Sunday, 30 June 2024
สินเชื่อ

ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan 5พันล้าน ปล่อยกู้อุตสาหกรรม S - Curve ลงทุนปรับปรุงเครื่องจักร รายละไม่เกิน 100 ล้าน

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการสินเชื่อ EXIM Biz Transformation Loan วงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท และอนุมัติงบประมาณ 575 ล้านบาท แก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) สำหรับดำเนินโครงการ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยโครงการสินเชื่อ EXIM Biz จะเป็นสนับสนุนการให้สินเชื่อให้ผู้ประกอบการรายละไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลาการให้กู้ยืมไม่เกิน 7 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-2  คงที่ร้อยละ 2 ปีที่ 3-5  Prime Rate - ร้อยละ 2 และปีที่ 6-7  Prime Rate (ปัจจุบัน ณ 30 ก.ค 64 อัตราดอกเบี้ย Prime Rate อยู่ที่ร้อยละ 5.75) เพื่อใช้ในการปรับปรุงเครื่องจักรหรือลงทุนในเครื่องจักรใหม่ และเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต

‘EXIM’ ผุด 3 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หนุนธุรกิจ ‘SMEs-ส่งออก’ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(8 ม.ค. 67) เพื่อนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น EXIM BANK ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่มุ่งมั่นเดินหน้าสู่การเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนาโลกสีเขียว (Green Development Bank) จึงทำงานสานพลังกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจ รวมถึงคนตัวเล็กหรือ SMEs เข้าถึงบริการด้านความรู้ โอกาส และเงินทุน เพื่อปรับทิศทางการดำเนินงานให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจสู่เวทีโลกได้อย่างยั่งยืน

นำไปสู่การจัดเต็มแพ็คเกจของขวัญปีใหม่ 2567 เพื่อผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง ESG ด้วยการเปิดตัว 3 ผลิตภัณฑ์ ‘สินเชื่อเพื่อธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ ดอกเบี้ยต่ำ 2.99% ต่อปี นาน 3 เดือน และยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ‘สินเชื่อเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่เริ่มต้นส่งออก’ วงเงินหมุนเวียนสูงสุด 3 ล้านบาทต่อราย สำหรับผู้ประกอบการไทย Size S ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมที่สนใจเริ่มต้นส่งออกหรือนำเข้าเพื่อส่งออก และ ‘มาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องแก่กลุ่ม SMEs ที่เป็น NPLs จากช่วงโควิด-19’ ปรับลดดอกเบี้ยและพักชำระดอกเบี้ย-เงินต้นตามเงื่อนไขของธนาคาร

‘ธนาคารออมสิน’ มอบสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง ผู้ค้ารายย่อย หนุนอาชีพอิสระมีเงินทุน ไม่ต้องใช้หลักประกัน-ผ่อนได้ถึง 8 ปี

(20 ม.ค. 67) นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินมอบสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย เพื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินสูงสุด 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน ผ่อนชำระนานสูงสุด 96 งวด เพื่อให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย เช่น ผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซด์รับจ้าง, ผู้ขับขี่รถแท็กซี่, ผู้ขับขี่รถตู้สาธารณะ, พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น สำหรับเป็นเงินทุนประกอบอาชีพ โดยให้กู้ตามความจำเป็นและความสามารถในการชำระหนี้ ไม่เกินรายละ 100,000 บาท ไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อเดือน (Flat Rate) แต่หากอัตราผิดนัดไม่ชำระหนี้ อัตราดอกเบี้ยเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา บวกร้อยละ 0.25 ต่อเดือน

นางรัดเกล้า กล่าวว่า โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ต้องเป็นบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และเมื่อรวมอายุผู้กู้กับระยะเวลาชำระเงินกู้ ต้องไม่เกิน 70 ปี และเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่หรือสถานประกอบการที่แน่นอน สามารถติดต่อได้

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจ และมีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไขสามารถสมัครได้ที่ ธนาคารออมสินทุกสาขาหรือสมัครออนไลน์ที่เว็บไซต์ของธนาคาร (https://www.gsb.or.th/gsb_govs/loan4idpc/#section4) โดยนำเอกสารการสมัครไปให้ครบถ้วน

“การกู้ยืมสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือผู้ประกอบการรายย่อย ดูเหมือนเป็นเรื่องยุ่งยาก ธนาคารออมสินจึงได้มอบสินเชื่อตามนโยบายรัฐบาลนี้เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่อง หรือใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบอาชีพ ซึ่งสินเชื่อนี้จะเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่น่าเชื่อถือสำหรับผู้ที่สนใจ” นางรัดเกล้า กล่าว

‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ

‘SME D Bank’ ผนึก ‘ส.อ.ท.’ เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567 ช่วยเสริมสภาพคล่องผ่านสินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจกว่า 2 หมื่น ลบ.

(17 มิ.ย. 67) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเติบโตยั่งยืน ร่วมทัพมอบบริการ ‘เติมทุนคู่พัฒนา’ ในงาน ‘เปิดกล่องของขวัญเพื่อ SME ปี 2567’ จัดโดย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกของ ส.อ.ท. และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งทุน อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ที่เตรียมไว้รองรับ วงเงินรวมมากว่า  20,000 ล้านบาท ผ่านผลิตภัณฑ์สินเชื่อครอบคลุมทุกกลุ่มธุรกิจ วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท ผ่อนนานสูงสุด 15 ปี และปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 12 เดือน ช่วยเสริมสภาพคล่อง ยกระดับธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน จัดครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ระหว่างเดือนมิถุนายน ถึง พฤศจิกายน 2567 

ไฮไลต์จาก SME D Bank ‘ด้านการเงิน’ ได้แก่ สินเชื่อ ‘Smile Biz ธุรกิจยิ้มได้’ ผ่อนปรนเงื่อนไขสุดพิเศษ ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ทำธุรกิจ 1 ปีก็กู้ได้ ดอกเบี้ยเริ่มต้นเพียง 6.50% ต่อปี 

นอกจากนั้น ยังมีสินเชื่อ ‘SME Refinance’ อัตราดอกเบี้ยคงที่ ปีแรกเพียง 2.99% ต่อปี ช่วยลดต้นทุนการเงิน ผ่อนหนักเป็นเบา, สินเชื่อ ‘BCG Loan’ ยกระดับธุรกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4.75% ต่อปี, สินเชื่อ ‘เสริมสภาพคล่องผู้รับเหมา’ สนับสนุนเข้าถึงงานจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี พร้อมรับแคมเปญพิเศษ สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่เคยใช้สินเชื่อของ SME D Bank มาก่อน เมื่อยื่นกู้สินเชื่อและใช้วงเงิน ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป รับ Cash Back ค่าวิเคราะห์โครงการ มูลค่าสูงสุด 5,000 บาท

ขณะเดียวกัน ยังมอบบริการ ‘ด้านการพัฒนา’ เสริมแกร่งธุรกิจครบวงจร ผ่านแพลตฟอร์ม ‘DX by SME D Bank’ (dx.smebank.co.th) ซึ่งบูรณาการการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษากว่า 50 แห่ง มาไว้ในจุดเดียว ให้บริการฟรี มีฟีเจอร์สำคัญ เช่น Business Health Check ระบบตรวจประเมินสุขภาพธุรกิจ, E-Learning รวบรวมหลักสูตรความรู้สำคัญ ช่วยเพิ่มศักยภาพการประกอบธุรกิจ เรียนรู้ได้ด้วยตัวเองตลอด 24 ชม., SME D Coach ที่ปรึกษาและให้คำแนะนำธุรกิจจากโค้ชมืออาชีพ, SME D Activity ระบบจองเข้าร่วมกิจกรรมเติมความรู้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี, SME D Market ขยายตลาดด้วย E-marketplace และจับคู่ธุรกิจ อีกทั้ง ยังมี SME D Privilege สิทธิประโยชน์พิเศษอื่น ๆ ให้อีกมากมาย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top