Wednesday, 3 July 2024
คมนาคม

‘สุริยะ’ มั่นใจ!! ชี้แจงปม ‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ ได้ทุกมิติ ย้ำ!! ทุกนโยบายรัฐบาลตอบสนองความต้องการประชาชน

(11 ก.ย. 66) ที่รัฐสภา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่จะมี สส. สอบถามและต้องตอบคำถามเรื่องนี้ ว่า ตนตอบได้ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่าจะชี้แจงอย่างไร เพราะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก นายสุริยะ กล่าวว่า เรามีข้อมูลทั้งหมดที่จะชี้แจงครบทุกประเด็นไม่น่าเป็นห่วง

เมื่อถามว่า จะมีการเน้นย้ำอะไรเป็นพิเศษเพื่อให้ประชาชนเข้าใจ นายสุริยะกล่าวว่าแน่นอน เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ

เมื่อถามว่า พรรคก้าวไกลจะตั้งข้อสังเกต นโยบายนั่งรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ที่พรรคเพื่อไทยใช้หาเสียง นายสุริยะ กล่าวว่า ยืนยันว่าเราทำได้ ตนเชื่อมั่นว่านโยบายของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ตอบสนองต่อประชาชน เราอธิบายนโยบายได้ทุกมิติ

เมื่อถามว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะแถลงต่อรัฐสภามีความเหมาะสมกับสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้หรือไม่ นายสุริยะ กล่าวว่าเหมาะสมแน่นอน

‘พีระพันธุ์’ เผยข่าวดี ไทยชนะ ‘คดีโฮปเวลล์’ สิ้นสุดมหากาพย์ เอกชนเรียกค่าเสียหายหลายหมื่นล้าน

(18 ก.ย. 66) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ไทยชนะคดี ‘โฮปเวลล์’ แล้ว

เมื่อเวลาประมาณ 14.20 น. ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก แจ้งข่าวว่า ‘ไทยชนะคดีโฮปเวลล์’ ซึ่งเป็นมหากาพย์อภิมหาโครงการด้านคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ถูกเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหาย

โดยนายพีระพันธุ์โพสต์เฟซบุ๊กสั้น ๆ มีเนื้อหาว่า “ไทยชนะคดีโฮปเวลล์ ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในการยกเลิกสัญญาจากกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นค่าใช้จ่ายจากการเข้ามาลงทุนเป็นเงิน 56,000 ล้านบาท”

สำหรับกรณีการฟ้องร้อง โครงการโฮปเวลล์ มาจาก บริษัทโฮปเวลล์ เห็นว่าการที่ รฟท. เข้ามาใช้ประโยชน์จากโครงการก่อสร้างเดิม ถือเป็นการยึดหรือเวนคืนระบบหรือพื้นที่สัมปทาน จึงเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ เรียกค่าเสียหายจากการยกเลิกสัญญาจาก กระทรวงคมนาคม และ รฟท. เป็นเงิน 59,000 ล้านบาท

'สุริยะ' จี้!! ทุกหน่วยเกี่ยวข้อง ปราบ 'รถบรรทุกน้ำหนักเกิน-ส่วยสติกเกอร์'  สั่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 'ติดตาม-ตรวจสอบ' ปิดช่องโหว่ทุจริตคอร์รัปชัน

(13 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตนได้มอบนโยบายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจดำเนินงานภายใต้กรอบนโยบาย “คมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต โดยเฉพาะประเด็นเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ทางหลวงของกรมทางหลวง (ทล.) ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้นั้น ได้เน้นย้ำว่าในช่วงที่ตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจ ที่ผ่านมาได้ติดตามเรื่องส่วยสติกเกอร์มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สั่งการให้ ทล. รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ทำงานเชิงรุก หมั่นตรวจตรากวดขัน และบังคับใช้กฎหมายในเรื่องรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างจริงจังต่อเนื่องเพื่อป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหาการทุจริต อีกทั้งเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อทางหลวงแผ่นดิน หรือมีสภาพทรุดโทรมก่อนช่วงเวลาที่ได้ออกแบบไว้ และอาจจะก่อให้เกิดความไม่ปลอดภัย และสร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน อีกทั้งทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก มาดำเนินการซ่อมแซมและบำรุงรักษาถนนด้วย

นอกจากนี้ได้สั่งให้บูรณาการการทำงานกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมทั้งให้ความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในการตรวจสอบและจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่แอบหลีกเลี่ยงเข้าไปใช้เส้นทางในพื้นที่ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายกับพื้นผิวจราจร หรือโครงสร้างของทางพิเศษ นอกจากนี้ ให้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้ในกระบวนการติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ซึ่งจะมีความแม่นยำและช่วยลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจะเป็นการปิดช่องโหว่การทุจริตคอร์รัปชันได้อีกด้วย

นายสุริยะ กล่าวถึงสถิติการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินว่า จากการรายงานของ ทล. ในการดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทั้งในส่วนของสถานีตรวจสอบน้ำหนักและการจัดหน่วยตรวจสอบน้ำหนักเคลื่อนที่ (Spot Check) จากทุกสถานีฯ และหน่วยเฉพาะกิจส่วนกลาง ทำการออกสุ่มตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะทั่วประเทศ พบว่า ในปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) สามารถจับกุมได้ 3,416 คัน และในปีงบประมาณ 2567 (วันที่ 1 ตุลาคม – 9 พฤศจิกายน 2566) จับกุมได้ 394 คัน ขณะที่ ทช. ได้ดำเนินการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดที่สถานีฯ และจัดหน่วย Spot Check ตามสายทาง พบว่า ในปีงบประมาณ2566 รวม 8 คัน

ทั้งนี้ในส่วนกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ได้รวบรวมข้อมูลผลการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินจาก ทล. และ ทช. ในกรณีที่ได้รับแจ้งว่ามีการดัดแปลง/ต่อเติมตัวรถ โดยได้นำข้อมูลรถบรรทุกดังกล่าว แจ้งต่อ นายทะเบียนตามเขตพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อแจ้งผู้ประกอบการขนส่งให้นำรถเข้าตรวจสภาพ โดยจะตรวจสอบว่า มีการดัดแปลง/ต่อเติมแก้ไขตัวรถ หรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบให้ผิดไปจากที่จดทะเบียนไว้ หรือผิดแผกแตกต่างในสาระสำคัญที่กำหนดในกฎกระทรวงหรือไม่ หากพบว่ามีการกระทำความผิดจะดำเนินการลงโทษตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืนนั้น ทล. ได้มีมาตรการที่เข้มงวดในการจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างต่อเนื่องผ่านศูนย์ควบคุมเครือข่ายส่วนกลาง สามารถส่งข้อมูลออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ และมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ได้บูรณาการความร่วมมือกับ ขบ. ในเรื่องของระบบ GPS เพื่อติดตามรถบรรทุกที่คาดว่าจะมีน้ำหนักเกิน จากนั้นส่งข้อมูลการต่อเติมรถบรรทุกให้ ขบ. ดำเนินการตามกฎหมาย

ขณะเดียวกัน ทล. ยังขอความร่วมมือภาคเอกชนและผู้ประกอบการรถบรรทุกร่วมกันในการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯ ทั่วประเทศ ครั้งละไม่เกิน 1 ปี เพื่อลดความคุ้นเคยของเจ้าหน้าที่กับผู้ประกอบการขนส่งเพื่อป้องกันโอกาสการทุจริต อีกทั้งนำเทคโนโลยีระบบชั่งน้ำหนักยานพาหนะขณะเคลื่อนที่ (WIM) มาใช้ให้เพียงพอกับการปฏิบัติงาน และการนำกล้องตรวจการณ์มาใช้ในขณะปฏิบัติหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นอกจากนี้ ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะแก่เจ้าหน้าที่ อาทิ เบี้ยเลี้ยง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจและลดปัญหาการทุจริต

ขณะที่ ทช. ได้จัดทำหลักสูตรอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการกำกับน้ำหนักบรรทุกตาม พ.ร.บ. ทางหลวงพ.ศ. 2535 ให้กับเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับคัดเลือกจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นรวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ขับขี่รถบรรทุกกับเจ้าหน้าที่และลดการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ เช่น ระบบ WIM ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) เป็นต้น

ส่วน ขบ. โดยกองตรวจการขนส่งทางบกได้ออกตรวจสอบรถที่ผิดกฎหมาย โดยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจะออกตรวจสอบทุกวัน สำหรับสำนักงานขนส่งจังหวัดจะออกตรวจสอบอย่างน้อย 3 ครั้งต่อเดือน รวมทั้งได้ติดตั้งเครื่องชั่งแบบ WIM และเครื่องชั่ง Static สำหรับให้รถบรรทุกเข้าชั่งน้ำหนักและบันทึกข้อมูลน้ำหนักรถเข้าสู่ระบบควบคุมประตูอัตโนมัติ (GCS) ขาออก ก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า เพื่อให้พนักงานขับรถทราบถึงน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกก่อนออกจากสถานีขนส่งสินค้า นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำความผิดและดำเนินการเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ. รถยนต์ พ.ศ. 2522 และ พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 อย่างเคร่งครัดด้วย

‘คมนาคม’ เตรียมเพิ่มโทษปรับ ‘รถบรรทุกน้ำหนักเกิน’ ชี้!! จากเดิม 1 หมื่นบาท เพิ่มสูงสุดไม่เกิน 2 แสนบาท

(23 พ.ย. 66) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมหารือเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน ว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ให้ความสำคัญและตั้งใจแก้ไขปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกิน หรือส่วยสติกเกอร์ที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้ ซึ่งจากข้อเท็จจริงการตรวจสอบพบว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินจริง และมีข้อบกพร่องในโครงสร้างและกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ ป้องกันปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้น และ ลดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน 

ทั้งนี้เนื่องจากการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ทำให้กระทรวงคมนาคมต้องใช้งบประมาณซ่อมบำรุงถนนจำนวนมาก โดย กรมทางหลวง (ทล.) ต้องจ่ายค่าซ่อมถนนปีละ 26,000 ล้านบาท และ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ปีละ 18,000 ล้านบาท

สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาที่นำมาดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องสร้างความมั่นใจ และอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพในทุกมิติ พร้อมกำชับการทำงานทุกขั้นตอน ต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ปฏิบัติงานด้วยความสุจริต และปราศจากการทุจริต เน้นย้ำว่าช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม จะต้องไม่มีการทุจริต หรือมีส่วยสติกเกอร์ทางหลวงเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้มีแนวทางแก้ไขปัญหาดังนี้ 1.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทางหลวง 2535 มาตรา 73/2 เกี่ยวกับบทลงโทษการบรรทุกน้ำหนักเกิน ปัจจุบันระบุว่า ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ โดยจะปรับแก้ไขกฎหมายให้มีโทษปรับในอัตราที่สูงขึ้น คือปรับสูงสุดไม่เกิน 100,000-200,000 บาท แล้วแต่กรณีการกระทำความผิด 

“ส่วนกรณีการเพิ่มโทษจำคุกนั้นให้ ทล. ไปศึกษาผลดีผลเสียที่เหมาะสมต่อไป รวมทั้งเอาผิดกับผู้ประกอบการรถบรรทุกด้วย เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วจะเสนอการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และมีผลบังคับใช้ได้ภายใน 1 ปี เชื่อว่าการเพิ่มอัตราโทษปรับที่สูงขึ้นนี้ทำให้แก้ปัญหารถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ เพราะปัจจุบันรถบรรทุกน้ำหนักเกินมีโทษปรับน้อยสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท ทำให้ผู้ประกอบการถบรรทุกเสี่ยงต่อการกระทำผิดด้วยการบรรทุกน้ำหนักเกินกฎหมายกำหนด เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้” นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะออกประกาศกฎกระทรวงคมนาคม ในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล โดยเฉพาะตำรวจจราจร ในพื้นที่ กทม. ให้มีอำนาจตรวจจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินในพื้นที่ กทม. ได้ จากเดิมตำรวจจราจรไม่มีอำนาจหน้าที่ตรวจจับ เพราะ พ.ร.บ.ทางหลวง ไม่ได้ให้อำนาจส่วนนี้แก่ตำรวจจราจร ซึ่งเรื่องดังกล่าวสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องเสนอเรื่องนี้มาที่กระทรวงคมนาคม เพื่อให้ตนลงนามในประกาศกฎกระทรวงและมีผลบังคับใช้ต่อไป

2.เพิ่มประสิทธิภาพตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกิน เพิ่มความถี่ อัตรากำลัง ยานพาหนะ ติดตามตรวจสอบรถบรรทุกน้ำหนักเกินของตำรวจ และ ทล. และ 3.นำเทคโนโลยีมาใช้ดำเนินงาน อาทิ การนำเทคโนโลยี AI พร้อมกล้อง CCTV มาช่วยประเมินรถบรรทุกที่มีแนวโน้มบรรทุกน้ำหนักเกิน การบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูลระบบจีพีเอส ของ ขบ. ร่วมกับ กองบังคับการตำรวจทางหลวง และ ทช. ช่วยติดตามจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกิน และบูรณาการเชื่อมโยงฐานข้อมูล Call Center เรื่องร้องเรียนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน

ทั้งนี้ทางภาคเอกชนเสนอขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะกระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กทม. เพื่อนำปัญหามาหารือกันเป็นระยะๆ และหาแนวทางป้องกันไม่เกิดรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนดต่อไป

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทล. มีโครงข่ายถนนที่รับผิดชอบกว่า 50,000 กม. เพื่อป้องกันการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด ได้ดำเนินการติดตั้งระบบเครื่องชั่งอัตโนมัติสำหรับชั่งน้ำหนักรถยนต์ขณะเคลื่อนที่ หรือ WIM ช่วยคัดกรองรถบรรทุกที่มีน้ำหนักไม่เกินกฎหมายกำหนด สามารถวิ่งผ่านได้โดยไม่ต้องเข้าชั่งที่สถานี โดยมีแผนจะติดตั้งระบบ WIM บนโครงข่ายทางหลวงทั่วประเทศ จำนวน 960 แห่ง ซึ่งติดตั้งไปแล้ว 182 แห่ง อยู่ระหว่างติดตั้ง 21 แห่ง และ ที่เหลืออีก 757 แห่ง จะทยอยติดตั้งให้ครบต่อไป โดยในแต่ละปีจะได้รับงบประมาณดำเนินการอยู่แล้ว เน้นติดตั้งในจุดที่จำเป็นและมีปริมาณรถบรรทุกใช้เส้นทางจำนวนมากก่อน

ขณะที่ นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีรถบรรทุกขนาด 6 ล้อ และ รถบรรทุกขนาด 10 ล้อขึ้นไป จดทะเบียนกับ ขบ. มากกว่า 1,000,000 คัน ซึ่งมีการติดตั้งระบบจีพีเอสเกือบครบทั้งหมดแล้ว และ ขบ. ได้ดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลจีพีเอสรถบรรทุก กับ ทล. และ ทช. แล้ว อยู่ระหว่างดำเนินการเชื่อมข้อมูลกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูลในเรื่องดังกล่าวต่อไป

‘คมนาคม’ เล็งเจรจาผู้ประกอบการรถไฟฟ้าทุกสี ปรับเวลาให้บริการตั้งแต่ตี 4 รับดีมานด์เที่ยวปีใหม่

(18 ธ.ค.66) นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ ได้สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บูรณาการร่วมกันในการเพิ่มจุดเชื่อมต่อในช่วงที่ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา อาทิ เพิ่มจุดส่งผู้โดยสารขาเขากรุงเทพฯ ที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ รวมไปถึงการขยายเวลาให้บริการรถไฟฟ้าจากเดิมเปิดบริการ 05.00 น. ปรับเป็นเปิดบริการ 04.00 น.ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 หรือระหว่างวันที่ 29 ธ.ค.2566 ถึง 2 ม.ค. 2567

“เพื่อรองรับการเดินทางของประชาชนแบบไร้รอยต่อ ได้สั่งการให้กรมการขนส่งทางราง (ขร.) พูดคุยขอความร่วมมือกับภาคเอกชนผู้ให้บริการรถไฟฟ้าในทุกสีไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าที่กำกับโดยภาครัฐเท่านั้น แต่จะได้รับความร่วมมือกี่สายทางต้องรอผลการเจรจาในเร็วๆ นี้ ต่อไป ส่วนการให้บริการรถไฟฟ้าในคืนส่งท้ายปี 2567 จะมีการเปิดให้บริการถึง 02.00 น. เหมือนทุกปี” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับปริมาณผู้โดยสารคาดว่าส่วนของ ร.ฟ.ท. จะมีประชาชนใช้บริการช่วงเทศกาลปีใหม่ ประมาณ 1 แสนคนต่อวัน ขณะที่ บขส. คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 7 หมื่นคนต่อวัน โดยยืนยันว่าทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมรถเสริมไว้ให้บริการประชาชนที่มีความประสงค์เดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลปีใหม่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นยืนยันว่าจะไม่มีผู้โดยสารตกค้าง อีกทั้งประชาชนจะได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเชื่อมต่อระบบด้วยรถไฟฟ้าเพื่อรองรับการเดินทางกลับหลังปีใหม่ด้วย

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า จากนโยบายเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางปีใหม่ ร.ฟ.ท.ได้จัดแผนอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย รองรับการเดินทางของประชาชน โดยมีเป้าหมายเพื่อไม่ให้มีผู้โดยสารตกค้าง ตลอดจนได้รับความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่ครั้งนี้ การรถไฟฯ ได้จัดเตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มตู้โดยสารจนเต็มหน่วยลากจูงในขบวนรถประจำจำนวน 214 ขบวนต่อวัน และเพิ่มขบวนรถเสริมพิเศษช่วยการโดยสารจำนวน 12 ขบวน สามารถรองรับการเดินทางของผู้โดยสารไม่ต่ำกว่า 1 แสนคนต่อวัน 

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 ระหว่างวันที่ 29 ธ.ค. 2566 - 2 ม.ค. 2567 กระทรวงฯ ได้ประเมินการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด คาดว่ามีปริมาณผู้โดยสารรวมประมาณ 9 ล้านคนเที่ยว หรือเพิ่มขึ้นกว่า 20% แบ่งเป็น รถไฟฟ้า การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) และรถไฟฟ้าที่ให้บริการโดย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) 8.4 ล้านคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 6.7 ล้านคนเที่ยว ส่วนรถไฟระหว่างเมือง คาดผู้โดยสารใช้บริการอยู่ที่ประมาณ 6.18 แสนคนเที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 5.67 แสนคนเที่ยว

‘อีบีเอ็ม’ แจงเหตุล้อ รฟฟ.สายสีเหลือง ‘หลุด’ ใส่รถแท็กซี่ คาด!! ‘เบ้าลูกปืนล้อแตก’ ยืนยันวิ่งให้บริการได้ปกติ

(3 ม.ค.67) รายงานข่าวจากบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM ผู้รับสัมปทาน โครงการ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 18.21 น.ได้รับแจ้งเหตุล้อประคองรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ได้หลุดร่วงลงมา ใส่รถแท็กซี่ บริเวณถนนเทพารักษ์ ซึ่งอยู่ระหว่างสถานีทิพวัล (YL22) และสถานีศรีเทพา (YL21) แต่ยังไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

ทั้งนี้จากการตรวจสอบหาสาเหตุเบื้องต้นพบว่า เกิดจากเบ้าลูกปืนของล้อประคอง (Guide Wheel) เสียหายทำให้ล้อหลุดร่วงลงมา โดยขบวนรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ที่ประสบเหตุเป็นขบวนใหม่ ซึ่งมีการตรวจสอบ และซ่อมบำรุงตามรอบโดยปกติ และขณะนี้กำลังตรวจสอบชุดล้อประคองที่หลุดออกมา เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุโดยละเอียด

อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง กราบขออภัยผู้ได้รับผลกระทบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บริษัทฯ จะดำเนินการตามมาตรการในการป้องกันเหตุ และเร่งหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปหาสาเหตุ และแนวทางป้องกัน ไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก เบื้องต้น ได้ประสานกับบริษัทประกัน เพื่อให้เข้าดูแลผู้ได้รับความเสียหายต่อไป

‘ก.คมนาคม’ เผย บิ๊กเอกชนไทย-เทศ รุมจีบ ‘แลนด์บริดจ์’ คาด เริ่มประกวดราคา Q4/68 หวัง ดึงร่วมลงทุน 1 ล้านล้านบาท

(30 พ.ค. 67) นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงาน สัมมนาจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) โครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ว่า มีตัวแทนจากภาคธุรกิจเอกชน กลุ่มสถาบันการเงิน กลุ่มนักลงทุน สถานทูต ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมงานมากกว่า 100 ราย

‘ผลจากการโรดโชว์แสดงให้เห็นแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติสนใจเข้าร่วมลงทุนมาก กระทรวงฯ มั่นใจว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะเกิดขึ้น มีการลงทุนจริง ซึ่งกระบวนการตอนนี้เตรียมจัดทำร่าง RFP เพื่อเริ่มกระบวนการประมูลในไตรมาส 4 ปี 2568 อีกทั้งกระทรวงฯ จะเร่งผลักดัน พรบ. SEC เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. และสภาภายในปีนี้ เพื่อเป็นอีกปัจจัยสร้างความเชื่อมั่นและจูงใจนักลงทุนในด้านสิทธิประโยชน์ และกฎหมายต่างๆ’

โดยรูปแบบการลงทุนในโครงการแลนด์บริดจ์ ตามที่กระทรวงคมนาคม โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาไว้เบื้องต้นจะให้สิทธิผู้สนใจลงทุนมีสิทธิประมูลโครงการเป็น Single Package ในระยะเวลา 50 ปี ได้แก่ ท่าเรือ 2 แห่ง (ท่าเรือชุมพรและท่าเรือระนอง) โครงสร้างพื้นฐานเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมทั้งพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์และอุตสาหกรรม แต่สามารถร่วมกันลงทุนได้ในรูปแบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture) หรือการร่วมกันในลักษณะกลุ่มบริษัท (Consortium)

สำหรับรูปแบบการลงทุนจะเป็นรูปแบบ PPP Net Cost โดยภาครัฐจะเป็นผู้รับผิดชอบในการให้สิทธิประโยชน์ แก่ภาคเอกชน พร้อมทั้งจัดหาพื้นที่และการเวนคืนให้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ เส้นทางเชื่อมโยงต่างๆ โดยภาคเอกชนผู้ลงทุนต้องเป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเองทั้งหมด และดำเนินการบริหารจัดการ โดยจากการประเมินมูลค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้ลงทุนต้องใช้ในการพัฒนาโครงการ มีมูลค่าลงทุนประมาณ 1,001 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็น ท่าเรือฝั่งระนอง ประมาณ 330,810 ล้านบาท ท่าเรือฝั่งชุมพร ประมาณ 305,666 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมต่อ ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและทางรถไฟ รวมประมาณ 358,517 ล้านบาท (เป็นราคาประเมิน ณ ปี พ.ศ. 2566 โดยไม่ได้รวมเงินเฟ้อ) ซึ่งจากการประเมินอัตราผลตอบแทนภายในทางการเงิน (FIRR) ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากโครงการในเบื้องต้น เท่ากับ 8.62% (กรณียังไม่มีการกู้ยืม) โดยมีระยะเวลาคืนทุนปีที่ 24 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โครงการมีความคุ้มค่ากับการลงทุน

โดยที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าโรดโชว์โครงการและดึงภาคเอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมลงทุน โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จากหลายประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และประเทศ ฝั่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ซึ่งการจัดการทดสอบความสนใจจากภาคเอกชน (Market Sounding) ในวันนี้นับเป็นขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการ เพราะกระทรวงฯ จะนำข้อเสนอของเอกชนทั้งหมดไปประกอบการจัดทำร่างเอกสารประกวดราคา (RFP) รวมทั้งข้อกฎหมายของ พ.ร.บ.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่พิเศษภาคใต้ (SEC)

ภายในงานครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากสถานทูตประเทศต่างๆ เช่น สถานทูตประเทศญี่ปุ่น สถานทูตประเทศปากีสถาน สถานทูตประเทศอินเดีย สถานทูตประเทศเยอรมัน สถานทูตประเทศมาเลเซีย สถานทูตประเทศอิตาลี สถานทูตสาธารณรัฐเกาหลี สถานทูตสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน สถานทูตประเทศออสเตรเลีย สถานทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีนักลงทุนจากไทยและต่างประเทศเข้าร่วม เช่น บริษัท HeBei Port Group Co.,LTD ผู้ประกอบการท่าเรือจากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Maritime Transport Business Solutions BV ผู้ประกอบการท่าเรือจากประเทศเนเธอร์แลนด์ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) ผู้ประกอบการด้านนิคมอุตสาหกรรมจากประเทศไทย บริษัท Pacific Construction in Thailand ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากสาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัท Sumitomo Mitsui Construction Co.,Ltd. ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท Misubishi Company (Thailand) ผู้ประกอบการด้านอสังหาริมทรัพย์จากประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนักลงทุนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อโครงการในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น ความคุ้มค่าทางด้านการลงทุน ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสินค้า ระยะเวลาในการขนส่งถ่ายสินค้าระหว่างสองท่าเรือ และมีแนวทางการรองรับด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่โครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ ภายหลังจากสัมมนาครั้งนี้ สนข. และที่ปรึกษาโครงการฯ จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ นำไปปรับปรุงให้ผลการศึกษามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

‘สุริยะ’ เดินหน้าแผน ‘ลดค่าทางด่วน’ ไม่เกิน 50 บาท นำร่อง ‘งามวงศ์วาน-พระราม 9’ มั่นใจ!! ได้ใช้ภายในปีนี้

(20 มิ.ย.67) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากที่ได้สั่งการให้หาแนวทาง ลดค่าทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 ให้เหลือไม่เกิน 50 บาท ตลอดเส้นทาง (จากเดิมที่มีค่าทางด่วนสูงสุด 85 - 90 บาท) เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในการลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง โดยความคืบหน้าในขณะนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) อยู่ระหว่างการหารือร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยคาดว่าจะเห็นความชัดเจน และเริ่มให้ประชาชนจ่ายค่าทางด่วนถูกลงภายในปี 2567 แต่อย่างไรก็ตามการลดค่าทางด่วนในอัตราไม่เกิน 50 บาทตลอดสายของทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ทาง กทพ. จะมีการประเมินทุก ๆ 10 ปี เพื่อปรับให้สอดคล้องกับดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ตามสถานการณ์ในขณะนั้น 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้การจราจรที่ติดขัดช่วงสายงามวงศ์วาน-พระราม 9 และภาพรวมในบริเวณดังกล่าว จึงจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) โดยควรเร่งผลักดัน เพื่อแก้ไขปัญหาการสัญจรที่ติดขัดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ทั้งนี้การก่อสร้างโครงการดังกล่าว รัฐบาลไม่ต้องมีการลงทุนแต่อย่างใด โดยจะให้ทางผู้ประกอบการที่ได้รับสัมปทานเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด จึงต้องขยายสัญญาทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ไปอีก 22 ปี 5 เดือน โดยระยะเวลาสัญญาที่เพิ่มมานั้นมาจากการคำนวณทางการเงิน และผลตอบแทนจากการลงทุน (Equity IRR) ตามหลักวิชาการ และความเป็นธรรม ซึ่งยืนยันได้ว่าจะไม่ได้เอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ และสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้ทั้งหมด ทั้งนี้หากมีการก่อสร้าง คาดใช้ระยะเวลา ประมาณ 4 ปี และจะเปิดให้ประชาชนได้ใช้บริการต่อไป

"ผมยืนยันว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนอย่างแน่นอน แต่ต้องการทำเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก ช่วยลดภาระค่าครองชีพ และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ตนได้ให้นโยบายและเน้นย้ำว่า ทุกกระบวนการในการดำเนินงานนั้นตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัด มีความละเอียดรอบครอบ โปร่งใส เป็นธรรม และตรวจสอบได้" สุริยะ กล่าว


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top