Tuesday, 2 July 2024
ก๊าซเรือนกระจก

‘สนค.’ เผย ‘ตลาดโซลาร์เซลล์’ กำลังขยาย ทั่วโลกหันไปใช้ ‘พลังงานแสงอาทิตย์’ ชี้!! ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ประเทศส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก

(1 มิ.ย.67) สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ระบุว่า ปัจจุบันความต้องการใช้พลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่เร่งให้ทั่วโลกลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลและเกิดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก (Energy Transition) อาทิ สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน 

การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เห็นได้จาก กำลังการผลิตพลังงานทดแทนของโลกเพิ่มขึ้น โดยในปี 2023 อยู่ที่ 507 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 จากปี 2022 โดยเป็นสัดส่วนจากพลังงานแสงอาทิตย์ถึง 3 ใน 4 ของการผลิตพลังงานทดแทนทั้งหมด และคาดการณ์ว่าในปี 2025 สัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนจะคิดเป็นร้อยละ 35 ของการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก โดยมีจีนเป็นผู้นำด้านกำลังการผลิตโซลาร์เซลล์ของโลก ซึ่งในปี 2023 มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 450 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 116 และมีแผนที่จะขยายการลงทุนโรงงานโซลาร์เซลล์ไปยังเวียดนามกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อขยายการผลิตให้มากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มผลิตได้ในปี 2025 

ข้อมูลจากบริษัทวิจัยการตลาด Zion Market Research เปิดเผยว่า ในปี 2022 ตลาดโซลาร์เซลล์ทั่วโลกมีมูลค่า 90,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเป็น 215,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 ด้วยอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 11.5 สำหรับด้านการนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์ รายงาน S&P Global Market Intelligence แสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก ในปี 2023 โดยนำเข้าแผงโซลาร์เซลล์มากถึง 54 กิกะวัตต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 82 จากปี 2022 โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากจีน และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งไทย

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สำหรับประเทศไทย ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นและการทำงานรูปแบบ Work From Home จะส่งผลให้มูลค่าตลาดโซลาร์เซลล์ในไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2022-2025 จะเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 22 ต่อปี จนมีมูลค่า 67,268 ล้านบาท ในปี 2025 นอกจากนี้ มูลค่าการผลิตโซลาร์เซลล์ในไทย ปี 2023 อยู่ที่ 6,147.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต ร้อยละ 184.35 จากปี 2022 (2,161.95 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์ของไทย ปี 2023 อยู่ที่ 4,433.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตร้อยละ 80.87 จากปี 2022 (2,451.01 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) มูลค่าการส่งออกของไทยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5 ของการส่งออกโซลาร์เซลล์ในตลาดโลก

ซึ่งไทยครองส่วนแบ่งอันดับที่ 4 ของโลก รองจากจีน (55,857.19 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 63) เนเธอร์แลนด์ (9,752.84 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 11) และมาเลเซีย (5,319.73 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 6) โดยตลาดส่งออกสำคัญของไทย คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 3,223 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 75) เวียดนาม มูลค่า 495 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 11) อินเดีย มูลค่า 232 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 5) และจีน มูลค่า 175 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สัดส่วนร้อยละ 4) โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่มีการเติบโตมากถึงร้อยละ 144.35 จากปี 2022

นอกจากภาคการผลิตและการค้าแผงโซลาร์เซลล์ที่กำลังเติบโตแล้ว ไทยยังมีนโยบายกระตุ้นตลาดภายในประเทศ ที่ส่งเสริมให้เกิดการใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งในภาคธุรกิจและครัวเรือนมากขึ้น อาทิ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) สำหรับภาคประชาชนประเภทบ้านที่อยู่อาศัย หรือ โครงการ Solar ภาคประชาชน ส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองภายในบ้านได้ และไฟฟ้าส่วนที่เหลือจากที่ใช้งาน การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะรับซื้อ 2.20 บาท/หน่วย เป็นระยะเวลา 10 ปี 

และการดำเนินงานแก้ไขกฎหมาย ให้ภาคธุรกิจสามารถติดตั้ง Solar Rooftop ที่มีกำลังการผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลวัตต์ได้ โดยไม่เข้าข่ายโรงงานที่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า เพื่อปลดล็อกให้ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ศูนย์การค้า โรงแรม และภาคบริการ สามารถใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยลดต้นทุนในการประกอบธุรกิจ แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ 10 แผง (1 กิโลวัตต์) เทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ประมาณ 101 ต้น ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 901.3 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์

จากบริบทการเติบโตของภาคพลังงานทดแทน โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถขยายส่วนแบ่งในตลาดโลก และก้าวขึ้นไปเป็น 1 ใน 3 ของประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกโซลาร์เซลล์สูงสุดของโลก โดยผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญต่อการศึกษากฎระเบียบ ข้อกำหนด มาตรการของประเทศคู่ค้า ยกระดับคุณภาพสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ระดับสากล และขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนที่สามารถผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนพลังงาน และยกระดับระบบพลังงานไฟฟ้าไทยให้มีความเสถียรในระยะยาว ทั้งนี้ หน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถบูรณาการความร่วมมือกัน ทั้งด้านการสนับสนุนข้อมูลการค้าและแนวโน้มเศรษฐกิจ ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ การรักษาตลาดเดิมและเพิ่มตลาดใหม่ การหาแหล่งเงินทุน และการจัดหาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิต เพื่อส่งเสริมการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทย ท่ามกลางบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป 

ภารกิจสุดท้าทาย 'รัฐสภาไทย' เดินหน้าลดโลกร้อน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้สัมภาษณ์พูดคุยผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ในสัปปายะสภาสถาน ถึงทิศทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐสภาไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของภารกิจนี้ ว่า...

"รัฐสภาไทยมีคณะกรรมการเรื่องของ สภาสีเขียว ในการผลักดันให้รัฐสภาไทยเป็นต้นแบบสำคัญในการลดโลกร้อน ซึ่งมีการประชุมและตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ปี ค.ศ. 2050 ซึ่งท้าทายมาก ในขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ประมาณ 22,000 ตันต่อปี มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า รองลงมาคือ กระดาษ และขยะ ซึ่งวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในรัฐสภาได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เช่น หอสมุดรัฐสภา และสำนักการพิมพ์รัฐสภา เป็นต้น"

ด้าน คุณศิริพร โหตรภวานนท์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานหอสมุดรัฐสภา กล่าวว่า หอสมุดรัฐสภาได้เริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากได้เข้าร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากจัดการสิ่งแวดล้อมภายในหอสมุด เช่น การจัดการขยะ การรีไซเคิล (Recycle) การรียูส (Reuse) 

"ในปัจจุบันได้แบ่งงบประมาณจัดซื้อหนังสือจากเดิมในรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบอีบุ๊ก (e-Book) มากขึ้น นอกจากนี้ยังรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ไปยังข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ของหอสมุด โดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์ใช้แล้วมารียูส กระตุ้นเตือนเรื่องปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้งาน ใช้กระดาษ 2 หน้าอย่างคุ้มค่า จัดโซนแยกขยะต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หอสมุดเรามีถุงผ้าใส่หนังสือให้บริการ และมีการดิจิไทเซชั่น (Digitization) หนังสือ เอกสารแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเดินทางมายังหอสมุด โดยหอสมุดรัฐสภาได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและสิ่งแวดล้อม และได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2566"

ด้าน คุณวารุณี แก้วสอาด ผู้อำนวยการสำนักการพิมพ์รัฐสภา กล่าวถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสำนักการพิมพ์รัฐสภาว่า หลัก ๆ จะมุ่งเน้นการลดกระดาษในการพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันลดลงประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

"ในอดีตรัฐสภาไทย ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ กว่า 1,000 ตัน หรือประมาณบอลลูน 1 ลูก แต่ปัจจุบันสำนักการพิมพ์สามารถลดลงมาได้ 50% เหลือเพียง 500 ตัน นอกจากนี้สำนักการพิมพ์รัฐสภาได้จัดทำโครงการ ใต้ร่มสีเขียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์การลดโลกร้อนให้กับข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ในสำนักการพิมพ์ประมาณ 100 คน เป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน โดยทุกคนสามารถนำเสื้อผ้าของใช้มาแบ่งปัน หรือสินค้าเกษตรที่ปลูกอยู่สามารถนำมาขายได้ อีกประเด็นคือเรื่องน้ำเสียที่ปล่อยคาร์บอน ประมาณ 500 ตัน ซึ่งสำนักการพิมพ์เรามีบ่อพักน้ำเสียของเราเอง โดยมีการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้อง ถูกกรรมวิธีเกี่ยวกับการลดโลกร้อน นอกจากนี้เรายังได้นำอุปกรณ์เหลือใช้จากไม้พาเลทมาทำประโยชน์ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มกาแฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยสำนักการพิมพ์รัฐสภา ได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2565"

ท้ายสุด ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางเมตร และมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 100,000 ตารางเมตร คิดเป็น 20% ของพื้นที่รวม ซึ่งถือว่าเป็นรัฐสภาที่มีพื้นที่สีเขียวอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการมีพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ เนื่องจากต้นไม้ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของรัฐสภาไทย ภายใน ปี ค.ศ. 2050 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น

'อ.พงษ์ภาณุ' มอง Fast Fashion ตัวการใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้!! ธุรกิจเกี่ยวข้องควรตระหนัก ฟากไทยส่งเสริมผ้ารักษ์โลกแล้ว

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fast Fashion กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก' เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ธุรกิจ Fast Fashion ได้ส่งผลให้พฤติกรรมการผลิตและการบริโภคของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

Fast Fashion คือ การเปลี่ยนแฟชันด้วยความถี่ที่สูงมาก สมัยก่อนอาจมีการออกคอลเลคชันใหม่ปีละ 2 คร้้ง คือ Summer และ Winter Collection แต่ปัจจุบันอาจมีคอลเลคชันใหม่ทุกสัปดาห์ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการ Outsource การผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถและความต้องการซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้น

ปริมาณการผลิตและการบริโภคเสื้อผ้าที่มากขึ้น และเทคโนโลยีการผลิตที่ยังคงอาศัยการใช้น้ำและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง การใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะเสื้อผ้าเก่าจำนวนมากที่ไม่สามารถกำจัดได้ ได้ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคแฟชันที่มากขึ้นและถูกลงจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคในวงกว้างและผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศยากจน แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประชาคมโลกที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการเก็บภาษีเสื้อผ้า บางประเทศส่งเสริมธุรกิจเสื้อผ้าใช้แล้ว รวมทั้งธุรกิจให้ยืมเสื้อผ้า เป็นต้น

ส่วนในไทย ก็เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงมหาดไทยและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการผ้าไทย ซึ่งเป็นคนในระดับรากหญ้าและชุมชน เข้าถึงกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ อบก. โดยมีการคำนวณและติดเครื่องหมายรับรอง Carbon Footprint ซึ่งจะช่วยให้ผ้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกในราคาที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตจากที่เคยใช้สีเคมีในการฟอกย้อมมาใช้สีธรรมชาติ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก 

ขณะที่ขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย กำลังก้าวไปไกลอีกระดับ เมื่อ อบก. ได้ออกมาตรฐานโครงการใหม่ที่มีความเข้มข้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่เรียกว่า T-VER Premium อีกด้วย

แม้ว่าการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจะยากและมีต้นทุนสูงขึ้น แต่เชื่อแน่ว่าคาร์บอนเครดิตของไทยน่าจะมีราคาสูงขึ้น โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีการอนุมัติโครงการ T-VER Premium ขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 โครงการ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติโครงการร่วมมือกับญี่ปุ่นที่เรียกว่า Joint Credit Mechanism-JCM เพื่อสนับสนุนให้เอกชนของ 2 ประเทศร่วมทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน T-VER Premium ของไทยอีกด้วย

‘นักวิชาการสิ่งแวดล้อม’ เผย คนไทยต้องเสีย ‘ภาษีคาร์บอน’ เพิ่มขึ้น ชี้!! เป็นการกระตุ้นให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

(22 มิ.ย.67) ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หัวข้อ คนไทยกำลังจะต้องเสียภาษีคาร์บอนเพิ่มขึ้นอีกรายการ...เพื่อช่วยกันลดโลกร้อน มีเนื้อหาดังนี้

1. ปี 2569 ยุโรปจะเริ่มเก็บภาษี Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM หรือภาษีนำเข้าคาร์บอนเป็นมาตรการปรับราคาสินค้านำเข้าบางประเภทก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง อุตสาหกรรม มีเป้าหมาย จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้าให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้าโดยรวมไฮ โดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เช่น น็อตและสกรูที่ทำจากเหล็กและเหล็ก กล้า ด้วย โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อใบรับรอง CBAM ตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้านั้นและต้องจ่ายภาษีคาร์ บอนตามปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าที่ตนนำเข้า นอกจากนี้ยุโรปกำลังจะมีการขยายไปที่สินค้าประเภทอื่น ๆ อีกด้วย เช่น สารอินทรีย์พื้นฐานพลาสติกและโพลีเมอร์ แก้ว เซรามิค ยิปซัม กระดาษ เป็นต้น ผู้ส่งออกไทยเตรียมตัวจ่ายเพิ่ม...

2.สำหรับประเทศไทย ในปีงบประมาณปี 68 กรมสรรพสามิตจะเริ่มจัดเก็บภาษีคาร์ บอน (Carbon Tax)นำร่อง โดยจะนำภาษีคาร์บอนแทรกอยู่ในโครงสร้างภาษี คาดว่าจะเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนโดยเริ่มต้นที่น้ำมันดีเซลก่อนซึ่งน้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะปล่อยก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์ 0.0026 ตันคาร์บอน ดังนั้น น้ำมันดีเซล 1 ลิตรจะเสียภาษีคาร์บอนเท่ากับ 0.46 บาทต่อลิตรโดยบวกไว้ในราคาน้ำมัน

3. ภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) เป็นภาษีที่เก็บจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก โดยฐานภาษีคาร์บอนที่ใช้ในการจัดเก็บ มี 2 แบบ คือ
1.จัดเก็บภาษีทางตรงจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตสินค้า
2. จัดเก็บภาษีทางอ้อมตามการบริโภค
...ต่อไปผู้บริโภคเองอาจจะสามารถตัดสินใจเลือกอุดหนุนผลิตภัณฑ์ที่มีการปล่อยคาร์ บอนต่ำและสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้โดยดูจากฉลากคาร์บอนที่ติดมากับสินค้า

4.ประเทศไทยปักหมุดมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ภายในปี 2593 รวมถึงขยับสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net zero emissions)ภายในปี 2608 ได้ตั้งเป้าการลดก๊าซเรือนกระจกในรูปคาร์บอนไดออกไซด์ จากค่าสูงสุดของไทย 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ120 ล้านตันต่อปี โดยแผนระยะสั้นจากนี้ไปจนถึง ปี ค.ศ. 2573 จะลดก๊าซเรือนกระจก ให้ได้ 40%


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top