Thursday, 4 July 2024
ค่าไฟ

‘นายกฯ’ ชี้!! รอ ‘พีระพันธุ์’ ชงต่ออายุมาตรการพลังงานอยู่ หลังราคา ‘น้ำมันดีเซล-ค่าไฟฟ้า’ ใกล้สิ้นสุดมาตรการ

เมื่อวานนี้ (3 มี.ค.67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประชาชน โดยมติครม. ตรึงราคาน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค.นี้ รวมถึงมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านพักอาศัยไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ที่จะสิ้นสุดมาตรการในเดือนเม.ย.นี้ ว่ารัฐบาลมีแนวโน้มจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวหรือไม่ ว่า รอ รมว.พลังงาน เป็นผู้เสนอ

ความจริงเรื่อง 'ค่าไฟฟ้า' ความถูก-แพง ที่ทำ 'ก.พลังงาน' กลุ้ม ผลพวงจากทิศทางโลก ผสมโรงบิ๊กเอกชนผูกขาดก๊าซธรรมชาติ

ปัญหาด้านสาธารณูปโภคที่เรื้อรังมายาวนานและกลายเป็นประเด็นที่บรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย มักจะหยิบยกขึ้นมาเป็นประจำก็คือ 'ปัญหาราคาค่าไฟฟ้า'

แน่นอน 'ค่าไฟฟ้าแพง' เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าพรรคการเมืองใดก็ตามมาเป็นรัฐบาล แต่เรื่องราวที่ผู้คนส่วนใหญ่อาจไม่รู้ หลงลืม หรือไม่ได้ใส่ใจ ก็คือ รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานไม่ได้เป็นผู้กำหนดทั้งอัตราค่าไฟฟ้าหลัก (ค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งไม่ได้ปรับเปลี่ยนมาแล้วหลายปี) และ อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft : ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ) ค่า Ft ถูกกำหนดไว้เพื่อให้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงต้นทุนที่อยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อยู่เหนือการควบคุมของการไฟฟ้า คือค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้า และค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐที่เปลี่ยนแปลงไปจากต้นทุนคงที่ซึ่งคำนวณไว้ในค่าไฟฟ้าฐาน โดยมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ทำหน้าที่กำกับดูแล

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. อันเป็นคณะบุคคลจำนวน 7 คน (ประธานฯ 1 คน กรรมการ 6 คน ซึ่งได้รับการคัดสรรและได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง) ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน อันหมายถึง กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน ดังนั้นการพิจารณาปรับขึ้นหรือลดอัตราค่าไฟฟ้า จึงไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานที่เพียงแต่ทำหน้าที่ในการทำให้ราคาต้นทุนพลังงานที่นำมาใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าลดลงให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถลดค่า Ft ลงอันจะเป็นการช่วยเหลือประชาชนคนไทยได้

แต่เริ่มเดิมทีไทยเราผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานถ่านหินเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือ พลังงานน้ำ เมื่อบ้านเมืองมีการพัฒนาให้เจริญก้าวหน้า กอปรกับพลังงานถ่านหินที่มีอยู่ก็ลดน้อยลงไปตามการใช้งาน อีกทั้งยังก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ นอกจากนั้นแล้วการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าก็ถูกคัดค้านโดย NGO และบรรดานักอนุรักษ์ธรรมชาติทั้งหลาย เพราะความเจริญก้าวหน้าของประเทศนำมาซึ่งความต้องการในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซจึงเป็นกระบวนการหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าในเวลาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันทุกวันนี้

ปัจจุบันก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยมาจาก 3 แหล่ง คือ...

- ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย 
- ก๊าซธรรมชาติจากเมียนมา 
- ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot

โดยที่ผ่านมาผู้ที่ผูกขาดจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงเจ้าเดียวของไทยก็คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และปัจจุบันยังคงผูกขาดก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยและเมียนมา ในขณะที่ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่นำเข้าด้วยสัญญาระยะยาวและ LNG Spot นั้น ปี พ.ศ. 2567 กกพ.พึ่งจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าสามารถนำเข้าเองได้เป็นปีแรก

ในปัจจุบันราคาซื้อขาย LNG จะแตกต่างกันตามภูมิภาค ทั้งยังมีโครงสร้างราคาที่ต่างกัน ได้แก่...

- ตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะใช้ดัชนีราคา Henry Hub (HH) 
- ตลาดภูมิภาคยุโรป แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภทที่ใช้ดัชนีราคา National Balancing Point (NBP) และประเภทที่ใช้ดัชนีราคา Title Transfer Facility (TTF)
- ตลาดภูมิภาคเอเชีย จะใช้ดัชนีราคา Japanese Crude Cocktail (JCC) 

นอกจากนี้ ยังสามารถแบ่งรูปแบบการซื้อขายออกเป็น 2 รูปแบบ คือ...

- Spot คือการซื้อ-ขาย LNG ที่มีการส่งมอบเป็นรายเที่ยวเรือ เป็นไปตามราคาตลาดในช่วงเวลานั้นๆ 
- Term Contract คือ การซื้อ-ขาย ที่มีการส่งมอบสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาที่แน่นอน โดยจะคำนวณตามสูตรราคาอ้างอิงกับดัชนีราคาน้ำมันหรือราคาก๊าซฯ ตามข้อตกลงในสัญญาซื้อ-ขาย

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับราคา LNG ในปัจจุบันก็คือ ยุโรปยกเลิกการสั่งซื้อ LNG จากรัสเซียอันเนื่องมาจากการคว่ำบาตรรัสเซียที่ทำสงครามกับยูเครน ทำให้ต้องนำเข้า LNG จากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะตะวันออกกลางและแอฟริกา ราคา LNG จึงมีราคาเพิ่มขึ้น อีกทั้งการนำเข้า LNG มีต้นทุนค่าขนส่งและคลังจัดเก็บ ตลอดจนค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นสกุลเงินที่ใช้ในการซื้อขาย LNG กอปรกับแหล่งก๊าซของ บริษัทปตท. จำกัด (มหาชน) ไม่ว่าจะเป็นอ่าวไทยหรือเมียนมามีปริมาณการผลิตที่ลดลง เรื่องเหล่านี้จึงส่งผลกระทบต่อการคำนวณพิจารณาค่า Ft ซึ่งต้องนำราคา LNG ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุผลที่ได้กล่าวมานั้นไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคไหนก็ตาม จึงไม่สามารถกำหนดราคาค่าไฟฟ้าได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายของกกพ. แม้ว่าปัจจุบันภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะพยายามส่งเสริมการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานทางเลือก (Alternative energy) ไม่ว่าจะเป็นพลังงานธรรมชาติเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานลม หรือพลังงานน้ำ หรือพลังงานจากชีวมวล ฯลฯ ก็ตาม ต้องมีการจ่ายค่า Adder (ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่มโดยบวกเพิ่มจากอัตราค่าไฟฟ้าปกติเป็นระยะเวลา 7 หรือ 10 ปี ตามประเภทของโรงไฟฟ้า) ในอดีต และปัจจุบันจ่ายค่า  FiT (Feed-in-Tariff) อันเนื่องมาจากแม้จะไม่มีต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิง แต่จะมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของพลังจากธรรมชาติ และความเสี่ยงจากความผันผวนของต้นทุนในการจัดหาเชื้อเพลิงในกรณีพลังงานจากชีวมวล 

นอกจากนั้นแล้วไทยยังต้องมีการ 'สำรองไฟฟ้า' เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหาย หากเกิดเหตุฉุกเฉินจึงต้องมีการสำรองไฟฟ้าให้เพียงพอ https://thestatestimes.com/post/2023042021 และ https://thestatestimes.com/post/2023042443 

ดังนั้นราคาค่าไฟฟ้าที่กกพ.กำหนด จึงเป็นไปตามบริบทที่แท้จริงตามสภาวะการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการคำนวณค่า Ft หากไม่เช่นนั้นแล้วเหล่าบรรดานักกิจกรรมทางการเมือง นักร้อง นักเคลื่อนไหว นักการเมือง นักวิชาการ ฯลฯ ตลอดจนเหล่ามนุษย์ผู้หิวโหยหาแสงทั้งหลาย ยังไม่มีใครกล้านำข้อมูลที่นำมาสร้างเป็นกระแส 'ค่าไฟฟ้าแพง' ฟ้องร้องดำเนินคดีกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.เลยจนถึงทุกวันนี้

กกพ. เคาะ ‘ค่าไฟ’ งวดใหม่ 4.18 บาท  เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

(27 มี.ค. 67) นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. มีมติเห็นชอบค่าเอฟทีเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 คงเดิมที่ 39.72 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาทต่อหน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาทต่อหน่วย เท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน

สำนักงาน กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นผลการคำนวณค่าเอฟทีสำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2567 ผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน กกพ. ตั้งแต่วันที่ 8 - 22 มีนาคม 2567 

โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นจำนวนทั้งสิ้น 147 ความเห็น แบ่งเป็นการแสดงความเห็นต่อค่าเอฟทีตามกรณีศึกษาที่ กกพ. เสนอรวมทั้งสิ้น 61 ความเห็น แสดงความเห็นโดยเสนอค่าเอฟทีอื่น ๆ นอกเหนือจากกรณีศึกษารวม 50 ความเห็น และความเห็นในลักษณะข้อซักถามหรือคำถามอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับค่าเอฟทีจำนวน 36 ความเห็น

นายคมกฤช กล่าวอีกว่า การใช้ไฟฟ้าในระบบของ กฟผ. มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจำเป็นต้องนำเข้า LNG เพื่อเป็นเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นในการผลิตไฟฟ้า ดังนั้น ในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะมาถึง สำนักงาน กกพ. จึงขอให้ผู้ใช้ไฟฟ้าร่วมกันตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ ให้มีสภาพการใช้งานที่ดี เพื่อประหยัดการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่มีสภาพอากาศร้อน

รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าได้ง่าย ๆ 5 ป. ได้แก่ ปลด หรือถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าลดการใช้ไฟฟ้าเมื่อใช้งานเสร็จ ปิด หรือดับไฟเมื่อเลิกใช้งาน ปรับ อุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา เปลี่ยน มาใช้อุปกรณ์ประหยัดไฟเบอร์ 5 ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นเพื่อลดอุณหภูมิภายในบ้าน 

ซึ่งทั้ง 5 ป. จะช่วยลดการนำเข้า LNG ลดการเกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุดรอบใหม่ (New Peak Demand) ในระบบไฟฟ้าและยังช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของผู้ใช้ไฟฟ้า

เปิดยอดพีคไฟฟ้าปี 2567 รอบ 3 ทะลุ 33,340 เมกะวัตต์ คาดอากาศร้อนระอุ ดันสถิติใช้ไฟรอบ 4 พุ่งเป็นประวัติการณ์

ประเทศไทยร้อนจัด หลังก้าวเข้าสู่เดือน เม.ย. 2567 ประชาชนใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงสุดรอบที่ 3 ของปี 2567 เกิดพีคไฟฟ้าขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ช่วงกลางคืนเวลา 21.00 น. ยอดใช้ไฟฟ้าแตะ 33,340 เมกะวัตต์ จ่อทุบสถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่เกิดในปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์ ตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ชี้พีคไฟฟ้าปี 2567 อาจทะลุ 35,000 เมกะวัตต์ได้หากไม่มีฝนมาช่วยคลายร้อน

(2 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานว่า เมื่อก้าวเข้าสู่ฤดูร้อนเดือน เม.ย. 2567 ประเทศไทยก็เกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 ขึ้นทันที โดยเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ได้เกิดพีคไฟฟ้าสูงสุดของปี 2567 ขึ้น มียอดการใช้ไฟฟ้าถึง 33,340 เมกะวัตต์ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนสะสมมาหลายวันอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 35-43 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ประชาชนใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าคลายความร้อนมากขึ้น

โดยพีคไฟฟ้าดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 เฉพาะปี 2567 ซึ่งในแต่ละครั้งเกิดพีคไฟฟ้าดังนี้…

- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989 เมกะวัตต์
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. มียอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
- ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาพีคไฟฟ้าโดยภาพรวมจะพบว่า ยอดพีคไฟฟ้าในปี 2567 ดังกล่าว เริ่มใกล้เคียงกับยอดพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของไทย ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41 น. ที่มียอดพีคไฟฟ้าสูงสุดที่ 34,827 เมกะวัตต์ ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืนเช่นเดียวกับพีคไฟฟ้าของปี 2567 เช่นกัน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้คาดการณ์พีคไฟฟ้าช่วงฤดูร้อนของปี 2567 ว่า อาจเกิดยอดพีคไฟฟ้าทำลายสถิติสูงสุดมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์ หากมีสภาพอากาศร้อนสะสมยาวนาน และไม่มีฝนมาช่วย ทั้งนี้หากเกิดขึ้นจริงจะเป็นการใช้ไฟฟ้าที่ทำลายสถิติพีคของประเทศในปี 2566 ที่มียอดใช้ไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ประมาณ 34,827 เมกะวัตต์ และจะเป็นยอดพีคไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 15-16% จากพีคปี 2566 ด้ว

นอกจากนี้ ช่วงเวลาการเกิดพีคไฟฟ้าเริ่มไปเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นและมาช่วยตัดยอดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ แต่ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้ทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่น ๆ เต็มที่ ดังนั้น สนพ.คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะต้องบริหารจัดการกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับพีคไฟฟ้าใหม่ โดยต้องพิจารณาว่าในช่วงกลางคืนจะมีพลังงานทดแทนชนิดใดที่พึ่งพาได้มาช่วยเสริมระบบ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าส่วนเกิน เป็นต้น

สำหรับสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือน นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ดังนี้…

- เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051 เมกะวัตต์
- เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989 เมกะวัตต์
- เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
- เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์

ส่วนการใช้ไฟฟ้าล่าสุด วันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 14.22 น. มียอดการใช้ไฟฟ้าแตะ 31,476 เมกะวัตต์ ซึ่งหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 4 ขึ้นได้ และอาจทำลายสถิติพีคไฟฟ้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศได้เช่นกัน

เผยตัวเลขพีคไฟฟ้ารอบ 7 ปี 2567 ช่วงวันหยุดยาว ยอดใช้พุ่งถึง 34,656 เมกะวัตต์ เฉียดทำลายสถิติ

ยอดใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา เกิดพีคไฟฟ้าของปี 2567 รอบที่ 7 ถึง 34,656 เมกะวัตต์ 
ช่วงกลางคืนวันที่ 6 เม.ย. 2567 ในระบบของ 3 การไฟฟ้า เหตุอากาศร้อนสะสม เฉียดทำลายสถิติพีคไฟฟ้าประเทศปี 2566 พลังงานระบุ ได้โซลาร์เซลล์ช่วยตัดพีคไฟฟ้ากลางวัน ส่งผลให้เกิดการเกลี่ยไฟฟ้าไปใช้กลางคืนตามระบบอัตราค่าไฟฟ้า TOU ชี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใช้โรงไฟฟ้าให้เต็มประสิทธิภาพ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีไม่จำเป็นต้องปรับโครงสร้าง TOU ใหม่

เมื่อวานนี้ (9 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center - ENC) รายงานว่า จากสถิติการใช้ไฟฟ้าของไทยแบบเรียลไทม์ในระบบของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. ) พบว่าในช่วงวันหยุดยาว 3 วันที่ผ่านมา (วันที่ 6-8 เม.ย. 2567) สภาพอากาศร้อนสะสมต่อเนื่องทั่วประเทศ ส่งผลให้ยอดการใช้ไฟฟ้าในช่วง 3 วันดังกล่าวพุ่งเกิน 34,000 เมกะวัตต์โดยตลอด แต่ช่วงที่เกิดสถิติการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2567 นี้ ไปเกิดในวันที่ 6 เม.ย. 2567 มียอดใช้ไฟฟ้ารวม 34,656 เมกะวัตต์ ช่วงกลางคืนเวลา 20.54 น. ซึ่งพีคไฟฟ้าของปี 2567 นี้ นับว่าเข้าใกล้ยอดพีคไฟฟ้าของประเทศที่เคยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อปี 2566 ที่ 34,827 เมกะวัตต์

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่าหากสภาพอากาศยังคงร้อนสะสมต่อเนื่องไปอีก พีคไฟฟ้าของปี 2567 อาจทำลายสถิติของพีคไฟฟ้าประเทศที่เกิดปี 2566 ได้ ตามที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คาดการณ์ว่าพีคไฟฟ้าปี 2567 จะพุ่งสูงสุดเกิน 35,000 เมกะวัตต์ได้ อย่างไรก็ตามกรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในวันที่ 9-11 เม.ย. 2567 นี้จะเกิดพายุฤดูร้อนขึ้นหลายพื้นที่ในประเทศไทย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยให้ยอดการใช้ไฟฟ้าปรับลดลง

สำหรับระบบสถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ของ สำนักงาน กกพ. เป็นการรวบรวมยอดการใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ซึ่งเกิดขึ้นในแต่ละวัน ขณะที่สถิติการใช้ไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ในระบบของ กฟผ. จะเป็นยอดการใช้ไฟฟ้าในแต่ละวันของ กฟผ. เท่านั้น

ทั้งนี้พีคไฟฟ้าปี 2567 ได้เกิดขึ้นต่อเนื่องกันมา 7 รอบแล้ว โดยเกิดขึ้นในเดือน เม.ย. 2567 มากที่สุดดังนี้…

ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.24 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,340 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 เวลา 20.51 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 33,827.1 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 4 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,196.5 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2567 เวลา 22.22 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,277.4 เมกะวัตต์
ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 20.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

ขณะที่เมื่อย้อนดูสถิติยอดใช้ไฟฟ้าในแต่ละเดือนของไทย นับตั้งแต่ ม.ค.- เม.ย. 2567 มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง เช่นกัน ดังนี้…

>> เดือน ม.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์
>> เดือน ก.พ. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์
>> เดือน มี.ค. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 7 มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์
>> เดือน เม.ย. 2567 มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่บางหน่วยงานแสดงความเห็นว่าควรปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าแบบ TOU ใหม่ (Time of use tariff) หรือ ‘อัตราค่าไฟฟ้าที่คิดตามช่วงเวลาการใช้งาน’ เนื่องจากพีคไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเกิดในช่วงกลางคืน และภาคอุตสาหกรรม รวมถึงผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) จะหันมาใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนด้วย จึงทำให้ยอดการใช้ไฟฟ้าเกิดพีคกลางคืนเป็นส่วนใหญ่นั้น ที่ผ่านมาทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ กฟผ. เคยหารือร่วมกันและได้ข้อสรุปว่า ไม่ควรปรับเปลี่ยน TOU

เนื่องจากการตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าโดยภาพรวม ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานดีอยู่แล้ว ซึ่งหากปรับเปลี่ยนอัตราค่า TOU หรือ เปลี่ยนช่วงเวลาให้พีคไฟฟ้าไปเกิดในตอนกลางวัน ก็จะทำให้เกิดความปั่นป่วนกับผู้ใช้ไฟฟ้าทั้งระบบ เช่น ปรับพีคไฟฟ้าไปเกิดช่วงกลางวันแทน โรงงานอุตสาหกรรมก็จะต้องเปลี่ยนช่วงเวลาการผลิตสินค้าไปช่วงกลางวันเช่นกันและแรงงานก็ต้องเปลี่ยนเวลาทำงานกันใหม่หมดด้วย

ที่ผ่านมามีการกำหนดค่า TOU เนื่องจากต้องการเกลี่ยการใช้ไฟฟ้าให้ได้ทั้งวัน ไม่เช่นนั้นจะเกิดพีคไฟฟ้ากลางวันตลอด และทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้ามาเพื่อรองรับพีคในช่วง 2-3 เดือนเท่านั้น ซึ่งไม่คุ้มค่าและจากนั้นโรงไฟฟ้าที่สร้างมาจะใช้งานไม่เต็มประสิทธิภาพ เพราะยอดการใช้ไฟฟ้าจะลดลงตามฤดูกาล ดังนั้นจึงกำหนด TOU เพื่อให้ประชาชนหันไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนบ้าง ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์และโรงไฟฟ้าก็ได้ผลิตไฟฟ้าเต็มประสิทธิภาพ และอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานด้วย

ดังนั้นการเกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางคืนนี้ ในความเป็นจริงถ้าไม่มีการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากแสงอาทิตย์ที่มีมากกว่า 3,000 เมกะวัตต์ จะส่งผลให้เกิดพีคไฟฟ้าช่วงกลางวันอยู่ดี ดังนั้นขณะนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของไทยเพิ่มขึ้น การที่ไม่เกิดพีคไฟฟ้ากลางวันเพราะมีโซลาร์เซลล์มาช่วยตัดพีคกลางวัน จึงเห็นการเกิดพีคช่วงกลางคืนแทนนั้นเอง

สำหรับ TOU จะแบ่งช่วงเวลาและอัตราคิดค่าไฟฟ้าดังนี้…

1. แรงดันไฟฟ้า 12-24 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.1135 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6037 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะสูงถึง 312.24 บาทต่อเดือน

2. แรงดันไฟฟ้าต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ ช่วง On Peak (09.00 - 22.00 น. วันจันทร์-วันศุกร์) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 5.7982 บาทต่อหน่วย ช่วง Off Peak (22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และ 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุด) อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 2.6369 บาทต่อหน่วย แต่ค่าบริการจะต่ำกว่าอยู่ที่ 24.62 บาทต่อเดือน

'เพจดัง' ชี้!! ค่าไฟแพงพออยู่แล้ว หลังคนกระหน่ำใช้ 'กลางวัน-กลางคืน' ฉะนั้น!! หากไปยุแยงพม่าแตก ระวังคนไทยอาจเดือดร้อนกว่านี้

(17 เม.ย. 67) จากเพจ 'สานต่อเจตนารมณ์ อาจารย์สมเกียรติ โอสถสภา' ได้โพสต์ข้อความ ระบุว่า...

เปิดเทอมหลังสงกรานต์วันแรก มีบิลค่าไฟมาหย่อนตู้ไปรษณีย์แต่เช้า เห็นค่าไฟแล้วจะเป็นลม 

มีรายงานข่าวมาว่าช่วงนี้คนไทยกระหน่ำเปิดแอร์ตอนกลางวัน ส่วนกลางคืนก็ยังเปิดแอร์แล้วยังมีชาร์จไฟรถเพิ่มขึ้นมา

จึงอยากเตือนนักการเมืองและนักวิชาการที่นำเสนอแนวทางและท่าทีของประเทศไทยต่อเหตุการณ์ในประเทศเมียนมา ว่าอย่าใช้อุดมการณ์นำให้มาก 

ให้เน้นความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยเป็นหลัก 

คนไทยไม่ต้องการมีปัญหาขาดแก๊ซ ไม่ต้องการจ่ายค่าไฟแพง ถ้าขาดแก๊ซเมียนมา มันจะแพงได้กว่านี้อีกเยอะ เพราะ ปตท. ต้องไปไล่ซื้อ LNG จากตลาด Spot มาทดแทนเพิ่มเข้าไปอีก

นี่เขียนจากใจและตัวเลขค่าไฟฟ้าเดือนนี้ล้วน ๆ

ส่วนเรื่องในเมียนมา เป็นเรื่องของมหาอำนาจผลักดันให้เกิด ไม่ใช่เรื่องที่เกิดเองตามธรรมชาติ คนที่รับเงินต่างชาติมา จะผลักดันให้ประเทศไทยรับลูกใคร ให้ไปทำอะไร ให้ไปหนุนหลังใครก็คิดดี ๆ

‘สาว’ อึ้ง!! เจอบิลค่าไฟพุ่ง 77 ล้านบาท คาด!! เจ้าหน้าที่กรอกตัวเลขผิด

(25 เม.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเพจ ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว’ โพสต์ข้อความระบุว่า สาวช็อก! ใบแจ้งหนี้ค่าไฟประจำเดือน เมษายน ทะลุ 77 ล้านบาท คาดเจ้าหน้าที่กรอกตัวเลขผิด

ซึ่งมีผู้ใช้เฟซบุ๊กท่านหนึ่ง ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความ ระบุว่า…“ใช้ไฟทั้งจังหวัดเลยมั้ง หัวจะปวด“

โดยพบว่า อัตราค่าไฟของเธอนั้นแปลกมาตั้งแต่เดือน มีนาคม (03) แล้ว โดยจะเห็นว่า ค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ เธอเสียประมาณ 2,503 บาท แต่เมื่อเดือนมีนาคม เธอเสียค่าไฟมากกว่า 11,524 บาท เพิ่มกว่า 8,000 บาท

และค่าไฟเดือนเมษายนกลับพุ่งถึง 77 ล้านบาท

หลังจากที่เรื่องราวดังกล่าวเผยแพร่ไปมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก เช่น

- “ค่าไฟทั้งประเทศหรือค่ะ”
- “หนาวแบบเฉียบพลันเลยถ้าเจอแบบนี้ไป”
- “เปิดแอร์เป็นแม่คะนิ้ง กะเล่นเป็นดรีมเวิร์ลป่ะเนี่ย 555”
- “5555555 ได้ใช้ไฟแทนทุกคนในประเทศแล้ว”
- “นี่จดผิดแล้วรู้ว่าผิดเพราะมันเยอะเกิน แต่ถ้าจดผิดแค่จำเงินเงินหลัก 100 หลัก 1000 เราจะรู้ได้อย่างไร”
- “ทั้งจังหวัด”
- “มันมีข้อหาทำให้ตกใจ ทำให้เสียเวลา เสียสุขภาพจิตใจมั้ยครับ? ทำงานชุ่ย ๆ ก็ต้องรับผิดชอบนะ”
- “บ้านน่าจะติดกะดวงอาทิตย์เลยเปิดแอร์ 1 พันตัว555”
- “ที่บ้านฉันขึ้นมาครึ่งต่อครึ่งเลย”

'Transformer Low Carbon เจริญชัย' รางวัลนวัตกรรม NiA ตอกย้ำ ลดค่าไฟ-ลดคาร์บอน อนุรักษ์พลังงาน

บจ.ฟาร์โซนิคส์ (ลำพูน) เมษาลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน พร้อมการสนับสนุนอนุรักษ์พลังงานโดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ / มหาวิยาลัยราชภัฏลำปาง / สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง อย่างต่อเนื่อง ก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality 

นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ กล่าว บริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ขอขอบคุณและแสดงความยินดีกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน และไว้ใจเลือกติดตั้งหม้อแปลง Low Carbon เป็นหม้อแปลงบริหารระบบจัดการพลังงานที่บริหารจัดการพลังงานสิ้นเปลืองให้เกิดประสิทธิภาพและมีความเสถียรภาพกับการใช้พลังงานไฟฟ้าที่มั่นคงและยั่งยืน ตอบโจทย์โรงงานอุตสาหกรรม, อาคาร สถานประกอบการตามนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลเร่งการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชน อันเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจ โดยสนับสนุนการจัดหาแหล่งพลังงานอย่างเหมาะสม ส่งเสริมการผลิตและการใช้พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม 

หม้อแปลงดังกล่าว ลดค่าไฟฟ้า 5-20% (Energy Saving) ลดคาร์บอน 5-20% (Low Carbon) มากกว่า 100 ล้านตัน ลดมลพิษ (Low Emission) ทำให้อุปกรณ์อายุการใช้งานยาวนานขึ้น (Long Life Equipment) เพื่อเป็นการตอบโจทย์ให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ เจ้าของอาคาร ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดก๊าซเรือนกระจก ลดโลกร้อน

นายสรสิทธิ์ ชลิศราพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด, ประธานกิตติมศักดิ์ สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน มีวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการและบริการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้โอกาสติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้า Low Carbon Platform การบริหารจัดการพลังงาน พร้อมก้าวสู่  Net Zero, LESS, CFP, CFO, Carbon Credit และ BOI นำล้ำทันสมัยที่สุดในอาเซียน อีกทั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมต้นแบบที่พร้อมจะดำเนินการตามนโยบายภาครัฐในการลดก๊าซเรือนกระจก และการประหยัดพลังงานอนุรักษ์พลังงาน ตอบโจทย์ นโยบายภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาพลังงานที่ยั่งยืน ต้องใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าสูงสุด

ดร.ณัฐวุฒิ จารุวสุพันธุ์ หัวหน้ากลุ่มงาน smart energy & innovation และ นักวิจัย สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response” ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการ ที่กล่าวในข้างต้นตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานถึง 9% โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดตันทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา 2-5 ปี ซึ่ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคมประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้า

สภาอุตสาหกรรม 3 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน และลำปาง) กล่าว ขอแสดงความยินกับ บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่อนุรักษ์พลังงานและลดค่าไฟฟ้า 100,000 บาท/เดือน อีกทั้งสภาฯ และ มช. พร้อมสนับสนุน บริษัท ฟาร์โซนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำต้นแบบด้านการประหยัดพลังงาน ตอบโจทย์ภาครัฐด้านการประหยัดพลังงาน พร้อมก้าวสู่ LESS, CFP, CFO, BOI, Carbon Credit, Net Zero, Carbon Neutrality


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top