Wednesday, 3 July 2024
The States Times EconBiz Team

สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาส 4 ปี 63 หดตัวลดลงเหลือ -4.2% สรุปทั้งปีหดตัว -6.1% พร้อมปรับลด GDP ปี 64 เหลือโต 2.5 - 3.5% จากเดิมคาด 3.5 - 4.5% หลังโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่ ส่งผลกระทบเศรษฐกิจช่วงต้นปี

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผย ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 หดตัว -4.2% ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับการหดตัว -6.4% ในไตรมาส 3/63 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้วเศรษฐกิจไตรมาส 4/63 จะขยายตัว 1.3% จากไตรมาส 3/63 เนื่องจากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกสินค้าลดลงในอัตราที่ชะลอลง ขณะที่การใช้จ่ายและภาคลงทุนภาครัฐขยายตัว

แต่ภาพรวมทั้งปี 63 เศรษฐกิจไทยหดตัว -6.1% เทียบกับการขยายตัว 2.3% ในปี 62 โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมลดลง 6.6%, 1.0% และ 4.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ -0.8% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 3.3% ของ GDP

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2564 สภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 64 เหลือเติบโต 2.5-3.5% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ 3.5-4.5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศเกิดการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจในปีนี้ นอกจากนั้น ยังมีความเสี่ยงจากประสิทธิภาพการกระจายวัคซีน ความล่าช้าจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และภัยแล้ง

ส่วนปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ประกอบด้วย แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก, แรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภาครัฐ, การกลับมาขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการปรับตัวตามฐานการขยายตัวที่ต่ำผิดปกติในปี 63

ทั้งนี้ สภาพัฒน์คาดว่ามูลค่าการส่งออกในปีนี้จะขยายตัว 5.8% การอุปโภคบริโภคเอกชนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.0% และ 5.7% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 1-2% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.3% ของผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP)

สายหนี้มีเฮ รัฐชวนคนไทยแก้หนี้ 14 กุมภา ถึง 14 เมษา ดันมหกรรมแก้หนี้บัตรเครดิต เงินกู้ช่วงโควิด

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผย รัฐบาลเชิญชวนประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล เข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เพื่อเปิดให้มีการไกล่เกลี่ยหนี้

พร้อมยื่นข้อเสนอเพื่อหาทางออกร่วมกันระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงิน แก้ไขปัญหาหนี้สินของประชาชนในช่วงสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้างโดยเฉพาะมหกรรมไกล่เกลี่ยครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่ถูกบังคับคดี ยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด จะสามารถไกล่เกลี่ยกับเจ้าหนี้แทนการยึดทรัพย์ได้

ทั้งนี้ มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีข้อเสนอผ่อนปรนสำหรับลูกหนี้ 3 กลุ่ม 

กลุ่มที่ 1 กลุ่มลูกหนี้ NPL ที่มีคำพิพากษาและเข้าสู่กระบวนการบังคับคดีแล้ว มีข้อเสนอให้ชำระเฉพาะเงินต้น ไม่มีดอกเบี้ย โดยมีการวางกรอบการชำระหนี้ไว้ 3 ระยะ คือภายใน 3 เดือน ภายใน 3 ปี และภายใน 5 ปี หากชำระได้ตามแผนก็จะยกดอกเบี้ยให้ลูกหนี้ 

กลุ่มที่ 2 ลูกหนี้ NPLที่ยังไม่ถูกฟ้องร้อง หรือถูกฟ้องแล้ว เมื่อสมัครเข้าร่วมมหกรรมฯ จะมีการรับเรื่องเข้าเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล พร้อมกันนี้ ยังมีข้อเสนอผ่อนชำระ ระยะยาว เช่น ภายใน 10 ปี เป็นต้น

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่ขาดสภาพคล้องชั่วคราว ค้างชำระเกิน 3 เดือน โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะช่วยแปรสภาพหนี้เป็นระยะยาว คิดดอกเบี้ยในอัตราที่ลดลง

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า "ประชาชนที่มีปัญหาด้านการชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ฯ ด้วยการลงทะเบียนผ่านช่องทางออนไลน์ ระหว่างวันที่ 14 ก.พ. ถึง 14 เม.ย. ทางเว็บไซต์ของสำนักงานศาลยุติธรรม กรมบังคับคดี ธนาคารแห่งประเทศไทย และศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ซึ่งภายหลังการลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับภายใน 1 สัปดาห์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1213"

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร โพสต์บทกลอนผ่านเฟซบุ๊ก กลอนยกย่อง รปภ.คนกล้า กรีดฝ่ายบริหาร มธ.

ดร.จักษ์ พันธ์ชูเพชร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์) โพสต์บทกลอนผ่านเฟซบุ๊ก โดยมีเนื้อหาดังนี้

มีคนฝากมา เขียนแทนใจคนไทยหลาย ๆ คน

“องค์กรใบ้ ไร้ผู้กล้า
ซุกหว่างขา ไม่กล้าสู้
ทั้งหนุ่มแก่ แค่นั่งดู
ความอดสู สู่องค์กร
หัวหน้านิ่ง ลูกน้องเงียบ
ยอมให้เหยียบ จนเรียบกร่อน
ความบรรลัย เข้าไชชอน
บทสะท้อน องค์กรทรุด
คงเหลือเพียง รปภ.
กล้าต้านต่อ จรยุทธ์
ยืนปักหลัก พิทักษ์สุด
มุ่งยื้อยุด หยุดพวกพาล
หลายคนฝาก อยากร้องขอ
รปภ. ผู้กล้าหาญ
อยากให้เป็น อธิการ
หรืออาจารย์ ฝ่ายปกครอง”

เก็บภาษี 'อี - เซอร์วิส , เฟซบุ๊ก และกูเกิล' ดีเดย์ 1 กันยา

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ว่าด้วยการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) กรณีการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (อี-เซอร์วิส) โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่มีรายได้เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี จากการให้บริการทางออนไลน์แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นแบบแสดงรายการ และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายเดือนให้กรมสรรพากรภายใต้ระบบ “ภาษีจ่าย” (pay-only) ห้ามหักภาษีซื้อ โดยไม่ต้องจัดทำใบกำกับภาษีและรายงานภาษีซื้อโดย พ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย.2564 เป็นต้นไป 

ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวนั้น จะจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการที่ให้บริการ e-Service จากต่างประเทศ ได้แก่ การให้บริการดาวน์โหลด หนัง/ภาพยนตร์ เพลง เกม สติกเกอร์ นายหน้า สื่อโฆษณา เป็นต้น 

เช่นเดียวกันกับแพลตฟอร์มจากต่างประเทศที่ให้บริการในประเทศไทย เช่น Apple , Google, Facebook, Netflix, Line, Youtube Tiktok ซึ่งถือเป็นกลุ่มมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี 

สำหรับข้อดีของกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความเป็นธรรมในการเสียภาษี ระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะบริการอี-เซอร์วิส อีกทั้งยังช่วยยกระดับการจัดเก็บภาษีของประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศที่หลายประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีบริการออนไลน์ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน สิงคโปร์ และมาเลเซีย อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการสอดรับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล โดยคาดว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าว กรมสรรพากรจะจัดเก็บรายได้ปีละ 5,000 ล้านบาท

ทั้งนี้จากข้อมูลการใช้งานอินเตอร์เน็ตของประชากรไทย พบว่า ปัจจุบันมีการใช้งานและเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากกว่า 75% ของจำนวนประชากร ราว 69 ล้านคน ซึ่งมากกว่า 50% ใช้บริการออนไลน์ ทั้งดูหนัง ฟังเพลง เล่มเกมและใช้โซเชียลมีเดียเพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ขณะนี้กรมสรรพากรอยู่ระหว่างสร้างความรู้ ความเข้าใจกับผู้ประกอบการ เพื่อดำเนินการจ่ายภาษีให้ง่ายที่สุด และถูกต้องด้วย โดยจะเป็นการจ่ายภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด 



ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/business/finance-banking/2031664

อย่าปล่อยให้การล้วงข้อมูลชีวิตเป็นเรื่อง 'ธรรมดา' | Story Telling EP.2

อย่าปล่อยให้การล้วงข้อมูลชีวิต เป็นเรื่องธรรมดา จนถึงขั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภายใต้เทคโนโลยีของธุรกิจที่ไม่แคร์...

‘อิสรภาพความเป็นคน’

‘ทิม คุก’ นายใหญ่แห่ง Apple ออกโรงเตือน!! ในงาน Privacy & Data Protection conference เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา

.

จับตา น้ำมันปาล์มขวดเริ่มขาดตลาด - ขายแพง จี้กรมการค้าภายใน เช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในโมเดิร์นเทรด พร้อมช่วยตรวจสอบ ใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือไม่

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำมันปาล์มในประเทศ ว่า ขณะนี้ร้านค้าส่งได้รับผลกระทบปัญหาน้ำมันปาล์มขวดขาดตลาด โดยเมื่อสั่งสินค้าไปแต่ได้รับของมาขายลดลงไป 60 - 70% เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มหลายยี่ห้อได้ลดสัดส่วนการส่งสินค้าลงโดยให้เหตุผลว่าผลผลิตปาล์มมีน้อย เพราะได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง

ทั้งนี้ ในช่วงปกติร้านจะสั่งสินค้าเข้ามารอบละ 200 - 300 ลัง แต่ขณะนี้สั่งไป 300 ลัง แต่รับมาแค่รอบละ 50 - 100 ลังเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นเหมือนกันในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพราะสมาชิกร้านค้าส่งในต่างจังหวัดก็เล่าให้ฟังว่า ปกติเคยสั่งซื้อยกคันรถ 1,000 ลัง ก็ได้ของเข้ามาขายแค่ 400 - 500 ลังเท่านั้น

อย่างไรก็ตามราคาขายปลีก - ขายส่งตอนนี้ขยับสูงขึ้นมาตั้งแต่ต้นทาง โดยปัจจุบันต้นทุนราคาส่งตกลังละ 580 บาท หรือตกขวดละ 48 บาทเศษ หากขายให้ร้านโชห่วยนำไปขายต่อจะบวกเป็นลัง 590-595 บาท เพื่อให้ไปทำกำไรขายต่อได้ที่ 52 บาท

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยากให้กรมการค้าภายใน เข้าไปช่วยเช็คสต็อกน้ำมันปาล์มขวดในร้านค้าปลีกสมัยใหม่ว่า มีปัญหาขาดหรือไม่ รวมถึงดูด้วยว่าใครกักตุนจนทำให้ของขาดตลาดหรือเปล่า แต่ก็ได้แจ้งว่าในเดือนมี.ค.64 ปัญหาน่าจะคลี่คลายลงเพราะจะเริ่มมีผลปาล์มฤดูใหม่ออกสู่ตลาด ซึ่งน่าจะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนได้

องค์การเภสัชกรรม ร่วมหน่วยงานเกี่ยวข้องวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเชื้อตาย ทดลองในมนุษย์ระยะที่ 1 เดือน มี.ค.นี้ โดยใช้โรงงานสระบุรี จากผลิตวัคซีนหวัดใหญ่เป็นวัคซีนโควิดแทน คาดผลิตได้ 25 - 30 ล้านโดส

ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมผู้บริหารสธ. แถลงข่าวศึกษาวิจัยวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชนิดเชื้อตายวิจัยในมนุษย์ระยะที่ 1 ว่า รัฐบาลได้ทำสัญญาหรือออกใบสั่งซื้อวัคซีนโควิ-19 ทั้งหมด 63 ล้านโดสแล้ว แบ่งเป็น…

- 61 ล้านโดสจากความร่วมมือของแอสตราซิเนกาและสยามไบโอไซเอนซ์

- ส่วนอีก 2 ล้านโดสจากจีนคือ ซิโนแวค

โดยทั้งหมดอยู่ระหว่างการจัดส่งตามระยะเวลากำหนด ซึ่งในส่วนของซิโนแวคจำนวน 2 ล้านโดส ล็อตแรก 2 แสนโดสในเดือนก.พ นี้ และมี.ค. 8 แสนโดส จากนั้น เม.ย. 1 ล้านโดส ส่วนภายใน พ.ค. - มิ.ย. จะเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งจะผลิตล็อตแรก 26 ล้านโดส

นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เราไม่ได้แทงม้าตัวเดียว โดยในไทยก็มีผลิตเอง จากความร่วมมือขององค์การเภสัชกรรม (อภ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และสถาบันวิจัยวัคซีนของคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยต่างๆ อีก อย่างล่าสุดองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ได้ดำเนินการวิจัยพัฒนาเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 โดยใช้เทคโนโลยีไข่ไก่ฟัก ซึ่งเป็นเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้ผลิตวัคซีนหลายชนิด รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่

องค์การฯ เริ่มดำเนินการโครงการนี้มาตั้งแต่กลางปี 2563 ขณะนี้ได้ทำการทดสอบในสัตว์ทดลองแล้ว พบว่าวัคซีนกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ผลดีและปลอดภัย เตรียมทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกในมนุษย์ระยะที่ 1 ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.พญ.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์วัคซีน เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ในเดือนมีนาคมนี้

เมื่อศึกษาวิจัยครบทั้ง 3 ระยะ และผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันซึ่งป้องกันการเกิดโรคโควิด-19 ได้ จะยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และจะทำการผลิตในระดับอุตสาหกรรมที่โรงงานผลิต(วัคซีน) ชีววัตถุ ขององค์การฯ ที่ จ.สระบุรี ซึ่งโรงงานดังกล่าวมีเทคโนโลยีไข่ไก่ฟักที่ใช้ผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อยู่แล้ว พร้อมปรับมาใช้ผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ทันที

“หากเป็นไปตามที่คาดหวัง ปี พ.ศ. 2565 องค์การฯ จะสามารถเริ่มการยื่นขอรับทะเบียนตำรับ (Rolling Submissions) คู่ขนานกับการศึกษาวิจัยในระยะที่ 3 และจะสามารถผลิตวัคซีนเพื่อใช้ในประเทศได้ภายหลังการได้รับทะเบียนตำรับ โดยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้ ประมาณ 25-30 ล้านโดสต่อปี” นายอนุทิน กล่าว

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 นี้ ถือเป็นตัวแรกของไทยที่เข้าสู่การวิจัยในมนุษย์ โดยเป็นความร่วมมือกับสถาบัน PATH ประเทศ ซึ่ง PATH ได้ส่งหัวเชื้อไวรัสตั้งต้นที่พัฒนาโดยโรงเรียนแพทย์ที่ Mount Sinai ในนิวยอร์ค และมหาวิทยาลัยเท็กซัส มาให้องค์การเภสัชกรรม เพื่อใช้ในการผลิตวัคซีน

หัวเชื้อไวรัสตั้งต้นดังกล่าวเกิดจากการตัดแต่งพันธุกรรมไวรัสนิวคาสเซิล ให้มีโปรตีนส่วนหนาม (Spike protein) ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อยู่ที่ผิว ซึ่งไวรัสที่ตัดแต่งพันธุกรรมนี้ไม่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 และสามารถเพิ่มจำนวนได้ในไข่ไก่ฟักเหมือนกันกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ อีกทั้งสามารถใช้กระบวนการผลิตคล้ายกับการผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ การที่องค์การฯ มีโรงงานผลิตวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตในไข่ไก่ฟักพร้อมอยู่แล้ว จึงมีศักยภาพในการรับไวรัสตั้งต้นดังกล่าวมาผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไปได้

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า เทคโนโลยีของโรงงานวัคซีนที่สระบุรีนั้นเดิมผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ กำลังจะขยายเป็น 4 สายพันธุ์เร็วๆ นี้ การที่เราจะใช้เพื่อการผลิตวัคซีนโควิด-19 ด้วยนั้น ก็ไม่จำเป็นต้องพัฒนาอะไรเพิ่มเติม เพราะใช้เทคนิคเดียวกันกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่คือเป็นวัคซีนเชื้อตาย เพาะเลี้ยงในไข่ไก่

แต่วัคซีนโควิดฯ จะทำได้เร็วกว่าด้วยเพราะผลิต 1 สายพันธุ์ และการเพาะเลี้ยงในไข่ไก่ก็จะทำให้ได้ปริมาณมากกว่าด้วย ปัจจุบันโรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 25-30 ล้านโดสต่อปี ขณะนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และงบขององค์การฯ รวมประมาณ 150 ล้านบาท เพื่อติดตั้งไลน์การบรรจุวัคซีนเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้เพิ่มกำลังการผลิตได้ประมาณ 60 ล้านโดสต่อปี และถ้าวัคซีนโควิดฯ สำเร็จ แล้ว

โรงงานดังกล่าวไม่จำเป็นต้องแบ่งสัดส่วนการผลิตวัคซีนทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถผลิตได้ตามความต้องการใช้ เพราะช่วงเวลาที่ต้องการใช้วัคซีนเหลื่อมกันอยู่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้จะผลิตวัคซีนโควิดฯ ต้นแบบเพื่อการวิจัยในคนระยะที่ 1 และ 2 ราวๆ 1 พันโดส แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 1 ไมโครกรัม 3 ไมโครกรัมและ 10 ไมโครกรัม

พญ.พรรณี กล่าวว่า "สำหรับการทดลองในคนนั้นจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะ ที่ 1 โดยเปิดรับอาสาสมัครจำนวน 210 คน ที่มีสุขภาพดี อายุ 20 ปี ขึ้นไป ไม่เคยมีการติดเชื้อมาก่อน ดังนั้นจะต้องมีการตรวจหาภูมิคุ้มกันโรค IgG โดยจะเริ่มให้วัคซีนในเดือนมี.ค.นี้ แบ่งเป็นกลุ่มๆ คือ กลุ่มที่ได้วัคซีนจริงในปริมาณที่แตกต่างกัน กลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก และกลุ่มที่ได้รับสารเสริมฤทธิ์เพิ่มเติม"

"ทั้งนี้ ใช้เวลาทดลอง 1 - 2 เดือน เพื่อดูความปลอดภัย และขนาดที่เหมาะสม ก่อนจะนำไปสู่การทดลองในคนระยะที่ 2 คาดว่าจะเริ่มในเดือน เม.ย. หรือพ.ค. นี้ ซึ่งจะใช้อาสาสมัครจำนวน 250 คน โดยเลือกสูตรที่เหมาะสม และเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับอะไรเลย จากนั้นจึงวิเคราะห์ข้อมูลและนำสู่การทดลองในระยะ 3 ต่อไป อย่างไรก็ตามระยะที่ 1 และ 2 สามารถทำในประเทศไทยได้ แต่ระยะที่ 3 ต้องขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วยด้วย หากไทยมีผู้ป่วยน้อยอาจจะต้องนำไปทดสอบในต่างประเทศ"


ที่มา: https://www.hfocus.org/content/2021/02/21033

รมว.คลัง สั่ง ก.ล.ต. คุมเข้มเทรดบิทคอยน์ ย้ำต้องเติมความรู้ให้นักลงทุนรู้เท่าทัน เหตุมีความเสี่ยงสูง พร้อมระบุเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีหวัง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะบิทคอยน์ อย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นสินทรัพย์ใหม่ และมีความเสี่ยง จึงต้องดูแลเรื่องนี้ให้ดี

พร้อมทั้งให้คำแนะนำ และความรู้กับผู้ลงทุนด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารความเสี่ยงกับผู้มีเงินออมและเข้ามาอยู่ในตลาดตรงนี้ ต้องให้มีความรู้เท่าทัน ป้องกันไม่ให้ได้รับความเสี่ยงมากเกินไป

ทั้งนี้ยังขอให้ ก.ล.ต.ช่วยอำนวยความสะดวกให้กิจการที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บริษัท หรือผู้ประกอบรายใหม่เข้าถึงตลาดทุน ยกระดับความเชื่อมั่นเสริมศักยภาพตลาดทุน และการพัฒนาการเงินที่ยั่งยืน โดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

"สถานการณ์เศรษฐกิจในปีนี้โดยเฉพาะผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบที่แตกต่างออกไปจากปีก่อน เพราะมีปัจจัยเสริมคือเรื่องวัคซีน หากทำได้เร็วก็ช่วยลดการแพร่ระบาดได้ ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีความหวังว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจจะน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อน"

อย่างไรก็ตาม ในส่วนการบริหารเศรษฐกิจปี 2564 รัฐบาลต้องดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.) การเยียวยาและฟื้นฟู ต้องทำให้ทันสถานการณ์ โดยปี 63 ที่ผ่านมา มีการเยียวยาประชาชนในโครงการเราไม่ทิ้งกัน สำหรับปีนี้ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ และโครงการ ม33 เรารักกัน อย่างไรก็ดี มาตรการเยียวยาทำได้แค่ระยะสั้นเท่านั้น ไม่สามารถเยียวยาโดยการแจกเงินไปได้ตลอด ดังนั้นรัฐบาลต้องทำการฟื้นฟู ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านนโยบายการเงินการคลัง ไปพร้อมกันด้วย

2.) การกำหนดทิศทางเศรษฐกิจในอนาคตให้มีความชัดเจน ซึ่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พูดชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยต้องเน้นเรื่องนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ, เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG)

3.) การดูแลการระบาดของโควิด-19 และการดูแลรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้สูงอายุ 12% และอีก 10 ปี จะเพิ่มเป็น 24% ต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับในส่วนนี้

นอกจากนี้ ประเทศไทยต้องมีวัคซีนเศรษฐกิจ 3 ตัว เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืน และมีเสถียรภาพ ประกอบด้วย

1.)วัคซีนเศรษฐกิจระดับประเทศ GDP ต้องเติบโตมั่นคง ต่อเนื่องมีคุณภาพ เศรษฐกิจต้องมีความมั่นคง ทุนสำรองสูง ฐานะการคลังแข็งแรง และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้

2.) วัคซีนเศรษฐกิจระดับภาคการผลิต ภาคบริการ ต้องมีภูมิคุ้มกัน มีการบริหารความเสี่ยง และมีธรรมาภิบาล

และ 3.) วัคซีนระดับประชาชน ส่งเสริมให้มีการออมเงินมากขึ้น และสร้างทางเลือกการออมยามเกษียณให้กับประชาชน

ธุรกิจไทย หวั่น ! รัฐประหารที่เมียนมาร์ทำพิษเศรษฐกิจ | BizMAX EP.25

"ข่าว รัฐ - เอกชน เกรงรัฐประหารเมียนมาร์ลากยาว หวั่นกระทบการค้า 2 ประเทศ 164,000 ล้านบาท"

Link ข่าว : https://thestatestimes.com/post/2021020202 ​

จากสถานการณ์รัฐประหารในประเทศเมียนมาร์อาจส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจบ้านเรา จะส่งผลร้ายแรงมากน้อยแค่ไหน สถานการณ์เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอีกหรือไม่ มาวิเคราะห์กันกับ หยก - สถาพร บุญนาจเสวี

.

 

 

คนไม่มีสมาร์ทโฟนเตรียมเฮ!!! กระทรวงการคลัง เปิดลงทะเบียนร่วมโครงการ ‘เราชนะ’ 15 - 25 ก.พ.นี้ ที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียนของธนาคาร

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยรายละเอียดการเปิดรับลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเราชนะ สำหรับประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ว่า ประชาชนกลุ่มนี้ สามารถลงทะเบียนได้ระหว่างวันที่ 15 - 25 ก.พ.นี้ ที่สาขาธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการเคลื่อนที่รับลงทะเบียนต่าง ๆ ของธนาคาร

สำหรับประชาชนในกลุ่มนี้ เบื้องต้นต้องนำบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด ไปใช้ประกอบการลงทะเบียนขอรับสิทธิ์โครงการฯ โดยต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนโดยการเสียบบัตรประจำตัวประชาชน ผ่านเครื่องรูดบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (EDC) พร้อมกำหนดรหัส (PIN Code) ได้ที่สาขาของธนาคารกรุงไทย หรือจุดบริการที่ธนาคารกรุงไทยกำหนด หากผ่านการคัดกรองคุณสมบัติและได้รับอนุมัติวงเงินสิทธิ์จะได้รับวงเงินสิทธิ์สนับสนุนเป็นราย

ส่วนกลุ่มประชาชนที่อยู่ในระบบฐานข้อมูลของแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ทางเว็บไซต์เราชนะ แล้วพบว่า “ไม่ผ่านการคัดกรองคุณสมบัติ” สามารถยื่นขอทบทวนสิทธิ์ผ่านทางเว็บไซต์เราชนะ ได้ โดยผู้ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเรื่องเงินได้พึงประเมิน

และต้องการให้ตรวจสอบข้อมูลเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2563 ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของปีภาษี 2563 ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ แต่ต้องไม่เกินวันที่ 8 มี.ค. 2564 สำหรับผู้ที่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ตั้งแต่วันที่ 8 - 9 ก.พ. 2564 จะต้องยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 17 ก.พ. 2564

ที่ผ่านมากระทรวงการคลังพบว่ามีประชาชนหรือร้านค้าที่ใช้จ่ายวงเงินสิทธิ์ผิดวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการติดตาม ตรวจสอบ

และดำเนินการทางกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว หากตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดเงื่อนไขจริง จะระงับการใช้แอปฯ “ถุงเงิน” ของร้านค้า และระงับการจ่ายเงินให้กับร้านค้าทันที รวมถึงระงับการใช้แอปฯ เป๋าตัง และจะดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top