Tuesday, 2 July 2024
ชายแดนใต้

‘บิ๊กป้อม’ ร่วมประชุม ‘กบฉ.’ ขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พื้นที่ จชต. พร้อมกำชับตรวจเข้มโรงงานสารประกอบระเบิด เพื่อลดความเสี่ยง

(28 ส.ค. 66) ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม คณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ครั้งที่ 3/2566 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม เข้าร่วมประชุม

โดยที่ประชุมเห็นชอบตามข้อเสนอของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ปรับลดพื้นที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี ออกจากพื้นที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ เพื่อนำ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรฯ มาใช้แทน และขอขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกเว้นอำเภอศรีสาคร อำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอแว้ง และอำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส, อำเภอยะหริ่ง อำเภอมายอ อำเภอไม้แก่น และอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี, อำเภอเบตง และอำเภอกาบัง จังหวัดยะลา ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน ทั้งนี้ตั้งแต่ 20 ก.ย. ถึง 19 ธ.ค. 66 โดยเป็นการขยายระยะเวลา ครั้งที่ 73 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน ป้องกัน ระงับ ยับยั้งเหตุการณ์ในพื้นที่ให้ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลรักษาความสงบ และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ด้วย โดยให้ สมช.เสนอเรื่องไปยัง ครม.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป

ที่ประชุมรับทราบผลการปฎิบัติงานตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 วันที่ 20 มิ.ย. ถึง 20 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีแนวโน้มของสถานการณ์ ที่มีความสงบเรียบร้อยมากขึ้นตามลำดับ และมีสถิติการก่อเหตุความรุนแรงลดลง สามารถพัฒนาไปสู่การปรับลดพื้นที่ออกจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้มากขึ้น ทั้งนี้ โดยกำชับหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่ ให้เข้มงวดตรวจสอบโรงงานที่เกี่ยวข้องกับสารประกอบระเบิด พร้อมเร่งรัดการช่วยเหลือและฟื้นฟูประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โรงงานพลุดอกไม้เพลิงระเบิดที่ผ่านมาโดยเร็ว

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขอบคุณ คณะกรรมการฯ หน่วยงานความมั่นคง ฝ่ายปกครอง และกำลังพลทุกนายที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ด้วยความเสียสละ ทุ่มเท และกล้าหาญ อย่างน่าภาคภูมิใจ สามารถแก้ปัญหา จชต.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยที่ผ่านมา และมีสถิติการก่อเหตุฯลดลง ตามลำดับ พร้อมทั้งได้ขอบคุณประชาชนในพื้นที่ ที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมทั้งได้กำชับ สมช. ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการเตรียมความพร้อมแก้ปัญหา จชต.ในระดับนโยบาย ที่ต้องขับเคลื่อนให้ต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน มีความเป็นมืออาชีพ ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต และเตรียมรับนโยบายจาก ครม.ชุดใหม่ ที่จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ในระยะเวลาอันใกล้นี้ต่อไป

‘สรรเพชญ’ หนุนญัตติ ศึกษา ส่งเสริม สร้างสันติภาพ-ดับไฟชายแดนใต้ พร้อมชูแผนพัฒนา ครอบคลุมทุกมิติ ย้ำ!! คำนึงถึงความรู้สึกคนในพื้นที่

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 66 ที่ห้องประชุมสุริยัน อาคารรัฐสภา นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้อภิปรายสนับสนุนญัตติ ‘ศึกษาติดตาม และส่งเสริม การสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ โดยกล่าวว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่สะสมมายาว นานกว่า 20 ปี ซึ่งนับตั้งแต่กระสุนนัดแรกที่ลั่นออกมาเมื่อปี 2547 จวบจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ต่าง ๆ ก็ยังไม่ทุเลาเบาบางลงแต่อย่างใด ซ้ำร้ายเหตุการณ์ล่าสุดที่พึ่งเกิดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดเหตุระเบิดที่อำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

นี่ยังไม่นับรวมกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลากว่า 19 ปี มีผู้เสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 7,520 คน (ข้อมูลจาก Deep South Watch เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566) ผู้สูญหาย บาดเจ็บ ล้มตายก็มีจำนวนมาก ท่ามกลางความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือประชาชน ตนเห็นด้วยที่จะมีการศึกษาในเรื่องนี้ แต่ขออย่างเดียว คือ ขอให้การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาครั้งสุดท้าย ขอให้มีผลการศึกษาออกมาให้ชัด ศึกษาให้รอบด้าน และหวังว่าคงไม่ต้องมาศึกษากันเรื่องนี้อีก เพราะในอดีตที่ผ่านมา ตนเชื่อว่าสภาแห่งนี้ ก็เคยได้ศึกษากันมาหลายครั้ง และตนเชื่อว่าสภาที่มีมาชุดไหน ๆ ก็ต้องตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้ ไม่จบ ไม่สิ้น และหลายหน่วยงานก็ทำการศึกษาเช่นเดียวกัน

นายสรรเพชญ ได้นำเสนอประเด็นการพัฒนาพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยกัน 5 ประเด็น หลัก ๆ คือ ด้านการปกครอง ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ด้านกระบวนการยุติธรรม ด้านงบประมาณ และด้านการศึกษา

โดยในประเด็นเรื่องของการปกครอง ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพราะประชาชนยังคงอยากเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย สิ่งนี้คณะกรรมาธิการฯ จะต้องตั้งหลักให้มั่น และชัดเจน ว่าจะไม่เสนอให้มีการแบ่งแยกดินแดน เพื่อขัดกับเจตนารมณ์ของประชาชน และสำคัญที่สุด คือ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้

ประเด็นต่อมา ด้านการส่งเสริมการกระจายอำนาจ ตนเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าท้ายที่สุดแล้ว การกระจายอำนาจนี้ จะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริงผ่านการตัดสินใจของประชาชน ในส่วนของด้านกระบวนการยุติธรรมนั้น ตนเห็นว่าความยุติธรรมที่ว่านี้ ไม่ใช่เฉพาะในมิติเรื่องกฎหมายเพียงเท่านั้น เพราะความยุติธรรมในทางกฎหมายเป็นบรรทัดฐานที่อารยประเทศพึงมี และกรณีการอุ้มฆ่าที่เคยมีเหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ก็ไม่มีแล้ว ถือได้ว่าที่ผ่านมาเราได้แก้เรื่องกฎหมายไปแล้วส่วนหนึ่ง แต่สิ่งที่นอกเหนือจากเรื่องของกฎหมายคือ การพัฒนาพื้นที่และกระจายทรัพยากรต่าง ๆ ที่ควรให้กับคนในสามจังหวัดได้เข้าถึง ไม่เป็นคนชายขอบในสังคม รวมถึงชายแดนห่างไกลของประเทศไทย เราควรที่จะให้ความสำคัญเท่าเทียมเหมือนคนกรุงเทพฯ

นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ในเรื่องของงบประมาณ วันนี้รายได้ต่อหัวของประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงต่ำอยู่ เฉลี่ยประมาณปีละ 60,000 บาท รัฐบาลจะต้องอัดฉีดงบประมาณลงไปในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ในสามจังหวัดชายแดนให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรที่ดินทำกิน ส่งเสริมการใช้พื้นที่นาร้างว่างเปล่าให้สามารถปลูกพืชเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางอาหารของโลก เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น

ส่วนในด้านของการศึกษา วันนี้สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมหาวิทยาลัยครบทั้งสามจังหวัด ไม่ว่าจะเป็น ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี, ม.ราชภัฏยะลา, ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ฯลฯ แต่เรายังคงต้องเร่งยกระดับคุณภาพการศึกษา ให้สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เหมาะสมกับสายอาชีพที่ให้ผู้เรียนจบออกมาแล้วมีงานทำและทำงานในสายงานที่ตนเองถนัด หวังว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญที่กำลังจะแต่งตั้งขึ้น จะศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้ครอบคลุมทุกมิติ และให้คำนึงถึง ‘ความรู้สึก’ ของคนในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การสร้างสันติภาพที่เป็นจริง

‘นายกฯ’ ถก ‘ผบ.ทสส.’ เร่งแก้ปัญหาชายแดนใต้-ปราบยาเสพติด หนุนลดช่องว่างทหารและประชาชน เป็นที่พึ่งพิงได้ทุกสถานการณ์

(5 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ได้เดินทางเข้าทำเนียบรัฐบาล โดยได้เรียก พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เข้าหารือที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยใช้เวลาหารือประมาณ 20 นาที

นายเศรษฐา ให้สัมภาษณ์ภายหลังการหารือว่า โดยปกติตนจะพบปะกับ ผบ.ทสส.เป็นประจำอยู่แล้ว โดยวันนี้เป็นเรื่องรับทราบข้อมูลแนวทางการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ แนวทางการทำงานกับรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงของมาเลเซีย รวมถึงปัญหายาเสพติดที่จะทะลักเข้ามาจากพม่า ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องเฝ้าระวัง โดยทางทหารจะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปราบปรามยาเสพติดและสกัดการนำเข้าอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการเผาป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ต้องพึ่งฝ่ายความมั่นคงค่อนข้างมาก

“อีกเรื่องที่คุยกันในภาพรวม คือผมอยากให้ทหารมาช่วยเหลือประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหายาเสพติด ปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องที่ดินทำกิน ช่วยดูแลปัญหาน้ำไม่ให้ท่วม ไม่ให้แล้ง รวมทั้งดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน นอกเหนือจากเรื่องความมั่นคงที่ท่านดูแลอยู่แล้ว ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างระหว่างทหารกับประชาชนได้อีกทางหนึ่งด้วย” นายเศรษฐา กล่าว

จากนั้นนายกฯ ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปเป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตดุสิต กรุงเทพฯ

‘บิ๊กป้อม’ ส่ง ‘สส.นราธิวาส พปชร.’ รุดช่วยผู้ประสบอุทกภัย ชายแดนใต้ หลังฝนตกหนักทำน้ำท่วมหลายพื้นที่ พร้อมติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

(17 ธ.ค. 66) ผู้สื่อข่าวรายวานจากพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้ติดตามสถานการณ์พายุฝน เข้าพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เนื่องจากมีความห่วงใยในสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ที่มีฝนตกหนักต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 4 จังหวัด คือ จังหวัดยะลา, จังหวัดนราธิวาส, จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี โดยได้ประสานงาน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรค, นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 3 และ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส เขต 2 เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมติดตามสถานการณ์และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวัง และให้ความช่วยเหลือ ผ่านทีมงาน สส.ในพื้นที่พปชร.อย่างต่อเนื่อง

โดยล่าสุด นายสัมพันธ์ และนายอามินทร์ ได้ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิดและเข้าช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปีนี้ พายุฝนตกชุกเข้ามาในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในวันนี้ ก็เตรียมระดมทีมเจ้าหน้าที่ ส่งถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับพี่น้องประชาชนใน จ.นราธิวาส พร้อมสอบถามปัญหาความเดือดร้อน เพื่อนำไปสู่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาต่อไป

‘นายกฯ’ เกาะติด ‘น้ำท่วมชายแดนใต้’ กำชับทุกหน่วยช่วย ปชช.ให้ทั่วถึง ยัน!! รัฐบาลพร้อมฟื้นฟู-เยียวยาทันที ขอบคุณ จนท.ที่ทำงานเต็มกำลัง

(29 ธ.ค. 66) น.ส.นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ติดตามและรับรายงานสถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดชายแดนใต้ ที่ขณะนี้ มวลน้ำไหลไปที่จังหวัดปัตตานีแล้ว ทำให้จังหวัดมีน้ำท่วมสูง โดยนายกฯ ยังเป็นห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานความมั่นคง ร่วมกันช่วยเหลือประชาชนในเรื่องอาหาร น้ำ ของใช้จำเป็น และยา กำชับให้ช่วยเหลืออย่างทั่วถึง และในพื้นที่ห่างไกลที่ประชาชนออกมาไม่ได้ อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน

“นายกฯ ย้ำเรื่องการเตือนภัยและอพยพประชาชน หากจำเป็นก็ต้องทำ ส่วนเรื่องการเยียวยา ให้ความมั่นใจ ประชาชนทุกคนที่ประสบภัยจะได้รับการเยียวยา ฟื้นฟูทันทีเช่นกัน ทั้งนี้ นายกฯขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ และทุกหน่วยงานที่ทุ่มเท เสียสละเพื่อดูแลพี่น้องประชาชนที่ประสบภัย”

‘เยาวชน SEED Thailand ภาคใต้’ ร่วมแรงร่วมใจแพ็กถุงยังชีพ พร้อมลงพื้นที่นำแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยน้ำท่วม ในชายแดนใต้

เนื่องจากสถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำมีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส ทำให้มีอาคารบ้านเรือนพี่น้องชาวใต้ ได้รับความเสียหาย ส่งผลกระทบและเดือดร้อนหลายหลัง ประชาชนในบางพื้นที่ในประกาศก็ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดยะลาและนราธิวาส ที่ฝนตกหนักต่อเนื่องมาหลายวัน จนชาวบ้านในจังหวัดนราธิวาสถึงกับบอกว่า “น้ำท่วมครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่หนักที่สุดในรอบ 50 ปี”

น้ำท่วมหนักในครั้งนี้ ส่งผลให้ถนนสายหลักในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสถูกตัดขาดหลายจุด ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนท่วมมิดหลังคาบ้านในหลายพื้นที่ ขณะที่ประชาชนหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักครั้งนี้ ประชาชนบางส่วนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และติดอยู่บนชั้น 2 หรือบนหลังคาบ้าน นอกจากนี้ โรงเรียนหลายแห่งต้องประกาศหยุดการเรียนการสอน

โดยในวันนี้ (29 ธ.ค. 66) ‘เยาวชน SEED Thailand’ ได้ร่วมแพ็กถุงยังชีพ และนำไปแจกจ่ายให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ในโครงการ ‘ไทยรวมใจ’ โดยมูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม และเครือข่ายเยาวชน SEED Thailand ขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้ผ่านวิกฤตครั้งนี้โดยเร็ว

📍ท่านที่มีความประสงค์จะร่วมบริจาคเงินสนับสนุน สามารถบริจาคได้ที่บัญชี มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ หมายเลขบัญชี 405-523655-3 และส่งหลักฐานการบริจาคได้ที่ Line : @946scqgt

4 มกราคม พ.ศ. 2547 จุดเริ่มต้น ‘ความไม่สงบ-ขัดแย้ง’ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2547 เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน จากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ‘ค่ายปิเหล็ง’ ในตำบลปิเหล็ง อำเภอเจาะไอร้อง โดยเหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าเป็น ‘จุดปะทุของความรุนแรงในสถานการณ์ไฟใต้’ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้มีทหารเสียชีวิต 4 นาย ทางด้านกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ระบุว่า คนร้ายได้อาวุธปืนไปทั้งสิ้น 413 กระบอก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ยึดคืนมาได้ 94 กระบอก

ส่วนผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับคดี ป.วิอาญา ร่วมกันบุกปล้นปืน โดยมีจำนวน 11 คน ถูกจับได้ 2 คน คือ นายมะซูกี เซ้ง และนายซาอีซูน อับดุลรอฮะ พร้อมอาวุธปืนของกองพันพัฒนาที่ 4 ถูกนำไปใช้ก่อเหตุในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ถึงปี พ.ศ. 2555

โดยในระหว่างปี 2547 - 2554 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไม่สงบนี้กว่า 4,500 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 9,000 คน นับเป็นความขัดแย้งที่มียอดผู้เสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2554 สถานการณ์กลายเป็นการคุมเชิงระดับต่ำ ส่วนใหญ่ลักษณะการก่อเหตุเป็นการประกบยิง แต่มีเหตุระเบิดแสวงเครื่อง เฉลี่ย 12 ครั้งต่อเดือน มีเหตุการณ์ความรุนแรงกว่า 11,000 ครั้ง และการวางระเบิดกว่า 2,000 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ไม่สงบเหล่านี้ ทางฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเอง ไม่มีข้อเรียกร้องทางการเมืองออกมาชัดเจน จึงไม่สามารถสาเหตุได้ชัดเจนว่า เหตุใดความไม่สงบจึงปะทุกลับมาอีกครั้ง 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ วิเคราะห์ว่า การก่อเหตุได้มีการเปลี่ยนจากเป้าหมายด้านเชื้อชาติและชาติพันธุ์และแบ่งแยกดินแดนมาเป็นอิสลามิสต์หัวรุนแรง สถานที่ก่อเหตุย้ายจากป่าเข้ามาในหมู่บ้าน เมืองและนคร ในโครงสร้างแบบเซลล์ โดยใช้กลุ่มผู้ก่อเหตุขนาดเล็กประมาณ 5-10 คน โครงสร้างแบบเซลล์นี้ทำให้ไม่ต้องใช้เงินทุนสนับสนุนมากนัก

ช่วงกลางปี 2549 ตำรวจประเมินว่ามีแนวร่วมก่อเหตุราว 3,000 คน ปฏิบัติการใน 500 เซลล์ จากจำนวนหมู่บ้านทั้งหมด 1,574 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

รายงานของกลุ่มวิกฤตระหว่างประเทศปี 2548 ระบุว่า ผู้ก่อเหตุเป็นเยาวชน เคร่งศาสนา ติดอาวุธไม่ดีและพร้อมสละชีพเพื่ออุดมการณ์ กลางปี 2548 ยอดผู้เสียชีวิตชาวมุสลิมสูงกว่ายอดผู้เสียชีวิตชาวพุทธ ซึ่งเชื่อว่ามุสลิมที่ตกเป็นเป้านั้นใกล้ชิดกับทางการไทยหรือค้านความคิดอิสลามิสต์

จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ พบว่า ความถี่ของการก่อเหตุขึ้น ๆ ลง ๆ แต่สูงสุดในปี 2550 (2,409 เหตุการณ์) และ ปี 2555 (1,851 เหตุการณ์) ซึ่งศูนย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่าความถี่ของเหตุการณ์อาจเพิ่มขึ้นและลดลงเป็นวัฏจักรโดยจะมีความถี่สูงสุดทุก 5 ปี ยอดผู้เสียชีวิตรายปีลดลงทุกปีนับแต่ปี 2556

ธรรมนัสสั่งลงดาบเชือดกลุ่มกินหัวคิวโคบาลชายแดนใต้

โฆษก ก.เกษตรฯ เผย ธรรมนัส สั่งลงดาบเชือด กลุ่มกินหัวคิว โคบาลชายแดนใต้ สอบพบทุจริตเอาผิดไม่เว้นหน้าใคร ด้าน ”รมช.ไชยา“ รับไม้ต่อเร่งสอบขยายผลเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคที่เดือดร้อนด่วน

เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2567 ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) กล่าวถึงกรณี  “โครงการโคบาลชายแดนใต้” เรื่องการจัดหาแม่โคของกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดปัตตานี ไม่ตรงตามคุณลักษณะเฉพาะ(Specification) ของโครงการ ว่า  การดำเนินงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ปัจจุบันอยู่ในระยะนำร่อง เกษตรกร 60 กลุ่ม แม่โคพื้นเมือง 3,000 ตัว เงินกู้ยืม 93 ล้านบาท และเงินจ่ายขาด 1.20 ล้านบาท 

จึงย้ำว่า ขณะนี้เป็นการดำเนินงานระยะนำร่อง ปัญหานี้ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน และมอบหมายให้ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ เร่งหาข้อมูลในการช่วยเหลือ และให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ปัญหาในขณะนี้ คือ กลุ่มเกษตรกรจังหวัดปัตตานีบางกลุ่มได้ “แม่โคพื้นเมืองที่ส่งมอบให้กลุ่มมีลักษณะไม่ตรงตามเงื่อนไขของโครงการ แต่จังหวัดอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ยังไม่เจอกับปัญหานี้ จึงขอชี้แจงว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้เป็นแค่จุดเดียว คือ จ. ปัตตานี  ข้อกำหนดในเอกสารเขียนชัดเจนว่า ให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้จัดหาพันธุ์สัตว์เองตามคุณลักษณะเฉพาะที่กรมปศุสัตว์กำหนด โดยกำหนดสายพันธุ์ อายุ น้ำหนักตัว สุขภาพสัตว์ การได้รับวัคซีน และการตรวจโรคที่สำคัญ พร้อมเงื่อนไขการรับประกันหากไม่ถูกต้องตามที่กำหนด ผู้ขายจะต้องเปลี่ยนตัวสัตว์ใหม่ให้แก่เกษตรกร เมื่อผู้ขายแจ้งกำหนดส่งมอบโค ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตรวจสอบโค ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของโครงการ เมื่อเอกสารและคุณภาพตรงตามเงื่อนไข และเกษตรกรมีความพึงพอใจ ก็จะดำเนินการตรวจรับและจัดส่งเอกสารเพื่อทำการเบิกจ่ายเงินต่อไป หากไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ผู้ประกอบการดำเนินให้ถูกต้องต่อไป ซึ่ง จ. ปัตตานี มีการส่งมอบโคครบทุกกลุ่มแล้ว จำนวน 16 กลุ่ม จากที่ได้รับรายงาน มีการแก้ไข 2 กลุ่มคือ กลุ่มหนึ่ง ขอเปลี่ยนแม่โค จำนวน 20 ตัว และอีกกลุ่มหนึ่ง ขอยกเลิกสัญญา ส่วนในกลุ่มอื่นๆ กำลังทำการขยายผลและตรวจสอบอย่างละเอียด

โฆษกกระทรวงเกษตรฯ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กลุ่มเกษตรกรมีความประสงค์ขอเปลี่ยนตัวสัตว์ตามเงื่อนไขข้อกำหนดของโครงการ กรมปศุสัตว์ได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการเปลี่ยนตัวสัตว์ให้ใหม่ในพื้นที่จังหวัดปัตตานีเรียบร้อยแล้ว เบื้องต้นสั่งการให้ดูแลด้านสุขภาพ ให้ยาบำรุงและสนับสนุนพืชอาหารสัตว์แก่เกษตกรที่ได้รับผลกระทบ และเร่งฟื้นฟูสุขภาพแม่โคเนื้อตามหลักวิชาการ ให้วิตามิน และอาหารเสริมแก่แม่โคพื้นเมืองเพื่อให้มีสุขภาพสมบูรณ์โดยเร็ว

“นอกจากนี้สั่งการให้กรมปศุสัตว์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดและระดับอำเภอ เพื่อทำงานควบคู่กับทางคณะกรรมการตรวจสอบของ ศอ.บต. โดยบูรณาการทำงานร่วมกัน ดังนั้นขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า รัฐบาลในยุคของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะปราบปรามปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นอย่างจริงจัง และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การนำของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่กำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน พร้อมช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกร หากตรวจพบการทุจริตเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการหรือข้าราชการ จะดำเนินการเอาผิดอย่างถึงที่สุด”

ทั้งนี้ การส่งมอบโคแก่เกษตรกรในโครงการโคบาลชายแดนใต้ ภาครัฐร่วมกับเอกชน ได้ส่งมอบโคแก่เกษตรกรใน จ.ปัตตานี 800 ตัว เมื่อเดือนพฤศจิกายน จ.นราธิวาส เมื่อเดือนธันวาคม จำนวน 800 ตัว และ จ.สตูล 400 ตัว สำหรับ จ.สงขลา และ ยะลา ยังไม่มีการจัดส่งวัว ณ เวลานี้มีการเบิกจ่ายสินเชื่อกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 37,601,700 บาท คิดเป็นร้อยละ 40.43 และมีวัวที่รับมอบเป็นผลผลิตทางโครงการให้ลูกแก่เกษตรกรจำนวนหลายตัวแล้ว

‘อนุทิน’ นำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม เยือนจังหวัดชายแดนใต้ ส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาปลายด้ามขวานสู่พื้นที่ปลอดภัย-สงบสุข

(12 มิ.ย.67) ที่ TK Park ยะลา (อุทยานการเรียนรู้ยะลา) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และรมว.มหาดไทย นำคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมและผู้บริหารระดับสูง ร่วมกิจกรรมเสริมความเข้าใจและสานสัมพันธ์คณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิมประจำปี 2567 โดยมีคณะทูตกลุ่มประเทศมุสลิม (The Organization of Islamic Cooperation : OIC) 12 ประเทศ เข้าร่วม 

ทั้งนี้ นายอนุทินและคณะทูตได้รับฟังการนำเสนอการขับเคลื่อนงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย โดยพันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศอ.บต. พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากนั้นมีการแลกเปลี่ยนเสวนาประเด็นความรู้ที่เป็นประโยชน์ทางนโยบายของผู้เข้าร่วมกิจกรรม

จากนั้นนายอนุทินได้นำคณะทูตเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์ OTOP ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อาทิ ผ้าบาติกที่ได้รับการพัฒนาตามพระดำริ ‘ผ้าไทยใส่ให้สนุก’ และ ‘Sustainable Fashion’ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา

นายอนุทิน กล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ มีนโยบายในการทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในด้านสุขภาพ การขนส่งทางอากาศ การสื่อสาร การศึกษา และการท่องเที่ยว มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศในการแข่งขัน ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ในภูมิภาครวมถึงจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งการได้แลกเปลี่ยนกับคณะทูตจากประเทศ OIC จะมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนนโยบายของนายกฯ และรัฐบาลไทย โดยเฉพาะการร่วมเป็นหุ้นส่วนของประเทศไทยในการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความปลอดภัยและความสันติสุข 

สำหรับคณะทูต OIC ที่เข้าร่วมกิจกรรม ครั้งนี้ ประกอบด้วย H.E. Mr. Pengiran Haji Sahari Pengiran Haji Salleh เอกอัครราชทูตบรูไน, H.E. Mrs. Hala Youssef Ahmed Ragab เอกอัครราชทูตอียิปต์, H.E. Mr. Nassereddin Heidari เอกอัครราชทูตอิหร่าน, Mr. Bong Yik Jui อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย, Ms. Aishath Shiruma Ahmed อุปทูต สถานีอัครทูตมัลดีฟส์, Dr. Mohammed Idris Haidara อุปทูต สถานเอกอัครราชทูตไนจีเรีย, Mr. Fuad Adriansyah รองหัวหน้าสำนักงานเอกอัครราชทูตอินโดนีเชีย และ Mr. Nuriddin Mamatkulov รองหัวหน้าสำนักงานสถานกงสุลใหญ่อุซเบกิสถาน 


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top