'อ.พงษ์ภาณุ' มอง Fast Fashion ตัวการใหญ่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ชี้!! ธุรกิจเกี่ยวข้องควรตระหนัก ฟากไทยส่งเสริมผ้ารักษ์โลกแล้ว

ทีมข่าว THE STATES TIMES ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่พูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'Fast Fashion กับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก' เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า...

ธุรกิจ Fast Fashion ได้ส่งผลให้พฤติกรรมการผลิตและการบริโภคของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา 

Fast Fashion คือ การเปลี่ยนแฟชันด้วยความถี่ที่สูงมาก สมัยก่อนอาจมีการออกคอลเลคชันใหม่ปีละ 2 คร้้ง คือ Summer และ Winter Collection แต่ปัจจุบันอาจมีคอลเลคชันใหม่ทุกสัปดาห์ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงจากการ Outsource การผลิตไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีความสามารถและความต้องการซื้อเสื้อผ้าบ่อยขึ้น

ปริมาณการผลิตและการบริโภคเสื้อผ้าที่มากขึ้น และเทคโนโลยีการผลิตที่ยังคงอาศัยการใช้น้ำและการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลือง การใช้สารเคมีที่เป็นพิษกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งขยะเสื้อผ้าเก่าจำนวนมากที่ไม่สามารถกำจัดได้ ได้ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้ากลายเป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

แม้ว่าแนวโน้มการบริโภคแฟชันที่มากขึ้นและถูกลงจะเป็นประโยชน์กับทั้งผู้บริโภคในวงกว้างและผู้ผลิตซึ่งส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในประเทศยากจน แต่หากปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มนี้ จะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประชาคมโลกที่จะแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศเริ่มหันมาใช้มาตรการเก็บภาษีเสื้อผ้า บางประเทศส่งเสริมธุรกิจเสื้อผ้าใช้แล้ว รวมทั้งธุรกิจให้ยืมเสื้อผ้า เป็นต้น

ส่วนในไทย ก็เป็นที่น่ายินดีที่กระทรวงมหาดไทยและองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ได้ริเริ่มโครงการส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการผ้าไทย ซึ่งเป็นคนในระดับรากหญ้าและชุมชน เข้าถึงกลไกการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานของ อบก. โดยมีการคำนวณและติดเครื่องหมายรับรอง Carbon Footprint ซึ่งจะช่วยให้ผ้าไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกในราคาที่สูงขึ้น 

นอกจากนี้ยังได้มีการปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการผลิตจากที่เคยใช้สีเคมีในการฟอกย้อมมาใช้สีธรรมชาติ ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนมาก 

ขณะที่ขั้นตอนต่อไป ก็จะเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสร้างรายได้เสริมให้กับผู้ประกอบการผ้าไทยอีกด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ กลไกการลดก๊าซเรือนกระจกของไทย กำลังก้าวไปไกลอีกระดับ เมื่อ อบก. ได้ออกมาตรฐานโครงการใหม่ที่มีความเข้มข้นและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ที่เรียกว่า T-VER Premium อีกด้วย

แม้ว่าการทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจะยากและมีต้นทุนสูงขึ้น แต่เชื่อแน่ว่าคาร์บอนเครดิตของไทยน่าจะมีราคาสูงขึ้น โดยภายในสัปดาห์นี้จะมีการอนุมัติโครงการ T-VER Premium ขนาดใหญ่อย่างน้อย 4 โครงการ ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรียังได้อนุมัติโครงการร่วมมือกับญี่ปุ่นที่เรียกว่า Joint Credit Mechanism-JCM เพื่อสนับสนุนให้เอกชนของ 2 ประเทศร่วมทำโครงการลดก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐาน T-VER Premium ของไทยอีกด้วย