Wednesday, 3 July 2024
แลนด์บริดจ์

‘ธนกร’ หนุน รบ.เดินหน้า ‘แลนด์บริดจ์’ พัฒนาพื้นที่ระเบียง ศก.ใต้ เชื่อ!! เป็นเครื่องมือดึงดูดนักลงทุน - ประโยชน์มหาศาลเข้าประเทศ

(16 ก.พ. 67) นายธนกร วังบุญคงชนะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวานนี้ (15 ก.พ.) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบ รับรองรายงานผลการพิจารณาศึกษาญัตติของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์แล้ว เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาเดินหน้าโครงการในขั้นตอนต่อไปอย่างรอบคอบ

เมื่อถามว่า พรรคฝ่ายค้านมีข้อมูลมาอ้างอิงถึงความไม่คุ้มค่าของโครงการในหลายประเด็น นายธนกร กล่าวว่า ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ พยายามหาข้อมูลให้มากที่สุด แต่ข้อมูลของกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลรองรับ ทำให้ผ่านความเห็นชอบรับรองผลการศึกษาดังกล่าวแล้ว เพื่อเป็นรากฐานให้นายกฯ และรัฐบาล พิจารณาเดินหน้าเชิญชวนนักลงทุนมาร่วมในโครงการนี้ ตนเชื่อว่า นายกฯ จะพิจารณาอย่างรอบคอบและนำข้อเสนอ ข้อท้วงติงของฝ่ายค้านมาประกอบการพิจารณาด้วย

“ไทย ตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านขนส่งและการค้าของภูมิภาคเอเชีย จะเชื่อมโยงไปทวีปต่าง ๆ ในโลก หากเกิดโครงการแลนด์บริดจ์ จะถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือ SEC และจะเป็นเครื่องมือ หรือแม่เหล็กดึงดูดจูงใจผู้ประกอบการ นักลงทุนมาลงทุนในบ้านเรา เพื่อให้เกิดอุตสาหกรรมหลังท่าและนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ จะทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชน คนในพื้นที่อย่างมากและมั่นใจว่าจะสร้างประโยชน์มหาศาลมาสู่ประเทศไทยอย่างแน่นอน” นายธนกร กล่าว

'ดร.ตั้น' ยัน!! 'โครงการแลนด์บริดจ์' ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นเรื่องจริง เผย!! นักลงทุนสนใจมาก แต่ต้องใช้เวลาตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน

(13 พ.ค. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโต้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ปมโครงการแลนด์บริดจ์ โดยยืนยันไม่ต้องนอนฝัน แต่เป็นเรื่องจริง!! ระบุว่า...

ผมเห็นข่าวที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า...

“แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ฝันที่ยากจะเป็นจริง” 

บอกได้เลยว่า เป็นการยุแยงที่อาจจะทำให้ประชาชนและนักลงทุนเข้าใจผิดไปกันใหญ่

ผมในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม คิดว่าปล่อยไว้ไม่ได้ เลยต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกันสักหน่อย เพราะหลังจากที่ผมได้สัมผัส และเห็นข้อมูลจริง ประกอบกับสอบถามมาจากผู้รู้จริง พบว่า สันนิษฐานที่นายสามารถออกมาเผยแพร่นั้น ไม่สะท้อนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนตั้งข้อสังเกตกันลอ ๆ และจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด!!

ผมอยากอธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งต่อไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือที่เรารู้จักกันดีว่า 'โครงการแลนด์บริดจ์' เชื่อมต่อ 2 ท่าเรือ คือ 'ชุมพร-ระนอง' ที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการฯ นั้น เพราะมองเห็นว่า หากโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จแล้ว จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน และประเทศชาติอย่างสูงสุด

'โครงการแลนด์บริดจ์' ถือเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งตู้สินค้าทางเรือ และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการสายเรือ อีกทั้งผู้ประกอบสายเรือในแต่ละราย จะมีกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจมาร่วมลงทุนในโครงการฯ อยู่แล้ว ทั้งในส่วนของระยะเวลา ต้นทุน และความคุ้มค่า โดยจากการคำนวณในทุกมิติอย่างครบถ้วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า สามารถช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งสินค้า หลีกเลี่ยงความแออัดของช่องแคบมะละกา ตามที่มีการคาดการณ์ที่เชื่อว่า ปริมาณการขนส่งจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และที่เขาแจ้งว่า การขนส่งสินค้าจากเรือฝั่งหนึ่งขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟไปอีกฝั่งหนึ่ง พอไปถึงจะต้องขนจากรถบรรทุกหรือรถไฟลงเรืออีก จะทำให้เสียเวลานานมาก อันนี้ก็เกิดจากกรอบความคิดการขนส่งแบบเดิม ๆ ที่จะต้องขน ซึ่งจากการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุริยะฯ ได้เดินทางไปดูการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นจริงในท่าเรือและรถไฟนั้นสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น 'โครงการแลนด์บริดจ์' ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และการค้าแห่งใหม่ของโลกด้วย

อีกหนึ่งหัวใจที่สำคัญ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อคนไทยทุกคน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญ เปิดโอกาสให้กับพื้นที่ภาคใต้ และภาคต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งยังจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วย

แล้วที่บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ 'เนื้อหอม' ก็ต้องยอมรับว่า เนื้อหอมจริง ๆ หลังจากที่ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ 'สุริยะ' ได้เดินหน้าไปโรดโชว์ และประชาสัมพันธ์โครงการให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น พบว่า ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพจากหลายประเทศ ต่างให้ความสนใจโครงการฯ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง 

และอย่างที่ท่านนายกฯ เศรษฐา ว่าโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ นักลงทุนคงไม่ได้ตัดสินใจจะลงทุนในระยะเวลาเดือน สองเดือนครับ

ขอเน้นย้ำครับว่า การขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องคนที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะสามารถมองภาพของการขนส่งทางทะเลของโลกทั้งระบบออก จึงจะเห็นถึงโอกาสมหาศาลของประเทศไทย ไม่ใช่คนที่มองแค่ภาพของการขนส่งภายในประเทศยึดติดความคิดเดิม ๆ ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่แคบและขาดความเข้าใจเท่านั้นที่พูดอธิบายยังไงก็ ไม่มีวันเข้าใจเพราะไม่มีความรู้พื้นฐานดีเพียงพอ ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในแวดวง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของโลก ต่างก็มองเห็นถึงโอกาสมหาศาลนี้ออก และรอเพียงแค่ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมที่จะประกาศเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเข้ามาเสนอตัวลงทุน

ปัญหาในปัจจุบันคงจะมีเพียงแต่คนในประเทศเท่านั้นที่พยายามจะด้อยคุณค่าของโครงการลง เพื่อประโยชน์ส่วนตน

และล่าสุด คือ ตามที่ท่านรองนายกฯ สุริยะ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นการ และได้โรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ด้วยนั้น พบว่า บริษัท China Harbour Engineering ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด เรียกได้ว่า “ไม่ได้เงียบกริบ” อย่างที่นายสามารถเข้าใจผิดอย่างแน่นอน งานนี้! อาจจะมีคนเงิบ และรอฟังข่าวดีได้เลย 

นอกจากนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นโครงการที่ถูกหยิบยกมาหาเสียงเมื่อถึงคราวเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่รัฐบาลได้เร่งให้เกิดเป็นรูปธรรม แถมยังเคยมีนักวิชาการออกมายืนยันอีกว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จึงมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และได้รับผลประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าของช่องแคบมะละกาที่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นโครงการและเกิดขึ้นหรือไม่นั้น จะขอนำกำหนดไทม์ไลน์ของโครงการฯ ที่ระบุไว้ชัดเจน มาเปิดเผยให้ดูว่า หลังจากนี้ จะมีการสรุปข้อมูลจากการเดินทางไปโรดโชว์ รวมทั้งขอเสนอแนะจากนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกต่าง ๆ มาประกอบการจัดทำร่างประกวดราคา พร้อมทั้งจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งสำนักงาน SEC โดยคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ได้ภายในไตรมาส 2/2569 ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้ลงทุน และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จภายในปี 2573

สรุป!!
การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ และผมมั่นใจว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ จะมีนักลงทุนต่างชาติ มาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการสำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันให้ 'ประเทศไทย' ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าแห่งใหม่ของโลกครับ

‘สุริยะ’ เยือนอิตาลี ดึงภาคธุรกิจลงทุน ‘แลนด์บริดจ์’ แฮปปี้!! โครงการได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก

เมื่อวานนี้ (22 พ.ค.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้เข้าร่วมเป็นประธานกล่าวเปิดงาน ‘Thai - Italian Business Forum’ โดยจัดขึ้นโดยกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศอิตาลี ณ สภาหอการค้าอิตาลี กรุงโรม สาธารณรัฐอิตาลี ร่วมกับประธานสภาหอการค้าอิตาลี พร้อมทั้งได้ลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่างสภาหอการค้าอิตาลีและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถโดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี และส่งเสริมการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและอิตาลีให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุริยะ กล่าวว่า ทุกหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาให้กับนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ภายใต้นโยบาย gnite Thailand ที่ดำเนินการโดยรัฐบาล เพื่อมุ่งที่จะพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจ พร้อมได้เชิญชวนนักธุรกิจชาวอิตาลีที่มีความเชี่ยวชาญและชำนาญในธุรกิจสินค้าหรูหรา (Luxury) เข้าร่วมลงทุนในประเทศไทย โดยคาดหวังให้ไทยกับสหภาพยุโรปเกิดข้อตกลงการค้าเสรี ภายในปี 2568

ด้าน นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับเชิญให้ขึ้นกล่าวนำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ในช่วงโอกาสการลงทุนในประเทศไทย ให้สมาชิกสภาหอการค้าอิตาลีได้ทราบถึงความเป็นมาของโครงการ รายละเอียด โอกาสในการลงทุน รูปแบบการลงทุน รวมถึงสร้างความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนไทยและอิตาลี เพื่อเชิญชวนให้ภาคธุรกิจอิตาลีที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักธุรกิจของอิตาลีเป็นอย่างมาก

‘ก.คมนาคม’ เผย บิ๊กเอกชนไทย-เทศ รุมจีบ ‘แลนด์บริดจ์’ คาด เริ่มประกวดราคา Q4/68 หวัง ดึงร่วมลงทุน 1 ล้านล้านบาท

(30 พ.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน สถานทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมงานมากกว่า 100 ราย

‘ผลจากการโรดโชว์แสดงให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมาก กระทรวงฯ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ซึ่งกระบวนการตอนนี้เตรียมจัดทำร่าง RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดัน พรบ. SEC เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุนในด้านสิทธิประโยชน์ และกฎหมายต่างๆ’

โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เบื้องต้นจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการและดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งการจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในวันนี้นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ เพราะกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดไปประกอบการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC)

ภายในงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น สถานทูตประเทศญี่ปุ่น สถานทูตประเทศปากีสถาน สถานทูตประเทศอินเดีย สถานทูตประเทศเยอรมัน สถานทูตประเทศมาเลเซีย สถานทูตประเทศอิตาลี สถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานทูตประเทศออสเตรเลีย สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เช่น บริษัท HeBei Port Group Co.,LTD ผู้ประกอบการท่าเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Maritime Transport Business Solutions BV ผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) ผู้ประกอบการด้านนิคมอุตสาหกรรมจากประเทศไทย บริษัท Pacific Construction in Thailand ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Sumitomo Mitsui Construction Co.,Ltd. ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Misubishi Company (Thailand) ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนักลงทุนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งถ่ายสินค้าระหว่างสองท่าเรือ และมีแนวทางการรองรับด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

'สุริยะ' แง้มข่าวดี 'ดูไบ พอร์ต เวิลด์' สนลุยแลนด์บริดจ์-ปธ.จ่อบินมาดูงานเอง พร้อมเผย!! หากร่างกม.แล้วเสร็จ เปิดประมูลโครงการได้ปลายปี 68 

(6 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการแลนด์บริดจ์ ว่า ได้เข้าพบหารือกับบริษัทประธานบริษัท 'ดูไบ พอร์ต เวิลด์' ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลก มีธุรกิจเรือเดินสมุทรถึง 1,700 ลำ และบริหารท่าเรือในหลาย 10 ประเทศ   ซึ่งบริษัทดังกล่าวแสดงความสนใจที่อยากมาลงทุนในประเทศไทย โดยจะเดินทางมาประเทศไทยภายในเดือนนี้ ขณะนี้กำลังเคลียร์ตารางงานอยู่ 

ส่วนความพร้อมของประเทศไทยในโครงการนี้ยืนยันว่า ในแง่การศึกษาเบื้องต้นค่อนข้างชัดเจนว่ามีประโยชน์ต่อการลงทุนในประเทศไทย โดยดูจากการที่มีบริษัทในต่างประเทศที่รัฐบาลได้ชักชวนก็ให้ความสนใจ แต่โครงการนี้สำคัญที่สุด คือภาคเอกชน ที่จะตัดสินใจในการลงทุน ว่าโครงการนี้จะเดินต่อไปได้หรือไม่ แต่เท่าที่พูดคุยบริษัทชั้นนำ จากกรุงโรม อิตาลี, ดูไบ และจีน มีบริษัทชั้นนำให้ความสนใจในโครงการนี้ จึงมั่นใจว่าโครงการนี้เกิดขึ้นแน่   

ทั้งนี้การเดินสายโรดโชว์แต่ละประเทศถือว่าสิ้นสุดแล้ว และเตรียมความคิดเห็นที่เดินทางไปแต่ละประเทศ มาลงในรายละเอียด ร่างพระราชบัญญัติระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ. หรือ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ ก่อนนำเสนอสู่ ครม. และนำเข้าสู่สภาได้ในสมัยประชุมสภาสามัญนี้  

ทั้งนี้นายสุริยะ ยืนยัน เมื่อ ร่างกฎหมายแลนด์บริดจ์ แล้วเสร็จ จะสามารถเปิดประมูลโครงการได้ ในปลายปี 2568 

'สุริยะ' มั่นใจ 'โปรเจกต์แลนด์บริดจ์' เกิดแน่ หลังประธานดูไบเวิลด์ จ่อพบนายกฯ 1 ก.ค.นี้

(19 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย - อันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ โดยระบุว่า หลังจากที่ก่อนหน้านี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับผู้บริหารบริษัท Dubai Port World (DP World) เพื่อเชิญชวนให้มาลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ล่าสุดสุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกลุ่มบริษัท และผู้บริหารของ DP World ประสานจะเดินทางมาหารือกับนายกฯ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้

โดยกระทรวงฯ เตรียมความพร้อมนำคณะผู้บริหารของ DP World ลงพื้นที่จริงเพื่อสำรวจศักยภาพของการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งการประสานงานของทาง DP World ในครั้งนี้ ตอกย้ำได้ว่าโครงการแลนด์บริดจ์ เป็นโครงการที่ต่างชาติแสดงความสนใจร่วมทุน และจะเป็นโครงการที่เกิดขึ้นจริง 100% ภายในรัฐบาลนี้ โดยหากมีการลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ จะช่วยกระตุ้นเม็ดเงินลงทุนลงระบบเศรษฐกิจมากถึง 1 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ดี DP World ถือเป็นบริษัทชั้นนำของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเชี่ยวชาญโลจิสติกส์ การขนส่งสินค้า การดำเนินงานท่าเรือ การขนส่งสินค้าทางทะเลและเขตการค้าเสรี ก่อตั้งปี 2548 ให้บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 70 ล้านตู้ โดยมีเรือนำเข้า 70,000 ลำต่อปี คิดเป็น 10% ของปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก และมีพื้นที่ให้บริการในท่าเรือ 82 แห่งใน 40 ประเทศ

ขณะที่ DP World เคยมีความร่วมมือกับกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบเมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอร่างบันทึกความเข้าใจในการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าเพื่อศึกษาความเหมาะสมแนวทางการพัฒนาท่าเรือฝั่งทะเลอันดามันและสะพานเศรษฐกิจเชื่อมท่าเรือฝั่งอ่าวไทย

ทั้งนี้ มีการลงนามระหว่างสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และ DP World เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2551 ซึ่งอยู่ช่วงนายสันติ พร้อมพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นรัฐบาลพรรคพลังประชาชนที่ต่อมาถูกยุบพรรค และกลายมาเป็นพรรคเพื่อไทย โดยการลงนามครั้งนั้น สุลต่าน อะห์เหม็ด บิน สุลาเย็ม ประธานกรรมการบริหารกลุ่ม DP World มาลงนามด้วยตัวเอง

สำหรับ โครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.001 ล้านล้านบาท จะแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร 305,666 ล้านบาท และโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ 358,517 ล้านบาท โดย สนข.ศึกษาพบว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความคุ้มค่าในการลงทุน มีผลตอบแทนการลงทุนโครงการวัดจาก Internal Rate of Return (IRR) สูงกว่า 10% ต่อปี อีกทั้งเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% ต่อเนื่องอย่างน้อย 10 ปี

ขณะที่สถานะปัจจุบันโครงการผ่านการศึกษาและเปิดรับฟังความคิดเห็นภาคเอกชน รวมทั้งกระทรวงคมนาคมได้จัดโรดโชว์นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างเร่งผลักดัน พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (พ.ร.บ. SEC) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ และเป็นปัจจัยบวกสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนทั้งด้านกฎหมาย สิทธิประโยชน์ ตลอดจนการจัดเก็บอัตราภาษีเงินได้

ทั้งนี้ สนข.ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในเดือน ก.ย.นี้ ก่อนเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ซึ่งมั่นใจว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2568 หลังจากนั้นมีเป้าหมายออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาส 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาส 2 ปี 2569 ก่อนจะเริ่มเวนคืนที่ดินในไตรมาส 4 ปี 2569 และคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2569 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2573

อุปสรรค Landbridge 'ชุมพร-ระนอง' สารพันปัญหาจากทีมคัดค้าน สุดท้าย ECRL เชื่อม 2 ฝั่งทะเลของมาเลย์ ปาดหน้า เปิดปี 2570

(25 มิ.ย. 67) ผู้ใช้งานเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ เหตุขัดแย้งเกี่ยวกับโครงการ แลนด์บริดจ์ ช่วง ชุมพร-ระนอง โดยมีเนื้อความระบุว่า…

“ถ้า #Landbridge ชุมพร-ระนอง มัวแต่ทะเลาะกันก็เลิกเถอะ รอไปใช้ #ECRL ของมาเลย์ เชื่อม 2 ฝั่งทะเล เปิด 2570”

“ส่วนไทย สร้างไม่ได้ กลัวผลกระทบสิ่งแวดล้อม กลัวคนต่างถิ่น สารพัดปัญหา สุดท้ายข้างบ้านเสร็จก่อน รอไปใช้นะ!!”

“วันนี้ผมมาขอระบายเรื่องแผนการพัฒนา Landbridge ช่วง ชุมพร-ระนอง หน่อยครับ เพราะผ่านมากว่า 2 ปี ที่เริ่มศึกษา หาข้อมูล และหาความเป็นไปได้ จนมาถึงการทดสอบความสนใจของเอกชน ที่จะเข้ามาร่วมพัฒนาเส้นทาง”

“แต่!! ที่ผมได้ยินมา ทั้งในข่าว และมีคนในพื้นที่เล่าให้ฟังว่า มีการตั้งทีมคัดค้านเพื่อไม่ให้โครงการเกิด โดยยกสารพัดปัญหา สิ่งแวดล้อม ไม่คุ้มค่า เรือใช้เวลานาน ไม่มีสายเรือมาใช้ต่าง ๆ นา ๆ ตั้งมอบมาคัดค้าน ให้โครงการมีความมั่นคงต่ำ และสุดท้ายเอกชนก็จะไม่สนใจเข้ามาร่วม”

“แต่คุณรู้รึเปล่า ระหว่างที่เรามัวแต่ทะเลาะกัน มาเลย์ เขาทำนำหน้าเราไปแล้วกับโครงการ ECRL (East Coast Rail Link) เชื่อม 2 มหาสมุทร ระหว่างท่าเรือ Port Klang ฝั่งมหาสมุทรอินเดีย กับ Kuantan Port ฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมันก็คือ Landbridge ที่เราพูดถึงกันอยู่เนี่ย!!”

“ซึ่งมาถึงตอนนี้แล้ว ถ้าโครงการเรายังไม่ได้ข้อสรุป และยังคัดค้านเตะขากันไปมาอยู่แบบนี้ก็ “เลิกเถอะครับ” เสียเวลา เปลืองเงิน เอาไปใช้กับ EEC เถอะ เพราะถ้าช้ากว่านี้เราก็ไม่ทัน มาเลย์แล้ว”

>> เผื่อใครยังไม่รู้จัก Landbridge พร้อมผลการศึกษาเบื้องต้น รวมทั้งโครงการ ตามลิงก์ใน
https://www.facebook.com/share/VhDoED4eksUG13mz/?mibextid=WC7FNe

>> รายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน รายการ อัปเดตประเทศไทย EP.6
https://fb.watch/opmDXJfSvl/

>> รายละเอียด MR8 Landbridge ชุมพร-ระนอง ก่อนหน้านี้
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=1364108297360979&id=491766874595130

>> สรุปตำแหน่งท่าเรือน้ำลึก และเส้นทาง MR8 เชื่อม 2 ฝั่งทะเล
https://www.facebook.com/share/mXvppD6gf4wVN6Kg/?mibextid=WC7FNe

“มาดูรายละเอียด โครงการ ECRL คู่แข่งของ Landbridge ของเรากันก่อน”

“ECRL เป็นโครงการร่วมทุนระหว่าง รัฐบาล จีน (75%) และมาเลย์ (25%) โดยเป็นรถไฟเชื่อมระหว่าง 2 ฝั่งทะเล เพื่อมาแก้ปัญหาช่องแคบมะละกา ที่หนาแน่นมาก และนำสินค้าเข้าแปรรูปในประเทศก่อนส่งออกทั้ง 2 ฝั่งทะเล”

รายละเอียดเส้นทาง ระยะทางรวม 665 กิโลเมตร
- ยกระดับ 138 กิโลเมตร
- อุโมงค์ 53 กิโลเมตร
- ระดับดิน 404 กิโลเมตร
- สายทางแยก 70 กิโลเมตร

“มาตรฐานการออกแบบรถไฟ
- รถไฟราง Standard Gauge (1.435 เมตร)
- ทำความเร็วรถโดยสารสูงสุด 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง
- เป็นทางคู่ ตลอดเส้นทาง
- ติดระบบจ่ายไฟฟ้า (OCS) ตลอดเส้นทาง”

“ซึ่งล่าสุด Update ความคืบหน้า เดือนมิถุนายน คืบหน้าแล้ว 65% คาดกว่าจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี 2571!!”

>> ลิงก์รายละเอียดโครงการ
https://www.mida.gov.my/wp-content/uploads/2024/03/East-Coast-Rail-Link-ECRL-–-Value-Adding-Disruptor-for-National-Logistics-by-MRL_compressed.pdf?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTEAAR2MDChMP1s0Db4zDglPjogg5c_TX9EVDJmMMi5zSN1JVzb5nf_1eJJugeQ_aem_CQvxFc87wf9Al93rMldtyA

>> VDO ความคืบหน้าโครงการ เดือนมิถุนายน 67
https://youtu.be/hNCcl6Po3d8?si=YPGGOuj0xVIlE3r9

“ซึ่งอีกหนึ่งความน่าสนใจของเล่นทางนี้ จะทำสายแยกมาติดกับทางรถไฟสายใต้ ของไทย (สถานีสุไหงโกลก) ซึ่งอนาคตอาจจะมีการเจรจารื้อฟื้นการเชื่อมโยงระหว่างประเทศได้
แต่ในอีกมุมหนึ่ง สินค้าไทยเราต้องไปอาศัยท่าเรือมาเลย์ ในการขนส่งมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่สะดวกมากขึ้นในการรับ-ส่งสินค้าเข้าสู่ โครงการ ECRL ได้โดยตรง”

“สุดท้ายผมขอฝากถึงผู้เกี่ยวข้อง ช่วยตัดสินใจให้ชัดว่าจะเอายังไง จะทำไม่ทำ เพราะถ้าช้ากว่านี้ มันก็สายเกินไปแล้ว”


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top