ดีเดย์ 16-18 ส.ค.ประชุมรับฟังความคิดเห็น Land Bridge ครั้งที่ 1 เพื่อนำเสนอโครงการ พัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล ‘ระนอง-ชุมพร’

(5 ส.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก ‘โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure’ ได้โพสต์ภาพและข้อความ ระบุว่า...

16-18 สิงหาคม 66 นี้!!! พื้นที่ระนอง และชุมพร เชิญผู้ได้รับผลกระทบ และคนพื้นที่เข้าร่วม เพื่อร่วมลดผลกระทบจากโครงการ พัฒนาท่าเรือ 2 ฝั่งทะเล ‘ระนอง-ชุมพร’ หรือ ‘Land Bridge’ ดังนี้...

ลงทะเบียนเข้าร่วม
*** ท่าเรือระนอง
- วันพุธที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องราชาวดี ชั้น 3 เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 

- วันพฤหัสบดีที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมอุทยานแห่งชาติแหลมสน ตำบลม่วงกลวง อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง

ลิงก์ลงทะเบียน : https://forms.gle/48VhBTPmmsH9Y6J69

*** ท่าเรือชุมพร
- ในวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 – 12.00 น. ณ ห้องอวยชัยแกรนด์บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมอวยชัยแกรนด์ อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร

โดยสามารถลงทะเบียนแจ้งความประสงค์เข้าร่วมประชุมล่วงหน้า จนถึงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ได้ที่ : https://forms.gle/BUh6pwDwmazQtqpHA

***รายละเอียดโครงการ
ในโครงการ Land Bridge เป็นหนึ่งโครงการที่ถูกพูดถึงมาตลอด และถูกเปรียบเทียบกับโครงการคลองไทย (ซึ่งคงไม่เกิดแล้ว) 

ซึ่งสุดท้ายเลือกเป็นรูปแบบสะพานบก (Land Bridge) เพื่อเป็นการเชื่อม 2 ฝั่งทะเล อ่าวไทย-อันดามัน

โดยจะมีการก่อสร้างท่าเรือแห่งใหม่ 2 ฝั่งทะเล ซึ่งจากการเปรียบเทียบในการศึกษาเบื้องต้น มีการเลือกตำแหน่งที่เหมาะสมที่สุดคือ...

- ฝั่งอันดามัน ที่ แหลมอ่าวอ่าง
- ฝั่งอ่าวไทย ที่ แหลมริ่ว

นอกจากนั้นก็จะมีการทำสาธารณูปโภค เชื่อมโยงท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งต่อ

โดยในเส้นทาง MR8 ชุมพร-ระยอง นี้จะมีส่วนประกอบที่มากกว่าถนนธรรมดา ซึ่งรวมการขนส่งทุกรูปแบบมารวมกันได้แก่...

- Motorway 
- ทางรถไฟขนาดราง 1 เมตร (เชื่อมต่อรถไฟทางคู่ในประเทศ)
- ทางรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร (เส้นทางพิเศษเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง 2 ท่าเรือ รองรับตู้คอนเทนเนอร์ 2 ชั้น ***ในระยะยาว)
- ท่อส่งน้ำมัน และก๊าซ
- ถนนเลียบเลียบทางรถไฟ (local road)

ซึ่งทั้งหมดนี้ ต้องเผื่อเขตทาง 160 เมตร เพื่อรองรับในอนาคตทั้งหมด แต่ในเฟสแรกอาจจะมีแค่บางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการจริง

โดยเปรียบเทียบเป็น 3 ทางเลือก ได้แก่...
1.) เส้นทางตัดตรง จากท่าเรือแหลมริ่ว-ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 80 กิโลเมตร
2.) เส้นทางปรับตามภูมิประเทศ ผ่านอำเภอหลังสวน อำเภอพะโต๊ะ อำเภอเมืองระนอง และ อ้อมลงทางทิศใต้ เข้าสู่ท่าเรืออ่าวอ่าง มีระยะทาง 89 กิโลเมตร
3.) เส้นทางตามเส้นทางที่ 2 แต่มีการตัดข้ามทะเลก่อนเข้าท่าเรืออ่าวอ่าง ตามเส้นทางที่ 1 มีระยะทาง 88.7 กิโลเมตร

ซึ่งจากการเปรียบเทียบ ทั้ง 3 เส้นทาง เส้นทางที่ 2 เป็นเส้นทางที่เหมาะสมที่สุด

ใครที่สนใจสามารถตามโครงการได้จากเว็บไซต์: 
http://landbridgethai.com

คลิปรายละเอียดโครงการ : https://youtu.be/v6smSg5TtFs

อยากจะฝากว่า ถ้ามีความคิดเห็นอะไร คัดค้านอะไรให้รีบพูดครับ จะได้แก้ หรือมองเห็นถึงปัญหาตั้งแต่ต้น ไม่ใช่ว่าตอนสร้างมาค้านเหมือนบางที่…