Sunday, 30 June 2024
ความฝัน

'โรงเรียนสิริรัตนาธร' ออกหนังสือแจ้งผู้ปกครอง อย่าตัดสิน-ทำลายความมั่นใจเด็กจากคะแนนสอบ

โรงเรียนสิริรัตนาธร เขตบางนา กทม. ได้มีการออกหนังสือถึงผู้ปกครอง แจ้งเรื่องการสอบปลายภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 

ซึ่งในหนังสือ กล่าวถึงการให้ผู้ปกครองมีทัศนคติกับคะแนนสอบในอีกแง่มุมหนึ่ง ซึ่งมีการระบุข้อความบางช่วงบางตอนว่า 

“ … โรงเรียนทราบว่าการสอบในครั้งนี้ อาจจะทำให้ท่านวิตกกังวลว่า นักเรียนของท่านจะทำข้อสอบได้หรือไม่ แต่โปรดเข้าใจไว้ว่าในกลุ่มนักเรียนที่นั่งสอบอยู่นี้ มีนักธุรกิจที่ไม่สนใจเรื่องประวัติศาสตร์หรือการประพันธ์ภาษาอังกฤษ มีนักคอมพิวเตอร์ที่ไม่สนใจเรื่องคะแนนสอบวิชาเคมี มีศิลปินที่ไม่มีความจำเป็นที่จะรู้เรื่องคณิตศาสตร์ มีนักกีฬาที่สนใจความสามารถทางร่างกายมากกว่าวิชาฟิสิกส์ มีนักการเมืองที่สนใจเรื่องข่าวสารบ้านเมืองมากกว่าวิชาศิลปะ

ถ้านักเรียนในปกครองของท่านทำคะแนนได้สูงสุดนั้น หมายถึงเป็นหนึ่งหรือยืนหนึ่ง แต่ถ้าลูกทำไม่ได้โปรดอย่าทำลายความเชื่อมั่นและความนับถือของพวกเขา บอกลูกว่ามันดีมากแล้ว มันแค่การสอบ มันยังมีอะไรอีกมากในชีวิต บอกลูกท่านว่าไม่ว่าคะแนนสอบออกมาแบบไหน คุณก็รักเขาและจะไม่ตัดสินเขา

‘ต้อม เป็นเอก’ เผย ชีวิตที่ปราศจาก ‘ความฝัน-ตัวตน’ เป็นเรื่องปกติ เปรียบเสมือน ‘เครื่องประดับ’ มีติดตัวไว้ก็เท่ดี แต่ถ้าไม่มี ‘ไม่เป็นไร’

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้ใช้ TikTok บัญชี BrandThinkme โพสต์คลิปวิดีโอ เป็นเอก รัตนเรือง หรือ ‘ต้อม เป็นเอก’ ผู้กำกับและนักเขียนบทภาพยนตร์ชาวไทย ที่ได้แชร์ข้อคิดดีๆ สำหรับ ‘ความฝัน’ และ ‘ตัวตน’ โดยระบุว่า…

“ผมไม่รู้สำหรับวาทกรรมที่บอกต้องหาตัวตนให้เจอ มีความฝันต้องตามฝัน…ผมไม่ทราบว่าวาทกรรมพวกนี้มาตอนไหน? มันไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความฝัน เพราะคนที่ ‘ไม่มีความฝัน’ ก็มีอยู่เต็มไปหมด”

“ดังนั้น ความฝันไม่มี ตัวตนไม่มี ไม่เป็นไร…หากตัวคุณแค่อยากทํางานแบงก์ไปวันๆ แล้วก็ซื้ออาหารถุง 20 บาท 2-3 ถุงเพื่อกลับมากินกับแฟนที่บ้าน แต่พอคุณไปอ่านเจอประเด็นนี้เข้า… ก็คงรู้สึกและตั้งคำถามกับตัวเองว่า ‘ความฝัน’ ของเราคืออะไร? แล้วมันกลายเป็นว่าเรามีปมด้อยหรือเปล่า? เพราะไม่มีความฝัน ไม่มีตัวตน”

“ความฝันมันดี…มันเป็น ‘Luxury’ แต่มันไม่ใช่ ‘Necessity’ ความฝันก็เปรียบเสมือนสิ่งของเครื่องประดับ อย่างกระเป๋า Louis Vuitton ถ้ามีมันก็เท่ดี และต่อให้ไม่พูดเรื่องเท่ กระเป๋า Louis Vuitton มันก็คงทนและดี แต่ยังยืนยันว่ามันไม่ใช่สิ่งจําเป็น….”

‘เฟท’ อดีต Siamese Kittenz แชร์ประสบการณ์การออดิชั่นเป็นไอดอล ล้มกี่ครั้งไม่เคยท้อ สุดท้ายเอาความฝันมาทำธีสิส หวังเปิดโอกาสให้ผู้อื่น

(29 พ.ย.66) ‘เฟท’ ฐิตา เกษรสมบัติ อดีตสมาชิกวง Siamese Kittenz ได้ออกมาโพสต์คลิปผ่านช่อง TikTok ‘withyourfate’ แชร์ประสบการณ์ในการวิ่งตามความฝันกับอุปสรรคที่ต้องเผชิญ พร้อมเปิดตัว ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเป็นโปรเจกต์วงไอดอลระยะสั้นสำหรับใครที่ยังไม่หยุดวิ่งตามความฝันในการเป็นไอดอลเหมือนตน ที่ได้จัดทำขึ้นมาเพื่อเป็น Senior Project คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ตนกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 โดยระบุว่า…

“สวัสดี…เมื่อ 8 ปีที่แล้วเราเคยเป็นไอดอลมาก่อน ถึงใครหลายคนจะไม่รู้จักแต่ก็ไม่เป็นไร…เราเริ่มเป็นไอดอลตอนอายุ 14 แต่ก็จบการศึกษาไปประมาณตอนอายุ 17 จากนั้นก็ได้ไปเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศญี่ปุ่น แต่เราก็ยังคงชอบการเป็นไอดอลอยู่มาก ๆ เพราะอย่างนั้นถึงอยู่ที่นั่นเราก็ยังเต้นอยู่ตลอด จนกลับไทยเราก็ได้ไปออดิชั่นเพื่อทําตามความฝันอีกครั้ง ทุกอย่างก็เหมือนกำลังจะไปได้ดี แต่สุดท้ายบางสิ่งก็ได้เข้ามาทําร้ายทุกอย่างลง นั่นก็คือโควิด…แต่ถึงอย่างงั้นเราก็ไม่ได้ยอมแพ้กับความฝันของตัวเอง เรายังคงร้องเพลง เต้น คอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด แค่ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราก็ไม่รู้ว่าเราส่งออดิชั่นไปทั้งหมดกี่ครั้งแล้ว แต่จากทั้งหมดที่ส่งไป เราไม่เคยผ่านออดิชั่นเลย…

จนตอนนี้เราเรียนอยู่ปี 4 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เราก็ยังไม่รู้เลยว่าเรียนจบแล้วจะทํายังไงดี…แถมยังมีธีสิสที่ต้องทําอีก และระหว่างที่เรากําลังกังวลเรื่องอายุที่ใกล้ถึงขีดจํากัดในการออดิชั่นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราก็นึกขึ้นมาได้ว่า…ถ้าเราเอาความฝันของเรา มาทำเป็นธีสิสล่ะ และนี่ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘FiNESSE Project’ ซึ่งเรากําลังตามหาอดีตไอดอลที่เคยยอมแพ้กับความฝันไปเหมือนเรา และคนที่ใฝ่ฝันอยากเป็นไอดอล เพื่อฟอร์มวงไอดอล T-POP ระยะสั้นด้วยคอนเซ็ปต์แบบ ‘FEMININE GROUP’ โดยรับสมัครตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป หรือเรียนม.ปลายขึ้นไป แบบไม่จํากัดเพศ ซึ่งจะเปิดรับสมัครวันนี้ถึง 20 ธันวาคมนี้ สำหรับผู้ที่สนใจสามารถรายละเอียดดูได้ที่ Facebook หรือ IG ตามชื่อของโปรเจกต์

ทั้งความฝันที่วาดไว้และความฝันที่เคยยอมแพ้ไป มาทําให้เป็นจริงด้วยกันนะ…”

‘ดร.มานะ’ ยกคำพูดครู รร.กำเนิดวิทย์ สะท้อน!! ‘ความฝันเด็ก’ หลังบางครอบครัวคาดหวังให้ลูกต้อง ‘เรียนหมอ’ เท่านั้น

(13 พ.ค. 67) ความแตกต่างระหว่างวัย หรือความแตกต่างระหว่างยุคสมัย อาจทำให้ไม่เข้าใจกันได้ ซึ่งปัญหาหนึ่งของเด็กวัยเรียนกับผู้ปกครองที่มีให้เห็นคือ ‘เรื่องการทำตามความฝันของเด็ก ๆ เอง’ กับ ‘ความฝันของผู้ปกครองที่หวังจะให้ลูกมีความมั่นคงในชีวิต’

แต่มีสิ่งหนึ่งเจ้าของเฟซบุ๊ก Mana Treelayapewat อยากจะเปิดเผยให้ฟังถึงเรื่องการทำตามความฝันของเด็ก ๆ และความฝันของผู้ปกครอง

จึงได้ยกการประชุมของโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) เข้ามาสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ เพราะหวังว่าจะสร้างความเข้าใจความแตกต่างระหว่างวัยของครอบครัวนี้ได้

โดยระบุว่า “ประชุมผู้ปกครองโรงเรียนกำเนิดวิทย์ ปีนี้น้ำตาท่วม เมื่อครูแนะแนวเปิดอกบอกเล่าความรู้สึก ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครองฟังลูกหลานบ้าง อย่าเอาความฝันส่วนตัวยัดเยียดให้เด็ก

ครูแนะแนวบอกว่า เด็กโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จริง ๆ จะเรียนอะไร คณะวิชาอะไร มหาวิทยาลัยในไทยหรือต่างประเทศก็ไม่น่ามีปัญหามาก

แต่ทุกข์ของเด็กเก่ง ๆ เหล่านี้คือ บางครอบครัวเรียกร้อง คาดหวังให้ลูกต้องเรียน ‘หมอ’ เท่านั้น!

ครูบอก ถ้าเด็กโรงเรียนกำเนิดวิทย์อยากเรียนหมอ หรือไปทางสายสุขภาพด้วยตัวเอง ครูและโรงเรียนพร้อมสนับสนุน 100% แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อย ไม่อยากเรียนหมอ บางคนอยากเรียนต่อสาย STEM หรือบางคนอยากเรียนต่อต่างประเทศ แต่พ่อแม่ไม่ยินยอม

ครูบอก ลูกศิษย์หลายคนเครียดมาก เดินมาขอคำปรึกษาเกี่ยวกับความขัดแย้งกับครอบครัวเรื่องการเลือกเรียนต่อมหาวิทยาลัย

ครูได้แต่แนะนำให้กลับไปคุยกับผู้ปกครองก่อน บางเคสคุยกันไม่ได้ก็ต้องช่วยพูด

แต่การตัดสินใจสุดท้ายก็ขึ้นกับพ่อแม่กับเด็ก

ครูพูดวิงวอนด้วยน้ำตา ขอให้ผู้ปกครองเปิดใจรับฟังความฝันของลูกหลาน แล้วสนับสนุนให้พวกเขาไปถึงฝั่งฝันนั้น

แม้ฝันของเด็กจะไม่ตรงกับความต้องการของพ่อแม่ หรือครอบครัวก็ตาม

ด้าน รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนกำเนิดวิทย์ กล่าวเสริมว่า ยุคของพ่อแม่โตมาคือ 3.0 เน้นเรียนรู้การศึกษาแบบป้อนสู่โรงงานอุตสาหกรรม ต้องทำตามระบบ ตามขั้นตอน

แต่ยุคนี้ 4.0 หรือมากกว่านั้นแล้ว อย่าเอากรอบคิดแบบเก่าดึงลูกหลานไม่ให้ไปข้างหน้า”

โพสต์นี้ได้กลายเป็นไวรัลในชั่วข้ามคืน มีผู้คนเข้ามาอ่าน กดไลก์กว่า 4 พัน กดแชร์กว่า 5 พัน โดยมีหลายคนแสดงความคิดเห็นไปแนวทางเดียวกันว่า เห็นด้วย หมดแล้วยุคสมัยที่ตัดสินชีวิตให้ลูก และลูกคือคนที่เรียน ไม่ใช่พ่อและแม่ ขณะเดียวกันบางคนก็เปิดเผยประสบการณ์ให้ฟังด้วยว่า เคยเจอเด็กมหาวิทยาลัยที่อยากเรียนพยาบาลแต่แม่ให้เรียนบัญชี นางเศร้ามากน่าสงสาร

ขณะเดียวกันก็ได้มีครูปกครองบางส่วน ออกมาแสดงความเห็นเช่นเดียวกันว่า ลูกเป็นคนเรียนเก่ง แต่จะไปเรียนอะไรไม่รู้ เพิ่งรู้ว่ายากจะทำใจ แต่เขาน่าจะไปรอดกับสิ่งที่เขารัก หรือบางทีเราอาจจะห่วงจนเกินไป

สุดท้ายนี้เรื่องราวของความฝันของเด็กและคุณพ่อคุณแม่จะจบลงเช่นไรนั้น อยากให้ลองคำนึงถึง ‘ความเข้าใจซึ่งกันและกัน’ อาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top