Saturday, 22 June 2024
นมโรงเรียน

สะกิดต่อมผู้ใหญ่ (ใจร้าย) ฮั้วเงินสะพัด 30 ล้าน ทำเด็กๆ อดกินนม หลังการจัดสรรพื้นที่ 'ผลิต-จำหน่าย' ยังเงียบ แม้ใกล้เปิดเทอม

นมวัว 1,100 ตันต่อวัน คือปริมาณที่ใช้ทำนมโรงเรียนแจกจ่ายทั่วประเทศมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2567 มีเอกสารราชการที่ระบุว่า...

"ความต้องการนมโรงเรียน ปี 66 – 67 จะมีมากถึง 2,064.73 ตัน"

ที่ผ่านมานมโรงเรียนมีสัดส่วน 33% หรือ 1 ใน 3 ของการบริโภคน้ำนมโคของคนไทยทั้งประเทศ ด้วยตัวเลขใหม่ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้สัดส่วนเพิ่มเป็น 69.22% หรือ 2 ใน 3 ของนมในตลาด

1. หลายปีมานี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงขาดแคลนน้ำนมวัวเพราะเกษตรกรเลิกอาชีพไปหลายราย วัวนมจำนวนมากถูกส่งเข้าโรงชำแหละ วัวสาวถูกขายส่งออกไปเวียดนาม เพื่อทดแทนน้ำนมที่ขาดจึงมีการนำเข้านมผงจาก ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ ประเทศแถบยุโรป และจีน มาผสมน้ำนมเพื่อจำหน่าย

2. หากปล่อยให้นำเข้านมผงมากเกินไป อาจทำให้ราคาน้ำนมดิบตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรายย่อยอยู่ไม่ได้หมดกำลังใจในอาชีพนี้

3. น้ำนมวัวสด มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่านมผงที่มีหลายเกรดหลายราคา อีกทั้งสิบกว่าปีก่อนยังมีข่าวดังไปทั่วโลกเรื่องเด็กเสียชีวิตในประเทศจีน เพราะบริโภคนมผงที่ผู้ผลิตจงใจผสมสารเมลามีนเพื่อเพิ่มปริมาณและน้ำหนักนมผง

4. ในปี 2568 ภาษีนำเข้านมผงจะลดลงหรือเป็นศูนย์ ตามข้อตกลง FTA ที่ไทยร่วมตกลงไว้

นมโรงเรียน เป็นธุรกิจที่มีระบบโควตาจากรัฐ ใครได้มากจะยิ่งมั่นคงและได้เปรียบทางธุรกิจ จึงมีการแย่งชิงจนเกิดคอร์รัปชันหลาย ในหลายรูปแบบ ทำให้การจัดสรรโควตาไม่เป็นธรรม ไม่ทั่วถึง ผู้ประกอบการโรงนมเคยร้องเรียนมาครั้งแล้วครั้งเล่า

กล่าวสำคัญปีการศึกษา 2567 โรงเรียนกำลังเปิดเทอมแล้ว บางโรงในต่างจังหวัดเปิดเทอมแล้ว ในกรุงเทพจะเปิดในวันที่ 16 พฤษภาคมนี้ แต่ยังไม่มีนมให้เด็กนักเรียนกิน

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยวายว่า กรมปศุสัตว์ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมสรุปยอดน้ำนมดิบ ในแต่ละปีจะต้องสรุปยอดน้ำนมดิบว่ามีอยู่ที่ไหนเท่าไหร่ เพื่อส่งให้อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ (โควา) ดำเนินการจัดสรรโควตาให้กับโรงนม 

“ปีนี้กรมปศุสัตว์ยังหาข้อสรุปยอดนมดิบให้กับอนุกรรมการจัดสรรโควาไม่ได้ ผู้ประกอบการก็ยังไม่สามารถผลิตนมไปแจกเด็กนักเรียนได้”

มีรายงานว่า ยอดน้ำนมดิบถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลาง ไม่ยอมแจ้งต่ออนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ โทรสอบถามก็ไม่มีใครตอบได้ อนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ก็ปวดหัวกับการต้องตอบคำถามจากผู้ประกอบการโรงนม

มีรายงานข่าวว่า สาเหตุของความล่าช้าในการสรุปยอดน้ำนมดิบ และทำให้การจัดสรรพื้นที่ช้า เด็กไม่ได้กินนมมาจากผู้ประกอบโรงนมรายใหญ่รวมตัวกันจ่ายเงินใต้โต๊ะผู้ร่างหลักเกณฑ์นมโรงเรียนให้เข้ากับกลุ่มนายทุนรายใหญ่ที่ได้ผลประโยชน์มหาศาลทำให้กลุ่มผู้ประกอบรายเล็กได้รับผลกระทบในภาคอีสาน, ภาคเหนือ, ภาคกลาง ที่มีโรงนมเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนมากจนนำมาขอการร้องเรียน

รายงานข่าวแจ้งว่า นี้คือขบวนการมาเฟียนมโรงเรียนล่าสุดกลุ่มนายทุนใหญ่ในวงการนมโรงเรียนรวมลงขันจ่ายเงินให้กับผู้ใหญ่ที่มีอำนาจในการลงนามเป็นเงิน 30 กิโลกรัม เป็นกลุ่มทุนที่เคยเข้าไปร้องเรียนเรื่องน้ำนมดิบเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมา

ผู้ประกอบการโรงนมรายหนึ่งโวยว่า ไม่เข้าใจว่าทำไมหลักเกณฑ์ต้องเปลี่ยนทุกปี ทั้งๆ ที่บางปีหลักเกณฑ์ดีอยู่แล้ว แต่พอเปลี่ยนผู้บริหารก็เปลี่ยนหลักเกณฑ์ มันมีผลประโยชน์อะไรอยู่ในหลักเกณฑ์นี้หรือเปล่า มันสร้างความวุ่นวายวาย เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการโรงนม

ฝากไปยังผู้ใหญ่ใจร้ายทำเด็กอดกินนม ให้รีบแจ้งยอดน้ำนมดิบ เพื่อให้อนุกรรมการได้จัดสรรพื้นที่ แบ่งโควตาการผลิตนมโรงเรียน เด็กจะได้กินนม

เปิด 7 กลุ่มน่าสงสัย เอี่ยวนมโรงเรียนหายช่วงเปิดเทอมใหม่นี้ 'ธรรมนัส' โปรดทราบ!! เข้ามารื้อระบบ ตัดวงจรทุจริตด่วน

'กรมปศุสัตว์' ตื่นแล้ว!! หลังจาก #นายหัวไทร เขียนกระตุกไปเมื่อวันก่อน ถึงการเก็บงำไว้ซึ่งตัวเลขยอดปริมาณน้ำนมดิบ จนคณะอนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ แบ่งโควตาไม่สามารถทำงานขยับได้ ซึ่งอาจทำให้เด็กนักเรียนไม่มีนมดื่มในวันเปิดเทอมปีการศึกษาใหม่นี้

ที่ว่าตื่นแล้ว เพราะข้อมูลตัวเลยยอดปริมาณน้ำนมดิบ น่าจะถึงมือคณะอนุกรรมการจัดสรรโควตาแล้ว ทางคณะอนุกรรมการจัดสรรโควตาจึงได้ส่งหนังสือเรียกประชุมถึงผู้ประกอบการนมโรงเรียน โดยทุกเขตจะมีการประชุมกันในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ แต่ขบวนการผลิตยังไม่แน่ใจว่า จะทันเปิดเทอมในวันที่ 16 พฤษภาคมหรือไม่ เพราะมีเวลาในการเตรียมการผลิตแค่ 2 วัน

น่าแปลกใจว่าทำไมปีนี้ถึงเกิดความล่าช้าในการประกาศยอดน้ำนมดิบ ไม่มีการประชุม ไม่มีการออกประกาศจัดสรรโซนการผลิต และจำหน่ายนมโรงเรียน ทั้งๆ ที่โรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนในอีก 5 วันข้างหน้าแล้ว แต่กลับเพิ่งแจ้งยอด และเรียกประชุมผู้ประกอบการนมโรงเรียนเมื่อวานนี้ (11) เอง

“ปีนี้ทุกอย่างถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลางหมด ไม่มีอะไรแพร่งพรายออกมา ทำให้น่าสงสัยยิ่งว่าเกิดอะไรขึ้น ผู้ประกอบการโรงนมโรงเรียนรอด้วยใจจดจ่อ กลัวเด็กนักเรียนจะไม่ได้กินนม” แหล่งข่าวในวงการนมโรงเรียนกล่าว

น่าจะเป็นที่แน่แท้แล้วว่า เปิดเทอมนี้ เด็กนักเรียนจะยังไม่ได้กินนมแน่นอน ด้วยความไม่ชัดเจนในการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายนมโรงเรียน แหล่งข่าวกล่าวย้ำ

รายงานข่าวกล่าวอีกว่า องค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อสค.) ซึ่งเป็นเลขาฯ ของคณะกรรมการการจัดสรรนมโรงเรียน ก็ไม่รับรู้อะไรเลย การประชุมก็ไม่เชิญ อสค.เข้าร่วม

กล่าวสำหรับการบริหารจัดการนมโรงเรียนจะมีหลายส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตั้งแต่ต้นทางคือ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ไปจนถึงปลายทางคือโรงเรียนที่รับนมไปแจกนักเรียน

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างน้อย 7 กลุ่ม ได้แก่...

1.คณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม หรือมิลค์บอร์ด โดยมีปลัดเกษตรฯ เป็นประธานฯ เป็นผู้รับรองบันทึกข้อตกลงซื้อขายน้ำนมโคหรือ MOU จะรับรองข้อมูลจริง หรือสร้างข้อมูลขึ้นว่า ก็ไม่รู้ ผู้ประกอบการรายใหญ่จะมีอิทธิพลต่อการกำหนดการซื้อขายน้ำนมดิบ

2.กรมส่งเสริมสหกรณ์ กำกับดูแลการซื้อขายน้ำนมดิบระหว่างศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกับผู้ประกอบการทั้งหมด อาจจะมีช่องว่างให้มีการสร้างข้อมูลปริมาณน้ำนมดิบไม่ตรงกับข้อเท็จจริงได้ มีจำนวน ปริมาณน้ำนมดิบมากกว่าความเป็นจริงที่มีอยู่ เพื่อหวังผลประโยชน์

3.กรมปศุสัตว์ มีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์และจัดสรรสิทธิการจำหน่ายนมโรงรียนให้กับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ ปีนี้จนถึงวันนี้ (12 พ.ค.) ยังไม่มีการออกประกาศจัดสรรพื้นที่จำหน่าย

4.ชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เป็นกลุ่มสนับสนุนการทำ MOU ซื้อขายน้ำนมดิบ เคยมีปัญหามาแล้วในอดีต

5.สมาคมกลุ่มเกษตรกรผู้รวบรวมน้ำนมดิบ เป็นตัวปั้นข้อมูล ซึ่งเป็นแหล่งรวมศูนย์รรวมน้ำนมดิบภาคเอกชนทั้งหมด ตัวเลขน้ำนมดิบจะจริงจะเท็จ จะเกินจริงหรือไม่อยู่ตรงนี้ เคยมีข่าวไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นอยู่ ณ จุดนี้

6.สมาคมผู้ผลิตนมพาสเจอร์ไรส์  เป็นแหล่งรวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจนมโรงเรียนเพียงอย่างเดียว มีสมาชิกที่มีเจ้าของกิจการแทบจะเป็นรายเดียวกัน หรือเป็นเครือข่ายเพื่อกระจายกันในการขอรับจัดสรรสิทธิจำหน่ายนมโรงเรียนเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศ 

7.สมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย เป็นฝ่ายสนับสนุนข้อมูลการไซฟ่อนนม เช่น ทำเอ็มโอยู ทำคล้ายบัญชีม้า โดยมีผู้ประกอบการบางราย จะคอยรับซื้อน้ำนมดิบที่เหลือจากการลดสัดส่วนของโครงการนมโรงเรียนในราคาถูก เป็นการซื้อนอก MOU กับบัญชีม้าที่ทำไว้ หรือที่ไม่มีบัญชีไว้เลยก็มี

ขบวนการเหล่านี้ทำให้การประกอบการนมโรงเรียนยุ่งยาก และซับซ้อน เกิดช่องว่างให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์

กลุ่มผู้ประกอบการโรงนมในกิจการนมโรงเรียนเคยร้องเรียนถึง รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์มาแล้ว แต่ปัญหาก็ยังดำรงอยู่ และยังมาซ้ำร้ายเกี่ยวกับความล่าช้าในการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายในปีนี้แทรกซ้อนเข้ามาอีก

"อยากเรียกร้องให้ รอ.ธรรมนัส เข้ามาดูปัญหาตรงนี้ รื้อระบบที่ส่อว่าจะทุจริต หรือเปิดช่องให้มีการเรียกรับ สร้างมาตรฐานกลางที่ไม่ต้องมารื้อ หรือออกประกาศใหม่กันทุกปี"

เปิดเทอมปีนี้น่าจะได้ยินเสียงเด็ก-ผู้ปกครอง คร่ำครวญ "นมโรงเรียนหายไปไหน ใครงาบไปกินหรือเปล่า?"

เปิดเรียน 6 วัน ถังแช่นมว่างเปล่า เพราะนมโรงเรียนมาไม่ถึง  ผู้ปกครองทำได้แค่โวย ผู้อำนวยการปวดใจไร้นมแจกเด็ก

ปัญหาความล่าช้าในการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายนมโรงเรียนก่อปัญหาแล้ว เมื่อนมโรงเรียนไม่ถึงมือเด็ก ทำให้เด็กไม่ได้กินนม

ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งเปิดเผยว่า ตอนนี้เปิดเรียนมาแล้วเป็นเวลา 6 วันแล้ว แต่ยังไม่มีนมแจกเด็กนักเรียนสักชั้น ทาง อบต.เปิดเผยมีหน้าที่จัดซื้อออกเงินแต่ในพื้นที่ยังหาผู้ส่งนมไม่ได้อยู่ในขั้นตอนจัดหาบริษัทคาดจะได้เร็ววันนี้

ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปยังโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 58 (ห้วยคตสามัคคี) หมู่ที่ 3 บ้านป่าผาก ตำบลห้วยคต อำเภอห้วยคต จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งทางนายขวัญชัย บารมี ผู้อำนวยการโรงเรียนเปิดเผยว่า ในตอนนี้ถังนมที่เคยแพ็กนมแล้วก็แช่นมไว้ว่างเปล่า ยังไม่มีผู้รับจ้างหรือรับเหมาในอำเภอห้วยคตมาส่งนมให้นักเรียนเลย 

โรงเรียนแห่งนี้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของทาง องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยคตมาอยู่ด้วยและมีเด็กจำนวน 38 คนและในส่วนของโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเองนั้น มีเด็กจำนวน 214 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึง ป.6 

นักเรียนส่วนใหญ่นั้นมีฐานะค่อนข้างยากจน ซึ่งพ่อและแม่ฝากให้อยู่กับตายาย เพราะต้องทำงานหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัวที่ต่างจังหวัด 

ตอนนี้ครูที่สอนอยู่นั้นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเปิดเรียนมา 6 วันแล้วแต่นมโรงเรียนนั้นไม่มีให้เด็กดื่มเลย จึงอยากให้แก้ปัญหาดังกล่าวอย่างรวดเร็วว่ามันติดขัดตรงไหนถึงล่าช้าแบบนี้ซึ่งเป็นเรื่องที่เด็กนั้นขาดโอกาสไปมาก

ทั้งนี้ ทางโรงเรียนได้ทำตามนโนบายของกระทรวงศึกษาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องห้องน้ำก็ทำการปรับปรุงให้สะอาดอยู่เสมอ เพื่อพลานามัยของเด็กนักเรียน และได้งบประมาณค่าอาหารกลางวันหัวละ 22 บาท ซึ่งก็เพียงพอต่อความต้องการทำให้เด็กนั้นอิ่มท้องกันทุกวันอย่างไม่ขาดแคลน ไม่มีปัญหาอะไรเหมือนโรงเรียนต่างๆ ที่เป็นข่าว เพราะได้บริหารจัดสรรค์อย่าลงตัวมาตลอด โดยมีครูช่วยกันเพื่อเด็กนักเรียนจะได้พัฒนาการเรียนควบคู่กับการกินอยู่ระหว่างที่เด็กนักเรียนนั้นอยู่ในโรงเรียน แต่ในตอนนี้กลับมาติดขัดในเรื่องนมที่กล่าวมา และไม่รู้ว่าจะต้องรอจนถึงเมื่อไหร่ ซึ่งก็ไม่มีใครออกมาชี้แจงหรือกำหนดได้

กล่าวสำหรับการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่ายนมโรงเรียนนั้น ทางหน่วยงานกำกับจะมีการจัดสรรตามปริมาณน้ำนมดิบที่โรงนมทำสัญญาซื้อขายไว้กับสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

แต่สำหรับปีนี้ตัวเลขจำนวนน้ำนมดิบถูกเก็บงำไว้ที่ส่วนกลาง จนโรงเรียนใกล้เปิดเทอม คือเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงแจ้งปริมาณน้ำนมดิบของแต่ละโรงนม เพื่อให้คณะอนุกรรมการจัดสรรพื้นที่ผลิต-จำหน่าย เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงนมนักเรียน

คณะอนุกรรมการจัดสรรโควตา เรียกประชุมผู้ประกอบการโรงนมวันเสาร์ ให้ไปประชุมวันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม และเมื่อได้โควตา ถูกสั่งกำชับให้เร่งผลิตให้ทันแจกในวันที่ 16 พฤษภาคม วันเปิดเรียนวันแรก แต่เข้าใจว่าโรงนมบางแห่งอาจจะมีเวลาเตรียมตัวน้อย จึงผลิต และเสนอขายผ่านท้องถิ่นไม่ทัน จึงไม่สามารถส่งนมให้โรงเรียนได้ทันวันเปิดเรียน

ข้ามมาที่นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองนักเรียนในพื้นที่ อ.ถ้ำพรรณรา จ.นครศรีฯ ว่า มีโรงเรียนบางแห่งไม่ได้รับนมโรงเรียนเช่นกัน ทราบแต่เพียงว่า อบต.บางแห่งยังไม่ทำสัญญาซื้อขายนมโรงเรียนกับทางผู้ผลิต

"ไม่ทราบว่า ทาง อบต.ทำอะไรกันอยู่ที่เด็กนักเรียนยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียน ทั้งที่โรงเรียนได้ทำการเปิดเรียนมาแล้วตั้งแต่ 16 พ.ค.2567 จนถึงปัจจุบัน นักเรียนที่อยู่ในสังกัดของ อบต.ถ้ำพรรณราและ อบต.ดุสิต ยังไม่ได้ดื่มนมโรงเรียนเลยสักวัน แต่ในพื้นที่อื่นๆ ได้ให้เด็กนักเรียนดื่มนมโรงเรียนแล้วตั้งแต่เปิดเทอม เป็นต้นมา" ผู้ปกครองรายหนึ่งตั้งคำถามถึงผู้บริหารของ อบต.และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบว่า "ทำอะไรกันอยู่ จึงไม่สั่งนมโรงเรียนให้นักเรียนดื่มทั้งที่เวลาล่วงเลยมาหลายวันแล้ว"

นี่ขนาดเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีการส่งเสริมให้เด็กตั้งแต่อนุบาลจนถึงประถมการศึกษาปีที่ 6 ดื่มนมฟรีตลอดปี เพื่อให้เด็กมีสุขภาพลานามัยแข็งแรง เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของชาติ ซึ่ง อบต.ไม่เห็นความสำคัญของนโยบายรัฐบาลที่ทำมาตั้งแต่สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ได้ดื่มนมฟรีตั้งแต่ พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จึงอยากถามผู้บริหารเรื่องแค่นี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้หรือว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกันไม่ลงตัว จึงอยากฝากได้ถึงนายกรัฐมนตรีให้ตรวจสอบผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

รายงานข่าวแจ้งว่า ในจังหวัดนครศรีฯ ไม่ใช่เฉพาะ อ.ถ้ำพรรณรา ที่เด็กยังไม่ได้กินนม อำเภออื่นบางอำเภอ เช่น เชียรใหญ่ โรงเรียนบางโรงก็ยังไม่มีนมให้เด็กกิน

มีรายงานว่า ท้องถิ่นบางแห่งมีเงื่อนไข ต้องการซื้อนมยูเอสทีไปแจกนักเรียน ทั้งๆ ที่เด็กควรได้ดื่มนมพาสเจอร์ไรท์ ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไมผู้บริหารท้องถิ่นบางคนจึงต้องการซื้อนมยูเอสทีไปแจกเด็ก

ปัญหานมโรงเรียน ไย 'มหาดไทย' เงียบ ปล่อย 'ธรรมนัส-ปศุสัตว์' เต้นฝ่ายเดียว

"ขณะนี้ทราบข้อมูลว่า มีบริษัทใหญ่บางแห่งกีดกันไม่ให้มีการส่งนมโรงเรียน หลังการปรับหลักเกณฑ์ใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบ หากพบเป็นผู้ประกอบการรายใดกระทำผิด จะตัดสิทธิ์โควตานมโรงเรียนทันที พร้อมดำเนินคดีตามกฎหมายกีดกันทางการค้า ส่วนการแก้ปัญหาจัดส่งนมระยะเร่งด่วน สั่งการให้ อสค. ส่งนมไปยังพื้นที่ที่เกิดปัญหา ย้ำว่าวันนี้หรือภายในสัปดาห์นี้ ปัญหาต้องหมด"

นี่คือคำกล่าวของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ค่อนข้างกล่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว หลังทราบว่า เปิดเรียนมาเป็นสัปดาห์ที่สองหลายโรงเรียน เด็กนักเรียนไม่ได้กินนมโรงเรียน ทั้งเชียงใหม่, นครสวรรค์, นครศรีธรรมราช และอีกหลายจังหวัด 

ร.อ.ธรรมนัส พุ่งตรงไปยังองค์การส่งเสริมกิจการโคนม (อสค.) ด้วยการสั่งให้ส่งนมให้กับโรงเรียนภาคในพรุ่งนี้ หรือสัปดาห์หน้า และเหมือนกับรู้ปัญหาบางอย่าง เช่น บริษัทผู้ผลิตนมโรงเรียนเจ้าใหญ่ก่อปัญหา ซึ่งก็เป็นข้อเท็จจริงบางส่วน แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้งหมด

อคส.แค่เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการจัดสรรพื้นที่ และการแบ่งโซนจำหน่าย และที่ผ่านมา อคส.ก็ถูกกีดกันไม่ให้รับรู้ข้อมูลบางอย่าง เช่น ปริมาณนมดิบที่แต่ละสหกรณ์ผลิตได้ และทำสัญญาขายให้กับโรงนมที่ไหน เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการจัดสรรการผลิตและพื้นที่จำหน่าย อคส.มารู้ข้อมูล 3 วันสุดท้ายก่อนการประชุม และ 6 วันก่อนเปิดเทอม

ใครผิดใครพลาดไปว่ากันให้ชัด? ทำไมการประชุมเพื่อแบ่งโควตาจึงมีขึ้นเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ก่อนเปิดเทอมเพียงสามวัน? ขั้นตอนการปฏิบัติมีปัญหาอะไร? ตรงไหน?

อีกประการหนึ่งนมโรงเรียน จัดซื้อผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ โรงเรียนมีหน้าที่แค่รับไปแจก

อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่ท้องถิ่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การจำหน่ายตามปริมาณน้ำนมดิม บางพื้นที่จึงต้องมีการเปลี่ยนแปลงผู้จำหน่าย

วัวเคยค้าม้าเคยขี่ "เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้จำหน่าย ผู้บริหารท้องถิ่นบางแห่งจึงยังไม่เซ็นสัญญาซื้อนม เด็กจึงอดกินนม ต้องมีมาเจรจาผลประโยชน์กันใหม่"

ประเด็นนี้ ทางกระทรวงเกษตรฯ จะไปบี้ อสค.อย่างเดียวไม่ได้ มหาดไทยต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง

"มหาดไทยกำกับดูแลท้องถิ่น ต้องถามไปยังท้องถิ่นว่ามีปัญหาอะไร ทำไมไม่เซ็นสัญญาจัดซื้อนมโรงเรียนกับโรงเรียน จนก่อปัญหาเด็กไม่ได้กินนม" แหล่งข่าวกล่าว

ต้องยอมรับความจริงว่าวงการค้านมโรงเรียนคือ แหล่งผลประโยชน์ใหญ่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ ไปกดรายเล็ก ทำนอง 'ปลาใหญ่กินปลาน้อย' และมีผู้ประกอบการโรงนมรายใหญ่เป็นคนกำหนดเกม กดดัน

"งานนี้จะโทษกระทรวงเกษตรฯ, กรมปศุสัตว์ และ อสค.อย่างเดียวไม่ได้ มหาดไทยต้องร่วมรับผิดชอบด้วย ก.เกษตรฯ ก็อย่ามัวแต่ขู่ จัดการให้จริงจังครับ" แหล่งข่าวสำทับ

ทว่า หลังจากรัฐมนตรีเกษตรฯ สั่งการว่านมโรงเรียนต้องจัดการให้เรียบร้อยในสัปดาห์หน้า กรมปศุสัตว์ก็เร่งโทรเช็กไปยังโรงนมอย่างกระตือรือร้น แต่โดนตอกกลับหน้าแตก

"ผมพร้อมส่งนมให้โรงเรียนทุกแห่งในพื้นที่รับผิดชอบ แต่ในเมื่อผู้บริหารท้องถิ่นไม่ยอมเซ็นสัญญา จะจัดส่งได้อย่างไร จะเก็บเงินจากใคร" แหล่งข่าวผู้ประกอบการ กล่าว

เอาเป็นว่า ปัญหานมโรงเรียนอาทิตย์หน้าไม่จบหรอก จนกว่าผลประโยชน์จะลงตัว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top