'ดร.สุวินัย' โพสต์อาลัยถึง 'บำรุง คะโยธา' หลังจากไปด้วยอาการสงบ ภูมิใจและดีใจที่เคยเป็น 'สหายร่วมรบ' กันในสมัยกลุ่มพันธมิตรฯ

(25 มิ.ย.67) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กไว้อาลัยแด่ คุณบำรุง คะโยธา โดยระบุว่า…

“หมากนิพพานของผู้บำเพ็ญอภิมรรค (2) : ไม่เสพอารมณ์ทั้ง 7”

“หลังจากที่เขาฝึกเคล็ด ‘กรรมฐานของมหาเทพ’ หรือเคล็ดลมปราณกรรมฐานเพื่อจิตอมตะที่คุรุเทพถ่ายทอดให้เขา ตัวเขาก็ทุ่มเทชีวิตจิตใจของเขาเข้าสู่มรรควิถีโพธิสัตว์อย่างเต็มตัว

“นี่เป็นการแสวงหาส่วนบุคคล เพื่อความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณอย่างก้าวกระโดดใหญ่ของตัวเขาเอง”

“ทุกค่ำคืนที่เขาล้มตัวลงนอน เขาก็พาตัวเองเข้าสู่โลกแห่ง ‘การตายก่อนตาย’ ”

“เมื่อตื่นขึ้นมา เขาก็เข้าสู่ ‘โลกแห่งความรู้ตัว’ บางครั้งความคิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีตแวบเข้ามา แต่เขาก็ตัดความอาลัยเหล่านั้นลงโดยเร็ว”

“มีแต่การฝึกลมปราณกรรมฐานเท่านั้นที่นำความพึงพอใจอย่างใหญ่หลวงให้แก่ตัวเขา ทำให้ตัวเขาไม่มุ่งมาดปรารถนาอื่นใดอีกในชีวิตที่เหลือ”

“สิ่งที่ผู้บำเพ็ญลมปราณกรรมฐานต้องระมัดระวังมากที่สุดคือ การเกิดอารมณ์ 7 ชนิด ซึ่งได้แก่
(1) ความแตกตื่น (驚)
(2) ความกลัว (慴)
(3) ความลังเลสงสัย (疑)
(4) ความฟุ้งซ่านสับสน (惑)
(5) ความประมาท (緩)
(6) ความโกรธ (怒)
(7) ความใจร้อนหงุดหงิด (焦)”

“เพราะอารมณ์ทั้ง 7 นี้คือข้อห้ามในการฝึกลมปราณกรรมฐาน และเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การฝึกจิตของผู้บำเพ็ญไม่ประสบความสำเร็จ”

“การบำเพ็ญลมปราณกรรมฐานทุกวัน คือการบ่มเพาะถนอมบำรุงพลังชีวิตควบคู่ไปกับการ "ดูจิต" เจริญวิปัสสนา โดยไม่เสพอารมณ์ใด ๆ โดยเฉพาะอารมณ์ทั้ง 7 จนกระทั่งจิตของผู้บำเพ็ญนิ่งเองดุจบ่อน้ำที่สงบงันจนสามารถสะท้อนดวงจันทร์ได้อย่างสวยงามหมดจด ผลที่ตามมาอีกอย่างหนึ่งก็คือตัวผู้บำเพ็ญสามารถจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองกำลังกระทำอยู่ในปัจจุบันขณะอย่างมีสติรู้ตัวบ่อย ๆ ได้”

“ผู้บำเพ็ญอภิมรรคย่อมใช้การฝึกลมปราณกรรมฐานเพื่อเข้าถึงตัวตนที่แท้จริง (真我) ได้อย่างล้ำลึก ด้วยวิธีการนี้เอง เขาย่อมสามารถมีอิทธิพลต่อจักรวาลรอบตัวเขา และจะไม่ถูกกระทบใด ๆ จากความเป็นอนิจจังของปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทางโลก”

“ตบะและขันติของเขาย่อมมีขึ้นเอง เพราะมีขันติ เขาจึงเป็นผู้เที่ยงธรรม มีใจเป็นธรรมได้ และเพราะเขามีใจเป็นธรรม เขาจึงมีใจที่เปิดกว้าง เป็นคนที่ใจกว้าง และเพราะเขาเป็นคนที่ใจกว้าง เขาจึงสามารถกระทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างงามสง่า”

“ความใจกว้างและวัตรปฏิบัติที่งดงามของเขา ทำให้ตัวเขาสามารถเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่เปี่ยมพร้อมไปด้วยความจริง ความดีและความงามได้”

“เพราะฉะนั้น เขาจึงกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอภิมรรค (道) ในที่สุด มันเป็นแค่เรื่องของเวลาว่าเมื่อไรเท่านั้น”

“คติประจำใจของผู้บำเพ็ญอภิมรรค
- ไม่แสวงหาความรุ่งโรจน์บนความเจ็บปวดของผู้อื่น
- ยอมละทิ้งตนเอง ผ่อนตามคนอื่นเสมอ
- ถนอมรักกับทุกสิ่ง สามารถรักโลกใบนี้ดุจรักตัวเอง
- ไม่ยึดติดในวัตถุ ไม่หลงใหลในอำนาจลาภยศสรรเสริญทางโลก
- แสวงหาทุกสิ่งจากภายในตัวเองด้วยการเจริญลมปราณกรรมฐาน
- มุ่งบ่มเพาะคุณธรรมต่าง ๆ ภายในตัวเอง จนกระทั่งมีจิตบริสุทธิ์ดุจทารกอีกครั้ง”

“ด้วยความปรารถนาดี
สุวินัย ภรณวลัย
Suvinai Pornavalai

“หมายเหตุ : คุณบำรุง คะโยธา เดินทางไกลครั้งสุดท้าย ด้วยอาการสงบ ณ บ้านกุดตาใกล้ ต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ วันที่ 24 มิถุนายน 2567 เวลา 16.25 น.”

“ขอน้อมส่งดวงวิญญาณของคุณบำรุงกลับสู่ ‘ดาวนักสู้’ ภูมิใจและดีใจที่เราเคยเป็น ‘สหายร่วมรบ’ กันในสมัยการต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรฯ (ปี พ.ศ. 2549-2556)”