Sunday, 30 June 2024
มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

AI พัฒนาขึ้นมาก แต่ยังด้อยด้าน ‘เหตุผล-สามัญสำนึก’ คาดอีก 3-5 ปี ข้างหน้า อาจเข้ามาแย่งงานคน ในงานวิจัยขั้นสูง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ Business Tomorrow รายงานว่า Human-Centered Artificial Intelligence (HAI) หน่วยงานศึกษาวิจัยด้าน AI ของมหาวิทยาลัย Stanford ออกรายงานประจำปีดัชนีด้าน AI ประจำปี 2024 โดยได้แบ่งการศึกษาออกเป็นดังต่อไปนี้

AI มีความสามารถเหนือมนุษย์ แต่ยังไม่ใช่ทุกอย่าง
ในการทดสอบ 9 หัวข้อ HAI พบว่า AI มีความสามารถที่เหนือกว่าค่ามาตรฐานของมนุษย์แล้วหลายอย่าง (บางอย่างแซงนานแล้ว) เช่น การจำแนกรูปภาพ, การอ่านจับใจความ, การให้เหตุผลจากรูปภาพ, การตีความภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามบางอย่าง AI ยังทำได้แย่กว่ามนุษย์ โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยบริบทที่ซับซ้อนประกอบ เช่น การให้เหตุผลตามสามัญสำนึก หรือคณิตศาสตร์แก้โจทย์ปัญหาระดับแข่งขัน

งานวิจัย AI เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
งานวิจัยด้าน AI มีจำนวนเพิ่มขึ้นสูงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในปี 2020 งานวิจัยมีประมาณ 88,000 หัวข้อ ส่วนปี 2022 มีถึง 240,000 หัวข้อ ส่วนโมเดล Machine Learning ที่โดดเด่นนั้น ในปีที่ผ่านมามี 51 โมเดล ที่มาจากภาคเอกชน, 21 โมเดลจากความร่วมมือสถาบันการศึกษาและเอกชน และ 15 โมเดล ที่มาจากภาคการศึกษา ส่วนใหญ่โมเดลเหล่านี้มาจากสหรัฐอเมริกา ตามด้วยจีนในอันดับสอง

AI อาจแย่งงานมนุษย์ แต่ช่วยได้มากในฝั่งวิทยาศาสตร์ 
ผลสำรวจโดย Ipsos ต่อประชาชนทั่วโลกว่ามอง AI จะส่งผลกระทบอย่างไร พบว่าการตระหนักรู้ของผู้คนนั้นมีมากขึ้น 66% (เพิ่มจาก 60%) บอกว่า AI จะกระทบกับชีวิตพวกเขาภายใน 3-5 ปี, 52% กังวลในความสามารถของ AI ที่จะส่งผลกระทบเรื่องต่าง ๆ ถึงแม้ผู้คนจะกังวลกับ AI แต่วงการวิจัยวิทยาศาสตร์ขั้นสูงนั้นได้ประโยชน์จาก AI มาก ในปี 2023 มีงานวิจัยหลายอย่างที่ใช้ AI ช่วยทำให้ได้ผลลัพธ์รวดเร็วมากขึ้น เช่น AlphaDev ที่สามารถเขียนอัลกอริทึม Sort ความเร็วสูงที่เกินกว่าคนทั่วไปเขียนได้, FlexiCubes กระบวนการขึ้นรูป 3D, GraphCast โมเดลพยากรณ์อากาศ, GNoME ที่ช่วยค้นพบวัสดุใหม่ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ได้ AI มาช่วยเร่งความเร็วในการประมวลผล

ทีมผู้สร้างโปรแกรม AI ของ Stanford ยอมรับผิด หลังลอกผลงานของทีมนักพัฒนา AI จากจีน

เรื่องอื้อฉาวของแวดวง AI วันนี้ ต้องยกให้กับข่าวการโพสต์ข้อความขอโทษอย่างเป็นทางการจาก 2 สมาชิกในทีมนักพัฒนาโปรแกรม AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันการศึกษาระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ถูกจับได้ว่าลอกงานเขียนโปรแกรมของทีมนักพัฒนา AI ของจีน

2 สมาชิกคนดังกล่าวคือ Siddharth Sharma และ Aksh Garg หนึ่งในสมาชิกทีมพัฒนา Llama3-V ที่ใช้รูปแบบโมเดลภาษาของ Meta AI ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวว่าเป็นรูปแบบภาษาที่มีความล้ำหน้า หลากหลาย ที่ใช้ไฟล์ขนาดเล็กกว่า GPT งานของ Open AI ค่ายคู่แข่งหลายเท่า 

ซึ่ง Llama3-V เพิ่งปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยทีม Stanford AI และได้เปิดหลักสูตรอบรม Llama3-V ตัวใหม่ ที่เคลมว่ามีศักยภาพเหนือกว่าโปรแกรมอื่น ๆ อย่าง GPT-4V Gemini Ultra และ Claude Opus ในราคาคอร์สละ 500 ดอลลาร์ 

แต่ต่อมา ผู้ที่เข้าร่วมคอร์ส Llama3-V ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมโครงสร้างโปรแกรมของ Llama3-V หลายจุด เหมือนกับ โปรแกรม MiniCPM-Llama3-V 2.5 ผลงานของบริษัท ModelBest ที่ร่วมกับทีมนักพัฒนาจาก มหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน ไม่มีผิดเพี้ยน และได้นำโค้ดของทั้ง 2 โปรแกรมมาเทียบให้ดู เพื่อให้ชาวเน็ตผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมมาพิสูจน์ความเหมือน

จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาบริษัท ModelBest ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า โปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมจากสแตนฟอร์ดนั้น ใช้โค้ดเหมือนกับ MiniCPM ของจีนจริง และยังมีความสามารถที่เหมือนกันคือ สามารถแยกตัวอักษรจีนโบราณได้ และมีจุดบกพร่องในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย จึงยืนยันได้ว่าเป็นการลอกผลงานจริง 

หลี ต้าไห่ ประธานบริษัท ModelBest ยังกล่าวอีกว่า "การได้รับการยอมรับจากทีมพัฒนาระดับนานาชาตินั้นเป็นเรื่องดี และเราเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่เปิดใจกว้าง มีความร่วมมือ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็อยากให้ผลงานของทีมเราได้ถูกค้นพบ และได้รับการยกย่องอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไม่ใช่ในลักษณะนี้”

เมื่อหลักฐานชัดเจน 2 สมาชิกจากทีมผู้พัฒนา Llama3-V ก็ได้ออกมาโพสต์ยอมรับความผิด และขอโทษทีมผู้สร้าง MiniCPM ผ่าน X จากการทำงานที่ขาดความรอบคอบ จนสร้างปัญหาให้กับทีมงานทั้งหมดของโปรเจกต์ Llama3-V และกับทีม MiniCPM ของจีน รวมถึงผู้ที่ติดตามผลงานวิชาการของทีมนักศึกษาสแตนฟอร์ด และสถาบัน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในแวดวงนักพัฒนา AI เป็นวงกว้าง เริ่มจาก คริสโนเฟอร์ แมนนิ่ง ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความประณามผ่าน X ถึงเรื่องอื้อฉาวนี้ว่า "ปลอมตั้งแต่ยังไม่สร้าง ก็เป็นได้แค่สินค้าไร้ราคาในซิลิคอน วัลเลย์" 

ด้าน ลูคัส เบเยอร์ นักวิจัยประจำห้องแล็บ AI DeepMind ของ Google แสดงความเห็นผ่านโซเชียลเช่นกันว่า จากข่าวนี้ทำให้คนในวงการได้รู้จัก MiniCPM-Llama3-V 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ดีทีเดียว เพียงแค่คนไม่ค่อยสนใจเพราะมองว่าเป็นผลงานของนักพัฒนาจีน ไม่ใช่งานของเด็ก Ivy League เท่านั้นเอง  

หลิว จือหยวน หัวหน้าทีมวิจัยของ ModelBest และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้โพสต์ข้อความผ่าน WeChat เช่นกันว่า ตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ เรารู้ถึงช่องว่างที่ห่างมากระหว่างเทคโนโลยี AI ของจีนในตอนนั้น กับ งานพัฒนาชั้นนำของชาติตะวันตกอย่าง Sora และ GPT-4 แต่เราก็พัฒนาได้เร็วมาก จาก Nobody แห่งวงการเมื่อสิบปีก่อนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ได้ในวันนี้

ในขณะที่ข่าวนี้ ทำให้ทีมหนึ่งดับ แต่อีกทีมหนึ่งกำลังจะดัง เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้นว่า 'AI ของทีมจีนนั้นดูแคลนไม่ได้' เพราะยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top