Tuesday, 2 July 2024
ประธานาธิบดี

‘วิลลาวิเซนซิโอ’ ผู้สมัครชิงตำแหน่ง ปธน.เอกวาดอร์ ถูกลอบยิงดับ ขณะลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 66 นายเฟร์นานโด วิลลาวิเซนซิโอ สมาชิกสภาแห่งชาติและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ถูกคนร้ายยิงเสียชีวิตระหว่างไปร่วมงานที่จัดขึ้นในเมืองตอนเหนือของกรุงกีโต เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม ตามเวลาท้องถิ่น

ทีมงานหาเสียงของนายวิลลาวิเซนซิโอให้สัมภาษณ์สื่อท้องถิ่นว่า นายวิลลาวิเซนซิโอกำลังก้าวเข้าไปในรถ เมื่อชายคนหนึ่งรุดขึ้นมาข้างหน้าและจ่อยิงเข้าที่ศีรษะของเขา โดยพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า นายวิลลาวิเซนซิโอถูกยิงถึง 3 ครั้ง

ขณะที่อัยการสูงสุดของเอกวาดอร์ระบุผ่านโซเชียลมีเดียว่า ผู้ต้องสงสัยถูกยิงและยังยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ก่อนที่มือปืนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมาเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ

ประธานาธิบดีกิเยร์โม ลาสโซ ของเอกวาดอร์ ซึ่งไม่ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งในครั้งนี้ให้คำมั่นว่า อาญชากรจะต้องถูกนำตัวมาลงโทษ โดยเขาแสดงความโกรธเคืองและตกใจกับเหตุสังหารดังกล่าว และว่าอาชญากรมาไกลเกินไปแล้ว แต่น้ำหนักของกฎหมายจะต้องกดทับพวกเขา

ทั้งนี้ อาชญากรรมที่รุนแรงมากขึ้นในเอกวาดอร์เมื่อไม่นานมานี้ ได้รับแรงหนุนจากแก๊งค้ายาในประเทศที่เพิ่มมากขึ้น และเรื่องดังกล่าวได้กลายมาเป็นประเด็นการหาเสียงเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ในปีนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายลาสโซได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิวในช่วงค่ำคืนใน 3 จังหวัดหลัก หลังมีการสังหารหมู่ที่เชื่อมโยงกับกลุ่มอาชญากร

นอกจากเรื่องควาปลอดภัยแล้ว การรณรงค์หาเสียงของนายวิลลาวิเซนซิโอยังเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการทุจริต ซึ่งเป็นหัวข้อที่เขาให้ความสำคัญขณะที่ทำงานเป็นนักข่าวมาก่อนหน้านี้ รวมถึงการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม

นายวิลลาวิเซนซิโอเป็น 1 ใน 8 ผู้สมัครในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเอกวาดอร์รอบแรก แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้ที่คาดว่าจะเป็นผู้นำในการเลือกตั้งดังกล่าว

การสังหารนายวิลลาวิเซนซิโอเกิดขึ้นหลังจากการสังหารนายออกัสติน อินทริอาโก นายกเทศมนตรีเมือง Manta ในเดือนกรกฎาคม และการสังหารนายโอมาร์ เมเนนเดซ ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกเทศมนตรีในเมือง Puerto López ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

นายออตโต ซอนเนนโฮลซ์เนอร์ อดีตรองประธานาธิบดีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในครั้งนี้ ได้แสดงความเสียใจและความเป็นหนึ่งเดียวกับครอบครัวของนายวิลลาวิเซนซิโอ ซึ่งมีบุตรถึง 5 คน

ขณะที่ลุยซา กอนซาเลส ผู้ที่คาดว่าจะมีคะแนนนำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ ก็แสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับครอบครัวของนายวิลลาวิเซนซิโอ พร้อมทั้งบอกด้วยว่า การกระทำอันเลวทรามนี้จะต้องไม่ถูกปล่อยให้ไม่ได้รับโทษ

ทั้งนี้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีเอกวาดอร์กำหนดจะมีขึ้นในวันที่ 20 สิงหาคมนี้

‘Marianne Williamson’ หญิงแกร่งแห่งพรรค Democratic ผู้ท้าชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ที่วาดฝันจะสามารถเปลี่ยนสหรัฐฯ ได้

โลกใบนี้จะเปลี่ยนไป… หากในปี ค.ศ. 2024 ‘Marianne Williamson’
ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา

ปัจจุบันทุกวันนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีบทบาทมากที่สุดบนโลกใบนี้ นับเนื่องมายาวนานตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 คือ บทบาทการเป็นผู้นำโลกเสรี แม้กระทั่งประเทศผู้นำของคอมมิวนิสต์ขั้วตรงข้ามอันได้แก่ ‘สหภาพโซเวียต’ จะถึงกาลอวสานล่มสลายไปแล้วก็ตาม แต่สหรัฐอเมริกายังคงอยู่ในบทบาทนี้มาโดยตลอดจนทุกวันนี้

ตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นทั้งผู้นำรัฐบาลและประมุขแห่งรัฐนั้นเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมของชาวอเมริกันผ่านคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ทุก 4 ปี และมีวาระในการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 สมัย ปีหน้า ค.ศ. 2024 จะเป็นปีที่ Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบันดำรงตำแหน่งครับ 4 ปีในวาระแรก ซึ่งโดยปกติแล้วประธานาธิบดีในตำแหน่งมักจะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในสมัยที่ 2 โดยอัตโนมัติ ถ้าไม่มีคู่แข่งขันหรือผู้ท้าชิงภายในพรรค เว้นแต่จะวางมือทางการเมืองเอง

แต่สำหรับการเลือกตั้งปี ค.ศ. 2024 ปรากฏว่า ภายในพรรค Democratic มีผู้เข้าท้าชิงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีก 2 คน คนแรกคือ ‘Robert F. Kennedy Jr.’ หรือ ‘RFK Jr. วัย 69 ปี จากตระกูลคหบดีและนักการเมืองเก่าแก่ Kennedy ซึ่งเขาเป็นบุตรชายของ ‘Robert Kennedy’ ผู้เป็นน้องชายของประธานาธิบดี Kennedy วุฒิสมาชิกแห่งมลรัฐ Massachusetts และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรียุติธรรมในรัฐบาลของพี่ชาย Robert Kennedy ผู้ที่ถูกลอบยิงจนเสียชีวิต ขณะรณรงค์หาเสียง เพื่อชิงตำแหน่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Democratic สำหรับ Robert F. Kennedy Jr. ผู้เป็นลูก ซึ่งจะเป็นผู้เข้าท้าชิงผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Democratic ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี ค.ศ. 2024 เป็นทนายความด้านสิ่งแวดล้อม นักเขียน และนักเคลื่อนไหวต่อต้านวัคซีน mRna

และคนต่อมา ซึ่งคือผู้ที่เราจะได้นำเรื่องราวและแนวคิดของเธอมาบอกเล่าคือ ‘Marianne Deborah Williamson’ (เกิด 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1952) วัย 71 ปี เธอเกิดที่เมือง Houston รัฐ Texas เป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาลูกทั้ง 3 คนของ ‘Samuel Sam Williamson’ ทหารผ่านศึกในสงครามโลกครั้งที่ 2 และทนายความด้านการย้ายถิ่นฐาน และ ‘Sophie Ann Kaplan’ แม่บ้านและอาสาสมัครในชุมชน Peter พี่ชายของเธอเป็นทนายความด้านการย้ายถิ่นฐานเหมือนกับบิดาของเขา พี่สาวผู้ล่วงลับของเธอ ‘Elizabeth Jane’ เป็นคุณครู บิดาของเธอและปู่ย่าตายายของเธอเป็นผู้อพยพชาวยิว-รัสเซีย ปู่ของเธอเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘Vishnevetsky’ เป็น ‘Williamson’ หลังจากเห็นป้ายโฆษณา ‘บริษัท Alan Williamson จำกัด’ บนรถไฟ เธอได้รับการเลี้ยงดูมาในครอบครัวชนชั้นกลางที่นับถือศาสนายิวแบบอนุรักษ์นิยม จึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาของโลก และความยุติธรรมทางสังคมจากครอบครัว Williamson บรรยายตัวเองว่าเป็น ‘สาวยิว’ ในการให้สัมภาษณ์ในปี ค.ศ. 2022 เธอเริ่มสนใจในการสนับสนุนและเข้าร่วมในเรื่องราวสาธารณะต่าง ๆ เมื่อเธอเห็น ‘Rabbi’ นักบวชในศาสนายิวของเธอ กล่าวต่อต้านสงครามเวียดนาม และทำให้เธอมีแนวคิดแบบเสรีนิยมมาจนทุกวันนี้

เธอผ่านพ้นเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย เธอมีชีวิตแต่งงานช่วงสั้น ๆ ในปี ค.ศ. 1979 กับนักธุรกิจชาว Houston เธอบอกว่า การแต่งงานของเธอใช้เวลาเพียง ‘นาทีครึ่ง’ เท่านั้น ในปี ค.ศ. 1990 เธอให้กำเนิดลูกสาวชื่อ ‘India Emmaline’ และมีหลานยายหนึ่งคน ในปี ค.ศ. 2012 การสำรวจความคิดเห็นของ Newsweek เสนอให้เธอเป็นหนึ่งใน ‘50 baby boomers’ (ผู้ที่เกิดในยุค baby boom) ที่มีอิทธิพลมากที่สุด

‘Marianne Williamson’ เป็นนักเขียน เธอแต่งหนังสือ 14 เล่ม ส่วนใหญ่เกี่ยวเรื่องของจิตวิญญาณ รวมถึงบทภาพยนตร์ ‘Advice, How To and Miscellaneous’ หนังสือที่เธอแต่ง 7 เล่ม อยู่รายชื่อหนังสือขายดีของ ‘The New York Times’ โดย 4 เล่มที่เปิดตัวมียอดขายสูงสุด ในปี ค.ศ. 1998 เธอเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Peace Alliance’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และยังเป็นผู้ก่อตั้ง ‘Project Angel Meal’ องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในปี ค.ศ. 1989 ซึ่งให้บริการอาหารฟรี สำหรับผู้ที่ป่วยเกินกว่าจะซื้อของและปรุงอาหารเองได้ โดยให้บริการในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเทศมณฑล Los Angeles กับ Los Angeles ตอนใต้ และนคร Los Angeles เป็นพื้นที่ให้บริการที่ใหญ่ที่สุด 2 แห่งขององค์กรนี้ ในปี ค.ศ. 2017 ผู้รับบริการคือ ชาวอเมริกันเชื้อสายฮิสแปนิกและลาติโน 39% ชาวแอฟริกันอเมริกัน 29% คนขาว 21% และเชื้อชาติอื่น ๆ อีก 11%

เธอไปออกรายการ ‘The Oprah Winfrey Show’ หลายครั้ง จนกลายเป็นที่ปรึกษาด้านจิตวิญญาณของ ‘Oprah Winfrey’ ด้วย เธอเคยสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ (ผู้สมัครอิสระ) เขตรัฐสภาที่ 33 ของมลรัฐ California ในปี ค.ศ. 2014 แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เธอสมัครเป็นสมาชิกพรรค Democratic ในปี ค.ศ. 2019 และลงสมัครชิงตำแหน่งผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรค Democratic ในปี ค.ศ. 2020 ในที่สุดก็ถอนตัว และหันไปสนับสนุน ‘Bernie Sanders’ แทน แต่ก็พ่ายให้กับ Joe Biden ผู้ซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนปัจจุบัน และครั้งนี้เธอลงสมัครชิงตำแหน่งตัวแทนผู้สมัครประธานาธิบดีของพรรค Democratic สำหรับการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี ค.ศ. 2024 ในเวทีรณรงค์หาเสียง ในตำแหน่งผู้แทนพรรคเพื่อเป็นผู้สมัครประธานาธิบดี Williamson เรียกร้องให้เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การจ่ายค่าชดเชยสำหรับความอยุติธรรมทางเชื้อชาติ การจัดการกับสภาพภูมิอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลง และการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา

การรณรงค์ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ค.ศ. 2024 วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 เธอยืนยันว่า เธอจะเปิดตัวลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีใน ปี ค.ศ. 2024 เธอเริ่มการรณรงค์หาเสียงในวันที่ 4 มีนาคม ค.ศ. 2023 โดยมีนโยบายในด้านต่าง ๆ ดังนี้

- สิทธิในการทำแท้ง เธอสนับสนุนการเข้าถึง การทำแท้ง การบริการ และทางเลือกต่าง ๆ เธอได้พูดสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง ที่ได้รับการประกันภายใต้การคว่ำบาตรในขณะนี้ ตามคำตัดสินของศาลสูงสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 1973 (Roe v. Wade)

- การชดเชยสำหรับชาวอเมริกันผิวสี เธอสนับสนุนการจัดสรรเงินค่าชดเชยผู้ที่เคยเป็นทาส หรือลูกหลานทายาท มูลค่า 200-500 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งกระจายไปตลอด 20 ปี สำหรับ ‘โครงการทางเศรษฐกิจและการศึกษา’ โดยจะจ่ายตามคำแนะนำของกลุ่มผู้นำผิวสีที่ได้รับเลือก

- การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและพลังงาน เธอถือว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น ‘ความท้าทายทางศีลธรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคปัจจุบัน’ เธอสนับสนุนข้อตกลงใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และกลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกครั้งโดยทันที และระบุว่า เธอยินดีที่จะสนับสนุนความร่วมมือภาคพื้นแปซิฟิก หากมีการรวมการคุ้มครองคนงานและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และเธอยังสนับสนุนการอุดหนุนโดยตรงของสหรัฐฯ จากเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงถ่านหิน และลงทุนใหม่ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ทั้งในสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

- การควบคุมอาวุธปืน เธอสนับสนุนการควบคุมอาวุธปืน โดยอธิบายว่า ปัญหานี้เป็นเรื่องส่วนตัวสำหรับเธอ เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2018 เธอได้กล่าวปาฐกถาสำคัญแก่สตรีมุสลิมและชาวยิวหลายร้อยคน ที่การประชุม Sisterhood of Salaam-Shalom ในเมือง Doylestown มลรัฐ Pennsylvania แปดวันหลังจากชาวยิว 11 คนถูกสังหารที่โบสถ์ยิว ‘Tree of Life’ ในเมือง Pittsburgh เธอคัดค้านความกลัวที่ว่า ‘เรื่องนี้จะถูกใช้เป็นพลังทางการเมือง’ และสนับสนุนการทดแทนด้วยการมอบความรักต่อกัน

- การดูแลสุขภาพและการฉีดวัคซีน เธอสนับสนุนการดูแลสุขภาพถ้วนหน้าภายใต้ ‘แผน Medicare for All’ และสนับสนุนกฎระเบียบที่เป็นอิสระของอุตสาหกรรมยา เพื่อป้องกันสิ่งที่เธอเรียกว่า ‘การปฏิบัติแบบน่าล่า’

- การย้ายถิ่นฐาน เธอไม่สนับสนุนการเปิดพรมแดน แต่เรียกร้องให้สิ่งที่เธออธิบายว่า เป็นแนวทางที่มีมนุษยธรรมมากขึ้นต่อนโยบายเรื่องพรมแดน ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2019 เธอวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดี ‘Donald Trump’ ในขณะนั้น เกี่ยวกับนโยบายการเข้าเมืองของเขา หลังจากมีรายงานว่า เด็กถูกแยกออกจากครอบครัวและถูกส่งตัวเข้าศูนย์กักกัน เธอเรียกการกระทำเหล่านี้ว่า ‘อาชญากรรมที่รัฐสนับสนุน’ หลังจาก Trump ประกาศว่า “ICE จะเริ่มการส่งผู้อพยพจำนวนมากกลับประเทศ” เธอกล่าวว่า “ไม่แตกต่างกับสิ่งที่ชาวยิวเผชิญกับนาซีเยอรมนีในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2” นอกจากนั้น เธอยังสนับสนุนการดำเนินการรอการตัดบัญชีสำหรับการมาถึงในวัยเด็ก (DACA) และขยายการคุ้มครองและการแปลงสัญชาติให้กับผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งถูกนำตัวมายังสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยไม่คำนึงถึงอายุปัจจุบันของพวกเขา

- ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของชาติ เธอสนับสนุนการจัดตั้งกระทรวงสันติภาพของสหรัฐอเมริกา เพื่อช่วยในการออกแบบที่เธอเสนอใหม่ ซึ่งรวมถึงแผนการจัดตั้งสถาบันสันติภาพ ซึ่งจำลองมาจากสถาบันการทหาร แต่ยังคงสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางทหาร เมื่อชาติพันธมิตร NATO ถูกคุกคาม เมื่อสหรัฐอเมริกาตกอยู่ภายใต้การคุกคามของการโจมตี หรือ ‘เมื่อระเบียบด้านมนุษยธรรมของโลกตกอยู่ในความเสี่ยง’ เธอสนับสนุนการถอนทหารสหรัฐฯ ทั้งหมดออกจากอัฟกานิสถานอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด และจะพิจารณาใช้กองกำลังรักษาสันติภาพของสหประชาชาติดำเนินการแทน เธอกล่าวว่า “สหรัฐฯ มีฐานทัพในต่างประเทศมากถึง 750 แห่ง หากสามารถลดทอนงบประมาณด้านการทหารลงได้ จะสามารถนำไปใช้ดำเนินการโครงต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ได้อีกมาก”

- เธอสนับสนุนสหรัฐฯ อย่างจริงจัง โดยใช้จุดยืนของตน เช่น ผ่าน CFIUS : The Committee on Foreign Investment in the United States (คณะกรรมการร่วมของหน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบธุรกรรมบางอย่าง ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนจากต่างประเทศในสหรัฐอเมริกา และธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์บางอย่างโดยบุคคลต่างชาติ เพื่อพิจารณาผลกระทบของธุรกรรมดังกล่าวต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา) เพื่อป้องกันไม่ให้จีนซื้อบริษัทที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเธอเชื่อว่าจะช่วยปกป้องเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ผลประโยชน์ และสิทธิมนุษยชน เช่นเดียวกับในกรณีของชาวอุยกูร์และผู้อยู่อาศัยในฮ่องกง เธอสนับสนุนการกลับเข้าร่วมแผนปฏิบัติการร่วมฉบับสมบูรณ์ (JCPOA : Joint Comprehensive Plan of Action) ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างประเทศต่อโครงการนิวเคลียร์อิหร่าน ซึ่งบรรลุในกรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ค.ศ. 2015 ระหว่างประเทศอิหร่านกับ P5+1 (สมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ 5 ประเทศ ได้แก่ ประเทศจีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกาบวกเยอรมนี) และสหภาพยุโรปอีกครั้ง และวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของประธานาธิบดี Trump ที่ยกระดับความตึงเครียดกับอิหร่าน เธอสนับสนุนการแก้ปัญหา 2 รัฐ ต่อความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล–ปาเลสไตน์

- ชุมชน LGBTQ เธอสนับสนุนรัฐบัญญัติความเท่าเทียมกัน

- ค่าแรงขั้นต่ำ เธอสนับสนุนการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลกลางเป็น 15 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง

เห็นได้อย่างชัดเจนว่า นโยบายของ Marianne Williamson ค่อนข้างจะมีทัศนคติเชิงบวกต่อความสงบสุขและสิ่งแวดล้อมของโลก แต่จากสรุปผลสำรวจเปรียบเทียบระหว่างผู้เข้าท้าชิงเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Democratic ทั้ง 3 คนแล้ว เธอมาเป็นอันดับ 3 ท้ายสุด ห่างจาก Joe Biden ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผู้นำในทุก Poll มาก ส่วน Robert F. Kennedy Jr. ตามมาเป็นอันดับ 2 แต่ก็ถูกประธานาธิบดี Biden นำชนิดทิ้งกันไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว

ส่วน Marianne Williamson เธอมีคะแนนที่เลือกเพียงครึ่งเดียวของ Robert F. Kennedy Jr. เท่านั้น จึงเป็นการยากมาก ๆ ที่เธอจะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Democratic เพื่อไปชิงชัยในตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Republican กอปรกับคณะกรรมการระดับชาติของพรรค Democratic ได้แสดงการสนับสนุนประธานาธิบดี Biden อย่างเต็มที่แล้ว

และ ณ เดือนมีนาคม ค.ศ. 2023 คณะกรรมการระดับชาติของพรรค Democratic ก็ยังไม่มีแผนที่จะจัดเวที debate เบื้องต้น ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรคอย่างเป็นทางการใด ๆ ซึ่ง Marianne Williamson ได้วิพากษ์วิจารณ์การตัดสินใจครั้งนี้ว่าเป็น ‘แผนการที่มีการเตรียมการเอาไว้แล้ว’ และ ‘เป็นกระบวนการกีดกันผู้สมัครรายอื่น’ ด้วยแนวคิดและนโยบายของเธอ แม้ว่าจะเป็นมิตรกับความสงบสุขและสิ่งแวดล้อมของโลก แต่นโยบายเช่นนี้ก็เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของบรรดากลุ่มทุนการเมืองต่าง ๆ ของสหรัฐฯ เธอจึงไม่น่าที่จะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของพรรค Democratic เลยแม้แต่น้อย

‘สว.มะกัน’ เล่นเกมแรง ยื่นญัตติถอดถอน ‘โจ ไบเดน’ ขยี้ปมคอร์รัปชันผ่านลูกชาย แม้ไร้ผล แต่เชื่อแต้มหด

พอใกล้เข้าสู่บรรยากาศการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา เกมการเมืองยิ่งเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดวันนี้ ‘เควิน แมคคาร์ธีย์’ วุฒิสมาชิกจากพรรคฝ่ายค้าน รีพับลิกัน ได้ยื่นประเด็นกล่าวหา ‘โจ ไบเดน’ ผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบันจากพรรคเดโมแครต ว่าพัวพันการทุจริต คอร์รัปชัน รับสินบนจากบริษัทข้ามชาติ เพื่อนำไปสู่การพิจารณาถอดถอน โจ ไบเดน พ้นจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ

โดยวุฒิสมาชิก แมคคาร์ธีย์ อ้างว่าต้องการเปิดโปงรูปแบบ ‘วัฒนธรรมการคอร์รัปชัน’ ของครอบครัวไบเดน ที่มีมานานตั้งแต่เมื่อโจ ไบเดน ยังดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีในสมัย ‘บารัค โอบามา’ ซึ่งข้อกล่าวหาส่วนใหญ่ที่หยิบยกมาล้วนเกี่ยวพันกับธุรกิจครอบครัวไบเดน โดยเฉพาะ ‘ฮันเตอร์ ไบเดน’ บุตรชายของ โจ ไบเดน ที่ใช้ชื่อเสียงของพ่อเป็นใบเบิกทางสู่ผลประโยชน์ด้านธุรกิจของตนเองหลายล้านเหรียญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา 

สื่อต่างชาติได้รวบรวมประเด็นที่ฝ่ายรีพับลิกันหยิบยกขึ้นมากล่าวหาโจ ไบเดน และครอบครัวไว้ดังนี้ 

1.) โจ ไบเดน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อผลประโยชน์ให้ลูกชาย - ฮันเตอร์ ไบเดน ตั้งแต่สมัยเป็นรองประธานาธิบดีสหรัฐฯ

ประเด็นนี้ ‘เจมส์ โคเมอร์’ สมาชิกพรรครีพับลิกันจากรัฐเคนทัคกี เคยตั้งข้อสงสัยเรื่องการพบปะสังสรรค์ของโจ ไบเดน กับกลุ่มทุนผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในยุโรปตะวันออกจำนวนมากในช่วงที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อกรุยทางให้ลูกชายและ หนึ่งในบริษัทที่ถูกตั้งข้อสงสัยคือ Burisma บริษัทกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของยูเครนที่ ฮันเตอร์ ไบเดน ได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งบอร์ดผู้บริหาร และได้รับค่าตอบแทนสูงว่า 10 ล้านเหรียญต่อปี และนำไปสู่ข้อกล่าวหาต่อมาคือ

2.) โจ ไบเดน และ บุตรชาย รับเงินสินบนจากกลุ่มทุนต่างชาติ 

โดยพรรคฝ่ายค้านเคยยื่นหลักฐานว่า ‘มิโคลา สโลเชฟสกี’ อดีตผู้บริหารระดับสูงของ Burisma เคยจ่ายเงินให้กับทั้ง โจ และ ฮันเตอร์ ไบเดน กว่า 5 ล้านเหรียญ แต่ต่อมาเขากลับคำให้การว่าไม่รู้ ไม่เห็นการจ่ายเงินดังกล่าว และนอกเหนือจาก Burisma แล้ว ยังมีข้อกล่าวหาอีกด้วยว่าครอบครัวไบเดนเคยรับเงินจากแหล่งทุนอิทธิพลต่างชาติ ทั้งจีน รัสเซีย คาซัคสถาน และโรมาเนีย กว่า 20 ล้านเหรียญมาแล้ว แต่โจ ไบเดน ได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา 

3.) โจ ไบเดน จงใจปกปิดธุรกิจของลูกชาย ที่อาจพัวพันกับการรับเงินสินบน และฟอกเงินไปต่างประเทศ 

ซึ่งพบหลักฐานการโอนเงินราว 1.4 แสนเหรียญ จากนายทุนชาวคาซัคสถานไปเข้าบัญชีบริษัทเปลือกหอย (บริษัทที่จดทะเบียนแต่ในนาม ในต่างประเทศที่ให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี) ของ ฮันเตอร์ ไบเดน ที่ถูกนำไปซื้อรถหรูส่วนตัวในเวลาต่อมา รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจของครอบครัวไบเดน กับกลุ่มนายทุนใหญ่รัสเซีย และยูเครน 

4.) ครอบครัวไบเดนได้รับ ‘การดูแลเป็นพิเศษ’ เหนือนักการเมืองคนอื่นจากเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยพรรครีพับลิกัน ตั้งข้อสังเกตว่า ข้อกล่าวหาครอบครัวไบเดนไปพัวพัน มักไม่ค่อยถูกยกขึ้นมาเป็นคดี หรือถ้าถึงขั้นเป็นคดีความขึ้นศาล ก็มักถูกตัดจบลงอย่างง่ายดายเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ ที่อาจบ่งชี้ว่า โจ ไบเดน ใช้อำนาจในตำแหน่งกดดันการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้เหมือนกัน

เมื่อรวบรวมประเด็นได้ตามนี้ ฝ่ายรีพับลิกันจึงเล่นเกมแรง ยื่นประเด็นถอดถอน โจ ไบเดน จากตำแหน่งด้วยข้อหาคอร์รัปชัน ใช้อำนาจ หน้าที่ เอื้อผลประโยชน์ให้ธุรกิจครอบครัว และรับสินบน แม้ข้อกล่าวหาส่วนใหญ่จะเคยถูกพิจารณา และตีตกไปแล้วเพราะ ‘หลักฐานไม่เพียงพอ’

แต่ทั้งนี้ ฝ่ายรีพับลิกันเองก็ไม่ได้คาดหวังว่าการเสนอญัตติในการถอดถอนโจ ไบเดน ว่าจะสามารถทำให้ไบเดน หลุดจากตำแหน่งได้ แต่ทำเพื่อหวังผลในการสร้างกระแสการรับรู้ต่อสาธารณชน คนอเมริกันทั่วไป จากการอภิปรายรายละเอียดข้อกล่าวหาจากทีมรีพับลิกัน และการนำเสนอหลักฐานผ่านสื่ออย่างต่อเนื่อง

เนื่องจาก โจ ไบเดน ประกาศลงชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่ออีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งต่อไปในปี 2024 ซึ่งการจิกไม่ปล่อย และทำให้คดีอยู่ในกระแสเรื่อยๆ ย่อมมีผลต่อคะแนนความนิยมของไบเดนได้เช่นกัน

ดังเช่น โพลสำรวจความเห็นชาวอเมริกันล่าสุด พบว่า 42% ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าโจ ไบเดน มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจของลูกชายจริง และเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายด้วย 18% คิดว่า โจ ไบเดน ทำผิดจริยธรรมทางการเมือง ในขณะที่ 38% ยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ของโจ ไบเดน

เชื่อว่าหลังจากนี้ การขุดหลักฐานโจมตีผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้นำสหรัฐจากทั้ง 2 พรรค จะยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่ง โจ ไบเดน นอกจากจะมีชนักติดหลังเรื่องข่าวอื้อฉาวของลูกชาย ฮันเตอร์ ไบเดน แล้ว ยังมีประเด็นเรื่องสุขภาพ ที่มักโดนโจมตีเสมอว่า เขายังจะฟิตในตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ต่อในสมัยที่ 2 อีกหรือไม่ แม้เขาจะยืนยันหนักแน่นว่ายังไหวในวัย 80 ปีก็ตาม

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะ ฉายา ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซีย ผู้ปฏิวัติความปลอดภัยและยกระดับประสิทธิภาพระบบการบินของโลก

‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดียอดอัจฉริยะแห่งอินโดนีเซีย

‘ประธานาธิบดี’ เป็นตำแหน่งประมุขของประเทศที่มีการปกครองแบบสาธารณรัฐ (Republic) และในอีกหลายประเทศที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร เช่น สหรัฐอเมริกา สำหรับประเทศใกล้ ๆ บ้านเราที่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นทั้งตำแหน่งประมุขของประเทศและประมุขฝ่ายบริหาร ได้แก่ อินโดนีเซีย
.
หากนึกถึงประธานาธิบดีที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ผู้คนอาจนึกถึงประธานาธิบดีเหล่านี้ อาทิ Abraham Lincoln, John F. Kennedy, Nelson Mandela หรือ Barack Obama แต่เชื่อหรือไม่ ว่ามีประธานาธิบดีคนหนึ่งที่ได้รับสิทธิบัตรในสาขาการบินถึง 46 ฉบับ เขาผู้นั้น คือ ‘Bacharuddin Jusuf Habibie’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘B.J. Habibie’ ประธานาธิบดีคนที่ 3 แห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ค.ศ. 1998-1999)

‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ เกิดเมื่อ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1936 จังหวัดซูลาเวซีใต้ ขณะนั้นอินโดนีเซียยังเป็นหมู่เกาะอินเดียตะวันออกของดัตช์ (เนื่องจากเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์) หลังจากจบการศึกษาสถาบันเทคโนโลยีบันดุง เมืองบันดุง แล้ว ประธานาธิบดี Habibie ได้เดินทางไปยังเมือง Delft ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อศึกษาวิชาการบินและอวกาศที่ Technische Hogeschool Delft (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Delft) แต่ด้วยเหตุผลทางการเมือง (กรณีพิพาทนิวกินีตะวันตก ระหว่างเนเธอร์แลนด์กับอินโดนีเซีย) เขาจึงต้องย้ายไปศึกษาต่อที่ Technische Hochschule Aachen (มหาวิทยาลัย RWTH Aachen) ในเมือง Aachen ประเทศเยอรมนี ในปี ค.ศ. 1960 ประธานาธิบดี Habibie ได้รับปริญญาตรีสาขาวิศวกรรมศาสตร์ของเยอรมนี (Diplom-Ingenieur) และยังคงอยู่ในเยอรมนีในตำแหน่งผู้ช่วยวิจัยของ ‘Hans Ebner’ ที่ Lehrstuhl und Institut für Leichtbau, RWTH Aachen เพื่อทำการวิจัยในระดับปริญญาเอก

‘ประธานาธิบดี Habibie’ แต่งงานกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ วันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962

ในปี ค.ศ. 1962 ประธานาธิบดี Habibie ได้ลาหยุดเพื่อเดินทางกลับอินโดนีเซียเป็นเวลา 3 เดือน ช่วงเวลานี้เองที่ เขาได้พบกับแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun’ เพื่อนในวัยเด็กสมัยมัธยมต้นและมัธยมปลายที่ SMA Kristen Dago (โรงเรียนมัธยม Dago Christian) เมืองบันดุง ทั้งสองได้เข้าพิธีสมรสในวันที่ 12 พฤษภาคม ค.ศ. 1962 และเดินทางกลับเยอรมนี หลังจากนั้นไม่นาน Habibie และภรรยาของเขา ก็ได้ตั้งรกรากในเมือง Aachen ในช่วงเวลาสั้น ๆ ก่อนที่จะย้ายไปยังเมือง Oberforstbach ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1963 โดยพวกเขาได้ให้กำเนิดลูกชาย คือ ‘Ilham Akbar Habibie’

ต่อมา ประธานาธิบดี Habibie ได้ร่วมงานกับบริษัทค้าหุ้นการรถไฟ ‘Waggonfabrik Talbot’ ซึ่งเขาได้เป็นที่ปรึกษาในการออกแบบตู้รถไฟ ในปี ค.ศ. 1965 ประธานาธิบดี Habibie ทำวิทยานิพนธ์ในสาขาวิศวกรรมการบินและอวกาศ และได้รับคะแนน ‘ดีมาก’ ทำให้เขาได้รับ ‘Doktoringenieur’ (Dr.-Ing.) ในปีเดียวกันนั้น เขายอมรับข้อเสนอของ Hans Ebner ที่จะวิจัยต่อเกี่ยวกับ Thermoelastisitas และทำงานด้าน Habilitation แต่เขาปฏิเสธข้อเสนอที่จะเข้าร่วมกับ RWTH ในตำแหน่งศาสตราจารย์ วิทยานิพนธ์ของเขานั้นยังดึงดูดข้อเสนอการจ้างงานจากบริษัทต่าง ๆ เช่น Boeing และ Airbus ซึ่งประธานาธิบดี Habibie ก็ได้ปฏิเสธอีกครั้ง

‘ประธานาธิบดี Habibie’ ได้ร่วมงานกับ ‘Messerschmitt-Bölkow-Blohm’ ในเมือง Hamburg ที่นั่น เขาได้พัฒนาทฤษฎีเกี่ยวกับอุณหพลศาสตร์ การก่อสร้าง และอากาศพลศาสตร์ที่เรียกว่า ‘อุณหพลศาสตร์’ (Habibie Factor) เขามีส่วนในการพัฒนาเครื่องบินโดยสาร ‘Airbus A-300B’ ในปี พ.ศ. 2517 ต่อมาเขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็นรองประธานบริษัท ในปี ค.ศ. 1974 ‘ประธานาธิบดี Suharto’ ได้ขอให้เขากลับไปยังอินโดนีเซีย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาประเทศ

ในตอนแรก ประธานาธิบดี Habibie ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพิเศษของ ‘Ibnu Sutowo’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทน้ำมันของรัฐ Pertamina และประธานหน่วยงานเพื่อการประเมินและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี (Badan Pengkajian dan Penerapan Teknologi (BPPT)) อีก 2 ปีต่อมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็น CEO ของ ‘Industri Pesawat Terbang Nurtanio’ (IPTN) หรือ ‘Nurtanio Aircraft Industry’ โดยในขณะนั้นเป็นรัฐวิสาหกิจแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย ซึ่งในปี ค.ศ. 1985 ได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘Industri Pesawat Terbang Nusantara’ (Nusantara Aircraft Industry หรือ ‘IPTN’) และเป็นที่รู้จักในชื่อ ‘Indonesia Aerospace’ (PT. Dirgantara Indonesia) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000


เครื่องบินโดยสาร ‘N-250 Gatotkaca’ ซึ่งถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นต้นแบบเพียง 2 ลำ

ในปี ค.ศ. 1978 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงการวิจัยและเทคโนโลยี (Menteri Negara Riset dan Teknologi, Menristek) แต่ยังคงมีบทบาทสำคัญใน ‘เชิงกลยุทธ์’ ของ IPTN โดยในช่วงทศวรรษ 1980 IPTN เติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเชี่ยวชาญด้านการผลิตเฮลิคอปเตอร์และเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก และกลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบิน ซึ่งรวมถึงเฮลิคอปเตอร์แบบ Puma และเครื่องบิน CASA และเป็นผู้บุกเบิกออกแบบและสร้างเครื่องบินโดยสารขนาดเล็ก ‘N-250 Gatotkaca’ ในปี ค.ศ. 1995 แต่โครงการนี้ประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี Habibie ได้นำแนวทางที่เรียกว่า ‘เริ่มต้นที่จุดสิ้นสุดและสิ้นสุดที่จุดเริ่มต้น’ วิธีการนี้ องค์ประกอบต่าง ๆ เช่น การวิจัยขั้นพื้นฐาน จะเป็นสิ่งสุดท้ายที่ต้องให้ความสำคัญ ในขณะที่การผลิตเครื่องบินจริงถือเป็นวัตถุประสงค์แรกที่สำคัญที่สุด

ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากการเข้ารับตำแหน่งรองประธานาธิบดีคนที่ 7 เมื่อ 11 มีนาคม พ.ศ. 2541 ประธานาธิบดี Habibie ก็ต้องเข้ารับตำแหน่งต่อจากประธานาธิบดี Suharto ซึ่งลาออกหลังจากดำรงตำแหน่งมา 32 ปี ในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงจุดสังเกตในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคการปฏิรูป

เมื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดี เขาได้เปิดให้กฎหมายสื่อและพรรคการเมืองของอินโดนีเซียมีอิสระเสรีมากขึ้น และจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยก่อนกำหนดถึง 3 ปี ซึ่งส่งผลให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของเขาสิ้นสุดลง ด้วยวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี 517 วันและรองประธานาธิบดี 71 วัน ซึ่งถือว่าสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซีย

ขณะที่ดำรงตำแหน่งนั้น ประธานาธิบดี Habibie ต้องประสบพบเจอกับปัญหาหลายประการ ได้แก่
• การเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย
• การถูกโจมตีว่าเขาไม่สามารถก้าวพ้นจากอำนาจของประธานาธิบดี Suharto ได้
• ไม่มีฐานการเมืองมาสนับสนุนอย่างจริงจัง กล่าวคือ ‘พรรคกลการ์’ (Golkar : Partai Golongan Karya) ของอดีตประธานาธิบดี Suharto ไม่ได้ให้การสนับสนุนเขา 
• การลดจำนวนที่นั่งในรัฐสภาของทหาร และห้ามข้าราชการทำกิจกรรมทางการเมือง ทำให้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่ให้การสนับสนุนเขา
• เรื่องทุจริตอื้อฉาวเกิดขึ้นเกี่ยวกับธนาคารบาหลี ซึ่งมีการกล่าวหาว่าลูกชายของเขามีส่วนเกี่ยวข้อง

แต่ประธานาธิบดี Habibie ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติ ในเรื่องการจัดการกับปัญหา ‘ติมอร์ตะวันออก’ แม้ว่า ประธานาธิบดี Habibie จะไม่เห็นด้วยกับการให้ติมอร์ตะวันออกเป็นเอกราช แต่เขาเห็นสมควรว่า ชาวติมอร์ตะวันออกควรลงประชามติเลือกว่าจะอยู่กับอินโดนีเซียต่อไปหรือเป็นเอกราช ซึ่งท้ายที่สุด ชาวติมอร์ตะวันออกก็ต้องการเป็นอิสระ ประธานาธิบดี Habibie จึงให้เอกราชแก่ติมอร์ตะวันออก จนทำให้ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ไม่พอใจ ด้วยมองเป็นการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชาติ

รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie ทำให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียมีเสถียรภาพ เมื่อเผชิญกับวิกฤติการเงินในเอเชีย และความวุ่นวายในช่วง 2-3 เดือนสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ของประธานาธิบดี Suharto รัฐบาลของประธานาธิบดี Habibie มีท่าทีประนีประนอมต่อชาวอินโดนีเซียเชื้อสายจีน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายในการจลาจลในปี ค.ศ. 1998 เนื่องจากความเหลื่อมล้ำของสถานะทางชนชั้นในเรื่องเศรษฐกิจ ในเดือนกันยายน ค.ศ. 1998 ประธานาธิบดี Habibie ได้ออก ‘คำสั่งของประธานาธิบดี’ ห้ามใช้คำว่า ‘pribumi’ และ ‘non-pribumi’ เพื่อแยกแยะความแตกต่างระหว่างชาวอินโดนีเซียพื้นถิ่น และชาวอินโดนีเซียที่ไม่ใช่ชนพื้นถิ่น

และสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกันเกี่ยวกับตัวประธานาธิบดี B.J. Habibie ก็คือ เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรผู้ค้นพบทฤษฎีที่ก้าวล้ำ ซึ่งปฏิวัติความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องบิน จนได้รับฉายาว่า ‘Mr.Crack’ เนื่องจากความเป็นอัจฉริยะ ที่สามารถออกแบบวิธีคิดคำนวณรอยแตกร้าวบนโครงสร้างโลหะของเครื่องบิน ประธานาธิบดี Habibie มีระดับ IQ (Intelligence Quotient) ประมาณ 200 ซึ่งสูงกว่า IQ ของ ‘ประธานาธิบดี John Quincy Adams’ ที่มีระดับ IQ ประมาณ 175 ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทุกคน

นอกจากนั้นแล้ว ประธานาธิบดี Habibie ยังได้รับเลือกให้เป็นประธานคนแรกของ ‘สมาคมปัญญาชนมุสลิมแห่งอินโดนีเซีย’ (ICMI) ในปี ค.ศ. 1990 และเนื่องจากเขามีส่วนร่วมในการออกแบบและสร้างเครื่องบินเป็นลำแรกในประเทศอินโดนีเซีย จึงได้รับตำแหน่ง ‘บิดาแห่งเทคโนโลยี’ ของอินโดนีเซียด้วย

เครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่งที่ออกแบบและผลิตโดย ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) 

ในปี ค.ศ. 2012 เขาได้ก่อตั้ง ‘Regio Aviasi Industri’ (RAI) บริษัทผลิตเครื่องบิน ซึ่งกำลังพัฒนาเครื่องบินโดยสารแบบ R-80 ขนาด 80 ที่นั่ง และได้รับคำสั่งซื้อแล้ว 150 ลำ

ประธานาธิบดี Habibie ผู้เป็นยอดอัจฉริยะทางวิศวกรรมการบิน เป็นประธานาธิบดีของสาธารณรัฐอินโดนีเซียได้เพียงสมัยเดียว เพราะความอัจฉริยะทางวิทยาศาสตร์ รวมไปถึงตรรกะแห่งความจริงและความถูกต้องทั้งหมดทั้งมวลนั้น ไม่สามารถเอาชนะทางการเมืองได้ และทุกประเทศบนโลกใบนี้ส่วนใหญ่แล้วก็มักเป็นเช่นนั้น

พิธีฝังศพของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata

ช่วงต้นเดือนกันยายน ค.ศ. 2019 เขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทหารบก Gatot Soebroto เนื่องจากเขาเป็น ‘โรคกล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม’ และถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 2019 เพื่อเป็นการไว้อาลัยต่อการจากไปของประธานาธิบดี Habibie รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศให้ไว้ทุกข์ทั้งประเทศเป็นเวลา 3 วัน (12-14 กันยายน ค.ศ. 2019) และประกาศลดธงชาติอินโดนีเซียครึ่งเสา

ประธานาธิบดี B.J. Habibie เป็นประธานาธิบดีของอินโดนีเซียคนแรกที่ได้รับการฝัง ณ สุสานวีรบุรุษ Kalibata เคียงข้างหลุมฝังศพของแพทย์หญิง ‘Hasri Ainun Habibie’ ผู้เป็นภรรยาของเขา


อนุสาวรีย์ของ ‘ประธานาธิบดี B.J. Habibie’ ใกล้กับท่าอากาศยาน Jalaluddin จังหวัด Gorontalo

‘กกต.รัฐเมน’ ฟัน!! ‘ทรัมป์’ ตัดสิทธิ์เลือกตั้ง ปธน.มะกัน หลังมีเอี่ยวในการก่อจลาจล บุกรัฐสภา เมื่อ 6 ม.ค. 2021

(29 ธ.ค. 66) เจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กำกับดูแลการเลือกตั้งในรัฐเมนของสหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ์อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งขึ้นต้นในรัฐเมน ซึ่งทำให้ทรัมป์ถูกห้ามการลงสมัครเป็นรัฐที่ 2 จากบทบาทของเขาเกี่ยวกับเหตุจลาจลบุกอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 6 มกราคม 2021

‘เชนนา เบลโลว์ส’ จากพรรคเดโมเครต ในฐานะเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่กำกับดูแลเรื่องการเลือกตั้งของรัฐเมน ระบุว่า “ทรัมป์ยุยงให้เกิดการจลาจล เมื่อเผยแพร่คำกล่าวอ้างเป็นเท็จ เกี่ยวกับการฉ้อโกงการเลือกตั้งในปี 2563 โดยเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเดินขบวนไปยังรัฐสภา เพื่อยุติไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรองผลการเลือกตั้ง”

การตัดสินใจดังกล่าว มีขึ้นหลังจากที่อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติจากรัฐเมนกลุ่มหนึ่ง กล่าวว่า ทรัมป์ควรถูกตัดสิทธิ์ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ห้ามมิให้บุคคลดำรงตำแหน่ง หากพวกเขามีส่วนร่วมในการจลาจลหรือการก่อกบฏ

อย่างไรก็ดี คำตัดสินดังกล่าว ซึ่งทรัมป์สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ จะมีผลเฉพาะการเลือกตั้งเบื้องต้นในเดือนมีนาคมนี้เท่านั้น แต่มันอาจส่งผลกระทบต่อสถานะของทรัมป์ในการเลือกตั้งทั่วไป ในเดือนพฤศจิกายนด้วย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม ทรัมป์ถูกศาลสูงของโคโลราโดตัดสิทธิ์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทำให้เขากลายเป็นผู้สมัครคนแรกในประวัติศาสตร์ ที่ถูกตัดสิทธิ์ในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจากการมีส่วนร่วมในการก่อกบฏ

เปิดประวัติ 3 ผู้สมัคร ชิง 'ประธานาธิบดี' ไต้หวัน

‘ไต้หวัน’ จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกสภาในวันที่ 13 ม.ค.นี้ และจะได้ผู้นำคนใหม่ต่อจากประธานาธิบดีไช่ อิงเหวินที่ดำรงตำแหน่งมา 2 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 2559 จึงไม่สามารถลงเลือกตั้งได้อีกตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันโดยตรงครั้งที่ 8 ในวันเสาร์นี้ (13 ม.ค.) มีผู้สมัคร 3 คนจาก 3 พรรคการเมือง คนแรกคือนายไล่ ชิงเต๋อ วัย 64 ปี รองประธานาธิบดีไต้หวันและประธานพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพี (DPP) ที่เป็นพรรครัฐบาล เขาชูนโยบายคงสถานภาพปัจจุบันในช่องแคบไต้หวัน ไม่เปลี่ยนชื่อสาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวัน ไม่ยั่วยุหรือทำเรื่องเสี่ยง แต่ไม่ยอมรับการที่จีนอ้างอธิปไตยเหนือไต้หวัน และพร้อมเจรจากับจีน นายไล่มีประสบการณ์การทำงานราชการมานาน เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภา นายกเทศมนตรีเมืองไถหนาน และนายกรัฐมนตรี ผู้สมัครคู่ชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของเขาคือ นางเซียว เหม่ยฉิน วัย 52 ปี อดีตผู้แทนไต้หวันประจำสหรัฐปี 2563-2566

ผู้สมัครคนที่ 2 คือ นายโหว โหย่วอี๋ วัย 66 ปี จากพรรคก๊กมินตั๋งที่เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก ดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีนิวไทเปคนที่ 2 มาตั้งแต่ปี 2561 และเคยเป็นอธิบดีสำนักงานตำรวจแห่งชาติปี 2549-2551 เขาชูนโยบายฟื้นการเจรจากับจีน เริ่มด้วยการเจรจาในระดับล่าง เช่น การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม แต่ไม่ยอมรับรูปแบบการปกครอง 1 ประเทศ 2 ระบบของจีน และคัดค้านอย่างแข็งขันเรื่องการแยกไต้หวันเป็นเอกราช ขณะเดียวกันจะส่งเสริมการปกป้องไต้หวันและคงความสัมพันธ์อันดีกับสหรัฐ ผู้สมัครคู่ของเขาคือ นายจ้าว เส้าคัง วัย 73 ปี อดีตผู้ดำเนินรายการวิทยุและโทรทัศน์ที่ตนเองเป็นเจ้าของ

ผู้สมัครคนที่ 3 คือ นายเคอ เหวินเจ๋อ วัย 64 ปี อดีตนายกเทศมนตรีกรุงไทเปปี 2557-2565 และประธานพรรคประชาชนไต้หวันหรือทีพีพี (TPP) ที่เขาตั้งขึ้นในปี 2562 เป็นศัลยแพทย์ที่ชูนโยบายเรื่องปากท้อง เช่น ราคาบ้านสูง จึงมีฐานเสียงเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาว เขาอ้างตัวว่าเป็นผู้สมัครคนเดียวที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง และจะเจรจากับจีนต่อเมื่อจีนเคารพประชาธิปไตยและวิถีชีวิตของชาวไต้หวัน ผู้สมัครคู่ของเขาคือ นางซินเธีย อู๋ หรืออู๋ซินหยิง วัย 45 ปี อยู่ในตระกูลที่เป็นเจ้าของซินกวงกรุ๊ป ซึ่งทำธุรกิจหลากหลายอย่างในไต้หวัน 

ทำความรู้จัก ‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ ประธานาธิบดีรักษาการ ในวันที่ ‘อิหร่าน’ สูญเสียผู้นำจากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจของรัฐบาลอิหร่าน ได้รายงานยืนยันการถึงแก่อสัญกรรมของ อิบราฮิม ไรซี ประธานาธิบดีอิหร่าน พร้อมทั้ง ฮูซเซน อะเมียร์-อับดุลลาฮาน รัฐมนตรีต่างประเทศ จากอุบัติเหตุเฮลิคอปเตอร์ตกที่เขตอาเซอร์ไบจานตะวันออก อย่างเป็นทางการแล้ว เบื้องต้นระบุสาเหตุการตกเกิดจากสภาพอากาศเลวร้าย และมีหมอกจัด บดบังวิสัยทัศน์การบิน 

แต่ทั้งนี้ อิหร่านไม่อาจทิ้งให้รัฐบาลอยู่ในช่วงสุญญากาศเพราะขาดผู้นำอย่างกะทันหันได้นาน จึงมีประกาศแต่งตั้ง ‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ รองประธานาธิบดี ลำดับที่ 1 ขึ้นดำรงผู้นำอิหร่านเป็นการชั่วคราว ที่จะต้องประสานงานร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร และ หัวหน้าคณะตุลาการ เพื่อจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ในอิหร่านภายในกรอบเวลา 50 วัน

ประวัติส่วนตัวของ ‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ เกิดเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1955 ปัจจุบันอายุ 69 ปี ถือเป็นหนึ่งในคนสนิทใกล้ชิดกับผู้นำสูงสุดของอิหร่าน ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ ได้รับเลือกให้เป็นรองประธานาธิบดีอิหร่านในปี 2021 และถูกมองว่ามีโอกาสขึ้นถึงตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่านในไม่ช้านี้ 

‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ จบปริญญาเอกถึง 2 สาขา ทั้งด้านบริหารธุรกิจ และ สิทธิสากล เคยเข้าร่วมรบในกองพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ในสมัยสงคราม อิรัก-อิหร่าน ก่อนที่จะเข้ามาทำงานสายธนาคารจนได้รับตำแหน่งเป็น ประธานบอร์ดผู้บริหารของ Sina Bank และ รองผู้ว่าการจังหวัด ฆูเซสถาน

จากนั้นเขาได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา Execution of Imam Khomeini's Order ที่ดูแลด้านการเงินให้กับ ‘อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี’ และทำให้ชื่อของเขาอยู่ในบัญชีดำของสหภาพยุโรป และ สหรัฐอเมริกา ด้วยข้อกล่าวหาว่า เขาเกี่ยวข้องกับกิจการพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของอิหร่าน

และในปี 2021 หลังการเลือกตั้งใหญ่ในอิหร่าน เมื่อ ‘อิบราฮิม ไรซี’ ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอิหร่าน ‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ ก็ถูกวางตัวในตำแหน่งรองประธานาธิบดีลำดับที่ 1 ที่ทำงานใกล้ชิดทั้งประธานาธิบดี และ อยาตอลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี ในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจเพื่อต่อต้านมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกต่ออิหร่าน และยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้นำอิหร่านในการเยือนกรุงมอสโก เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเพื่อบรรลุข้อตกลงด้านอาวุธ การจัดหาขีปนาวุธภาคพื้นดิน และ โดรนให้แก่กองทัพรัสเซีย 

ดังนั้น การขึ้นรักษาการตำแหน่งประธานาธิบดีอิหร่าน ของ ‘โมฮัมหมัด โมคเบอร์’ ในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ จึงถือว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด จนกว่าอิหร่านจะผ่านการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้ได้ผู้นำตามกระบวนการอย่างถูกต้อง 

แต่ปัญหาของอิหร่านตอนนี้คือ การมองหาตัวแทนตำแหน่งผู้นำทางจิตวิญญาณสูงสุด หรือ อยาตอลเลาะห์ คนที่ 3 ต่อจาก อาลี คาเมเนอี ที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ว่า อิบราฮิม ไรซี ถูกวางตัวไว้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งนี้ แต่เมื่ออิหร่านสูญเสียตัวแทนคนสำคัญไปแล้ว คงต้องมองหาผู้สืบทอดคนใหม่ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงของชาติเลยทีเดียว

ย้อนรอยสงครามกลางเมืองศรีลังกา ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อนแพ้พ่าย ต้นตำรับปฏิบัติการ ‘ระเบิดพลีชีพ’ ที่ก่อการร้ายนำมาเลียนแบบทั่วโลก

เรื่องราวของกองทัพพยัคฆ์ปลดปล่อยทมิฬอีแลม หรือ ‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ และในอีกหลาย ๆ ชื่อได้แก่ สมาคมทมิฬระดับโลก สหพันธ์ของสมาคมทมิฬแคนาดา กองทัพเอลอัลลานี ซึ่งเป็นองค์กรติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาในประเทศศรีลังกา ระหว่างชาวทมิฬ (Tamil) ที่มีจำนวนราว 3 ล้านคน คิดเป็น 18% ของพลเมืองศรีลังกาและนับถือศาสนาฮินดูในเขตจาฟนา บริเวณภาคเหนือสุดของเกาะซีลอน กับชาวสิงหล (Sinhalese) พลเมืองส่วนใหญ่กว่า 16 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 75 จากประชากรทั้งหมดในศรีลังกา ซึ่งนับถือพุทธศาสนา โดยความขัดแย้งดังกล่าวไปสู่การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดนที่รุนแรงที่สุดในโลก และเป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่ารัฐบาลศรีลังกาจะสามารถจัดการกับปัญหานี้ได้อย่างหมดสิ้นไปในปี 2009

‘พยัคฆ์ทมิฬอีแลม’ ก่อตั้งเมื่อปี 1976 มีเป้าหมายคือการแยกตัวจากศรีลังกาเพื่อตั้งรัฐทมิฬ เริ่มการต่อสู้ด้วยการก่อการร้ายตั้งแต่ปี 1983 หัวหน้ากลุ่มคือ เวลูปิลลัย ประภากาเรา ชาวทมิฬผู้มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างรัฐที่ชาวทมิฬมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง และหลังจากศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากอังกฤษแล้ว ชาวทมิฬที่นับถือฮินดูซึ่งมีสัดส่วนราว 10 % ของประชากรชาวศรีลังกาทั้งประเทศกลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป เพราะโอกาสในทางการศึกษาและอาชีพการงานด้อยกว่าชาวสิงหลที่นับถือศาสนาพุทธซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ 

ธงจักรวรรดิอังกฤษซีลอน

สาเหตุความขัดแย้งเกิดจากช่วงที่อังกฤษเข้ามาแทนที่ฮอลแลนด์ในการยึดครองศรีลังกา อังกฤษได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในบริเวณเขตจาฟนา ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวทมิฬมากมายทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ทำให้ชาวสิงหลซึ่งอยู่พื้นที่ส่วนอื่นของเกาะไม่พอใจ อันเป็นรูปแบบของกระบวนการ ‘แบ่งแยกแล้วปกครอง’ (Divide and Rule) ของอังกฤษผู้เป็นอดีตเจ้าอาณานิคม (วิธีปกครองโดยเอาใจคนกลุ่มหนึ่ง แต่กลับ กีดกัน กดดัน คนอีกกลุ่มหนึ่ง) ซึ่งมักจะใช้กับอาณานิคมต่าง ๆ เช่น อินเดีย พม่า มลายู แม้อังกฤษจะช่วยวางรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ทั้งระบบการศึกษา ระบบขนส่ง และการทำการเกษตร แต่ภาคการเกษตรโดยเฉพาะไร่ชาขนาดใหญ่นั้นต้องการแรงงานจำนวนมาก ชาวสิงหล และชาวทมิฬเดิม ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองของซีลอน ต่างก็ไม่สนใจทำงานในไร่ชาของอังกฤษ อังกฤษจึงได้นำแรงงานชาวทมิฬอินเดีย ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองทางตอนใต้ของอินเดียเข้ามาทำงานในไร่ชาที่เกาะซีลอนและสิ่งนี้เองที่สร้างรอยร้าวให้กับผู้คนบนเกาะแห่งนี้

ชาวทมิฬอินเดียที่ถูกนำเข้ามาทำงานในไร่ของอังกฤษมักได้รับสถานะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าชาวพื้นเมืองเดิม โรงเรียนแบบตะวันตกส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือ ซึ่งมีชาวทมิฬอาศัยอยู่หนาแน่น ชาวทมิฬจึงได้รับการศึกษาที่ดีกว่า นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาและการประกอบอาชีพของคนทั้ง 2 กลุ่ม หลังจากซีลอนได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1948 แม้เศรษฐกิจ การเมือง และสังคม จะค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาตามลําดับ แต่ความขัดแย้งระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬยังมีคงอยู่ ชาวทมิฬซึ่งมีการศึกษาดีกว่า ฐานะดีกว่า ผูกขาดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สร้างความไม่พอใจให้กับชาวสิงหล ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อรัฐบาลศรีลังกาที่ได้รับเลือกตั้งเป็นชาวสิงหล จึงมีการเปลี่ยนชื่อประเทศจาก ‘ซีลอน’ มาเป็น ‘ศรีลังกา’ ในปี 1972 พร้อมกับการกำหนดให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ และเริ่มดำเนินนโยบายกีดกันชาวทมิฬ ทั้งการบังคับไม่ให้มีการเรียนการสอนภาษาทมิฬ การบรรจุเข้ารับราชการต้องใช้ภาษาสิงหลเท่านั้น ทำให้เกิดการต่อต้านรุนแรงจากชาวทมิฬ ชาวทมิฬจึงมารวมกันอยู่ทางตอนเหนือของประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปี 1956 มีการประกาศนโยบายชาตินิยมสิงหล (Sinhalese only) โดยเปลี่ยนภาษาราชการเป็นภาษาสิงหลแทนที่ภาษาอังกฤษ ร่างกฎหมายนี้ชื่อ Sinhala Only Act ต่อมาในปี 1970 รัฐบาลศรีลังกาเปลี่ยนชื่อประเทศจาก Ceylon มาเป็น Sri Lanka อันเป็นชื่อดั้งเดิมในภาษาสิงหล มาตรการเหล่านี้ล้วนสร้างความไม่พอใจแก่ชาวทมิฬ และมีส่วนทำให้ความสัมพันธ์ของสองชนชาตินี้เสื่อมลงเรื่อย ๆ 

ชาวทมิฬแม้จะมีความไม่พอใจต่อรัฐบาลศรีลังกาและมีการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลมาตลอด แต่ก็ไม่มีองค์กรนำและเป้าหมายการต่อสู้ที่ชัดเจน จนกระทั่งถึงปี 1972 เมื่อพรรคการเมืองของชาวทมิฬสามพรรคได้รวมตัวกันเป็น ‘แนวร่วมทมิฬ’ (Tamil United Front) การต่อสู้ของชาวทมิฬจึงได้เข้าสู่ยุคใหม่ที่อยู่ภายใต้การนำของพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและมีจุดมุ่งหมายในการต่อสู้ที่ชัดเจน พรรคแนวร่วมทมิฬได้เปลี่ยนชื่อเป็น ‘แนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ’ (Tamil United Liberation Front) และผ่านมติต่อสู้เพื่อก่อตั้งประเทศทมิฬอีแลมเมื่อปี 1976 ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นในปีถัดมา พรรคนี้สามารถกวาดที่นั่งส่วนใหญ่ในเขตชาวทมิฬ จนกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่สุดในรัฐสภาศรีลังกา ทำให้มองเห็นความหวังในการต่อสู้เพื่อให้ชาวทมิฬแยกตัวเป็นอิสระตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ แต่แล้วไม่มีใครคาดคิดว่าชาวสิงหลหัวรุนแรงที่ไม่พอใจผลการเลือกตั้งได้ก่อเหตุจลาจลจนนำไปสู่การปะทะนองเลือดระหว่างชาวสิงหลกับชาวทมิฬครั้งใหญ่ทั่วประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 300 คน การปะทะครั้งนี้ทำให้ชาวทมิฬส่วนใหญ่สิ้นหวังกับการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติ พวกเขาจึงเลิกให้การสนับสนุนพรรคแนวร่วมปลดปล่อยทมิฬ แล้วหันไปให้การสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ปลดปล่อยแห่งทมิฬอีแลม หรือพยัคฆ์ทมิฬ ที่ใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรงแทน

กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นโดยวัยรุ่นชาวทมิฬที่มีการศึกษาสูง โดยงานแรกของกลุ่มคือ การสังหารนายกเทศมนตรีเมืองจาฟนา เพราะนายกเทศมนตรีคนนี้แม้จะเป็นชาวทมิฬแต่กลับเห็นดีเห็นงามกับชาวสิงหล กลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้ชื่อว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่มีการจัดบุคลากรเป็นระบบมากที่สุด มีการแยกส่วนสมาชิกเป็นแผนก ๆ เฉพาะด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการวางแผน ด้านการเมือง ด้านกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ซึ่งใช้คนที่มีความรู้ความสามารถด้านนั้นจริง ๆ เข้ามาเป็นผู้นำ โดยมีแนวทางการต่อสู้ใน 3 แนว คือ การใช้กำลัง การประชาสัมพันธ์ และการระดมทุน เงินทุนในการดำเนินงานของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้มาจากการประชาสัมพันธ์และการระดมทุน โดยระดมทุนจากชาวทมิฬที่อยู่ต่างประเทศ (ยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย) และชาวต่างชาติอื่น ๆ ที่สนับสนุนเป็นเงินมหาศาล ทั้งพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยังมีรายได้จากการค้ายาเสพติด ค้าอาวุธ สินค้าผิดกฎหมาย และรับจ้างฝึกกองกำลังทหารรับจ้างตลอดจนกลุ่มก่อการร้ายต่าง ๆ จากทั่วโลก จนทำให้ฐานะทางการเงินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมนั้นจัดว่ามั่งคั่งแข็งแกร่งเลยทีเดียว ประมาณการว่ารายได้ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมน่าจะอยู่ที่ราว 200–300 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี

ซากเครื่องบินของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ซึ่งถูกเครื่องบินรบของกองทัพอากาศศรีลังกายิงตก

ปฏิบัติการหลัก ๆ ของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือ การสังหารบุคคลสำคัญ การก่อวินาศกรรม วางระเบิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจและสังคมของศรีลังกา และจัดกำลังรบตามแบบกับรัฐบาลโดยใช้กำลังทางบก เรือ และอากาศ (พยัคฆ์ทมิฬอีแลมมีกองเรือและฝูงบินจำนวนหนึ่งซึ่งได้ออกปฏิบัติการรบด้วย) และด้วยวิธีการลอบสังหารที่ขึ้นชื่อที่สุดของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมคือการใช้เข็มขัดติดระเบิดพันรอบตัว แล้วจัดการกดชนวนระเบิดเป้าหมายไปพร้อมกับมือระเบิด หรือที่เรียกว่า ระเบิดพลีชีพ (Suicide bomb) นั่นเอง ซึ่งถือเป็นต้นแบบของกลุ่มก่อการร้ายอื่น ๆ ทั่วโลกนำไปเลียนแบบจนทุกวันนี้ พื้นที่หลักของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมอยู่ตามแนวชายฝั่งตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกา แต่จะทำการก่อการร้ายทั่วประเทศศรีลังกา สมาชิกส่วนใหญ่อยู่ในศรีลังกา และเป็นนักรบราว 3,000 - 6,000 คน (สูงสุดถึงที่เคยมีคือ 7,000 ถึง 15,000 คน) โดยอินเดียก็มีส่วนในความขัดแย้ง ด้วยรัฐบาลท้องถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู ทางภาคใต้ของอินเดีย ซึ่งเป็นรัฐของชาวทมิฬ ได้ให้ความสนับสนุนการต่อสู้ของชาวทมิฬในศรีลังกา ขณะที่รัฐบาลกลางอินเดียซึ่งเป็นพันธมิตรกับรัฐบาลสิงหลของศรีลังกาก็ไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนัก ด้วยเกรงจะกระทบคะแนนเสียงในการเลือกตั้งและอาจจะเป็นการสร้างความแตกแยกขึ้นภายในประเทศอินเดียเอง

ภาพสุดท้ายของ ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ก่อนถูกสังหารด้วยระเบิดพลีชีพ

ต่อมา ราจีฟ คานธี อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย ผู้ซึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะขัดขวางการสนับสนุนกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมของรัฐบาลทมิฬนาฑู จึงต้องพบกับจุดจบโดยถูกลอบสังหารด้วยระเบิดพลีชีพระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งที่รัฐทมิฬนาฑูจนเสียชีวิตจากฝีมือของหญิงชาวทมิฬ-ศรีลังกา ซึ่งเป็นสมาชิกของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมเมื่อ 21 พฤษภาคม 1991 ต่อมากลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมก็ใช้ปฏิบัติการระเบิดพลีชีพสังการประธานาธิบดีศรีลังกา รณสิงห เปรมดาสา จนเสียชีวิตเมื่อ 1 พฤษภาคม 1993 ขณะที่มีการสู้รบอย่างดุเดือดระหว่างรัฐบาลสิงหลและกบฏพยัคฆ์ทมิฬอีแลม ได้มีความพยายามในการเจรจาและทำสนธิสัญญาหยุดยิงหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งในปี 2009 มหินทา ราชาปักษา ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ตัดสินใจใช้มาตรการเด็ดขาด ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกองกำลังทมิฬจนได้รับชัยชนะ และบีบบังคับให้กองกำลังพยัคฆ์ทมิฬอีแลมยอมวางอาวุธอย่างไม่มีเงื่อนไข ถือเป็นการยุติสงครามกลางเมืองอันนองเลือดในศรีลังกาที่ดำเนินมากว่า 25 ปีอย่างสมบูรณ์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2009 ประธานาธิบดีมหินทรา ราชปักษา ได้ประกาศชัยชนะของรัฐบาลศรีลังกาต่อกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม โดยกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมได้สูญเสียดินแดนทางตอนเหนือและตะวันออกของศรีลังกาทั้งหมด หมดสิ้นอำนาจทางการเมืองการปกครองในดินแดนของตน และสิ้นสภาพในการต่อสู้ ไม่สามารถสู้รบกับกองทัพของรัฐบาลศรีลังกาได้อีก

ทหารรัฐบาลศรีลังกากับอาวุธที่ยึดจากกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

สมาชิกของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจำนวน 11,664 คน รวมทั้งทหารเด็กอีก 595 คนยอมวางอาวุธและมอบตัวกับกองทัพศรีลังกา (ส่วนหนึ่งหลบหนีไปอินเดีย) ซึ่งต่อมามีทั้งข่าวและคลิปการสังหารคนเหล่านี้อย่างเหี้ยมโหด และหญิงชาวทมิฬถูกข่มขืนแล้วฆ่าอีกจำนวนมาก สิ่งที่กองทัพศรีลังกาทำกับชาวทมิฬก็ไม่แตกต่างจากพฤติกรรมขององค์การก่อการร้ายเลย แม้ปฏิบัติการของพยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะเหี้ยมโหดก็ตาม แต่เมื่อควบคุมตัวชาวทมิฬเหล่านี้แล้ว ควรนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่มีและบังคับใช้อยู่ให้ถูกต้อง โดยสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานตรงกันว่า ปฏิบัติการทางทหารของรัฐบาลศรีลังกานั้นเป็นการสังหารหมู่ประชาชนผู้บริสุทธิ์จำนวนมาก ตลอดระยะเวลาการสู้รบที่ยาวนานนับตั้งแต่ปี 1983 - 2009 ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 70,000 คน และผู้คนนับล้านต้องลี้ภัยและสูญเสียทรัพย์สิน เศรษฐกิจของศรีลังกาได้รับผลกระทบอย่างหนักทั้งภาคการท่องเที่ยวและภาคการผลิต แม้ว่า พยัคฆ์ทมิฬอีแลมจะสิ้นสภาพในศรีลังกาตั้งแต่ปี 2009 แล้วก็ตาม แต่สมาชิกพยัคฆ์ทมิฬอีแลมในยุโรปและอเมริกาเหนือก็ยังคงมีความพยายามในการเคลื่อนไหวปรากฏตามสื่อต่าง ๆ อยู่จนทุกวันนี้

‘โดนัลด์ ทรัมป์’ เปิดบัญชี TikTok มีผู้ติดตามทันทีกว่า 3 ล้าน คลิปแรกมีคนดูกว่า 56 ล้าน  เผย!! เปิดไว้ใช้สื่อสารกับชาวอเมริกัน ทั้งที่เมื่อก่อนนั้น เคยพยายามสั่งแบน แต่ไม่สำเร็จ

(3 มิ.ย.67) นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา มีผู้ติดตาม TikTokจำนวนมากกว่า 3 ล้านคน ทันทีที่เขาเปิดบัญชีใช้แพลตฟอร์ม TikTok แอปพลิเคชันสำหรับแชร์คลิปวิดีโอสั้นเป็นวันแรก พร้อมกับลงคลิปลงใน TikTok เมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ผ่านมา ตามวันเวลาในสหรัฐฯ โดยอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ วัย 77 ปี เปิดใช้บัญชี TikTok ในชื่อว่า @realdonaldtrump และได้โพสต์คลิปวิดีโอสั้นคลิปแรกลงใน TikTok

เป็นภาพวิดีโอที่เขาพบปะกับเหล่าบรรดาผู้สนับสนุน ขณะไปชมรายการแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานของยูเอฟซี ที่เมืองนวร์ก รัฐนิวเจอร์ซีย์ ซึ่งปรากฏว่า มีผู้รับชมคลิปดังกล่าวใน TikTok จำนวนมากกว่า 56 ล้านคน พร้อมกันนี้ อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ กล่าวหลังจากเปิดบัญชี TikTok ว่า ตนจะใช้เครื่องมือทุกประเภทที่มีอยู่ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับชาวอเมริกัน สำหรับ ประวัติความสัมพันธ์ของนายทรัมป์ กับ TikTok นั้น ในสมัยที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฐฯ เคยพยายามแบน TikTok เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) แต่ถูกศาลขัดขวาง จึงทำให้แบนไม่สำเร็จ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top