Friday, 28 June 2024
พลังงาน

🔎ส่อง ‘ยุโรป’ และ ‘แอฟริกา’ SPR เป็นยังไง

นับตั้งแต่ปี 2004 น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 4.1 พันล้านบาร์เรลถูกจัดเก็บไว้เพื่อเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง โดยประเทศสมาชิกของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งปริมาณ 1.4 พันล้านบาร์เรลอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลของชาติสมาชิกจัดว่าเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) และส่วนที่เหลือ 2.7 พันล้านบาร์เรลถูกถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน ความแตกต่างระหว่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) กับน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์ที่ถือครองโดยภาคธุรกิจเอกชน แม้จะมีความมุ่งหมายเดียวกันคือการป้องกันความเสี่ยงจากวิกฤตพลังงานในอนาคต แต่ SPR เป็นการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพื่อความมั่นคง ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเชิงพาณิชย์เป็นการจัดเก็บเพื่อการพาณิชย์ด้วยหวังผลกำไรทางธุรกิจของบริษัทเอกชนผู้ถือครองโดยภาครัฐไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวจัดการได้ เว้นแต่มีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเช่น กฎอัยการเพื่อเข้าควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าว

ตามข้อตกลงในเดือนมีนาคม 2001 สมาชิกในขณะนั้นทั้งหมด 30 ชาติของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) จะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์เท่ากับ 90 วันของการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิของปีที่แล้วของแต่ละประเทศ เฉพาะสมาชิกผู้ส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ของ IEA เท่านั้นที่ได้รับการยกเว้นจากข้อกำหนดนี้ ประเทศที่ได้รับการยกเว้น ได้แก่ แคนาดา เอสโตเนีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ และสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมาสหราชอาณาจักรและเดนมาร์กได้จัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองทางยุทธศาสตร์ของตนเองเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีทางกฎหมายในฐานะรัฐสมาชิกของสหภาพยุโรป 

เพื่อให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันเพิ่มความยืดหยุ่นในโควตาการผลิตของตน จึงมีความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่ข้อตกลงการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเชิงพาณิชย์ล่วงหน้า ข้อตกลงเหล่านี้อนุญาตให้จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมไว้ภายในประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองดังกล่าวอยู่ภายใต้การควบคุมทางเทคนิคของประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน ข้อตกลงดังกล่าวช่วยให้ประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสามารถเข้าถึงปริมาณสำรองเชิงพาณิชย์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปมีข้อตกลงในการแบ่งปันน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมกับประเทศอื่น ๆ ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินในยุโรปขึ้น ตามคำสั่งของสภาแห่งสหภาพยุโรป 68/414/EEC วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2511 รัฐสมาชิกทั้ง 27 ประเทศจะต้องมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ภายในอาณาเขตของสหภาพยุโรป เท่ากับอย่างน้อย 90 วันของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉลี่ย

• สาธารณรัฐเช็กมี SPR 4 คลังในเมือง Nelahozeves ดำเนินการโดยบริษัท CR Mero โดย SPR ของเช็กเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 100 วันหรือ 20,300,000 บาร์เรล 

• เดนมาร์กมีปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 81 วัน ยังไม่รวม SPR ที่ถือครองโดยกองทัพ

• ฟินแลนด์จัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม SPR 14-18 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศอย่างน้อย 90 วัน

• ฝรั่งเศสมี SPR มีขนาดประมาณ 65,000,000 บาร์เรล (ในปี 2003 มีการกำหนดให้มีปริมาณเชื้อเพลิงเครื่องบินคงเหลืออย่างน้อย 55 วัน) โดยครึ่งหนึ่งควบคุมโดย Société Anonyme de Gestion des Stocks de Sécurité (SAGESS) และอีกครึ่งหนึ่งควบคุมโดยบริษัทผู้ค้าน้ำมัน

• เยอรมนีก่อตั้ง Federal Oil Reserve ในปี 1970 ซึ่งตั้งอยู่ในถ้ำเกลือ Etzel ใกล้กับ Wilhelmshaven ทางตอนเหนือของเยอรมนี โดยมีขนาดเริ่มแรก 70 ล้านบาร์เรล (ปัจจุบัน Federal Oil Reserve ของเยอรมนีและ Erdölbevorratungsverband (EBV) (บริษัทถือหุ้นของเยอรมนี) กำหนดให้บริษัทผู้กลั่นน้ำมันต้องสำรองน้ำมันไว้เป็นเวลา 90 วัน ทำให้เยอรมนีมีขนาดสำรองประมาณ 250,000,000 บาร์เรล SPR ของเยอรมันถือว่ามากที่สุดในยุโรป

• ฮังการีมี SPR เพียงพอเท่ากับราว 90 วันสำหรับการบริโภคในประเทศหรือ 11,880,000 บาร์เรล 

• ไอร์แลนด์มี SPR เพียงพอต่อการบริโภคประมาณ 31 วันที่จัดเก็บในประเทศ และปริมาณสำหรับอีก 9 วันเก็บในประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่น ๆ นอกจากนี้ยังมีตั๋วน้ำมัน (สัญญาในการซื้อน้ำมันในกรณีฉุกเฉิน) และน้ำมันเชื้อเพลิงที่ถือครองโดยอุตสาหกรรมเอกชนขนาดใหญ่หรือผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ โดยรวมแล้วเพียงพอสำหรับการใช้ประมาณ 100 วัน

• เนเธอร์แลนด์มีน้ำมันสำรอง 90 วันของการนำเข้าน้ำมันสุทธิ ในปี พ.ศ. 2556 คิดเป็นปริมาณน้ำมันประมาณ 30.5 ล้านบาร์เรล

• โปแลนด์มี SPR เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค ทั้งยังกำหนดให้บริษัทน้ำมันต้องรักษาปริมาณสำรองไว้เพียงพอสำหรับการบริโภค 73 วัน 

• โปรตุเกสมี SPR มีขนาดประมาณ 22,440,000 บาร์เรล 
• สโลวาเกียมี SPR มีขนาดประมาณ 748,000 บาร์เรล
• สเปนมี SPR มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล 
• สวีเดนมี SPR มีขนาดประมาณ 13,290,000 บาร์เรล 
• สหราชอาณาจักรจัดเก็บเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์เท่ากับประมาณ 90 วันสำหรับการบริโภค มีขนาดประมาณ 144,000,000 บาร์เรล

• รัสเซียประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันติดอันดับหนึ่งในสามของโลก สามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้ถึงวันละ 10.8 ล้านบาร์เรล มีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ในลักษณะของน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่ถือครองโดย Rosneftegaz บริษัทของรัฐ ในปริมาณ 14.7 บาร์เรล

• สวิตเซอร์แลนด์มี SPR สร้างขึ้นในทศวรรษที่ 1940 ซึ่งประกอบด้วยก๊าซ ดีเซล น้ำมันเครื่องบิน และน้ำมันให้ความร้อนเพียงพอสำหรับการบริโภค 120-140 วัน

• ยูเครน ในช่วงเริ่มต้นของการรุกรานยูเครนโดยรัสเซีย รัสเซียได้ทำลายคลังน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของยูเครนจนนำไปสู่สถานการณ์เชื้อเพลิงวิกฤต ยูเครนแก้ปัญหาด้วยการซื้อรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใช้แล้วจำนวน 2,000 คันจากสหภาพยุโรปและตุรกี พร้อมด้วยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่อีก 600 คัน รถบรรทุกเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นระบบจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเคลื่อนที่ ต่างจากคลังน้ำมัน โรงกลั่น และสถานีรถไฟ ซึ่งอยู่กับที่ โดยรถบรรทุกน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเป้าหมายที่ทำลายได้ยากกว่า

SPR ของประเทศสำคัญในทวีปแอฟริกา (บางประเทศ)

• เคนยา เดิมไม่มีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ และอาศัยปริมาณสำรองน้ำมันเป็นเวลา 21 วันของบริษัทน้ำมันตามที่กำหนดภายใต้กฎหมาย ขณะนี้เคนยากำลังจัดตั้งคลังน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองทางยุทธศาสตร์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศเคนยาเป็นผู้จัดหา และจัดเก็บโดยบริษัท เคนยา ไปป์ไลน์ จำกัด

• มาลาวีกำลังพิจารณาจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสำหรับ 22 วัน ซึ่งเป็นการขยายจาก 5 วันในปัจจุบัน รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะสร้างคลังจัดเก็บในจังหวัด Chipoka และ Mchinji รวมถึงสนามบินนานาชาติ Kamuzu

• แอฟริกาใต้มี SPR ที่จัดการโดย PetroSA คลังหลักที่จัดเก็บคือ คลังน้ำมันที่อ่าว Saldanha ซึ่งเป็นจุดขนถ่ายหลักสำหรับการขนส่งน้ำมัน ถังเก็บคอนกรีตฝังดิน 6 ถังของคลังน้ำมันอ่าว Saldanha ทำให้มีความจุน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองปริมาณ 45,000,000 บาร์เรล

จากข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปและแอฟริกาจะเห็นได้ว่า SPR หรือการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์มีความสำคัญอย่างมากต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติ โดยที่ประเทศไทยยังไม่มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์หรือ SPR เลย ความมั่นคงทางพลังงานต้องฝากไว้กับบริษัทค้าน้ำมันเอกชน ซึ่งเมื่อเกิดวิกฤตน้ำมันจะมีน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพียงพอต่อการบริโภคเพียง 25-36 วันเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งยวด เพื่อความมั่นคงทางพลังงานเกิดขึ้นและอยู่ภายใต้รัฐบาล ซึ่งนอกจากจะทำให้ไทยมีหลักประกันในด้านความมั่นคงทางด้านพลังงานที่แข็งแกร่งแล้ว จะเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงของประเทศโดยรวมในทุก ๆ มิติอีกด้วย

พพ. ปลื้ม 2 นวัตกรรมไทย ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน

Transformer Low Carbon & Submersible Transformer Low Carbon Plate Form บริหารจัดการพลังงานสะอาด Solar & Energy Storage  มุ่งสู่ Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response ปลอดภัย อัคคีภัย ทัศนียภาพ และอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ERDI) - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะผู้บริหารกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน นำโดย นางมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน, นายนันทนิษฎ์ วงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการกองกำกับและอนุรักษ์พลังงาน และนายอาวุธ  เครือเขื่อนเพชร พร้อมทีมงาน เยี่ยมชม Transformer Low Carbon & Submersible Transformer Low Carbon และสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมบรรยายหัวข้อ “ เรื่อง Transformer Low Carbon & Submersible Transformer Low Carbon Plate Form บริหารจัดการพลังงานสะอาด Solar & Energy Storage มุ่งสู่ Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response

นางมัณลิกา สมพรานนท์ ผู้อำนวยการกองพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านพลังงาน กล่าวถึง Transformer Low Carbon & Submersible Transformer Low Carbon ถือเป็นนวัตกรรมของ คนไทยตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน เพราะปัจจุบันเรื่องพลังงานถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชน และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของทุกภาคส่วน รัฐบาลจึงได้กำหนดนโยบายให้คนไทยมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและประหยัด ลดการนำเข้าพลังงาน หม้อแปลงดังกล่าวจึงเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการที่จะพลิกโฉมประเทศ สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า เน้นการเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น สร้างพลวัตใหม่ให้แก่เศรษฐกิจ ยังช่วยลดการใช้พลังงาน ลดค่าไฟฟ้า ลดคาร์บอน ลดเรือนกระจก และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม ประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด 

ผศ.ดร.พฤกษ์ อักกะรังสี ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานและผู้แทนพิเศษ สถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าว ได้รับเกียรติบรรยายเรื่อง Transformer Low Carbon & Submersible Transformer Low Carbon Plate Form บริหารจัดการพลังงานสะอาด Solar & Energy Storage มุ่งสู่ Net Zero, Near Zero, Peak Demand และ Demand Response ด้วยสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด ได้ร่วมวิจัยและได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ให้ดำเนินงานวิจัยหม้อแปลง Low Carbon และระบบบริหารจัดการพลังงานทดแทน Solar กับ Energy Storage ด้วยโปรแกรม Sustainable Green Energy Management System ภายใต้โครงการ “Low Carbon Transformer ระบบจัดการหม้อแปลงไฟฟ้า เพื่อรองรับพลังงานสะอาดอย่างมั่นคง Net Zero, Demand Response และ Saving Energy” ซึ่งจากการดำเนินงานพบว่าหม้อแปลงที่ใช้ในการดำเนินโครงการที่กล่าวในข้างต้น ตอบโจทย์ด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน ในภาคอุตสาหกรรม Smart Factory, Smart Building ในด้าน Net Zero, Near Zero, Peak Demand, Demand Response การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน โดยสามารถลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และมีระยะเวลาคืนทุนภายในเวลา  2 – 5  ปี ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ สังคม ประชาชนและผู้ประกอบการ ด้านความมั่นคงระบบไฟฟ้าพลังงานสะอาด

นายประจักษ์ กิตติรัตนวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ กล่าว ขอขอบพระคุณ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)  โดยหม้อแปลงดังกล่าว ตอบโจทย์การประหยัดพลังงานและอนุรักษ์พลังงาน ของภาคอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอาคารสถานที่ ที่สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 9% และลดคาร์บอนมากกว่า 100 ล้านตันคาร์บอน คืนทุนภายใน 2-5 ปี เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการแก้ปัญหาด้านการประหยัดพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนสร้างความมั่นคงและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เพื่อผลัดดันการเปลี่ยนผ่านไป สู่พลังงานสะอาด ความยั่งยืนนี้จะส่งเสริมการเติบโตสีเขียวในภูมิภาค ทั้งนี้สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องประกาศนโยบายการลดคาร์บอน โดยประกาศเป้าหมายความเป็นกลางของแผนลดก๊าซคาร์บอนในปี 2575 จะเห็นภาพการใช้พลังงานทั้งด้านอุตสาหกรรมและภาคประชาชน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการ ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น ดังนั้น หม้อแปลงที่กล่าวข้างต้นจึงตอบโจทย์ทุกหน่วยงาน ภาครัฐ, เอกชน และภาคอุตสาหกรรม ด้านการประหยัดพลังงานและลดคาร์บอน

🔎แนวคิดในการจัดตั้งและรูปแบบ SPR ของไทย โดย ‘พีระพันธุ์’ แบบไหน...คนไทยจะได้รับประโยชน์สูงสุด

หลังจาก ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เดินหน้ารื้อโครงสร้างพลังงานและสั่งให้มีการศึกษารูปแบบ ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) เช่น หากมีกรณีสงครามระหว่างอิสราเอล-อิหร่านเกิดขึ้นจะไม่มีผลกระทบกับคนไทยทั้งในด้านราคาและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบนี้จะช่วยรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลกำหนดได้เองโดยไม่กระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ทำให้ปัญหาการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน โดยประชาชนไม่เกี่ยวข้องด้วย เป็นการ ‘ปลด’ พันธนาการชีวิตของประชาชนจากความไม่เสถียรด้วยสภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกอย่างสิ้นเชิง ทั้งเป็นการความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ของประเทศไทย โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการร่วมกันใน 3 ด้านหลักได้แก่ 

1. ศึกษาการสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น 
2. ศึกษาการจัดซื้อจัดหา การกลั่น การส่งออก รวมไปถึงการใช้น้ำมันและก๊าซของประเทศสิงคโปร์
3. ศึกษาการกำหนดราคาขายน้ำมันส่งออกและที่จำหน่าย การผลิตไฟฟ้า การบริหารจัดการ และการกำหนดราคาค่าไฟฟ้าของประเทศสิงคโปร์กันอย่างละเอียด เพื่อนำมากำหนดเป็นแผนงานพัฒนาระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยให้มากที่สุด

การสำรองปิโตรเลียมเหลว (LPG) ของประเทศญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นำเข้า 80% ของปริมาณใช้งานด้วยญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ่อยครั้งทั้งแผ่นดินไหวและพายุ จากข้อดี 3 หลักประการของ LPG คือ 

(1) เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปล่อย CO2 น้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิง และแทบไม่ปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) หรือไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) ในระหว่างการเผาไหม้เลย ทั้งยังไม่มีเขม่าเกิดขึ้นจึงทำให้ก๊าซที่ปล่อยออกมาสะอาด 

(2) ขนส่งสะดวก สามารถจัดเก็บได้ตลอดเวลาและเก็บไว้ได้เป็นระยะเวลานาน แม้จะเป็นก๊าซที่ความดันและอุณหภูมิห้อง แต่ก็สามารถทำให้เป็นของเหลวได้ง่าย ทำให้เป็นแหล่งพลังงานที่เคลื่อนย้ายได้สะดวกมาก ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้สามารถจัดส่ง LPG ให้กับเกือบทุกพื้นที่ของญี่ปุ่น ตั้งแต่เขตเมืองไปจนถึงเกาะห่างไกลและบริเวณภูเขา นอกจากนี้ยังใช้ในไฟแช็ค ถังแก๊สแบบพกพา และกระป๋องสเปรย์อีกด้วย 

และ (3) ทนทานต่อภัยพิบัติ LPG เป็นแหล่งพลังที่สามารถกู้คืนได้รวดเร็วกว่าแหล่งพลังงานอื่น ๆ เพราะมีโรงงานบรรจุแยกย่อยมากมาย 

ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติจึงไม่มีการหยุดชะงักในการจัดหาและขนส่ง ในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติสามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในการปรุงอาหารในกรณีฉุกเฉิน และเป็นแหล่งความร้อนให้กับที่อยู่อาศัยชั่วคราว ทำให้ประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนญี่ปุ่นทั้งหมดใช้ LPG โดยญี่ปุ่นได้จัดเก็บ LNG สำรองเป็น SPR 1.5 ล้านตัน (5 คลัง) และผู้ค้าเอกชนสำรองเชิงพาณิชย์อีก 1.5 ล้านตัน รวม 3 ล้านตัน เพียงพอต่อการใช้งาน 100 วัน

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งที่สำคัญที่สุดในเอเชีย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์กลางการค้าและการกลั่นน้ำมันชั้นนำของโลก ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ศูนย์กลางน้ำมันที่ปราศจากปัญหาของเอเชีย’ โดยที่แหล่งใหญ่ของตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศมีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์กลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นน้ำมันดิบรวม 1.35 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยโรงกลั่นน้ำมันหลัก 3 แห่งของประเทศ ได้แก่ โรงกลั่น 605,000 บาร์เรล/วันของ ExxonMobil (Pulau Ayer Chawan), โรงกลั่น 500,000 บาร์เรล/วันของ Royal Dutch/Shell (Pulau Bukom) และโรงกลั่น 290,000 บาร์เรล/วันของ Singapore Rinning Company (Pulau Merlimau)

สิงคโปร์บริโภคน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องอื่น ๆ คิดเป็น 86% ของการใช้พลังงานหลักของประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคือก๊าซธรรมชาติที่ 13% ถ่านหินและพลังงานหมุนเวียนรวมกันคิดเป็น 1% ของการใช้พลังงานหลัก สิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5 ล้านคนนานถึง 451 วัน 

แม้สิงคโปร์จะเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปอันดับหนึ่งของ ASEAN แต่ราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันสำเร็จรูปก็สูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน โดยราคาจำหน่ายปลีกน้ำมันเบนซิน98 ขึ้นไปอยู่ที่ลิตรละ 80.83 บาท (ภาษีลิตรละ 21.23 บาท หรือ 0.79SGD) และน้ำมันดีเซลอยู่ที่ลิตรละ 73.43 บาท (ภาษีน้ำมันดีเซลและเบนซิน92&95 ลิตรละ 17.74 บาท หรือ 0.66SGD) โดยภาษีน้ำมันของสิงคโปร์เป็นภาษีคงที่คำนวณจากปริมาณที่ใช้ ในขณะที่ไทยมีภาษีน้ำมันต่าง ๆ 5 รายการถูกคิดเป็นร้อยละหรือ % ซึ่งคำนวณจากราคาน้ำมัน 

ดังนั้นเมื่อราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น นอกจากที่ประชาชนคนไทยจะต้องจ่ายค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังต้องจ่ายภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ในการวางรูปแบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ (SPR) เพื่อความมั่นคง และรักษาเสถียรภาพทางด้านราคาของไทยนั้น คณะทำงานของรองฯ ‘พีระพันธุ์’ ได้พิจารณาโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เป็นหลัก อันถือเป็นหัวใจของการเปลี่ยนแปลงระบบการสำรองน้ำมันและก๊าซ นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีการศึกษาการอุดหนุนราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ การสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางการทหารและประชาชนของไทย ความจำเป็นในการปันส่วนน้ำมันในกรณีที่เกิดการขาดแคลน รวมทั้งแนวทางการบริหารจัดการน้ำมันดิบที่ผลิตในประเทศ เพื่อเปรียบเทียบและสรุปนำมาใช้ประโยชน์ในประเทศให้ได้มากที่สุด .

เนื่องจากประเทศไทยถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน แม้จะสามารถผลิตน้ำมันเองได้ แต่ก็เป็นส่วนน้อยมากไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ จึงต้องมีการนำเข้าน้ำมันดิบเพื่อกลั่นให้เพียงพอต่อการบริโภคของคนไทย ดังนั้น การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซ (SPR) ที่จะเกิดขี้นในโอกาสนี้ ประชาชนชาวไทยจะสามารถมั่นใจได้เลยว่า จะทำให้ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซเกิดความเป็นธรรมอย่างแน่นอน และเป็นผลดียิ่งในการบริหารจัดการด้านพลังงานของประเทศไทยอย่างยั่งยืนต่อไป

🔎ยกเครื่องพลังงานไทยด้วยกฎหมายในการจัดตั้ง ‘SPR’ ฉบับแรกของไทย โดยรองฯ พีระพันธุ์

หลังจากคนไทยต้องฝากความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงกับผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนมาอย่างนี้ยาวนาน วันนี้ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้เร่งผลักดันให้จัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้น จากเดิมบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 ต้องเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน เป็นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจัดเก็บน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ไว้ให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 50 วันตามมาตรฐาน IEA หรือ 90 วันเช่นเดียวกับประเทศสมาชิก IEA ส่วนใหญ่ (ไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกสมทบของ IEA) 

แม้จะมีน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ 25-36 วัน แต่น้ำมันเชื้อเพลิงเหล่านั้นถือครองโดยเอกชน (เป็นการสำรองน้ำมันตามกฎหมายของผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) รัฐบาลจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือบริหารจัดการได้ นอกจากเกิดเหตุฉุกเฉินและมีการประกาศใช้กฎหมายพิเศษ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก จึงจะเข้าไปควบคุมจัดการน้ำมันสำรองที่มีอยู่ได้ และวิกฤตน้ำมันที่ผ่านมามากมายหลายครั้งได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญและจำเป็นที่รัฐต้องถือครองน้ำมันสำรองในรูปแบบของ SPR ด้วยตนเองเพื่อให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50 วันเป็นอย่างน้อยหรือ 90 วัน ซึ่งจะทำให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับที่เข้มแข็งทัดเทียมนานาอารยประเทศ และเป็นหลักประกันที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติโดยรวม

มีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์และระบบรักษาระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซ ประกอบด้วยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านกฎหมายและด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ร่วมกันหารือกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพลังงาน เพื่อทำการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และศึกษาวิธีการและรูปแบบการสำรองน้ำมันในต่างประเทศ เพื่อกำหนดเป็นแนวทาง ‘การสำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อความมั่นคงและรักษาระดับราคาโครงสร้างราคาใหม่’ ของประเทศไทยเพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านพลังงาน จากการศึกษาความเป็นไปได้ของการดำเนินการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยพิจารณาผลการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน เช่น สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม รวมถึงประเทศอื่น ๆ เช่น สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และเยอรมนี ถึงมีจุดแข็งและข้อได้เปรียบการสำรองน้ำมันในรูปแบบที่แตกต่างกัน เพื่อวางรูปแบบ (Model) ของ SPR ที่จะเกิดขึ้นให้สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยมากที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้มีการทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งต่าง ๆ ให้สามารถดำเนินการระบบ SPR เพื่อเป็นหนึ่งในมาตรการและนโยบายที่จะลดผลกระทบด้านพลังงาน และเพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืน และเป็นธรรมกับภาคประชาชนในอนาคตต่อไป 

แนวคิดเกี่ยวกับ SPR เบื้องต้นคือการกำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ เพื่อให้สามารถนำน้ำมันที่มีการเก็บสำรอง มาใช้ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศให้ลดลงในช่วงที่ราคาน้ำมันขึ้นสูง ในลักษณะที่คล้ายกับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้วิธีการเก็บเงินเข้าออก และปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทให้มีความเหมาะสมในแต่ละช่วง 

โดยใช้เงินที่มีอยู่ในกองทุนน้ำมันฯ ในการบริหารจัดการราคาน้ำมันไม่ให้สูงจนเกินไป ซึ่งจะเป็นรูปแบบเดียวกับการสำรองน้ำมันโดยภาครัฐ จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน ไม่ต้องใช้เงินเหมือนเช่นกองทุนน้ำมันฯ ตลอดจนให้มีการศึกษาถึงปริมาณที่เหมาะสมอัตราการของการเก็บสำรองน้ำมันโดยผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อเป็นอีกแนวทางที่จะช่วยทำให้ราคาน้ำมันในประเทศสามารถลดลงได้

ปัจจุบันการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศไทยเป็นการสำรองโดยภาคเอกชนโดยกำหนดให้เป็นหน้าที่สำคัญของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงรายใหญ่ที่มีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 2,374,768 บาร์เรล (100,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป หรือเป็นผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวแต่เพียงชนิดเดียวที่มีปริมาณการค้าปีละตั้งแต่ 1,187,384 บาร์เรล (50,000 เมตริกตัน) ขึ้นไป (ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543) 

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมายจะอ้างอิงจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการจัดหาน้ำมันดิบรวมระยะเวลาในการขนส่งจากแหล่งจัดหาหลัก (แหล่งตะวันออกกลาง) มายังประเทศไทย เพื่อให้มีน้ำมันสำรองเพียงพอรองรับวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงหรือสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นไม่คาดคิดอยู่ตลอดเวลา 

ในปี พ.ศ. 2566 ตามข้อมูลของกรมธุรกิจพลังงานระบุว่า ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 มีหน้าที่สำรองน้ำมันดิบในอัตราร้อยละ 5 และน้ำมันสำเร็จรูปในอัตราร้อยละ 1 ของปริมาณความต้องการใช้ทั้งปี หรือคิดเป็นอัตราสำรองเทียบเท่ากับปริมาณการใช้ 22 วัน (น้อยกว่า 25-36 วันตามข้อมูลที่มีการเผยแพร่) โดยมีกรมธุรกิจพลังงานเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่อง และเป็นผู้รับแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บน้ำมันสำรองตามกฎหมายคงเหลือรายวัน การตรวจวัดปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองตามกฎหมาย ณ คลังน้ำมันเชื้อเพลิงทุกแห่งทั่วประเทศ ในกรณีที่มีความจำเป็น ภาครัฐโดยกรมธุรกิจพลังงานสามารถสั่งให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 งดจำหน่าย หรือให้จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่สำรองไว้ตามกฎหมายเพื่อป้องกันและแก้ไขการขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิงได้ในปริมาณไม่เกินกว่า 20% ของปริมาณสำรองตามกฎหมาย เพื่อให้มีน้ำมันเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ หลังจากนั้น ผู้ค้าต้องเก็บสำรองน้ำมันให้ได้ตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดิม

จะเห็นได้ว่า การมี SPR นั้นจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อหลายภาคส่วน แน่นอนที่ผลกระทบทางบวกย่อมเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนคนไทย ในขณะที่เอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงย่อมได้ผลกระทบทางลบทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ SRP เลย ดังนั้นจึงต้องมีการยกร่างและออกกฎหมายใหม่ขึ้นมา ซึ่งต้องผ่านรัฐสภาทั้งสภาผู้แทนฯและวุฒิสภาฯ ดังนั้นหากมีการพิจารณาร่างกฎหมาย SPR ประชาชนคนไทยต้องช่วยกันสนับสนุนกฎหมาย SPR ให้สามารถประกาศใช้ให้สำเร็จให้จงได้ เพราะการเก็บสำรองน้ำมันสำรองทางยุทธศาสตร์ในปริมาณที่มีความเหมาะสมและมากพอย่อมจะทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศสามารถลดลงได้อีกนั้นเอง

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

👉รู้หรือไม่ เมื่อไทยมี 'SPR' แล้ว จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG หมดไปด้วย

ทุกวันนี้นอกจากจะมีการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเป็นเชื้อเพลิงแล้ว ยังการใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซอีกด้วย ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันมีการใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน 2 ชนิดคือ ก๊าซ LPG  และก๊าซ LNG 

LPG (Liquefied Petroleum Gas) เป็นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ได้จากการแยกน้ำมันดิบในโรงกลั่นน้ำมัน และได้จากการแยกก๊าซธรรมชาติ มีสถานะเป็นได้ทั้งของเหลวและก๊าซ สามารถแปรสภาพจากของเหลว โดยขยายตัวเป็นก๊าซได้ถึง 250 เท่า น้ำหนักเบากว่าน้ำ แต่หนักกว่าอากาศ มีคุณสมบัติให้ค่าความร้อนสูงเพราะประกอบไปด้วย Propane และ Butane จึงมีคุณสมบัติในการเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถติดไฟง่าย และเป็นพลังงานที่มีการเผาไหม้อย่างสมบูรณ์จึงไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ก๊าซ LPG ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายและเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง 

ปัจจุบันประชาชนคนไทยใช้ก๊าซ LPG เป็นเชื้อเพลิงหลักในการหุงต้มประกอบอาหาร เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกสำหรับยานพาหนะ และใช้ในการให้ความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรมที่ไม่ได้ใช้ก๊าซ LNG หรือหม้อไอน้ำขนาดใหญ่ (Steam Boiler) ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง 

LNG (Liquefied Natural Gas) หรือ ก๊าซธรรมชาติเหลว คือ ก๊าซธรรมชาติที่ถูกแปรสภาพจากสถานะก๊าซให้กลายเป็นของเหลว โดยลดอุณหภูมิลงจนเหลือประมาณ -160 องศาเซลเซียส เพื่อสะดวกในการขนส่งไปยังที่ต่าง ๆ ที่มีระยะทางไกล ๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งทางเรือ และก่อนจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิง LNG จะถูกทำให้ระเหยกลับมาสู่สถานะก๊าซอีกครั้งก่อนนำไปใช้งาน คุณลักษณะสำคัญของ LNG คือเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาด ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีพิษ และไม่มีฤทธิ์กัดกร่อน เมื่อ LNG รั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อมจะระเหยกลายเป็นไอแพร่กระจายในอากาศได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่มีการตกค้างในน้ำหรือดิน การรั่วไหลของ LNG ที่จะก่อให้เกิดการลุกไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องมีความเข้มข้นของการระเหยของ LNG ในบรรยากาศอยู่ในช่วงระหว่าง 5%-15% รวมทั้งจะต้องมีแหล่งกำเนิดไฟในบริเวณใกล้เคียงด้วย ประเทศไทยใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม และเป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์  (NGV)

แนวคิดของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการจัดตั้ง SPR : Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ในประเทศไทยขึ้นนั้น นอกจากการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงแล้วยังให้มีการสำรองก๊าซพลังที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างเช่น ก๊าซ LPG และ LNG อีกด้วย 

ปัจจุบันนี้ก๊าซ LPG มียอดร่วมการจำหน่ายอยู่ที่ประมาณ 280,000 ตันต่อเดือน ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ค้าก๊าซ LPG จัดเก็บสำรองก๊าซ LPG 1% โดยกระทรวงพลังงานมีนโยบายในการเพิ่มอัตราสำรองก๊าซ LPG เป็น 2% แต่ผู้ค้าก๊าซ LPG ของไทยไม่เห็นด้วย โดยอ้างจากรายงานการศึกษา เรื่อง การแก้ไขปัญหาโครงสร้างราคาพลังงาน (น้ำมันเชื้อเพลิง เชื้อเพลิงชีวภาพ และก๊าซปิโตรเลียม) ของ คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา (เมษายน พ.ศ. 2567) ซึ่งสรุปว่า นโยบายการรักษาระดับปริมาณเก็บสำรองก๊าซ LPG ที่ 1% ซึ่งเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับการใช้ในภาคครัวเรือน 

เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตก๊าซ LPG เองได้ การเก็บสำรองก๊าซ LPG มากเกินไปจะทำให้ไม่สามารถนำก๊าซที่มีอยู่ออกมาใช้ได้ และต้องเพิ่มการนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

เช่นเดียวกับก๊าซ LNG ไทยบริโภคก๊าซ LNG ราว 125,453,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าประมาณ 55-60% ของเชื้อเพลิงทุกประเภทรวมกัน โดยก๊าซ LNG ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (100%) ได้มาจากอ่าวไทยราว 63% จากเมียนมาราว  16% และก๊าซ LNG ที่นำเข้าจากต่างประเทศ 21% โดยที่ก๊าซ LNG จากอ่าวไทยเริ่มมีปริมาณลดลงและอาจจะหมดไปในอีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า จึงต้องมีการนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่ปัจจุบันไทยมีคลัง LNG รองรับการนำเข้าก๊าซ LNG ทางเรือของเอกชนโดยบริษัท PTTLNG อยู่ 2 แห่ง แห่งแรกตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยอง (LMPT 1) มีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง และแห่งที่ 2 อยู่ที่บ้านหนองแฟบ จังหวัดระยอง (LMPT 2) ซึ่งมีถังเก็บก๊าซ LNG ขนาด 250,000 ลูกบาศก์เมตร 2 ถัง และ ขนาด 160,000 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 4 ถัง ซึ่งพอใช้เพียง 1-2 วันหากเกิดกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซ LNG จากอ่าวไทยและเมียนมา  

ข้อมูลที่นำเสนอมาข้างต้นจะเห็นได้ว่า ไทยมีความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิงพลังงานที่เป็นก๊าซมากกว่าด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเสียด้วยซ้ำไป ดังนั้น SPR ของไทยที่จะเกิดขึ้นจึงต้องรวมการสำรองก๊าซ LPG และ LNG เอาไว้ด้วย เมื่อมีระบบ SPR ภาครัฐมีการจัดเก็บสำรองก๊าซ LPG เองในระดับปริมาณที่เหมาะสม ย่อมส่งผลต่อราคาจำหน่ายปลีกก๊าซ LPG ในประเทศอย่างแน่นอน เมื่อภาครัฐเป็นผู้ถือครองก๊าซ LPG รายใหญ่ที่สุดจะลดพลังอำนาจทางธุรกิจของเหล่าบรรดาผู้ค้าก๊าซ LPG ลง ทั้งยังเป็นการป้องกันการกักตุนก๊าซ LPG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LPG ของผู้ค้า LPG ได้อีกทางหนึ่งด้วย 

ในกรณีของก๊าซ LNG ซึ่งเป็นก๊าซพลังงานที่สำคัญในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการผลิตกระแสไฟฟ้า การมีระบบ SPR ในการสำรองก๊าซ LNG จะเกิดความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า และทำให้การคำนวณราคาค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปรมีความเสถียรคงที่ขึ้นในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซ LNG อีกด้วย 

ดังนั้นเมื่อไทยมีการตั้งระบบ SPR ครบวงจรพลังงานแล้วก็จะทำให้ปัญหาราคาก๊าซ LPG และ LNG ในกรณีฉุกเฉินหรือวิกฤตพลังงานจากเชื้อเพลิงพลังงานก๊าซระยะสั้นค่อย ๆ ลดลง จนหมดไปในที่สุด 

👍‘พีระพันธุ์’ เริ่มแล้ว ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ขอประชาชนคนไทยช่วยกันส่งแรงเชียร์ให้จัดตั้ง ‘SPR’ สำเร็จโดยไว

การพลิกโฉมระบบพลังงานไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย เป็นไปตามแนวทาง ‘รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง’ ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ด้วยกระบวนการบันได 5️ ขั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

 📌ขั้นที่ 1 ดำเนินการแล้ว : ใน 6 เดือนแรกของการกำกับดูแลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งการให้ตรึงราคาน้ำมัน พร้อมทั้งหาช่องทางในการปรับรื้อระบบเพื่อให้รู้ต้นทุนราคาน้ำมันที่แท้จริงของผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องไม่เคยรู้ และมีแต่คนบอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่มีทางทำได้! 

 📌ขั้นที่ 2 ดำเนินการสำเร็จแล้ว : ‘พีระพันธุ์’ ได้ลงนามประกาศกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2567 เพื่อ ‘รื้อ’ ระบบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องแจ้งต้นทุนให้กับหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลทุกวันที่ 15 ของเดือนซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 51 ปี มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 จึงทำให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 เมษายน พ.ศ. 2567 เป็นต้นมา

 📌ขั้นที่ 3 อยู่ในระหว่างการดำเนินการ : ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการ ‘รื้อระบบการปรับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง’ โดยผู้ค้าต้องแจ้งให้กระทรวงพลังงานทราบก่อน และให้ผู้ค้าปรับราคาขายปลีกน้ำมันได้เพียงเดือนละ 1 ครั้ง ไม่ใช่ปรับราคากันทุกวันเช่นปัจจุบันนี้ โดยให้ปรับราคาได้ตามความเป็นจริงตามที่ราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาต้นทุนเฉลี่ยของผู้ค้าน้ำมันในงวดเดือนนั้น ๆ ณ วันที่มีการปรับราคานั้น เพื่อ ‘ลด’ ภาระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงรายวันที่ไม่มีความเสถียรแน่นอนเป็นการกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงให้สอดคล้องและสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้บริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม

 📌ขั้นที่ 4 อยู่ระหว่างการเตรียมดำเนินการ : ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการศึกษาข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียมจัดทำระบบสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์เพื่อความมั่นคงของประเทศ หรือ SPR อย่างเร่งด่วน เพราะ SPR จะช่วยให้ไทยมีความมั่นคงทางพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระยะสั้นจากปัจจุบันผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผู้จัดเก็บน้ำมันสำรอง เพื่อการพาณิชย์ ซึ่งปริมาณที่จัดเก็บสามารถรองรับการใช้งานในประเทศเพียง 20 กว่าวันเท่านั้น 

กรณีฉุกเฉินหรือเกิดวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิง เช่น กรณีสงครามอิสราเอล-อิหร่านเกิดขึ้นก็จะไม่ทำให้มีผลกระทบกับพี่น้องประชาชนคนไทย ทั้งราคาและ Supply น้ำมัน และระบบ SPR นี้สามารถใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่รัฐบาลกำหนดได้เองโดยไม่กระทบจากราคาน้ำมันในตลาดโลก (ทำให้ปัญหาการขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นเรื่องระหว่างรัฐกับผู้ค้าน้ำมัน โดยประชาชนผู้บริโภคไม่ต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง) รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เพียงพอต่อการใช้งาน 50-90 วัน เป็นไปตามมาตรฐานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ทั้งยังเป็นการ ‘ปลด’ พันธนาการชีวิตของพี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องรับผลกระทบจากภาวะขึ้นลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกได้อย่างสิ้นเชิง

📌ขั้นที่ 5 อยู่ในระหว่างการเตรียมดำเนินการ : ‘พีระพันธุ์’ ได้สั่งให้มีการศึกษาข้อมูลของประเทศต่าง ๆ เพื่อเตรียม ‘สร้าง’ ระบบราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อพี่น้องประชาชนคนไทย ด้วยการนำผลสรุปการศึกษารวบรวมมาพิจารณาในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ทั้งหมด เพื่อให้สามารถดำเนินการตามขั้นตอนที่ 3 และ 4 ให้สำเร็จลุล่วงอย่างมั่นคงและมีต่อเนื่องความยั่งยืน

นโยบาย ในการจัดตั้งระบบ SPR: Strategic Petroleum Reserve หรือ การสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ ของ ‘พีระพันธุ์’ เพื่อเป็นการสำรองน้ำมันดิบ หรือน้ำมันสำเร็จรูป (บางส่วน) ซึ่งถือครองโดยรัฐบาล หากสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้แล้วเสร็จจะเป็นการปกป้องเศรษฐกิจและรักษาความมั่นคงของชาติในช่วงวิกฤตพลังงานของประเทศที่อาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่สถานการณ์โลกเกิดความตึงเครียดจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่าง ๆ จึงถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญยิ่งของ ‘พีระพันธุ์’ ที่จะต้องพยายามผลักดันและดำเนินการจัดตั้งระบบ SPR ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด 

ด้วยระบบ SPR หากเกิดขึ้นในประเทศไทยได้แล้วจะเกิดผลกระทบในเชิงบวกอย่างมากมายมหาศาลต่อประเทศไทยโดยรวมในทุก ๆ มิติไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ ทั้งจะทำให้ความมั่นคงด้านพลังงานในภาพรวมไม่ว่าจะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซ LPG และ LNG รวมถึงพลังงานไฟฟ้ามีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อไปในอนาคต 

โดยที่ความจริงแล้วตลอดเวลาที่ผ่านมา หากรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบได้คิดถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยจะได้รับมากกว่าประโยชน์ที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันจะได้รับ เรื่องที่ดีและมีประโยชน์ต่อประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยต่าง ๆ เช่นนี้น่าจะเกิดขึ้นและมีการดำเนินการสำเร็จเสร็จสิ้นไปนานแล้ว

‘5 ป.’ ปิด-ปรับ-ปลด-เปลี่ยน-ปลูก สูตรสำเร็จประหยัดพลังงาน

แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศว่าประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อนไปแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 ปัจจุบันเข้าสู่ฤดูฝน และหลาย ๆ บ้านน่าจะเห็นตัวเลขค่าไฟฟ้าที่ลดลงจากช่วงอากาศร้อนจัดเมื่อ 1-2 เดือนที่ผ่านมา แต่อย่าลืมว่า เราเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันดิบที่นำเข้ามากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป หรือ ก๊าซ LNG ที่นำเข้ามาเพื่อเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 

ดังนั้น จึงอยากจะขอย้ำเตือนไว้เสมอว่า ตราบใดที่เราใช้น้ำมันและไฟฟ้าอย่างประหยัด มีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าของตัวเองแล้ว ยังเป็นการช่วยลดการขาดดุลการค้าให้กับประเทศ และช่วยรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมด้วย

ที่สำคัญคือ การประหยัดพลังงานทำได้ทุกวัน โดยไม่จำเป็นต้องรอแคมเปญกระตุ้น หรือการรณรงค์จากหน่วยงานใด ๆ

การประหยัดน้ำมัน ทำได้ง่าย ๆ คือการวางแผนการเดินทาง การหมั่นตรวจเช็กลมยาง หรือการเดินทางแบบคาร์พูล รถคันเดียว นั่งไปพร้อมกันได้หลายคน

ส่วนการประหยัดไฟฟ้า  สูตรสำเร็จ 5 ป. คือ ปิด ปรับ ปลด เปลี่ยน ปลูก ก็ยังใช้ได้ผล ได้แก่

1. ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็น : ปิดไฟดวงที่ไม่ใช้งาน แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ก็ช่วยประหยัดไฟได้มาก

2. ปรับอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศให้อยู่ที่ 26 องศา: ปรับอุณหภูมิแอร์ให้เย็นสบายโดยไม่ต้องหนาวเกินไป ช่วยให้ประหยัดไฟได้ถึง 10%

3. ปลดปลั๊กเมื่อไม่ใช้งาน: ถอดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน เพื่อป้องกันการกินไฟแอบแฝง

4. เปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5: ยิ่งเป็นฉลากโฉมใหม่ 5 ดาว ยิ่งช่วยให้ประหยัดไฟได้มากกว่า

5. ปลูกต้นไม้ สร้างร่มเงา รักษาสิ่งแวดล้อม: ปลูกต้นไม้ใหญ่รอบบ้าน ช่วยลดความร้อนภายในบ้าน ประหยัดไฟจากการเปิดเครื่องปรับอากาศ

รู้แบบนี้แล้วก็ลองนำไปใช้กันดู แล้วเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายต่อเดือนกันระหว่างเดือนที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้าแบบปกติ กับแบบที่ประหยัดตามข้อแนะนำ จะได้รู้ว่ามีเงินเหลือในกระเป๋าเพิ่มขึ้นมามากแค่ไหน…


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top