Thursday, 4 July 2024
BRI

‘ศรีลังกา’ ตัดสินใจกะทันหัน หนีซบ IMF แทนพึ่งเงินกู้จากจีน

รัฐบาลจีนแสดงทีท่าไม่ค่อยพอใจนัก เมื่อรัฐบาลศรีลังกามีแผนที่จะรับเงินกู้ก้อนใหม่จาก IMF เพื่อฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจที่กระทบต่อปัญหาปากท้องของชาวศรีลังกากว่า 22 ล้านคนในตอนนี้

ด้วยสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจของศรีลังกาในขณะนี้ ที่ขาดสภาพคล่อง และเงินสำรองต่างประเทศอย่างหนัก ถึงกับต้องประกาศพักชำระหนี้ต่างประเทศทั้งหมด เพื่อสำรองเงินต่างประเทศไว้นำเข้าสินค้าอุปโภคที่จำเป็น เวชภัณฑ์และพลังงานไว้ใช้ในประเทศเท่านั้น นับเป็นวิกฤติด้านเศรษฐกิจที่หนักที่สุดของศรีลังกา นับตั้งแต่เป็นประเทศเอกราชในปี 1948 

และนำไปสู่การประท้วงครั้งใหญ่ในประเทศ เนื่องจากประชาชนหลายล้านคนกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากปัญหาเงินเฟ้อ สินค้าอุปโภค บริโภคราคาสูงขึ้นมาก หลายชุมชนมีปัญหาขาดไฟฟ้า/น้ำประปานานนับสัปดาห์ และภาคสาธารณสุขดำดิ่งสู่วิกฤติที่ใกล้ถึงจุดพังทลาย

รัฐบาลศรีลังกา ภายใต้การนำของประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา จึงต้องหาวิธีผ่าตันด้วยการขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนระหว่างประเทศ หรือ IMF อีกครั้ง 

ศรีลังกาเคยขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุน IMF มานานเกือบ 20 ปี ครั้งล่าสุดที่ IMF เข้ามาดูแลปัญหาการเงินของศรีลังกา อยู่ในช่วงปี 2019 ที่ทำให้หนี้ต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอีก 1.5 พันล้านเหรียญ ซึ่งจนถึงปีนี้ 2022 ศรีลังกามีหนี้ต่างประเทศกว่า 5 หมื่นล้านเหรียญ และหากต้องการเสริมสภาพคล่องให้ระบบเศรษฐกิจให้พอต่อลมหายใจได้อีกครั้ง รัฐบาลศรีลังกาต้องการวงเงินกู้เพิ่มไม่น้อยกว่า 3 พันล้านเหรียญ

แต่ทั้งนี้ นอกเหนือจากเงินทุนช่วยเหลือจาก IMF และสถาบันการเงินของชาติตะวันตกแล้ว จีนก็เป็นหนึ่งในผู้ให้เงินกู้รายใหญ่กับรัฐบาลศรีลังกา พ่วงกับเงื่อนไขสัญญาในโครงการก่อสร้างในโปรเจกต์ Belt and Road Initiative ของจีน ซึ่งนับถึงตอนนี้รัฐบาลจีนปล่อยเงินกู้ให้ศรีลังกาไป 3.5 พันล้านเหรียญ

และทางการจีนได้เสนอที่จะให้เงินกู้ก้อนใหม่แก่ศรีลังกาอีกกว่า 1.5 พันล้านเหรียญเพื่อบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจ แต่ทว่าทางรัฐบาลศรีลังกาได้ตอบรับการช่วยเหลือจากกองทุน IMF อีกครั้ง ซึ่งเป็นการตัดสินใจอย่างกะทันหัน ทำให้รัฐบาลจีนไม่ค่อยพอใจเท่าใดนัก และยอมรับว่าการตัดสินใจของรัฐบาลศรีลังกา จะมีผลกับการเจรจาการให้เครดิตเงินกู้รอบใหม่กับจีนอย่างแน่นอน

‘จีน’ เผย ‘การค้าส่านซี-กลุ่มประเทศ BRI’ ดีด!! โต 4 เท่าใน 10 ปี มีมูลค่ากว่า 5.6 แสนล้านบาท

(12 ต.ค.66) สำนักข่าวซินหัว เผยรายงานจากสำนักงานสารสนเทศประจำรัฐบาลมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ที่ระบุว่า การค้าระหว่างส่านซีกับกลุ่มหุ้นส่วนตามแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) เพิ่มขึ้น 4 เท่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา

รายงานระบุว่า ปริมาณการค้าระหว่างส่านซีและกลุ่มประเทศตามแผนริเริ่มฯ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 18.4 ต่อปี โดยการนำเข้าและส่งออกของส่านซีกับกลุ่มประเทศดังกล่าวพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ราว 1.13 แสนล้านหยวน (ราว 5.64 แสนล้านบาท) ในปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 เมื่อเทียบปีต่อปี

ทั้งนี้ การลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของส่านซีในกลุ่มหุ้นส่วนตามแผนริเริ่มฯ ระหว่างปี 2013-2022 มีตัวเลขรวมอยู่ที่ 1.24 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.53 หมื่นล้านบาท) และมูลค่าการซื้อขายทางธุรกิจของโครงการตามสัญญาที่เสร็จสมบูรณ์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ที่ 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.95 แสนล้านบาท)

อนึ่ง ปีนี้ตรงกับวาระครบรอบ 10 ปี การเปิดบริการรถไฟสินค้าจีน-ยุโรป (ซีอัน) ซึ่งปัจจุบันมีการเดินรถมากกว่า 20,000 เที่ยวแล้ว ครอบคลุม 45 ประเทศและภูมิภาคในยูเรเซีย และให้บริการแก่ผู้ประกอบการมากกว่า 16,500 ราย

สำนักงานฯ ระบุว่ามีการเดินรถไฟสินค้าข้างต้นเพื่อธุรกิจอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนในปี 2022 จำนวน 198 เที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.9 เมื่อเทียบปีต่อปี

‘นายกฯ เศรษฐา’ หวังเพิ่มความร่วมมือ BRI กับจีน ปั้น ‘โครงสร้างพื้นฐาน-พลังงานสีเขียว’ ดึงทุนใหญ่เข้าไทย

(17 ต.ค. 66) สำนักข่าวซินหัว เผยบทสัมภาษณ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย ระบุว่า แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) ได้ส่งเสริมการร่วมสร้างการเชื่อมต่อระดับชาติ และไทยมุ่งหวังเสริมสร้างความร่วมมือกับจีนในด้านโครงสร้างพื้นฐานและพลังงานสีเขียว รวมถึงขยับขยายความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

ขณะสัมภาษณ์พิเศษก่อนเดินทางเยือนจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง เพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่ง นายเศรษฐา กล่าวว่า ช่วงสิบปีที่ผ่านมา แผนริเริ่มฯ ได้พัฒนาการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และไทยหวังเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยังล้าหลังของประเทศผ่านความร่วมมือตามแผนริเริ่มฯ

“ถ้าไม่มีวิธีการขนส่งที่ทันสมัย ย่อมไม่สามารถหมุนเวียนสินค้าได้ดี” นายเศรษฐากล่าว โดยหลังจากเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว เศรษฐาได้เดินทางเยือนจังหวัดหนองคายเพื่อตรวจสอบการเชื่อมต่อทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย และเผยว่าสถานะจุดเปลี่ยนผ่านของหนองคายบนทางรถไฟจีน-ลาว-ไทย จะส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมาก

นายกฯ ให้สัมภาษณ์อีกว่า ไทยจะขยับขยายการเชื่อมต่อระหว่างทางรถไฟภายในประเทศกับทางรถไฟจีน-ลาว พร้อมกับเดินหน้าการก่อสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ยกระดับทางรถไฟที่มีอยู่เดิมและกระตุ้นการเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง รวมถึงปรับปรุงท่าอากาศยานและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการอำนวยความสะดวกอื่นๆ

“การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานยังมีสิ่งที่สามารถทำได้และควรทำให้สำเร็จอยู่อีกมาก” นายเศรษฐา กล่าว

ขณะเดียวกันการร่วมสร้างแผนริเริ่มฯ มีบทบาทส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวอันเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยนายเศรษฐาสำทับว่าไทยหวังยกระดับการพัฒนาพลังงานสีเขียว ดึงดูดการลงทุนระดับสูงเข้าสู่ประเทศเพิ่มขึ้น และเสริมสร้างความร่วมมือด้านพลังงานสีเขียวภายใต้แผนริเริ่มฯ

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของจีนที่กำลังเติบโต นายเศรษฐากล่าวว่า มีบริษัทจีนเข้าลงทุนและก่อสร้างโรงงานในไทยไม่น้อย ทำให้ไทยจะเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของอาเซียน โดยไทยและจีนควรเสริมสร้างความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะสร้างงานในไทย รวมถึงยกระดับการผลิตและการส่งมอบยานยนต์

นอกจากนั้น นายเศรษฐา ยังแสดงความหวังว่าไทยและจีนจะเสริมสร้างความร่วมมือทางเทคโนโลยี โดยชี้ว่าการจัดตั้งโรงงานในไทย บริษัทจีนย่อมต้องนำทีมวิศวกรชั้นนำมาด้วย ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ความก้าวหน้าของจีน ขณะเดียวกันหวังว่าบุคลากรของไทยจะมีโอกาสเดินทางไปฝึกอบรมที่จีนด้วย

ส่วนการดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นระยะเวลา 5 เดือน นายเศรษฐากล่าวว่า จีนเป็นแหล่งนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่ที่สุดของไทย การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าจะเกื้อหนุนนักท่องเที่ยวชาวจีนมาไทย รวมถึงส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนสองประเทศ วางรากฐานอันแข็งแกร่งสำหรับความร่วมมือเพิ่มเติม

เมื่อเอ่ยถึงความสัมพันธ์ไทย-จีน นายเศรษฐา เผยว่า ไทย-จีน มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยและหนึ่งในแหล่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่มีความสำคัญมากที่สุด ซึ่งเขาจะนำคณะผู้แทนชุดใหญ่ที่ร่วมเยือนจีนครั้งนี้เข้าหารือเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางการเกษตร การค้า การลงทุน และอื่นๆ

“ผมตั้งตารอการเดินทางเยือนครั้งนี้อย่างมาก” นายกฯ กล่าวทิ้งท้าย

"อยากให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ" แรงบันดาลใจ ‘สี จิ้นผิง’ สู่หัวหน้าสถาปนิกผู้ออกแบบ ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’

เมื่อวานนี้ 17 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้วงยามนี้ทุกสายตาพากันจับจ้อง ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ซึ่งจะเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำประเทศ ผู้บริหารธุรกิจ และนักวิชาการจากทั่วทุกมุมโลก เข้าร่วมการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ (BRF) ครั้งที่ 3 ณ นครหลวงปักกิ่ง

แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) วิสัยทัศน์การพัฒนาระดับโลกอันเป็นเอกลักษณ์ของสี จิ้นผิง ได้กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสาธารณะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก มอบโอกาสการพัฒนาแบบก้าวกระโดดแก่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การรวมตัว ณ กรุงปักกิ่ง จะส่งมอบโอกาสครั้งประวัติศาสตร์แก่หุ้นส่วนทั้งหมดของแผนริเริ่มฯ เพื่อต่อยอดผลสำเร็จอันโดดเด่นของแผนริเริ่มฯ และก้าวหน้าสู่ความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน โดยสำนักข่าวซินหัวชวนร่วมทำความเข้าใจว่าเหตุใดสี จิ้นผิงจึงเสนอแนะแผนริเริ่มฯ อะไรที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และสี จิ้นผิงมุ่งหวังบรรลุสิ่งใดด้วยแผนริเริ่มฯ นี้

>>กระตุ้นการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก

เมื่อปลายทศวรรษ 1960 สี จิ้นผิงซึ่งเป็นหนึ่งใน ‘เยาวชนผู้มีการศึกษา’ ถูกส่งไปยังชนบทเพื่อการ ‘เรียนรู้ใหม่’ และต้องประหลาดใจกับความท้าทายของการใช้ชีวิตในหมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ทั้งการนอนในบ้านถ้ำที่เต็มไปด้วยเห็บหมัด ตรากตรำทำงานหนักหลายชั่วโมง และต่อสู้กับความหิวโหย

"เราไม่มีเนื้อสัตว์กินกันนานหลายเดือน" สี จิ้นผิงเล่าย้อนถึงเรื่องราวเมื่อครั้งอาศัยอยู่ที่หมู่บ้านเหลียงเจียเหอ ขณะเดินทางเยือนเมืองซีแอตเทิลของสหรัฐฯ ในฐานะประธานาธิบดีจีนในอีกหลายทศวรรษต่อมา "สิ่งหนึ่งที่ผมปรารถนามากที่สุดตอนนั้นคือการทำให้ชาวบ้านได้กินเนื้อสัตว์จนพอใจ"

รสชาติความยากจนอันขมปร่าตอกย้ำความเชื่อมั่นของสี จิ้นผิงว่า "การพัฒนาเป็นกุญแจสำคัญสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน" แต่จะทำได้อย่างไร?

สี จิ้นผิงมักหยิบยกสุภาษิตจีนอันโด่งดังอย่าง "ถนนมาก่อน ความเจริญรุ่งเรืองจึงจะตามมา" เพื่ออธิบายว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสามารถกระตุ้นการพัฒนาได้อย่างไร และมองว่าการเปลี่ยนสายเคเบิลหรือซ่อมแซมถนน โดยเฉพาะพื้นที่ยากไร้บางแห่ง สามารถเปิดประตูสู่การบรรเทาความยากจนและความเจริญรุ่งเรืองของมวลชน

เมื่อครั้งสี จิ้นผิงเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ จีนเพิ่งจะผงาดขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของโลกและเผชิญสารพัดความท้าทาย การเปิดประเทศถือเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างน่าอัศจรรย์ของจีนในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา และสี จิ้นผิงได้ยืนยันอีกครั้งถึงความทุ่มเทของจีนที่มีต่อการเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น

หวังอี้เหวย ผู้อำนวยการสถาบันกิจการระหว่างประเทศประจำมหาวิทยาลัยเหรินหมิน กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ กลายเป็นการออกแบบการปฏิรูปและเปิดกว้างของจีนระดับสูงแบบใหม่ รวมถึงสะท้อนการเปิดกว้างระดับสูงยิ่งขึ้น และการแสวงหาการพัฒนาที่มีคุณภาพสูง แผนริเริ่มฯ สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของสี จิ้นผิงในการเปิดกว้างยิ่งขึ้น และมีบทบาทสำคัญต่อการเชื่อมโยงความต้องการการพัฒนาอันเร่งด่วนที่สุดของโลกกับสิ่งที่จีนเชี่ยวชาญ นั่นคือสร้างถนนและสะพานเพื่อการเชื่อมโยงถึงกันยิ่งขึ้น

รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) ระบุว่ากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 61.94 ล้านล้านบาท) ต่อปีจนถึงปี 2030 เพื่อรักษาทิศทางการเติบโต

นอกเหนือจากเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สมุดปกขาวว่าด้วยการพัฒนาแผนริเริ่มฯ ระบุว่าแผนริเริ่มฯ ยังเป็นแนวทางแก้ไขประเด็นปัญหาการพัฒนาระดับโลก ยามมนุษยชาติเผชิญความท้าทายอันน่าหวาดหวั่นจากการขาดดุลทางสันติภาพ การพัฒนา และธรรมาภิบาลในปัจจุบัน

สำหรับผู้นำจีนแล้ว จีนมิอาจพัฒนาโดยโดดเดี่ยวตนเองจากโลกได้ฉันใด โลกก็ต้องการจีนเพื่อการพัฒนาฉันนั้น ดังที่สี จิ้นผิงเคยกล่าวไว้ การดำเนินการตามแผนริเริ่มฯ ที่ตัวเขานำเสนอ "ไม่ได้หมายถึงการสละเวลาสร้างสิ่งที่ผู้อื่นเคยทำมาแล้วขึ้นมาใหม่" ทว่ามุ่งส่งเสริมยุทธศาสตร์การพัฒนาของนานาประเทศที่เกี่ยวข้องโดยใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของพวกเขา และมุ่งบรรลุการพัฒนาแบบแบ่งปันและได้ผลประโยชน์ร่วมกัน เพิ่มพลังการสื่อสารระหว่างอารยธรรม

สี จิ้นผิงนั้นถือเป็นคนรักการอ่านจนหนังสือกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยนิสัยรักการอ่านทำให้สี จิ้นผิงรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของทั้งตะวันออกและตะวันตก กลายเป็นแหล่งที่มาของแรงบันดาลใจในแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก

เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2013 ขณะเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์อมิร์ ติมูร์ ในกรุงทาชเคนต์ของอุซเบกิสถาน ระหว่างการเยือนเอเชียกลางครั้งแรกในฐานะประธานาธิบดีจีน มีแผนที่เส้นทางสายไหมโบราณฉบับหนึ่งได้ดึงดูดความสนใจจากสี จิ้นผิง

เส้นทางสายไหมโบราณนั้นเป็นมากกว่าเส้นทางการค้า เพราะการหมุนเวียนสินค้าผ่านเส้นทางนี้กระตุ้นการสื่อสารทางวัฒนธรรม โดยคลื่นคาราวาน นักเดินทาง นักวิชาการ และช่างฝีมือ ได้เดินทางระหว่างซีกโลกตะวันออกและตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งกำเนิดอารยธรรมอียิปต์ บาบิโลน อินเดีย และจีน รวมถึงหลายดินแดนศาสนาที่สำคัญ

"ประวัติศาสตร์เป็นครูที่ดีที่สุด" สี จิ้นผิงกล่าว พร้อมเสริมว่าการฟื้นฟูและสืบสานจิตวิญญาณแห่งเส้นทางสายไหม กอปรกับส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและระหว่างประชาชนถือเป็นส่วนสำคัญของแผนริเริ่มฯ

"ขณะทำงานตามแผนริเริ่มฯ เราควรรับรองว่าเมื่อพูดถึงอารยธรรมที่แตกต่างกัน การแลกเปลี่ยนจะเข้าแทนที่ความเหินห่าง การร่วมเรียนรู้จะเข้าแทนที่การปะทะ และการอยู่ร่วมกันจะเข้าแทนที่ความรู้สึกเหนือกว่า สิ่งนี้จะเพิ่มพูนความเข้าใจ การเคารพ และความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนานาประเทศ" สี จิ้นผิงกล่าวในการประชุมหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ครั้งที่ 1

นั่นคือเหตุผลที่สี จิ้นผิงเสนอให้มีการจัดการประชุมเสวนาอารยธรรมเอเชีย (CDAC) และผลักดันแผนริเริ่มอารยธรรมระดับโลก (GCI) โดยสี จิ้นผิงกล่าวว่าเราควรรักษาพลวัตของอารยธรรม และสร้างเงื่อนไขอันเกื้อหนุนอารยธรรมอื่น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองด้วย

>> จุดประกายแรงบันดาลใจเพื่อสร้างโลกที่ดีขึ้น

"มนุษยชาติที่อาศัยอยู่บนโลกและในยุคสมัยเดียวกันกับที่ประวัติศาสตร์และความเป็นจริงบรรจบ ได้กลายเป็นประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง" สี จิ้นผิงกล่าวต่อหน้าผู้ฟังจำนวนมาก ณ สถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมอสโกในปี 2013 ซึ่งถือเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของสี จิ้นผิงหลังจากดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีน

สี จิ้นผิงนำเสนอการสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันของมนุษยชาติเป็นครั้งแรกระหว่างการเดินทางดังกล่าว แนวคิดนี้กลายเป็นหลักการพื้นฐานของนโยบายต่างประเทศของจีน และอีกหลายเดือนต่อมา สี จิ้นผิงได้นำเสนอแผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งถูกมองว่าเป็นก้าวย่างสำคัญของการทำให้วิสัยทัศน์ในการสร้างโลกที่ดีขึ้นของเขากลายเป็นความจริง

ห้วงยามที่บางประเทศตะวันตกอ้างสิ่งที่เรียกว่า ‘การลดความเสี่ยง’ (de-risking) มาบังหน้าการแยกตัว (decoupling) จากจีน โดยประเทศจีนภายใต้การนำของสี จิ้นผิงยังคงยึดมั่นความร่วมมือแบบได้ประโยชน์ทุกฝ่ายและลัทธิพหุภาคีที่แท้จริง ซึ่งสี จิ้นผิงชี้ว่าการที่ผู้คนทั่วโลกมีชีวิตดีขึ้นเป็นหนทางเดียวที่จะค้ำจุนความเจริญ คุ้มครองความมั่นคง และปกป้องสิทธิมนุษยชน

สี จิ้นผิง ผู้ตระหนักดีว่ากลุ่มประเทศโลกซีกใต้ (Global South) ต้องการการพัฒนาเพิ่มขึ้น ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (UN) เสมอมา นำสู่การนำเสนอแผนริเริ่มการพัฒนาระดับโลก (GDI) ในปี 2021 และเรียกร้องประชาคมนานาชาติรับรองว่าทุกประเทศจะได้ร่วมสร้างความทันสมัย

ทั้งนี้ ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจากความร่วมมือหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางจะเพิ่มรายได้ที่แท้จริงทั่วโลกร้อยละ 0.7-2.9 และโครงการตามแผนริเริ่มฯ อาจช่วยนำพาผู้คนหลุดพ้นจากความยากจนขั้นรุนแรง 7.6 ล้านคน

ส่วนรายงานจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (CEBR) คาดการณ์ว่าแผนริเริ่มฯ มีแนวโน้มเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของโลก 7.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 258 ล้านล้านบาท) ต่อปีภายในปี 2040

พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย กล่าวว่าแผนริเริ่มฯ เป็นแผนริเริ่มระดับโลกที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล นำพาสันติภาพ ความร่วมมือ การพัฒนา และการแบ่งปันมาสู่โลก ลดความแตกต่างและความขัดแย้ง ทำให้ผู้คนหันมาแสวงหาการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือทางวัฒนธรรม การค้า และการเดินทางท่องเที่ยว

"ผมมีโอกาสพบปะกับผู้นำของหลายประเทศ ซึ่งในสายตาของผมแล้ว ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนเป็นผู้นำที่มีความคิดกว้างไกล สุขุมลึกซึ้ง และมุ่งมั่นแน่วแน่" พินิจกล่าวทิ้งท้าย

‘รองนายกฯ ไทย’ ยก ‘แผน BRI’ เป็นสุดยอดวิสัยทัศน์ระดับโลก เชื่อมต่อความเจริญ หนุนการค้า-ลงทุน เสริมแกร่ง ศก. ‘ไทย-จีน’

เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 66 สำนักข่าวซินหัว, กรุงเทพฯ รายงานว่า เมื่อไม่นานนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับสำนักข่าวซินหัวว่า ‘แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง’ (BRI) ถือเป็นวิสัยทัศน์ระดับโลกอันชาญฉลาดที่ส่งเสริมการเชื่อมต่อและโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนำพาความเจริญมายังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา

นายปานปรีย์ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม ‘หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ’ (BRF) ครั้งที่ 3 ว่าแผนริเริ่มฯ เป็นโครงการที่มีความชาญฉลาดมาก มีการมองไปข้างหน้าเพื่อการพัฒนาภูมิภาค และเพื่อให้โลกมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น พัฒนาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะทำให้ประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนาได้ประโยชน์จากโครงการนี้สูงมาก

แผนริเริ่มฯ ได้ยกระดับการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคผ่านโครงการต่างๆ อย่าง ‘ทางรถไฟ’ ซึ่งเชื่อมต่อเมืองสำคัญอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้เกิดการขนส่งสินค้าอย่างราบรื่นตลอดแนวเส้นทาง โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งรัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับการสร้างทางรถไฟจีน-ไทย ซึ่งจะเชื่อมต่อกับทางรถไฟจีน-ลาว และจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งจีน ลาว และไทย

“เราหวังจะเสริมสร้างการเชื่อมต่อกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศเหล่านี้ในด้านการค้า การลงทุน และสำคัญที่สุดคือ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน” นายปานปรีย์กล่าว พร้อมชี้ว่า จีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกที่เผชิญความไม่แน่นอนมากมายในสถานการณ์ปัจจุบัน

สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจจีน นายปานปรีย์กล่าวว่า ประเทศจีนมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก เวลานี้เศรษฐกิจจีนจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ในสภาพที่ปกติ เพื่อนบ้านหรือภูมิภาคที่อยู่ใกล้จีน ก็สามารถค้าขายกับจีนได้อย่างเป็นปกติเช่นเดียวกัน ซึ่งจะทำให้การค้าในภูมิภาคของเอเชียมีความแข็งแรงทั้งหมด

“ในมุมมองผม ก็ยังมองเศรษฐกิจของจีนในด้านดีและด้านบวก” นายปานปรีย์กล่าว

สำหรับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างไทยและจีนนั้นหยั่งรากลึก โดยนอกจากการค้าและการลงทุนแล้ว ความร่วมมือทวิภาคียังครอบคลุมด้านอื่นๆ เช่น ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรม ขณะการทำงานร่วมกันมุ่งเน้นเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเฉพาะการเกื้อหนุนห่วงโซ่อุปทานเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

อนึ่ง ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศของจีน ระบุว่า การค้าทวิภาคีระหว่างจีนและไทยในปี 2022 อยู่ที่ 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.9 ล้านล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีก่อนหน้า โดยจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทย

นายปานปรีย์ กล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งเมื่อไม่นานนี้ ไทยได้ดำเนินนโยบายฟรีวีซ่าแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเยือนไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจไทย

สำหรับการพัฒนาระดับภูมิภาค นายปานปรีย์กล่าวว่า ความสัมพันธ์จีน-อาเซียนที่แข็งแรงจะเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างประเทศในภูมิภาค รวมถึงไทย ในหลากหลายด้าน เช่น การค้า การลงทุน และความมั่นคงของภูมิภาค

“ความสัมพันธ์นี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งอาเซียนและจีน” นายปานปรีย์กล่าว

‘เศรษฐา’ ชูศักยภาพไทย หยอด ‘จีน’ ร่วมลงทุน ยาหอม!! จีนมหามิตร ไทยพร้อมชิดเชื่อม BRI

(20 ต.ค.66) ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ร่วมงาน Thailand-China Investment Forum ที่โรงแรมเคอร์รี่ โดยได้กล่าวแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอน และขอให้เชื่อมั่น ตนได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อให้ไทยเป็นจุดหมายที่ปลอดภัย เป็นมิตรกับทุกคนที่มาเยือน และการเดินทางมาจีนครั้งนี้ มีความยินดีอย่างยิ่ง ขอบคุณสำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ไทยและจีนมีความสัมพันธ์กันมาอย่างยาวนานทั้งด้านเศรษฐกิจสังคม มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างผู้นำระดับสูงมาตลอด ที่สำคัญคือ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนของพระบรมวงศานุวงศ์ของไทย แสดงให้เห็นความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศ

นายกฯ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ไทยและจีนครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน ทั้งสองฝ่ายได้ลงนามและประกาศใช้แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย - จีน ฉบับที่ 4 (ปี 2022 - 2026) และแผนความร่วมมือระหว่างไทย - จีน ว่าด้วยการร่วมกันส่งเสริมเส้นทางเศรษฐกิจสายไหมและเส้นทางสายไหมทางทะเลแห่งศตวรรษที่ 21 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 3 ซึ่งข้อริเริ่ม Belt and Road Initiative (BRI) เป็นนโยบายที่ก่อให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในหลากหลายมิติทั้งด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และด้านวัฒนธรรม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในกลุ่มอาเซียน

นายกฯ กล่าวว่า ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เชื่อมต่อเส้นทางภายใต้ BRI ทั้งบกและทะเล จึงตระหนักถึงโอกาสในการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระหว่างประเทศไทยกับจีน รัฐบาลไทยมีแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอย่างเต็มรูปแบบเพื่อเพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว จะยกระดับระบบคมนาคมขนส่งของไทย ก่อให้เกิดการกระจายความเจริญไปสู่ทุกภูมิภาคของประเทศ

“เป็นโอกาสดีที่ไทยและจีนจะยกระดับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รัฐบาลไทยจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และจะสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไทยมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ สำหรับการค้าและการลงทุน” นายเศรษฐา ระบุ

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในระดับภูมิภาคจีนและไทยได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งมีอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศนอกอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาการค้าขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมประมาณร้อยละ 30 ของ GDP โลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับสิทธิ ยกเว้นอากรหรือลดอัตราอากรศุลกากร ดังนั้น การเข้ามาทำการค้าการลงทุนกับประเทศไทยจึงเป็นโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความตกลงดังกล่าว นอกจากความตกลง RCEP แล้ว จีนและไทยมีกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน - จีน ซึ่งส่งผลให้ภาษีสินค้านำเข้าเป็น 0 มากกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้าทั้งหมด โดยตั้งเป้าในการปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในหมวดสินค้าอ่อนไหว รวมถึงการเปิดเสรีและคุ้มครองการลงทุน คาดว่าการเจรจาจะแล้วเสร็จในปี 2024 เพื่อพัฒนาการเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจไปสู่การเป็นฐานการผลิตและตลาดเดียวกัน อันจะนำไปสู่โอกาสทางธุรกิจที่เปิดกว้างยิ่งขึ้น

‘พีระพันธุ์’ เข้าร่วมประชุม-แสดงวิสัยทัศน์ ตามคำเชิญจีนที่ยูนนาน กร้าว!! จุดยืนไทย มุ่งมั่นพลังงานสะอาด สอดรับทิศทาง BRI

‘พีระพันธุ์’ นำผู้บริหารพรรครวมไทยสร้างชาติร่วมประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ตามคำเชิญของจีน ย้ำความร่วมมือครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา และสร้างความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของประเทศสมาชิกและของโลก

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 66 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) พร้อมด้วยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค, พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร สส.นครปฐม, นายพงษ์พล ยอดเมืองเจริญ รองโฆษกพรรค และ นายปรากรมศักดิ์ ชุณหะวัณ เหรัญญิกพรรค เข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) โดยมี นายหลิว เจี้ยนชาว รมว.วิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และ นายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และผู้แทนจากพรรคการเมืองหลายประเทศ เข้าร่วมประชุมด้วย ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน

นายพีระพันธุ์ ได้รับเกียรติให้ขึ้นกล่าวบนเวทีว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้มาร่วมประชุมพร้อมกับนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรคและคณะผู้บริหารพรรค และให้โอกาสตนกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมร่วมของพรรคการเมืองจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ในหัวข้อเรื่อง ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (One belt one road initiative – BRI)

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ 10 ปีของการดำเนินการข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มาตั้งแต่สมัยที่เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของสาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นครั้งแรกเมื่อ 10 ปีก่อน ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในความเป็นจริงคือการเชื่อมโลกเชื่อมประเทศต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันพัฒนาความเจริญของแต่ละประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้เดินหน้าไปพร้อมกัน โดยมีประเทศจีนเป็นแกนกลาง

ทั้งนี้ ในอดีตประเทศจีนก็เป็นผู้นำในด้านนี้มาก่อนตามที่เรารู้จักกันในชื่อ ‘เส้นทางสายไหม’ แต่ข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในครั้งนี้ยิ่งใหญ่และกว้างขวางกว่าเส้นทางสายไหมในอดีตเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการเชื่อมประเทศ เข้าต่างๆ ด้วยกันกว่า 100 ประเทศ ทั้งประเทศในทวีปเอเชีย, ยุโรป และแอฟริกาโดยเฉพาะ เมื่อมีการนำเอาเรื่องพลังงานสะอาดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางด้วย ยิ่งทำให้ข้อริเริ่มนี้มีความยิ่งใหญ่และมีความสำคัญต่อโลกมากยิ่งขึ้น 

นายพีระพันธุ์ กล่าวว่าความจริงใจและเป็นมิตรของจีนจะเป็นแรงผลักดันให้ทุกโครงการของข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทางในทุกประเทศสมาชิก ประสบความสำเร็จตามความมุ่งหมายทุกโครงการได้

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนรับผิดชอบดูแลภารกิจด้านพลังงานของประเทศไทยจะเดินหน้าพัฒนาพลังงานสะอาดของประเทศไทยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ดังกล่าวอย่างมั่นคงและประสบความสำเร็จตามเป้าหมายโดยเร็ว 

“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีนและประเทศสมาชิก จะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและความยั่งยืนของพลังงานสะอาดของโลกไม่ใช่เฉพาะไทยเท่านั้น ผมในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ พร้อมผู้บริหารพรรคที่มาร่วมงานในวันนี้ ขอขอบคุณพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ให้โอกาสมาร่วมงานในครั้งนี้” นายพีระพันธุ์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ นายพีระพันธุ์ พร้อมคณะได้เดินทางไป ศึกษาดูงานด้านพลังงานที่ Yunnan Energy Investment ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศจีน ถือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commission of Yunnan Provincial People's Government) ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

นอกจากนี้ ยังได้มีการประชุมหารือทวิภาคีก่อนการประชุม ‘ผลสัมฤทธิ์ของการดำเนินการตามข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง’ ร่วมกับนายหวาง หนิง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ประจำมณฑลยูนนาน ประธานสภาประชาชนมณฑลยูนนาน และเลขาธิการพรรค คอมมิวนิสต์จีน ประจำสภาประชาชนมณฑลยูนนาน

‘พีระพันธุ์’ ร่วมศึกษางานบริษัทพลังงานชั้นนำของ ‘จีน’ เล็งพัฒนาความร่วมมือ หนุนพลังงานสีเขียวอย่างยั่งยืน

(11 พ.ย. 66) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ขณะเข้าร่วมการประชุม Communist Party of China (CPC) in Dialogue with Political Parties from Southeast and South Asian Countries (ในหัวข้อ Enhancing the Pillars of High-quality Development, Embracing a Brighter) ณ WYNDHAM GRAND Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming ประเทศจีน ระบุว่า…

ระหว่างเดินทางไปร่วมประชุมที่นครคุนหมิงตามคำเชิญของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งนี้ ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานที่บริษัท Yunnan Energy Investment Group จำกัด (YEIG) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานสะอาดขนาดใหญ่ของมณฑลยูนนาน และได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน ‘บริษัทยอดเยี่ยม 500 อันดับแรกของจีน’ ติดต่อกัน 7 ปี

ผมได้รับทราบข้อมูลว่า บริษัท YEIG นี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 เดิมชื่อ ‘บริษัท การลงทุนไฟฟ้ามณฑลยูนนาน จำกัด’ อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำกับดูแลและบริหารทรัพย์สินของรัฐของรัฐบาลมณฑลยูนนาน (State-owned Assets Supervision and Administration Commissionof Yunnan Provincial People's Government) โดยมีธุรกิจหลัก คือ การผลิตพลังงานสะอาด (น้ำ ลม แสงอาทิตย์ ก๊าซธรรมชาติ และชีวภาพ) และยังดำเนินธุรกิจด้านการเงิน โลจิสติกส์ สารสนเทศ (Big Data) และกิจการอื่นๆ ผ่านบริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท 

นอกจากนี้ YEIG ยังได้นำยุทธศาสตร์ ‘ก้าวออกไป’ ของรัฐบาลจีนมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินกิจการในต่างประเทศ โดยการก่อตั้งบริษัท Hong Kong Yunnan Energy International Investment จำกัด เพื่อลงทุนโครงการสถานีไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังไอน้ำในเมียนมา และโรงงานปูนซีเมนต์ในลาวและอินโดนีเซีย รวมทั้งได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ เช่น ไทย สิงคโปร์ เวียดนาม ติมอร์-เลสเต บังกลาเทศ และเนปาล รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เพื่อแสวงหาความร่วมมือด้านพลังงาน รวมทั้งมุ่งดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และแผนยุทธศาสตร์ที่สำคัญของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน คณะกรรมการพรรคคอมมิวนิสต์มณฑลยูนนาน และรัฐบาลมณฑลยูนนาน โดยเฉพาะการส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสีเขียวให้เป็นอุตสาหกรรมหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาใหม่ที่ยั่งยืนของมณฑลต่อไป

ผมขอขอบคุณท่าน หู จวิน ประธานบริษัทฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทุกๆ ท่าน ที่ให้การต้อนรับผมและคณะเป็นอย่างดี และทาง YEIG ยังพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานในภารกิจต่างๆ ด้านพลังงาน โดยจะให้ตัวแทนในประเทศไทยติดต่อผม เพื่อประสานงานแนวทางต่าง ๆ กันต่อไป ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีครับ

‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top