Tuesday, 2 July 2024
ชายแดนใต้

ผบ.บก. ควบคุมสุริโยทัย ตรวจเยี่ยมมอบขวัญ ให้กำลังใจ กำลังพลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานป้องกันชายแดน เนื่องในเทศกาลปีใหม่ 2566

วันที่ 3 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ฐานปฎิบัติการชุดป้องกันชายแดน กองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ตำบลโละจูด อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส  พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับกองบังคับการควบคุมสุริโยทัย เดินทางมาตรวจเยี่ยม ติดตามผลการปฏิบัติงาน และรับทราบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ในการปฏิบัติภารกิจ ซึ่งกองร้อยป้องกันชายแดนที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่รักษาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ในการนี้ ได้เครื่องอุปโภค บริโภค มอบเป็นของขวัญ และอวยพรปีใหม่ 2566 เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วยความมุ่งมั่น เข้มแข็ง ต่อไป

'นิพนธ์' ระดมสมองผู้สมัครประชาธิปัตย์ ชายแดนใต้ ชู นโยบาย 'สันติภาพสู่สันติสุข' สอดรับ คำประกาศ '3 ส. สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ' พร้อมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหาร สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

นายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประชุม ชู 8 นโยบาย ด้านการเกษตร สู้ศึกเลือกตั้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำสันติภาพสู่สันติสุข โดยมีผู้สมัคร ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส จังหวัดยะลา จังหวัดปัตตานี จังหวัดสตูล และสงขลาบางส่วน ร่วมประชุมรับทราบนโยบายดังกล่าว ณ ห้องประขุมย่อย บ้านพักเขารูปช้าง อ.เมือง จ.สงขลา

โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า วันนี้พรรคประชาธิปัตย์ ได้ออก 3  ยุทธศาสตร์หลัก เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งในครั้งนี้คือ การสร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ  โดยเฉพาะนโยบายในการนำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นั่นคือ การสร้างเงิน ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นหลายนโยบาย โดยเฉพาะเน้นในเรื่องของนโยบายประกันรายได้คน และประกันรายได้ให้กับประเทศ 

ซึ่งในส่วนของการประกันรายได้ มุ่งเน้นในเรื่องของการเกษตร การประกันรายได้เงินส่วนต่าง ในเรื่องของ ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์ม ยังคงนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของการให้เงินส่วนต่าง และนโยบายช่วยเหลือชาวนา 30,000 บาทต่อครัวเรือน แม้แต่ปลูกข้าวกินก็ยังได้ส่วนต่าง สำหรับผู้ที่มาลงทะเบียน นโยบายการจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน-ชุมชน แห่งละ 2 ล้านบาท การออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี ฟรีนมโรงเรียน 365 วัน การให้เงินทุนสำรองประมงท้องถิ่น 100,000 บาททุกปี ทุกกลุ่มที่ขึ้นทะเบียน การออกเอกสารสิทธิทำกินในที่ดิน ให้ผู้ที่ทำกินในที่ดินของรัฐ และการปลดล๊อกประมงพาณิชย์ ภายใต้ luu นี่คือสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำนโยบายในเรื่องของการสร้างเงิน 8 นโยบาย และอีก 5 ฟรี คือเรียนฟรี อาหารกลางวันฟรี นมโรงเรียนฟรี และหญิงตั้งครรภ์รับทันที 600 บาท ต่อเดือน จนคลอด ฟรี

ในวันนี้เราได้เน้นในเรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเราต้องเดินหน้าต่อ พร้อมกับการขยายการส่งเสริมการเลี้ยงโคเนื้อ ซึ่งจังหวัดชายแดนใต้ต้องยุติความขัดแย้ง  การสูญเสียชีวิตมันต้องยุติได้แล้ว และเราอยากเห็นจังหวัดชายแดนใต้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชน

สำหรับนโยบายสร้างเงิน 8 นโยบายที่พรรคได้ประกาศ นี่เฉพาะกลุ่มแรกหลังจากที่พรรคประกาศยุทธศาสตร์ สร้างเงิน สร้างคน สร้างชาติ ซึ่งงวดแรกที่ได้กล่าวไปแล้วนั่นคือเรื่องของการสร้างเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอยู่ในภาคเกษตรเป็นหลัก และจะมีภาคธุรกิจอื่นตามมาอีก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเศรษฐกิจทันสมัย เรื่องของนวัตกรรม เรื่องของ SME และเรื่องอื่นๆ ที่จะทยอยประกาศตามมา เพื่อสร้างรายได้ในส่วนนั้น และในเรื่องของการสร้างคนซึ่งจะเป็นตัวตนของประชาธิปัตย์ รวมถึงเรื่องของสาธารณสุข รวมถึงในเรื่องของsold power และสุดท้ายในเรื่องของการสร้างชาติ นั่นคือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อที่จะให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น รวมถึงในเรื่องของการกระจายอำนาจ ซึ่งสุดท้ายนโยบายชายแดนภาคใต้ซึ่งได้ขอความเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ ซึ่งเราเคยมีนโยบาย ใต้สันติสุข แต่วันนี้เราจะไม่เอาเพียงใต้สันติสุข แต่จะเป็นนโยบายใต้ชายแดน 'สันติภาพสู่สันติสุข' เพราะการยุติความขัดแย้งนี้ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องมีการพูดคุยกัน ซึ่งเราจะไม่มีวันจบในเรื่องของการใช้อาวุธเพื่อแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้ง แต่จะจบด้วยการพูดคุยกัน เราใช้งบประมาณ กว่า 4.9 แสนล้าน ในเวลา19 ปี ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ดังนั้นจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องพูดคุยกัน ทุกฝ่ายเพื่อยุติความขัดแย้ง

'ไทย-มาเลย์' หารือ 'แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขฯ' หวังลดความขัดแย้ง-เพิ่มความสงบสุข ในพื้นที่ชายแดนใต้

(22 ก.พ. 66) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ นำโดย พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ กับคณะผู้แทน BRN นำโดย อุซตาส อานัส อับดุลเราะห์มาน ได้พบหารือและพูดคุยแบบเต็มคณะ ครั้งที่ 6 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย โดยมี พล.อ.ตันศรี ดาโตะซรี ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน เป็นผู้อำนวยความสะดวก และมีผู้เชี่ยวชาญร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ซึ่งผลการพูดคุยฯ มีความคืบหน้าที่สำคัญในการกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน และกรอบเวลาที่ชัดเจนในการแก้ไข ความขัดแย้งและนำสันติสุขสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย

1.) คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฯ และคณะผู้แทน BRN เห็นพ้องที่จะร่วมกันจัดทำ 'แผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม' หรือ Joint Comprehensive Plan towards Peace (JCPP) เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนการพูดคุย ให้คืบหน้าในรูปแบบที่ครอบคลุมและเป็นองค์รวม อีกทั้ง มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ในการปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของหลักการทั่วไป ของกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (General Principles of the Peace Dialogue Process) โดย JCPP จะมีเนื้อหาสำคัญ 2 ส่วน คือ การลดความรุนแรงในพื้นที่ และการจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมือง

‘สตรีสามจังหวัดชายแดนใต้’ ร่วมโครงการ 'WE Achieve' พัฒนาศักยภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัด ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

(14 มี.ค. 66) สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตทั่วโลก รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ การปิดประเทศและการเลิกจ้างงานในช่วงโควิด ทำให้หลายครอบครัวที่เคยพึ่งพารายได้จากสมาชิกที่ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซียต้องขาดรายได้ และขาดความมั่นคงทางการเงิน

กลุ่มเยาวชนและสตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่จำกัดงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้างและงานด้านเทคนิคไว้เฉพาะผู้ชาย นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะและรายได้ของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

รายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า (McKinsey, 2020) เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่า และมีภาระที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องดูแลลูกและทำงานบ้าน

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) จึงร่วมมือกับบริษัท Avery Dennison ในโครงการ WE Achieve ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเข้ามาสนับสนุนห้องสำหรับปั๊มนมแม่และดูแลเด็กเล็ก อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับเด็ก รวมไปถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยง กรณีที่ลูกไม่มีผู้ดูแลระหว่างมาเรียน

โครงการ WE Achieve เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (USAID Achieve) สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ เสริมพลัง และสร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกัน

โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ THE LOOKER สถาบันอาชีวะและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดปัตตานี จัดอบรมวิชาชีพให้เยาวชน เช่น สาขาการทำอาหาร สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ และสาขาทาสีและปูกระเบื้อง รวมถึงให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต การเงิน และการทำธุรกิจขนาดเล็ก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 500 คน โดยมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิง

“การเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นสิ่งหนึ่งที่ Avery Dennison ให้ความสำคัญมาก เพราะนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้หญิงจะได้พัฒนาชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงโอกาสในทักษะวิชาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน”

“ในโครงการของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) นั้น เราทราบว่าเยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาและวิชาชีพ เราจึงเข้ามาสนับสนุนในด้านนี้เพื่อมอบโอกาสให้พวกเธอได้ต่อยอดในอนาคต” นายภูวดล วงศ์แสงทรัพย์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

จากการพูดคุยกับ 4 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ‘ฮัซนี อาแว’ และ ‘อักรัน สาแม’ คู่สามี-ภรรยา หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฮัซนี แม่บ้านวัย 20 ปี ได้ยินคำบอกเล่าจากญาติที่เคยเข้าร่วมโครงการว่าสอนจริง ได้งานจริง

ฮัซนีที่เพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความหวังว่าเธอจะมีทักษะและมีงานทำ เธอเข้าร่วมโครงการได้ไม่นานก็ชวนอักรันไปลงสมัครเรียนด้วยกัน เขาเองก็อยากพัฒนาทักษะเพื่อมาช่วยพ่อ และสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว ซึ่งอยู่รวมกันถึง 9 คน

คู่สามีภรรยาเล่าว่า บางครั้งเหนื่อยและแทบถอดใจอยากเลิกเรียน ด้วยระยะการเดินทางจากบ้านไปตัวเมืองปัตตานีนั้นกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งไปและกลับ แต่เมื่อนึกถึงโอกาสและรายได้ที่จะได้รับหากจบการศึกษาในโครงการ ทั้งฮัซนีและอักรันก็พยายามเข้าเรียนให้ครบทุกครั้ง

นอกจากหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทั้งสองได้ฝึก ฮัซนีและอักรันยังได้เรียนทักษะชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น การออมเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่รวมอยู่ในหลักสูตรของโครงการความฝันของฮัซนีและอักรันคือการมีร้านรับตัดเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง

ฮัซนีและสามีตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Anakees’ ตามชื่อร้านเดิมของพ่ออักรัน ทั้งคู่เชื่อว่า หากมีร้านออนไลน์จะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถสร้างอาชีพกระจายรายได้ไปยังช่างตัดเย็บมีฝีมือคนอื่น ๆ ในชุมชนได้อีก

‘คอดีเยาะห์ ฮะซา’ คุณแม่วัย 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ในสาขาอาหารและการบริการ คอดีเยาะห์เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ส่วนสามีรับงานกรีดยางที่รัฐกลันตันในมาเลเซีย ลำพังงานกรีดยางไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

“สามีไปเจอโครงการในเฟซบุ๊กเลยถามเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราเข้าไปดูในเพจก็เห็นมีผู้หญิงเรียนช่างไฟ รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยลองเข้าไปดู อยากหาประสบการณ์มาต่อยอดให้ตัวเอง ทำอะไรที่บ้าน แค่สามีหาเงินคนเดียว ลูกของเราโตขึ้นคงไม่พอ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้” คอดีเยาะห์ เล่า

จากที่เคยเลี้ยงลูกเอง เธอต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวและจ้างคนมาช่วยดูแล การสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางจากบ้านไปเรียนในตัวเมืองปัตตานีและค่าเลี้ยงดูลูกบางส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้มาก แม้ช่วงที่เรียนจะค่อนข้างหนักสำหรับแม่ที่มีลูกเล็ก แต่คอดิเยาะห์ตั้งใจเรียนจนจบ

ปัจจุบันเธอนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาทดลองทำซาโมซาส่งขายในชุมชน แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เธอภูมิใจในตัวเองที่เลี้ยงลูกได้แม้สามีไม่อยู่ และยังเริ่มต้นหารายได้เสริมให้ครอบครัว ลูกของเธอเองก็ชอบซาโมซาและมักขอให้เธอทำให้กินบ่อยครั้ง

‘นูรีฮัน หะ’ เป็นอีกคนที่เข้าเรียนในสาขาอาหารและการบริการ เธอเป็นลูกคนที่สองของพี่น้องทั้งหมด 5 คน สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นูรีฮันซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียต้องเดินทางกลับไทย

“พ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่หาดใหญ่ แม่อยู่บ้าน พี่ชายผ่อนรถ และมีลูกที่ดูแล 2 คน อยากให้พ่อหยุดทำงานมาอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว ครอบครัวยังต้องเช่าบ้าน ต้องผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่” นูรีฮันบอกเล่า

นูรีฮันใช้เวลาสมัครเข้าร่วมโครงการถึงสองหนกว่าจะได้รับคัดเลือก เธอเล่าว่าตื่นเต้นมาก เพราะชื่อของเธออยู่ในลำดับสุดท้ายของคนที่ได้รับคัดเลือก ไม่เพียงแต่รายการอาหารใหม่ ๆ ที่นูรีฮันฝึกหัด โครงการ WE Achieve ยังสอนทักษะการทำธุรกิจ ทั้งการคำนวณต้นทุน กำไร การจัดการเงิน ซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจของผู้เรียนต่อไป

“เขาจะสอนให้เราคิดว่าทำขนมแต่ละครั้งมีต้นทุน กำไร ค่าแรงของเราเท่าไหร่ ขายของแต่ละครั้งมีกำไรเท่าไหร่ ซึ่งมีประโยชน์มาก เราจะได้จัดการระบบของเราได้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราจะขายไปอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเงินต้นทุน กำไร ค่าแรงอยู่ไหน” นูรีฮันบอกเล่า

หลังเรียนจบ นูรีฮันขายบราวนี่ออนไลน์ ทำคัพเค้กให้งานแต่งงาน รวมถึงรับออเดอร์ขนมจากเพื่อนและคนรู้จัก นูรีฮันค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น หลังแผนธุรกิจของเธอได้รับเลือกให้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ WE Achieve ให้นำไปต่อยอดธุรกิจ

“โครงการนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราอยากไปต่อ เราสามารถเรียนไปทำไปได้ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบมาทำเอง ไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่ก่อนไม่กล้าคิดจะเปิดร้านส่วนตัวเพราะเงินไม่อำนวย แต่พอมาโครงการนี้ก็เริ่มมีความหวังว่าจะเปิดร้านได้” นูรีฮันปิดท้ายด้วยแววตาสดใสและมีความหวัง

‘ลุงป้อม’ ลุยใต้ ขอบคุณ ปชช.ร่วมช่วยพัฒนาท้องถิ่น พร้อมหนุนค่าอาหารกลางวันเด็ก-ค่าจ้างครูอย่างต่อเนื่อง      

(17 มี.ค. 66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผู้ช่วยโฆษก รองนายกรัฐมนตรีไทย เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีไทย พร้อมด้วย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมและคณะ ได้เดินทางไปปฏิบัติราชการ ต่อเนื่องจากช่วงเช้า (จังหวัดยะลา) โดยในช่วงบ่ายได้พบปะผู้นำศาสนา และเครือข่ายโรงเรียนตาดีกา รวมถึงผู้นำท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ณ โรงเรียนประสานวิทยามูลนิธิ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี โดย พล.อ.ประวิตร ได้กล่าวขอบคุณประชาชนทุกคนที่มาให้การต้อนรับ และให้ความร่วมมือ ช่วยกันพัฒนาท้องถิ่น ภายใต้สันติสุข ในการดำรงชีวิตที่ผ่านมาเป็นอย่างดี

ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ยังได้กล่าวเจตจำนงในการเดินทางมาพบในครั้งนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมการดำรงชีวิตตามหลักการศาสนาของพี่น้องมุสลิม สนับสนุนค่าอาหารกลางวันตาดีกาต่อเนื่อง รวมทั้งเพิ่มจำนวนครูผู้สอนให้เหมาะสมกับสัดส่วนนักเรียน และอื่น ๆ รวมทั้งการสนับสนุนครูโรงเรียนเอกชน ให้มีสิทธิ และการเพิ่มค่าตอบแทน/ค่าเสี่ยงภัยครู และผู้บริหารด้วย

‘บิ๊กป้อม’ หนุนสังคมพหุวัฒนธรรม มุ่งสร้างสันติสุข รองรับแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจในพื้นที่ชายแดนใต้

พล.อ.ประวิตร เร่ง สร้างสันติสุข / สังคมพหุวัฒนธรรม ฟื้น ศก.ชายแดนใต้ คงเข้ม งานข่าวต่อเนื่อง เน้นการปฏิบัติงานรอบคอบ / ไม่ประมาท มุ่งยกระดับการศึกษา สร้างภูมิคุ้มกันทางความคิดร่วมกัน

(23 มี.ค.66) พล.ท.พัชร์ชศักดิ์ ปฏิรูปานนท์ ผช.โฆษก รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี รมช.กห. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมวิจิตรวาทการ สมช. ทำเนียบรัฐบาล ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ที่ประชุมได้รับทราบ สถานการณ์ด้านการข่าวในพื้นที่ จชต. ซึ่งมีความคืบหน้าตามแนวทางสร้างสันติสุข โดย พล.อ.ประวิตร ได้กำชับ หน่วยงานด้านการข่าวให้ติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด รวมทั้งเน้นย้ำให้หน่วยงานด้านความมั่นคง เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ตลอดเวลา ด้วยความรอบคอบ และไม่ประมาท และรับทราบความคืบหน้าของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านต่าง ๆ ซึ่ง พล.อ.ประวิตร ได้มีนโยบายให้ คณะอนุฯ ทุกด้าน เร่งยกระดับการขับเคลื่อน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางความคิด และจัดทำแนวทางการพัฒนาโรงเรียนนำร่อง ที่เป็นต้นแบบความเป็นเลิศทางวิชาการ ส่งเสริมสังคมพหุวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์จากสภาสันติสุขตำบลในการขยายผลสร้างความเข้าใจร่วมกัน พร้อมทั้งได้กำชับให้คณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ช่วยประสาน เร่งรัดการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการนำเรือประมง ออกนอกระบบ ตามที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้ว จำนวน 96 ลำ

ผบ.ฉก.นราธิวาส เป็นผู้แทน ผอ.รมน.ภาค 4 ร่วมกิจกรรมรอมฎอนสัมพันธ์เสริมสร้างสันติสุข คืนความสุขสู่ชายแดนใต้ ประจำปีอิจเราะห์ศักราช 1444 ในพื้นที่ จ.นราธิวาส ณ มัสยิดบ้านบูกิตปาลัส

ผู้สื่อข่าวรายงาน ที่ มัสยิดบ้านบูกิตปาลัส ตำบลยี่งอ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 / ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส เป็นผู้แทน พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เดินทางลงพื้นที่ร่วมกิจกรรม 'รอมฎอนสัมพันธ์' ละศีลอด (เปิดปอซอ) ในเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1444 กับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และพี่น้องประชาชนไทยมุสลิมในพื้นที่ อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เพื่อต้อนรับเดือนรอมฏอนอันประเสริฐ 

สร้างบรรยากาศที่ดีในห้วงของการปฏิบัติศาสนกิจ ตลอดจนสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้  พร้อมทั้งเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมการปฏิบัติศาสนกิจของพี่น้องชาวไทยมุสลิมในห้วงเดือนรอมฎอน เสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างหน่วยงานรัฐกับผู้นำหมู่บ้าน, ผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ โดยก่อนละศีลอด พลตรี เฉลิมพร ขำเขียว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส และ หัวหน้าส่วนราชการได้พบปะ พูดคุยกับผู้เข้าร่วมกิจกรรม รวมทั้งร่วมกันขอพรจากพระผู้เป็นเจ้า (ขอดุอาร์) ให้ความสันติสุขเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความอบอุ่น

รู้จักทางหลวงหมายเลข 418 ถนนสายเศรษฐกิจชายแดนใต้ 'วิวสวย-ปลอดภัย-ไร้ไฟแดง-ร่นระยะเวลากว่าครึ่ง'

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 เป็นถนนที่มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 29.448 กิโลเมตร จากบ้านคลองขุด อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ถึงบ้านท่าสาป ตำบลท่าสาป อำเภอเมืองยะลา จังหวัดยะลา

จุดเด่นของถนนสายนี้คือ ตลอดสองข้างทางยังเป็นที่โล่ง มีทุ่งนา สวนยางพารา และชุมชนสลับเป็นระยะ ไม่มีสัญญาณไฟจราจรแม้แต่จุดเดียว เพราะทุกทางแยกจะสร้างเป็นสะพานยกระดับมากถึง 20 แห่ง และมีจุดกลับที่ปลอดภัย นับเป็นถนนสายมาตรฐานที่สุด ณ วันนี้ของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยังเป็นการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 แตกต่างจากทางหลวงสายอื่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ เป็นทางหลวงมาตรฐาน 4 ช่องจราจรแห่งแรกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่มีจุดตัดตลอดเส้นทาง แต่จะใช้วิธีการทางยกระดับที่มีการก่อสร้างสะพานข้ามถนนประมาณ 20 จุด ทำให้ทางหลวงเส้นนี้ไม่มีสี่แยกไฟแดง ผู้ใช้เส้นทางนี้สามารถทำเวลาได้เร็วขึ้น นอกจากนี้สามารถย่นระยะทางจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 409 ได้ถึง 13 กิโลเมตร ซึ่งมีเพียงแค่ 2 ช่องจราจรสวนทาง ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที แต่หากใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 418 จะใช้เวลาเพียงแค่ 25 นาทีเท่านั้น

ถนนสายนี้คือของขวัญชิ้นประวัติศาสตร์ที่เหล่าทหารช่างตั้งใจมอบแด่พี่น้องประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้การสร้างถนนจะเป็นภารกิจปกติของทหารช่าง แต่สำหรับทางหลวงหมายเลข 418 นับเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่ง เพราะเป็นครั้งแรกที่มีการระดมทหารช่างจากทุกกองทัพภาคทั่วประเทศลงพื้นที่เพื่อเร่งสร้างถนนสายนี้ให้สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที ยุติการรอคอยอันยาวนานของผู้คนในสามจังหวัดชายแดนนั้นเอง

‘บิ๊กแดง’ ปัดตอบ ปมภาพบินไปลังกาวี พบ ‘ทักษิณ’ หลุดว่อน ยัน!! แค่ไปหารือแนวทางแก้ปัญหากลุ่มก่อความไม่สงบฯ ในภาคใต้

(18 ก.ค. 66) แหล่งข่าวจากกองทัพ ระบุถึง การเดินทาง พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ร่วมคณะของ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ.ไป เกาะลังกาวี ประเทศมาเลเซีย เมื่อ 5-7 พ.ค. 2566 และถูกโยงว่ามีการพบ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ดีลลับการเมืองก่อนเลือกตั้งว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ทางการเมือง และไม่ได้ไปพบเจอ อดีตนายกฯ ตามที่มีข่าวปรากฏในโซเชียลมีเดียแต่อย่างใด แต่ไปเพื่อพบปะกับ แกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่มีการนัดหมายไว้ ว่า ต้องการพบเพื่อคลี่คลายปัญหา และสนับสนุนให้การเจรจาเดินหน้าไปได้ด้วยดี

โดยเป็นการประสานในการเปิด ช่องทางการติดต่อสื่อสาร อีกช่องทางหนึ่ง สำหรับการประสานงานในการแก้ปัญหา อีกทั้งในขณะนี้ การดำเนินการของคณะพูดคุยฯ ชะลอ ออกไป เพราะทางกลุ่มเคลื่อนไหว รอมีรัฐบาลใหม่ก่อน

ส่วนกรณีที่ พล.อ.อภิรัชต์ เดินทางไปด้วยนั้นเนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์ สนใจติดตามแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ มาเพราะสมัยเป็นพันเอก ก็ลงไปอยู่ชายแดนใต้ และมีสายข่าวอยู่ในฝั่งมาเลเซีย และเมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ. เคยเดินทางไป อาเจะห์ ศึกษาแนวทางการแก้ปัญหา  และยังคงติดตามสถานการณ์ มาตลอด แต่ไม่ได้เปิดเผย เพราะมีหน่วยงานที่มีหน้าที่ทำงานอยู่  แต่มันเป็น คอนเนคชั่นส่วนตัว ที่ทำให้ประสานพูดคุยกันได้ จะได้รู้ความต้องการของเขา และทางออกในการแก้ปัญหา

สำหรับ พล.อ.เฉลิมพล คอยติดตามการแก้ปัญหาชายแดนใต้มาตลอดเช่นกัน ทำงานร่วมกับพล.อ.อภิรัชต์ มา ที่ผ่านมาก็ทั้งการลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยม และสนับสนุนอุปกรณ์พิเศษ ให้กองกำลังชายแดนในการทำงาน

“คาดว่าคงมีคนพยายามที่จะเชื่อมโยง กับการเมือง เพราะที่ผ่านมา มีการปล่อยข่าวลือ พาดพิง พล.อ.อภิรัชต์ มาตลอด แต่ พล.อ.อภิรัชต์ ก็เลือกที่จะนิ่ง ไม่ชี้แจง ตอบโต้ แต่การที่ไม่ได้ชี้แจง ไม่ได้หมายความว่าเป็นเรื่องจริง เพราะอยู่ในสถานภาพที่ไม่ได้มายุ่งเกี่ยวใดๆ ทางการเมือง ขออย่าโยง” แหล่งข่าวใกล้ชิดในกองทัพ ระบุ

‘บิ๊กตู่’ ฝากรัฐบาลหน้า สานต่องานสร้างสันติสุขชายแดนใต้ ยกระดับคุณภาพชีวิต ปชช. ปลื้ม!! ทูตประเทศมุสลิมชื่นชม

(30 ก.ค. 66) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะเอกอัครราชทูตจากประเทศซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย คูเวต โอมาน อียิปต์ อินโดนีเซีย ตุรกี โมร็อกโก อุปทูตจากสถานเอกอัครราชทูตกาตาร์ และปากีสถาน เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระหว่างวันที่ 25 - 27 กรกฎาคม 2566 เพื่อดำเนินการกิจกรรมการทูตเชิงรุก สร้างความเข้าใจ และการรับรู้อันดี เกี่ยวกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยคณะเอกอัครราชทูตทั้ง 10 ประเทศ ได้รับทราบแนวทางการแก้ปัญหาสถานการณ์ความมั่นคง และการพัฒนาพื้นที่จาก ศอ.บต. ซึ่งได้ดำเนินการยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง และการสนับสนุนการแสวงหาทางออกโดยสันติวิธี มีเป้าหมายให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันได้ในวิถีสังคมพหุวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน พร้อมคำนึงถึงการพัฒนาอย่างเป็นธรรม ไม่แบ่งแยก และเท่าเทียมในทุกศาสนา รวมถึงส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามอัตลักษณ์ ความเชื่อ สอดคล้องกับวิถีชีวิต ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีต่าง ๆ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า คณะเอกอัครราชทูตได้ชมศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมปัตตานี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านอาหารฮาลาล ซึ่งมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล และปัจจุบันเป็นที่สนใจและต้องการของประเทศภูมิภาคตะวันออกกลาง เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่มีศักยภาพและสามารถเติบโตได้ในอนาคต ด้านเอกอัครราชทูตจากซาอุดีอาระเบียชื่นชมศักยภาพของธุรกิจในพื้นที่ พร้อมยินดีนำนักธุรกิจมาร่วมแลกเปลี่ยนหารือจับคู่ระหว่างนักธุรกิจไทย-ซาอุดีฯ โดยขอให้ไทยเตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการ แรงงาน ซึ่งมีทักษะ และสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

น.ส.รัชดา กล่าวว่า ศอ.บต. ยังนำคณะเอกอัครราชทูตลงพื้นที่กือดาจีนอ ชุมชนเมืองเก่าปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชน 3 วิถี ที่มีประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน เชื้อสายมลายู และประชาชนนับถือศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ร่วมกัน สะท้อนถึงพหุวัฒนธรรมที่หลากหลาย พร้อมเดินทางไปเยี่ยมเยือนมัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นศาสนสถานคู่เมืองปัตตานีและศูนย์รวมจิตใจของพี่น้องมุสลิมในพื้นที่ โดยก่อสร้างขึ้น ตามแนวคิดในการสร้างสันติสุข และอำนวยความสะดวกแก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมในการประกอบศาสนกิจ ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียรู้สึกประทับใจต่อวิถีของชุมชนที่อยู่ร่วมกันถึง 3 วัฒนธรรม โดยทุกคนมีรอยยิ้มและอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

น.ส.รัชดา กล่าวว่า รัฐบาลดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่อง โดยดูแลประชาชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงานสร้างรายได้พัฒนาจังหวัดชายแดนใต้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันแบบพหุวัฒนธรรม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ดีใจที่คณะเอกอัครราชทูตมีความเข้าใจอันดีต่อสถานการณ์ และได้ชื่นชมแนวทางการทำงานของรัฐบาล นายกฯหวังว่างานด้านการพัฒนามิติต่างๆ ที่ได้ทำมาจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลใหม่อย่างเต็มที่ และนำไปต่อยอดความร่วมมือระหว่างไทยและกลุ่มประเทศมุสลิม


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top