหน่วยงาน ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อมูลการโฆษณาที่อาจฝ่าฝืนกฎหมายผ่านแพล็ตฟอร์มของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ สคบ. จะรวบรวมผลการหารือครั้งนี้ เสนอให้กับที่ประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) วันที่ 29 ม.ค.นี้ รับทราบ และรับมอบนโยบายเพื่อไปดำเนินการต่อ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top