Sunday, 30 June 2024
กระทรวงพาณิชย์

‘ภูมิธรรม’ เผยข่าวดี ‘ซาอุฯ’ ไฟเขียวให้นำเข้า ‘วัว-แกะ-แพะ’ จากไทย เร่งสั่งการ!! หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งผู้ส่งออก ให้เตรียมความพร้อมโดยเร็ว

(16 มิ.ย.67) นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากการพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ซาอุดีอาระเบีย และร่วมลงนาม MOU ผลักดันสินค้าเกษตร อาหาร ธุรกิจบริการทางการแพทย์ ท่องเที่ยว ในเดือน พ.ค.2567 ที่ผ่านมา ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้ว โดยกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้แจ้งข่าวดีผ่านกระทรวงการต่างประเทศซาอุดีอาระเบีย และสถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรไทย ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถึงรัฐบาลไทย ว่า ซาอุดีอาระเบียได้อนุญาตให้นำเข้าปศุสัตว์มีชีวิต (วัว แกะ แพะ) เพื่อเชือดและเลี้ยงจากประเทศไทยได้ โดยให้ใช้หนังสือรับรองสุขภาพสัตว์เพื่อการส่งออกปศุสัตว์มีชีวิตที่ได้รับอนุมัติจากการหารือระหว่าง 2 ประเทศ โดยผู้นำเข้าและส่งออกสามารถขอรับใบอนุญาตนำเข้าปศุสัตว์มีชีวิตผ่านแพลตฟอร์ม NAAMA ของกระทรวงสิ่งแวดล้อม น้ำ และการเกษตรแห่งซาอุดีอาระเบีย หรือสามารถประสานขอข้อมูลได้ที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมศัตรูพืชและโรคสัตว์แห่งชาติ ซาอุดีอาระเบีย

ถือเป็นข่าวดี ต่อการส่งออกวัว แกะ และแพะ ของไทยไปตลาดซาอุดิอาระเบีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้ องค์การอาหารและยาซาอุดีอาระเบีย (SFDA) หรือ อย.ซาอุดีอาระเบีย ได้อนุญาตให้โรงงานไก่ไทย สามารถส่งออกไก่สด ไก่แปรรูป ไก่ปรุงสุก เข้าประเทศซาอุดีอาระเบียได้อย่างครบถ้วน ทุกด่านทั่วประเทศแล้ว

ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งไปยังผู้ประกอบการและผู้ส่งออกของไทย ให้เตรียมความพร้อม และปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎระเบียบที่ซาอุดีอาระเบียกำหนด เพื่อเพิ่มโอกาสในการส่งออกวัว แกะ แพะ ของไทยไปยังตลาดซาอุดีอาระเบียโดยเร็ว

สำหรับการค้าไทย-ซาอุดีอาระเบีย ปี 2566 การค้ารวมมีมูลค่า 8,796.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แยกเป็นการส่งออก มูลค่า 2,667.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นำเข้ามูลค่า 6,128.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 4 เดือนปี 2567 (ม.ค.-เม.ย.) การค้ารวม มีมูลค่า 2,588.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 17.42% แยกเป็นส่งออก มูลค่า 926.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่ม 11.71% และนำเข้า มูลค่า 1,662.69 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลด 27.89%

'บริษัทจากกำแพงเพชร' ชนะประมูลข้าว 10 ปี จบราคาที่ 286 ล้านบาท ฟากรัฐ ชี้!! ข้าวเกณฑ์ดี ยกให้ผู้ได้ประเมินราคาขายเอง ไม่ฟิกซ์ขั้นต่ำ

(17 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การคลังสินค้า (อคส.) เปิดให้บริษัทที่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจำนวน 7 ราย เข้ายื่นซองเสนอราคาซองประมูลข้าวเก่า 10 ปี โครงการรับจำนำข้าวปี 56/57 ปริมาณ 15,000 ตัน จาก 2 คลังใน จ.สุรินทร์ ณ ห้องประชุมองค์การคลังสินค้า (10601) ชั้น 6 ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.

ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก มีสื่อมวลชนเข้ามาสังเกตการณ์เป็นจำนวนมาก โดยบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติ ทยอยมายื่นซองเสนอ 6 ราย จากผู้ผ่านคุณสมบัติ 7 ราย ได้แก่บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด จังหวัดกำแพงเพชร / บริษัท ธนสรร ไรซ์ / บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร / บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ / บริษัท สหธัญ และ บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024

โดยแต่ละบริษัทเสนอซื้อที่แตกต่างกัน บางบริษัทซื้อ 1 คลัง บางบริษัทซื้อทั้ง 2 คลัง โดยบริษัท 6 รายที่ยื่นซองเสนอซื้อข้าวประมูลของรัฐที่ยื่นเสนอซื้อทั้ง 2 คลัง เช่น 

1.บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร 
2.บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด จังหวัดชัยนาท 
3.บริษัท ทรัพย์แสงทองไรซ์ จำกัด จังหวัดสุพรรณบุรี 
4.บริษัท บี เอ็น เค การเกษตร 2024 จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ 

ส่วนบริษัทที่เสนอซื้อ 1 คลัง เช่น 
1.บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จำกัด จังหวัดนครสวรรค์ 
2.บริษัท สหธัญ จำกัด จังหวัดนครปฐม

ขณะที่บริษัท อุบลไบโอเกษตร จำกัด จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ได้เข้ามายื่นซองเสนอราคาในการประมูลข้าวครั้งนี้ แม้ว่าจะผ่านคุณสมบัติ

จากนั้นคณะกรรมการเปิดซองประมูล ปรากฏว่า คลังสินค้า บริษัท พูนผลเทรดดิ้ง จำกัด หลัง 4 ประมาณข้าวรวม 3,356 ตัน มีผู้ยื่นซองเสนอซื้อครบทั้ง 6 ราย ได้แก่ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร เสนอราคาประมูลที่ 64.01 ล้านบาท / บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท เสนอราคาประมูลที่ 60.4 ล้านบาท

บริษัท สหธัญ จังหวัดนครปฐม ยื่นประมูลในราคา 62.7 ล้านบาท / บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 53.7 ล้านบาท / บริษัท เอส.เอส.เอ็ม.อาร์.การเกษตร จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 56.08 ล้านบาท / บริษัท ทรัพย์แสงทอง ไรซ์ จากจังหวัดสุพรรณบุรี เสนอราคาประมูลที่ 40.9 ล้านบาท

ส่วนคลังสินค้ากลางกิตติชัย (หลัง 2) ปริมาณรวม 11,656 ตัน มีผู้ยื่นซองเสนอราคา จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร เสนอราคาประมูลที่ 222.9 ล้านบาท / บริษัท ธนสรร ไรซ์ จังหวัดชัยนาท เสนอราคาประมูลที่ 209.8 ล้านบาท / บริษัท บีเอ็นเค การเกษตร 2024 จังหวัดนครสวรรค์ เสนอราคาประมูลที่ 186.5 ล้านบาท / บริษัท ทรัพย์แสงทอง สุพรรณบุรี เสนอราคาประมูลที่ 182.04 ล้านบาท

สำหรับผู้ที่เสนอราคาสูงสุดทั้ง 2 คลัง คือ บริษัท วีเอท อินเตอร์เทรดดิ้ง จังหวัดกำแพงเพชร รวมราคาประมูลทั้ง 2 คลัง กว่า 286 ล้านบาท หากคำนวณแล้วจะเฉลี่ยประมูลไปในราคากิโลกรัมละ (กก.) 19 บาท

โดยทางคณะทำงานรับ-เปิดซองและต่อรองราคาข้าวในสต๊อกของรัฐ ได้ต่อรองราคา เพื่อให้ได้ราคาประมูลที่สูงขึ้นอีก ทั้งนี้ จะมีการประกาศชื่อบริษัทที่ชนะการประมูล ผ่านเว็บไซต์ อคส. ที่ www.pwo.co.th ไม่เกินวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ซึ่งกำหนดต้องทำสัญญาซื้อขายภายใน 15 วันนับตั้งแต่ อคส.แจ้งผลเป็นทางการ

นายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรรไรซ์ จำกัด หนึ่งในผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ระบุว่า การประมูลข้าวครั้งนี้ถือว่ามีความคึกคัก มีผู้เข้าร่วมประมูลหลายรายแสดงให้เห็นว่า ทุกบริษัทมองว่าข้าวในคลังยังมีคุณภาพใช้ได้สามารถนำไปขายต่อได้ ซึ่งขณะนี้ตลาดข้าวมีความต้องการสูง และราคาข้าวในตลาดอยู่ในเกณฑ์ดี โดยข้าวขาว 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นข้าวใหม่อยู่ที่กิโลกรัมละ 21.50 บาท ในส่วนของบริษัทที่มาประมูลครั้งนี้คือส่งออกเป็นหลัก โดยตลาดที่มีความต้องการข้าวได้แก่ บราซิล อิรัก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวว่า หลังจากการเปิดซองในช่วงบ่าย จะมีกระบวนการต่อรองราคา หากทำได้เร็ว คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในวันนี้ ซึ่งการที่มีผู้สนใจมาซื้อข้าว ถือเป็นตัวสะท้อนได้ดีว่า ข้าวไม่ได้มีปัญหาอะไร แม้จะเก็บมานาน แต่ขึ้นอยู่กับวิธีการจัดเก็บ และผู้ซื้อเอง ก็ต้องนำไปปรับปรุงต่อ

นายภูมิธรรม กล่าวว่า ส่วนในเรื่องของราคา ไม่ได้มีการกำหนดราคาขั้นต่ำ เพราะต้องการให้โอกาสผู้ประกอบการประเมินเอง และวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ แต่จะใช้กระบวนการต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ มีราคาในใจ ที่เหมาะสมกับความเป็นจริงของสภาพข้าว จากก่อนหน้านี้ที่มีการด้อยค่า ขายเป็นอาหารสัตว์กิโลกรัมละ 4-5 บาทเท่านั้น แต่ยังเชื่อมั่นว่าจะได้มากกว่านี้แน่นอน ซึ่งหากขายได้เฉลี่ยกิโลกรัมละ 15-18 บาท น่าจะมีมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท หักค่าใช้ต่างๆแล้ว คาดว่าจะนำเงินกลับเข้ารัฐ ได้ไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาทแน่นอนทั้งนี้ มั่นใจว่าการขายข้าวได้จบภายในวันนี้ ถือเป็นการปิดตำนานโครงการจำนำข้าวได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นการทำงานตามหน้าที่ โดยเฉพาะการสะสางงาน ที่คั่งค้างอยู่ ในฐานะที่มานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

แหล่งข่าวจากวงการค้าข้าวเปิดเผยถึงกรณีการประมูลข้าว 10 ปี ขององค์การคลังสินค้า ที่ผู้ชนะมีการเสนอราคาสูงถึง 19 บาทต่อกิโลกรัมว่า เป็นเรื่องเหลือเชื่อ เพราะราคาที่ประมูลได้ไม่สมเหตุสมผลสูงเกินจริง เนื่องจากข้าวหอมมะลิในสต๊อกรัฐบาลล็อตนี้ เป็นข้าวที่เก็บมานานถึง 10 ปี ไม่มีความหอมหลงเหลืออยู่แล้ว คุณภาพจึงเทียบเท่ากับข้าวขาวปกติ แต่เมื่อเปรียบเทียบราคา ข้าวขาว 5% ข้าวใหม่คุณภาพดีในปัจจุบันพบว่าราคาอยู่ที่ 21.50 บาท ต่อกก. 

ขณะที่ข้าวซึ่งมีอายุมากถึง 10 ปี ในสต๊อกรัฐบาล สามารถประมูลขายได้ในราคาสูงถึง 19 บาท ถือว่าเป็นราคาที่ผิดปกติ เพราะหากมีการบวกรวมค่าขนส่ง ค่าปรับปรุงคุณภาพข้าวแล้วจะทำให้ข้าว 10 ปีมีต้นทุนที่สูงกว่าข้าวขาวใหม่ หากเป็นพ่อค้าจริง ๆ ก็คงซื้อข้าวใหม่ในตลาดไปขายดีกว่าไปประมูลข้าวเก่า 10 ปีคุณภาพไม่ดีที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นอีก

สำหรับรายละเอียดข้าวที่จะนำมาเปิดประมูล มีปริมาณ 15,000 ตัน แยกเป็น 

1.คลังกิตติชัย หลัง 2 (ข้าวหอมมะลิ 100%) รวม 26,094 ตัน หรือ 258,106 กระสอบจาก 24 โรงสี และได้ระบายข้าวสารแล้ว 3 ครั้ง คงเหลือ 11,656 ตัน หรือ 112,711 กระสอบ 

2.คลัง บจก.พูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 (ข้าวหอมมะลิ 100%) ปริมาณ 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ ซึ่งระบายข้าวสารแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ

'สุชาติ ชมกลิ่น' จาก 'ก.แรงงาน' สู่ 'ก.พาณิชย์' คิดใหญ่!! ค้าขายไทยดี GDP ต่อประชากรสูง-ร่ำรวย

จากรายการ THE TOMORROW มหาชนต้องรู้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ โดยหนึ่งในประเด็นที่เปิดฉาก เป็นการพูดถึงบทบาท จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สู่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่ามีความแตกต่างในการบริหารงานหรือไม่? อย่างไร? 

เกี่ยวกับประเด็นนี้ นายสุชาติ กล่าวว่า "ผมมองว่าคล้ายกับกระทรวงแรงงาน ตรงนั้นต้องหางานให้พี่น้องประชาชนคนไทยไปทำงาน ซึ่งมีความต้องการทำงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะต่างประเทศ ที่เราก็ต้องไปเจรจากับคู่ค้าต่างประเทศในการส่งแรงงาน...

"ขณะที่เมื่อมากำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ ก็ต้องดูการเจรจาการค้า ว่าแต่ละประเทศต้องการสินค้าอะไรจากประเทศไทย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน...

"อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างกันของธรรมชาติในแต่ละกระทรวงฯ ก็มี เช่น ในแง่ของพาณิชย์ สินค้าที่เราส่งไปมีเรื่องของการแข่งขันในระดับโลก รวมถึงมีรายละเอียดมากกว่าในเรื่องราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาอยู่ด้วย ซึ่งต่างจากบทบาทในเรื่องของแรงงาน"

เมื่อถามถึงบทบาทในปัจจุบันว่าต้องกำกับดูแลหน่วยงานใดเป็นสำคัญ? นายสุชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันได้รับมอบหมายงานจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้กำกับดูแลงานของ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ / สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า / และสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) 

โดยในส่วนของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เป็นหน่วยงานสำคัญ เพราะเป็นเรื่องการเปิดประตูพูดคุยการค้าขายระหว่างประเทศ ต้องเปิดประตูให้ได้ ซึ่งนโยบายปัจจุบันมีการส่งออกสินค้าหลักอยู่แล้ว แต่ตนก็พยายามส่งเสริมสินค้ารองให้มากขึ้น 

นอกจากนี้ ยังมีภารกิจในการสร้างคนตัวเล็กให้เป็นคนตัวใหญ่ เช่น ผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่จำเป็นต้องส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการส่งออกให้ได้ รวมถึงการขยายตลาดใหม่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากตลาดจีนเพียงอย่างเดียว เช่น อินเดีย และซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น 

"ปัจจุบันเรามีทูตพาณิชย์ทั่วโลก 58 ประเทศ ซึ่งทูตต้องทำการบ้านให้เราว่าแต่ละประเทศมีกำลังซื้อเป็นอย่างไร เปิดตลาดใหม่ให้มากขึ้นโดยเฉพาะผลไม้ไทย" รมช.พาณิชย์ กล่าวเสริม 

ในส่วนของ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า? นายสุชาติ เผยว่า ก็ต้องลงพื้นที่เก็บข้อมูลการค้าต่าง ๆ จากหอการค้า สภาอุตสาหกรรม หรือผู้ประกอบการธุรกิจ SME เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์แล้วจัดทำนโยบายแผนและยุทธศาสตร์ให้มีข้อมูลรอบด้าน  

สุดท้ายกับ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) เป็นหน่วยงานที่อบรมให้ความรู้ให้แก่บุคลากรในภูมิภาค เพื่อเสริมศักยภาพด้านการค้าและการพัฒนา ซึ่งทุกหน่วยงานต้องคิดนอกกรอบ เหล่านี้คือภารกิจใต้หมวกผู้ช่วยรัฐมนตรีพาณิชย์ ณ ปัจจุบัน

เมื่อถามถึงความกังวลใจกับภารกิจในการบริหารงานกระทรวงพาณิชย์ที่ค่อนข้างหนัก? นายสุชาติ กล่าวว่า "จริงๆ แล้ว เป็นความ 'ใฝ่ฝัน' ของผมเลย เพราะวันหนึ่งผมเคยทำหลายภารกิจของกระทรวงแรงงานได้สำเร็จ ก็อยากทำเรื่องการค้าขายให้ประเทศไทยร่ำรวย และมี GDP ต่อประชากรสูงๆ ด้วยเช่นกัน"

เมื่อถามถึงประเด็นราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงในปัจจุบัน? นายสุชาติ กล่าวว่า "เรื่องนี้ท่านภูมิธรรม ได้มอบนโยบายให้ทางกรมการค้าภายใน โดยท่านอธิบดีลงไปดูหลายเรื่อง ลงไปดูต้นทุนสินค้าจริงๆ ว่าเป็นอย่างไร มันสูงจริงไหม ด้วยเหตุและผล และต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ค่าครองชีพสูงกว่านี้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลเรื่องราคาสินค้าไม่ให้ผู้ผลิตเอาเปรียบผู้บริโภค และต้องสร้างสมดุลให้ได้ เอาความจริงให้ปรากฏอย่าฟังความข้างเดียว" 

สุดท้าย นายสุชาติ ยังได้ฝากถึงกลุ่มผู้กักตุนสินค้า ด้วยว่า ไม่ควรกักตุน เพราะเป็นการเอาเปรียบประชาชน 

'ส่งออก' ติดสปีด!! พ.ค.โต 7.2% แรงหนุนจากสินค้าเกษตร ชวนจับตา 'ทุเรียน' โตแรง!! มั่นใจครองแชมป์ตลาดจีน

(22 มิ.ย.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน พ.ค.2567 มีมูลค่า 26,219.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 7.2% โดยมูลค่าสูงสุดในรอบ 14 เดือน และขยายตัวเป็นบวก 2 เดือนติดต่อกัน คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 960,220 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 25,563.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 947,007 ล้านบาท เกินดุลการค้า 656.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 13,214 ล้านบาท รวม 5 เดือน ของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออก มูลค่า 120,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 2.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,298,248 ล้านบาท การนำเข้า มูลค่า 125,954.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 3.5% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 4,542,224 ล้านบาท ขาดดุลการค้า 5,460.7 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 243,976 ล้านบาท

สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 19.4% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 36.5% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 0.8 สินค้าสำคัญที่เพิ่มขึ้น เช่น ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ยางพารา อาหารสัตว์เลี้ยง ไก่แปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สิ่งปรุงรสอาหาร นมและผลิตภัณฑ์นม ส่วนสินค้าที่ลดลง เช่น ข้าว อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 4.7%

ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 4.6% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ส่วนสินค้าสำคัญที่หดตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 5 เดือนของปี 2567 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 2.4%

ทางด้านตลาดส่งออก ตลาดหลัก เพิ่ม 8% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 9.1% CLMV เพิ่ม 9.6% จีน เพิ่ม 31.2% แต่อาเซียน (5) ลด 0.6% และสหภาพยุโรป (27) ลด 5.4% ญี่ปุ่น ลด 1% ตลาดรอง เพิ่ม 5.1% โดยเอเชียใต้ เพิ่ม 22.4% ลาตินอเมริกา เพิ่ม 14.8% รัสเซียและกลุ่ม CIS เพิ่ม 2.7% แต่ทวีปออสเตรเลีย ลด 1.4% ตะวันออกกลาง ลด 8.1% แอฟริกา ลด 19% สหราชอาณาจักร ลด 1.5% ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 11.5% อาทิ สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 28.1%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกผลไม้ พลิกกลับมาเป็นบวกสูงถึง 128% โดยในนี้เป็นการส่งออก ทุเรียน 83,059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% แสดงให้เห็นว่า ทุเรียนของไทยยังส่งออกได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดจีน หลังจากที่ลดลงช่วง 1-2 เดือนก่อนหน้า เพราะผลผลิตปีนี้ออกล่าช้า แต่พอเดือน พ.ค. ผลผลิตมีเต็มที่ ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น และคาดว่าเดือนต่อ ๆ ไปก็จะส่งออกได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีทุเรียนภาคใต้ ที่จะเข้ามาเสริม ทำให้มั่นใจว่าไทยยังคงเป็นแชมป์ส่งออกไปจีนเหนือคู่แข่งแน่นอน

สำหรับแนวโน้มการส่งออกเดือน มิ.ย.2567 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง และยังเป็นบวก แม้ว่าฐานเดือนเดียวกันของปี 2566 จะอยู่ในระดับสูงที่ 2.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขครึ่งปี เป็นบวกแน่นอน ส่วนครึ่งปีหลัง การส่งออกยังจะเติบโตได้ดี โดยมีแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การค้าโลก ปัญหาเงินเฟ้อที่เบาบางลง ธนาคารกลางของแต่ละประเทศมีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นกำลังซื้อ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ค่าระวางเรือ ที่เป็นผลลบต่อการส่งออก แต่ตัวเลขทั้งปียังมั่นใจจะขยายตัว 1-2%

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การส่งออกยังคงเติบโตได้ดี แต่ภาคเอกชนมีความกังวลในเรื่องค่าระวางเรือที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยค่าระวางเรือไปยุโรป เพิ่มขึ้น 2 เท่า เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา และเส้นทางไปสหรัฐฯ ก็เพิ่ม 2 เท่าเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นต้นทุน แต่ยังประเมินส่งออกครึ่งปี 2567 น่าจะบวกได้ 2%

🔎เปิด 10 ธุรกิจสร้างรายได้มากที่สุดในไทย ประจำปี 2566 💸

เมื่อวานนี้ (26 มิ.ย. 67) นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมได้นำข้อมูลนิติบุคคลที่มีรอบปีบัญชีสิ้นสุด 31 ธ.ค. 2566 และได้ส่งงบการเงินภายในวันที่ 31 พ.ค. 2567 จำนวน 581,856 ราย คิดเป็น 86.6% จากนิติบุคคลที่ต้องส่งงบการเงินทั้งหมด 671,823 ราย และคงเหลือนิติบุคคลที่ไม่ได้นำส่งอีกจำนวน 89,967 ราย คิดเป็น 13.4% 

โดยได้นำข้อมูลนิติบุคคลที่ส่งงบการเงินมาวิเคราะห์ในเชิงธุรกิจ พบว่า รายได้ของนิติบุคคลทั่วประเทศมีจำนวนกว่า 57.86 ล้านล้านบาท และมีผลกำไรกว่า 2.34 ล้านล้านบาท โดยกลุ่มภาคการผลิต สามารถทำรายได้สูงสุดจำนวน 23.72 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41.00% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 1.10 ล้านล้านบาท คิดเป็น 47.03% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

รองลงมาคือกลุ่มภาคขายส่ง/ปลีก ทำรายได้ 23.32 ล้านล้านบาท คิดเป็น 40.30% ของรายได้ทั้งหมด ทำกำไรอยู่ที่ 0.46 ล้านล้านบาท คิดเป็น 19.57% ของกำไรสุทธิทั้งหมด และกลุ่มภาคบริการ ทำรายได้จำนวน 10.82 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.70% ของรายได้ทั้งหมด เป็นผลกำไรจำนวน 0.78 ล้านล้านบาท คิดเป็น 33.40% ของกำไรสุทธิทั้งหมด

นอกจากนี้กรมฯ ยังได้วิเคราะห์รายธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้สูงสุด 10 อันดับแรกใน ปี 66 ได้แก่

1.ธุรกิจผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากโรงกลั่นปิโตรเลียม ทำรายได้ 3.84 ล้านล้านบาท
2. ธุรกิจขายส่งนาฬิกาและเครื่องประดับ ทำรายได้ 3.12 ล้านล้านบาท
3. ธุรกิจร้านขายปลีกเครื่องประดับ ทำรายได้ 2.39 ล้านล้านบาท   

4. ธุรกิจผลิตรถยนต์ส่วนบุคคล ทำรายได้ 1.56 ล้านล้านบาท
5. ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เสริมอื่น ๆ สำหรับยานยนต์ ทำรายได้ 1.55 ล้านล้านบาท
6.ธุรกิจขายยานยนต์ใหม่ชนิดรถนั่งส่วนบุคคลฯ ทำรายได้ 1.45 ล้านล้านบาท

7. ธนาคารพาณิชย์ ทำรายได้ 1.11 ล้านล้านบาท
8. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทำรายได้ 1.07 ล้านล้านบาท
9. ธุรกิจขายปลีกเชื้อเพลิงยานยนต์ในร้านเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน ทำรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท
10. ธุรกิจขายส่งเชื้อเพลิงเหลว ทำรายได้ 0.96 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ธุรกิจทั้ง 10 อันดับที่กล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดไซซ์ L ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในธุรกิจแต่ละประเภท

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเดือน พ.ค. 2567 มีการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่จำนวน 7,499 ราย เพิ่มขึ้น 969 ราย เพิ่มขึ้น 0.83% เมื่อเทียบกับ พ.ค. 66 มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 21,887.12 ล้านบาท ลดลง 22.97% การที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้น โดยประเภทธุรกิจที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป และธุรกิจภัตตาคาร ร้านอาหาร

ในขณะที่จำนวนการจดทะเบียนเลิก 1,004 ราย เพิ่มขึ้น 194 ราย คิดเป็น 23.95% เมื่อเทียบกับ เม.ย. 67 และลดลง 230 ราย คิดเป็น 18.64% เมื่อเทียบกับ พ.ค. 66 มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 54,804.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,707.54 ล้านบาท 

ทั้งนี้ มูลค่าทุนจดทะเบียนเลิกสูงผิดปกติเป็นผลมาจากการเลิกประกอบกิจการของ 2 บริษัทขนาดใหญ่ ได้แก่ บริษัทกรุงเทพอินเตอร์เทเลเทค จำกัด (มหาชน ) และบริษัทเซ็นทรัลพัฒนา เรียลตี้ จำกัด เนื่องจากมีการปรับโครงสร้างการดำเนินงานของธุรกิจให้คล่องตัวยิ่งขึ้น โดยธุรกิจที่เลิกประกอบกิจการ 3 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 98 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 59 ราย และธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการอื่น ๆ 25 ราย

สำหรับภาพรวมการจดทะเบียนจัดตั้ง 5 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค.-พ.ค.) มีจำนวน 39,032 ราย ลดลง 1.58 % ทุนจดทะเบียน 117,099 ล้านบาท ลดลง 69.89 ซึ่งมีอัตราการจัดตั้งลดลงเล็กน้อยจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการ 5 เดือนแรกมีจำนวน 4,623 ราย ลดลง 14.99 % ทุนจดทะเบียนเลิก  71,844 ล้านบาท เพิ่ม 65.89% 

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า เสถียรภาพทางการเมือง และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ส่งผลให้การคาดการณ์ยอดจดทะเบียนธุรกิจ ทั้งปี 2567 มีอัตราที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน (ปี 2566) 

ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าว ทำให้คาดการณ์ตัวเลข การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในครึ่งปีแรกของปี 2567 อยู่ที่ 44,000 - 47,000 ราย และทั้งปี 90,000 - 98,000 ราย

ปัจจุบัน (31 พ.ค. 2567) มีธุรกิจที่จดทะเบียนนิติบุคคลรวมทั้งสิ้น 1,916,267 ราย โดยจำนวนนี้เป็นนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่จำนวน 916,634 ราย มูลค่าทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 22.26 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นบริษัทจำกัดจำนวน 714,143 ราย คิดเป็น 77.91% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 16.02 ล้านล้านบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัดและห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลจำนวน 201,031 ราย คิดเป็น 21.93% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 0.47 ล้านล้านบาท และบริษัทมหาชนจำกัด จำนวน 1,460 ราย คิดเป็น 0.16% ของจำนวนนิติบุคคลที่ดำเนินกิจการอยู่ทั้งหมด ทุนจดทะเบียน 5.77 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้กรมยังได้วิเคราะห์ธุรกิจที่ต้องจับตามอง โดยเห็นว่า กระแส Art Toy ของเล่นสะสมที่สร้างสรรค์งานศิลปะโดยศิลปินจากต่างประเทศและศิลปินไทยก็กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก ส่งผลให้ ‘ธุรกิจของเล่น’ กลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตามอง แม้ในช่วง 5 ปี ย้อนหลังที่ผ่านมา (พ.ศ. 2562-2566) ธุรกิจของเล่นจะมีการเติบโตที่ผันผวนเพราะมีปัจจัยด้านการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาส่งผลกระทบเชิงลบ แต่เมื่อสถานการณ์สงบลงธุรกิจของเล่นก็ใช้เวลาไม่นานที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว

โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก (S) ที่ครองตลาดส่วนใหญ่มากถึง 1,024 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 220 ราย และกลุ่มขายจำนวน 804 ราย คิดเป็น 93.7% จากจำนวนธุรกิจของเล่นที่มีจำนวน 1,093 ราย แบ่งเป็นกลุ่มผู้ผลิตจำนวน 238 ราย และกลุ่มขายจำนวน 855 ราย มีมูลค่าทุนจดทะเบียนทั้งหมด 5,692.21 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มผลิตจำนวน 2,909.61 ล้านบาท และกลุ่มขายจำนวน 2,782.60 ล้านบาท สำหรับปี 2566 ธุรกิจของเล่นสามารถสร้างรายได้รวมถึง 19,677.21 ล้านบาท และทำกำไรได้ 467.62 ล้านบาท การเติบโตของธุรกิจของเล่น ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากการเกิดกลุ่มในวงการของเล่นที่เรียกว่า Kidult ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความนิยมในการสะสมของเล่นและมีกำลังการซื้อสูงเพื่อตอบสนองความต้องการของตนเองในวัยเด็ก การสะสมเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต


TRENDING
© Copyright 2021, All rights reserved. THE STATES TIMES
Take Me Top