‘สตรีสามจังหวัดชายแดนใต้’ ร่วมโครงการ 'WE Achieve' พัฒนาศักยภาพ ก้าวข้ามข้อจำกัด ยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

(14 มี.ค. 66) สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตทั่วโลก รวมถึงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ การปิดประเทศและการเลิกจ้างงานในช่วงโควิด ทำให้หลายครอบครัวที่เคยพึ่งพารายได้จากสมาชิกที่ย้ายไปทำงานในประเทศมาเลเซียต้องขาดรายได้ และขาดความมั่นคงทางการเงิน

กลุ่มเยาวชนและสตรีก็ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมที่จำกัดงานบางประเภท เช่น งานก่อสร้างและงานด้านเทคนิคไว้เฉพาะผู้ชาย นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทักษะและรายได้ของผู้หญิงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้

รายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจของโควิด-19 มากกว่าผู้ชายถึง 1.8 เท่า (McKinsey, 2020) เนื่องจากมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่า และมีภาระที่เพิ่มขึ้นจากการที่ต้องดูแลลูกและทำงานบ้าน

มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) จึงร่วมมือกับบริษัท Avery Dennison ในโครงการ WE Achieve ตั้งแต่ปี 2565 เพื่อเข้ามาสนับสนุนห้องสำหรับปั๊มนมแม่และดูแลเด็กเล็ก อุปกรณ์เบื้องต้นสำหรับเด็ก รวมไปถึงสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฝากเลี้ยง กรณีที่ลูกไม่มีผู้ดูแลระหว่างมาเรียน

โครงการ WE Achieve เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมอาชีพและทักษะชีวิตเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ชายแดนใต้ (USAID Achieve) สนับสนุนโดยองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อสร้างโอกาสทางอาชีพ เสริมพลัง และสร้างคุณค่าในตัวเองผ่านการพัฒนาทักษะชีวิตของเยาวชน ซึ่งมีภูมิหลังที่แตกต่างให้สามารถอยู่ร่วมกัน

โดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมมือกับ THE LOOKER สถาบันอาชีวะและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานในจังหวัดปัตตานี จัดอบรมวิชาชีพให้เยาวชน เช่น สาขาการทำอาหาร สาขาตัดเย็บเสื้อผ้าบุรุษ และสาขาทาสีและปูกระเบื้อง รวมถึงให้ความรู้ด้านทักษะชีวิต การเงิน และการทำธุรกิจขนาดเล็ก ปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 500 คน โดยมากกว่าร้อยละ 85 ของผู้เข้าร่วมเป็นผู้หญิง

“การเสริมพลังให้ผู้หญิงเป็นสิ่งหนึ่งที่ Avery Dennison ให้ความสำคัญมาก เพราะนำมาซึ่งโอกาสที่ผู้หญิงจะได้พัฒนาชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงโอกาสในทักษะวิชาชีพที่ตรงกับตลาดแรงงาน”

“ในโครงการของมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) นั้น เราทราบว่าเยาวชนหญิงและคุณแม่อายุน้อยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนต้องพบกับความท้าทายหลายอย่าง และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการศึกษาและวิชาชีพ เราจึงเข้ามาสนับสนุนในด้านนี้เพื่อมอบโอกาสให้พวกเธอได้ต่อยอดในอนาคต” นายภูวดล วงศ์แสงทรัพย์ ผู้จัดการโรงงาน บริษัท เอเวอรี่ เดนนิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

จากการพูดคุยกับ 4 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ‘ฮัซนี อาแว’ และ ‘อักรัน สาแม’ คู่สามี-ภรรยา หนุ่มสาวที่เพิ่งแต่งงานใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน ฮัซนี แม่บ้านวัย 20 ปี ได้ยินคำบอกเล่าจากญาติที่เคยเข้าร่วมโครงการว่าสอนจริง ได้งานจริง

ฮัซนีที่เพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 จึงไม่รอช้า รีบติดต่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการ ด้วยความหวังว่าเธอจะมีทักษะและมีงานทำ เธอเข้าร่วมโครงการได้ไม่นานก็ชวนอักรันไปลงสมัครเรียนด้วยกัน เขาเองก็อยากพัฒนาทักษะเพื่อมาช่วยพ่อ และสร้างรายได้เพิ่มให้ครอบครัว ซึ่งอยู่รวมกันถึง 9 คน

คู่สามีภรรยาเล่าว่า บางครั้งเหนื่อยและแทบถอดใจอยากเลิกเรียน ด้วยระยะการเดินทางจากบ้านไปตัวเมืองปัตตานีนั้นกินเวลากว่า 2 ชั่วโมงด้วยการขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งไปและกลับ แต่เมื่อนึกถึงโอกาสและรายได้ที่จะได้รับหากจบการศึกษาในโครงการ ทั้งฮัซนีและอักรันก็พยายามเข้าเรียนให้ครบทุกครั้ง

นอกจากหลักสูตรตัดเย็บเสื้อผ้าที่ทั้งสองได้ฝึก ฮัซนีและอักรันยังได้เรียนทักษะชีวิตด้านอื่น ๆ เช่น การออมเงิน และการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งเป็นทักษะที่รวมอยู่ในหลักสูตรของโครงการความฝันของฮัซนีและอักรันคือการมีร้านรับตัดเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเอง

ฮัซนีและสามีตั้งใจจะตั้งชื่อแบรนด์ว่า ‘Anakees’ ตามชื่อร้านเดิมของพ่ออักรัน ทั้งคู่เชื่อว่า หากมีร้านออนไลน์จะช่วยขยายฐานกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และสามารถสร้างอาชีพกระจายรายได้ไปยังช่างตัดเย็บมีฝีมือคนอื่น ๆ ในชุมชนได้อีก

‘คอดีเยาะห์ ฮะซา’ คุณแม่วัย 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ได้เข้าร่วมโครงการ WE Achieve ในสาขาอาหารและการบริการ คอดีเยาะห์เลี้ยงลูกอยู่ที่บ้าน ส่วนสามีรับงานกรีดยางที่รัฐกลันตันในมาเลเซีย ลำพังงานกรีดยางไม่พอเลี้ยงครอบครัวที่มีลูกอีก 2 คน

“สามีไปเจอโครงการในเฟซบุ๊กเลยถามเราว่าสนใจไหม ตอนนั้นเราเข้าไปดูในเพจก็เห็นมีผู้หญิงเรียนช่างไฟ รู้สึกว่าน่าสนใจ เลยลองเข้าไปดู อยากหาประสบการณ์มาต่อยอดให้ตัวเอง ทำอะไรที่บ้าน แค่สามีหาเงินคนเดียว ลูกของเราโตขึ้นคงไม่พอ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยคงไม่ได้” คอดีเยาะห์ เล่า

จากที่เคยเลี้ยงลูกเอง เธอต้องฝากลูกไว้กับพี่สาวและจ้างคนมาช่วยดูแล การสนับสนุนเรื่องค่าเดินทางจากบ้านไปเรียนในตัวเมืองปัตตานีและค่าเลี้ยงดูลูกบางส่วนช่วยแบ่งเบาภาระของเธอได้มาก แม้ช่วงที่เรียนจะค่อนข้างหนักสำหรับแม่ที่มีลูกเล็ก แต่คอดิเยาะห์ตั้งใจเรียนจนจบ

ปัจจุบันเธอนำความรู้ที่ได้จากห้องเรียนมาทดลองทำซาโมซาส่งขายในชุมชน แม้รายได้จะยังไม่มาก แต่นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เธอภูมิใจในตัวเองที่เลี้ยงลูกได้แม้สามีไม่อยู่ และยังเริ่มต้นหารายได้เสริมให้ครอบครัว ลูกของเธอเองก็ชอบซาโมซาและมักขอให้เธอทำให้กินบ่อยครั้ง

‘นูรีฮัน หะ’ เป็นอีกคนที่เข้าเรียนในสาขาอาหารและการบริการ เธอเป็นลูกคนที่สองของพี่น้องทั้งหมด 5 คน สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้นูรีฮันซึ่งตอนนั้นกำลังเรียนคณะศึกษาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยในอินโดนีเซียต้องเดินทางกลับไทย

“พ่อทำงานเป็น รปภ. อยู่หาดใหญ่ แม่อยู่บ้าน พี่ชายผ่อนรถ และมีลูกที่ดูแล 2 คน อยากให้พ่อหยุดทำงานมาอยู่บ้าน แต่ตอนนี้ยังไม่ลงตัว ครอบครัวยังต้องเช่าบ้าน ต้องผ่อนมอเตอร์ไซค์อยู่” นูรีฮันบอกเล่า

นูรีฮันใช้เวลาสมัครเข้าร่วมโครงการถึงสองหนกว่าจะได้รับคัดเลือก เธอเล่าว่าตื่นเต้นมาก เพราะชื่อของเธออยู่ในลำดับสุดท้ายของคนที่ได้รับคัดเลือก ไม่เพียงแต่รายการอาหารใหม่ ๆ ที่นูรีฮันฝึกหัด โครงการ WE Achieve ยังสอนทักษะการทำธุรกิจ ทั้งการคำนวณต้นทุน กำไร การจัดการเงิน ซึ่งจำเป็นต่อการต่อยอดทางธุรกิจของผู้เรียนต่อไป

“เขาจะสอนให้เราคิดว่าทำขนมแต่ละครั้งมีต้นทุน กำไร ค่าแรงของเราเท่าไหร่ ขายของแต่ละครั้งมีกำไรเท่าไหร่ ซึ่งมีประโยชน์มาก เราจะได้จัดการระบบของเราได้ ถ้าเราไม่รู้เรื่องการเงิน เราจะขายไปอย่างเดียวโดยไม่รู้ว่าเงินต้นทุน กำไร ค่าแรงอยู่ไหน” นูรีฮันบอกเล่า

หลังเรียนจบ นูรีฮันขายบราวนี่ออนไลน์ ทำคัพเค้กให้งานแต่งงาน รวมถึงรับออเดอร์ขนมจากเพื่อนและคนรู้จัก นูรีฮันค่อย ๆ ก้าวเข้าใกล้ความฝันมากขึ้น หลังแผนธุรกิจของเธอได้รับเลือกให้รับเงินทุนสนับสนุนจากโครงการ WE Achieve ให้นำไปต่อยอดธุรกิจ

“โครงการนี้เป็นเหมือนแรงผลักดันให้เราอยากไปต่อ เราสามารถเรียนไปทำไปได้ ไม่ต้องซื้อวัตถุดิบมาทำเอง ไม่ต้องเตรียมอะไร แค่เตรียมตัวเตรียมใจมาตั้งใจเรียนอย่างเดียว แต่ก่อนไม่กล้าคิดจะเปิดร้านส่วนตัวเพราะเงินไม่อำนวย แต่พอมาโครงการนี้ก็เริ่มมีความหวังว่าจะเปิดร้านได้” นูรีฮันปิดท้ายด้วยแววตาสดใสและมีความหวัง

ด้าน ‘ลัดดา นิเงาะ’ เจ้าหน้าที่โครงการฝึกอาชีพ มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) เผยว่าเธอดีใจที่ได้เห็นความสดใสในตัวน้อง ๆ กลับมา หลายคนวันแรก ๆ ยังกล้า ๆ กลัว ๆ เป็นห่วงลูก แต่พอทาง Avery Dennison เข้ามาช่วยเรื่องค่าเดินทาง ค่าดูแลลูก ห้องปั๊มนม ก็เหมือนมาอุดช่องว่างให้คุณแม่เหล่านี้ได้มาเรียนอย่างสบายใจ

“น้องหลายคนยังมีความฝัน อยากมีรายได้เป็นของตัวเอง การอยู่บ้านเลี้ยงลูกไม่ได้ทำให้ศักยภาพของเขาหายไป พอเรียนจบจากเรา บางคนเริ่มประกอบอาชีพ น้องมาเล่าให้ฟังว่ามีรายได้ของตัวเองแล้วรู้สึกดี อยากได้อะไรหรือจะซื้อของให้ลูกก็ไม่ต้องรอเงินของสามี

น้องคนหนึ่งเล่าให้เราฟังว่าเขาซื้อนมกระป๋องแรกให้ลูกจากเงินที่หาได้ด้วยตัวเอง บอกว่าจะเก็บไว้ให้ลูกดูตอนโตว่านมกระป๋องนี้แม่ซื้อจากเงินที่แม่หาเอง คือความภูมิใจของเขา” ลัดดากล่าวทิ้งท้าย


ที่มา : https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_7552198