กฎหมายต้านสายลับฉบับใหม่ของจีนมีผล โทษถึงประหาร ด้าน สหรัฐฯ โวย!! จ้องเล่นงาน 'บริษัท-นักข่าว' มะกัน

ร่างกฎหมายต่อต้านหน่วยสืบราชการลับข้ามชาติฉบับใหม่ของจีน มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ที่จะเพิ่มอำนาจให้แก่รัฐบาลปักกิ่งในการตรวจสอบ จับกุมและลงโทษกลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายจารกรรมสอดแนมข้อมูลลับ ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติได้มากขึ้น 

การต่อต้านการจารกรรม สอดแนม ครอบคลุมถึงการโจมตีทางไซเบอร์ ที่มีเป้าหมายไปยังหน่วยงานของรัฐ หรือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ โดยกฎหมายใหม่ ระบุถึง กลุ่มบุคคลที่เข้าข่ายความผิดฐานเป็นสายลับ นอกจากจะหมายถึงตัวบุคคล หรือองค์กรจารกรรมเองแล้ว ยังรวมถึง องค์กรตัวแทนที่ได้รับ เผยแพร่ หรือครอบครอง เอกสาร ข้อมูล สิ่งของ และรายการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติ โดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถือเป็นความผิดฐานสอดแนมด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ กฎหมายฉบับใหม่ สร้างความกังวลแก่องค์กรต่างชาติในจีน จากเนื้อหาที่ระบุว่า พลเมืองจีนทุกคนมีหน้าที่ต้องแจ้งเหตุเมื่อพบเห็นการกระทำที่เข้าข่ายการสอดแนม จารกรรมข้อมูลลับแก่เจ้าหน้าที่ และ ทางการจีนมีสิทธิ์ที่จะขอตรวจค้นทรัพย์สินของผู้ต้องสงสัยได้ทันที ซึ่งกฎหมายจีนระบุโทษของการสอดแนมข้อมูลลับด้านความมั่นคงไว้สูงสุดถึงประหารชีวิต 

หน่วยข่าวกรองและความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ (NCSC) เชื่อว่า กฎหมายฉบับใหม่นี้ ทำให้รัฐบาลปักกิ่งขยายขอบเขตอำนาจรัฐในการเข้าถึง และควบคุมข้อมูลของบริษัทของสหรัฐฯ ในจีนได้ง่ายขึ้น และติงว่า คำจำกัดความของ "ข้อมูลลับด้านความมั่นคง" ในกฎหมายของจีนมีความกำกวม ไม่ชัดเจน ซึ่งข้อมูลที่ทางการจีนมองว่าเป็นความลับ อาจจะเป็นเพียงเอกสารภายในบริษัทที่เป็นส่วนหนึ่งของการทำธุรกิจทั่วไปก็ได้ ที่อาจทำให้บริษัทของสหรัฐถูกลงโทษด้วยข้อหาเป็นสายลับได้ในอนาคต 

แต่ในกฎหมายฉบับเดิมของจีน ก็ระบุโทษในคดีการจารกรรมไว้สูงสุดถึงประหารชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีชายวัย 78 ปี สัญชาติอเมริกันถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาเป็นสายลับมาแล้ว  

นอกจากนี้ ยังมีกรณีพนักงานชาวญี่ปุ่นของบริษัทยา Astellas Pharma Inc. ถูกทางการจีนกักตัวตั้งแต่เดือนมีนาคม ด้วยข้อหาเป็นสายลับ จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลรายละเอียดของคดีจากทางการจีน ทำให้ เท็ตสึโระ ฮอนมะ ประธานสภาหอการค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่นในจีน แสดงความวิตกกังวลถึง ความไม่แน่นอน, ความยุติธรรม และ ความโปร่งใสในตลาดจีน ที่จะส่งผลต่อการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่นได้ 

สอดคล้องกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่มองว่า กฎหมายต่อต้านการจารกรรมใหม่ จะส่งผลต่อบริษัทต่างชาติที่อาจถูกตั้งข้อสงสัยว่าเกี่ยวพันกับองค์กรสายลับ หรือแม้แต่ชาวจีนเอง ที่ต้องติดต่อ ร่วมงานกับบริษัทข้ามชาติ หรือชาวต่างชาติ 

ด้าน หลิว เผิงหยู่ โฆษกประจำสถานทูตจีนในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ตอบโต้ว่า รัฐบาลจีนมีสิทธิ์ที่จะปกป้องตนเองจากภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศผ่านกฎหมายของตนเอง แต่ทั้งนี้ จีนยังคงส่งเสริมการเปิดตลาดในระดับสูง และจัดเตรียมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักกฎหมาย และความเป็นสากลสำหรับบริษัทจากทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย 

อีกประเด็นที่มีการกล่าวถึงไม่น้อยว่า กฎหมายใหม่นี้จะส่งผลต่อการทำงานของสื่อมวลชนต่างชาติในจีนด้วยหรือไม่ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกับ นายอีวาน เกรชโควิช นักข่าวสัญชาติอเมริกันจาก Wall Street Journal ที่ถูกจับตัวในรัสเซียด้วยข้อหาเป็นสายลับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเป็นนักข่าวอเมริกันคนแรกนับตั้งแต่หลังสงครามเย็นที่ถูกจับกุมโดยรัสเซียด้วยข้อหานี้ 

ในประเด็นนี้ เหมา หนิง โฆษกหญิงประจำกระทรวงการต่างประเทศจีนได้ออกมาสรุปสั้นๆ ว่า "หากทุกคนปฏิบัติตามกฎหมายจีนแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว" 


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Japan Today / The Guardian