ทีมผู้สร้างโปรแกรม AI ของ Stanford ยอมรับผิด หลังลอกผลงานของทีมนักพัฒนา AI จากจีน

เรื่องอื้อฉาวของแวดวง AI วันนี้ ต้องยกให้กับข่าวการโพสต์ข้อความขอโทษอย่างเป็นทางการจาก 2 สมาชิกในทีมนักพัฒนาโปรแกรม AI จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สถาบันการศึกษาระดับโลกในรัฐแคลิฟอร์เนีย ของสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ถูกจับได้ว่าลอกงานเขียนโปรแกรมของทีมนักพัฒนา AI ของจีน

2 สมาชิกคนดังกล่าวคือ Siddharth Sharma และ Aksh Garg หนึ่งในสมาชิกทีมพัฒนา Llama3-V ที่ใช้รูปแบบโมเดลภาษาของ Meta AI ซึ่ง มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวว่าเป็นรูปแบบภาษาที่มีความล้ำหน้า หลากหลาย ที่ใช้ไฟล์ขนาดเล็กกว่า GPT งานของ Open AI ค่ายคู่แข่งหลายเท่า 

ซึ่ง Llama3-V เพิ่งปล่อยออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 โดยทีม Stanford AI และได้เปิดหลักสูตรอบรม Llama3-V ตัวใหม่ ที่เคลมว่ามีศักยภาพเหนือกว่าโปรแกรมอื่น ๆ อย่าง GPT-4V Gemini Ultra และ Claude Opus ในราคาคอร์สละ 500 ดอลลาร์ 

แต่ต่อมา ผู้ที่เข้าร่วมคอร์ส Llama3-V ได้ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมโครงสร้างโปรแกรมของ Llama3-V หลายจุด เหมือนกับ โปรแกรม MiniCPM-Llama3-V 2.5 ผลงานของบริษัท ModelBest ที่ร่วมกับทีมนักพัฒนาจาก มหาวิทยาลัยชิงหวาของจีน ไม่มีผิดเพี้ยน และได้นำโค้ดของทั้ง 2 โปรแกรมมาเทียบให้ดู เพื่อให้ชาวเน็ตผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมมาพิสูจน์ความเหมือน

จนกระทั่งวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมาบริษัท ModelBest ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า โปรแกรมที่พัฒนาโดยทีมจากสแตนฟอร์ดนั้น ใช้โค้ดเหมือนกับ MiniCPM ของจีนจริง และยังมีความสามารถที่เหมือนกันคือ สามารถแยกตัวอักษรจีนโบราณได้ และมีจุดบกพร่องในตำแหน่งเดียวกันอีกด้วย จึงยืนยันได้ว่าเป็นการลอกผลงานจริง 

หลี ต้าไห่ ประธานบริษัท ModelBest ยังกล่าวอีกว่า "การได้รับการยอมรับจากทีมพัฒนาระดับนานาชาตินั้นเป็นเรื่องดี และเราเชื่อมั่นในการสร้างสังคมที่เปิดใจกว้าง มีความร่วมมือ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน ซึ่งเราก็อยากให้ผลงานของทีมเราได้ถูกค้นพบ และได้รับการยกย่องอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไม่ใช่ในลักษณะนี้”

เมื่อหลักฐานชัดเจน 2 สมาชิกจากทีมผู้พัฒนา Llama3-V ก็ได้ออกมาโพสต์ยอมรับความผิด และขอโทษทีมผู้สร้าง MiniCPM ผ่าน X จากการทำงานที่ขาดความรอบคอบ จนสร้างปัญหาให้กับทีมงานทั้งหมดของโปรเจกต์ Llama3-V และกับทีม MiniCPM ของจีน รวมถึงผู้ที่ติดตามผลงานวิชาการของทีมนักศึกษาสแตนฟอร์ด และสถาบัน ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ข่าวนี้ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงในแวดวงนักพัฒนา AI เป็นวงกว้าง เริ่มจาก คริสโนเฟอร์ แมนนิ่ง ศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พ่วงตำแหน่งผู้อำนวยการห้องวิจัยปัญญาประดิษฐ์ของมหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความประณามผ่าน X ถึงเรื่องอื้อฉาวนี้ว่า "ปลอมตั้งแต่ยังไม่สร้าง ก็เป็นได้แค่สินค้าไร้ราคาในซิลิคอน วัลเลย์" 

ด้าน ลูคัส เบเยอร์ นักวิจัยประจำห้องแล็บ AI DeepMind ของ Google แสดงความเห็นผ่านโซเชียลเช่นกันว่า จากข่าวนี้ทำให้คนในวงการได้รู้จัก MiniCPM-Llama3-V 2.5 ซึ่งถือว่าเป็นโมเดลที่ดีทีเดียว เพียงแค่คนไม่ค่อยสนใจเพราะมองว่าเป็นผลงานของนักพัฒนาจีน ไม่ใช่งานของเด็ก Ivy League เท่านั้นเอง  

หลิว จือหยวน หัวหน้าทีมวิจัยของ ModelBest และรองศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชิงหวา ได้โพสต์ข้อความผ่าน WeChat เช่นกันว่า ตอนที่เราเริ่มโครงการนี้ เรารู้ถึงช่องว่างที่ห่างมากระหว่างเทคโนโลยี AI ของจีนในตอนนั้น กับ งานพัฒนาชั้นนำของชาติตะวันตกอย่าง Sora และ GPT-4 แต่เราก็พัฒนาได้เร็วมาก จาก Nobody แห่งวงการเมื่อสิบปีก่อนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในกุญแจขับเคลื่อนสำคัญของนวัตกรรมเทคโนโลยี AI ได้ในวันนี้

ในขณะที่ข่าวนี้ ทำให้ทีมหนึ่งดับ แต่อีกทีมหนึ่งกำลังจะดัง เป็นที่รู้จักในวงการมากขึ้นว่า 'AI ของทีมจีนนั้นดูแคลนไม่ได้' เพราะยิ่งเทคโนโลยีล้ำหน้ามากเท่าไหร่ ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนว่า ทองแท้ย่อมไม่แพ้ไฟ


เรื่อง: ยีนส์ อรุณรัตน์

อ้างอิง: Technode / South China Morming Post