Sunday, 30 June 2024
เด็กไทย

‘วินทร์’ ชี้ ‘สังคมปัจจุบัน’ กำลังหล่อหลอม ‘เด็ก’ ให้กลายเป็นปีศาจ ‘ความรู้-จริยธรรม’ จึงเป็นธุระของคนทั้งชาติ ที่ต้องคอยช่วยกันปลูกฝัง

เมื่อวานนี้ (6 ต.ค.66) วินทร์ เลียววาริณ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และนักเขียนเจ้าของรางวัลซีไรต์ โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กระบุว่า…

ข่าวเด็กวัย 14 ก่อเรื่องร้ายสร้างความสะเทือนใจแก่ทุกคน แม้ว่าเรายังไม่ได้รับรายงานสาเหตุที่แท้จริงว่าเป็นปัญหาทางจิต เช่น โรคจิตเภท หรือปัญหาครอบครัว หรืออะไร เราก็น่าจะฉวยโอกาสนี้สำรวจสถานการณ์เด็กบ้านเราในภาพรวม

หลายปีนี้ผมเจอเรื่องเด็กหลงทางหลายคนที่เป็นลูกหลานของเพื่อน ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัวบ้าง ปัญหายาเสพติดบ้าง สร้างความทุกข์มหันต์ให้พ่อแม่ ในฐานะคนที่เคยเลี้ยงลูกวัยนี้ รู้ว่าพฤติกรรมหลงทางของเด็กเป็นฝันร้ายของพ่อแม่ทุกคน

พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้ลูกเป็นนักเรียนชั้นเลิศ ได้เกรด 4 ทุกวิชา แค่ต้องการให้เรียนวิชาพอมีความรู้ประกอบอาชีพ ไม่สร้างปัญหาแก่ใคร ได้เท่านี้ก็ดีใจแล้ว

แต่การเลี้ยงลูกในยุคนี้ยากขึ้นทุกที ทั้งอิทธิพลจากเพื่อนๆ จากสื่อ โลกโซเชียล จากเกม จากหนัง ไปจนถึงการเมือง

เด็กก็คือเด็ก ฉลาดแค่ไหนก็มีวุฒิภาวะแค่ระดับหนึ่ง แต่มักคิดว่าตนเองรู้จักโลกมากพอแล้ว จึงไม่ฟังใคร

วุฒิภาวะต้องใช้เวลาและประสบการณ์ชีวิตด้วย

เมื่อเกิดปัญหา เรามักชี้นิ้วไปที่ปัจเจกไม่กี่คน หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก แต่ความจริงปัญหาของเด็กแต่ละคนที่ทำผิด ก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน จะชี้นิ้วไปที่คนไม่กี่คนในวงแคบๆ ไม่ได้

ดังที่เคยบอกว่า สิ่งมีค่าที่สุดของชาติคือทรัพยากรคน และการสร้างทรัพยากรคนเริ่มที่เด็ก ต้องปลูกฝังความรู้และจริยธรรมควบคู่กันอย่างต่อเนื่อง จึงจะได้เด็กที่มีคุณภาพและวุฒิภาวะที่สูงพอ เป็นปัญญา ไม่ใช่ปัญหาของสังคม

จะสร้างความรู้และจริยธรรมได้ เป็นธุระของทุกคนและทุกระบบในประเทศ

แต่ภาพในความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม หลายปีนี้เราได้ยินข่าวเด็กถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเสมอ บางคนบางฝ่ายสามารถล้างสมองเด็กเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างเลือดเย็น 

ปัญหาของเด็กคนหนึ่งจึงมักเป็นยอดของภูเขาน้ำแข็งที่ประกอบด้วยปัญหาอื่นๆ ของคนอื่นๆ คนจำนวนมากไม่ได้อยู่บนยอดของภูเขาน้ำแข็ง แต่เป็นส่วนหนึ่งของภูเขาน้ำแข็งนั้น อาจไม่ใช่ปัญหาโดยตรง แต่เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะทุกอย่างในสังคมดำเนินไปแบบ cause - effect 

cause #1 สร้าง effect #1, effect #1 สร้าง cause #2, cause #2 สร้าง effect #3... ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ใครคนหนึ่งคอมเมนต์ด่าคนอื่น มันจะกลายเป็น cause ที่สร้าง effect ใหม่ จากคนต่อคน จนถึงจุดหนึ่ง effect ก็ไปถึงเด็กที่ยังมีปัญญาและวุฒิภาวะไม่สูงพอ เด็กคนนั้นก็อาจหลงเชื่อว่าตนเองเป็นทางแก้ปัญหา ทั้งที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และก่อปัญหาสังคมได้โดยที่เชื่ออย่างบริสุทธิ์ใจว่าตนเองกำลังช่วยสังคม

ดังนั้นปัญหาสังคมจากเด็กก็คือปัญหาของคนทั้งชาติที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งผู้ใหญ่ที่เจตนาปั่นหัวเด็ก ไปจนถึงผู้ใหญ่ที่ไม่แย้งผู้ใหญ่คนนั้น

ท่านพุทธทาสภิกขุเทศน์หัวข้อเรื่อง “ยิ่งจะทำให้ดี, โลกมันยิ่งบ้า” ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2513 ว่า

"เสรีภาพในการเขียน ไม่มีใครว่าใครได้ แล้วก็เขียนเรื่องลามก อนาจาร ลงไปในหนังสือประจําวัน, แพร่หลายทั่วไปหมด ; ย้อมนิสัยเด็กๆ ให้เสียไปโดยไม่รู้สึกตัว, โดยไม่ต้องรู้สึกตัว, เขียนเรื่องอ่านเล่นโดยนามปากกา ที่มีชื่อเสียง นิยมนับถือกันทั้งประเทศ แต่แล้วก็เขียนเรื่องที่ทําให้เด็กมีจิตใจเลวทราม, เสื่อมเสียทางศีลธรรมโดยไม่รู้สึกตัว คุณไปเอาหนังสือพิมพ์มาพิจารณาดูเอาก็แล้วกัน ก็จะมองเห็น...

"ยังมีอะไรอีกมากที่ทําให้เด็กๆ กลายเป็นปีศาจในร่างมนุษย์ คนโตๆ ไม่เป็นไร ไม่กี่ปีก็ตาย แต่ว่าการที่ทําให้เด็กๆ มากลายเป็นอย่างนั้นนั้น มันน่าอันตรายอย่างยิ่ง เพราะว่าเขายังจะอยู่ไปอีกนาน..."

นั่นคือภาพเมืองไทยในปี 2513 เมื่อ 53 ปีก่อน วันนี้ปัญหาเด็กที่เกิดจากปีศาจผู้ใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนไปเลย และรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้นความล้มเหลวที่จะสร้างคนที่มีคุณภาพ ก็คือความล้มเหลวของทั้งสังคม

ทุกคำที่เราพูด ทุกประโยคที่เราด่า ทุกแง่ลบที่เราแสดง เป็นส่วนหนึ่งของ cause - effect ของสังคมรวม

วินทร์ เลียววาริณ
6 ตุลาคม 2566

‘CPF’ อาสาสานฝันเด็กไทย พาไปดูงาน ณ ‘JAXA’ ญี่ปุ่น หลัง 3 การทดลองได้รับเลือกขึ้นทดสอบในสถานีอวกาศฯ

เมื่อวานนี้ (17 พ.ย. 66) เฟซบุ๊ก ‘NSTDA - สวทช.’ โพสต์ข้อความในหัวข้อ ‘🚀CPF อาสาร่วมสนับสนุนเด็กไทยไปองค์การสำรวจอวกาศ JAXA ประเทศญี่ปุ่น’ ระบุว่า…

ตามที่ สวทช. ร่วมกับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ประเทศญี่ปุ่น จัดแข่งขันโครงการ Asian Try Zero-G 2023 และได้คัดเลือกแนวคิดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของตัวแทนเยาวชนไทยที่ผ่านการคัดเลือก จำนวน 3 เรื่อง โดยแนวคิดทั้ง 3 เรื่องนี้จะนำไปทดลองจริงในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ โดย นายซาโตชิ ฟุรุคาวะ (Satoshi Furukawa) นักบินอวกาศญี่ปุ่นที่ปฏิบัติการบนสถานีอวกาศนานาชาติ ISS 

ซึ่งในการนี้ น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้กำชับให้ สวทช. ดำเนินการทุกวิถีทางให้เด็กไทยได้ไปร่วมกิจกรรม ณ ประเทศญี่ปุ่น ล่าสุดทีมจัดกิจกรรมของ สวทช. ได้รับการติดต่อจากบริษัท CPF อาสาร่วมให้ทุนสนับสนุนโครงการดังกล่าว

สวทช. ขอขอบคุณ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ที่ได้ติดต่อขอร่วมสนับสนุนในการส่งเด็กไทยไปร่วมโครงการขององค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือ แจ็กซา (JAXA) ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีของเยาวชนไทยที่จะได้นำความรู้ความสามารถไปแสดงในเวทีโลก

ด้าน นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า "CPF รู้สึกยินดีและร่วมชื่นชมน้อง ๆ เยาวชนไทยที่เก่งและมีความสามารถไม่แพ้ชาติอื่น จนได้รับคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAXA) ให้ไปทดลองโครงงานบน Kibo Module สถานีอวกาศนานาชาติ เรา CP แบรนด์อาหารของคนไทย อยากช่วยเติมฝันของน้อง ๆ ในโอกาสนี้ เพราะเราเชื่อในศักยภาพของคนไทย ที่ยังก้าวไปได้อีกไกลในเวทีโลก หากเราร่วมกันผลักดัน"

ทาง สวทช. ยินดีที่ก่อนหน้านี้ CPF ก็ได้ดำเนินโครงการ Thai Food-Mission to Space เพื่อยกระดับมาตรฐานอาหารไทย ก้าวสู่มาตรฐานใหม่ไปพิชิตมาตรฐานอวกาศ (Space Food Safety Standard) ซึ่งเป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูง ระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศรับประทาน ตามหลักเกณฑ์ขององค์กร NASA มาแล้ว และตอนนี้ได้ขยายโอกาสมาสานฝันน้อง ๆ ให้มีโอกาสในเวทีระดับโลกเพิ่มเติมขึ้นอีก สวทช. ให้ความสำคัญและมุ่งมั่นในภารกิจการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติและประชาชนทั่วไป รวมทั้งจะแสวงหาโอกาสให้เยาวชนไทยได้แสดงความสามารถและเข้าร่วมในกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ อย่างเต็มกำลัง

สำหรับแนวคิดการทดลอง 3 เรื่อง ได้แก่
1. เรื่อง ‘ก้อนน้ำทรงกลมกับแรงไฟฟ้า’ โดย นายชญานิน เลิศอุดมศักดิ์ นักเรียน ม.5 โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย 

2. เรื่อง ‘การศึกษาการเคลื่อนที่แบบวงกลมของลูกบอลสองลูกบนเส้นเชือกในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ’ โดย นายณัฐภูมิ กูลเรือน, นายจิรทีปต์ มะจันทร์, นางสาวฟ้าใหม่ คงกฤตยานุกุล และนายภูมิพัฒน์ รัตนวัฒน์ นักเรียน ม.5 โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย 

3. เรื่อง ‘การออกกำลังกายท่าดาวทะเลภายใต้สภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำ’ โดย นางสาววรรณวลี จันทร์งาม และนางสาวพุทธิมา ประกอบชาติ นักเรียน ม.6 โรงเรียนระยองวิทยาคม

อ่านรายละเอียดโครงการเพิ่มที่: https://www.nstda.or.th/home/news_post/sci-news-flash-asian-try-zero-g-2023-result/ 

‘สุทิน’ ยัน!! ‘ทหาร’ จะเป็นไม้สองแก้ปัญหาเด็กตีกัน พร้อมช่วยปลูกฝังจิตสำนึก หากเกินกำลังของตำรวจ

(23 พ.ย.66) ที่โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์การแก้ไขปัญหาเด็กนักเรียนทะเลาะวิวาทว่า มีกลไกระดับล่างที่แก้ไขปัญหากันอยู่ ทั้งระดับกระทรวงและตำรวจ แต่ถ้าเกินกำลังเชื่อว่าทางทหารอาจจะใช้กลไกในเรื่องของกำลังสำรอง หรือนักศึกษาวิชาทหาร (รด.) ถือเป็นการปลูกฝังจิตสำนึก ป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเหล่านี้ หากเกินกว่ากำลังตำรวจ ทหารก็รับเหตุได้อยู่แล้ว

‘ศุภชัย’ บิ๊กใหญ่ ‘ซีพี’ ชงพลิกโฉมการศึกษาไทย รับมือโลกยุค 5.0 หนุนเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เสริมทักษะดิจิทัล-ภาษาอังกฤษ

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 66 รายงานข่าวเผยว่า นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง ‘The Future of Education พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต’ ภายในงาน ‘THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023 FUTURE READY THAILAND’ ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ นายศุภชัย ได้ฉายภาพรวมความท้าทายของโลกและเมกะเทรนด์ปี 2023 - 2030 โดยระบุว่า เด็กรุ่นใหม่ในยุคนี้ต้องเผชิญกับความท้าทายของโลกในหลายด้าน ดังนั้น เราต้องปรับตัวให้ทัน และต้องให้ความสำคัญกับการผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลมากขึ้น เพราะเราหยุดความก้าวหน้าของโลกไม่ได้ แม้ว่าในตอนนี้โลกอยู่ในยุค 4.0 ซึ่งเป็นยุคของการเข้าถึงข้อมูลเป็นดั่งน้ำมันในอากาศ

เวลานี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของการผสมผสานเทคโนโลยี AI และกรอบความคิดของคน รวมถึงหลักความยั่งยืนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน และเป็นยุคที่ให้ความสำคัญในการเพิ่มทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงให้กับคนในประเทศ

แต่ทั้งนี้ เมื่อมาดูผลสำรวจความสามารถทางทักษะดิจิทัล พบว่า เด็กไทยยังขาดทักษะดิจิทัลและภาษาอังกฤษที่ยังตามหลังประเทศเพื่อนบ้าน และหากดูการจัดอันดับการแข่งขันในเวทีโลก GDP ไทยอยู่อันดับที่ 26 แต่ GDP/CAPITA อยู่อันดับที่ 84  ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ของไทยในการลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ รวมไปถึงการลงทุนด้านเทคโนโลยี ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการศึกษาทำให้เด็กเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ เพราะประสิทธิภาพของทรัพยากรมนุษย์ คือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

นายศุภชัย ได้เสนอแนะสิ่งที่จะพลิกโฉมการศึกษาไทยให้เท่าทันความท้าทายต่าง ๆ ในอนาคตว่า ระบบการศึกษาไทยควรต้องปรับการเรียนรู้จาก 2.0 เป็น 5.0 เข็มทิศสำคัญคือการให้ความรัก ให้ความมั่นใจกับเด็ก เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลาง โดยบทบาทของครูจะต้องปรับเปลี่ยนจากผู้สอนไปเป็น ‘โค้ช’ หรือผู้นำกระบวนการเรียนรู้ (Facilitator) ต้องสอนให้เด็กเป็น ‘นักค้นคว้า’ มีกรอบความคิดใหม่ และเกิดการปรับตัวให้อยู่รอดในโลกที่ท้าทายตอนนี้ เพราะฉะนั้น การเรียนรู้จึงต้องปรับให้เด็กเกิดการตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน อภิปรายด้วยเหตุผล เพื่อให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนา โดยทุกโรงเรียนต้องปรับเป็น ‘Learning Center’

พร้อมกันนี้ได้เสนอโมเดล ‘Sustainable Intelligence Transformation’ (SI Transformation Model) ผ่าน 5 ฐานสำคัญในการเปลี่ยนระบบการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ประกอบด้วย

1.) Transparency โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด School Grading พร้อมตัวชี้วัดใหม่ที่มีนักเรียนเป็นศูนย์กลาง และต้องมีสมุดพกดิจิทัล วิเคราะห์และพัฒนาศักยภาพรายบุคคล

2.) Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน รวมไปถึงการส่งเสริมสื่อคุณธรรม

3.) Leadership &Talents ไม่จำกัดวิทยฐานะผู้อำนวยการ สร้างผู้นำและบุคลากรที่มีทักษะ 5.0

4. Empowerment เน้นการเรียนผ่านการลงมือทำในแบบ Action Based Learning บนสามขาความยั่งยืนคือเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และควรต้องมี Computer Science เป็นวิชาหลักครอบคลุมดิจิทัลเทคกับเอไอ

5.) Technology เสนอให้นักเรียนทุกคนมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต พร้อมส่งเสริมการสร้างสตาร์ทอัพ และดันให้ประเทศไทยเป็นฮับด้านนวัตกรรม

“เด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต เพราะนั่นคือห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุด และต้องมีการส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เพื่อการพัฒนาประเทศให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งนี้ การศึกษาเป็นเรื่องของทุกคน เป็นเรื่องใหญ่ หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต เราต้องเปลี่ยนเจเนอเรชั่นถัดไป เพราะพวกเขาคือผู้ที่จะรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ และต้องสร้างทักษะดิจิทัลให้พวกเขามีศักยภาพในการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงโลกได้อย่างเท่าทัน” ซีอีโอเครือซีพี กล่าว

‘14 เด็กไทย’ ร่วมแข่งคณิตศาสตร์ ‘2023 WMTC’ ที่เกาหลีใต้ คว้าเหรียญรางวัลประเภทบุคคล ‘3 ทอง 6 เงิน 5 ทองแดง’

(29 พ.ย. 66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะนักเรียน 14 คน ที่เดินทางไปแข่งขันในรายการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ 2023 WMTC-World  Mathematics Team Championship ณ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 พฤศจิกายน 66 ได้เดินทางกลับมาถึงยังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเรียบร้อยแล้ว พร้อมผู้ฝึกสอนและผู้ปกครอง ท่ามกลางความยินดีจากผู้โดยสารที่มาใช้บริการภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิโดยรอบ

นายภูมิเทพ คลังอุไร ประธานโครงการ Thai Talent Training และ Coach ของทีมประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวแทนเด็กไทยสร้างผลงานได้อย่างดีเยี่ยมเป็นที่น่ายินดียิ่ง โดยสามารถคว้ารางวัลแชมเปี้ยนจากการแข่งขันประเภทบุคคล ของรุ่น Junior และยังสามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม จากผู้เข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 20 ประเทศ ที่มาจากทุกทวีปทั่วโลก

อาทิ สาธารณรัฐประชาชนจีน, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เวียดนาม, ฮ่องกง, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, อิหร่าน, คาซัคสถาน, อียิปต์, พม่า,ได้หวัน, บัลกาเรีย, อุซเบกิสถาน, กัมพูชา และ ไทย 2023

WMTC เป็นรายการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติ ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมจีนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ สาธารณรัฐประชาชนจีน กับสมาคมเพื่อเฟ้นหาทีมสุดยอดระดับโลก สหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนจากภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก พร้อมปลูกฝังจิตวิญญาณการทำงานเป็นทีม รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักคณิตศาสตร์จากทั่วโลก เพื่อช่วยกันพัฒนาการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ให้มีความก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้นไป

โดยมี Prof. Quan K. Lam from University of California (USA) เป็นประธานคณะกรรมการ WMTC
2023 WMTC เป็นการแข่งขันคณิตศาสตร์นานาชาติประเภททีม แต่ละทีมประกอบด้วยสมาชิก 6 คน ซึ่งมีการแข่งขันใน 3 รูปแบบ ได้แก่ Individual Round, Relay Round และ Team Round แบ่งการจัดการแข่งขันออกเป็น 3 รุ่น ได้แก่ Junior Level (ประถมศึกษาตอนปลาย), Intermediate Level (มัธยมศึกษาตอนต้น) และ Advanced Level (มัธยมศึกษาตอนปลาย)

สำหรับผลงานของตัวแทนประเทศไทย จากการแข่งขัน 2023 WMTC ซึ่งประเทศไทยได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมทั้ง 3 รุ่นนั้น มีดังนี้

1. Junior Level
• ได้รับรางวัลแชมเปี้ยน ประเภทบุคคล จากผลงานของ เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย ได้รับเงินรางวัล 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ

• ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภททีม จากผลงานของ

-เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
-เด็กชายดรณ์ นิสภาธร บ้านเรียนนิสภาธร
-เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายอัฑฒ์ฐวิชณ์ ทองบัวศิริไล โรงเรียนอนุบาลสุธีธร
-เด็กชายศุภกร สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายณทัช วรเศรษฐการกิจ Singapore International School Thonburi

• ได้รับรางวัลเหรียญทอง ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กหญิงเพชรพริมา เศรษฐปิยานนท์ โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย
-เด็กชายดรณ์ นิสภาธร บ้านเรียนนิสภาธร
-เด็กชายวิชสิทธิ์ วิรัชศิลป์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

• ได้รับรางวัลเหรียญเงิน ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายอัฑฒ์ฐวิชณ์ ทองบัวศิริไล โรงเรียนอนุบาลสุธีธร
-เด็กชายศุภกร สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

• รางวัลเหรียญทองแดง ประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายณทัช วรเศรษฐการกิจ Singapore International School Thonburi

2. Intermediate Level
• ได้รับรางวัลเหรียญเงินประเภทบุคคล จากผลงานของ

-เด็กชายกรณ์ สิริธนกุล โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย
-เด็กชายปุณณวิช อรุณศิริวัฒนา โรงเรียนแสงทองวิทยา

• ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายนรภัทร กมลรัตนกุล St. Stephen’s International school
-เด็กชายสุภาษิต ธรรมเภตรารักษ์ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย

3.Advanced Level• ได้รับรางวัลเหรียญเงินประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายสร้างสรรค์ ประสิทธิ์นฤทธิ์ Newton Sixth Form
-นายศุภเกียรติ มนัสศิริวิทยา Newton Sixth Form

• ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงประเภทบุคคล จากผลงานของ

-นายณัฐพัชร์ ฉันทโรจน์ศิริ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์
-นายภูวเดช ประยุรธเนศ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์

รู้จัก รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ จุดเปลี่ยน สร้างบุคลากรด้านวิทย์ฯ ของไทย ภายใต้ค่าเฉลี่ย PISA สูงลิ่ว จากวิสัยทัศน์ 'เจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ' ที่น้อยคนจะรู้

(8 ธ.ค.66) จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'Pornpichit Samaktham' ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า...

รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ ช่วยดึงคะแนน PISA ให้ดีขึ้น (มี 12 โรงเรียน)

เมื่อวาน BBC Thai เอาคะแนน PISA มาเปิดเผยแบบพาดหัวข่าวตัดตอน ขาแช่งประเทศไทยให้ตกต่ำเฮ กันใหญ่ สื่อเล็กสื่อน้อยช่วยกันเล่นสนุกสนานแต่ไม่พูด ภาพกว้างของการพัฒนาวงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์บ้านเรา

ผมเป็นคนหนึ่งที่คอยให้คำปรึกษาผู้ปกครองทุกวัน รับสายทุกวัน เพราะตั้งใจว่าจะเอาความรู้ที่ร่ำเรียนมา ประสบการณ์จากชีวิตจริง มารับใช้สังคม จนหมดแรง

บทสนทนาแรกๆ กับผู้ปกครองจะเหมือนๆ กัน ไม่รู้ว่าให้ลูกไปเรียนทางไหน ไม่อยากให้ลูกเครียดมาก อยากให้ที่ลูกเรียนที่ลูกชอบ

คำตอบของผม ผู้ปกครองหลายท่านไม่ชอบใจ ไม่โทรมาอีกเลย แต่ส่วนใหญ่ยังมาปรึกษาต่อเนื่อง ให้ช่วยวางแผนการศึกษายาวๆ

ผมจะบอกผู้ปกครองเสมอว่าสิ่งที่ผมแนะนำในการเรียน

1.เรียนอะไรก็ได้อย่าตกงาน

2.เรียนอะไรก็ได้ที่เงินเดือนสูง

3.เรียนง่ายๆ น้อยคนที่ได้เงินเดือนสูง

4.ถ้าเด็กเก่งด้านภาษาแบบโดดเด่นสนับสนุนไปเลย แต่ต้องยอมรับว่าโดยส่วนใหญ่เงินเดือนสายนี้จะน้อยกว่าสายวิทยาศาสตร์

5.ประเทศไทย มีสถาบันการศึกษาที่สอนสายศิลป์มากแล้ว เรียนวิทย์ได้เรียนวิทย์เถอะ

6.ถ้าเด็ก เรียนสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ได้ ให้เรียนสายนี้

มาถึงการวัดคะแนน PISA คือวัดเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จะเห็นว่าโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ มหิดลวิทยานุสรณ์ กำเนิดวิทย์ และโรงเรียนสาธิตสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงเรียน สพฐ.ชั้นนำ ได้คะแนนสูงกว่า ค่าเฉลี่ยของ OECD (Organization for Economic Co operation and Development)

OECD คือองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการพัฒนา หรือประเทศเจริญแล้ว รวยแล้ว มีสมาชิก 38 ประเทศ ออสเตรเลีย, ออสเตรีย, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, สวิตเซอร์แลนด์, เกาหลีใต้, เนเธอร์แลนด์, นิวซีแลนด์, สหราชอาณาจักร, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น เป็นต้น

ดูรายชื่อประเทศพวกนี้ ก็คงมองออกสถานะทางการเงิน

มาดูประเทศที่อันดับดีในเอเชีย มาจากชาติที่การแข่งขันสูง จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, ฮ่องกง, มาเก๊า, สิงคโปร์, มาเลเซีย รวมทั้งเวียดนาม ต้องยอมรับว่าเป็นประเทศที่แข่งขันสูง ความเครียดสูง วัฒนธรรมคนขยันขันแข็ง

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยในยุคนี้ สื่อมวลชนมีส่วนชักนำเยาวชน ผู้ปกครองเยอะมาก ความรู้สึก ค่านิยม ไม่ต้องเรียนสูง เรียนง่ายๆ ขายของออนไลน์ ก็มีกินมีใช้แล้ว แต่ทักษะเหล่านี้ ไม่สามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มในระยะยาวได้ ได้แค่เป็นผู้ค้าและเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีเท่านั้น

ที่ผ่านมาภาครัฐ มีส่วนส่งเสริมการเรียนการสอนเทคโนโลยี มากมายเพื่อรองรับโครงสร้างประเทศในอนาคต รองรับการสร้างงานในพื้นที่ EEC ที่ต้องใช้แรงงานระดับสูง แต่การศึกษานั้น ผู้ปกครองต้องมีส่วนในการสร้างเยาวชนของชาติด้วย ไม่ใช่เรียกร้องแต่สิทธิ์ของฉัน

โครงสร้างด้นดิจิทัลของประเทศไทย ตอนนี้เอื้อแก่การเรียนรู้ ทางเลือกออนไลน์มาก อยู่ที่จะนำไปใช้แบบไหน ที่เอามาพัฒนาตัวเอง

การตั้งโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณ์ ตามปณิธานของ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ทั่วประเทศ จำนวน 12 แห่ง ครั้งแรกวันที่ 27 กรกฎาคม 2536 สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยนั้น นายสัมพันธ์ ทองสมัคร ต่อมาได้ให้โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้นแบบร่วมจัดหลักสูตรและบุคลากร และเป็นพี่เลี้ยง แทบจะเรียนฟรีทั้งหมด ให้โอกาสลูกคนที่มีฐานะอ่อนแอกว่า จะเห็นว่าผู้ใหญ่ของประเทศไม่ได้นอนอยู่เฉยๆ เลย พัฒนาต่อเนื่องแม้การเมืองจะล้มลุกคลุกคลาน 

***ข้อมูลจากกูเกิล

ส่วนโรงเรียนสาธิต สังกัดมหาวิทยาลัยต้องยอมรับว่าเป็นโรงเรียนที่ผู้ปกครองมีโอกาสทางสังคมสูง จากการแสวงหาโอกาส ไม่ใช่นั่งอยู่เฉยๆ ต้องยอมรับว่าเป็นกลุ่มผู้ปกครองตัวอย่าง ที่ทำให้ค่าคะแนน PISA ดึงกลุ่มอื่นขึ้นมา  

ผู้ปกครองกลุ่มนี้ควรดึงผู้ปกครองกลุ่มอื่นที่อ่อนแอกว่าขึ้นมาด้วย ช่วยกัน ให้คำปรึกษาแนะนำ สังคมถึงจะร่วมกันพัฒนาเจริญไปด้วยกัน ดีกว่าก่นด่ากัน

ส่วนนักเรียนกลุ่ม มหิดลวิทยานุสรณ์ กำเนิดวิทย์ วมว. และ รร.ชั้นนำ สังกัด สพฐ.ในกรุงเทพ และภูมิภาค อันนี้ไม่น่าเป็นห่วง เพราะผู้ปกครอง และเด็ก เป็นหัวกะทิของประเทศอยู่แล้ว

จะบอกตรงนี้ว่าปัจจุบันจำนวนนักเรียนไทยสายวิทยาศาสตร์ที่เก่งๆ เยอะมากมาย ตามรร.ชั้นนำข้างต้น ด้วยนโยบายข้างต้น เราเลยผลิตบุคลากรด้านนี้ได้มากมาย

***ลองไปดูการแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ระดับนานาชาติประเทศไทย กวาดเหรียญรางวัลมาทุกปี ใช่อาจจะกลุ่มเดียว แต่จะมองเห็นศักยภาพเด็กของประเทศ ว่าไม่ด้อย ถ้าขยันพอ

ถ้าเอาจำนวนเด็ก ที่เด่นด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ไปวัดกับสิงคโปร์ เราจะเหนือกว่าด้วยซ้ำ แต่พอวัดตามสัดส่วนประชากร เราจึงแพ้หลายประเทศ

ดังนั้น เชื่อในที่นี้ว่าเด็กที่อันดับไม่ดี ไม่ใช่เริ่มที่ตัวเด็ก เริ่มที่ผู้ปกครองก่อนเลย อย่าพูดว่าเด็กสมัยนี้มีมือถือเครื่องเดียวมันเก่งแล้ว เด็กจะรู้กว่าผู้ปกครองได้ยังไง

ผู้ปกครอง คือ คนที่ช่วยกันสร้างประเทศ ในโอกาสแรกให้เด็ก

ปล.นี่คือ การวัดด้าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นหลัก

ตอนเช้า ผมเห็น ดร.คนนึง เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยดัง สามย่าน และเป็นอดีต สส.

โพสต์สะใจกับเรื่องนี้

ผมถามว่า เข้าใจเรื่องนี้ดีแล้วเหรอ

ดูเนื้อในหรือยัง ?

จากคนจิตอาสาแนะแนวด้านการศึกษา เพราะรู้ว่าเรื่องการศึกษาคือ การสร้างอนาคตประเทศ สร้างโอกาสให้คนบ้านนอกแบบผม มีโอกาสในการทำมาหากิน

‘พงศ์พรหม’ ห่วง!! อนาคตต่างชาติครอง ‘งานสายการเงิน-เทคฯ’ ในไทย เหตุเพราะ ‘ความสามารถ-ทัศนคติ’ นำหน้าเด็กไทยรุ่นใหม่มากโข

(20 ธ.ค. 66) นายพงศ์พรหม ยามะรัต ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ‘Pongprom Yamarat’ ระบุว่า...

มาเจอ Trend การจ้างงานที่น่าสนใจ แต่น่าเป็นห่วง

เด็กไทยรุ่นใหม่ถูกคนจีน สิงคโปร์ อินเดีย แย่งงานตำแหน่งงานการเงิน นวัตกรรม ธุรกิจองค์กรกลาง-ใหญ่ เงินเดือน 75,000+ ถึง 300,000 บาท เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความสามารถเด็กไทย หมายถึงความสามารถ ความขยัน passion และทัศนคติไม่ผ่าน

หรือที่เข้าไปได้ ก็ไม่ผ่านโปรเยอะ

เราจึงเริ่มเห็นคนจีน คนอินเดียเข้ามาทำงานในไทยเพิ่มขึ้น ๆ เพราะธุรกิจไม่มีทางเลือกแล้ว ให้โอกาสเด็กไทยแล้ว

สรุปว่างานระดับบริหาร นวัตกรรม ไปถึงสายเทค เด็กไทยกำลังโดนต่างชาติแย่งงานในไทยเอง เพราะความสามารถไม่ถึง ส่วนงานบริการระดับกลาง เช่นผู้จัดการร้านอาหาร รวมถึงคนเสิร์ฟที่เงินเดือนสูงหน่อยตามโรงแรม 4-6 ดาวในกรุงเทพ ภูเก็ต เด็กไทยสอบไม่ผ่าน รวมถึงไม่ผ่านโปรเยอะมาก

ตอนนี้ร้านอาหารดี ๆ โรงแรมดี ๆ จึงต้องเร่งจ้างงานคนฟิลิปปินส์ อินเดีย บังกลาเทศ อินโดนีเซีย เข้ามา fill ตำแหน่งเหล่านี้

เมื่อวานผมมีคุยงานในโรงแรม 5 ดาวกลางกรุงเทพ เด็กเสิร์ฟ 1 ใน 4 หรือ 1 ใน 5 เป็นต่างชาติแล้ว เพราะภาษาอังกฤษดี ยิ้มแย้ม บริการดีมาก

ที่น่าห่วงคือ ภาคธุรกิจไทยมากมาย ไม่ได้ underpaid แต่เด็กไทยความสามารถไม่พอจริง ๆ

และเมื่อเปิดรับต่างชาติมาในเงินเดือนเท่ากัน ต่างชาติกลับทำงานนั้นได้ดีกว่า ภาษาอังกฤษคล่องกว่า งอแงน้อยกว่า ขยันกว่า เรียนรู้ไวกว่า

เรากำลังเข้าสู่ยุคภาครัฐไร้ทิศทาง เด็กรุ่นใหม่อยากได้เงินเยอะ ๆ แต่ไร้ความสามารถ อนาคตเศรษฐกิจไทย อันตรายยิ่ง 

กาแฟ Piccolo ในรูปนี่เป็นกาแฟแก้วที่ 2 ของวันแล้ว ผมตื่นมาทำงานตั้งแต่ตี 4 ครึ่ง กิน Espresso แก้วแรก ทำเสร็จ ไปวิ่ง วิ่งเสร็จ มาทำงานต่อ แบบนี้ต่างชาติถึงเคารพเรา

ปล. ที่น่าสนใจ คือเด็กรุ่นใหม่ที่เก่ง คือเก่งโดดออกมาเลย ไม่ต้องจบนอกก็เก่งสุด ๆ รู้ว่าจะเรียนรู้จากไหน ไป take online course สั้น ๆ จาก MIT บ้าง Harvard บ้าง ในขณะที่เด็กรุ่นเขาส่วนใหญ่นั่งชิลล์ รักสบายกันอยู่

‘ศธ.’ ประกาศผลการคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น ที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567

(22 ธ.ค. 66) กระทรวงศึกษาธิการได้เปิดเผยว่า…ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้มอบหมายให้ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการ พิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 ตามโครงการจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 นั้น 

บัดนี้ ส่วนราชการและหน่วยงานต่าง ๆ ได้พิจารณาคัดเลือกเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว จึงประกาศ รายชื่อเด็กและเยาวชนดีเด่น เด็กและเยาวชนที่นำชื่อเสียงมาสู่ประเทศชาติ ประจำปี 2567 ที่ได้รับ การคัดเลือกให้เข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี เนื่องในงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ ประจำปี 2567 สามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ https://www.moe.go.th/เด็กและเยาวชน2567/

และสำหรับเด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกตามประกาศฯ จะได้รับการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี ในวันพุธที่ 10 มกราคม 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เด็กและเยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกตอบรับการเข้าเยี่ยมคารวะนายกรัฐมนตรี โดยเข้าร่วมทาง Openchat ผ่าน QR - Code Line ภายในวันที่ 29 ธันวาคม 2566

‘นายกฯ’ ตั้งเป้าลดจำนวนเด็กไทยหลุดออกระบบการศึกษา พร้อมแย้ม!! 13 มกราคมนี้ จะมีข่าวดีสำหรับเด็กไทยทุกคน

(10 ม.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความผ่าน X ว่า “ผมขับเคลื่อนเรื่องลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาด้วยตัวเองมาตั้งแต่ก่อนเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ หลายปีแล้วครับ เพราะผมปรารถนาที่จะเห็นเด็กไทยได้รับความเท่าเทียมในเรื่องนี้ โดยตั้งเป้าให้จำนวนเด็กที่ต้องหลุดระบบการศึกษาเป็น ‘ศูนย์’ ครับ

ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งผมได้สั่งการทันทีให้ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ (กสศ.) DES และกระทรวงมหาดไทย บูรณาการรวบรวมข้อมูลนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษา ให้เป็นฐานข้อมูล Big Data ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ต้องออกจากการศึกษากลางคัน ซึ่งในวันเสาร์ที่ 13 ม.ค.นี้จะมีข่าวดี ที่จะเป็นก้าวสำคัญก้าวหนึ่งที่ประเทศไทยก้าวไปสู่ Thailand Zero Dropout ครับ”

'อ.แพท' ห่วง!! โพลชี้นำ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษา เบื้องหน้า 'Rocket Media Lab-แพธทูเฮลท์' เบื้องหลัง NED

(15 ม.ค. 67) 'อ.แพท' พัฒนพงศ์ แสงธรรม อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ (ภาควิชาภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Pat Sangtum' ถึงความน่ากังวลต่อกรณีโพลสำรวจ 'เด็กไทย' อยากได้อะไรจากการศึกษาล่าสุด โดยระบุว่า...

จะแก้ไขการศึกษา ด้วยการลงนะที่สมอง หรือแก้ปีชง

การสำรวจของ Rocket Media Lab ร่วมกับ แพธทูเฮลท์ นำความไม่สบายอารมณ์มาสู่ผู้ห่วงคุณภาพการศึกษา และวิตกเรื่องทัศนะของเยาวชนไทย ไม่ว่าจะเป็นวิชาที่อยากเรียน และสิ่งที่อยากให้ยกเลิก

ก่อนอื่น การวิจัยครั้งนี้ ไม่ได้เป็นตัวชี้วัดที่จะทำให้แน่ใจได้ว่าเป็นเช่นนั้น ยังขาดทั้งความเที่ยง (reliability) และความตรง (validity) 

ประการแรกคือ กลุ่มสำรวจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ชั้น ป. 1 ไปจนถึงชั้น ม. 6 นั่นหมายถึงช่วงอายุตั้งแต่ 6-7-8-9 ขวบ ในชั้นประถม ไปจนถึงอายุ 15-16-17 ปี ความต้องการของเด็กประถม กับเด็กวัยมัธยมปลาย ก็ต่างกัน โลกทัศน์เกี่ยวกับอาชีพ เด็กประถมก็ไม่มีเท่าเด็กมัธยม 

-  เด็กประถมและมัธยมต้นสนใจเรียน เรื่องการเงินการลงทุน?
-  เด็กกลุ่มไหนอยากเรียนวิชาการใช้สื่อโซเชียลมีเดีย? 
- เด็กวัยไหน ไม่อยากเข้าแถวเคารพธงชาติ ไม่ชอบวิชาศาสนาพุทธ? ... การสำรวจหัวข้อเหล่านี้

ตั้งแต่เด็กอายุ 6 ขวบ ไปจนถึงวัย 17 ปี ย่อมขาดความตรง (validity) ในการออกแบบงานวิจัย มีผลต่อความเที่ยง

ผลสำรวจเห็นได้ชัดว่าเป็นการสำรวจด้วย 'คำถามปลายปิด' โดยผู้ตอบแบบสอบถาม เลือกตอบจากคำตอบที่มีไว้ให้แล้ว... เช่น "การเงินการลงทุน" หากเป็นคำถามปลายเปิด ย่อมต้องมีคำตอบตามวัย เช่น "การเปิดร้านกาแฟ-ร้านอาหาร" "การขายสินค้าออนไลน์" ฯลฯ "การผลิตรายการติ๊กต็อกและยูทูบ" เป็นต้น

ในกลุ่มของสิ่งที่อยากให้ปรับปรุง แน่นอน ทั้งประเทศย่อมต้องการให้ปรับปรุงห้องน้ำ เพราะเชื่อว่าห้องน้ำตามโรงเรียนส่วนใหญ่ สภาพอาจมีแนวสยอง แต่รองลงมาคือห้องเรียน และโรงอาหาร (ต่ำว่า 10%) ไม่มีคำตอบปลายปิด ชี้นำให้ปรับปรุงห้องสมุด-ห้องคอมพิวเตอร์-ห้องแล็บ-โรงยิม ฯลฯ  (แบบสอบถามมองเห็นเท่านี้ ห้องน้ำ-ห้องเรียน-โรงอาหาร)

เรื่องกิจกรรมและวิชา ที่ต้องการให้ยกเลิก ก็สะท้อนช่วงอายุของนักเรียนมัธยมชัดเจน เด็กประถมคงไม่รำคาญวิชาหน้าที่พลเมือง

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรที่มองเห็นว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเพียงอย่างเดียว จึงมีวิชาพุทธศาสนา หรือค่ายธรรมะ โดยไม่มองไม่เห็นคริสเตียน มุสลิม ฮินดู ฯลฯ เป็นสิ่งที่เชยและน่าอาย

โรงเรียนสาธิต มธ. (และอาจที่อื่นด้วย) มีวิชาด้าน "การเงิน" สอนให้กับนักเรียน บรรดาผู้รู้ในเน็ตก็โวยวายว่ามันบ้าไปแล้ว ต่อต้านหลักสูตรของ สาธิต มธ. ที่ให้ทางเลิอกในการเรียนรุ้ไว้มากมาย วิชาด้านการเงิน สอนให้เด็กเริ่มมีวินัยทางการเงิน รู้จักจัดการกับเงิน เห็นความสำคัญในการเก็บออม เพื่อลงทุน ฯลฯ เนื้อหาเป็นไปตามช่วงการเรียนรู้... พอผลสำรวจของ Rocket Media ออกมายืนยันว่า นักเรียนสนใจเรื่องการเงิน... ผู้รู้ในเน็ต จะว่ายังไง...

เรื่องการลงโทษ ที่ทำให้อับอาย ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก อายในกลุ่ม อายในชั้นเรียน อายในโรงเรียน อายต่อสังคม.... แต่เมื่อผลสำรวจได้ระบุมาแล้วว่า นักเรียนไม่ชอบโดนลงโทษแบบให้อับอาย ก็ต้องหาวิธีอื่นต่อไป... ส่วนเรื่องเสื้อผ้า ทรงผมนั้น กฎกระทรวงศึกษาได้ปรับเปลี่ยนระเบียบเรื่องทรงผม และประกาศตอกย้ำมาหลายหนแล้ว ถ้าจะทำการวิจัยและเล่นเนื้อหาเดิมๆ ไม่ตรงเหตุการณ์ปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะเป็นการวิจัยรอบวงเวียนไปหน่อย.

ผลสรุปที่ผู้วิจัยทำมาให้ คิดว่ามาจากตัวอย่างสำรวจกลุ่มไหน ประถม มัธยมต้น หรือมัธยมปลาย หรือเกลี่ยได้เท่ากันทุกกลุ่มจริงๆ

***หมายเหตุ: สำหรับการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ ของทาง Rocket Media Lab นั้น จะได้รับเงินสนับสนุนจาก National Endowment for Democracy หรือ NED นับตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2567


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top