ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้


👍 ติดตามผลงาน อาจารย์ปุณกฤษ ลลิตธนมงคล เพิ่มเติมได้ที่ : https://thestatestimes.com/author/ดร.ปุณกฤษ%20ลลิตธนมงคล