Friday, 28 June 2024
พลังงาน

‘สนพ.’ เผยการปล่อยก๊าซ CO2 ภาคพลังงานของไทยปี 2566 น่าปลื้ม!! ลดลง 2.4% จากปีก่อน ผลจากการใช้พลังงานสะอาดทดแทน

(21 มี.ค. 67) นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากการใช้พลังงาน ปี 2566 พบว่า การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงาน อยู่ที่ระดับ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามจากเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อุปสงค์ในตลาดโลกมีความต้องการสินค้าลดลง ส่งผลให้การผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกชะลอตัวทำให้การใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมลดลง ซึ่งสอดคล้องกับการใช้พลังงานของประเทศไทยที่ลดลงเล็กน้อย 

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายชนิดเชื้อเพลิงในปี 2566 พบว่า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยการปล่อยก๊าซ CO2 จากน้ำมันสำเร็จรูปมีสัดส่วนการปล่อยสูงที่สุดอยู่ที่ร้อยละ 43 รองลงมาคือ ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน/ลิกไนต์ มีสัดส่วนร้อยละ 33 และ 24 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ และน้ำมันสำเร็จรูป ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงร้อยละ 15.0 และ 1.1 ตามลำดับ ในขณะที่การปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 ซึ่งสอดคล้องกับปริมาณการใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ ในปี 2566 ที่ลดลง ในขณะที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการปล่อยก๊าซ CO2 จากการใช้พลังงานแยกรายภาคเศรษฐกิจในปี 2566 พบว่า  มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 243.6 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 2.4 โดยภาคการขนส่ง มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 81.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ภาคอุตสาหกรรม มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 95.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 9.7 ภาคการผลิตไฟฟ้า มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 อยู่ที่ 89.6 ล้านตัน CO2 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 และภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ได้แก่ ภาคครัวเรือน เกษตรกรรม พาณิชยกรรม และกิจกรรมอื่น ๆ มาจากการใช้น้ำมันสำเร็จรูปเพียงอย่างเดียว มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซ CO2 รวม 13.2 ล้านตัน CO2 ลดลงร้อยละ 3.5

“หากเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานของประเทศไทยเทียบกับต่างประเทศ จากข้อมูลของ International Energy Agency (IEA) ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซ CO2 ต่อการใช้พลังงานเฉลี่ย อยู่ที่ 2.05 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ภูมิภาคเอเชีย ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศจีน ซึ่งอยู่ที่ 2.27 / 2.28 / 2.13 และ 2.85 พันตัน CO2 ต่อการใช้พลังงาน 1 KTOE ตามลำดับ 

ซึ่งประเทศไทยมีนโยบายด้านพลังงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบต่าง ๆ ที่เป็นพลังงานสะอาดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จึงทำให้มีการปล่อย ก๊าซ CO2 ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดปลดปล่อยก๊าซ CO2 ตามเป้าหมายของการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศได้” นายวีรพัฒน์ กล่าวว่า

'เอกนัฏ' สวนนักแซะงบพลังงาน ยัน!! กมธ.งบฯ ทำงานหนักใต้กรอบเวลาจำกัด โต้!! ฝ่ายค้านอย่าโบ้ยทุกปัญหาให้เหมือนเกิดขึ้นในรัฐบาลชุดนี้ หรือ 'ยุคลุงตู่'

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค. 67) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ชี้แจงข้อสงสัยของสมาชิกในการประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ วาระ 2 ในส่วนของกระทรวงพลังงานว่า การแปรญัตติของเพื่อนสมาชิกอย่าง น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ที่ขอปรับลดงบประมาณ 3% ก็ตรงกับที่กรรมาธิการฯ ขอปรับลดลงประมาณ 3% เพียงแต่ในการพิจารณาในสภาฯ วาระ 2 ไม่ได้เห็นรายละเอียดในการสงวนคำแปรญัตติ นอกจากยอดตัวเปอร์เซ็นต์คือ 3% ถ้าเราเห็นรายละเอียดเหล่านี้ก่อน การทำหน้าที่ของกรรมาธิการฯ คงจะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้

ทั้งนี้ ในส่วนของกรรมาธิการฯ ไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน เราทำหน้าที่ในเวลาเพียง 2 สัปดาห์ประชุมกันหามรุ่งหามค่ำตั้งแต่เวลา 09.00 น. จนถึงเย็นทุกวัน มีเวลา 2 สัปดาห์ที่จะไล่สอบซักถามหน่วยงานแทนเพื่อนสมาชิก เพื่อรักษาผลประโยชน์งบประมาณของประเทศชาติ

สำหรับ ข้อสงสัยของสมาชิก ตนขอย้ำว่า กรรมาธิการฯ ไม่ได้มาทำหน้าที่แทนรัฐมนตรี หรือรัฐบาล ที่ น.ส.ศิริกัญญา ซักถามเกี่ยวกับเรื่องของแผนปฏิบัติการพลังงานในส่วนค่าจ้างที่ปรึกษา แต่เราได้รับคำชี้แจงจากหน่วยงานที่อนุกรรมาธิการเรียกหน่วยงานมาชี้แจง ได้แจ้งว่า ตัวของแผนจะประกาศใช้ ประมาณเดือนกันยายนปี 2567 ฉะนั้นในส่วนของตัวโครงการจ้างที่ปรึกษาสำหรับการประเมินติดตามก๊าซเรือนกระจก จึงมีความจำเป็นต้องอนุมัติงบประมาณแล้วก็ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อไปประกอบในแผนให้ประกาศใช้ทันภายในเดือนกันยายนปี 2567

นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า กระทรวงพลังงานได้งบประมาณน้อยมาก หากเทียบกับกระทรวงอื่น น่าจะน้อยที่สุดด้วย เพราะไม่ใช่กระทรวงที่มีภารกิจไปจัดซื้อจัดจ้างหรือไปก่อสร้าง แต่เป็นกระทรวงที่ทำหน้าที่กำกับดูแล ต้องออกนโยบาย ตรวจดูกฎเกณฑ์ทำงานร่วมกับเอกชน ทำงานร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ ให้ประชาชนมีพลังงานใช้ในราคาถูก และมีคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ฉะนั้นข้อสังเกตจากสมาชิก ก็เป็นข้อสังเกตในลักษณะเดียวกันกับอนุกรรมาธิการฯ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานีชาร์จไฟฟ้า หรือนโยบายการสนับสนุนรถอีวีรถไฟฟ้า

“นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.พลังงาน ทราบดีถึงความสำคัญของการทำงานของกระทรวงพลังงาน แล้วก็ไม่ติดยึดว่า เป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณน้อยที่สุด แต่เนื่องจากภารกิจหลักเป็นการกำกับดูแล ถ้าจะสร้างผลงานสร้างความเปลี่ยนแปลง มันต้องมีการรื้อกฎเกณฑ์กติกาหรือระบบเดิม ซึ่งท่านก็ทำมาตลอดแก้กฎระเบียบ กฎกติกาให้เหมาะสมทันสมัยในการแก้ปัญหา” นายเอกนัฏ กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวย้ำว่า การวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่การไปบอกว่าปัญหาทุกอย่างมันเกิดขึ้นจากรัฐบาลชุดนี้ หรือจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มันก็คงไม่ยุติธรรมกับทั้งรัฐบาลชุดนี้แล้วก็รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เช่น การตกลงให้สัมปทานบนพื้นที่อ่าวไทย ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ และไม่ได้เกิดขึ้นในยุคนี้

ส่วนหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งพลังงาน แหล่งน้ำมัน แหล่งก๊าซธรรมชาติ ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ แต่ส่วนที่เป็นปัญหาข้อพิพาทเมื่อเกิดขึ้นในรัฐบาลยุคไหน ตนเชื่อว่าก็อยู่ในใจของนายกรัฐมนตรีทุกคน แล้วก็อยู่ในใจพวกเรา ที่จะต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุด ไม่ใช่ไปดำเนินการตามองค์กรระหว่างประเทศ หรือบริษัทต่างชาติ อย่างเช่น เชฟรอน

“ผมขอยืนยันว่า ในระยะเวลาที่จำกัด กรรมาธิการฯทุกคนทำงานหนัก ได้ตัดสินใจแทนเพื่อนสมาชิกทุกคนอย่างรอบคอบ” นายเอกนัฏ กล่าว

‘กฟผ.’ ปรับโซนใหม่ ศูนย์การเรียนรู้ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ อัดแน่น ‘ความรู้-ความสนุก-สื่อทันสมัย’ จูงใจเรียนรู้เรื่องพลังงานอย่างมีส่วนร่วม

เมื่อวานนี้ (25 มี.ค. 67) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดรอบพิเศษแก่คณะสื่อมวลชน ชมนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ที่ปรับปรุงใหม่ ‘Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon’ โดยมีนางสาวรัชดาพร เสียงเสนาะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารและประชาสัมพันธ์องค์การ กฟผ. และผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้นำชม ณ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี 

กฟผ. ปรับปรุงนิทรรศการศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง โซน ที่ 2 และ 5 ด้วยเทคโนโลยีสื่อจัดแสดงที่ทันสมัย ให้เยาวชนและผู้เยี่ยมชมได้สัมผัสประสบการณ์อันตื่นตาตื่นใจไปกับการเรียนรู้ด้านพลังงานอย่างมีส่วนร่วม ภายใต้กลยุทธ์ EGAT Carbon Neutrality ของ กฟผ. โดยจัดแสดง ผ่าน 5 สัมผัสพิเศษ 5 เทคนิคจัดแสดง ดังนี้

โซนที่ 2 Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon:
1. Elextrosphere โลกใหม่ Right Carbon นิทรรศพลังงานแห่งอนาคตกับการสร้างประสบการณ์ร่วมในโลกเสมือน พาทุกคนร่วมเดินทางไปสัมผัสความรู้สึกเมื่อโลกที่เราอาศัยอยู่ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง และความงดงามของโลกแห่งจินตนาการที่ทุกสรรพสิ่งอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล ในดินแดนคาร์บอนเรืองแสง ผ่านเทคนิค Interactive Immersive Experience & Theater 6D - 8K ภาพยนตร์ 6 มิติ บนจอภาพยนตร์ขนาดยักษ์ความยาวถึง 30 เมตร

โซนที่ 5 Right Carbon สร้างสมดุลคาร์บอน:
2. Carbon คือผู้ร้ายจริงหรือ แกะร่องรอยปริศนาผู้อยู่เบื้องหลังภาวะโลกเดือด จุดเริ่มต้นของปัญหาภัยพิบัติครั้งยิ่งใหญ่ ตามหา Carbon ที่อยู่รอบตัวเราผ่านเทคนิค AR Interactive

3. พลังงานขับเคลื่อนชีวิต ย้อนเวลาสู่ก้าวแรกแห่งการค้นพบพลังงานไฟฟ้าเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. และสนุกกับเกมการเรียนรู้ด้านพลังงานรูปแบบ Self-learning ผ่านเทคนิค Model Interactive Projection Mapping Graphic Wall

4. Welcome to ELEXTROSPHERE ภารกิจขับเคลื่อนโลกสู่ ‘EGAT CARBON NEUTRALITY’ ภายใต้กลยุทธ์ Triple S ลด ชดเชย กักเก็บ อาทิ การปรับปรุงโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ รองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน และทางเลือกในการจัดการพลังงานแห่งอนาคต ผ่านเทคนิค Projection Mapping Interactive & AR Interactive

5. แต่งแต้มจินตนาการให้แก่โลก ELEXTROSPHERE สนุกกับกิจกรรมกักเก็บ Carbon เพื่อสร้างสมดุลพลังงานยั่งยืน คืนชีวิตแก่ ต้นไม้แสงนิรันดร์ และมีส่วนร่วมในการสร้างโลกใหม่ Right Carbon ด้วยการปลดปล่อยพลังสร้างสรรค์ แต่งแต้มสีสันให้กับ ELEXTROSPHERE ผ่านเทคนิค Touch Screen L&S Interactive Projection Mapping

นอกจาก 2 โซนใหม่เอี่ยมล่าสุดแล้ว ยังมีอีก 5 โซนที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น โซน 1 จุดประกาย จุดประกายแสงแรกในตัวคุณ ลงทะเบียนรับ RFID แปลงร่างเป็น AVATAR ผจญภัยในโลกพลังงานไฟฟ้า 

โซน 3 คืนสู่สมดุล สัมผัสชีวิตอนาคตที่มีความสมดุลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และเทคโนโลยี 

โซน 4 สายน้ำแห่งความภูมิใจ สัมผัสภารกิจแห่งในการดูแลชุมชน ตั้งแต่ป่าต้นน้ำสู่สายน้ำเจ้าพระยาควบคู่ไปกับการผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย 

โซน 6 โลกที่ยั่งยืน สำรวจโลกพลังงานไฟฟ้าการบริหารจัดการกับการใช้ไฟฟ้าจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก 

โซน 7 แสงนิรันดร์ ประมวลผลการเรียนรู้และรวมพลังสร้างแสงแห่งสุขนิรันดร์

ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง เปิดให้บริการทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 - 16.00 น. สนใจสามารถเข้าชมได้ฟรี ติดต่อรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง หรือ โทร. 0-2436-8953

‘พพ.’ ผนึกกำลังลงนาม MOU ‘3 สมาคมวิชาชีพ’ ยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพ ‘พลังงาน-พลังงานทดแทน’

พพ. ผนึก 3 สมาคมวิชาชีพ สานต่อการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน มุ่งสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มแข็ง เตรียมผลิตบุคลากรด้านพลังงานกว่า 1,400 คน ขับเคลื่อนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ระหว่างสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย โดย นายธวัช มีชัย นายกสมาคมเครื่องกำเนิดไฟฟ้าไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร โดย ดร.พิชญะ จันทรานุวัฒน์ นายกสมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปฐมทัศน์ จิระเดชะ นายกสมาคมไฟฟ้าแสงสว่างแห่งประเทศไทย ณ อาคารอนุรักษ์พลังงานเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดปทุมธานี

ทั้งนี้ นายวัฒนพงษ์ กล่าวว่า การลงนามดังกล่าวเป็นการสานต่อความร่วมมือระหว่าง 4 หน่วยงาน ให้มีความต่อเนื่องจากบันทึกข้อตกลงเดิมได้สิ้นสุดลง โดยมีประเด็นสาระสำคัญในการสนับสนุนและพัฒนาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานและพลังงานทดแทน ในด้านมาตรฐานการปฏิบัติงาน ระบบฐานข้อมูล การสนับสนุนองค์ความรู้ การพัฒนาบุคลากร ให้กับวิศวกร สถาปนิก ผู้บริหารอาคารและโรงงาน เจ้าหน้าที่อาคารและโรงงานผู้รับผิดชอบด้านพลังงาน ผู้ตรวจสอบและรับรองการจัดการพลังงาน ผู้ตรวจสอบอาคาร ผู้ตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน ผู้ตรวจระบบผลิตพลังงานควบคุม และบุคคลทั่วไป เพื่อนำไปสู่การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โดยกิจกรรมแรกที่จะเกิดขึ้นจากความร่วมมือนี้ คือ หลักสูตรอบรม ‘การจัดทำแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม’ กรณีผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพด้านพลังงานควบคุมเรื่องกำเนิดไฟฟ้า การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านพลังงานและแบ่งปันข้อมูลการใช้พลังงานสำหรับภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม และการพัฒนาบุคลากรจัดฝึกอบรมผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจในหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการตรวจสอบและจัดทำรายงานแบบตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุม เพื่อให้ความเห็นในการพิจารณาออกใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุมจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งพัฒนามาตรฐานประสิทธิภาพการใช้พลังงานและเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการออกแบบก่อสร้างอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานให้แก่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม โดยในปีที่ผ่านมามีผู้ผ่านการอบรมรวมจำนวน 181 คน โดย พพ.มีเป้าหมายผลิตผู้ตรวจสอบระบบผลิตพลังงานควบคุมให้ได้กว่า 1,400 คน เพื่อให้เพียงพอและทันต่อกระแสการประหยัดพลังงาน การผลิตและใช้พลังงานทดแทน อาทิ การติดตั้งโซลาร์ รูฟท็อป การผลิตพลังงานจากระบบก๊าซชีวภาพ ของสถานประกอบการ เป็นต้น

นายวัฒนพงษ์ กล่าวอีกว่า “จากความร่วมมือนี้ นับเป็นร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ กับสมาคมวิชาชีพ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมและอาคารธุรกิจ มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างมาตรฐานวิชาชีพด้านอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน ที่มีความเข้มแข็ง ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” นายวัฒนพงษ์ กล่าว

ต้นทุน ‘ราคาขายปลีกน้ำมัน’ ภายในประเทศไทย มีอะไรบ้าง ❔⛽

ในภาวะที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไทยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่า โครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในแต่ละประเทศ ‘ไม่เหมือนกัน’ 

สำหรับประเทศไทยราคาน้ำมันขายปลีกหน้าปั๊มน้ำมันนั้น ผ่านผู้เกี่ยวข้องถึง 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ ต้นทุนเนื้อน้ำมัน, ภาษี, เงินกองทุน และค่าการตลาด เพราะฉะนั้น ราคาน้ำมัน 1 ลิตร ที่ขายในหน้าปั๊ม จึงประกอบด้วยค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ดังนี้

1. ต้นทุนเนื้อน้ำมัน (40-60%) คือ ต้นทุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงกลั่น ผันผวนไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก

2. ภาษี (30-40%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠ภาษีสรรพสามิต จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต นำมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศ

🟠ภาษีเทศบาล จัดเก็บโดย กระทรวงการคลัง ในอัตรา 10% ของภาษีสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 150 และจัดส่งให้ กระทรวงมหาดไทย เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น

🟠ภาษีมูลค่าเพิ่ม จัดเก็บ 7% ของราคาขายส่งน้ำมันเชื้อเพลิง และจัดเก็บอีก 7% ของค่าการตลาดน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิด

3. กองทุน (5-20%) มีการจัดเก็บ ดังนี้

🟠เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศไม่ให้เกิดความผันผวน

🟠เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน จัดเก็บตามประกาศคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อส่งเสริมสนับสนุนพลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดการใช้พลังงาน

4. ค่าการตลาด (10-18%) คือ ส่วนที่เป็นต้นทุน ค่าใช้จ่าย และกำไรของธุรกิจค้าปลีกน้ำมันทั้งระบบ ตั้งแต่การจัดการคลังน้ำมัน การขนส่งน้ำมันมายังสถานีบริการ รวมถึงการให้บริการของสถานีบริการที่เติมน้ำมันแต่ละลิตรให้กับประชาชน

ดังนั้น จะเห็นได้ถึงโครงสร้างราคาน้ำมัน 1 ลิตรที่ขายในหน้าปั๊ม มีปัจจัยหลายตัวมาเกี่ยวข้อง เชื่อว่าทุกคนคงอยากใช้น้ำมันในราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว แต่ก็ต้องมีความเข้าใจในราคาน้ำมัน และก็ไม่ใช่แค่ประเทศไทยที่มีปัญหาน้ำมันแพง แต่หลาย ๆ ประเทศก็ประสบปัญหานี้ไม่แพ้กัน และด้วยประเทศไทยไม่ใช่ผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเจอกับความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก 

เพราะฉะนั้น หากเราไม่มีเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองไว้ หากเกิดเหตุการณ์ที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้นมาก ๆ เราก็จะไม่มีเงินสำรองเพื่อช่วยรักษาสมดุลของราคาน้ำมันในประเทศ จนอาจทำให้เกิดวิกฤตราคาน้ำมันก็เป็นได้

‘กฟผ.’ จับมือ ‘มิตซูบิชิฯ’ พัฒนาไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้าร่วมก๊าซธรรมชาติ หวังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด - ก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ปี 2065

เมื่อวานนี้ (4 มิ.ย.67) นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายนรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมประชุมหารือความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงานระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ครั้งที่ 6 (The 6th Japan-Thailand Energy Policy Dialogue : 6th JTEPD) ณ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างภาครัฐและเอกชน พร้อมติดตามความก้าวหน้าของความร่วมมือ และนำเสนอโครงการ แนวทางนโยบาย แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงาน โดยมุ่งเน้นพลังงานสะอาด พลังงานทดแทน เทคโนโลยีและนวัตกรรมพลังงานในอนาคต

ทั้งนี้ ในงานประชุมครั้งนี้ กฟผ.ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท มิตซูบิชิ เฮฟวี อินดัสทรีส์ เพื่อร่วมศึกษาศักยภาพและพัฒนาการนำไฮโดรเจนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมกับก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าสำหรับกังหันก๊าซ (Gas Turbine) โดยมีเป้าหมายส่งเสริมการเปลี่ยนด้านพลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน มุ่งสู่เป้าหมายก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ. 2065

ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศ ในการเดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดตามแผนพัฒนาพลังงานและแนวทางส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนของประเทศไทย ที่ริเริ่มนำเชื้อเพลิงทางเลือกและเชื้อเพลิงสะอาดมาประยุกต์ใช้ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ของญี่ปุ่น เพื่อผลิตไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่จะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางเทคโนโลยีและแผนพัฒนาโครงการไฮโดรเจนตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) กับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น นำไปสู่การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เพิ่มโอกาสทางธุรกิจด้านการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

📌'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' ราคาเชื้อเพลิงพลังงานของไทยต้องเป็นธรรม 'SPR' คือ คำตอบสุดท้ายของ 'พีระพันธุ์' คนไทยจะได้อะไร❓️

ปัญหาเกี่ยวกับราคาพลังงานของบ้านเรานั้นมีมาต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปีมาแล้ว ทั้งอย่างสร้างผลกระทบอย่างสำคัญต่อชาติโดยรวมอย่างกว้างขวางในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจ สังคม การเมือง จนกระทั่งเรื่องของความมั่นคง ฯลฯ และปัญหาราคาพลังงานยิ่งส่งผลกระทบมากยิ่งขี้นเมื่อภาครัฐต้องเริ่มวางมือจากรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลดลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แล้วให้เอกชนเข้ามาทำหน้าที่แทน เพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ แทน 

ทั้งยังมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานซึ่งเป็นองค์กรอิสระมาทำหน้าที่กำกับดูแลแทน และด้วยความฉ้อฉลของฝ่ายการเมืองที่ทำให้ ‘การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย’ รัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซของชาติแปรรูปจนกลายเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ จึงทำให้ต้องสูญเสียจุดยืนในการเป็นหน่วยงานด้านพลังงานของรัฐ 

โดยแทนที่จะดำเนินกิจการเพื่อเป็นบริการในลักษณะที่ช่วยเหลือประชาชนได้ แปรเปลี่ยนเป็นบริษัทเอกชนที่ให้ความสำคัญกับประโยชน์ขององค์กรอันได้แก่ผลกำไรเป็นตัวตั้งแรก ทำให้แนวคิดตลอดจนวิธีในการดำเนินการแปลกแยกไปจากวัตถุประสงค์แรกตั้งไปเป็นอย่างมาก

เรื่องราวต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำให้รัฐค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในการควบคุมราคาพลังงานไปเรื่อย ๆ มิหนำซ้ำรัฐมนตรีที่ดูแลรับผิดชอบด้านพลังงานส่วนใหญ่เป็นอดีตผู้บริหารของบริษัทพลัง ดังนั้นการดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยเกิดความเป็นธรรมแก่พี่น้องประชาชนคนไทยได้นั้นจึงเป็นความยากยิ่งและถูกปล่อยปละละเลยมาโดยตลอด 

เมื่อ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ อดีตผู้พิพากษา อดีต สส. 7 สมัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มากำกับดูแลกระทรวงพลังงาน ภารกิจในการ 'รื้อ-ลด-ปลด-สร้าง' เพื่อทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงพลังงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยถูกต้อง เหมาะสม และเป็นธรรมจึงได้กำเนิดเกิดขึ้นเป็นนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน 

ด้วยมาตรการเข้ม 6 เดือนแรกเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของคนไทย 

1) พลังงานไฟฟ้า ได้ผลักดันให้มีการลดค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนจนกระทั่งสามารถตรึงราคาค่าไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ให้สูงขึ้นตามที่มีการคาดการณ์เอาไว้ 

2) น้ำมันเชื้อเพลิง ได้ทำการช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้น้ำมันด้วยการใช้กลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและกลไกทางภาษีด้วยความร่วมมือจากกระทรวงการคลัง และเร่งรัดในการจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิง ออกประกาศให้ผู้ค้าน้ำมันแจ้งข้อมูลต้นทุนน้ำมันทุก ๆ เดือนเพื่อป้องกันการค้ากำไรเกินควร 

3) ก๊าซ มีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool gas) เพื่อให้ต้นทุนก๊าซธรรมชาติในภาพรวมลดลง และเพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซ เร่งรัดติดตามการขุดเจาะและผลิตก๊าซจากอ่าวไทยเพื่อลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบผู้ใช้ NGV โดยเฉพาะกลุ่มรถแท็กซี่ กลุ่มรถโดยสาร และรถบรรทุก

นโยบายด้านพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนที่ ‘พีระพันธุ์’ นำมาใช้เพื่อให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของไทยมีความถูกต้องและเป็นธรรมคือ 

(1) การประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการนำเข้าและส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 ต้องรายงานข้อมูลรายละเอียดราคาและต้นทุนที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการนำเข้าและการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิงต่ออธิบดีกรมธุรกิจพลังงานทราบภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการบันทึกบัญชีรายวัน ทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถรับรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั้งระบบ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาน้ำเชื้อเพลิงในประเทศ และช่วยให้กรมสรรพกรสามารถคำนวณภาษีจากข้อมูลที่แท้จริงและมีความเป็นปัจจุบันได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน 

(2) การจัดตั้งระบบสำรองน้ำมันและก๊าซเพลิงยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) นอกจากจะเกิดขึ้นเพื่อความมั่นคงด้านพลังงานและสร้างเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงแล้ว และหาก SPR เกิดขึ้นจริงในไทยเราได้จริง รัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองซึ่งมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วันเลยทีเดียว 

ในขณะที่ปัจจุบันทุกวันนี้เอกชนผู้ค้าน้ำมันเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในปริมาณที่สามารถรองรับการใช้งานได้เพียง 25-36 วันเท่านั้นเอง ซ้ำร้ายหากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ภาครัฐต้องการเข้าควบคุมเพื่อจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจะทำไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจเว้นแต่จะใช้กฎหมายพิเศษบังคับ อาทิ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือกฎอัยการศึก 

น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR นั้นไม่ใช่การถือครองโดยภาครัฐล้าเก็บสำรองเอาไว้อย่างเดียว เพราะจะต้องมีการหมุนเวียน เข้าและออก มีการจำหน่ายถ่ายโอนให้โรงกลั่นและบริษัทที่จำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตลอดเวลาอีกด้วย 

ดังนั้น SPR ซึ่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองในการดูแลของรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานจะทำให้ภาครัฐมีอำนาจในการต่อรองและเพิ่มการถ่วงดุลให้กับระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศอีกด้วย อันจะทำให้ภาครัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศได้ตลอดเวลา จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนต้นทุน ณ เวลาที่ซื้อมาหรือจำหน่ายออกไปได้อย่างแท้จริง และจะเป็นประโยชน์อย่างมากมายต่อพี่น้องประชาชนคนไทยเป็นที่สุด

 📌หากโลกเกิดวิกฤตด้านพลังงาน ‘SPR’ คือ คำตอบ ‘ความมั่นคงด้านน้ำมันเชื้อเพลิง’ ที่รองรับได้ถึง 90 วัน โดยไม่กระทบต่อคนไทย

นับตั้งแต่การถือกำเนิดเกิดขึ้นของ ‘The Benz Patent-Motorwagen’ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมคันแรกของvโลกซึ่งออกแบบโดย Carl Friedrich Benz นักออกแบบเครื่องยนต์และวิศวกรยานยนต์ในปี 1886 ก็มีพัฒนาการ การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ซึ่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเพื่อการใช้งานในหลากหลายภารกิจมาโดยตลอดจนปัจจุบันเป็นปีที่ 139 แล้ว รถยนต์ถูกใช้งานอย่างมากมายในหลากหลายรูปแบบและครอบคลุมแทบทุกมิติจนกลายเป็นความจำเป็นกระทั่งทุกวันนี้จัดว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของมนุษยชาติไปแล้ว

ขนานกันไปกับการพัฒนา การออกแบบ และการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมก็คือ การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิง นอกจากจะใช้สำหรับภาคขนส่งทั้งบก-เรือ-อากาศแล้ว น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังถูกนำไปผลิตพลังงานอื่น ๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานความร้อน ฯลฯ เมื่อปริมาณพลโลกเพิ่มขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็มากขึ้น ย่อมทำให้การบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้นตามไปด้วย

ในยุคต้น ๆ ของการใช้งานรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียม พื้นที่ที่เป็นแหล่งน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมส่วนใหญ่จะเป็นดินแดนอาณานิคมของมหาอำนาจตะวันตก อาทิ ตะวันออกกลาง การสัมปทานขุดเจาะและดูดน้ำมันเชื้อเพลิงออกมาบริโภคอยู่ภายใต้อำนาจและอิทธิพลของประเทศเจ้าอาณานิคม ราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมจึงค่อนข้างถูกเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของบรรดาประเทศเจ้าอาณานิคมและบริวารตลอดจนคู่ค้าของประเทศเหล่านั้นด้วย กระทั่งทศวรรษ 1950 ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเจ้าอาณานิคมถูกแรงกดดันมากมาย รวมทั้งการต่อต้านจากพลเมืองของดินแดนอาณานิคม จึงต้องทยอยให้เอกราชแก่อาณานิคมต่าง ๆ และค่อย ๆ หมดอำนาจและบทบาทในกิจการน้ำเชื้อเพลิง 

กระทั่งเกิดการรวมตัวของกลุ่มพันธมิตรประเทศผู้ผลิตน้ำมันเพื่อประสานงานและรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลกด้วยการก่อตั้ง องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) ขึ้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 1960 ณ กรุงแบกแดด ประเทศอิรัก OPEC มีประเทศสมาชิกผู้ก่อตั้ง ได้แก่ อิหร่าน, อิรัก, คูเวต, ซาอุดีอาระเบีย และเวเนซุเอลา ปัจจุบัน โอเปกมีสมาชิกเพิ่มอีก 8 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย ลิเบีย กาบอง (ต่อมาถอนตัวในปี ค.ศ. 2008 แล้วกลับมาในปี ค.ศ. 2016) แองโกลา อิเควทอเรียลกินี และล่าสุดสาธารณรัฐคองโก รวมเป็น 13 ประเทศ  

การเกิดขึ้นของ OPEC ทำให้เกิดวิกฤติน้ำมันขึ้นหลายครั้ง ในแต่ละครั้งส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ การเงิน และการคลังของประเทศต่าง ๆ อย่างมหาศาล วิกฤตน้ำมัน (Oil Shock หรือ Oil crisis) เป็นการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันอย่างมากจนเป็นสาเหตุให้เศรษฐกิจโลกถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งนี้น้ำมันนับเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจมวลรวม แต่เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไปและใช้เวลาในการเกิดใหม่ยากมาก ปัจจุบันมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้นขณะที่ความสามารถในการผลิตกลับยังคงเท่าเดิมจึงทำให้เกิดภาวะวิกฤตได้ วิกฤตน้ำมันไม่ได้เพียงแต่เกิดจากความไม่สมดุลของความต้องการในการใช้น้ำมันกับปริมาณน้ำมันที่มีอย่างจำกัดเพียงอย่างเดียว ยังมีปัญหาการเมืองระหว่างประเทศเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของวิกฤตอีกด้วย

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 1 เกิดขึ้นในปี 1973 ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว วิกฤตน้ำมันในปี 1973 เกิดขึ้นพร้อมกับสงครามตะวันออกกลางครั้งที่ 4 อียิปต์และพันธมิตรร่วมมือกันเพื่อจะยึดคาบสมุทรซีนายและที่ราบสูงโกลันของอิสราเอล แต่ประเทศตะวันตกที่นำโดยสหรัฐอเมริกานั้นสนับสนุนอิสราเอล ทำให้องค์กรส่งออกน้ำมันแห่งชาติอาหรับ (ไม่ใช่ OPEC) จึงตัดสินใจใช้มาตรการห้ามส่งน้ำมัน ประเทศที่ถูกกำหนดเป็นเป้าหมายไม่ส่งน้ำมันดิบให้ในขั้นต้น ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ต่อมาได้ขยายการห้ามส่งไปยังโปรตุเกส โรดีเซีย และแอฟริกาใต้ ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบที่นำเข้ามาในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจาก 3 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรลเป็น 12 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล หลังจากที่มีการห้ามส่งน้ำมัน วิกฤติดังกล่าวยังทำให้สหรัฐฯ เริ่มให้ความสนใจกับปัญหาอุปทานน้ำมันส่วนใหญ่ หลังจากที่ปรากฏว่าประเทศอื่น ๆ สามารถระงับสินค้าสำคัญที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ  

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 2 ในปี 1979 เกิดขึ้นจากการปฏิวัติของอิหร่าน ซึ่งทำให้โคมัยนีกลายเป็นผู้นำสูงสุดของประเทศหลังจากโค่นล้มระบอบกษัตริย์ราชวงศ์ปาห์ลาวี โคมัยนีได้เปลี่ยนรูปแบบการปกครองให้เป็นสาธารณรัฐอิสลามหลังขึ้นเป็นผู้นำสูงสุด การปฏิวัติอิหร่านมีความคล้ายคลึงอย่างมากกับการปฏิวัติของจีนในปี 1911 ที่โค่นล้มราชวงศ์ชิงซึ่งสิ้นสุดการปกครองของจักรพรรดิและสถาปนาสาธารณรัฐจีนขึ้นหลังจากการโค่นล้มสถาบันกษัตริย์ ดังนั้น การปฏิวัติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์ของอิหร่าน ในช่วงการปฏิวัติอิหร่าน การผลิตและการส่งออกน้ำมันของประเทศลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดช่องว่างอุปทานน้ำมัน 500,000 บาร์เรลต่อวันในตลาดน้ำมันดิบระหว่างประเทศ ทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 32-34 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

วิกฤตน้ำมันครั้งที่ 3 ในปี 1990 อิรักยกกำลังบุกเข้ายึดคูเวต ซึ่งกินเวลาเพียงเก้าเดือน ราคาที่พุ่งสูงขึ้นมีความรุนแรงน้อยลงและมีระยะเวลาสั้นกว่าวิกฤตน้ำมัน 2 ครั้งก่อนร แต่ยังคงส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงต้นทศวรรษ 1990 เมื่อกองกำลังพันธมิตรที่นำโดยสหรัฐฯประสบความสำเร็จทางทหารในการสู้รบกับกองกำลังอิรัก ความกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนอุปทานในระยะยาวก็ผ่อนคลายลง และราคาก็เริ่มลดลง

แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดวิกฤตน้ำมันประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศอุตสาหกรรมผู้บริโภคน้ำมัน รวมถึงประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายที่ไม่มีทรัพยากรน้ำมันเอง และต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ เกิดเป็น ‘สภาวะข้าวยากหมากแพง’ (Adverse Supply Shock) แต่ในประเทศที่ภาครัฐมีการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR : Strategic Petroleum Reserve) อย่างเต็มที่จะมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานได้ถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลถึงวิกฤตน้ำมันในช่วง 90 วัน ทำให้มีเวลาแก้ไขปัญหาและสามารถเตรียมการรองรับผลกระทบวิกฤตน้ำมันในระดับโลกได้นานถึง 90 วัน 

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ไทยมีปริมาณน้ำมันสำรองที่เอกชนจัดเก็บเพียงพอต่อการบริโภค 25-36 วัน นั่นหมายความว่า หากปัญหาวิกฤตน้ำมันในประเทศไม่สามารถแก้ไขได้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 เดือน ย่อมจะเกิดผลกระทบที่จะสร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงต่อประเทศในภาพรวม ไม่ว่าในด้าน เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเงิน และการคลัง ฯลฯ อย่างแน่นอน ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานจะต้องเกิดขึ้นและดำเนินการให้สำเร็จโดยรวดเร็วที่สุดเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานอย่างสูงสุดอันจะเป็นหลักประกันที่สำคัญของความมั่นคงของชาติในทุก ๆ มิติได้ตลอดไป

🔎ส่อง ‘อเมริกา’ ประเทศมหาอำนาจที่มีการสำรอง SPR มากที่สุดในโลก✨

หลังวิกฤตพลังงานในปี 1973 โดยองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) ซึ่งได้ดำเนินการตอบโต้การที่สหรัฐฯ สนับสนุนอิสราเอลในช่วงสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 ทำให้สหรัฐอเมริกาต้องเริ่มการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ในปี 1975 เพื่อบรรเทาปัญหาการหยุดชะงักของอุปทานในอนาคต โดยเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยโครงการพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Program : IEP) 

หลังจากที่อุปทานน้ำมันต้องหยุดชะงักระหว่างวิกฤตน้ำมันดังกล่าวระหว่างปี 1973 -1974 สหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลง IEP เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 1974 และเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในฐานะผู้ร่วมลงนามใน IEP พันธสัญญาสำคัญประการหนึ่งที่ทำโดยผู้ลงนามในข้อตกลง IEP ดังกล่าวคือต้องมีการเก็บรักษาปริมาณน้ำมันสำรองไว้ไม่น้อยกว่า 90 วันของปริมาณการนำเข้าน้ำมันสุทธิ

ปริมาณสำรองจะถูกกำหนดตามเงื่อนไขที่เขียนไว้ในรัฐนโยบายและการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Policy and Conservation Act : EPCA) ปี 1975 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นตอบสนองต่อการหยุดชะงักของอุปทานอย่างรุนแรงในอัตราการสูงสุด 4.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน น้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสามารถเข้าสู่ตลาดได้ภายใน 13 วันหลังจากคำสั่งประธานาธิบดี โดยกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ได้ระบุว่ามีการสำรองปริมาณเชื้อเพลิงนำเข้าประมาณ 59 วันใน SPR เมื่อรวมกับการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงคงคลังของเอกชน ประมาณการณ์ว่าน่าจะเทียบเท่ากับการนำเข้า 115 วัน

Gerald Ford ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้ลงนามประกาศใช้รัฐบัญญัติ EPCA เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 1975 ด้วยรัฐบัญญัติฉบับนี้ได้กำหนดให้สหรัฐอเมริกาสามารถสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ได้มากถึง 1 พันล้านบาร์เรล โดยมีการซื้อคลังน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีอยู่จำนวนหนึ่งในปี 1977 เริ่มการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองบนดินแห่งแรกในเดือนมิถุนายน 1977 และวันที่ 21 กรกฎาคม 1977 น้ำมันดิบประมาณ 412,000 บาร์เรล จากซาอุดีอาระเบียถูกส่งไปยังไปยังคลังเก็บ SPR เป็นครั้งแรก

สำนักงานบริหาร SPR ตั้งอยู่ในเขตเอล์มวูด ชานเมืองนิวออร์ลีนส์ มลรัฐลุยเซียนา โดยคลัง SPR ของสหรัฐฯ ประกอบด้วย คลังใต้ดิน 4 แห่งใกล้ ๆ อ่าวเม็กซิโก คลังใต้ดินมีความลึกราว 600-1,000 เมตรใต้พื้นดิน แต่ละแห่งตั้งอยู่ใกล้ศูนย์กลางสำคัญของการกลั่นและแปรรูปปิโตรเคมี แต่ละคลังสามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองได้ระหว่าง 6 ถึง 37 ล้านบาร์เรล 

กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ อ้างว่า การเก็บน้ำมันไว้ใต้พื้นผิวนั้นคุ้มค่ากว่าบนดินประมาณสิบเท่า โดยมีข้อดีเพิ่มเติมคือไม่มีการรั่วไหลและการหมุนเวียนของน้ำมันตามธรรมชาติอย่างต่อเนื่องเนื่องจากการไล่ระดับของอุณหภูมิในถ้ำ คลังน้ำมันใต้ดิน SPR ได้แก่ 

(1) ไบรอัน เมานด์ เมืองฟรีพอร์ต มลรัฐเท็กซัส ขนาดความจุ 254 ล้านบาร์เรล (คลังใต้ดินย่อย 18 คลัง) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.5 ล้านบาร์เรล 

(2) บิ๊กฮิลล์ เมืองวินนี่ มลรัฐเท็กซัส จัดเก็บได้ 160 ล้านบาร์เรล (14 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.1 ล้านบาร์เรล 

(3) เวสต์แฮกเบอรี่ ทะเลสาบชาร์ลส์ มลรัฐลุยเซียนา มีความจุ 227 ล้านบาร์เรล (22 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 1.3 ล้านบาร์เรล 

และ (4) บายู ชอกทาว เมืองแบตันรูช มลรัฐลุยเซียนา ขนาดความจุ 76 ล้านบาร์เรล (6 คลังย่อย) สามารถจ่ายน้ำมันได้วันละ 550,000 บาร์เรล 

ประธานาธิบดีและสภา Congress ต่างมีอำนาจควบคุม SPR โดยประธานาธิบดีจะเป็นผู้สั่งการในการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR และสภา Congress มีอำนาจอนุมัติในการเติมปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองใน SPR ประธานาธิบดีสามารถอนุมัติการจ่ายออกน้ำมันสำรองจาก SPR ได้อย่างอิสระเพื่อตอบสนองต่อ ‘การหยุดชะงักของการจัดหาพลังงานอย่างร้ายแรง’ หรือหากสหรัฐอเมริกาได้รับมอบหมายจาก  โครงการพลังงานระหว่างประเทศ (IEP) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือระหว่างสมาชิกขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ประเทศสมาชิกของ IEA ร่วมกันปล่อยน้ำมันจำนวน 60 ล้านบาร์เรลเพื่อตอบสนองต่อปัญหาการขาดแคลนอันเป็นผลมาจากสงครามกลางเมืองในลิเบีย 

สำหรับการตอบสนองต่อการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงในปริมาณไม่มากนัก ด้วยอำนาจของประธานาธิบดีสามารถสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองจาก SPR ได้ไม่เกิน 30 ล้านบาร์เรลโดยไม่ต้องประกาศการเบิกใช้ฉุกเฉิน และกระทรวงพลังงานจะทำการประมูลจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองดังกล่าวให้กับผู้เสนอราคาสูงสุดจากบรรดาบริษัทที่ได้จดทะเบียนไว้กับ SPR

รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ มีหน้าที่รับผิดชอบในการซื้อน้ำมันเพื่อเติม SPR แต่ต้องให้สภา Congress อนุมัติเพื่อดำเนินการดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี Donald Trump ได้สั่งให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้เต็มขีดความสามารถในการจัดเก็บเพื่อช่วยผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ที่ประสบปัญหาในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 แต่สภา Congress กลับไม่อนุมัติการซื้อ 

นอกจากนั้นแล้วกระทรวงพลังงานยังเป็นผู้นำในข้อตกลงแลกเปลี่ยนหรือกู้ยืมน้ำมันระยะสั้นที่ชำระคืนพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจะช่วยในการเพิ่มขนาดของ SPR นับตั้งแต่ทศวรรษ 1990 ประธานาธิบดีและสภา Congress ได้ออกคำสั่งขายน้ำมันจากแหล่งสำรองเป็นครั้งคราวเพื่อเป็นการเพิ่มรายได้มาแล้ว 30 ครั้ง นับตั้งแต่การจัดตั้ง SPR อาทิ การขาย 5 รายการเป็นการเบิกจ่ายฉุกเฉินในปี 1991 ระหว่างสงครามอ่าวเปอร์เซีย, ในปี 2005 เพื่อนำรายได้มาจัดการวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นจากพายุเฮอริเคนแคทรีนาง ในปี 2011 ระหว่างความขัดแย้งในลิเบีย และ 2 ครั้งในปี 2022 เพื่อตอบโต้การรุกรานยูเครนของรัสเซีย 

ปริมาณความจุสูงสุดเต็มที่ของคลัง SPR ทั้งหมดของสหรัฐฯ อยู่ที่ 727 ล้านบาร์เรล ปัจจุบันปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ อยู่ที่ประมาณ 367 ล้านบาร์เรล ซึ่งปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ เมื่อลดลงเหลือน้อยกว่า 400 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบสี่ทศวรรษ ส่งผลต่อราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกสูงขึ้น หากปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรอง SPR ของสหรัฐฯ มากกว่า 400 ล้านบาร์เรล จะถือว่าอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีเสถียรภาพตามไปด้วยทั้งยังเป็นสัญญาณของแนวโน้มของราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงอีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งประเทศผู้ผลิตน้ำมันและบริโภคน้ำมันอันดับหนึ่งของโลกให้ความสำคัญต่อ SPR เป็นอย่างมาก เพราะ SPR นอกจากจะเป็นหลักประกันที่สำคัญที่สุดในด้านความมั่นคงทางพลังงานซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงโดยรวมของประเทศด้วย ดังนั้นเพื่อประโยชน์สูงสุดสำหรับการบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงของพี่น้องประชาชนคนไทย จึงต้องจัดการให้ SPR ของไทยเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จโดยเร็วด่วนที่สุด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

ขณะนี้มีข้อมูลว่า บรรดาผู้ที่เสียผลประโยชน์จากการที่ประเทศไทยจะมี SPR ได้พยายามคัดค้านต่อต้านนโยบายดังกล่าว โดยใช้สื่อที่ไร้จรรยาบรรณทั้งยังเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมได้ให้ร้ายรองฯ พีระพันธุ์ต่าง ๆ นานา ด้วยหวังให้รองฯ พีระพันธุ์ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้มาตรการและนโยบายของรองฯ พีระพันธุ์ที่จะทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยที่ต้องบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงได้รับประโยชน์สูงสุดทั้งจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่สะท้อนความถูกต้องและเป็นจริงทั้งเป็นการเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของไทยไม่ประสบความสำเร็จ พี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนจึงต้องช่วยกันติดตาม เฝ้าดู และเป็นกำลังใจให้รองฯ พีระพันธุ์ได้ทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ

🔎ส่อง SPR ของ ASEAN ใคร ‘แข็งแกร่ง’ ที่สุด

ปัจจุบันพลังงานจากเชื้อเพลิงปิโตรเลียมยังคงเป็นพลังงานหลักที่ชาวโลกจำเป็นต้องพึ่งพาเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งย่อมรวมถึงพลเมืองของกลุ่มประเทศ ASEAN ด้วย ASEAN หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations) ถือกำเนิดขึ้นด้วยการลงนามของชาติสมาชิกเริ่มต้น 5 ประเทศใน ‘ปฏิญญากรุงเทพฯ’ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 1967 โดยมี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความร่วมมือในการเพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ การพัฒนาสังคม วัฒนธรรมในกลุ่มประเทศสมาชิก และการธำรงรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค และเปิดโอกาสให้คลายข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิกอย่างสันติ 

ด้วยจำนวนประชากรของประชาคมเศรษฐกิจ ASEAN ร่วม 700 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ความต้องการน้ำมันในอาเซียนจึงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ความต้องการน้ำมันเชื้อเพลิงสูงถึง 4.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงเป็นกลุ่มประเทศที่มีการบริโภคเชื้อเพลิงพลังงานในปริมาณมากแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ ASEAN ต้องมีความร่วมมือด้านเชื้อเพลิงพลังงานระหว่างกันด้วย โดย ASEAN เริ่มจัดการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านพลังงาน (ASEAN Ministers on Energy Meeting: AMEM) ครั้งแรกในปี 1982 

โดยเล็งเห็นความสำคัญของการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัว ทางเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ด้วยการสร้างเครือข่ายด้านพลังงานในระดับภูมิภาคที่อาศัยจุดแข็งและศักยภาพ ของแต่ละประเทศในอาเซียนที่มีแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติตลอดจนพลังงานทดแทนในรูปแบบต่าง ๆ และทำให้เกิดความตกลงว่าด้วยความมั่นคงทางปิโตรเลียมของ ASEAN (ASEAN Petroleum Security Agreement: APSA) ซึ่งได้ลงนามมาตั้งแต่ปี 1986 

APSA เป็นกลไกในการแบ่งปันปิโตรเลียมในภาวะฉุกเฉินด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมในเวลาหรือสถานการณ์ทั้งที่มีการขาดแคลนและมีอุปทานมากเกินไป โดย APSA กำหนดว่า ประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดภาวะการขาดแคลนปิโตรเลียมต้องขาดแคลนปิโตรเลียมอย่างน้อย 10% ของความต้องการภายในประเทศนั้น ๆ และ ความร่วมมือให้เป็นไปตามสมัครใจ โดยให้เลขาธิการคณะมนตรี ASEAN ว่าด้วยปิโตรเลียม (ASEAN Council on Petroleum (ASCOPE) Secretary-in-Charge) เป็นผู้ประสานงาน

แม้ว่า ASEAN จะมี APSA เป็นหลักประกันหากเกิดภาวะฉุกเฉินในด้านน้ำมันดิบและหรือผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้วก็ตาม แต่ละประเทศสมาชิกต่างก็มีการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมเองด้วย ปัจจุบันสมาชิก ASEAN 10 ประเทศ (ยกเว้นกัมพูชาและลาว) มีโรงกลั่นน้ำมันรวมกันกว่า 30 โรง มีกำลังการกลั่นรวมกันราว 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยประเทศที่มีกำลังการกลั่นสูงสุดคือ สิงคโปร์ รองลงมาคือ ไทย และอินโดนีเซีย รวมสามประเทศสามารถกลั่นน้ำมันคิดเป็น 70% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด โดยสิงคโปร์มีกำลังการกลั่นเหลือเพื่อการส่งออกมากที่สุด 1.2-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน สามารถส่งออกได้ประมาณ 8 แสนถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ในขณะที่ไทยมีกำลังการกลั่นประมาณ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่เหลือส่งออกประมาณ 1.7 แสนบาร์เรลต่อวัน ด้วยปัจจัยนี้กอรปกับทำเลที่ตั้งที่เอื้อต่อการเป็นจุดศูนย์กลางการเดินเรือของเอเชีย จึงเป็นทั้งจุดรับน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางและจุดกระจายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ในทวีปเอเชียได้โดยสะดวก อีกทั้งตลาดซื้อ-ขายน้ำมันระหว่างประเทศที่เป็นแหล่งใหญ่มีเพียง 3 แห่ง คือ ตลาดนิวยอร์ก (NYMEX) ตลาดลอนดอน (IPE) และตลาดสิงคโปร์ (SIMEX) ทำให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์จึงกลายเป็นราคาน้ำมันอ้างอิงของภูมิภาคเอเชีย 

รัฐบาลสิงคโปร์จัดให้มี SPR ตั้งแต่หลังจากเกิดวิกฤตน้ำมันปี 1973 ทั้งหมดทั้งมวลนี้จึงทำให้ SPR ของสิงคโปร์แข็งแกร่งที่สุดใน ASEAN ด้วยโรงกลั่นน้ำมันและคลังน้ำมันที่ทันสมัย และเป็นหนึ่งในสามศูนย์การกลั่นน้ำมันที่สำคัญของโลกและส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปไปทั่วโลก รัฐบาลสิงคโปร์มีปริมาณการสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงใน SPR เป็นน้ำมันดิบประมาณ 32 ล้านบาร์เรล และน้ำมันสำเร็จรูปอีกราว 65 ล้านบาร์เรล ซึ่งจะทำให้สิงคโปร์มีเชื้อเพลิงสำรองเพียงพอต่อการใช้งานสำหรับชาวสิงคโปร์กว่า 5.5ล้านคนนานถึง 451 วันเลยทีเดียว อาจจะถือว่ามากที่สุดในโลกก็ว่าได้ อินโดนีเซียประเทศเดียวของ ASEAN ที่เป็นสมาชิก OPEC โดยส่งออกน้ำมันปิโตรเลียมที่ไม่สามารถกลั่นเองได้วันละกว่า 600,000 บาร์เรล โดยมีการบริโภคเชื้อเพลิงอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน และ SPR ของอินโดนีเซียนั้นดำเนินการโดย PT Pertamina (Persero) บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของรัฐบาลอินโดนีเซียสามารถตอบสนองความต้องการบริโภคน้ำมันสำเร็จรูปภายในประเทศได้เป็นเวลา 19-22 วัน ขณะนี้รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการพัฒนา SPR ให้สามารถจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองให้ได้มากขึ้น 

ตั้งแต่ปี 1974 มาเลเซียผลิตน้ำมันได้ 9 พันล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ปัจจุบันมาเลเซียผลิตน้ำมันเชื้อเพลิง 660,000 บาร์เรลและก๊าซประมาณ 7.0 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน  มาเลเซียบริโภคน้ำมันเชื้อเพลิงราว 708,000 บาร์เรลต่อวัน มาเลเซียต้องการขยายขีดความสามารถในการกักเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มมากขึ้นอันเนื่องจากความต้องการน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นในภูมิภาค ทั้งสิงคโปร์ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการจัดเก็บน้ำมัน ซึ่งมาเลเซียพยายามหาประโยชน์ด้วยการเป็นผู้ให้บริการทางเลือกสำหรับการจัดเก็บน้ำมันในภูมิภาค ประมาณการว่าปัจจุบันมาเลเซียน่าจะมีปริมาณ SPR อยู่ที่ 23.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 33 วัน และอยู่ระหว่างการก่อสร้างคลังน้ำมันเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ SPR เพิ่มเป็น 34.6 ล้านบาร์เรล เพียงพอต่อการใช้งานในประเทศราว 493 วัน ใน 2-3 ปีข้างหน้า

เวียดนามมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองแห่งชาติเท่ากับ 9 วันของการนำเข้าสุทธิ และไม่มีน้ำมันดิบสำรองของชาติ กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า (MOIT) ของเวียดนามได้พยายามเสนอให้เพิ่มปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองเป็น 15 วันหรือ 30 วันของการนำเข้าสุทธิ เมียนมามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 60 วัน โดยแบ่งเป็นเอกชนจัดเก็บในปริมาณสำหรับ 40 วัน และรัฐบาลจัดเก็บ (SPR) ในปริมาณสำหรับ 200 วัน ลาวมีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 16 วัน (เป็นน้ำมันสำเร็จรูป 60 ล้านลิตร) ฟิลิปปินส์มีการจัดเก็บน้ำมันสำรองยุทธศาสตร์ปิโตรเลียมแห่งชาติประมาณ 30 ล้านบาร์เรล สามารถรองรับการบริโภคในประเทศได้ 63 วัน กัมพูชามีการจัดเก็บปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองรองรับการบริโภคในประเทศ 30 วัน และบรูไนประเทศที่สามารถส่งออกน้ำมันดิบได้มากที่สุดใน ASEAN ได้กำหนดให้บริษัทผู้ผลิตน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 50% ของปริมาณน้ำมันดิบที่จัดเก็บ 

และเป็นที่ทราบกันว่า ไทยเรามีการจัดเก็บน้ำมันเชื้อเพลิงปิโตรเลียมสำรองโดยบริษัทเอกชนผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามมาตรา 7 เพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศ 25-36 วันเท่านั้น ซึ่งยังคงต่ำกว่าปริมาณมาตรฐานน้ำมันสำรองของ IEA ที่ 50 วัน หลาย ๆ ประเทศที่เศรษฐกิจมีศักยภาพสูงมี SPR มีน้ำมันเชื้อเพลิงเพียงพอต่อการบริโภคสูงถึง 90 วัน ประเทศเหล่านั้นจึงไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบในด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้การขนส่งหรือการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเกิดปัญหาอันไม่คาดคิดจนกระทบต่อการจัดการน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ เมื่อมี SPR เกิดขึ้นรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานก็จะมีอำนาจในการต่อรองและถ่วงดุลระบบการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ อีกด้วย เพราะรัฐจะเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากที่สุด โดยที่ SPR จะมีการหมุนเวียนจากการซื้อเข้าและจำหน่ายออกอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้รัฐบาลรู้ต้นทุนนำเข้าและราคาหลังการกลั่นได้โดยตลอด จึงสามารถกำกับดูแลราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศที่สะท้อนได้อย่างแท้จริง ซึ่งทำให้พี่น้องประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์อย่างมากมาย 

ดังนั้นนโยบายการสำรองเชื้อเพลิงปิโตรเลียมทางยุทธศาสตร์ (SPR) ของ ‘พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องเกิดขึ้นและถูกนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างแท้จริงโดยเร็วที่สุด


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top