‘อ.พงษ์ภาณุ’ ชี้!! BRICS โอกาสทองของไทย ช่วย ‘แลนด์บริดจ์ไทย’ เนื้อหอม เชื่อม BRI

ทีมข่าว THE STATES TIMES  ได้พูดคุยกับ อ.พงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ อดีตปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ระดับประเทศ ที่มาร่วมพูดคุยในรายการ Easy Econ ซึ่งออกอากาศทางสถานีวิทยุ ส.ทร. FM93.0 MHz และสื่อออนไลน์ ในเครือ THE STATES TIMES ในประเด็น 'BRICS กับโอกาสทองของไทย' เมื่อวันที่ 21 ม.ค.67 โดย อ.พงษ์ภาณุ กล่าวว่า…

เหตุการณ์น่าสนใจช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาคือการที่กลุ่ม BRICS รับประเทศสมาชิกใหม่หลายประเทศ รวมทั้ง ซาอุดีอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมมิเรตส์ และอิหร่าน ซึ่งเป็นการขยายขนาดและอิทธิพลของกลุ่มครั้งใหญ่ที่สุด นับจากก่อตั้งขึ้นมากว่า 20 ปี

กลุ่ม BRICS ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ แต่เป็นการนำตัวอักษรนำหน้าชื่อประเทศสมาชิกก่อตั้งมาเรียงกัน จีนเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในกลุ่ม คิดเป็นกว่า 50% ของ GDP รวมของกลุ่ม สมาชิกมีความแตกต่างและไม่มีที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ร่วมกันดังเช่นกลุ่มเศรษฐกิจอื่นๆ แต่สิ่งสำคัญที่ประเทศสมาชิกมีร่วมกัน คือแนวคิดต่อต้านระเบียบโลก (World Order) และการครอบงำของสหรัฐอเมริกาและตะวันตก

กลุ่ม BRICS ไม่มีกฏบัตรและหลักเกณฑ์การรับสมาชิกใหม่ แต่ได้เป็นเวทีให้สมาชิกใช้แสดงความไม่เห็นด้วยและโจมตีนโยบายและการทำงานของสถาบันต่างที่อยู่ภายใต้ระเบียบโลก กลุ่ม BRICS ตั้ง Mini World Bank และ Mini IMF ขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกให้ประเทศสมาชิกใช้ประโยชน์ นอกเหนือจากสถาบันการเงินในระบบ Bretton Woods

ประเทศสมาชิกหลายประเทศ โดยเฉพาะรัสเซีย และจีน ถูกสหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (Sanctions) และหลายครั้งถูกสหรัฐฯ ใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธร้ายมาลงโทษประเทศเหล่านี้เมื่อเกิดความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ อาทิเช่น เมื่อสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ผ่านมา รัสเซียถูกอายัดทุนสำรองที่เป็นดอลลาร์สหรัฐฯ และถูกตัดขาดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ ดังนั้นกลุ่ม BRICS จึงพยายามผลักดันการใช้เงินสกุลท้องถิ่น (Local Currencies) ทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย

แนวคิดเหล่านี้ของกลุ่ม BRICS ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะประเทศไทยสมัยนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยผลักดัน Asian Bond Market Initiative (ABMI) เมื่อราว 20 ปีที่แล้ว จนเป็นที่รู้จักและเห็นผลเป็นรูปธรรมบ้างแล้ว ธนาคารกลางในเอเชียลงขันกันตั้งกองทุน Asian Bond Fund เพื่อลงทุนในพันธบัตรที่ออกในสกุลเงินของประเทศสมาชิก ตลาดตราสารหนี้ของประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันถือเป็นเสาหลักของระบบการเงินของประเทศ

ไม่นานมานี้ จีนได้จัดงานครบรอบ 10 ปีของโครงการเส้นทางสายไหม (Belt and Road Initiative : BRI) โดยใน 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเองไม่มีโครงการอยู่ใน BRI เลย แต่การที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เดินทางไปกรุงปักกิ่ง เพื่อเข้าร่วมงานด้วยตนเอง บ่งชี้ความสำคัญและวิสัยทัศน์ของไทยที่จะเข้าร่วมเส้นทางสายไหมของจีนนี้ โดยเฉพาะโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเชื่อมมหาสมุทรอินเดียและอ่าวไทย จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญของ BRI 
ยิ่งเมื่อพิจารณาร่วมกับการขยายสมาชิกสภาพของกลุ่ม BRICS ที่ครอบคลุมถึงซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบที่สำคัญที่สุดของจีนด้วยแล้ว โครงการแลนด์บริดจ์จะยิ่งทวีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น และเชื่อแน่ว่าหากเข้าเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญประเทศหนึ่งของโลกแน่นอน

ความพยายามของกลุ่ม BRICS ที่จะจัดระเบียบโลกด้านเศรษฐกิจใหม่ เป็นความพยายามที่น่าชมเชย แต่จะสำเร็จหรือไม่คงจะเป็นเรื่องไม่ง่าย และไม่แน่ประเทศไทยอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการสร้างความสำเร็จนี้ก็ได้