'ดร.ตั้น' ยัน!! 'โครงการแลนด์บริดจ์' ไม่ใช่ความฝัน แต่เป็นเรื่องจริง เผย!! นักลงทุนสนใจมาก แต่ต้องใช้เวลาตัดสินใจที่ไม่ใช่แค่เดือนสองเดือน

(13 พ.ค. 67) นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวโต้ นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ปมโครงการแลนด์บริดจ์ โดยยืนยันไม่ต้องนอนฝัน แต่เป็นเรื่องจริง!! ระบุว่า...

ผมเห็นข่าวที่นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว โดยระบุว่า...

“แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ฝันที่ยากจะเป็นจริง” 

บอกได้เลยว่า เป็นการยุแยงที่อาจจะทำให้ประชาชนและนักลงทุนเข้าใจผิดไปกันใหญ่

ผมในฐานะโฆษกกระทรวงคมนาคม คิดว่าปล่อยไว้ไม่ได้ เลยต้องออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงกันสักหน่อย เพราะหลังจากที่ผมได้สัมผัส และเห็นข้อมูลจริง ประกอบกับสอบถามมาจากผู้รู้จริง พบว่า สันนิษฐานที่นายสามารถออกมาเผยแพร่นั้น ไม่สะท้อนกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เหมือนตั้งข้อสังเกตกันลอ ๆ และจะทำให้ประชาชนเข้าใจผิด!!

ผมอยากอธิบายผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่งต่อไปยังพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกท่านว่า โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน หรือที่เรารู้จักกันดีว่า 'โครงการแลนด์บริดจ์' เชื่อมต่อ 2 ท่าเรือ คือ 'ชุมพร-ระนอง' ที่รัฐบาลโดยพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างการผลักดันโครงการฯ นั้น เพราะมองเห็นว่า หากโครงการนี้ดำเนินการสำเร็จแล้ว จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับพี่น้องประชาชน และประเทศชาติอย่างสูงสุด

'โครงการแลนด์บริดจ์' ถือเป็นโครงการที่ออกแบบมาเพื่อลดระยะเวลาการขนส่งตู้สินค้าทางเรือ และสร้างผลกำไรให้กับผู้ประกอบการสายเรือ อีกทั้งผู้ประกอบสายเรือในแต่ละราย จะมีกลยุทธ์ต่าง ๆ รวมถึงศึกษาและวิเคราะห์เพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจมาร่วมลงทุนในโครงการฯ อยู่แล้ว ทั้งในส่วนของระยะเวลา ต้นทุน และความคุ้มค่า โดยจากการคำนวณในทุกมิติอย่างครบถ้วนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า สามารถช่วยลดต้นทุน และระยะเวลาในการขนส่งสินค้า หลีกเลี่ยงความแออัดของช่องแคบมะละกา ตามที่มีการคาดการณ์ที่เชื่อว่า ปริมาณการขนส่งจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และที่เขาแจ้งว่า การขนส่งสินค้าจากเรือฝั่งหนึ่งขึ้นรถบรรทุกหรือรถไฟไปอีกฝั่งหนึ่ง พอไปถึงจะต้องขนจากรถบรรทุกหรือรถไฟลงเรืออีก จะทำให้เสียเวลานานมาก อันนี้ก็เกิดจากกรอบความคิดการขนส่งแบบเดิม ๆ ที่จะต้องขน ซึ่งจากการที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี สุริยะฯ ได้เดินทางไปดูการขนถ่ายสินค้าด้วยระบบอัตโนมัติที่เกิดขึ้นจริงในท่าเรือและรถไฟนั้นสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ในปัจจุบัน

ไม่เพียงเท่านั้น 'โครงการแลนด์บริดจ์' ยังเป็นโอกาสครั้งสำคัญในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ระดับภูมิภาค ทั้งในเชิงพาณิชย์ และเชิงยุทธศาสตร์ที่เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดียเข้าด้วยกัน สามารถช่วยลดระยะเวลาการขนส่งทางทะเล และต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เกิดเป็นศูนย์กลางการขนส่ง และการค้าแห่งใหม่ของโลกด้วย

อีกหนึ่งหัวใจที่สำคัญ คือ โครงการแลนด์บริดจ์ จะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ต่อคนไทยทุกคน ช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ สร้างความเจริญ เปิดโอกาสให้กับพื้นที่ภาคใต้ และภาคต่าง ๆ ของไทย รวมทั้งยังจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่สามารถสร้างโอกาสให้กับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคด้วย

แล้วที่บอกว่า โครงการแลนด์บริดจ์ 'เนื้อหอม' ก็ต้องยอมรับว่า เนื้อหอมจริง ๆ หลังจากที่ท่านนายกฯ ท่านรองนายกฯ 'สุริยะ' ได้เดินหน้าไปโรดโชว์ และประชาสัมพันธ์โครงการให้นานาประเทศได้รู้จักโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น พบว่า ขณะนี้มีนักลงทุนที่มีศักยภาพจากหลายประเทศ ต่างให้ความสนใจโครงการฯ อาทิเช่น สหรัฐอเมริกา, สหภาพยุโรป, ญี่ปุ่น, กลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง 

และอย่างที่ท่านนายกฯ เศรษฐา ว่าโครงการขนาดใหญ่ขนาดนี้ นักลงทุนคงไม่ได้ตัดสินใจจะลงทุนในระยะเวลาเดือน สองเดือนครับ

ขอเน้นย้ำครับว่า การขับเคลื่อนโครงการแลนด์บริดจ์จะต้องคนที่มีวิสัยทัศน์ ที่จะสามารถมองภาพของการขนส่งทางทะเลของโลกทั้งระบบออก จึงจะเห็นถึงโอกาสมหาศาลของประเทศไทย ไม่ใช่คนที่มองแค่ภาพของการขนส่งภายในประเทศยึดติดความคิดเดิม ๆ ตามประสบการณ์ส่วนตัวที่แคบและขาดความเข้าใจเท่านั้นที่พูดอธิบายยังไงก็ ไม่มีวันเข้าใจเพราะไม่มีความรู้พื้นฐานดีเพียงพอ ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนต่างประเทศที่อยู่ในแวดวง อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ของโลก ต่างก็มองเห็นถึงโอกาสมหาศาลนี้ออก และรอเพียงแค่ว่าประเทศไทยจะมีความพร้อมที่จะประกาศเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเข้ามาเสนอตัวลงทุน

ปัญหาในปัจจุบันคงจะมีเพียงแต่คนในประเทศเท่านั้นที่พยายามจะด้อยคุณค่าของโครงการลง เพื่อประโยชน์ส่วนตน

และล่าสุด คือ ตามที่ท่านรองนายกฯ สุริยะ ได้เดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นการ และได้โรดโชว์โครงการแลนด์บริดจ์ด้วยนั้น พบว่า บริษัท China Harbour Engineering ได้ให้ความสนใจเป็นอย่างมากถึงมากที่สุด เรียกได้ว่า “ไม่ได้เงียบกริบ” อย่างที่นายสามารถเข้าใจผิดอย่างแน่นอน งานนี้! อาจจะมีคนเงิบ และรอฟังข่าวดีได้เลย 

นอกจากนี้ ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นโครงการที่ถูกหยิบยกมาหาเสียงเมื่อถึงคราวเลือกตั้งเท่านั้น แต่เป็นโครงการที่รัฐบาลได้เร่งให้เกิดเป็นรูปธรรม แถมยังเคยมีนักวิชาการออกมายืนยันอีกว่า ประเทศไทยตั้งอยู่ใจกลางคาบสมุทรอินโดจีน และเมื่อโครงการแลนด์บริดจ์เกิดขึ้น จึงมีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และได้รับผลประโยชน์ด้านการขนส่งสินค้าของช่องแคบมะละกาที่ในปัจจุบันมีแนวโน้มการขนส่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนประเด็นโครงการและเกิดขึ้นหรือไม่นั้น จะขอนำกำหนดไทม์ไลน์ของโครงการฯ ที่ระบุไว้ชัดเจน มาเปิดเผยให้ดูว่า หลังจากนี้ จะมีการสรุปข้อมูลจากการเดินทางไปโรดโชว์ รวมทั้งขอเสนอแนะจากนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกต่าง ๆ มาประกอบการจัดทำร่างประกวดราคา พร้อมทั้งจะมีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) และจัดตั้งสำนักงาน SEC โดยคาดว่า จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการฯ ได้ภายในไตรมาส 2/2569 ก่อนเข้าสู่กระบวนการคัดเลือกผู้ลงทุน และเริ่มก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จภายในปี 2573

สรุป!!
การดำเนินโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล ได้พิจารณาถึงความเหมาะสม และความคุ้มค่าที่จะเกิดขึ้น อย่างละเอียดรอบคอบ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชน และประเทศชาติเป็นสำคัญ และผมมั่นใจว่า ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ จะมีนักลงทุนต่างชาติ มาร่วมลงทุนอย่างแน่นอน เพราะเป็นโครงการสำคัญ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ผลักดันให้ 'ประเทศไทย' ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งและการค้าแห่งใหม่ของโลกครับ