Tuesday, 2 July 2024
สายลับ

กฎหมายต้านสายลับฉบับใหม่ของจีนมีผล โทษถึงประหาร ด้าน สหรัฐฯ โวย!! จ้องเล่นงาน 'บริษัท-นักข่าว' มะกัน

ร่างกฎหมายต่อต้านหน่วยสืบราชการลับข้ามชาติฉบับใหม่ของจีน มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลปักกิ่งในการตรวจสอบ จับกุมและลงโทษกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายจารกรรมสอดแนมข้อมูลลับ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้มากขึ้น 

การต่อต้านการจารกรรม สอดแนม ครอบคลุมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีเป้าหมายไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยกฎหมายใหม่ ระบุถึง กลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายความผิดฐานเป็นสายลับ นอกจากจะหมายถึงตัวบุคคล หรือองค์กรจารกรรมเองแล้ว ยังรวมถึง องค์กรตัวแทนที่ได้รับ เผยแพร่ หรือครอบครอง เอกสาร ข้อมูล สิ่งของ และรายการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถือเป็นความผิดฐานสอดแนมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ สร้างความกังวลแก่องค์กรต่างชาติในจีน จากเนื้อหาที่ระบุว่า พลเมืองจีนทุกคนมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการสอดแนม จารกรรมข้อมูลลับแก่เจ้าหน้าที่ และ ทางการจีนมีสิทธิ์ที่จะขอตรวจค้นทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยได้ทันที ซึ่งกฎหมายจีนระบุโทษของการสอดแนมข้อมูลลับด้านความมั่นคงไว้สูงสุดถึงประหารชีวิต 

หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NCSC) เชื่อว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งขยายขอบเขตอำนาจรัฐในการเข้าถึง และควบคุมข้อมูลของบริษัทของสหรัฐฯ ในจีนได้ง่ายขึ้น และติงว่า คำจำกัดความของ "ข้อมูลลับด้านความมั่นคง" ในกฎหมายของจีนมีความกำกวม ไม่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลที่ทางการจีนมองว่าเป็นความลับ อาจจะเป็นเพียงเอกสารภายในบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจทั่วไปก็ได้ ที่อาจทำให้บริษัทของสหรัฐถูกลงโทษด้วยข้อหาเป็นสายลับได้ในอนาคต 

แต่ในกฎหมายฉบับเดิมของจีน ก็ระบุโทษในคดีการจารกรรมไว้สูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีชายวัย 78 ปี สัญชาติอเมริกันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาเป็นสายลับมาแล้ว  

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพนักงานชาวญี่ปุ่นของบริษัทยา Astellas Pharma Inc. ถูกทางการจีนกักตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยข้อหาเป็นสายลับ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของคดีจากทางการจีน ทำให้ เท็ตสึโระ ฮอนมะ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในจีน แสดงความวิตกกังวลถึง ความไม่แน่นอน, ความยุติธรรม และ ความโปร่งใสในตลาดจีน ที่จะส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นได้ 

สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มองว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมใหม่ จะส่งผลต่อบริษัทต่างชาติที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับองค์กรสายลับ หรือแม้แต่ชาวจีนเอง ที่ต้องติดต่อ ร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือชาวต่างชาติ 

ด้าน หลิว เผิงหยู่ โฆษกประจำสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตอบโต้ว่า รัฐบาลจีนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศผ่านกฎหมายของตนเอง แต่ทั้งนี้ จีนยังคงส่งเสริมการเปิดตลาดในระดับสูง และจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และความเป็นสากลสำหรับบริษัทจากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย 

อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงไม่น้อยว่า กฎหมายใหม่นี้จะส่งผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติในจีนด้วยหรือไม่ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ นายอีวาน เกรชโควิช นักข่าวสัญชาติอเมริกันจาก Wall Street Journal ที่ถูกจับตัวในรัสเซียด้วยข้อหาเป็นสายลับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเป็นนักข่าวอเมริกันคนแรกนับตั้งแต่หลังสงครามเย็นที่ถูกจับกุมโดยรัสเซียด้วยข้อหานี้ 

ในประเด็นนี้ เหมา หนิง โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาสรุปสั้นๆ ว่า "หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายจีนแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว" 

‘สี จิ้นผิง’ หนุน!! มหาวิทยาลัย บรรจุวิชาจับสายลับลงหลักสูตร เปลี่ยนนักศึกษา ร่วมแรงเป็นนักสืบ สกัดสปายจากต่างแดน

(20 ก.ย. 66) สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประธานาธิบดี ‘สี จิ้นผิง’ ได้ยกระดับโปรแกรมป้องกันการสอดแนมของต่างชาติ ที่รัฐบาลจีนมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง ด้วยการสนับสนุนให้บรรจุวิชาการจับสายลับ ลงในหลักสูตรของหลายสถาบันชั้นนำทั่วประเทศ เพื่อเทรนนักศึกษาจีน ให้ช่วยสอดส่อง และชี้ตัวบุคคลต้องสงสัยที่อาจแฝงตัวมาสืบราชการลับในจีนได้ 

อย่างที่มหาวิทยาลัยชิงหวา ก็ได้มีการอบรมผ่านสื่อวิดีโอแก่นักศึกษา และบุคลากรของสถาบัน กระตุ้นให้ตระหนักถึงบทบาทในการเป็นแนวป้องกันเพื่อต่อต้านภัยคุกคามจากต่างชาติ 

ด้านมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีปักกิ่ง มีการจัดงานเลี้ยงในสวน ที่มีธีมงานเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคง  

ส่วนมหาวิทยาลัยเป่ยหาง ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยด้านการบิน และอวกาศชั้นนำของจีน ได้พัฒนาเกมที่ชื่อว่า ‘Who's The Spy’ ให้นักศึกษาทดลองเล่นเพื่อจับสังเกต คนที่มีพฤติกรรมเป็นสายลับโดยเฉพาะ 

แคมเปญเสริมหลักสูตรไล่ล่าหาสายลับนี้ ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ซึ่งนอกจากหลักสูตรฝึกอบรมในสถาบันชั้นนำแล้ว ยังจับมือร่วมกับ WeChat แพลตฟอร์มออนไลน์ชื่อดังของจีน ในการเผยแพร่เนื้อหาวิธีการจับตา สอดส่องบุคคลต้องสงสัยแก่ประชาชนทั่วไป เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลจีนยังตั้งรางวัลนำจับแก่ผู้ที่สามารถชี้ตัวสายลับต่างชาติได้อย่างถูกตัวสูงถึง 5 แสนหยวน (ประมาณ 2.25 ล้านบาท) 

ทั้งนี้ การเร่งเผยแพร่หลักสูตรจับสายลับ เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายต่อต้านการสอดแนมของสี จิ้นผิง โดยผู้นำจีน ได้กล่าวในที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการสกัดการสอดแนมในจีนให้ได้ และยกให้เป็นวาระเร่งด่วน เทียบเท่ากับการเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ โดยต้องส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่อง เป็นหู เป็นตาให้กับรัฐบาล

จากแคมเปญที่เอาจริง เอาจริงกับการจับสายลับของรัฐบาลจีน ทำให้สื่อต่างชาติอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมผู้นำจีนถึงหวาดระแวงกับการสอดแนมจากต่างชาติมากถึงขนาดต้องเทรนนักศึกษา และประชาชน มาช่วยจับสายลับกับทั้งประเทศ 

และยังเปรียบเทียบแคมเปญจับสายลับของสี จิ้นผิง กับ การสร้างกองกำลัง Red Guard ในสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมของอดีตผู้นำ ‘เหมา เจ๋อตุง’ ที่มีการไล่ล่า ลงโทษกลุ่มคนชั้นสูง ที่ไม่จงรักภักดีต่อระบอบสังคมนิยมจีน จนได้ชื่อว่าเป็นยุคที่มีความรุนแรงในสังคมมากที่สุดยุคหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน 

โดยความเห็นของ ‘ชีนา เกรทเทน’ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส - ออสติน มองว่า การสนับสนุนให้ประชาชนจ้องจับผิดซึ่งกันและกัน จะส่งผลเสียต่อการดูแลความเรียบร้อยโดยรวมของรัฐบาลจีน และจะนำมาซึ่งการแจ้งความเท็จ แจ้งความพร่ำเพรื่อ ซ้ำซ้อน กลายเป็นการเพิ่มงานให้แก่เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงที่ต้องมาสะสาง แยกแยะข้อมูลจำนวนมากเกินความจำเป็น 

และยังเป็นการสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อนักลงทุนชาวต่างชาติ ที่ต้องระวังการสอดแนมรอบตัว สร้างความหวาดระแวงระหว่างชาวต่างชาติ และชาวจีน ที่อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติเกิดความลังเลในการพัฒนาธุรกิจบนแผ่นดินจีนได้ 

แต่ฟาก ‘เฉิน อี้ซิน’ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงแสดงความเห็นว่า ความมั่นคงของชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเมือง ซึ่งแก่นแท้ของความมั่นคงทางการเมืองคือความมั่นคงของระบอบการปกครอง 

จึงเห็นได้ว่า ผู้นำจีน ให้ความสำคัญกับเสถียรภาพ และความมั่นคงภายในประเทศอย่างมาก และได้ประกาศภารกิจในการกวาดล้างภัยคุกคามจากต่างชาติ มีการขยายกรอบกฎหมายต่อต้านการสอดแนมใหม่ และกวาดล้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญจีนที่ทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองของต่างชาติเป็นจำนวนมาก 

ดังนั้น คงไม่มีอะไรหยุดยั้งแคมเปญปั้นนักเรียนเป็นนักสืบของสี จิ้นผิงได้ ตราบใดที่รัฐบาลจีน และ ชาติตะวันตก ยังแสดงออกถึงความไม่เป็นมิตรอย่างเห็นได้ชัด ความหวาดระแวงต่อกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้นั่นเอง 

เรื่อง : ยีนส์ อรุณรัตน์

‘จีน’ ออกกฎหมายใหม่ ให้ตำรวจเช็กมือถือ ‘ปชช.-นทท.’ ได้ เพื่อ ‘ตรวจจับสายลับ-เสริมสร้างความมั่นคงของชาติ’ 

(12 พ.ค.67) กระทรวงความมั่นคงแห่งชาติจีน ประกาศกฎหมายใหม่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ และต่อต้านพฤติกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติและการตรวจจับสายลับต่างชาติ

เมื่อตำรวจอย่างน้อย 2 คนแสดงบัตรตำรวจก็จะสามารถตรวจสอบการส่งข้อความ อีเมล กลุ่มสนทนาในแอปพลิเคชั่นต่างๆ รวมถึงเอกสาร ภาพ ไฟล์เสียง และคลิปวิดีโอบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

กฎหมายใหม่นี้เปิดโอกาสให้ตำรวจเข้าหยุดประชาชนและนักท่องเที่ยวเพื่อตรวจค้นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของพวกเขาได้โดยไม่ต้องใช้หมายค้น หรืออยู่ระหว่างการสอบสวนคดีอาญา

ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ากฎหมายใหม่นี้ จะสร้างความหวาดกลัวในจีน และทำให้ประชาชนต้องควบคุมพฤติกรรมของตนเองมากกว่าที่เป็นอยู่


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top