‘แบงก์พาณิชย์’ เข้ม!! ปล่อยสินเชื่อ ‘กลุ่ม SME’ สัญญาณอันตราย!! ขวางเศรษฐกิจไทยเติบโต

ถึงแม้ว่าธนาคารพาณิชย์ประกาศผลประกอบการ ประจำปี 2566 ออกมา ว่ามีกำไรมากกว่า 2.26 แสนล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ อานิสงส์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นในปี 2566 แต่หากพิจารณาจากงบการเงินจะพบอีกประเด็นที่ยังมีความ ‘น่ากังวล’ คือ การตั้งสำรองหนี้เสีย

ในการ ‘ตั้งสำรองหนี้เสีย’ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้ง 9 แห่ง พบว่า ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อแผนธุรกิจ ทิศทางในปี 2567 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แผนธุรกิจของแต่ละธนาคาร เริ่มประกาศออกมา กำหนดเป้าหมายเติบโตของสินเชื่อ ที่ 3-5% กำหนดนโยบายให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุน และคงอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่ไม่ต่างจากปี 2566 อยู่ระหว่าง 3.5-3.9% 

แน่นอนว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศ ปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการจ้างงาน มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ย่อมหนีไม่พ้นจากงบประมาณที่ใช้ในการลงทุน จากภาคเอกชน ที่เป็นกลไกหลักให้ GDP ขยายตัวสูงขึ้น

หากภาคเอกชน จะต้องขยายงาน ขยายการลงทุน แหล่งเงินทุนคงไม่พ้นการใช้บริการสินเชื่อกับธนาคาร แน่นอนว่า หลังผ่านพ้นวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (Covid-19) ธุรกิจขนาดใหญ่ ย่อมฟื้นตัวได้เร็วกว่า มีโอกาสที่จะเริ่มทยอยลงทุน ขยายธุรกิจ สอดคล้องกับ นโยบายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดสัดส่วนการเติบโตสินเชื่อ ในกลุ่มระดับ Corporate มากกว่า กลุ่มธุรกิจ SME

แต่หัวใจหลักทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ละเลยไม่ได้ คือ กลุ่มธุรกิจ SME หรือ ‘Start Up’ เป็นกลุ่มคนตัวเล็ก ที่สร้างงานในท้องถิ่น การจ้างแรงงาน สร้างการอุปโภคบริโภค หาก SME กลุ่มนี้ ไม่สามารถฟื้นตัวได้ ย่อมกระทบต่อเนื่องกันเป็นวงกว้าง สิ่งที่รัฐบาลหมายมั่นปั้นมือ ว่า จะเร่งการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศ ย่อมเป็นไปไม่ได้  

และจากข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังพบว่า มีสัญญาณการปฏิเสธสินเชื่อบ้านทะลุ 70% ในกลุ่มราคา 1-3 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในกลุ่มสินเชื่อบ้าน เป็นสัญญาณเตือนอย่างหนึ่งที่ต้องกังวล ที่จะกระทบภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก กระทบผู้รับเหมา การจ้างแรงงาน และที่สำคัญ เป็นสินเชื่อที่มีอสังหาริมทรัพย์เป็นหลักประกัน แบงก์ยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อ แล้วกลุ่มธุรกิจ SME ไม่มีหลักประกัน แต่จำเป็นที่ต้องมีทุนหมุนเวียนในกิจการ เพื่อเสริมสภาพคล่องนั้น ธุรกิจเหล่านี้จะเดินหน้าต่ออย่างไร

รวมถึงแบงก์เฉพาะกิจของรัฐ ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาล ในการส่งผ่านเม็ดเงินสู่ผู้ประกอบการรายย่อย แน่นอนว่าย่อมต้องเข้มงวดในการให้สินเชื่อเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไม่มีการ Subsidize ให้แบงก์รัฐ หรือขยายมาตรการ Soft loan กลุ่ม SME น่าจะมีการปิดตัวลงอีกเป็นจำนวนมาก  

แรงปะทะระหว่างแบงก์ชาติ กับรัฐบาล ในด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ยังอยู่ในระดับสูง ภาวะเงินเฟ้อที่ยังติดลบต่อเนื่อง ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่ออย่างระมัดระวัง กลุ่มธุรกิจ SME ที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้น ในภาวะที่ต้องเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ  

ต่อจากนี้ รอดูว่า รัฐบาลจะเข็นมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ที่ต้องมุ่งเน้นการเติบโตในระยะยาว เพราะหากเพียงแค่นโยบายที่กระตุ้นเพียงช่วงสั้นๆ ปัญหานี้ย่อมแก้ได้ไม่จบ