'นายกฯ สมาคมทนายฯ' ฟันธง!! 'เศรษฐา' รอดปมเสนอชื่อ 'พิชิต' นั่งรมต. ชี้!! หน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดสรรอยู่ที่ 'สลค.'

(27 พ.ค. 67) เฟซบุ๊ก ‘สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย’ โพสต์ข้อความ ‘บันทึกจากนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย’ นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ ดังนี้...

บันทึกจากนายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย

กรณีตามข้อกล่าวหาของ 40 สว. ที่อ้างว่านายพิชิต ชื่นบาน มีคุณสมบัติขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) และ (5) การที่นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อนายพิชิต ทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) นั้น

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 บัญญัติให้อำนาจ นายกรัฐมนตรีเป็นผู้คัดสรรผู้ที่สมควรดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี และเป็นผู้นำรายชื่อผู้ที่ได้รับการคัดสรรขึ้นกราบบังคมทูล เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นรัฐมนตรี

แต่อำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับการคัดสรร เป็นหน้าที่ของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) โดยผู้ที่ได้รับการคัดสรรจะเป็นผู้กรอกประวัติของตน จากนั้นเมื่อ สลค. ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าผู้ได้รับการคัดสรรมีคุณสมบัติครบถ้วนไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำความกราบเรียนนายกรัฐมนตรี เพื่อให้นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อผู้ได้รับการคัดสรรขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายต่อไป

ดังนั้น  เมื่อคุณสมบัติของนายพิชิตได้รับการตรวจสอบโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจแล้ว การที่นายกรัฐมนตรีนำรายชื่อของนายพิชิตฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ จึงมิได้เป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตตามมาตรา 160 (4) และที่อ้างว่าไม่ได้สอบถามสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ก็เพราะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ไม่ใช่ข้อกฎหมายที่ต้องสอบถาม ส่วนข้อกล่าวหาตาม 160 (5) ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงนั้น ก็อยู่ในอำนาจการไต่สวนของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามมาตรา 234 (1) และเป็นอำนาจวินิจฉัยของศาลฎีกาตามมาตรา 235 (1) ส่วนศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยในประเด็นนี้ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี จึงไม่สิ้นสุดลงจากข้อกล่าวหาของ 40 สว.

นรินท์พงศ์ จินาภักดิ์
นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย
27 พฤษภาคม 2567


ที่มา : naewna