ภารกิจสุดท้าทาย 'รัฐสภาไทย' เดินหน้าลดโลกร้อน ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ภายในปี 2050

รายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้สัมภาษณ์พูดคุยผู้บริหารของหน่วยงานต่าง ๆ ในสัปปายะสภาสถาน ถึงทิศทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทาง ดร.ก้องเกียรติ สุริเย ประธานกรรมการ บริษัท จีอาร์ดี จำกัด และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการในการเดินหน้าเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรัฐสภาไทย ได้กล่าวถึงความเป็นมาของภารกิจนี้ ว่า...

"รัฐสภาไทยมีคณะกรรมการเรื่องของ สภาสีเขียว ในการผลักดันให้รัฐสภาไทยเป็นต้นแบบสำคัญในการลดโลกร้อน ซึ่งมีการประชุมและตั้งเป้าหมายในเบื้องต้นเพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายใน ปี ค.ศ. 2050 ซึ่งท้าทายมาก ในขณะที่ประเทศไทยได้ตั้งเป้าบนเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ (Carbon Footprint) ประมาณ 22,000 ตันต่อปี มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้า รองลงมาคือ กระดาษ และขยะ ซึ่งวันนี้หน่วยงานต่าง ๆ ในรัฐสภาได้ขับเคลื่อนอย่างจริงจังเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ เช่น หอสมุดรัฐสภา และสำนักการพิมพ์รัฐสภา เป็นต้น"

ด้าน คุณศิริพร โหตรภวานนท์ ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานหอสมุดรัฐสภา กล่าวว่า หอสมุดรัฐสภาได้เริ่มดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 เนื่องจากได้เข้าร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มจากจัดการสิ่งแวดล้อมภายในหอสมุด เช่น การจัดการขยะ การรีไซเคิล (Recycle) การรียูส (Reuse) 

"ในปัจจุบันได้แบ่งงบประมาณจัดซื้อหนังสือจากเดิมในรูปแบบกระดาษเป็นรูปแบบอีบุ๊ก (e-Book) มากขึ้น นอกจากนี้ยังรณรงค์สร้างการตระหนักรู้ไปยังข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ของหอสมุด โดยมีการนำวัสดุอุปกรณ์ใช้แล้วมารียูส กระตุ้นเตือนเรื่องปิดไฟเมื่อไม่ได้ใช้งาน ใช้กระดาษ 2 หน้าอย่างคุ้มค่า จัดโซนแยกขยะต่าง ๆ โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หอสมุดเรามีถุงผ้าใส่หนังสือให้บริการ และมีการดิจิไทเซชั่น (Digitization) หนังสือ เอกสารแปลงเป็นไฟล์ดิจิทัลจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าถึงได้ทางเว็บไซต์ โดยไม่ต้องเดินทางมายังหอสมุด โดยหอสมุดรัฐสภาได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสและสิ่งแวดล้อม และได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2566"

ด้าน คุณวารุณี แก้วสอาด ผู้อำนวยการสำนักการพิมพ์รัฐสภา กล่าวถึงแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสำนักการพิมพ์รัฐสภาว่า หลัก ๆ จะมุ่งเน้นการลดกระดาษในการพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันลดลงประมาณครึ่งหนึ่งแล้ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

"ในอดีตรัฐสภาไทย ปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นต์ กว่า 1,000 ตัน หรือประมาณบอลลูน 1 ลูก แต่ปัจจุบันสำนักการพิมพ์สามารถลดลงมาได้ 50% เหลือเพียง 500 ตัน นอกจากนี้สำนักการพิมพ์รัฐสภาได้จัดทำโครงการ ใต้ร่มสีเขียว เพื่อสร้างความตระหนักรู้และรณรงค์การลดโลกร้อนให้กับข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ในสำนักการพิมพ์ประมาณ 100 คน เป็นโครงการที่สร้างการมีส่วนร่วมในการลดโลกร้อน โดยทุกคนสามารถนำเสื้อผ้าของใช้มาแบ่งปัน หรือสินค้าเกษตรที่ปลูกอยู่สามารถนำมาขายได้ อีกประเด็นคือเรื่องน้ำเสียที่ปล่อยคาร์บอน ประมาณ 500 ตัน ซึ่งสำนักการพิมพ์เรามีบ่อพักน้ำเสียของเราเอง โดยมีการจัดการน้ำเสียอย่างถูกต้อง ถูกกรรมวิธีเกี่ยวกับการลดโลกร้อน นอกจากนี้เรายังได้นำอุปกรณ์เหลือใช้จากไม้พาเลทมาทำประโยชน์ เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มกาแฟ และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยสำนักการพิมพ์รัฐสภา ได้เข้าร่วมโครงการสำนักงานสีเขียวของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมและได้รับเครื่องหมาย G-green ระดับดีเยี่ยม (G-ทอง) ระดับประเทศใน ปี พ.ศ. 2565"

ท้ายสุด ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐสภาไทย มีพื้นที่ประมาณ 500,000 ตารางเมตร และมีพื้นที่สีเขียวประมาณ 100,000 ตารางเมตร คิดเป็น 20% ของพื้นที่รวม ซึ่งถือว่าเป็นรัฐสภาที่มีพื้นที่สีเขียวอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งการมีพื้นที่สีเขียวมีประโยชน์ เนื่องจากต้นไม้ช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ช่วยลดโลกร้อนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งการตื่นตัวและการมีส่วนร่วมของข้าราชการรัฐสภา เจ้าหน้าที่ และหน่วยงานต่างๆ อย่างจริงจัง จึงเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่สำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของรัฐสภาไทย ภายใน ปี ค.ศ. 2050 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น